ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เมื่อโลกไม่ได้แค่ความรุนแรงในสงคราม: สำรวจหลากมิติของความรุนแรง บทสัมภาษณ์ ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

10
พฤษภาคม
2568

Focus

  • เมื่อ “ความรุนแรงไม่ได้อยู่ไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” แล้วทำอย่างไรเราจะเข้าใจความรุนแรงที่สลับซับซ้อนได้ จึงขอชวนผู้อ่านย้อนดูบทสนทนาระหว่าง ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กับ สุรัยยา ( เบ็ญโส๊ะ ) สุไลมาน ผู้เขียน “กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก” ที่ทำให้เราเข้าใจถึงความรุนแรงที่ไม่ใช่ความรุนแรงทางตรงอันประทุษร้ายร่างกายและชีวิต แต่ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จากการแจกแจงทฤษฎีโดย โยฮัน กัลตุง
  • ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เน้นย้ำว่า แนวทางสันติวิธีคือ “กระบวนทัศน์” หรือเปลี่ยนวิธีการในการมองเห็นโลกโดยสิ้นเชิง โดยต้องเห็นความรุนแรงในลักษณะที่ซับซ้อน เห็นความทุกข์ของผู้ถูกเอาเปรียบในดินแดนอื่น ๆ นั่นยังรวมไปถึงอคติต่อชาติพันธุ์อื่นด้วย ดังนั้นหนทางสู่สันติภาพเชิงโครงสร้างแบบ “กระบวนทัศน์สันติวิธี” จึงต้องใส่ใจกับ “วิธีการ” ไม่ใช่เพียงแต่ “เป้าหมาย” ให้สงบเรียบร้อยอย่างเดียว

 


ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนถึงสันติวิธีของนายปรีดี พนมยงค์ จากงานเรื่องกระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์  กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก โดย สุรัยยา ( เบ็ญโส๊ะ ) สุไลมาน

 

ถาม : ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายแนวคิดซึ่งเป็นที่มาของทฤษฎีสันติภาพเชิงโครงสร้างของกัลตุงด้วยค่ะ

 


โยฮัน กัลตุง ขณะบรรยายในปี 1968 (พ.ศ. 2511)

 

ดร. ชัยวัฒน์ : แนวคิดสันติภาพเชิงโครงสร้างของกัลตุงเริ่มต้นที่แนวความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ “มนุษย์” ในทัศนะของกัลตุงประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๒ ด้าน

ด้านหนึ่งจะเป็นมนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้าคิดเป็นตามกรอบของอริสโตเติลก็หมายถึงมองมนุษย์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ (actuality) องค์ประกอบปัจจุบันที่ทําให้คุณเป็นคุณในขณะนี้ แต่ว่ามนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ยังมีอย่างอื่นอีกคือ ศักยภาพของมนุษย์ (potential) ในกรณีนี้หมายความว่า มนุษย์มีความสามารถและโอกาสเป็นอะไรได้ เช่น เป็นนักวิชาการที่เก่งที่สุดในประเทศ แต่นี่เป็นศักยภาพส่วนบุคคลของคุณ แต่ยังมีศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นสากล อาจจะคือศักยภาพที่จะมีอายุ มีชีวิต ดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยไร้โรค ในแง่นี้ ศักยภาพของมนุษย์อาจจะคือ มีกินจึงมีชีวิต มีชีวิตก็ต้องมีชีวิตที่มีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เลือกเส้นทางของตัวเอง มีชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่ามีชีวิตอยู่แต่ว่าชีวิตหาคุณภาพไม่ได้เลย มีชีวิตต้องหมายถึงสามารถจะอยู่ไปได้อย่างเหมาะสมตามอายุเฉลี่ยของคนเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นศักยภาพในแง่อายุในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีชีวิตอยู่ไปได้เป็นเวลา ๕๐๐ ปี เพราะเป็นเรื่องที่พ้นวิสัยปรกติ แต่ศักยภาพของคุณต้องดูอย่างไร

 


ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักทฤษฎีด้านสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมือง และอดีตกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
(25 มกราคม 2498-27 มิถุนายน 2567)

 

สมมติเฉพาะในประเทศไทย หมายความว่า คุณจะต้องอยู่ไปกระทั่งอายุประมาณ ๗๐ ปี คือ อายุเฉลี่ยในสังคมนี้ แต่ถ้าดูในโลกนี้ คุณน่าจะอยู่ไปจนอายุ ๗๕ ปี เพราะว่าในญี่ปุ่น ในสวีเดน เขาอยู่กันได้ถึง ๗๕ ปี นี่คือศักยภาพของคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ศักยภาพที่ว่านี้รวมการแสดงตัวตนของคุณในฐานะที่เป็นปัจเจกชนลงไปด้วย อย่างเช่นว่า ถ้าศักยภาพที่จะทําให้คุณสามารถแสดงตัวตนของคุณเองในฐานะที่คุณเป็นใครได้นี่ สมมติว่าคุณไปอยู่ในรัฐอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่อนุญาตให้คุณแต่งตัวแบบนี้ (ผู้สัมภาษณ์เป็นสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบ ใส่ผ้าคลุมผมปิดลงมาถึงคอ) หมายความว่า โครงสร้างของรัฐนั้นเองจะเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้คุณเข้าถึงศักยภาพของคุณเอง

 


ภาพการประท้วงของชาวอุยกูร์ สะท้อนถึงการกดทับไม่ให้มีเสรีภาพในอัตลักษณ์ ชีวิต การคิด และศักยภาพหลาย ๆ ด้านของชีวิต
ที่มา: The guardian

 

ศักยภาพที่ว่านี้รวมหลายอย่างอย่างที่อธิบายคือ อายุ ความสามารถที่จะคิด รวมกระทั่งความมั่นใจของผู้คนด้วย สมมติว่าคุณมีความมั่นใจได้จากการที่คุณสามารถจะยืนยันตัวคุณในฐานะสตรีมุสลิมคนหนึ่งอันเป็นศักยภาพของคุณ แต่กลับถูกสกัดกั้น สมมติว่ารัฐบางรัฐหรือระเบียบบางข้อที่ไม่ยอมให้คุณแต่งกายเยี่ยงสตรีมุสลิมได้ตามที่คุณประสงค์ ก็เท่ากับว่า ศักยภาพของคุณถูกทําให้สะดุดหยุดลง แต่ทั้งหมดนี้สถานการณ์จะกลับกัน สมมติว่าคุณอยู่อีกรัฐหนึ่ง เช่น อิหร่าน หรือซาอุดิอารเบีย คุณมีความสามารถที่จะยืนยันความเป็นตัวคุณโดยไม่มีเครื่องแต่งกายแบบนี้ แต่รัฐมากีดกันมากําหนดว่าต้องแต่งกายแบบนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่กลับกัน เพราะรัฐหรือว่าอํานาจอันนั้น ก็ทํางานเหมือนกัน เวลานี้ในบางสังคมกําหนดว่า คุณแต่งตัวอย่างนี้เข้าห้องสมุดไม่ได้ แต่งตัวอย่างนี้รับปริญญาไม่ได้ แต่งตัวอย่างนี้ทําอะไรไม่ได้ ร้อยแปดอย่าง แต่ในอีกสังคมหนึ่งก็กําหนดเช่นกันว่า ถ้าคุณไม่แต่งตัวอย่างนี้คุณหาอะไรไม่ได้ นี่ก็เช่นกัน เป็นการมาสกัดกั้นศักยภาพของคุณ เพราะฉะนั้นการมองทะลุกรอบทำนองนี้ คือการให้ความสําคัญกับอิสรภาพ ถ้าสมมติคุณเชื่อว่า การที่คุณเป็นอย่างนี้ดี หรือทําให้คุณยืนยันตอกย้ําความเป็นตัวคุณได้ ก็คงดี แต่ถ้าคุณเชื่อว่าไม่ใช่ตัวตนของคุณ ควรจะเป็นสิทธิของคุณที่จะทําสิ่งนี้

 

ถาม : แล้วอย่างนั้นมาตรฐานที่เราใช้ในการวัดก็แตกต่างกัน ในแต่ละสังคมใช่ไหมคะ?

ดร. ชัยวัฒน์ : มีทั้ง ๒ อย่าง บางส่วนเป็นมาตรฐานที่อาจจะแตกต่างกันในแต่ละสังคม แต่น่าจะมีปัจจัยพื้นฐานบางอย่างซึ่งคล้ายคลึงกันทุกสังคม เช่น อายุขัย ถ้าคุณอยู่ในกานา ในปี ค.ศ. ๑๙๖๗ อายุเฉลี่ยคุณจะแค่ ๒๘ ปี อาจจะด้วยเหตุผลร้อยแปด โรคภัยไข้เจ็บ อะไรทั้งหมดนี้ คําถามของนักวิจัยสันติภาพก็คือ “ความตายที่ว่าป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้หรือไม่” ถ้าคําตอบคือ “ป้องกันไม่ได้” ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าคําตอบคือ “ป้องกันได้” แล้วคุณปล่อยให้ความตายเกิดขึ้น อย่างนี้เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น อิสรภาพ (freedom) กับอัตลักษณ์ (identity) ก็เป็นส่วนหนึ่งของศักยภาพที่ว่านี้

 


การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับของรัฐบาลไทย ภาพสะท้อนการจัดการกับวิกฤตและความขัดแย้งโดยขาดการใคร่ครวญเรื่อง “วิธีการ”
ที่มา : BBC Thai

 


วิกฤตสาธารณสุขชายแดนไทย-เมียนมา หลังสหรัฐฯ ตัดงบ USAID คือภาพสะท้อนร่วมสมัยของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะผู้คนอพยพนั้นต้องเผชิญกับภาวะไร้ “ศักยภาพที่จะมีอายุ มีชีวิต ดํารงชีวิตได้อย่างปลอดภัยไร้โรค”
ที่มา :.bbc.thai

 

ถาม : ถ้าอย่างนั้นการพูดถึงระบบสวัสดิการ (welfare) ก็คือส่วนที่มาเสริมใช่ไหมคะ?

ดร. ชัยวัฒน์ : ถูกสิครับ

 

ถาม : และเพื่อที่จะได้อยู่รอด หรือการอยู่รอด (Survival) นี่คือพื้นฐาน?

ดร. ชัยวัฒน์ : คงต้องเริ่มที่การอยู่รอดก่อน แต่ว่าเวลาพูดถึงระบบสวัสดิการ (welfare) นี้หมายถึง ต้องถามคําถามว่า สําหรับมนุษย์แล้ว สิ่งจําเป็นพื้นฐานที่จะต้องได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์มีอะไรบ้าง? กัลตุงก็จะอธิบายว่า มีสิ่งจําเป็นพื้นฐานบางอย่าง เช่น การดูแลสุขภาพ เป็นต้น วันนี้ผมมีตัวเลขงบประมาณทหารของไทย (ให้ดูรายการงบประมาณทางทหาร) แล้วอันนี้ก็จะตอบคําถามว่า ระบบสังคมไทยนี้ตอบสนองอะไรกันแน่ ระหว่างสิ่งที่เราควรจะได้หรือไม่ อย่างเช่น การศึกษา โอกาสในการพัฒนาตนเองให้กับสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม อะไรทั้งหลายทั้งปวง ต้องดูว่า รัฐใช้ทรัพยากรไปเพื่อสิ่งเหล่านี้หรือไม่เพียงไร หรือนําไปใช้เพื่อการอย่างอื่น เช่น ในกรณีงบประมาณทหารที่ว่านั้น

 


ความเหลื่อมล้ำ วัฒนธรรมความยากจนของคนไทยในอดีต ที่ยังส่งต่อมาถึงคนจนเมืองยุคปัจจุบันคือภาพสะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
ที่มา: ภาพถ่ายโดย ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ใน "คนจน" กับ "วัฒนธรรมความจนในสังคมไทย"

 

ถาม : ดิฉันอ่านงานของ Toffler เรื่อง ‘สงครามและสันติภาพ’ ที่บอกว่า บางครั้งสงครามจะเป็นสันติภาพในตัวของมันเอง คือสงครามเล็กสามารถสกัดกั้นสงครามใหญ่ได้ อาจารย์มีความคิดอย่างไรกับแนวคิดนี้คะ?

ดร. ชัยวัฒน์ : คือ Toffler ไม่เข้าใจกรอบความคิดทางด้านการวิจัยสันติภาพเชิงวิพากษ์เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดก็ไม่ต่างอะไรจากความคิดดั้งเดิมทั้งหลายที่พยายามจะบอกว่า เราไม่อยากจะรบหรอก แต่ว่าเรารบเพื่อป้องกันไม่ให้มันลุกลามเป็นอย่างอื่น เท่านั้นเอง คําถามก็คือว่า ตรรกะหรือการให้เหตุผล (logic) แบบนี้ส่งผลให้โลกเป็นอย่างที่มันเคยเป็นมานาน แนวคิดว่า “หากหวังตั้งสงบจงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” อันนี้โบร่ําโบราณ น่าเบื่อมากเลย ผลของแนวคิดนี้คือ พอนํามาใช้ในสมัยใหม่ อธิบายอย่างนี้ไม่ได้แล้ว

 


แบบจำลองขีปนาวุธพิสัยใกล้ของปากีสถาน หรือจรวดชาฮีน ในสงครามระหว่างอินเดีย และ ปากีสถานในขณะนี้คือภาพสะท้อนเทคโนโลยีการสงครามที่ทำลายล้างสูง อย่างโดรนจนถึงนิวเคลียร์
ที่มา: Getty Images

 


ทหารยูเครนกำลังเดินอยู่ข้าง ๆ อาคารที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในเมืองอีร์ปิน ชานกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2022
ที่มา: AP

 

ถาม : ฉะนั้น สิ่งที่จะทําได้ในทัศนะของทฤษฎีนักสันติวิธีคืออะไรคะ คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือเปล่า?

ดร. ชัยวัฒน์ : ไม่เชิงทัศนคติ แต่คือปัญหา “กระบวนทัศน์ (paradigm)” ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงที่จําเป็นคือการเปลี่ยนแว่นที่ผู้คนใช้มองโลกทั้งสิ้นทั้งปวง Toffler นี่อาจจะเป็นนักอนาคตศาสตร์ก็จริง แต่เขาไม่ได้เปลี่ยนแว่นที่ใช้ในการมองประเด็นเรื่องของความรุนแรง เมื่อเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เขาเห็นก็คือส่วนหนึ่งของตรรกปรกติ ซึ่งมองว่า สงครามขนาดเล็กจะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ได้ นี่คือเหตุผลที่นักทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศมักใช้กัน ในยุคสงครามเย็น ที่เรียกว่าเป็นสงครามก็เพราะไม่ใช่สงครามระหว่างอภิมหาอํานาจ แต่ก็มีสงครามเวียดนาม สงครามในตะวันออกกลาง และที่อื่น ๆ ในโลก คนเล็กคนน้อยบาดเจ็บล้มตายไปมาก แต่ว่าอภิมหาอํานาจยังอยู่ และเหตุผลก็คือ เพราะมหาอํานาจมีอาวุธรบเยอะ ถ้ามหาอํานาจสู้กันจริง โลกจะถูกทําลายหมด การคิดเช่นนี้น่าสะพรึงกลัวเพราะทําให้มนุษย์ที่เหลือในโลกกลายเป็นเบี้ยไปหมด ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน (Cost) ของการคิดเช่นนี้ก็คือ จะเอาคนที่ตายเป็นล้านเป็นแสนในอเมริกากลาง ในอุษาคเนย์ ไปไว้ที่ไหน คนเขมรที่เสียชีวิตเกือบ ๒ ล้านคน ก็ไม่รู้เอาไปไว้ที่ไหน

 


สงครามเวียดนาม ภาพสะท้อนสงครามขนาดเล็ก หมายถึง “วิธีการ” ที่ผิดพลาดในการจัดการความขัดแย้ง
ที่มา : The Atlantic

 

ถาม : พูดถึงประเด็นของสงครามตัวแทนซึ่งอาจารย์ปรีดีได้พูดถึงไว้ในเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าผู้นําต้องการทําสงครามก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าให้ผู้อื่นไปตายแทน ในประเด็นนี้นักสันติวิธีหรือทฤษฎีสันติภาพมองอย่างไรคะ แล้วจะยังมีความหวังอะไรหลงเหลืออยู่ เพราะผู้ที่ทําสงครามตัวแทนคือมหาอํานาจของโลก แล้วเราจะใช้วิธีไหนในการต่อสู้กับเขา?

 

 

ดร. ชัยวัฒน์ : คงคิดถึงเรื่องนี้ได้สองทาง ทางหนึ่งก็คือเชื่อว่า เพราะประเทศเหล่านี้เป็นอภิมหาอํานาจจึงปราศจากจุดอ่อนใด ๆ

หรืออีกทางหนึ่งก็คือว่า จะเป็นอภิมหาอํานาจหรือไม่ ก็ไม่ต่างอะไรจากหน่วยสังคมอื่น ๆ เป็นไปได้หรือที่จะมีหน่วยสังคมที่ประสานสนิทจนไม่มีจุดอ่อนข้อต่อ? ถ้าสมมติว่ามีจุดอ่อนข้อต่อ ก็หมายความว่าหน่วยทางสังคมดังกล่าวกร่อนเซาะบั่นทอนได้ในหลาย ๆ ลักษณะ และบ่อยครั้งมาก อาณาจักรต่าง ๆ ก็ล่มสลายด้วยตัวของมันเองเสมอมา สหรัฐฯ ไม่ใช่อภิมหาอํานาจสูงสุดชาติแรกในประวัติศาสตร์ ในโลกนี้มีอภิมหาอํานาจมามากมาย เช่น เปอร์เซียสมัยก่อน กรีก โรมัน ออตโตมาน จักรวรรดิอังกฤษ ล้วนแล้วแต่ล่มสลายมาแล้ว และสาเหตุหนึ่งของการล่มสลายในแง่ประวัติศาสตร์ก็อยู่ที่ล่มสลายเพราะน้ําหนักของตนเอง

ตอนปลายสมัยอาณาจักรออตโตมานที่ล่มสลายก็เพราะว่าใหญ่โตเกินไป กระทั่งในที่สุดแล้วปลายสุดของคนที่อยู่ชายขอบรอบอาณาจักรออตโตมานไม่สามารถจะติดต่อกับศูนย์กลางได้อีกแล้ว ผู้คนจึงมีชีวิตของตนเอง เช่น เขาใช้ให้นั่งดูหมู่เกาะกรีก หมู่เกาะอะไรต่ออะไร ก็มานั่งทํารายงานส่งไปยังศูนย์กลาง แต่ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครสนใจรายงานพวกนี้ ในที่สุดมหาอาณาจักรก็แตกสลาย บทเรียนนี้เกิดขึ้นซ้ําแล้วซ้ําอีก ตอกย้ําเรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุด คือจักรวรรดิโซเวียตซึ่งล่มสลาย เพราะฉะนั้นเมื่อพิเคราะห์จากมุมมองอย่างนักสังคมศาสตร์ที่ให้ความสําคัญกับประวัติศาสตร์ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ใครเชื่อว่าอภิมหาอํานาจไม่มีจุดอ่อน และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้เชื่อว่า ภายในของอภิมหาอํานาจหรืออาณาจักรเหล่านี้เป็นเนื้อเดียวแน่น หนาไม่แตกสลาย ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้เชื่อว่า อาณาจักรเหล่านี้จะอยู่ตลอดไป

พิจารณาจากมุมมองของมุสลิม ก็คือว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสร้างทางสังคม ถ้าคุณอธิบายจากพระคัมภีร์ กุรอาน ก็คือ วันหนึ่งสรรพสิ่งก็ต้องสูญสลายไป เพราะฉะนั้นถ้าโลกนี้เป็นอย่างนั้นจริง ที่คุณกล่าวเมื่อครู่ก็ไม่ต้องตามทฤษฎี และไม่สอดคล้องกับศรัทธาทางศาสนา ที่สอดคล้องกับทั้งทฤษฎีและศรัทธายิ่งกว่าก็คือ แนวคิดสันติวิธีที่เห็นว่า มหาอาณาจักรอภิมหาอํานาจทั้งหลายล้วนมีจุดอ่อนได้ทั้งนั้น

 


ภาพ Ai generated ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ที่มา: @WhiteHouse

 

ถาม : ถ้ามองในแง่พุทธก็คือกฎอนิจจังใช่ไหมคะ?

ดร. ชัยวัฒน์ : เอาเป็นว่าคงมีหลักธรรมต่าง ๆ มาสนับสนุนจุดยืนเช่นนี้

 

ถาม : ถ้าอย่างนั้น นักสันติวิธีก็ต้องมองโลกในแง่ดี และมองทะลุจุดนี้ไปได้ว่าทุกอย่างนี้มันต้องล่มสลาย

ดร. ชัยวัฒน์ : คิดว่าไม่ใช่เฉพาะนักสันติวิธี เพราะใครก็ตามที่มองโลกโดยมีจุดมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ก็ต้องมองโลกในแง่ดี ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้มีปัญหา ก็ไม่ใช่ว่าเฉพาะนักสันติวิธี ผมคิดว่า นักปฏิวัติที่จริงจังก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือต้องมองโลกในแง่ดี คนเหล่านั้นถึงลุกขึ้นไปทําอะไรบางอย่าง

 

ถาม : ในประเด็นของนักสันติวิธีเชิงโครงสร้าง ไม่ทราบมีความเกี่ยวข้องกับนักสิทธิมนุษยชนหรือนักสังคมสงเคราะห์อย่างไร?

ดร. ชัยวัฒน์ : เกี่ยวแน่ ๆ มีบางคนกล่าวหาโจมตีแนวคิดสันติวิธี และผู้คนที่มุ่งจะทํางานด้านสันติวิธี โดยสนใจแต่ว่า สันติวิธีมีวิธีการในการต่อสู้อย่างไร จัดการอย่างไร คือจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทําแค่นี้ไม่พอ จะต้องใส่ใจต่อไปด้วยว่า แล้วจะสร้างสังคมที่ดีอย่างไร พวกหลังนี้จะเป็นประเด็นในทางโครงสร้าง ถ้าพูดแทนตัวผมเอง งานของผมจะมุ่งที่สันติวิธีในแง่ของการต่อสู้มากกว่า เหตุผลของผมง่ายมาก ก็คือว่า การพูดถึงสังคมที่ดี สังคมที่ควรจะเป็น ทั้งหลายทั้งปวง มีคนทําการศึกษานําเสนอมากมาย ในความเป็นจริงผมรู้สึกว่า ใคร ๆ ก็ทํางานพวกนี้ เช่น อาจารย์ประเวศ (วะสี) อาจารย์เสน่ห์ (จามริก) ท่านเหล่านี้เริ่มจากการวิพากษ์สังคมที่เป็นอยู่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเหล่านี้ แล้วก็นําไปสู่ภาพสังคมที่พึงประสงค์ ปัญหาของผมไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือผมคิดว่า คงสามารถจะวิเคราะห์เหตุของความเสื่อมในสังคมได้ คงสามารถจะสร้างสังคมที่ดีในส่วนที่คิดว่าเราควรจะเป็นได้ แต่คําถามที่ผมสนใจก็คือ จะทําอย่างไรจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่เป็นอยู่ไปสู่ภาพสังคมที่พึงประสงค์โดยไม่ต้องมีความรุนแรง ผมสนใจที่ตรงนี้

งานผมจะอยู่ตรงนี้ ก็เคยเสนอไว้บ้างว่า สังคมที่ดีควรจะอยู่เย็นเป็นสุข อยู่เย็นเป็นสุขหมายความว่าอะไร? แต่การจะสร้างสังคมเช่นนั้น จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรและตรงไหน

 


Picasso’s Symbol of Peace
ที่มา : hiddengallery

 

ถาม : ถ้าเช่นนั้น อาจารย์มองว่า สันติวิธีเป็นประเด็นที่จะนําไปสู่สันติภาพเชิงโครงสร้างหรือเปล่าคะ?

ดร. ชัยวัฒน์ : ถ้าคิดว่าสังคมต้องเปลี่ยนแปลงแล้วละก็ ผมคิดว่าคงต้องใส่ใจกับวิธีการ ซึ่งก็คือปัญหายิ่งใหญ่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ

 

ถาม : ถ้าอย่างนั้นอาจารย์มองว่า คนที่คํานึงถึงวิธีการเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายที่บอกว่าเป็นสันติภาพหรือสันติสุขของสังคมต้องได้มาด้วยสันติวิธี อย่างนั้นถึงจะเรียกว่านักสันติวิธีโดยแท้ใช่หรือไม่คะ? แล้วมองอย่างไรกับคนที่บอกว่า เขาต้องการสังคมที่มีสันติสุขเหมือนกัน แต่มองว่า เขาอาจจะมีวิธีการอื่นอีกหลาย ๆ ทาง?

ดร. ชัยวัฒน์ : ก็เพียงแต่บอกว่า คนพวกนั้นไม่ได้สนใจสันติวิธี แต่เขาอาจจะสนใจสร้างสังคมที่ดี เชกูวาร่าก็สนใจสร้างสังคมที่ดี เหมาเจ๋อตุงหรือเลนินก็สนใจสร้างสังคมที่ดี แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ดอม เฮลเดอร์ คามารา ไม่ใช่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ไม่ใช่คานธี อาจจะเรียกคนพวกนั้นเป็นนักปฏิวัติได้ อาจจะเรียกพวกเขาเป็นนักสร้างสังคมที่ดีได้ เป็นนักอุดมคติอะไรก็ได้ แต่คงเรียกเขาว่าเป็นนักสันติวิธีไม่ได้

 

 

บรรณานุกรม :

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “ภาคผนวก ข บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” เป็น “เมื่อโลกไม่ได้แค่ความรุนแรงในสงคราม:สำรวจหลากมิติของความรุนแรงบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” โดยตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2544

บรรณานุกรม :

  • สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน, เรื่อง “ภาคผนวก ข บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์”, กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์? กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก, (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544), น. 334-343.