ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"ฉลบชลัยย์" สตรีผู้กล้าเผชิญหน้ากับอำนาจอธรรม

6
เมษายน
2564

 

 

ฉลบ...ภรรยาที่รักยิ่งชีวิตของข้าพเจ้า

บันทึกคุณจำกัด พลางกูร

วันพุธที่ 3 มีนาคม 2486

ตื่นขึ้นมาวันนี้ ข้าพเจ้าใจไม่ใคร่ดีเลย เพราะต้องจากฉลบไปแล้ว ตอนเช้าฉลบได้ช่วยเอาของบางหย่างออกจากหีบใบใหญ่ของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ใส่หีบเล็กลงไปในนั้นได้ มีหีบใบเดียวจะได้ไปสะดวก เพราะไม่แนใจว่าจะต้องหิ้วหีบเดินป่าด้วยลำพังตนเองหรือไม่ ข้าพเจ้าได้สั่งเสียกับฉลบสองสามคำ เกี่ยวกับการบ้านเรือน แล้วก็ยกของออกมาไว้ข้างนอกห้อง

หลังจากตรวจของที่ด่านศุลกากรเรียบร้อยแล้ว นายเตียงและภรรยา ข้าพเจ้าและภรรยาและไพศาล ได้ลงเรือแจวข้ามฟากแม่น้ำโขงไปยังท่าแขกในอินโดจีนฝรั่งเศส

เวลาที่ข้าพเจ้าต้องจากกับฉลบ “ภรรยาที่รักยิ่งชีวิตของข้าพเจ้า” ได้เขยิบใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ทุกๆ นาที ทุกๆ วินาที ใจของข้าพเจ้าหดเหี่ยวลงไปทุกที ข้าพเจ้ารู้หยู่ดีว่า การลาจากเมียไปคราวนี้เกือบเหมือนการลาไปตายทีเดียว ยิ่งเสียกว่าจะออกไปแนวหน้าอีก เพราะข้าพเจ้าอาจถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับไปทรมานจนตาย หรือถูกพวกโจรฆ่าตายหายสาปศูนย์ไปเลยก็ได้

ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจ และ เป็นห่วงภรรยาของข้าพเจ้ามาก แต่ในขณะเดียวกันข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าต้องกัดฟันก้าวหน้าต่อไปเพื่อกู้ชาติ จะถอยสักก้าวเดียวก็ไม่ได้ ความรักชาติและความรักเมียได้ต่อสู้กันพักใหญ่ ในดวงใจอันหมกมุ่นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ปล่อยให้ความรักเมียเข้าครอบงำจิตต์ใจ ครู่หนึ่งในขณะที่ร่างกายของข้าพเจ้ากำลังเดินไปตามวิถีกู้ชาติที่ได้กำหนดไว้แล้ว

หลังกินข้าวกลางวันเล็กน้อย นายเตียงได้ถอดแหวนทองมาให้ข้าพเจ้า และได้ให้นางนิวาสถอดกำไลเพ็ชร สร้อยข้อมือ และสร้อยคอ มาให้ด้วย ไว้เผื่อยามติดขัด ข้าพเจ้าจะอดขอบใจไม่ได้เลย

ราวๆ 15.00 น. นายเตียง นางนิวาส และฉลบ ก็ได้เดินออกจากโรงแรมที่ข้าพเจ้าพักไปกล่าวคำอำลา และ อวยพรกับนายไพศาล ก่อนจะย่างเท้าออกจากบริเวณนั้นอากาศครึ้มๆ นิดๆ แต่ก็ร้อนอบอ้าว ใบไม้ไม่กระดิกเลย

ข้าพเจ้าได้เดินตามไปด้วยหย่างคนไร้จิตต์ใจ หย่างคนเดินในฝัน ครู่หนึ่งต่อมา เราไปขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง มองจากตลิ่งอันสูงชันลงไปเห็นระดับน้ำหยู่เบื้องล่าง มีระลอกน้อยๆ ขณะนั้นแดดก็ออกมาสลัวๆ เมื่อถามหาเรือได้แล้ว นายเตียงก็นำหน้าพา

หมู่นั้นลงกะไดที่ตลิ่ง บ่ายหน้าไปยังเรือแจวประทุนซึ่งจอดหยู่ ข้าพเจ้าค่อยๆ ลงบันไดตามไปด้วย และรีบสาวเท้าตามไปจนติดตัวภรรยาของข้าพเจ้า ภรรยาข้าพเจ้าได้รีบเดินไปโดยเร็ว มุ่งหน้าไปยังเรือแจวประทุนนั้น เพื่อจะตัดบทบาทอันเศร้าโศก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ 

ข้าพเจ้าได้จับมือภรรยาแล้วกล่าวว่า “หยู่ดีๆ นะ” ภรรยาของข้าพเจ้าก็สลัดมือก้มหน้าวิ่งหนีลับเข้าไปในประทุนเรือ โดยไม่กล้าสบตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้จับมือลากับนางนิวาส และได้สวมกอดนายเตียง เพื่อนร่วมชีวิตกล่าวคำอำลา ซึ่งอาจเป็นครั้งสุดท้ายได้

พอนายเตียงเข้าไปในประทุนเรือ คนแจวเรือก็ถีบเรือออกจากฝั่ง พาเอาหัวใจของข้าพเจ้าล่องลอยหายตามเรือนั้นไปด้วย

ข้าพเจ้ารีบขึ้นบันไดประมาณ 100 คั่น ไปยืนหยู่บนตลิ่ง มองดูเรือประทุนซึ่งค่อยๆ แจวไปตามลำน้ำโขงอันกว้างใหญ่ รอบๆ เงียบสงัดมาก ข้าพเจ้าได้ยินเสียงแจวถูกน้ำดังต่อมๆ เสียงนี้ค่อยๆ เบาลงๆ ครู่หนึ่งต่อมา ข้าพเจ้าเห็นร่างอันบอบบางของภรรยาข้าพเจ้า คุกเข่าโผล่ออกมาจากประทุนเรือเพื่อมองดูข้าพเจ้า อาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ เธอได้จ้องมองดูข้าพเจ้าเป๋ง ในขณะที่ข้าพเจ้าก็จ้องมองดูเธอหย่าง

เดียวกัน ต๋อม ต๋อม ต๋อม เรือก็ค่อยๆ แล่นไป ส่งลูกคลื่นน้อยๆ มากระทบฝั่งไกลเข้าๆ จนข้าพเจ้ามองไม่เห็นหน้าภรรยาข้าพเจ้าแล้ว เห็นแต่เสื้อสีเหลืองๆ แดง เท่านั้น อีกสักอึดใจเดียวเรือประทุนนั้นก็เลี้ยวโค้งลับตาไป

หมายเหตุ: บันทึกนี้ คุณจำกัด พลางกูร เขียนด้วยลายมือตนเอง ขณะที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เสรีไทย ณ ต่างประเทศ คำบางคำสะกดแบบเก่าในสมัยนั้น

 

- - - - -

 

กัลยาณมิตร

พูนศุข พนมยงค์

ดิฉันรู้จักกับคุณฉลบตั้งแต่ปี 2480 ที่ปารีส ด้วยการแนะนำของคุณจำกัด พลางกูร เรามาสนิทสนมกันมากขึ้นในช่วงที่เธออพยพไปอยู่บางปะอินกับพวกเราในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ชะตาชีวิตของเธอดูเหมือนจะผูกพันกับครอบครัวของเรา

เธอสูญเสียสามีอันเป็นที่รักของเธอในภารกิจขบวนการเสรีไทย ส่วนเธอก็เป็นเสรีไทยที่ทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้า

หลังสงคราม เธอแวะเวียนมาพักอยู่กับครอบครัวเราที่ทำเนียบท่าช้างเป็นประจำ 8 พ.ย. 2490 เกิดรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมัยนั้น

รุ่งขึ้นเช้ามืด คุณฉลบก็มาอยู่เป็นเพื่อนเรา

ช่วงวิกฤตต่อมา คุณฉลบไม่เคยทอดทิ้งครอบครัวเราเลย เธอจะมาอยู่เป็นกำลังใจให้ตลอด ยามที่ดิฉันถูกคุมขังที่กองสันติบาล กรมตำรวจ ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร เป็นเวลา 84 วัน คุณฉลบมาเยี่ยมทุกวันไม่เคยเว้น

เมื่อครอบครัวเราลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศจีน เธอก็ “แอบ” ไปเยี่ยมเราที่นั่น ที่ว่า “แอบ” เพราะรัฐบาลไทยขณะนั้น เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลจีน คนไทยเดินทางไปจีนโดยเปิดเผย กลับมาเมืองไทยจะถูกจับดำเนินคดีทุกคน

เมื่อนายปรีดีเดินทางไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส คุณฉลบก็ได้ไปพักผ่อนและช่วยงานนายปรีดีทุกๆ ปีในระหว่างปิดเทอมใหญ่

 

 

วันที่นายปรีดีสิ้นลม คุณฉลบก็อยู่กับเราที่บ้านอองโตนี หลังจากวันนั้น คุณฉลบก็ไม่ได้ไปฝรั่งเศสอีกเลย ภาพที่เธอนั่งทำงานกับนายปรีดีก่อนนายปรีดี เสียชีวิตไม่กี่วันยืนยันได้ว่า “คุณฉลบคือกัลยาณมิตรของครอบครัวเรา”

 

- - - - -

 

ฉลบ...เพื่อนผู้อยู่เหนือวัย

คุณหญิงกระจ่างศรี (หงสเวส) รักตะกนิษฐ

ฉลบกับดิฉันเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ปี 2476 เราเรียนห้องเดียวกันในคณะอักษรศาสตร์ 2 ปี และครุศาสตร์ (ป.ม.) อีกหนึ่งปี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรุ่นของเรามีนิสิตทั้งหมดเพียง 36 คน เป็นหญิง 12 คน และชาย 24 คน

ฉะนั้นเราทั้งหมดจึงเป็นเพื่อนสนิทกันอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะมาจากสถานศึกษาต่างๆ กัน ตลอดเวลา 3 ปีที่เราเรียนมาด้วยกัน ฉลบกับดิฉันสนิทกันมากขนาดที่เรียกภาษาสามัญว่าเป็นคู่หูกันทีเดียว ทั้งๆ ที่ฉลบหล่อหลอมมาจากโรงเรียนราชินีเรา

ส่วนดิฉันนั้นจากโรงเรียนเบญจมราชาลัยและปีสุดท้ายที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ แต่สถานศึกษาที่แตกต่างกันมิได้มีผลขัดขวางการเป็นเพื่อนสนิทของเราแต่ประการใดเลย เมื่อดิฉันได้รับโอกาสให้เขียนเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะเพื่อนสนิทคนหนึ่งของฉลบที่จุฬาฯ ดิฉันรู้สึกทั้งดีใจและหนักใจ ที่ดีใจนั้นเป็นธรรมดาของคนแก่ที่จะได้มีโอกาสฟื้นอดีต ลืมความแก่ชราไปชั่วขณะ แต่ก็หนักใจที่ความชราของดิฉันได้เก็บเอาอดีตของเราออกไปเสียมากต่อมาก รวมทั้งถ้อยคำที่จะเขียนก็ถูกจำกัดลงทุกที แต่ก็ยินดีจะเขียนตามมีตามได้ ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยในความบกพร่องทุกประการด้วย

ดิฉันเริ่มด้วยการนั่งนึกถึงเพื่อนรักคนนี้ แล้วก็ได้ยินเสียงรำพึงจากตนเองว่า นี่ฉลบมีอายุถึง 7 รอบคือ 84 ปี แล้วจริงๆหรือ ทำไมพลังกาย พลังใจ พลังความคิดของเธอจึงยังแข็งแกร่งนักเหมือนกับว่าจะอยู่เหนือวัยไม่ต่ำกว่าหนึ่งรอบ ดิฉันมานั่งนึกๆ ดู เพื่อนคนนี้ช่างจัดชีวิต 84 ปีของเธอ ได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เริ่มตั้งแต่ฐานะลูกต่อคุณพ่อนั้น ดิฉันไม่ค่อยชัดเจนนัก เพราะเป็นระยะเวลาที่ชีวิตเรากำลังยุ่งอยู่กับการศึกษา แต่เมื่อนึกถึงคุณแม่ ดิฉันจึงได้เห็นลูกตัวอย่างที่ปฏิบัติต่อแม่อย่างงดงามเป็นที่สุด 

ฉลบจะดูแลความเป็นอยู่ทุกอย่างของคุณแม่ด้วยตนเองอย่างถี่ถ้วน อาหารของคุณแม่ต้องลงมือทำเองแม้ว่าเธอจะมีมือช่วยอยู่ไม่น้อยเพราะมีโรงเรียน แต่ฉลบจะต้องลงมือทำเอง ทดแทนพระคุณท่านด้วยน้ำใจ ด้วยน้ำมือของตนเองเสมอมา จวบจนบั้นปลายแห่งชีวิตท่าน ถึงวันเกิดคุณแม่คราใด ฉลบจะต้องจัดให้คุณแม่ได้ถวายสังฆทานพระสงฆ์ตามจำนวนอายุของท่านบวกอีกหนึ่งปีเสมอมา เช่น เมื่อคุณแม่ อายุ 99 ปีก็ได้จัดให้คุณแม่ทำสังฆทาน พระสงฆ์ 100 รูป

โปรดนึกดูว่างานนี้จะยุ่งยากเพียงไร อย่างปีสุดท้ายเมื่อคุณแม่อายุครบ 100 เธอก็จัดให้คุณแม่ถวายสังฆทานพระ 101 รูปและจัดเป็นงานใหญ่ให้ท่านได้พบปะลูกหลานทั้งหมด รวมทั้งเพื่อนสนิทของลูกให้คุณแม่ได้ชื่นใจมากที่สุด และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เห็นได้ชัดจากการที่คุณแม่ได้ร่วมร้องเพลงกับทุกคนในงานวันนั้น พอรุ่งขึ้นอันเป็นวันข้ามปีที่ 100 ท่านก็จากไปด้วยความสุขสงบ ท่านมีชีวิตอยู่ครบ 100 ปีเต็มๆ เพราะความประคับประคองทั้งกายและใจของลูกๆ ท่านช่างมีบุญอะไรเช่นนั้น

ต่อจากคุณแม่ถึงพี่น้อง ใครเดือดร้อน เจ็บป่วยอะไร ฉลบจะดูแลทั่วถึงหมด ทำอาหารส่งสม่ำเสมอ ดูแลการเป็นอยู่เอาธุระวงญาติทุกคน นอกเหนือจากวงญาติก็ถึงเพื่อนๆ ผู้มีน้ำใจอย่างฉลบย่อมจะมีเพื่อนมากมาย เธอก็จะดูแลแก้ปัญหาให้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนคนใดเดือดร้อนมา

ฉลบจะทุ่มตัวลงช่วยอย่างเต็มที่จนเป็นที่ยอมรับอย่างชัดแจ้งในหมู่เพื่อน บุคลิกดีเด่นประการสำคัญอันทำให้ฉลบมีเพื่อนมากประกอบด้วยนิสัย อัธยาศัย และพฤติกรรมอันเป็นรูปธรรมจำเพาะของฉลบ ยากจะมีใครเสมอเหมือน ความมีมนุษยสัมพันธ์อันดีของเธอ ได้แก่ความจริงใจ ความร่าเริงแจ่มใส คิดดี ทำดี และพูดดีต่อทุกคน 

สิ่งที่ลอยเด่นเหนือผู้อื่นความช่างพูด ช่างเล่า อย่างเสียงดังฟังชัด เรื่องเสียงของฉลบนี้เป็นที่รู้กัน ถ้าฉลบอยู่ที่ไหนจะได้ยินเสียงก่อนเห็นตัว ทำให้เพื่อนๆ บางคนทั้งโมโห ทั้งหมั่นไส้ แกมเอ็นดู อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในห้องเรียนที่หอวัง เมื่อ พ.ศ. 2479 จำได้ว่าชั่วโมงนั้นเป็นชั่วโมงของท่านอาจารย์คุณหลวงปราโมทย์จรรยาวิภาช ทั้งโต๊ะฉลบและโต๊ะดิฉันซึ่งนั่งชิดกันโดนมือดีเอาผงหมามุ่ยมาเคาะไว้บนโต๊ะ พอเรานั่งวางแขนลงต่างคนต่างคัน มองหน้ากันเลิกลั่ก ในที่สุดทนไม่ไหวจริงๆ ต้องยอมเสียมารยาทลุกจากโต๊ะออกไปนอกห้องเรียน เพื่อไปหาทางจัดการเรื่องนี้ พ่อเพื่อนตัวการคงแอบดูด้วยความขบขันแกมสะใจ ได้ยินต่อมาว่าเพราะสองคนนี้ช่างพูดนัก ช่างเสียงดังรบกวนสมาธิเขาดีนัก จนป่านนี้ก็ยังไม่รู้ตัวจำเลย ไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามเราก็ได้ให้อโหสิกรรมแก่เขาไปนานแล้ว

งานหลักของฉลบ คือ งานครู ฉลบเป็นครูแท้และขอบใจที่ลูกศิษย์เรียกว่าครูฉลบ ไม่สนใจคำว่า อาจารย์ ที่ใช้กันเกร่อในสมัยนี้เลย ฉลบเป็นครูที่สอนศิษย์จริงๆ เป็นเวลายาวนานกว่าใครๆ ที่ดิฉันเคยรู้จัก ไม่เบื่อหน่าย ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ยอมแพ้แก่สังขารเลย กวดขันลูกศิษย์แต่ละคนแบบเข้มจริงๆ ถ้าไม่ดีถึงใจจะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปเลย

ศิษย์คนใดอ่อนวิชาที่เธอสอนก็จะต้องอยู่เรียนพิเศษตอนเย็นประจำ เธอจะสอนให้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเลย ลูกศิษย์ของเธอจึงเก่งจริงๆ เคยไปเห็นฉลบนั่งห่มผ้าสอนพิเศษให้นักเรียนอยู่ ได้ความว่ากำลังเป็นไข้ แต่เธอก็ยังไม่ยอมหยุดสอน ดูสิคะ ช่างเกิดมาเพื่อเป็นครูโดยแท้ ครูที่สอนเอาจริงเอาจังจนอายุครบ 7 รอบแล้วก็ยังไม่ยอมหยุดนี่ ท่านว่าหายากไหมคะ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณท่านที่ให้โอกาสเขียนบทความนี้และขออนุญาตยุติการรื้ออดีตของเพื่อนที่รักแต่เพียงเท่านั้นด้วยความปีติ ยินดี และชื่นชมอย่างยิ่ง ขอเพื่อนจงพากเพียรเป็นครูต่อไปอีกชั่วกาลนานเถิด สำหรับฉลบ อายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

บทความนี้จะผิดถูก บกพร่องประการใด ขอท่านผู้อ่านได้โปรดอภัยแก่สมองที่ชราย่างเข้าปีที่ 87 ด้วยเถิดนะคะ

ขอบคุณและสวัสดี

 

- - - - -

 

คุณป้าเป็นศูนย์รวมของความดีงาม

สุธรรม แสงประทุม

 

 

ช่วงที่ติดคุก 6 ตุลา พวกเราอยู่กันสามแห่ง คือ บางขวาง โรงเรียนตำรวจบางเขนและที่ทันฑสถานหญิง ได้รับความเมตตาจากคุณป้า คุณป้าจะวางโปรแกรมมาเยี่ยมพวกเราทุกวันพุธ ซึ่งเป็นวันที่เรารอคอย คุณป้ามีข้อมูลครบว่าใครชอบทานอะไร ชอบสีอะไร วันเกิดใครตรงกับวันไหน เดือนอะไร แล้วจะพยายามหาของกิน ของใช้ที่แต่ละคนชอบมาฝาก มาให้เกือบทุกคน และยังคงจดจำได้มาจนทุกวันนี้ อย่างผมชอบทานขนมจีบที่สี่แยกพิชัย ก็ได้รับอานิสงส์จาก

คุณป้ามาสม่ำเสมอเหมือนกัน ส่วนที่ทำเป็นเมนคอร์สก็จะมีข้าวผัด หมูผัดขิง ที่สำคัญการมาของคุณป้าแต่ละครั้งทำให้บางขวางคึกคักเป็นพิเศษ จนผู้คุมบอกว่า “เอฟ 16 มาแล้วให้เตรียมรับลูก” นอกจากจะมีอาหารการกินแล้ว คุณป้าก็จะมีข่าวคราวที่ดีที่เป็นกำลังใจของพวกเราทุกคน การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศ

ท่านก็มาบอกเพื่อให้กำลังใจกับพวกเราว่าข่าวคราวของพวกเราเป็นที่รับรู้ของทุกคน โดยเฉพาะการเรียกร้องนิรโทษกรรมให้พวกเราจากคนไทยในฝรั่งเศสซึ่งมีท่านอาจารย์ปรีดีร่วมลงนามด้วยในเวลานั้นเป็นกำลังใจต่อพวกเรามาก พร้อมกันนั้น คุณป้าก็ยังห่วงใยในฐานะความเป็นครู ห่วงใยที่อยากให้เราใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ผมบอกว่าอยากเรียนภาษาอังกฤษ อีกไม่กี่วันจะมาแล้วตำราภาษาอังกฤษทั้งเซ็ทบุ๊ค ทั้งแผ่นเสียง หลังจากนั้นคุณป้าจะถามตลอดว่าไปถึงไหนแล้ว พวกเรามักจะปิดบังเพราะไม่ค่อยได้เอาใจใส่เท่าไร

ความเมตตาที่คุณป้ามีแก่พวกเราจะผูกพันตลอดมา จนถึงทุกวันนี้ ใครอยู่ที่ไหน ทุกข์สุขอย่างไร คุณป้าจะส่งข่าว ถามข่าวโดยไม่ยกเว้นว่าเป็นใคร แล้วเราเพิ่งทราบว่าความเอื้ออาทรแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่พวกเรา แต่คนอื่นทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือเผื่อแผ่ ข่าวหรือเรื่องราวที่คุณป้าหยิบยกขึ้นมาเล่าให้พวกเราฟัง บางครั้งเป็นเรื่องที่เครียดแต่คุณป้าเล่าอย่างสนุกสนาน มีเกร็ดกลเม็ดเด็ดพราย ความจำดี การนำเสนอดี และที่สำคัญเวลาคุณป้าพูดจะไม่มีใครสามารถสอดแทรกได้ นอกจากจะมีผมคอยรับส่งเป็นระยะๆ พอสอดแทรกได้ ฉะนั้นเพื่อนแต่ละคนจะคอยสะกิดบอกผม “สุธรรมช่วยเสริมตรงนี้นิดแทรกตรงนั้นหน่อย” พอได้บ้าง

เวลาคุณป้ามาเยี่ยม คุกที่เคยเงียบจะรู้สึกคึกคักขึ้นมา ที่นั่นปกติผู้คุมจะเป็นคนบันทึกการสนทนาเรากับคนมาเยี่ยม เพื่อเอาส่งรายงานเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่คุณป้ามา เขาจดไม่ทัน เพราะคุณป้าพูดเร็ว เสียงก็ดังมาก เรื่องที่เล่าก็มีสีสัน ผู้คุมก็พลอยสนุกไปด้วย

คุณป้าเป็นแบบอย่างที่ดีของการบันทึกจดจำ เป็นบันทึกที่ดีมาก อันนี้เป็นแบบอย่างเลย ผมเคยมีโอกาสเดินทางไปพัทยาไปบางแสนกับคุณป้า ท่านจะบันทึกเส้นทางของการไปไว้ เส้นทางนี้ปั๊มน้ำมันอยู่ตรงไหน ร้านอาหารอร่อยอยู่ตรงไหน แล้วจะต้องแวะตรงไหนบ้าง คือ มีความจำ มีเรคคอร์ด เป็นบันทึกการดำเนินการที่ดี ซึ่งถือได้ว่าคุณป้าเป็นแบบอย่างของคนซึ่งมีการบริหารจัดการที่ดีมาก และ จนถึงทุกวันนี้ ความจำต่างๆ ที่คุณป้าเคยมี คุณป้าจำได้หมด หยิบยกขึ้นมาคุยอย่างสดใสในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความประทับใจมาก

เกร็ดของคุณป้ายังมีอีกเยอะ อย่างเรื่องตอนที่สมัยจอมพล ป. มีการตรวจค้นบ้านคุณป้าหรือเรื่องการตรวจค้นอาวุธที่โรงเรียน คุณป้าก็เคยเล่าให้ฟัง คุณป้าเป็นคนที่ชอบให้เราอยากเรียนรู้ อยากศึกษา จนพวกเราต้องอายเหมือนกัน ต่อความจริงจังที่คุณป้าอยากให้ทุกคนได้รับความรู้ แม้ออกมาจากคุกแล้ว คุณป้าจะดีใจทุกครั้งถ้ารู้ว่าพวกเราไปเรียนภาษาอังกฤษ หรือศึกษาอะไรเพิ่มเติม ถึงแม้อายุจะมากแล้ว นั่นคือสิ่งที่คุณป้าอยากเห็น คืออยากเห็นเรามีความรู้มากขึ้น อยากเห็นการดำเนินการที่มีเหตุผล ไม่ใช่มีแต่ความรู้สึกที่ดีต่อบ้านเมืองเท่านั้น

คนที่คุณป้าศรัทธาที่สุด คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คุณป้าพยายามสอนเราว่า อาจารย์ปรีดีเป็นคนที่มีเหตุผลที่สุด ไม่อยากให้ใช้ความรู้สึกอธิบาย อยากให้ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีความรู้สึกที่สอดคล้องกันในการดำเนินชีวิต คุณป้าถือเอาชีวิตอาจารย์ปรีดีเป็นแบบอย่าง คุณป้าอยากให้ทุกคนเดินไปตามนั้น

ถ้าพวกเราคนไหนประสบความสำเร็จในชีวิต คุณป้าจะดีใจไปด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าเวลาที่เราลำบาก เราก็ไม่กล้าบอกคุณป้า เราพยายามดิ้นรนของเราเองก่อน ถ้าไม่มีทางแก้ปัญหาก็ไปบอกคุณป้า ท่านจึงรู้เรื่องของพวกเราที่หนักๆ ตอนปลายเสมอ แล้วเวลาให้คุณป้าแก้ปัญหาที ท่านจะต้องหัวเสียเกือบทุกครั้ง แต่ก็ยอมทำให้อย่างเต็มใจ คือ ทำไปบ่นไป บางทีมีเวลาเหลือเพียงวันเดียวในสายตาของคุณป้า แต่ท่านก็ช่วยเราแก้ปัญหาจนได้ นานไปเราจึงเข้าใจว่าการตระเตรียมตัวที่ดีทุกอย่างสามารถแก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหามันลดน้อยถอยลงไปได้เยอะ

คุณป้าเป็นคนที่มั่นคง ทำอะไรก็ตามทำด้วยความมั่นคง ไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้า “6 ตุลา” ทุกปีคุณป้าจะทำบุญเงียบๆ เพื่อรำลึกถึง ทั้งๆ ที่ความจริงคุณป้ามีส่วนเกี่ยวพันน้อยมากกับเหตุการณ์นั้น นอกจากมีความรู้สึกร่วมกับคนไทยที่รักความเป็นธรรม บางปีธรรมศาสตร์แทบจะไม่มีคนจัด แต่คุณป้ายังทำเสมอต้นเสมอปลายที่สุด

ท่านจะเตรียมการ พอประมาณปลายกันยา คุณป้าจะเริ่มบอกพวกเราแล้วว่า “ปีนี้อย่าลืมนะ” เมื่อก่อนจะส่งมาเป็นโปสการ์ด แล้วโปสการ์ดของคุณป้าจะมีทั้งซอง สีลาสีสัน และตั้งใจทำมากกว่าพวกเราหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์เสียอีก บางครั้งท่านสุขภาพไม่ดี แต่ท่านตั้งใจทำ จึงเป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ จนพวกเราอาย

คุณป้าจะจำในสิ่งที่ควรจำ ให้คุณค่ากับสิ่งที่ดี บุคคลที่ดีเสมอ คุณป้าจะพยายามบอกย้ำพวกเราตลอด งานของท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นงานสำคัญที่คุณป้าจะเป็นคนบอกย้ำพวกเราเสมอ แล้วก็ทำเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เว้นเลย คุณป้าเป็นศูนย์รวมของความดีงาม ของความทรงจำที่ดีเสมอ พร้อมที่จะเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้มากกว่าที่จะปล่อยให้ผ่านเลยไป

ชีวิตคุณป้าจะไม่ผ่อนปรนกับความไม่ถูกต้อง จริงจังกับความดีงามเสมอ แล้วก็ไม่ได้เข้มงวดกับคนอื่นในเรื่องพวกนี้ แต่ตัวเองจะเป็นตัวอย่างของเรื่องเสมอ คุณป้าเป็นคนเจ้าระเบียบและเสียงดัง ทำให้เพื่อนๆ หลายคนตกใจหนีกระเจิง จนน้องที่ธรรมศาสตร์ก็ดี จุฬาก็ดี หลายๆ ครั้งตกใจโดดหนีหมด คุณป้าเสียงดังแต่ใจดี มีความปรารถนาดีอยู่ในสิ่งนั้นเสมอ

อย่างไรก็ตาม การที่ผมได้มีชีวิตและดำรงตนอย่างถูกต้องในการทำงานให้กับสังคมอย่างไม่หวั่นไหวอยู่จนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญยิ่ง เพราะมีคุณป้าคอยช่วยเหลือให้กำลังใจทุกครั้งที่เจอมรสุม คุณป้าคือแสงสว่าง จนทุกวันนี้ผมยังได้รับความช่วยเหลือเกื้อหนุน จนกล่าวได้ว่าตอบแทนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด

เพราะฉะนั้นคุณป้าในทัศนะของผม และเพื่อนๆ ทุกคนจึงสรุปได้สั้นๆ ว่า

เป็นแบบอย่างคุณความดีของชีวิต
เป็นมิ่งมิตรของคนจนทั้งผอง
เป็นความหวังของบ้านเมืองอันเรืองรอง
เป็นผู้ครองที่ยิ่งใหญ่กลางใจเรา

 

- - - - -

 

ซุบซิบเรื่องคุณป้า

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์

ซุบซิบนินทาเป็นธรรมดาของโลกไม่มีใครเกิดมา ไม่เคยซุบซิบ ไม่เคยนินทา เป็นไม่มี เรื่องของคนอื่นเล็กๆ เพียงกระพี้เท่าเศษรังแค ถูกนำไปพูดในที่ลับหรือที่แจ้งล้วนเข้าข่ายซุบซิบ คนสมัยนี้เหมือนจะไม่รู้สึกรู้สา เรื่องส่วนตัวแท้ๆ ก็เอาไปซุบซิบลงหนังสือพิมพ์กันโครมๆ บางคนถึงกับจ้างให้ซุบซิบ ยิ่งถูกซุบซิบยิ่งดังในวงสังคม คนที่ไม่มีตังค์ไปว่าจ้างก็ตะเกียกตะกายปีนป่ายขึ้นไปประดับชื่อบนคอลัมน์ซุบซิบ มันกลายเป็นแฟชั่นไปเสียแล้ว

แต่บางเรื่องตีพิมพ์ลงหน้าไหนไม่ได้ทั้งนั้น ตัวบทกฎหมายเปิดช่องให้ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท ขอยกตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีของประเทศนั้นประเทศนี้เป็นเกย์ควีน แอบจิตซ่อนสาวประดิษฐ์ตนเป็นชาย เผลอไม่ได้เป็นต้องชะม้ายชม้อยหาชายหล่อล่ำอึ๋มมาสังเวยตัณหา เรื่องพรรค์นี้พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ นำขึ้นไปปาฐกถายิ่งไม่ได้กันใหญ่ ทำได้แค่ซุบซิบในวงแคบๆ แต่ผลที่ได้ไม่แคบเลย แผ่เร็วแผ่นกว้างไปทุกวงการ ฉับไวยิ่งกว่าไฟไหม้ชุมชนแออัด

แบบนี้เรียกว่าซุบซิบใต้ดิน ซึ่งมีอานุภาพยิ่งกว่าปรมาณู

ถ้าถึงขั้นใส่ไคล้ใส่พริกสาดเสียเทเสียให้บรรลัยไปข้างหนึ่ง เราก็ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความจากซุบซิบนินทาไปเป็นใส่ร้ายป้ายสี ขบวนการสาดโคลนใส่กันแบบนี้ นักการเมืองไทย เราถนัดนัก ไม่ต้องสอน เก่งกันมาเอง ใครที่ระลึกชาติได้ ก็สามารถเพ่งเห็นพวกนี้เก่งมาแต่อเวจีก่อนที่จะมาจุติ

ข้อเขียนสั้นๆ ชิ้นนี้มิอาจทำการใหญ่ทำลายชื่อเสียงหรือนินทาให้เสียผู้เสียคน แม้แต่ซุบซิบให้ดังก็เกินกำลังจะทำได้ เพียงแต่อยากจะซุบซิบเรื่องของคุณป้าฉลบให้ท่านฟังก็เท่านั้น ขอย้ำทวนให้แม่นมั่น ซุบซิบนะจ๊ะไม่ใช่นินทา

เรื่องดีๆ ไม่เห็นมีใครเอามานินทา มักจะกระเดียดไปทางร้ายๆ แต่ประเด็นซุบซิบของคนเราก็พอจะมีเรื่องดีอยู่บ้าง ไม่ใช่ร้ายไปเสียหมด บ้างเรื่องถึงกับน่ารักกุ๊กกิ๊กเสียซ้ำไป อย่างเรื่องของคุณป้า ซุบซิบกี่ทีต่อกี่ที ก็รู้สึกอบอุ่นใจไปทุกที

ต้องเท้าความหวนกลับไปเมื่อยี่สิบสี่ปีที่แล้ว ตอนนั้นแผ่นดินไทยนองไปด้วยเลือดของนักศึกษาและประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย พวกที่รอดก็หนีเข้าป่า จับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการ เหลืออยู่สิบเก้าคนที่ถูกจับไปขึ้นศาลทหารแบบมัดมือชก ถูกคาดโทษให้ประหารชีวิตสองสามรอบ

แต่คนดีผีคุ้ม ฝ่ายธรรมย่อมชนะฝ่ายอธรรมวันยังค่ำ เราได้รับแรงสนับสนุนจากทั่วทุกมุมโลก จากสหประชาชาติ จากประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ของอเมริกา

อยู่มาวันหนึ่ง พวกเราถูกเบิกตัวออกไปเยี่ยมญาติปรากฏว่าไม่ใช่ญาติ เป็นคุณป้าแปลกหน้าท่านหนึ่ง แต่งตัวภูมิฐาน ทาปากแดงแจ๋ยิ่งกว่าแต้มชาด มาดผู้ดีเนี้ยบ

สองสามปีนั้นพวกเราขลุกอยู่กับกรรมกรชาวนาผู้ใช้แรงงานเสียส่วนใหญ่ อยู่ดีๆ ก็มีคุณป้าแต่งตัวเนี้ยบก้าวเข้ามาเยี่ยมเราในคุก อะเมสซิ่งเกินคาดรีบปรับอารมณ์ให้เสงี่ยมอยู่ในคารวะ ที่ไหนได้ คุณป้าปริปากพูดเท่านั้น ก็ถึงกับตะลึงงงัน พยายามเก็บอาการคงบุคลิกให้นิ่ง ทั้งๆ ที่ใจมันผงะหงายไปแล้ว

เสียงคุณป้าดังมาก ครืนๆ ก้องสนั่นดั่งฟ้าร้อง ไม่เห็นจะเข้ากับผ้าพันคอที่ผูกอย่างสไตล์อังกฤษ ดังอย่างเดียว

 

 

สี่ปีที่แล้ว ลูกศิษย์ลูกหาหลั่งไหลไปอวยพรวันเกิดคุณป้าครบรอบแปดสิบปี พวกเราผู้ต้องหา 6 ตุลา ก็ไปร่วมอวยพรหลายคนด้วยกัน ชอบมากที่ลูกศิษย์ของคุณป้าขึ้นไปแสดงละครล้อเลียนคุณครูฉลบ ถ้าจำไม่ผิด คนที่สวมบทคุณครูเป็นแพทย์หญิง กิริยาท่าทางเหมือนคุณป้าเปี๊ยบ เหมือนกับภาพแรกที่เราเห็นท่านที่คุกบางขวางยังไงยังนั้น

ไม่สงสัยเลยลูกศิษย์คุณป้าเก่งทุกคน คนไหนที่นั่งเรียนกับท่านแล้วนั่งสัปหงก คนนั้นต้องเป็นคนหูด้านหูบอดและเชื่อได้ว่าไม่มีคำสอนใดสามารถเล็ดลอดหูของนักเรียนไปได้

เสียงแบบนั้น ท่าทางแบบนั้น เป็นลิขสิทธิ์ผูกขาดของคุณป้า ซึ่งได้บ่มเพาะบุคลากรให้แผ่นดินไทยนับร้อยนับพัน วันนี้หนูขอซุบซิบว่า หนูอิจฉาเสียงคุณป้า อธิษฐานจิตไว้ว่า ชาติหน้าเกิดมาอีกขอให้เสียงดังเหมือนคุณป้า มุ่งมั่นที่จะพูดแต่สิ่งดีๆ สร้างสรรค์โลกให้สวยงาม

ขอซุบซิบอีกคำ หนูรักคุณป้าจ้ะ

 

- - - - -

 

ครูผู้ให้

วาณี (พนมยงค์) สายประดิษฐ์

ครูฉลบเป็นแม่พิมพ์คนแรกของผู้เขียน ด้วยกุศลกรรมและความดีของครู น่าอัศจรรย์ด้วยความปีติว่า วันนี้ในวัย 7 รอบ (84 ปี) ครูดูสาวกว่าวัย กระฉับกระเฉง พูดเสียงดังฟังชัด มีสติปัญญาเฉียบคม กำลังวังชาอ่อนล้าตามวัยบ้าง ไม่เป็นอุปสรรคที่จะบริหารดรุโณทยานโรงเรียนของพวกเรา และยังคงสอนเด็กๆ รุ่นน้องอีกวันละหลายชั่วโมงอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

ในสังคมที่วัตถุเป็นปัจจัยนำทุกสิ่งทุกอย่าง น้อยนักที่จะมีครูที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาของเยาวชน เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ เช่น ครูฉลบ 50 กว่าปีที่ผู้เขียน เป็นศิษย์ของครู ขอถ่ายทอดความประทับใจ ในความเป็นผู้ให้ของครูฉลบที่น้อยคนจะรู้...

เสรีไทย

ใครๆ ก็รู้ว่าคุณจำกัด พลางกูร สามีสุดที่รักของครูฉลบเป็นเสรีไทย และไปเสียชีวิตที่นครจุงกิง ประเทศจีน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488) กองทหารญี่ปุ่นยกทัพยึดครองประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้รักชาติทุกคนที่จะร่วมใจกันต่อต้านผู้รุกรานทุกรูปแบบ โดยมิได้หวังลาภยศศฤงคารเป็นสิ่งตอบแทน

“รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ทำความเข้าใจกับคุณจำกัดก่อนออกเดินทางไปจุงกิงว่า “เพื่อชาติ เพื่อ Humanity นะคุณ.. เคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป” (จำกัด พลางกูร บันทึกประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486)

และแล้วครูฉลบได้มอบสิ่งที่มีค่าที่สุดเพื่อชาติ เพื่อ Humanity

น้อยคนจะรู้ว่า ครูฉลบก็เป็นเสรีไทยคนหนึ่ง ตอนนั้นคุณจำกัดปฏิบัติการอยู่ที่จุงกิง ด้วยการชักชวนของมารดาผู้เขียน ครูได้พำนักที่ทำเนียบท่าช้าง ครูได้เล่าให้ฟังว่า

วันอาทิตย์วันหนึ่ง....ท่านปรีดีซึ่งเคยฟังวิทยุต่างๆ อยู่ตลอดวันได้แจกกระดาษดินสอและปทานุกรม Concise Oxford ให้เราทุกคน ให้เราคอยจดข่าววิทยุ ซึ่งพันธมิตรกำลังจะส่งมาเป็นรหัสตัวเลข ท่านเปิดวิทยุให้ดังพอที่เราจะได้ยินทุกคน เราต่างคนต่างจด เป็นวรรคๆ ตามที่เขาบอก เมื่อจบแล้ว เอาตัวเลขมาทวนกัน พอตรงกันทุกคนแล้ว ก็เปิดปทานุกรมถอดรหัส ดูเหมือนตัวหรือวรรคแรกบอกหน้าในปทานุกรม เช่น หน้า 7 หน้า 25 ต่อไปบอกคำหรือบรรทัดอะไรทำนองนี้ ช่วยกันหา พอสำเร็จแล้วได้ใจความว่า เขาจะมาทิ้งระเบิดในคืนนั้น ขอให้พวกเราออกไปห่างจากจุดสำคัญๆ (ที่รู้อยู่แล้ว) ท่านปรีดีโมโหใหญ่ คิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญอะไรจะให้ดำเนินการอย่างไร ท่านว่า “ไม่หนีหรอก จะตายก็ให้ตายไป” และปรากฏว่าครั้งหนึ่งลูกระเบิดลงมาถูกเรือนไม้ 2 ชั้นริมน้ำในบริเวณบ้านของท่านเองพังจมน้ำไปเลย เคราะห์ดีที่ไม่มีคนอยู่ในเรือนนั้น บ้านท่านปรีดีอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย ขณะนั้นลูกระเบิดย่อมจะพลาดมาลงที่บ้านท่านได้อย่างง่ายดาย* (ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพ และบูชาท่านปรีดี พนมยงค์ (หนังสือวันปรีดี พฤษภาคม ๒๕๓๕))

ผู้ที่เคยอ่านนวนิยายเล่มหนึ่งที่บรรยายความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย คงจะรู้สึกว่าเรื่องที่ครูฉลบปฏิบัติหน้าที่ถอดรหัสไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษหรือพิสดารเลย คิดว่าการเป็นเสรีไทยเป็นเรื่องเปิดเผย นำมาเล่าให้ผู้อื่นรับรู้ได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นยึดครองแผ่นดินไทย การต่อต้านผู้รุกรานมิอาจกระทำได้อย่างเปิดเผย ถ้าพลาดพลั้งก็ต้องเผชิญกับความตายที่ผู้รุกรานจะหยิบยื่นให้ “ครูฉลบคือเสรีไทยผู้กล้าหาญและเสียสละ”

ของขวัญ

การหักล้างทางการเมืองในเมืองไทยดำเนินอย่างดุเดือด ผู้ที่มีอำนาจกุมกลไกรัฐใช้วิธีลอบสังหาร จับกุมคุมขังนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ ผู้ที่รอดมาได้ก็ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ

ครูฉลบรักความเป็นธรรม ให้ความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง เป็นแม่พระที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ ผู้เขียนเหมือนกับศิษย์ของครูฉลบอีกหลายสิบคนที่หัวหน้าครอบครัวประสบภัยพิบัติทางการเมือง ครูให้ความเมตตาโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน เป็นของขวัญล้ำค่าที่ให้พวกเรามีวิชาความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิต

ในชีวิตของผู้เขียน ครูฉลบได้ให้ของขวัญนับไม่ถ้วนที่ประเมินคุณค่าด้วยตัวเลขไม่ได้ ด้วยความรักและเมตตาลมหนาวเริ่มมาเยือนตอนปลายเดือนตุลาคมของทุกปี เมื่อ 50-60 ปีก่อน กรุงเทพฯ ยังไม่มีมลภาวะเช่นทุกวันนี้ ลมหนาวต้องผิวกายคราใด อดที่จะสะท้านหนาวไม่ได้ นอกจากสอนหนังสือแล้ว ครูฉลบ ทำหน้าที่ถักเสื้อไหมพรมแจกเด็กๆ พูดคุยไปพลางถักไปพลาง เพียงแป๊บเดียว ถักเสร็จหนึ่งตัวแล้ว

ผู้เขียนเกิดวันพุธ จึงได้เสื้อกั๊กสีเขียวไว้กันหนาว ความจำของครูเป็นเลิศ จดจำวันเกิดของพวกเราได้อย่างแม่นยำ ของขวัญที่ครูให้ก็คือ เช็กวันเกิดในมูลค่า 10 เท่าของอายุจริง เป็นเช่นนี้ทุกปี หรืออาจเป็นของขวัญ เช่น...เมื่อ 24 ปีก่อน ผู้เขียนกลับมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากระหกระเหินในต่างแดนนาน 23 ปี ตอนนั้นผู้เขียนพำนักที่กรุงปารีสไม่คิดว่าการขับรถจะเป็นประโยชน์แต่อย่างใด นั่งรถ Metro หรือรถไฟใต้ดินไปไหนมาไหนก็สะดวกแล้ว แต่ครูฉลบมิได้คิดเช่นนั้น ครูเห็นประโยชน์ของการขับรถเป็น ขับไปจ่ายตลาด ขับไปสนามบิน ขับไปเที่ยวต่างจังหวัด ขับพาคุณพ่อคุณแม่ไปหาหมอ…

“ครูไปสมัครหัดขับรถมาให้แล้ว เริ่มเรียนวันจันทร์เลย” หมายความว่าครูไปจ่ายเงินค่าเรียนขับรถมาให้แล้ว ผู้เขียนจึงไปเรียนขับรถที่ ร.ร. จรัส เชิงฉลาดตรงถนนพระราม 4

“การให้” ครั้งนี้ของครู ทำให้ผู้เขียนประจักษ์นานาประโยชน์ของการขับรถจนถึงทุกวันนี้ ไม่ทราบว่าครูมีญาณพิเศษหรือกระไร จึงทราบว่าผู้เขียนจะมีชะตาชีวิตที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาล รับการผ่าตัดเป็นว่าเล่น จนถึงวันนี้ ผ่าตัดไปทั้งหมด 12 ครั้งแล้ว

พ.ศ. 2522 ครูฉลบให้ของขวัญเป็น “สมาชิกสันนิบาตสภากาชาด” ประเภทสามัญตลอดชีพโดยครูบริจาคเงินให้สภากาชาดจำนวนหนึ่ง แล้วบุญนั้นพลอยทำให้ผู้เขียนได้รับอานิสงส์ด้วย ทุกครั้งที่ผู้เขียนเข้ารักษาตัวที่ ร.พ. จุฬาลงกรณ์ รำลึกถึงพระคุณของครูอยู่มิรู้ลืม

กระเป๋ามหาสมบัติ

เดือนเมษายนและพฤษภาคม Antony เมืองเล็กๆ ชานกรุงปารีส ท้องฟ้าแจ่มใสและอบอุ่น ดอกเฟอร์ไซเธีย สีเหลืองบานสะพรั่ง เป็นอีกวาระหนึ่งที่ชาวอองโตเนียนต้อนรับแขกพิเศษที่เหินฟ้ามาจากกรุงเทพฯ

บ้านอองโตนีครึกครื้นมีชีวิตชีวา เสียง “8 หลอด” ของครูฉลบผู้เป็นแขกพิเศษแข่งกับเสียงรถมอเตอร์ไซด์ที่แล่นไปมาบนถนน Aristide Briand เช้าวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ เป็นวันที่มีตลาดนัดใจกลางเมืองอองโตนี มารดาผู้เขียนลากรถเข็นไปจ่ายตลาดเหมือนเช่นเคย

“คุณคะ ปลานี่สดดีนะคะ”

“ผักนี่ก็น่ากินนะคะ”

หญิงวัยปัจฉิมวัยสองคนชี้ชวนกันดูกันอย่างเพลิดเพลิน พลางซื้อผัก ผลไม้ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ปลา Dorade บ้าง ปลา Barre บ้าง ปลา Maquereau บ้าง และบางทีก็เป็นหอยแมลงภู่พันธุ์ Bouchot ติดไม้ติดมือกลับมาปรุงอาหารที่บ้าน

“อ้อ คุณคะ รอเดี๋ยวค่ะ ดิฉันจะซื้อถาด inox (โลหะชนิดสแตนเลส ไว้ใส่อาหาร) เลี้ยงเพื่อนๆ กับนักเรียน”

ถ้วยโถโอชาม inox เบาเสียเมื่อไหร่ ทุกครั้งที่ครูเดินทางกลับกรุงเทพฯ สองมือหิ้วจานเปลบ้าง ถ้วยไอศกรีมบ้าง จนไหล่ลู่ แต่ครูไม่เคยย่อท้อ

บ่ายๆ วันใดที่ลูกหลานว่าง ก็จะขับรถพาผู้อาวุโสไปปิกนิกดื่มน้ำชากันตามสวนสาธารณะชานกรุงปารีส สวนด้านหลังพระราชวัง Versailles ไปกันบ่อย สวน Bois de Boulogne ก็ไป หรือบางทีช่วยกันหิ้วตะกร้าของว่าง หนีบเสื่อจันท์ ไปนั่งเล่นกินลมอาบแดดกันที่ Parc de Sceaux ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านอองโตนี

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนขับรถ Peugeot 504 สีทองประจำบ้าน พาเหล่าผู้อาวุโสไปชมนิทรรศการดอกไม้ใบหญ้าที่ Parc de Vincennes ด้วยความเลินเล่อของผู้เขียนที่เป็นพนักงานขับรถมือใหม่ เมื่อกดล็อกประตูรถทั้ง 4 บานเรียบร้อยแล้ว จึงพบว่า กุญแจรถยังคงคาอยู่ในรถ ผู้เขียนตกใจสุดขีด นึกตำหนิตนเองว่าต้องทำให้ผู้อาวุโสมาลำบากลำบน จะกลับมาเอากุญแจสำรองที่บ้าน ระยะทางก็ไกลโข จะทำอย่างไรดีหนอ

ขณะที่ผู้เขียนจนปัญญาอยู่ ครูฉลบง่วนควานหาสิ่งของในกระเป๋าถือใบกะทัดรัด ที่สั่งตัดพิเศษจากร้านคุณซินแถวบางรัก สักครู่ ครูชูมีดแหลมเล็ก ให้ผู้เขียน พอดีตอนนั้นมีตำรวจฝรั่งเศสนายหนึ่งเดินมาดูด้วยความสงสัยว่าพวกคนเอเชียกลุ่มนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ ทะเลาะวิวาทกันหรือเปล่า ถึงได้มีการใช้อาวุธด้ามจิ๋ว เมื่อเห็นสีหน้าแววกังวลของผู้เขียน ตำรวจนายนี้จึงอาสาใช้มีดแหลมเล็กเล่มนั้นเป็นแทนกุญแจผีเปิดประตูรถจนสำเร็จ แววดีใจฉายบนใบหน้าทุกคน “Merci beaucoup Monsieur” ทุกคนขอบคุณตำรวจผู้มีน้ำใจคนนั้น แต่คนที่ดีใจที่สุด เห็นจะเป็นครูฉลบผู้เป็นเจ้าของมีด

ก็จะไม่ให้ดีใจได้อย่างไร ครูโดนคำถามบ่อยครั้งว่า “ครูขนครกมาด้วยหรือคะ กระเป๋าหนักจังเลย!” คราวนี้คลายความสงสัยได้แล้ว ในกระเป๋า นอกจากจะหนักสตางค์ ซึ่งครูเอาเหรียญ 10 สตางค์ 25 สตางค์ 50 สตางค์และเหรียญบาท ใส่ซองพลาสติกใสสำหรับให้ชาวต่างประเทศเป็นของที่ระลึกแล้ว ยังมีเครื่องมือประเภทมีด ไขควง ช้อนส้อม เหล้า Congnac ในขวดดีบุกใบเล็กไว้จิบในยามที่ครูหรือใครก็ได้ปวดท้อง…

 

 

สิ่งของเหล่านี้บ่งบอกอุปนิสัยของผู้เป็นเจ้าของกระเป๋า รอบคอบและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในยามคับขันได้เสมอ นี่คือที่มาของกระเป๋ามหาสมบัติที่มีน้ำหนักน้องๆ ครกหินอ่างศิลาใบเขื่องเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เล่าสู่กันฟังนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าครูฉลบที่เคารพรักของพวกเราทุกคนคือ “ครูผู้ให้”

 

- - - - -

 

ภาพอันงดงามของครู

ดุษฎี พนมยงค์

ภาพชีวิตของครู เป็นภาพที่งดงาม และผ่านเข้ามาในห้วงคิดของดิฉันอย่างแจ่มชัดเสมอมา

ภาพแรก

ปี 2487 ขณะที่ครอบครัวเราหนีภัยสงคราม อพยพไปอยู่ที่บางปะอิน จ.อยุธยา ครูฉลบก็ได้ย้ายไปสอนหนังสืออยู่กับเราด้วย วันหนึ่งในปลายฤดูฝน ครูฉลบพาดิฉันซึ่งอายุประมาณ 5 - 6 ขวบ ขึ้นรถยนต์เข้ากรุงเทพฯ จำได้ว่ามี คุณเฉลียว ปทุมรส ร่วมเดินทางด้วย ครูฉลบกับดิฉันนั่งด้านใน ครูเฉลียวนั่งคู่กับคนขับรถ

ภายนอกรถ ฝนตกหนัก มีพายุด้วย ผ้าใบที่กางปิดสองด้านของรถ (สมัยนั้น ถูกลมตีเสียงดังพึ่บพั่บตลอดเวลา) บางทีลมแรงมาก ฝนก็สาดเข้ามาในรถด้วย

ภายในรถ ครูฉลบกอดดิฉันแน่น และเอี้ยวตัวบังมิให้ดิฉันเปียกฝน ดิฉันเงยหน้ามองครู เห็นน้ำตาหยดเป็นทาง......

ส่วนคุณเฉลียวซึ่งเป็นคนช่างเจรจา แต่วันนี้ดูเงียบ มีแต่เสียงถอนหายใจเป็นระยะๆ จากเธอ ทุกอย่างดูเงียบผิดปกติ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ดิฉันถูกแยกไปต่างหาก

มาทราบภายหลังว่า วันนั้นเป็นวันที่คุณพ่อ (นายปรีดี) เชิญครูฉลบมา เพื่อแจ้งข่าวร้ายให้ทราบว่า คุณจำกัด พลางกูร สามีของครู ได้พลีชีพเพื่อชาติในภารกิจของขบวนการเสรีไทย ณ เมืองจุงกิง ประเทศจีน

ภาพที่สอง

เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) นายปรีดี หลบหนีออกจากทำเนียบท่าช้างในกลางดึก ก่อนที่ขบวนรถถังจะบุกมาถึงบ้านเพียงเศษเสี้ยววินาที ปืนจากรถถังของคณะรัฐประหาร จงใจยิงมายังบริเวณห้องนอนของนายปรีดี ซึ่งอยู่ติดกับห้องพระ กระสุนปืนใหญ่เจาะกำแพงบริเวณนั้นเป็นรูโหว่เท่ารังนก

 

 

สายวันเดียวกัน ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ได้นำกำลังทหารพร้อมรถถัง บุกเข้าทำเนียบท่าช้างทางประตูหน้า และพยายามที่จะเข้าตรวจค้นบ้านโดยพลการ ครูฉลบซึ่งมาเยี่ยมครอบครัวเราแต่เช้า เพราะทราบข่าวรัฐประหาร เธออยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย และได้เข้าไปเอะอะห้ามปรามอย่างกล้าหาญ โดยไม่เกรงกลัวปากกระบอกปืน เธอพูดเสียงดังกึกก้องว่า

“เมื่อคุณไม่ไว้ใจเรา เราก็มีสิทธิ์ไม่ไว้ใจคุณ คุณจะเข้าตรวจค้นโดยพลการได้อย่างไร” ครูฉลบ พูดต่อไปอีกว่า

“ใครจะไปรู้ว่าคุณอาจจะเล่นไม่ซื่อ นำสิ่งผิดกฎหมายมาซุกซ่อนในบริเวณบ้าน และตั้งข้อหากับเราได้”

ร.อ. ชาติชายฯ จึงจำต้องยอมตรวจค้นบ้าน โดยมีคนในบ้านนายปรีดีตามดูชนิดไม่ให้คลาดสายตา หลังจากการตรวจค้น ก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่ประการใด

ภาพที่สาม

เมื่อปี พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ ตาย ผู้คนมากมายหลายระดับ ร้องห่มร้องไห้ ไว้ทุกข์ไว้อาลัยให้แก่จอมพลผ้าขะม้าแดง

บรรดาครูในโรงเรียนดรุโณทยาน ต่างพากันทำตามกระแสสังคมในยุคนั้น โดยแต่งดำไว้ทุกข์กันหมดทั้งโรงเรียน ครูฉลบคงจะ หมั่นไส้ เลยมีคำสั่งตั้งแต่นั้นมา บังคับให้ครูในโรงเรียนเลิกแต่งตัวสีสันต่างๆ ตามสบาย โดยให้นุ่งกระโปรงดำหรือสีน้ำตาลแก่ สีน้ำเงินแก่ และสวมเสื้อขาว เป็นเครื่องแบบของครูประจำโรงเรียนจนทุกวันนี้

ส่วนครูเอง จากที่เคยแต่งขาวดำไว้ทุกข์ให้คุณจำกัด เป็นเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่ทราบข่าวการเสียสละชีวิตของเธอ ครูลุกขึ้นมาใส่สีแดงสด และ ออกทุกข์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ภาพที่สี่

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ไม่นาน ดิฉันก็กลับเมืองไทย กลับมาด้วยมือเปล่าจริงๆ ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีเงินใช้ พบกับอุปสรรคนานัปการ

ครูฉลบคือที่พึ่งยามยาก เธอยื่นมือมาโอบอุ้ม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ดิฉันได้พักอาศัยอยู่บนเรือนหลังเล็กๆ ใน ร.ร.ดรุโณทยาน เชิงสะพานหัวช้าง พร้อมอาหารครบสามมื้อ รวมทั้งยังได้เงินค่าขนมจากครูด้วย ที่สำคัญที่สุด ครูเป็นกำลังใจให้ดิฉันบุกเบิกเส้นทางชีวิตการเป็นครู และคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังได้แนะนำ ช่วยเหลือ และ ฝากให้ดิฉันได้ทำงานเลี้ยงชีพเป็นหลักแหล่งที่แผนกวัฒนธรรม สถานทูตฝรั่งเศส

เมื่อดิฉันสร้างครอบครัว ดิฉันและสามีได้ไปผ่อนบ้านจัดสรรแถวๆ ชานเมือง และต่อมาได้ขยับขยายมาอยู่ที่ปัจจุบัน ซึ่งได้ขอร้องแกมอ้อนวอนซื้อที่ดินจากครูเพื่อปลูกบ้านอยู่ ครูฉลบอีกนั่นแหละ ที่จัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้ครอบครัวใหม่ของดิฉัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หม้อ ไห ถ้วยชาม แม้กระทั่งของแห้งกะปิน้ำปลา ฯลฯ

เวลาผ่านมา 25 ปีแล้ว ดิฉันยังใช้เครื่องใช้เหล่านั้นอยู่เลย เมื่อเรามีลูก ครูก็คอยให้คำแนะนำปรึกษา และ ยินดีทุกครั้งกับการเติบโตไปในทางสร้างสรรค์ของลูกชายดิฉัน ถ้าไม่มีครูฉลบ ดิฉันคงไม่มีวันนี้

“ภาพอันงดงามของครู อยู่ในความทรงจำของดิฉันชั่วกาลนาน”

 

ที่มา: “เรารักครูฉลบ” จัดพิมพ์เพื่อเป็นบรรณาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ครบ 90 ปี, 19 พฤศจิกายน 2549 จัดพิมพ์โดย ดุษฎี (พนมยงค์) บุญทัศนกุล

ภาพประกอบ: ชำนาญ

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ