

ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
อาจารย์ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เราก็กล่าวกันเยอะเรื่องความรุนแรง ความรุนแรงคืออะไร ก่อนที่เราจะคุยเรื่องสันติภาพ เราต้องจำกัดความของคำว่า “ความรุนแรง” ก่อน เพราะฉนั้น ผมคิดว่าความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายอย่างเดียว แต่มีความรุนแรงอย่างไรบ้าง
อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
ความรุนแรงหลายครั้ง เราคิดกันเพียงแค่ความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่ผมในฐานะที่เป็นอาจารย์คนเดียวและเด็กที่สุดในตรงนี้ ได้รับบทบาทให้กล่าวถึงเรื่องทฤษฎี แต่คิดว่าเป็น Foundation (รากฐาน) ที่สำคัญสำหรับทุกคน

ภาพที่ทุกคนเห็นข้างบน คือ อาจารย์ชาวนอร์เวย์ (Norwegian) เป็นพระบิดาของ Peace Study (สันติภาพศึกษา) อาจารย์ชื่อว่า Johan Galtung (โจฮัน กัลตุง) ถ้าใครที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงเรื่อง Peace (สันติภาพ) จะต้องได้อ่านได้ฟังมาบ้าง

กัลตุงมองความรุนแรงในนิยามทางทฤษฎีมี 3 อย่างด้วยกันมองเป็นสามเหลี่ยมอันแรกเขาเรียกว่า direct Violence ก็คือความรุนแรงทางตรง Cultural Violence ก็คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม และ Structural Violence ก็คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างเวลาเราพูดถึงความรุนแรงคือการยิงกัน, ฆ่ากัน เรากำลังพูดถึงยอดของสามเหลี่ยม แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคืออีกสองขาของความรุนแรง (ได้แก่) ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมหมายถึงความเชื่อค่านิยมที่ทำให้คนมาสู้กันตั้งแต่แรกเป็นความไม่เข้าใจซึ่งกัน เช่น ศาสนา สีเสื้อ อัตลักษณ์ เพศความ และครอบครัว เป็นต้น เป็นขาหนึ่งของความรุนแรงที่คนมักมองข้าม อีกขาหนึ่งคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงระบอบ, ระเบียบความยุติธรรมที่ไม่เท่ากัน Structural Violence หมายถึงระบอบหรือระเบียบที่ไม่เท่ากัน เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คอร์รัปชั่น ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม

สรุปมีความรุนแรง 3 อย่าง เมื่อเข้าใจเรื่องความรุนแรง คำว่า “สันติภาพ” หรือ “สันติ” สิ่งนี้คืออะไร

สันติภาพ หรือสันติ ก็คือการไม่มีอยู่ของความรุนแรง 3 อย่างนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งที่กล่าวถึงสันติภาพก็จะกล่าวแค่ว่า “การยุติการหยุดยิงการไม่ฆ่าฟันกัน”

อาจารย์กัลตุงเรียกตรงนี้ว่า Negative Peace ถ้า Direct Violence ขาดไป หรือยุติ เช่น ความรุนแรงในภาคใต้ลดลงในเชิงปริมาณ เป็นต้น ความเป็นจริงได้แค่ Negative Peace แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือต้องหยุดความรุนแรงอีก 2 ขาด้วย

ถ้าทำได้ทั้งหมดจะเรียกว่า Positive Peace ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและได้มายากมาก ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่ช่วยพรรคก้าวไกลเขียนนโยบายต่างประเทศเรื่องเมียนมา คือ เราใช้คำว่า Inclusive Stable Right Station (การเปลี่ยนผ่านที่ครอบคลุม มั่นคง และเคารพสิทธิมนุษยชน) ก็คืออย่างน้อยขอให้ยุติการใช้อาวุธเพียงพอ แต่ประเทศไทยควรตรวจสอบในเรื่อง Positive เราอาจจะได้ยินแล้ว และให้เขาไปจัดการชีวิตของตัวเอง
คุณกัณวีร์ สืบแสง เพื่อน ๆ ชาวเมียนมาบอกว่า ขอให้เราไปไกลกว่านั้นได้ไหม เขามองแค่ว่า สิ่งนี้เป็นแค่ Negative Peace แต่ประเทศไทยควร Take in Trust ในเรื่อง Positive Peace ที่กว้างกว่านั้น และควรจะมีส่วนร่วมต่อการช่วยเหลือเขาในการสร้างสันติภาพด้วยซ้ำ อันนี้ก็ต้องคิดต่อกันว่า ความเป็นไทยของเราจะหยุดเพียงแค่ Negative Peace ไม่ใช่แค่เรื่องในเมียนมา แต่รวมถึงเรื่องภายในประเทศด้วย หรือเราจะไปไกลให้ถึง Positive Peace เป็นสิ่งที่สำคัญ

เราอาจจะได้ยินคำว่า Peacekeeping, Peacemaking และ Peacebuilding ซึ่ง Peacekeeping ก็คือการรักษาสันติภาพ เช่น พอมีข้อตกลงหยุดยิงซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ถึงสันติภาพ ใน 3 ขานี่ Peacekeeping มาแก้ Direct Violence ก็คือการรักษาสันติภาพเมื่อมีการตกลงหยุดใช้อาวุธกันแล้ว Peacemaking ก็คือการสร้างสันติที่จะปรับความเข้าใจ มาพูดคุยกัน ลดความไม่เข้าใจกันมากขึ้น ลดความเกลียดชัง ลดอัตลักษณ์ และลดทิฐิ อีกขาหนึ่งถ้าเราจะแก้ Structure Violence เขาเรียกว่า Peacebuilding ก็คือการสร้างสันติภาพผ่านปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่อง Economic Development ในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องระดับโลกของเราทุกคนจะมาช่วยกัน จึงอยากจะฝากไว้ประมาณนี้ว่า Violence มีมากกว่าหนึ่งแบบ และการที่เราจะแก้ก็ต้องมองไปให้ถึง Positive Peace เพื่อที่จะยั่งยืนมากขึ้น
ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
เราเริ่มอย่างนี้ เพราะว่าเวลาเรากล่าวถึงความรุนแรง ไม่ใช่เพียงสงครามที่เกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ ที่เราเห็น ความรุนแรงส่งผลต่อสิ่งที่เราเรียกว่า cultural Violence เนื่องจากเราสร้างความรุนแรงอย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้วาจา การใช้คำพูด การส่งเสริมแนวคิดบางแนวคิด ท่านถือว่าเป็นผู้สร้างความรุนแรงแรงและถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ผมถามตรง ๆ เลย การใช้คำหยาบใน Facebook ถือเป็นความรุนแรงไหม แล้วจะเป็นตัวขัดขวางสันติภาพในประชาธิปไตยของประเทศไทยหรือไม่ ในเมื่อประชาธิปไตยกล่าวว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาอย่างนี้เราจะหาทางแก้อย่างไรดีอาจารย์ฟูอาดี้
อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
คิดว่าหลายครั้งเวลาทัวร์ลงมีปัญหาอยู่ ความเป็นชาตินิยมทำให้เรามองไม่เห็นว่าหลายครั้งชาตินิยมครอบเราอยู่ เรามองไม่ออกว่าการปฏิบัติดีกับคนชาติอื่นที่มาอาศัยบ้านเรา ในที่สุดแล้วเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศเราเอง อยากจะให้สังเกตเหตุอย่างหนึ่งในวันที่คุณธิษะณา ชุณหะวัณ (แก้วตา) กล่าวในสภาผู้แทนราษฎรว่า “เราต้องช่วยพี่น้องชาวเมียนมา เพราะว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” คำกล่าวนี้ทำให้ทัวร์ลง ทำให้คุณรังสิมันต์ โรม คุณวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร และคุณกัณวีร์ สืบแสง ต้องออกมาเพื่อที่จะบอกว่า “เราสามารถช่วยเขาและควรช่วยเขา เพราะในทีสุดสิ่งนี้เป็นผลประโยชน์ต่อประเทศ” เราเป็นประเทศสังคมสูงวัย คนเมียนมา 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในประเทศไทยแล้วถ้าคุณไม่ให้เข้าเรียนหนังสือเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ เขาช่วยพวกเราอยู่แล้วถ้าคนเมียนมาไม่อยู่เศรษฐกิจเราล้มแน่นอน contribution ที่เขามีให้ประเทศเรา ประเทศเขาสงบเขาก็ค่อยกลับไป หลายครั้งไปด้วยกันได้และการที่ justify ได้แบบนั้นได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเราเอง นี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ เช่น เขาเสียภาษีก็มาช่วยสังคมสูงวัยมีสวัสดิการ ช่วยสร้างเศรษฐกิจเราไม่ใช่แค่ไม่ใช่แค่ทำงานแต่ซื้อของด้วย พออธิบายตรงนี้ครับมันก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่มีคนเข้าใจมากขึ้น และเริ่มเห็นว่าผลกระทบในเมียนมาร์มีผลกระทบต่อเราโดยตรง
เรื่อง Health (สุขภาพ) เช่น การแนวคิดว่าคนเราควรจะข้ามไปฉีดวัคซีน Covid-19 ให้ชาวเมียนมาด้วยซ้ำ ซึ่งบริเวณชายแดนเป็นปัญหามาก และถ้าเราปฏิบัติเขาดี เราฉีดวัคซีนให้เขา ในที่สุด Covid-19 หรือโรคต่าง ๆ ก็ไม่แพร่สู่คนไทย ตั้งแต่รัฐประหารเกิดขึ้นมีคนป่วยโรคมาเลเรียในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 95 เปอร์เซ็นต์ คือบริเวณชายแดนไทยเมียนมา เพราะฉะนั้น ถ้าเรารักษาเขาได้ก็เป็นผลประโยชน์ต่อเรา พอมีการอธิบายในเชิงผลประโยชน์มากขึ้น ผมก็เห็นแรงเสียดทานน้อยลงจากตอนแรกที่กล่าวเรื่องเมียนมา คือ คุณจะชักศึกเข้าบ้าน แต่ตอนนี้เรื่อง scram Center, PM 2.5 และเรื่องสุขภาพ เป็นต้น เห็นแล้วครับว่ามีผลกระทบต่อเราโดยตรง คือความเชื่อของความก้าวหน้าให้โอกาสคนเปลี่ยนใจได้เสมอ คนที่มีความคิดก้าวหน้าไม่เชื่อเรื่องโทษประหาร เพราะว่าในที่สุดเราเชื่อว่าเบื้องลึกของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ การให้โอกาสคนที่เห็นต่างในที่สุดจะเข้าใจมากขึ้นได้ ซึ่งผมเห็นปรากฏการณ์ที่ดีนั้นอยู่
ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
สรุปก็คือฝ่ายที่รักสันติภาพก็ต้องอดทนมาก
อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
คนที่รักสันติภาพต้องเชื่อว่าจะมีจุดหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวได้สามารถทำให้ความรุนแรงเป็นตัวเลือกสุดท้ายได้ รถทัวร์นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ได้ คือถ้าเป็นเรื่องธรรมชาติผมว่ามันเปลี่ยนแปลงได้
ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
อาจารย์ฟูอาดี้ฟังมาทุกท่านแล้ว อาจารย์เห็นอะไรอาจารย์เห็นโอกาสหรืออาจารย์เห็นภัยคุกคามอะไรบ้างจากสิ่งที่เราเรียกว่าความรุนแรงและสันติภาพทำอย่างไรสังคมไทยจะบรรลุนิติภาวะทางสันติภาพได้บ้าง
อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ภาพนี้คือภาพของ admiral เจิ้งเหอ ประมาณปีศตวรรษที่ 15 เจิ้งเหอ หรือเชงโฮน (Zheng Ho) เป็นนายพลกองเรือที่ยิ่งใหญ่มากของประเทศจีน เขามีเรืออยู่ประมาณ 200 ลำ แล้วก็เดินทางไปทั่วโลกจนมีทฤษฎีว่า เขาเจออเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นกองเรือที่แสดงความมีอำนาจของประเทศจีนในยุคนั้น แต่หลังจากนั้น ราชวงศ์หมิงของจีนเกิดอาการกลัวโลกาภิวัตน์ กลัวการซื้อขาย กลัวต่างชาติและกลัวการค้า จึงตัดสินใจเผาเรือของเจิ้งเหอทั้งหมด อันเป็นจุดเปลี่ยนหลังจากนั้น 200 ปี จีนก็เข้าสู่ยุคมืดที่กลายเป็นลดทอนอำนาจของตัวเองลง
ผมมองอเมริกาเป็นแบบนี้จุดเปลี่ยนที่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เปรียบเสมือนกับสิ่งที่จีนเคยเจอตอนยุคของเจิงเหอ โดยเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก อันนี้คือภาพแรกอันนี้คือ แนวคิดที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ภาพนี้คือภาพของ Peloponnesian War คือสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา ซึ่งสังเกตดูนักรบเสื้อแดงคือโล่ที่มีรูปสัตว์ต่าง ๆ คือเอเธนส์เป็นประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญถึงอัตลักษณ์แตกต่างกันมาสู้ร่วมรบกันได้ สปาร์ตาจะแต่งชุดเหมือนกันหมด โดยเป็นสงครามที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่า Power transition War หมายถึงการที่มหาอำนาจหนึ่งลดอำนาจลงและมีประเทศใหม่มีรัฐใหม่ขึ้นมาแย่งอำนาจ หลายครั้งจะเกิดสงครามขึ้น อันนี้เมื่อ 2,400 ปีที่แล้ว สปาร์ตาเป็นมหาอำนาจเดิมและเอเธนส์เป็นมหาอำนาจใหม่ สปาตันรู้สึกว่าเอเธนส์แย่งอำนาจก็เลยสร้างสงครามขึ้นมาก่อนที่ต้องการจะกดเอเธนส์ไม่ให้ขึ้นมาแย่งชิงอำนาจ อันนี้เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าเรากำลังเห็นอะไรอยู่ในตอนนี้ การที่อเมริกาลดทอนอำนาจลงจีนเพิ่มอำนาจตัวเองขึ้นมาอาจจะนำไปสู่สงคราม Hot War ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์

ภาพนี้เป็นภาพตอนที่ญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะมองเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ การที่ประเทศจีนโดนปิดล้อมทางการค้าจากทรัมป์เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นมาก่อน ญี่ปุ่นตัดสินใจบุกอเมริกาบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ฮาวาย เพราะว่าโดนขู่และโดนบังคับไม่ให้สามารถนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันได้ สิ่งที่กำลังจะกล่าวก็คือสงครามการค้าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะพัฒนาเป็น Hot War ในที่สุดก็ได้

อันนี้เป็นบทความสุดท้ายของอาจารย์ผมที่มหาวิทยาลัย harvard joseph S. NYE. JR. เขาเขียนวันที่ 1 พฤษภาคมเขาเสียชีวิตวันที่ 6 พฤษภาคม เขาเป็นคนที่คิดคำว่า Soft Power แต่นั่นเป็นสิ่งที่คนรู้แต่เขามีแนวความคิดที่เกรงกลัวอาวุธนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก ผมเป็น TA (ผู้ช่วยสอน) ให้เขา 2 ชั้นเรียน เป็นนักศึกษา 1 ชั้นเรียน ทุกครั้งที่เขาถึงสงครามนิวเคลียร์ที่ทิ้งในฮิโรชิม่ากับนากาซากิอาจารย์จะน้ำตาไหลทุกครั้ง การแพร่หลายบทความสุดท้ายของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจจะทำให้โลกไม่มีเสถียรภาพมากขึ้น การที่อเมริกามีถอนตัวเองออกมาจากระบอบโลกที่เคยเป็นคนสร้างมาทำให้ญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมนี คิดที่จะมีนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง การล่มสลายของระบบเสรีนิยมที่เรียกว่า Complex Interdependent มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เหตุการณ์การค้าในอดีตที่เคยทำให้สงครามเกิดขึ้น แต่ในโลกแห่งอนาคตที่ทุกคนอยากมีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเคยถูกใช้มาแค่ 2 ครั้งเท่านั้นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเราคือ 70 ปีหลังจากนั้นไม่เคยมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้น โดยหลังจากนี้กลับมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น การที่เวียดนามกำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากรัสเซีย หรือการที่เมียนมากำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากรัสเซีย จึงหมายความว่าประเทศเราต้องคิดเรื่องสันติภาพเปลี่ยนไปหรือเปล่า

สรุป 4 ภาพ ที่เกิดขึ้น อันแรกก็คือการล่มสลายของมหาอำนาจแบบโดดเดี่ยว (unipolarity) สองก็คืออำนาจเดิมกำลังถูกท้าทายอำนาจใหม่กำลังขึ้นมาซึ่งความไม่แน่นอนตรงนี้อาจจะมีการต่อสู้ที่รุนแรงก็เป็นได้ สามก็คืออำนาจใหม่ที่ถูกคว่ำบาตรและถูกสกัดกั้นก็อาจจะลุกขึ้นสู้ก็ได้ สี่ก็คือระเบียบโลกที่กำลังล่มสลายเหตุผลในการพึ่งพาซึ่งกันและกันมีน้อยลงก็อาจจะนำไปสู่สงครามก็ได้

อันนี้เป็นสำรวจว่าในโลกที่อเมริกากับจีนต่อสู้กันถึงขนาด เราแบ่งแนวความคิดอย่างไร ซึ่งสำรวจตั้งแต่มกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ว่า ผู้นำนักคิดคนที่มีอิทธิพลทางความคิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกฝั่งไหน ถ้าสังเกตดูจะสลับกันชัดเจน ค่อนมีประเทศที่จะเอียงไปทางจีน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และมีประเทศที่เอียงไปอเมริกาค่อนข้างชัดเจน คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา แสดงว่าไทยเองก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าในโลกที่เกิดขึ้นในตอนนี้อาเซียนเองจะไปทางไหน

ล่าสุดในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันพุธที่ผ่านมา มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 120 คน ประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบวกข้อแรกว่าอาจจะเกิดสงครามได้ และมีความเป็นไปได้สูง 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีความเป็นไปได้แน่นอน 1 เปอร์เซ็นต์ คนรุ่นใหม่ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ 63 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าภายใน 5 ปี เราอาจจะเกิดสงคราม Hot War ระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทั้งหมดปัญหาที่กล่าวมาระบอบโลกที่เปลี่ยนแปลงปัญหาระหว่างการแก่งแย่งระหว่าง Great Power ระหว่างอเมริกากับจีน รวมถึงความคิดของนักศึกษาความคิดของผู้นำในทวีปเอเชียที่คิดว่ามีโอกาสที่จะเกิด Hot War


ผมก็มานั่งดูหนังพระเจ้าช้างเผือกของท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งผมก็มองต่างไปหรือเปล่า เนื่องจากหนังกล่าวถึงสันติภาพก็จริง แต่หนังกล่าวถึงสันติภาพที่มีคำว่า "ตราบใดที่" ซึ่งไม่ใช่สันติภาพที่ True strength (ความแข็งแกร่งที่แท้จริง) ก็คือสันติภาพก็ตราบใด โดยจากหนังพระเจ้าช้างเผือกบอกว่าเราจะต้องสู้อย่างไร ไม่สันติภาพเท่าแต่ในภายในสันติภาพเลยถ้าเราโดนรังแกถ้าเราโดนเอาเปรียบเราเข้มแข็งได้เราหรือคนลุกขึ้นสู้ได้ ซึ่งผมก็มองตัวเองเป็นอย่างนั้นผมเป็นคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนรักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ผมคิดว่าถ้าเราโดนรังแกเรามีกองทัพที่แข็งแกร่งได้ หน้าที่ของกองทัพมีมืออาชีพ เหมือนที่ท่านปรีดีบอกในพระเจ้าช้างเผือกว่า แทนที่จะมีภรรยา 365 คน ขอช้าง 365 ตัวได้ไหม

ถ้าเรามองมุมมองของจริยธรรมเกี่ยวกับสงคราม จริง ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าท่านปรีดีเป็น Pacifism (สันตินิยม) ซึ่งสามารถมองได้สามระดับว่าคนที่มองสงครามมองอย่างไร ระดับแรกคือ Pacifism สงครามคือไร้ศีลธรรมคือผิดตลอดเวลา ถ้าคนที่ไปสุดอีกด้านหนึ่งก็ Realism คือผู้ที่บอกว่าถ้าสงครามเกิดขึ้นก็เป็นเครื่องมือสัจธรรมของโลกนี้ หรือเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ที่ ผลประโยชน์ของชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมอะไร
แต่ผมมองว่าท่านปรีดีอยู่ตรงกลาง มีทฤษฎีอันหนึ่งที่ใกล้เคียงกับพระเจ้าช้างเผือกมาก เขาเรียกว่า Just war Theory ก็คือทฤษฎีสงครามที่ชอบธรรมอย่างไร
ทฤษฎีสงครามที่ชอบทำประกอบด้วย 3 อย่าง คือต้องมีเหตุผลในการก่อสงครามที่ชอบธรรม ต้องมีการดำเนินการสงครามอย่างมีจริยธรรม และหลังสงครามยุติก็ต้องมีความยุติธรรมหลังสงคราม ซึ่งเราเห็นสิ่งนี้ได้ในพระเจ้าช้างเผือก สิ่งที่ผมทำก็คือเอา script ทั้งหมดของพระเจ้าช้างเผือกตั้งแต่วินาทีแรกถึงวินาทีสุดท้ายแล้วก็มา overlay กับสิ่งที่ Just War ควรจะเป็น แล้วก็ใช้ AI ช่วย Match ให้หน่อยว่า การกระทำของพระเจ้าช้างเผือกเข้ากับ Concept (แนวคิด) ของ Just War Theory หรือเปล่าซึ่งผลก็คือ overwhelming
เรื่องแรกความชอบธรรมก่อนสงครามที่พระเจ้าช้างเผือกทำมี Just cause สังเกตจากสงครามที่ใช้ป้องกันตัวเองเหตุผลจากการโดนกระทำก่อน หรือการรู้สึกถูกรุกรานก่อนเขาปฏิเสธการส่งช้างเผือกซึ่งในที่สุดแล้วก็เป็นแค่ Pre-Text เพราะเขาอยากจะบุกอโยธยาอยู่แล้ว เขามีพระเจ้าจักราเป็นกษัตริย์ที่มีความเลื่อมใสต่อประชาชนผู้ให้อำนาจความชอบธรรมในการปกครอง เขามีเป้าหมายเพื่อปกป้องประชาชนไม่ใช่รุกรานเพื่อขยายอำนาจ สงครามเป็นตัวเลือกสุดท้ายแต่ในที่สุดแล้วสุดท้ายความเสียหายพระองค์ท่านพระเจ้าจักราเสนอว่าขอทำยุทธหัตถีตัวต่อตัวเพื่อที่จะไม่เป็นผลเสียต่อประชาชน มีข้อสุดท้าย Probability of Success มีความไม่แน่นอนอยู่
ข้อต่อไปก็เขียวทั้งหมดเหมือนกัน ในระหว่างการทำสงครามมีหลายที่พระเจ้าจักรากล่าวกับประชาชนหงสาว่าฉันไม่ได้สู้รบกับคุณ ฉันสู้รบกับเพียงแค่กษัตริย์ของคุณ ท่านใช้กำลังเท่าที่จำเป็นทำลายล้างเท่าที่จำเป็นและเมื่อชนะสงครามก็ทรงปล่อยเชลยกลับบ้าน แล้วก็ไม่ได้ทำการแก้แค้นกับประชาชนของศัตรู
สุดท้ายหลังจากจบสงครามแล้ว ก็มีหลายอย่างที่เข้าข่ายของ Just War theory มีการให้เกียรติศัตรู ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เผาเมืองกล่าวกับฝั่งตรงข้ามตลอดเวลาว่า ไม่ได้ถือโทษท่านและอยากให้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ใช้ทรัพยากรไปกับการมีภรรยา ไม่ได้หาภรรยาเพิ่มจากชาวหงสา แต่เอางบประมาณไปดูแลช้างถึงแม้ว่าจบสงครามแล้ว เราก็เห็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าเป็นคำอธิบายของสันติภาพของท่านปรีดีได้อย่างดีที่สุด คือ สันติภาพแบบตราบใดที่เราไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำ
จนมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าจะ Apply (ประยุกต์) กับสถานการณ์ปัจจุบันยังไงได้บ้างในแนวความคิดของท่านปรีดีตรงนี้ ผมเชื่อว่าท่านปรีดีต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งจากภายในแทนที่จะมีภรรยา 365 คนขอช้าง 365 ตัว เพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็ง ซึ่งอันนี้ก็ตรงกับการที่ว่าเราจะมีนโยบายต่างประเทศนั้น เริ่มจากประเทศของเรา การมี Welfare System (ระบบสวัสดิการ) ที่ดี ทำให้ประชาชนแข็งแกร่งลดความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณธรรมมีความหมายและมีคุณค่าในการดำเนินการนโยบายต่างประเทศและดำเนินการนโยบายทางการทหารในโลกที่เราไม่รู้ว่าเราจะเลือกข้างไหน ระหว่างอเมริกา หรือจีนในสถานะการณ์ปัจจุบัน ถ้าเรากลับมาที่หลักคุณธรรมจะเป็ทางออกครั้งสุดท้ายทุกอย่าง และช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าในสถานการณ์ หรือเหตุการณ์นี้ เราจะเลือกทำอย่างไร
ความเป็นกลางที่ท่านปรีดีกล่าวนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหลักการ แต่มีหลักการที่แข็งแกร่ง นักรัฐศาสตร์มักใช้ว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองที่แข็งแกร่งโดยที่ไม่ได้อิงกับอำนาจใด
ผมคิดว่าถ้าท่านปรีดีอยู่ในยุคสมัยนี้ เขาคงพยายามที่อยากจะขยายกรอบของคำว่า ความเป็นไทย โดยมีเหตุการณ์หนึ่งครับท่านอานันท์ ปันยารชุน คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังคณะกรรมการสมานฉันท์ของท่านอนันต์เป็นประธานแต่เหตุการณ์นั้นท่านประชุมครั้งแรก ท่านอนันต์ถามทุกคนกว่า 40 คน ใครในที่นี้มั่นใจว่าตัวเองเป็นเชื้อชาติไทย 100 เปอร์เซ็นต์บ้าง ไม่มีใครยกมือท่านอนันต์ยกมือผมเป็นเชื้อสายจีนและมอญ
ผมคิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยอดเกิดเราน้อยกว่ายอดเสียชีวิต เรากำลังเป็นสังคมสูงวัยที่ก่อนเป็นประเทศที่พัฒนา ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นกับต่างจากสิงคโปร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเคลื่อนจากชาตินิยมมาเป็นความรักชาติ คุณสามารถมีเชื้อชาติอะไรก็ได้แต่คุณเป็นคนไทยได้ คุณรักชาติไทยได้ ในใบสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเขียนว่าเชื้อชาติของผมเป็นมลายูสัญชาติไทย เพราะผมเชื่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ เราจะต้องกรอบของความเป็นไทยให้ใหญ่ขึ้น เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย
ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ผมคิดว่าอาจารย์ฟูอาดี้ได้สะท้อนสิ่งที่รอบแรกวิทยากรทุกท่านได้ให้ภาพ จริง ๆ แล้วอาจารย์ฟูอาดี้เข้าไปถึงหลักใหญ่ใจความสำคัญเลย ก็คือเรานี่เป็นคนก่อนจะเป็นอื่น ๆ


รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/Q1HZDjbcsVA?si=JsQXXgQY5dbhwIWg
หมายเหตุ :
- ถอดความและเรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ
ที่มา : PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์