ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ชีวิตรัก “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

30
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอในวาระ 110 ปี ชาตกาล จำกัด พลางกูร โดยเป็นปากคำประวัติศาสตร์ของฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาคู่ชีวิตของจำกัดที่กล่าวถึงตั้งแต่ประวัติจนถึงบทบาท และผลงานสำคัญคือ ปฏิบัติการด้านเสรีไทยของจำกัดช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งนายจำกัดมีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปติดต่อยังประเทศจีน

 


ฉลบชลัยย์ พลางกูร ในวันทําบุญครบรอบ ๗๐ ปี การจากไปของจํากัด ณ บ้านดรุโณทยาน เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ (ภาพถ่ายโดย กษิดิศ อนันทนาธร)

 

ญี่ปุ่นขึ้น

เมื่อถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานประเทศไทยเพียงไม่ถึงเดือนก่อนที่โรงเรียนสามัญของเราได้รับอนุญาต ให้เปิดเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองโรงเรียนยังคงเปิดต่อไปตามปกติ แต่ชีวิตจิตใจของจำกัดไม่เป็นปกติเสียแล้ว มันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และหลังจากนั้น ๑ ปีกับ ๓ เดือน คือในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ เขาก็เดินทางออกจากประเทศไทยและไปจบชีวิตในประเทศจีน

เนื่องจากเหตุการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทรวงธรรมการสั่งให้โรงเรียนอนุบาลทุกแห่งปิดในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖ (เมื่อจํากัดไม่อยู่แล้ว) และโรงเรียนสามัญก็ถูกสั่งให้ปิดในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โรงเรียนสามัญเปิดใหม่ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๗ แต่แล้วก็ต้องปิดอีกในเดือนมิถุนายน แล้วก็ปิดเรื่อยไปจนกระทั่งสงครามสงบเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘

จากวินาทีแรกที่ทราบว่าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย อารมณ์ของจํากัดดูจะเปลี่ยนไปในทันที เขาทําหน้านิ่วคิ้วขมวดครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา พูดน้อยลงไปมาก และเฝ้าเปิดวิทยุฟังข่าวต่างประเทศ ฟังข่าวสงครามด้านยุโรปทุกระยะ เมื่อไรได้ข่าวดีของพันธมิตรก็ใจชื้นและหน้าตาแจ่มใสขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าข่าวไม่ดีก็ยิ่งกลัดกลุ้มของที่เคยชอบ เช่นหนังสือก็อ่านน้อยลง เข้าใจว่าไม่มีสมาธิ พอจับอ่านไปได้ไม่นานก็ต้องวาง การทำสวนปลูกต้นไม้ ดอกไม้ก็วางมือไปเลย อย่างดีก็ได้แต่เพียงเดินดูเท่านั้น เคยเปิดวิทยุฟังดนตรีเพราะ ๆ ของต่างประเทศก็เปลี่ยนไปฟังแต่ข่าวอย่างเดียว (ตอนนั้นรัฐบาลห้ามฟังวิทยุต่างประเทศ แต่ผู้คนก็แอบฟังกันทั้งนั้น) สรุปแล้ว ความสุขของจํากัดส่วนหนึ่งที่ได้จากการชื่นชมของเหล่านี้ลดลงไปมากมาย

 

วางแผนหนีออกนอกประเทศ

ในที่สุดเขาก็บอกดิฉันว่า ถ้าเรายังอยู่ในประเทศไทยก็จะต้องงอมือ งอเท้า ทําอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราได้ออกไปนอกประเทศ เราอาจจะมีโอกาสได้รับใช้ช่วยเหลือบ้านเมืองไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะออกไปนั้นมืดมนเหลือเกิน เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่โต และเราตั้งต้นที่ศูนย์ ไม่มีทุน ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทางติดต่อ

 


นางสาวฉลบชลัยย์ มหานีรานนท์ สําเร็จวิชาอนุบาลทารก จากประเทศอังกฤษ
เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยขบวนรถด่วนสายใต้ วันที่ ๕
(ภาพและคําบรรยายจาก ประมวญสาร ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒๑ (๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๒)

 

แต่กระนั้นเขาก็ไม่ล้มความมุ่งมั่น เขาถามดิฉันว่าจะยินดีไปกับเขาหรือเปล่า ดิฉันตอบได้ในทันทีโดยไม่ต้องคิดเลยว่า จะไปที่ไหนเมื่อไร โดยวิธีใด ดิฉันก็จะขอไปกับเขาด้วย ดิฉันไม่เคยนึกหวั่นเกรงอะไรเลย ถ้ามีจํากัดอยู่ด้วย แม้จะต้องเสี่ยงภัยและจะตกทุกข์ได้ยากสักเพียงไหน ดิฉันก็จะทนและร่วมทุกข์กับเขาทุกประการ แล้วดิฉันถามว่าเราจะไปที่ไหนกันล่ะ เขาว่ายังไง ๆ ก็ต้องหาวิธีเล็ดลอดออกนอกประเทศให้ได้เสียก่อนก็แล้วกัน เขาไปหาเพื่อน ๆ นักเรียนอังกฤษหลายคน โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักบินชวนให้เขาขับเครื่องบินออกไป แต่ไม่มีใครเห็นด้วย เกรงว่าจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า ๆ

จํากัดผิดหวังมาก แต่ก็ไม่ละความพยายาม ทุก ๆ เช้าเขาต้องออกจากบ้านไปสํารวจว่าทหารญี่ปุ่นอยู่ที่ไหนกันบ้าง และทําอะไรกัน เขาเที่ยวสํารวจไปทั่วกรุงเทพฯ ทีเดียว

เมื่อพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดทุกครั้ง รุ่งขึ้นจํากัดจะต้องไปสํารวจดูว่าญี่ปุ่นได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เขาไปตัดสูทสากลด้วยผ้าสีเขียว เหมือนทหารบกไว้ชุดหนึ่ง บอกว่าต้องเตรียมไว้ให้พร้อม เผื่อจะมีประโยชน์ อาจจะมีเวลาที่จะต้องปะปนไปกับพวกทหารก็ได้ ดิฉันเชื่อว่าเขาคิดอะไรต่ออะไรอีกมากมาย แต่ดิฉันไม่อยากจะซักไซ้กวนใจเขา เป็นแต่คอยรับฟังเขาทุกวันว่าเขาไปไหนมา ไปหาใคร ไปทําอะไร หรือเห็นอะไรมาบ้าง

จํากัดยังคงไปโรงพิมพ์อักษรนิติอยู่ และไปหาคุณเตียง ศิริขันธ์ บ่อยขึ้น เขาจะบอกคุณเตียงเรื่องคิดอ่านออกนอกประเทศหรือไม่ ดิฉันไม่ทราบ แต่เรื่องคิดต่อต้านญี่ปุ่นนั้นเขาร่วมคิดกันแน่ จํากัดรวบรวมเอาหลานชายรุ่นหนุ่มฉกรรจ์ของคุณเตียงมาไว้ที่บ้านเราหลายคน แล้วยังติดต่อชักชวนเด็กนักเรียนชายที่มาเรียนพิเศษที่โรงเรียนศรีพลัตถ์ตอนเย็น และลูกหลานของพวกพ้องคนอื่น ๆ อีก เขาบอกว่าต้องมอง ๆ เตรียม ๆ เอาไว้ เอะอะจะได้รวบรวมกันได้ในทันที

 

โชคดีที่เกิดเหตุขุ่นเคืองใจ

เพื่อน ๆ นักเรียนอังกฤษที่เคยมาครึกครื้นเฮฮากันที่โรงเรียนดรุโณทยานนั้น เริ่มลดน้อยไปเองโดยปริยาย เหตุหนึ่งก็เพราะว่าเพื่อน ๆ ทุกคนคงจะคิดเหมือนกับเรา คือหมดสนุก เมื่อมองไปเห็นทหารญี่ปุ่น ทุกหนทุกแห่งเต็มเมือง แล้วเกิดความอิดหนาระอาใจ อีกเหตุหนึ่งก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลห้ามมีการชุมนุมกันเกินเท่านั้น ๆ คน

อย่างไรก็ตาม ตอนแรก ๆ ยังมีการพบปะกันที่โรงเรียนดรุโณทยานอยู่บ้าง คือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพื่อน ๆ จะมาพบกันเองโดยมิต้องนัดหมาย เมื่อพบกันแล้วก็อดที่จะวิจารณ์ และด่าใครต่อใครไม่ได้ ตอนหลังต่างคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทําเช่นนั้น และไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกจับกุม การพบปะจึงค่อย ๆ ห่างออกไป

ตัวจํากัดเองนิ่งเฉยเสีย ไม่สนับสนุนหรือรบเร้าให้เพื่อน ๆ มาพบกันอีก เพราะเขาเริ่มคิดได้ว่า ถ้าเขาจะออกไปจากประเทศจริง ๆ แล้ว ก็จะต้องค่อย ๆ ทําตัวให้ห่าง ๆ กับเพื่อน ๆ ให้มากขึ้น เพื่อว่าเมื่อหายตัวออกไปจริง ๆ จะได้ไม่มีใครสังเกตเห็นหรือรู้สึก จนกว่าเวลาจะผ่านไปอีกนานพอสมควร

แต่กับเพื่อนบางคนที่สนิทสนมมากและยากที่จะหยุดการไปมาหาสู่ก็บังเอิญเกิดเหตุขุ่นเคืองใจกันขึ้น คือวันหนึ่งขณะที่ยังพบปะกันที่โรงเรียนดรุโณทยาน คุณประยูร วิญญรัตน์ ซึ่งเห็นว่าจํากัดมีรายได้น้อย อยากจะช่วยเหลือหรืออะไรทำนองนั้น ได้เอ่ยปากชวนจํากัดไปทํางานที่สํานักงานธนาคารธนชาติในฐานะลูกจ้าง จํากัดสนใจทางนี้และไปคลุกคลีอยู่กับเขาแทบทุกวันอยู่แล้ว แต่ยังไม่กล้ารับปาก หันมามองดิฉันทํานองจะขอความเห็นดิฉันบอกไปใน ทันทีว่าดิฉันไม่อยากให้จํากัดไปเป็นลูกจ้างเขา อยากให้ทํางานอิสระของตนเองมากกว่า คุณประยูรคงจะผิดหวังมากและโกรธดิฉันมากด้วย เขาพูดประชดดิฉันแบบปากตะไกรของเขา ด้วยเสียงดังราวตวาดต่อหน้าเพื่อน ๆ หลายคนว่า “ว่าไงนะ ? ทํางานอิสระหรือ ทําอะไร ? ถีบสามล้อก็อิสระดีนะ!”

จำกัดนิ่งเงียบจะคิดอะไรไม่ทราบดิฉันโกรธสุดขีดจนพูดไม่ออกเหมือนกัน ได้แต่ร้องกรี๊ดออกมา และอยากจะขยี้เขาให้แหลกลงไปเดี๋ยวนั้น ใช่ว่าดิฉันจะไม่ทราบว่าเขารักและเป็นห่วงจำกัดด้วยใจจริง แต่ดิฉันก็ยังไม่อยากให้จำกัดไปทำงานกับเขาอยู่ดี  เพื่อน ๆ พยายามพูดหันเหให้เป็นเรื่องอื่นไปเสีย แต่รอยร้าวในใจของเราได้เกิดขึ้นแล้ว ดิฉันเคยไปที่สำนักงานธนาคารชาติกับจำกัดบ่อย ๆ ก็ไม่ไปอีกเลย ส่วนจำกัดก็ค่อย ๆ ไปห่างเข้าทุกที และคุณประยูรก็หยุดไปมาหาสู่ที่บ้านเราเช่นเดียวกัน

อันที่จริงคิดไปแล้วต้องนับว่าเราโชคดีที่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น มิฉะนั้นก็คงอีกนานกว่าเราจะค่อย ๆ แยกตัวจากเขาได้สําเร็จ เพื่อไม่ให้เขารู้เรื่องที่จํากัดจะเดินทางออกนอกประเทศ ยิ่งถ้าจํากัดไปทํางานกับคุณประยูรจริง ๆ ตอนจะหายตัวไปต่างประเทศก็ยากที่จะเก็บเป็นความลับได้

อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่ถามจำกัดหรือพูดกับจำกัดในเรื่องนี้เลย เพราะรู้ดีว่าเขาอัดอั้นตันใจอยู่แล้ว คุณประยูรเป็นเพื่อนสนิทที่เขารักและเชื่อถือมากที่สุด และงานที่เขาเสนอมานั้นที่จริงก็เป็นงานที่จํากัดชอบ แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ไม่อยากขัดใจดิฉัน และเขาก็เห็นเป็นโอกาสที่จะค่อย ๆ แยกตัวออกมาเพื่อไปทํางานตามจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของเขาแล้ว ดิฉันเพียงแต่บอกจํากัดว่า ถึงแม้รายได้ของเขาจะน้อยเพียงไร ถึงแม้เราจะยากจนข้นแค้นจนต้องกัดก้อนเกลือกิน ดิฉันก็จะร่วมกับเขาตลอดไป เรื่องนี้ขอให้เขาหมดห่วงได้

 

เริ่มไปหาท่านปรีดี

ทันทีหลังจากญี่ปุ่นเข้าประเทศไทย ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกําลังดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แต่ภายหลังมีความเห็นขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่จะให้ญี่ปุ่นกู้เงิน เลยถูกย้ายให้ไปเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์) นั้น ได้คิดอ่านต่อต้านญี่ปุ่นโดยวิธีใต้ดิน ท่านปรึกษาหารืออย่างลับ ๆ กับเพื่อนสนิทและลูกศิษย์ลูกหาที่ท่านไว้ใจได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ท่านจะพบทีละคน และมอบหมายให้แต่ละคนรับผิดชอบในหน้าที่ต่าง ๆ กัน โดยไม่มีใครรู้ว่าคนอื่น ๆ กําลังทําอะไร พวกที่ท่านมอบหมายงานเหล่านี้เป็นผู้ที่มีอิทธิพล มีพรรคพวกมาก ได้แก่ พวกผู้แทนราษฎร และพวกข้าราชการ ในตําแหน่งสําคัญ ๆ ซึ่งจะใช้อํานาจให้เป็นประโยชน์ในการนี้ได้

การที่จํากัดเริ่มไปหาท่านปรีดีนับแต่แรกที่ญี่ปุ่นเข้าเมืองนั้น เพราะแน่ใจว่าท่านจะต้องไม่มีความเห็นคล้อยตามรัฐบาลขณะนั้นอย่างแน่นอน เมื่อพบกันหลายครั้งขึ้น ท่านก็เริ่มไว้ใจและพูดกับเขาเรื่องที่ท่านคิดจะตั้งขบวนการใต้ดิน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้พูดกันถึงเรื่องการส่งคนไปต่างประเทศ อย่างที่จํากัดคิดไว้แต่ต้นว่าจะออกไปกับดิฉัน แต่เราทําไม่สําเร็จเพราะขาดทุนรอนและเครื่องมือ

ท่านปรีดีและคุณพูนศุขได้ส่งคุณลลิตา บุตรสาวคนโตของท่าน ซึ่งมีความเจริญทางสมองช้ากว่าธรรมดามาอยู่เป็นนักเรียนพิเศษประจําที่โรงเรียนดิฉัน โดยจัดพี่เลี้ยงมาอยู่ช่วยดูแลด้วย เพื่อมิให้เป็นภาระต่อดิฉันมากนัก ดิฉันคิดว่าท่านใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกได้หลายตัว คือนอกจากคุณลลิตาจะได้เปลี่ยนบรรยากาศจากบ้านมาอยู่โรงเรียน ได้มีเพื่อนหลายคนแล้ว ท่านยังได้ช่วยเราในเรื่องการเงินด้วย ยิ่งกว่านั้นตอนน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้จัดส่งเรือสําปั้นลําใหญ่มาให้เราลำหนึ่ง และให้เราพาคุณลลิตาไปเยี่ยมบ้านอย่างน้อยวันเว้นวัน เพื่อไม่ให้เป็นที่น่าสงสัยในการที่จํากัดได้ไปหาท่านบ่อยเช่นนั้น ดิฉันยังจําได้ บางทีเราต้องแล่นเรือผ่านไปเฉียด ๆ ทหารญี่ปุ่นที่กำลังฝึกแถว จำกัดหน้าตึงขึ้นมาทันที ราวกับว่าอยากจะขย้ำพวกนั้นให้แหลกลาญ

 

อาสาสมัครเป็นตัวแทนออกจากประเทศ

การเตรียมการภายในประเทศซึ่งกินเวลามากมายหลายเดือนนั้น ดิฉันขอเว้นไม่เล่าในที่นี้ เพราะไม่เกี่ยวกับตัวดิฉัน แต่พอถึงตอนที่จะต้องเฟ้นหาตัวคนที่จะส่งไปติดต่อทางต่างประเทศ โดยตั้งประเด็นมุ่งไปหา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นก่อน เพราะคุณเสนีย์ได้ประกาศเป็นทางการว่าตัวท่านและพรรคพวกคนไทยอีกมากในสหรัฐฯ ไม่ยอมฟังคําสั่งรัฐบาล ในการนี้จะต้องได้คนที่มีความสามารถจริง ๆ เพราะจะเป็นตัวแทนของคณะต่อต้านญี่ปุ่นใต้ดิน ไปติดต่อทั้งรัฐบาล จีน อเมริกา และอังกฤษ ได้ปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางในคณะพรรคก็ยังไม่สําเร็จผล จํากัดจึงเสนอตัวต่อท่านปรีดีรับจะทําการนี้

ท่านปรีดีคงจะต้องลังเลใจอยู่ไม่น้อยในการจะส่งจำกัดไปเสี่ยงชีวิตเช่นนั้น เพราะอันตรายมีอยู่รอบด้าน ก่อนอื่นต้องส่งคนไปสอดแนมดูทางด้านชายแดนหลาย ๆ จุดว่าตรงไหนมีทหารญี่ปุ่นหรือสายลับของญี่ปุ่น

 


พินัยกรรมที่จํากัดเขียนขึ้น ก่อนเดินทางไปประเทศจีนเพื่อปฏิบัติงานเสรีไทย

 

อยู่น้อยที่สุด จํากัดอาจถูกจับหาว่าเป็นจารชนและถูกประหารชีวิตก็ได้ ซึ่งจํากัดจะต้องใช้ปฏิภาณช่วยตัวเองเท่าที่จะสามารถทําได้ จะต้องสืบสวนดูว่าเส้นทางไหนบ้างที่พอจะเล็ดลอดไปยังประเทศจีนได้ เพราะบางแห่งเมื่อหลุดพ้นจากทหารญี่ปุ่นแล้ว อาจต้องเดินทางผ่านป่าเปลี่ยวซึ่งเต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายจีนที่คอยดักฆ่าชิงทรัพย์ของผู้เดินทาง หรือแม้แต่เมื่อออกไปถึงเมืองจีนแล้วก็อาจถูกทหารจีนสงสัยว่าเป็นจารชน จับยิงเป้าเสียอีกก็ได้ อย่างไรก็ตาม จํากัดเขียนไว้ในบันทึกประจําวันของเขาว่า “ถ้าถูกจับได้ในขณะที่เล็ดลอดเข้าไป ก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติ”

การที่มุ่งไปประเทศจีนก็เพราะจีนเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร คงจะช่วยเราติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษได้ คุณหลุย พนมยงค์ น้องชายท่านปรีดี เคยไปอยู่ประเทศจีนหลายปี และกว้างขวางในหมู่พวกพ่อค้าจีน ช่วยได้มากในเรื่องที่เกี่ยวกับคนจีน และอะไร ๆ ที่เกี่ยวแก่การเดินทางนี้ แต่ก็นัยว่าได้เคยมีการส่งชายเชื้อจีนสองคนไปแล้วหายสาบสูญ เข้าใจว่าคงเสียชีวิตแล้ว คุณหลุยได้เขียนแนะนำไปยังเพื่อนที่คุนหมิงอีก เผื่อว่าจํากัดจะเดินทางไปทางนั้น และบอกว่าท่านรู้จักกับ ดร.ซุง (T.V. Soong) รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และภริยาเป็นพี่สาวภริยาของเจียงไคเช็ก

ส่วนในด้านอื่น ๆ ทั้งหมด นอกจากเรื่องการเสี่ยงชีวิตนี้ ท่านปรีดียอมรับว่าจํากัดเหมาะสมในงานนี้ที่สุด[1] ท่านคิดว่าถ้าไม่มีอุปสรรคอย่างมากมาย ภารกิจทั้งหมดควรจะเสร็จสิ้นภายใน ๔๕ วันนับแต่วันที่เดินทาง ออกจากประเทศไทย แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่กะกันไว้ จํากัดอาจต้องตกค้างอยู่ที่นั่นจนกว่าสงครามจะสงบ ซึ่งคาดว่าคงเป็นเวลาราว ๆ สองปี ดังนั้นเมื่อตอนจํากัดไปกราบลาท่านที่ทําเนียบท่าช้าง

 


บันทึกของจํากัด พลางกูร ในส่วนอารัมภบท

 

ท่านจึงพูดว่า “เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก ๔๕ วัน คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีกสองปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”

 

ปวดร้าวในความเงียบ

นับจากวันที่จํากัดบอกดิฉันว่าเขาจะออกเดินทางไปนอกประเทศ เป็นการแน่นอนแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้กําหนดวัน เราก็เกือบจะไม่ได้พูดกันเลย จําได้ว่านั่งนิ่ง ๆ อยู่ด้วยกันเสียเป็นส่วนมาก คงเป็นเพราะต่างคนต่างคิดหนัก ไม่เหมือนตอนที่ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยใหม่ ๆ เมื่อจำกัดคิดจะออกไป ครั้งแรกนั้นดิฉันจะไปกับเขา แต่คราวนี้เขาจะต้องไปคนเดียว ถึงแม้จํากัดหวังว่าจะกลับมารับดิฉันได้ภายในเวลาประมาณ ๔๕ วันก็ตาม แต่ความจริงแล้วตัวเขาเองก็มีความหวังว่าจะรอดชีวิตได้เพียงราว ๆ ๕๐% เท่านั้น ดิฉันรู้ ดีว่าเขาจะรู้สึกปวดร้าวเพียงใดในการที่จะต้องจากกัน เขาพยายามไม่แสดงความรู้สึก ไม่พูดอะไรออกมาทั้งนั้น แต่ภายในใจนั้นเขา คงจะต้องพูดอะไรต่ออะไรมากมายตลอดเวลา

ตัวดิฉันเองก็เช่นกัน ไม่เคยแสดงความอาลัยอาวรณ์ให้เขาเห็นมากนัก มีแต่พูดให้กำลังใจ สนับสนุนเขา ยินดีที่เขาจะได้ทําสิ่งที่เขาปรารถนา อย่างมากมานานแล้ว และพูดถึงผลสําเร็จที่ได้รับ ซึ่งจะทําให้เขามีความสุขและภาคภูมิใจไปทั้งชาติ ทั้งนี้ก็เพราะไม่อยากให้เขากระอักกระอ่วนใจ ไหน ๆ ก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไปแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก ฉะนั้นจะพูดหรือทําอะไรที่ขัดต่อเรื่องนี้ก็จะหามีประโยชน์อันใดไม่ รังแต่จะทําให้เขากลุ้มใจ ไม่สบายใจไปเปล่า ๆ สิ่งที่เราต่างคนพูดกันซ้ําแล้วซ้ำ เล่าก็คือให้ระวังดูแลรักษาตัวเองให้ดีเท่านั้น แต่แน่ละ ลับหลังจํากัดแล้วดิฉันก็ไม่สามารถจะกลั้นน้ําตาไว้ได้ เพราะคิดไปร้อยแปดพันประการ กลัวเหลือเกินว่าเขาจะต้องเสียชีวิตด้วยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการเดินทาง ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ดิฉันเชื่อว่าลับหลังดิฉัน จํากัดก็คงจะเป็น เช่นเดียวกัน

ในใจจริงนั้น จํากัดคงอยากให้ดิฉันไปกับเขาเหลือเกิน แต่การเดินทางแบบนี้ เขายังไม่ทราบว่าตัวเองจะสามารถหลบหลีกปลอดภัยไปได้หรือไม่ ฉะนั้นถ้าดิฉันไปด้วยก็อาจจะได้รับอันตราย อนึ่ง ถ้าไม่มีดิฉันเขาอาจจะทําอะไร ๆ ได้คล่องตัว ดิฉันเองก็ต้องยอมรับความจริงว่าจะต้องกลายเป็นตัวถ่วงแก่เขา แต่สิ่งเดียวที่ดิฉันอยากทําก็คือเพียงจะไปเป็นเพื่อนเขา เป็นที่ปรึกษาและคอยเป็นกําลังใจให้เขา เพื่อให้เขาไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ด้วยเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ถ้าเขาเกิดเจ็บป่วยระหว่างการเดินทางดิฉันจะได้คอยช่วยรักษาพยาบาลด้วย

 

หาคนพูดจีนได้ไปด้วย

คณะพรรคคิดกันว่าจํากัดควรจะมีใครที่พูดภาษาจีนได้ไปด้วยสักคน เผื่อจะได้เป็นประโยชน์ตอนเข้าแดนจีน คุณหลุยเลยไปพานายไพศาล ตระกูลลี้ มา บอกว่าจํากัดอยากจะจ้างเขาไปเป็นล่าม เพราะจํากัดเป็นพ่อค้า จะไปติดต่อซื้อขายสินค้าหลายอย่าง ในยามสงครามนั้น ถ้าใครโชคดีค้าขายถูกเรื่องถูกเวลา อาจจะเป็นเศรษฐีขึ้นได้ในทันที คุณไพศาลอาจโชคดีไปด้วย คุณไพศาลตกลง แต่ขอให้เราจ่ายเงินให้บิดาของเขาเดือนละ ๑๐๐ บาท จนกว่าเขาจะกลับมา ดิฉันจึงมีหน้าที่เซ็นเช็คทุกเดือนตามสัญญา แต่ไม่ได้ออกเงินเอง คุณหลุยเอาเงินจากไหนมาเข้าบัญชีให้ก็ไม่ทราบ

 

ทําสัญญาปลอม

นอกจากนี้ท่านปรีดียังจัดการให้ทําสัญญาขึ้นระหว่างจํากัดกับพ่อค้าข้าวคนหนึ่ง ความว่าได้มอบให้จํากัดเป็นตัวแทนจัดการซื้อ-ขายข้าว ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิง ถ้ามีข่าวรั่วไหลออกไปเรื่องที่จํากัดเดินทางออกนอกประเทศ แต่สัญญานี้ทําเสร็จไม่ทัน จํากัดออกเดินทางไปเสียก่อนแล้ว ท่านปรีดีเลยให้ดิฉันปลอมลายเซ็นของจํากัดลงในสัญญานั้น ยังจําได้ดีว่าท่านให้ดิฉันลองเซ็นลงในกระดาษเปล่าตั้งหลายสิบครั้ง พอเห็น ว่าเขียนได้ เหมือนและเหมาะดีแล้ว ก็สอดสัญญานั้นให้ดิฉันเห็นปุ๊บลงไป เลยเริ่มเตรียมการเดินทาง วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ จํากัดโทรเลขถึง คุณเตียง ศิริขันธ์ ว่า เสรี นวลมณี (หลานชายคุณเตียงซึ่งอยู่กับดิฉัน) จะไปหาขออย่าได้ไปไหน แล้วรุ่งขึ้นก็ส่งเสรีถือจดหมายไปบอกคุณเตียงว่าจํากัดจะต้องไปฮานอยด่วน ให้เตรียมรถยนต์มารับที่สถานีรถไฟอุดรธานี ในเย็นวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๖ และให้จัดจ้างรถที่จะไปอินโดจีนให้ด้วย

เช้าวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ จํากัด ดิฉัน และอัศนี พลจันทร (ญาติดิฉัน)[2] ขึ้นรถสามล้อไปสถานีหัวลําโพง คุณหลุยมายืนคอยส่งอยู่แล้ว เราไปค้างคืนที่โรงแรมไทยพัฒนา นครราชสีมา แล้วรุ่งเช้าเดินทางต่อไป พอไปถึงขอนแก่น เห็นคุณเตียงยืนรอรับอยู่ที่ชานชาลา เธอเดาถูกว่าจํากัดคงจะไปจุงกิง ใจร้อน คอยไม่ไหว จึงมาดักที่ขอนแก่น รถไฟไปถึงอุดรธานี ๑๗.๔๕ น. คุณเตียงสั่งรถบัสของเธอเองมารับ แล้วเดินทางต่อไป ถึงสกลนครราว ๑.๓๐ น. ของวันที่ ๑ และเรานอนที่บ้านคุณเตียงในคืนนั้น

 

คุณเตียงจัดทุกสิ่งให้พร้อม

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๖ เวลาประมาณบ่ายโมง เราขึ้นรถบัสของคุณเตียงไปนครพนม โดยมีพวกพ้องลูกหลานของคุณเตียงขอติดไป เที่ยวด้วยเต็มรถ ซึ่งเราเห็นว่าดีเหมือนกัน จะได้ดูเป็นเรื่องธรรมดา ไปถึงนครพนม พักที่โรงแรมไทยสว่าง รุ่งขึ้นวันที่ ๓ คุณเตียงไปขอใบรับรองแพทย์มา ๕ ใบ สําหรับตัวคุณเตียงเอง คุณนิวาส (ภริยาคุณเตียง) คุณไพศาล จํากัด และดิฉัน เพื่อจะข้ามเข้าเขตอินโดจีน และไปขอให้ข้าหลวงจังหวัดนครพนม หลวงปริวรรตวรวิจิตร์ (จันทร์ เจริญชัย) พี่ชาย คุณบุณย์ เจริญชัย และเป็นญาติคุณเตียงด้วย ช่วยอํานวยความสะดวกต่าง ๆ ในการที่เราจะข้ามฟากไป คุณหลวงได้เขียนจดหมายถึงนายอําเภอเมืองให้ออกใบแสดงสัญชาติให้คุณเตียง คุณนิวาส และดิฉัน เพื่อจะได้ข้ามฟากไปส่งจํากัดและกลับเข้ามาได้ แล้วเราก็ลงเรือแจวข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่าแขก

 

บันทึกความในใจ

เราไปกินอาหารกลางวัน และนั่งพักผ่อนที่โรงแรมจีนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง สกปรกมาก ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า เวลาที่เราจะจากกันจริง ๆ กําลังจะมาถึงอยู่แล้ว

 


บันทึกของจํากัด พลางกูร วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๖

 


บันทึกของจํากัด พลางกูร วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ หลังจากนั้นอีกเดือนเศษเขาจึงเสียชีวิต

 

จํากัดบันทึกไว้ตอนนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจและเป็นห่วงภรรยาของข้าพเจ้ามาก แต่ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าข้าพเจ้าต้องกัดฟัน ก้าวหน้าต่อไปเพื่อกู้ชาติ จะถอยสักก้าวเดียวก็ไม่ได้ ความรักชาติและความรักเมียได้ต่อสู้กันพักใหญ่ในดวงใจอันหมกมุ่นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปล่อยให้ ความรักเมียเข้าครอบงําจิตต์ใจครู่หนึ่ง ในขณะที่ร่างกายของข้าพเจ้ากําลังเดินไปตามวิถีกู้ชาติที่กําหนดไว้แล้ว”

 

จากกันชั่วนิรันดร์

ราว ๆ ๑๕ น. พวกเราทั้งหมดเดินออกจากโรงแรมนั้นตรงไปยัง ฝั่งแม่น้ําโขงอันสูงชัน ซึ่งปลายสุดของบันไดอันหนึ่งมีเรือแจวที่มีประทุน ลําหนึ่งจอดคอยอยู่ จํากัดตามลงมาส่งเราด้วย เขาจับมือดิฉันบีบเบาๆ และ พูดว่า “อยู่ดี ๆ นะ” ตัวดิฉันเองนั้นพูดอะไรไม่ออกเลย มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกที่สุด คือก่อนหน้านี้ตลอดเวลาที่เรารู้ว่าจะต้องจากกันนั้น เราไม่ได้พูดอะไรกัน ไม่ได้สั่งเสียกันเรื่องอะไรทั้งนั้น เพราะทุกสิ่งดูจะไร้ความสําคัญเสียหมดแล้ว แต่เราก็พูดกันในดวงใจ ทั้งอกทั้งใจของดิฉันนั้นดูเหมือนมีอะไรที่หนักแสนหนักมาบีบและทับอยู่

แต่พอถึงตอนนี้การณ์กลับกลายตรงข้าม หัวใจของดิฉันนั้นดูเหมือนไม่มีอะไรอยู่เลย มันว่างเปล่าและเบาหวิวเสียจนบอกไม่ถูก ดิฉันอยากจะกอดจํากัดไว้ให้แน่นที่สุดและให้เขากอดดิฉันแน่น ๆ ด้วย เพื่อให้กําลังใจแก่กันและกัน อยากจะซบลงบนอกของเขาและร้องไห้เสียให้คุ้มกับที่ได้อัดอั้นไว้เป็นเวลาอันยาวนาน แต่ก็ทําไม่ได้ จําต้องกล้ํากลืนอดกลั้นต่อไปอีกด้วยความรู้สึกที่แสนจะปวดร้าว ดิฉันได้แต่เพียงบีบมือของเขาตอบคิดว่าบีบแรงที่สุดแล้ว แต่ก็คงจะไม่แรงเพราะไม่มีแรงเหลืออยู่เลย ตอนนี้ไม่ใช่หัวใจเท่านั้นที่เบาหวิว มันเบาไปหมดทั่วร่างกาย ดิฉันรวบรวมกําลังครั้งสุดท้าย สลัดมือออกจากมือของจํากัด แล้ววิ่งเข้าไปในประทุนเรือโดยไม่หันกลับไปมองเขาอีก จนกระทั่ง ๒-๓ อึดใจ เมื่อเรือเริ่มออก ดิฉันจึงโผล่หน้าจากประทุนมองดูเขา ซึ่งเขาก็กําลังจ้องมองดูดิฉันเช่นเดียวกัน เรามองดูกันจนกระทั่งเรือเลี้ยวโค้งไป และเราก็ไม่สามารถมองเห็นกันได้อีก ต่อไปแล้วชั่วนิรันดร์

 

ไปคอยฟังข่าวที่หัวหิน

ก่อนที่จํากัดจะเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อไปประเทศจีนในเรื่องงานเสรีไทยนั้นได้ไปกราบลาท่านปรีดี และท่านพูดกับเขาว่าถ้าโชคดีอีก ๔๕ วันคงจะได้พบกัน โดยหมายความว่าถ้าจํากัดไปถึงประเทศจีนได้สําเร็จ จะติดต่อขอให้ทางสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินทะเลมารับพวกเราออกนอกประเทศ ท่านจึงสั่งให้คุณพูนศุขและดิฉันจัดเสื้อผ้า ๑ ชุด เสื้อนอน ๑ตัว และแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ใส่กระเป๋าเล็กเตรียมพร้อมไว้

จํากัดออกจากบ้านวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ถ้าคิดเวลา ๔๕ วัน ก็ควรจะเป็นประมาณกลางเดือนเมษายน ฉะนั้นราว ๆ วันที่ ๑๐ เมษายน (จําไม่ได้แน่) คุณพูนศุขพาดิฉันและญาติพี่น้องลูกหลานหลายคนไปหัวหิน ทําทีเหมือนไปตากอากาศอย่างธรรมดา คนอื่นๆ ไม่มีใครรู้นอกจากเราสองคน ที่หัวหินเราไปอยู่ในวังไกลกังวล เพราะท่านปรีดีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าไปหัวหินก็ควรจะต้องไปพักที่นั่น แต่ท่านปรีดีไม่ได้อยู่หัวหินด้วยตลอด เพียงแต่ไปเยี่ยมเท่านั้น เพราะมีงานเสรีไทย ที่จะต้องพบใครต่อใครมากมายทางกรุงเทพฯ

ทุกๆ วัน ใครจะไปเที่ยวไหนก็ตาม แต่คุณพูนศุขกับดิฉันจะนั่งคุยกัน ในที่ที่มองเห็นทะเลได้มากที่สุด เราจะคอยจ้องมองไปไกลในทะเล ซึ่งเป็นจุดนัดแนะที่จะให้เขามารับ ไม่มีผู้ใดสงสัยเพราะเห็นเป็นของธรรมดา แต่อยู่ไปตั้งหลายวันก็ยังไม่มีวี่แววอะไรเลย

ครั้นแล้วประมาณวันที่ ๑๖ เมษายน ท่านปรีดีให้คุณถวิล อุดล กับ ใครอีกจําไม่ได้ เอาวิทยุเครื่องหนึ่งไปจากกรุงเทพฯ เพราะไม่แน่ใจว่าเราจะมีวิทยุฟังหรือเปล่า เขาบอกว่าคืนวันก่อนที่เขาจะมานั้น มีข่าวทางวิทยุจากจุงกิง ความว่าจํากัดได้ไปถึงจุงกิงแล้ว เขาประกาศด้วยว่าจะพูดซ้ําอีกครั้ง ในคืนวันที่เขามาถึงนั้น ฉะนั้นพวกเราก็จึงไปฟังด้วยกัน ดิฉันก็ได้ยินกับหู ตัวเองด้วย ใจความว่าดังนี้ “อาจางและอาลี ได้มาถึงที่นี่เรียบร้อยแล้ว ขอให้พี่น้องชาวไทย อย่าได้วิตกกังวลเลย”

นั้นเป็นข่าวของจํากัดที่ดิฉันได้รับเป็นครั้งแรก ทําให้ดีใจมากที่สุด เพราะความหวั่นเกรงว่าเขาจะถูกฆ่าตายเสียระหว่างการเดินทางนั้นได้หมดไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ต่อไปก็คาดว่าคงจะมีข่าวดีตามมาบ้าง โดยหารู้ไม่ว่าข่าวครั้งแรกนั้นก็เป็นข่าวครั้งสุดท้ายด้วย!

พอถึงวันเกิดดิฉัน ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ ท่านปรีดีมาที่โรงเรียนเอาของขวัญมาให้เป็นขันเงินใบใหญ่ มีพานรอง และทัพพีครบชุดสําหรับ ใส่บาตร ท่านคงจะทราบแล้วว่าจํากัดถึงแก่กรรมเมื่อ ๗ ตุลาคม ๒๔๘๖ และคงจะสงสารดิฉัน แต่ตัวดิฉันเองนั้นไม่ทราบจนกระทั่งสงครามเลิกแล้ว (สิงหาคม ๒๔๘๘) ยังจําได้ว่าตอนนั้นน้ําท่วมอีก แต่ไม่มากถึงกับต้องใช้เรืออย่างเมื่อปี ๒๔๘๕ การจะเดินไปห้องรับแขกอีกตึกหนึ่งนั้นจะต้องไต่สะพานไป ดิฉันจึงจําเป็นต้องต้อนรับท่านปรีดีในห้องเรียนอนุบาล เก้าอี้ตัวใหญ่ธรรมดาไม่มี ตัวเล็กของเด็ก ๆ ท่านก็นั่งไม่ได้ เลยต้องเชิญให้นั่งบนโต๊ะเรียนอนุบาล

 

ขนของไปเก็บต่างจังหวัด

เมื่อโรงเรียนทุกแห่งต้องปิดเนื่องจากสงคราม ดิฉันได้เก็บหนังสือของจํากัดซึ่งมีอยู่กว่าพันเล่ม กับเอกสารสําคัญ ๆ พร้อมทั้งปริญญาบัตร และรูปต่าง ๆ ของเขาทั้งหมดบรรทุกลงเรือเอาไปเก็บไว้ที่บ้านคุณพ่อ[3] ที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเกรงว่าโรงเรียนอาจจะถูกระเบิดไฟไหม้หมดทางต่างจังหวัดน่าจะปลอดภัยกว่า

ส่วนตัวดิฉันนั้นไปอยู่กับครอบครัวท่านปรีดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็กลับไปดูโรงเรียนบ้าง ซึ่งที่จริงไม่ต้องห่วง เพราะจํากัดเอาเด็กหนุ่ม ๆ หลานชายของคุณเตียง ศิริขันธ์ มาอยู่ด้วยหลายคน โดยเผื่อไว้ว่าอาจต้องเรียกใช้เป็นการด่วนเรื่องงานใต้ดิน

ไม่นานหลังจากนั้นเกิดเหตุร้ายที่ไม่เคยนึกฝันขึ้น คือไฟไหม้บ้านที่จังหวัดสมุทรสงครามหมดทั้งหลัง ได้ความว่าบ้านของเราอยู่ติดกับบ้านต้นเพลิง จึงขนของออกมาไม่ได้เท่าไร

ดิฉันต้องไปช่วยคุณพ่อและนายจัดการเรื่องต่าง ๆ ทุกอย่าง และเมื่อพวกลูกโต ๆ ต้องกลับกรุงเทพฯ กันหมดเพราะมีงานต้องทํา ดิฉันก็เลยต้องอยู่เป็นเพื่อนคุณพ่อและนาย[4]ต่อไป โดยท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม ให้ครอบครัวเราอยู่ในโรงเรียนนักธรรมทั้งหลัง ระหว่างที่กําลังสร้างบ้านชั่วคราวอยู่

ระยะนั้นพอดีกับที่เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาอพยพครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ใกล้กับสมุทรสงคราม พอท่านรู้ว่าดิฉันไปอยู่ที่นั่นเลยขอส่งลูกห้าคนมาอยู่เพื่อเรียนด้วย เพราะเด็ก ๆ ว่างไม่มีอะไรจะทําแต่ก็อยู่เพียงระยะหนึ่ง พอท่านอพยพไปอยู่ที่อื่นก็มารับกลับไป ดิฉันเห็นว่าทางคุณพ่อนั้นอะไร ๆ เข้ารูปเข้ารอยพอสมควรแล้ว ก็จึงกราบลากลับเข้ากรุงเทพฯ

 


ครอบครัวของขุนสมานสมุทกรรม (ฉลบชลัยย์ นั่งแถวกลางขวาสุด) (ภาพจาก ฉลบชลัยย์ พลางกูร,อัตชีวประวัติ ภาคประถมวัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (๒๕๕๓), น. ๑๔.)

 


จำกัด และ ฉลบชลัยย์ เขียนในรูปว่า “ให้คุณกุหลาบและคุณชนิดด้วยความรักใคร่” เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๒

 


รูปถ่ายคู่กันของฉลบชลัยย์และจำกัด ครั้งสุดท้าย (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖) ถ่ายก่อนจำกัดเดินทางไปปฏิบัติงาน “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” (ทั้งสองภาพจาก วาณี สายประดิษฐ์)

 

มาอยู่บ้านท่านปรีดี-ทํางานธนาคารเอเซีย

หลังจากนี้ท่านปรีดีให้คุณพูนศุขมารับดิฉันไปค้างที่บ้านท่านบ่อย ๆ และตอนหลังเมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิดถี่ขึ้น ไม่ปลอดภัยแก่เด็ก ๆ กระทรวงศึกษาฯ จึงสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่ง ท่านไม่อยากให้ดิฉันอยู่คนเดียว เลยมารับไปอยู่กับครอบครัวของท่านเป็นการถาวร ยิ่งกว่านั้นท่านเกรงว่าดิฉัน อยู่ว่าง ๆ อาจจะคิดมากเลยจัดให้ไปทํางานที่ธนาคารเอเซียในตําแหน่ง ผู้ช่วยสมุห์บัญชี แทนคุณทิพยา ณ ป้อมเพชร พี่สะใภ้ของคุณพูนศุข ซึ่งลาไปคลอดบุตร และไม่คิดว่าจะกลับมาทํางานอีก ฉะนั้นเมื่อคุณพูนศุขและลูกๆ อพยพตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปอยู่ที่นนทบุรี แล้วตอนหลังไปอยู่ที่อยุธยา ตอนแรก ๆ นั้นดิฉันยังทํางานอยู่ จึงไปด้วยไม่ได้ แต่ได้ ติดตามท่านปรีดีไปเยี่ยมคณะอพยพทุก ๆ สุดสัปดาห์

ระหว่างนั้นเศรษฐกิจกําลังปั่นป่วน บรรดาธนาคารถูกกระทบกระเทือนมาก ท่านปรีดีเป็นห่วงให้ทางธนาคารเอเชียทํารายงานสรุปแสดง ยอดเงินแต่ละวันให้ดิฉันเอามาให้ท่านดู ตอนนั้นทุกวันดิฉันรับประทานอาหารเย็นกับท่านปรีดีและคุณเที่ยง จินดาวัฒน์[5] ซึ่งมาอยู่เป็นเพื่อนท่าน ท่านปรีดี รับประทานอาหารน้อยมาก ตรงข้ามกับดิฉันซึ่งเจริญอาหาร และเป็นคนกินช้าเสียด้วยทุกครั้งที่ท่านอิ่มก่อน ท่านจะบอกว่า “คุณฉลบเชิญตามสบายนะ” ดิฉันต้องหัวเราะกับคุณเที่ยงเสมอ และพยายามหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่กิน อาหารกับท่าน หลายครั้งที่ดิฉันแวะกินเสียก่อนที่บางลําพู และกลับมาพูดปดกับท่านว่าไปกินกับเพื่อนมาแล้ว ดิฉันจะไถลไปไหนนานนักก็ไม่ได้ เพราะต้องเอารายงานธนาคารมาส่งท่าน

 

ปัญหาธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท

สมัยนั้นรัฐบาลออกธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งคนไม่นิยมเลย หลายคนที่ไม่ศรัทธาได้เอามาขายกันแถว ๆ ธนาคารเอเซียในราคาใบละ ๕๐๐ บาทเท่านั้น โดยยอมขาดทุน ๕๐๐ บาท เพราะคิดว่าดีกว่าที่จะสูญเปล่า ท่านปรีดีทราบเรื่องนี้จึงให้ดิฉันไปดูบัญชีของท่านที่ธนาคารเอเซียซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ฝากไว้เป็นเงินเดือนของท่าน แต่ท่านไม่เคยเบิกมาใช้เลย ว่ามีเงินเท่าไรแล้วท่านจะเซ็นเช็คยกเงินทั้งหมดให้ดิฉัน เพื่อดิฉันจะได้เอา ไปซื้อธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท ในราคา ๕๐๐ บาทมาเก็บไว้ แล้วภายในเดือนนั้น ๆ จะได้กําไรถึงเท่าตัว

ดิฉันถามว่าทําไมท่านถึงไม่ซื้อเอาไว้เสียเอง ท่านตอบว่าท่านทําอย่างนั้นไม่ได้ เพราะท่านต้องเชื่อมั่นในรัฐบาลที่ท่านสนับสนุนอยู่ (ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เห็นด้วยเลยมาแต่ต้น) ดิฉันกราบเรียนท่านว่าดิฉันอยู่กับท่าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย และเงินเดือนจากธนาคารก็ได้มากอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะเอาเงินไปทําอะไร เอาไว้ให้ดิฉันเดือดร้อนเรื่องเงินจึงจะกราบขอรบกวนท่านเอง ท่านยิ้มและบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจคุณ” พอถึงกําหนดเวลาที่ท่านบอก พวกคนที่ซื้อธนบัตรไว้ในราคาเพียงใบละ ๕๐๐ บาท ก็ได้กําไรเท่าตัวจริง ๆ

 

ทํากุญแจเซฟธนาคารหาย

ขณะทํางานที่ธนาคารเอเชีย ดิฉันต้องรับผิดชอบเก็บกุญแจเซฟไว้ ดอกหนึ่งด้วย คือเก็บกันสามคน ผู้จัดการ สมุห์บัญชี และดิฉัน ต้องไขพร้อมกัน ทั้งสามดอกจึงจะเปิดได้ สมัยนั้นผู้จัดการคือ คุณหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) และต่อมาคือคุณปพาฬ บุญ-หลง วันหนึ่งเป็นวันอาทิตย์ ดิฉันรู้สึกว่าได้ทํากุญแจเซฟหาย จึงรีบไปกราบเรียนท่านปรีดี ท่านตกใจ แต่ ก็ไม่ได้ตําหนิอะไรดิฉันเลย ท่านสงสารดิฉันและพูดในทํานองว่าจิตใจของ ดิฉันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คงเกี่ยวกับการที่จํากัดจากไป แท้ที่จริงแล้ว ดิฉันเป็นคนขี้หลงขี้ลืมในสันดานเองต่างหาก! ท่านปรีดีบอกว่าต้องทําเรื่องด่วน สองอย่าง คืออย่างหนึ่งไปตามตัวช่างมาเตรียมระเบิดเซฟ เพราะรุ่งขึ้นจะเป็นวันจันทร์ อีกอย่างหนึ่งให้ดิฉันค่อย ๆ คิด ลําดับเหตุการณ์ให้ดีว่าอาจจะทิ้งกุญแจไว้ที่ใดบ้าง

เท่านั้นแหละ ดิฉันฉุกคิดขึ้นได้ทันทีว่าวางทิ้งไว้บนโต๊ะทํางาน นั่นเอง และเรียนท่านว่ามีเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ชายจีนคนหนึ่งชื่ออาซี เป็นคนที่ทํางานมานานมากแล้วและเป็นคนที่มีอัธยาศัยใจคอดีเหลือเกิน ในตําแหน่งนั้น ที่จริงก็เป็นลูกน้องของดิฉัน แต่ดิฉันได้พึ่งพาอาศัยเขาเสมอในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับตัวหนังสือและตัวเลขภาษาจีน เพราะธนาคารเอเซียอนุญาตให้เขียนเช็คและเซ็นชื่อเป็นภาษาจีนได้ และดิฉันเป็นคนตรวจเช็คก่อนที่จะส่งให้สมุห์บัญชี อาซีกลับบ้านช้ากว่าใคร ๆ เข้าใจว่า เขาคงจะเก็บกุญแจไว้ให้ ท่านปรีดีสืบได้ความว่าอาซีอพยพไปอยู่ในคลองไกลมาก จึงให้คนไปตามเพื่อนของอาซีมา และให้พาดิฉันลงเรือเช่าพิเศษไปบ้านอาชี พอเรือไปจอดหน้าบ้าน อาซีก็ยกกุญแจออกมาส่งให้เลย ดิฉันไม่รู้จะขอบคุณเขาอย่างไรดีจึงจะสมกับที่เขาได้ช่วยยกภูเขาออกไปจากอกได้ ท่านปรีดีคงไม่อยากให้ดิฉันต้องกังวลใจอีก เลยบอกผู้จัดการให้มอบกุญแจ ดอกนั้นให้คนอื่นเก็บต่อไป

 

ช่วยฟังวิทยุและถอดรหัส

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ท่านปรีดีได้ก่อตั้งคณะเสรีไทย ใต้ดินขึ้นนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องผ่านชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง ไม่ทราบว่าวันไหนญี่ปุ่นจะค้นพบความจริงและอาจจะถูกลงโทษถึงตายได้ ท่านปรีดีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ต้องดูแลความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (พระราชชนนี ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และพี่น้องยังอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์) คุณพูนศุขจึงช่วยแบ่งเบาภาระอันหนักส่วนหนึ่งของท่านปรีดี โดยตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปทุกแห่งและจัดตัวเองให้มีหน้าที่ไปเฝ้าทุกวันมิได้ขาดเลย ส่วนท่านปรีดีก็เดินทางไปเข้าเฝ้าทุกปลายสัปดาห์ตลอดเวลาจนกระทั่งเสด็จกลับพระนคร โดยที่ในระยะแรกดิฉันก็ได้ติดตามท่านไปด้วยดังได้เล่ามาแล้ว

จําได้ว่าก่อนที่คุณพูนศุขจะอพยพไปนั้น วันอาทิตย์วันหนึ่งคุณจรูญ สืบแสง และภริยามาเยี่ยม ดิฉันก็ร่วมคุยด้วย ท่านปรีดีได้แจก กระดาษ ดินสอ และพจนานุกรม (Concise Oxford) ให้เราทุกคนคอยจด ข่าววิทยุ ซึ่งพันธมิตรกําลังจะส่งมาเป็นรหัสตัวเลข ท่านเปิดวิทยุให้ดังพอที่เราจะได้ยินทุกคน เราต่างคนต่างจดเป็นวรรคๆ ตามที่เขาบอกมา แล้วเอา ตัวเลขมาทวนกัน พอตรงกันทุกคนแล้วก็เปิดปทานุกรมถอดรหัส ดูเหมือน ตัวหรือวรรคแรกบอกหน้าในปทานุกรม เช่นหน้า ๘ หน้า ๒๕ ต่อไปบอกคําหรือบรรทัดที่ อะไรทํานองนี้ ช่วยกันหาพอสําเร็จแล้วได้ใจความว่าเขาจะ มาทิ้งระเบิดในคืนนั้น ขอให้พวกเราออกไปให้ห่างจุดสําคัญ ๆ (ที่ใคร ๆ ก็รู้ อยู่แล้ว) ท่านปรีดีโมโหใหญ่ คิดว่าจะเป็นเรื่องสําคัญอะไร หรือจะให้ดําเนินการอย่างไร ท่านว่า “ไม่หนีหรอก จะตายก็ให้ตายไป” ปรากฏว่าครั้งหนึ่ง ลูกระเบิดลงมาถูกเรือนไม้สองชั้นริมน้ำในบริเวณทําเนียบท่าช้าง (ที่พักของท่าน) พังจมน้ำไปเลย เคราะห์ดีที่ตอนนั้นไม่มีคนอยู่ในบ้านนั้น ตึกที่ดิฉันพักอยู่ห่างจากบ้านนั้นเล็กน้อย ทําเนียบท่าช้างอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย ฉะนั้นลูกระเบิดย่อมจะพลาดเป้ามาลงที่บ้านท่านได้อย่างง่ายดาย

ดิฉันอยู่ที่บ้านท่านปรีดีได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง นึกในใจว่าเราไม่เคยทําอะไรให้ท่านเลย พอดีเป็นวันก่อนปีใหม่ ตั้งใจแน่วแน่ว่า รุ่งขึ้นวันปีใหม่นั้นจะต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษไปกราบขอพรท่าน (ดิฉันตื่นสายเป็นกิจวัตร) แต่ที่ไหนได้ยังไม่ทันจะเช้าดีเลย ท่านมาเคาะประตู พอดิฉันเปิดออกไป ท่านส่งซองหนังซึ่งมีธนบัตรอยู่ในนั้นให้ (จําไม่ได้ว่าเท่าไร) พร้อมกับพูดว่า Happy New Year ท่านบอกว่าท่านได้ให้ของขวัญคนในบ้าน ครบหมดทุกคนแล้ว คอยเท่าไรก็ไม่เห็นดิฉันตื่นสักที เลยต้องเคาะเรียกและต้องขอโทษด้วย เพราะท่านมีธุระอื่นจะต้องทําอีก ดิฉันอายแทบจะมุดแผ่นดินไปเลย ได้แต่กราบขอบพระคุณท่านและกราบ Happy New Year แก่ท่านด้วยเท่านั้น (สมัยนี้ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ว่า “สุขสันต์ วันปีใหม่” ไว้)

ระยะนั้นเครื่องบินพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดตอนกลางวันด้วย ธนาคารจึงเปิดทําการช่วง ๙-๑๓ น. เท่านั้น แต่ธนาคารเอเซียนับว่ามีกิจการมากพอใช้ คนแน่นทุกวัน สมุดบัญชีเล่มใหญ่และหนักมาก ที่ดิฉันต้องตรวจและลงชื่อนั้น เขาเอามาสุม ๆ กันบนโต๊ะดิฉันสูงท่วมหัว ดิฉันไม่เคยมีเวลาได้เงยหน้าดูอะไรเลย ก้มหน้าก้มตากับสมุดนั้นไปทีละเล่ม พอจบเล่มสุดท้ายก็พอดี ๑๓ น. ทุกวัน

เวลาเครื่องบินมา ดิฉันเคยไปเข้าหลุมหลบภัยที่บ้านเพื่อนซึ่งอยู่ ใกล้ ๆ กันนั้นก็มี แต่ตอนกลางคืนจะมีการทิ้งระเบิดบ่อยกว่าตอนกลางวัน มาก ที่บ้านท่านปรีดีมีหลุมหลบภัยอยู่ใต้ถุน ครอบครัวคุณหลวงศุภชลาศัย (ท่านหญิงจารุพัตรา[6]และลูก ๆ) ได้อพยพมาอยู่อีกตึกหนึ่งในบริเวณเดียวกับท่านปรีดีแต่ที่ตึกนั้นไม่มีหลุมหลบภัย จะต้องมาเข้าหลุมเดียวกับท่านปรีดี ซึ่งก็มีดิฉันรวมอยู่ด้วย หลุมนี้อยู่ติดกับห้องซึ่งคุณวาณีลูกสาวคนสุดท้องของท่านปรีดีเอง เคยอยู่กับคนเลี้ยง เวลาเครื่องบินขาดระยะแต่ยังไม่ปลอดภัยทีเดียว ทุกคนจะออกมานั่งคุยกันในห้องนี้ ตอนระเบิดกําลังลงนั้น ใครจะสวดมนต์ขออะไรเป็นที่พึ่งก็ตาม แต่ส่วนตัวดิฉันนั้นขอเอาท่านปรีดีเป็นที่พึ่งก่อนและดิฉันคิดว่าท่านเป็นคนมีบุญ ได้ทําประโยชน์ให้บ้านเมืองมาตลอดเวลา และขณะนั้นก็กําลังทํางานใต้ดินเป็นเรื่องใหญ่ เทพยดาฟ้าดินคงจะ ไม่ยอมให้ท่านตายง่าย ๆ ฉะนั้นเวลาท่านปรีดีไปนั่งตรงไหน ดิฉันก็พยายามนั่งให้ติดกับท่านมากที่สุด โดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ตัวเลย!

คืนหนึ่งยังหัวค่ำอยู่ ท่านมาเคาะประตูเรียกดิฉัน บอกว่าเช้าวันรุ่งขึ้นให้เตรียมตัวตื่นเช้าเป็นพิเศษ (ดิฉันชอบตื่นสาย) เพราะท่านจะให้ช่วยไปบอกคุณเตียง ศิริขันธ์ ขอแก้ข้อความที่จะเคาะวิทยุติดต่อกับพันธมิตรระหว่างสงครามนี้ คณะเสรีไทยใต้ดินส่วนหนึ่ง ทั้งพวกในประเทศและพวกจากต่างประเทศที่โดดร่มเข้ามา นําโดยคุณเตียงได้ใช้สถานที่โรงเรียนดรุโณทยาน (โรงเรียนปิดตามคําสั่งกระทรวง) เป็นที่ตั้งวิทยุสื่อสารติดต่อกับฝ่ายพันธมิตร ตัวคุณเตียงเองและพรรคพวกก็พํานักอยู่ที่โรงเรียนดิฉันด้วย

คําที่ให้แก้มีเพียงสองคํา แต่ท่านว่าสําคัญมาก ท่านกลัวว่าดิฉันจะตื่นไม่ทัน ถึงเวลานั้นมาเคาะปลุกอีก แต่ดิฉันตั้งนาฬิกาปลุกไว้แล้ว รีบแต่ง ตัวออกไปขึ้นรถตรงหน้าบ้าน (ท่าช้างวังหน้า) รถรางยังไม่ได้จัดแยกสายเลย ยังพ่วงกันมาเป็นขบวนยาว ยังมืดมากต้องเปิดไฟด้วย ดิฉันบอกคนขับว่าจะไปสี่แยกปทุมวัน เขาก็ให้ขึ้นไปโดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะคนเก็บเงินยังไม่ขึ้นมา รถแยกกันตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ดิฉันจําไม่ได้แต่ในที่สุดก็พาดิฉันไปถึงสี่แยกสระปทุมตามความต้องการ ขณะนั้นยังไม่สว่าง คนเดินถนนก็ยังไม่มี แต่ตอนนั้นโจรผู้ร้ายไม่ชุกชุมเหมือนเดี๋ยวนี้ ดิฉันจึงเดินไปถึงโรงเรียนโดยไม่นึกกลัวเลย

ดิฉันไปบอกคุณเตียงให้แก้ข้อความได้ทันก่อนเขาส่งวิทยุ คุณเตียงพูดเป็นนัย ๆ ว่ามีคนที่ดิฉันรู้จักมาทางไกลและขณะนี้อยู่ห่างจากดิฉันไม่กี่เมตร ดิฉันรู้ทันทีว่าจะต้องเป็นนักเรียนอังกฤษที่โดดร่มลงมาทําการส่งวิทยุ แน่ ๆ และคงจะอยู่ในห้องติด ๆ กันนั่นเอง ดิฉันไม่ซักถามต่อเลยทั้งๆ ที่ในใจ อยากรู้จะแย่แล้วว่าเป็นใคร แต่ไม่อยากรับทราบความลับอันใดอีก ลําพัง ภาระที่ต้องเก็บความลับเรื่องจํากัดไม่ให้ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ของเขาทราบก็หนักมากพอแล้ว ดิฉันได้สัญญากับจํากัดว่าจะไม่ไถ่ถามข่าวคราว ของเขาจากใครเลย นอกจากจะมีคนบอกเองเพราะเกรงว่าจะทําให้ท่านผู้ใหญ่ไม่สบายใจ เพราะเหตุนี้เองดิฉันจึงไม่ทราบเรื่องการตายของเขาจน กระทั่งเกือบสองปีให้หลัง

 

ลาออกจากธนาคารไปอยู่บางปะอิน

ระหว่างระเบิดลงหนักขึ้น ๆ ท่านปรีดีไม่ไว้ใจในความปลอดภัย จึงให้ดิฉันลาออกจากธนาคารไปอยู่กับครอบครัวของท่าน ครั้งแรกอยู่อยุธยา และต่อมาไปอยู่ในพระราชวังบางปะอิน ที่วังบางปะอินนี้มีเจ้านายฝ่ายในตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปอยู่กันคับคั่ง ท่านปรีดีได้ดูแลถวายความสะดวกสบายทุกประการโดยทั่วกัน ท่านไม่แน่ใจว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด เห็นว่าเด็กที่อพยพไปก็มีไม่น้อยจึงได้จัดการขอตั้งโรงเรียนขึ้นชั่วคราวเป็นทางการจากกระทรวงศึกษาฯ สถานที่ใช้เป็นโรงเรียนนั้น ก็คือ ศาลาหลังคามุงจากซึ่งกว้างขวางพอใช้ พวกเด็ก ๆ ลูกหลานของคณะอพยพ ในวังและรอบ ๆ วัง ได้สมัครมาเรียนกัน ครูที่สอนก็คือพวกเราที่อพยพไปนั่นเอง

ตอนจวนสงครามเลิก เมื่อรู้ว่าญี่ปุ่นกําลังจะยอมแพ้แล้ว ท่านปรีดีส่งกำแหง พลางกูร น้องชายจํากัด ซึ่งโดดร่มลงมาทํางานใต้ดินอยู่ในเมืองไทยนานแล้ว ไปเยี่ยมและพักค้างอยู่กับดิฉันที่บางปะอิน ๒-๓ วัน ท่านคงจะให้ดิฉันดีใจที่ได้พบกําแหง ก่อนที่จะรู้เรื่องการตายของจํากัด ท่านยังให้คนไปเชิญคุณวัฒนา อิศรภักดี เพื่อนสนิทของจํากัดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่อยุธยา มาเยี่ยมดิฉันบ่อย ๆ ด้วย

ดิฉันเล่าให้กําแหงฟังว่าได้เอาเสื้อเชิ้ตเก่าของจํากัดแจกพวกเด็กผู้ชายหลานคุณเตียงไปหมดแล้ว ตอนนี้สมควรจะไปหาซื้อใหม่มาเตรียมไว้ ให้เขาดีไหม กําแหงรีบตอบว่า “อย่าซื้อเลย เมื่อเขามาก็คงซื้อของใหม่ ๆ มา เองนั่นแหละ เราซื้อให้เดี๋ยวอาจไม่ถูกใจเขา”

 

สงครามสิ้นสุด

เราอยู่ที่บางปะอินกันอย่างสุขกายสบายใจ จนกระทั่งวันสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ ประเทศไทยจึงประกาศให้วันที่ ๑๖ สิงหาคม เป็นวันสันติภาพของไทย รุ่งขึ้นคุณพูนศุขเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปสืบเรื่องราว ต่อมาอีกวันหนึ่งก็กลับมาบางปะอิน บังเอิญเป็นเวลาที่คุณวัฒนา อิศรภักดี มาเยี่ยม และดิฉันกําลังชี้ให้คุณวัฒนาดูต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นปาล์ม ต่าง ๆ ซึ่งจํากัดชอบ แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องจํากัดต่าง ๆ นานา ทั้งนี้ก็เพราะ ดิฉันคิดว่าคงจะได้พบจํากัดในเวลาอีกไม่กี่วันข้างหน้า คุณพูนศุขมาเล่าให้ ฟังภายหลังว่าท่านเดินมายืนอยู่ข้างหลังเรา (โดยที่เราไม่เห็นท่าน) แต่แล้วก็ต้องรีบเดินหนีไปเพราะไม่สามารถทนฟังต่อได้ เพราะท่านรู้มาแล้วว่าจํากัดเสียชีวิต และไปคิดว่าท่านจะมองหน้าดิฉันได้อย่างไร คงปิดไม่สําเร็จ

แน่ ท่านบอกพวกเราว่ายังทําธุระที่กรุงเทพฯ ไม่เสร็จบางอย่าง ขอกลับไปกรุงเทพฯ อีก ซึ่งเราก็ไม่ติดใจสงสัยอะไรเลย

ตอนนั้นโรงเรียนที่บางปะอินหยุดสอนแล้ว และพวกเจ้านายบางพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่สมเด็จพระพันวัสสาฯ กับเจ้านายที่ใกล้ชิดอีกหลายองค์ยังคงประทับอยู่ต่อไป พวกญาติของคุณพูนศุขทั้งหมดก็ยังอยู่ด้วย

คุณพูนศุขคงจะไปบอกท่านปรีดีให้รีบแจ้งข่าวเรื่องจํากัดอย่างเป็นทางการแก่ดิฉันเสียโดยเร็ว เพราะดิฉันเคยบอกท่านว่าทุก ๆ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแต่งงานของเรา จํากัดและดิฉันจะไปถ่ายรูปคู่กัน และเมื่อจํากัดไม่อยู่ ดิฉันก็ไปถ่ายคนเดียว ยังไง ๆ ดิฉันก็จะต้องเข้ากรุงเทพฯ ในอีกไม่กี่วัน และถ้าดิฉันมารู้เรื่องเอาเองก็จะเป็นการไม่สมควร ฉะนั้น ท่านปรีดีจึงส่งคุณเฉลียว ปทุมรส ข้าราชการสํานักพระราชวังมารับดิฉัน ประมาณวันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๘

ตลอดทางจากบางปะอินจนมาถึงกรุงเทพฯ คุณเฉลียวกับดิฉัน ไม่ได้พูดกันสักคําเดียว ซึ่งเป็นของแปลกมาก และดิฉันน่าจะคิดในเรื่องนี้ แต่ความที่ในใจดิฉันนั้นพูดกับตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกว่าไม่ว่างเลย และคิดว่าดีแล้วที่ได้มีเวลาอิสระเช่นนั้น ไม่อยากให้ใครมาพูดกวนใจให้เสียเวลาแม้แต่น้อย ดิฉันคิดว่าการที่ท่านปรีดีให้มารับนี้ คงจะให้ได้พบกับจํากัดกระมัง หรือว่าเพียงแต่คุณพูนศุขเห็นว่ายังไง ๆ ดิฉันก็จะมากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ก็เลยช่วยส่งรถมารับเท่านั้นเอง แต่ที่แปลกที่สุดก็คือว่าทําไมใคร ๆ กลับมากันแล้ว แต่จํากัดยังไม่มา คงจะเป็นอย่างนั้น ท่าจะเป็นอย่างนี้ หรืออาจจะเป็นอย่างโน้น คิดไปสารพัดอย่าง แต่ในทางที่ดีทั้งนั้น คุณเฉลียวจะรู้ บ้างหรือเปล่านะ แต่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจํากัด ดิฉันจะต้องทราบจากท่านปรีดีเอง

 

ความหวังที่แตกสลาย

เมื่อมาถึงบ้านท่านปรีดี ได้พบใครต่อใครหลายคน นอกจากท่าน ปรีดีและท่านผู้หญิง ก็มีกําแหง น้องชายของจํากัด คุณหลุยส์ น้องชายท่านปรีดี คุณหมอบุญช่วย สุวรรณศร ญาติท่านผู้หญิง[7] จะมีคุณจรูญ สืบแสง ด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ ดิฉันหวังมาครึ่ง ๆ ว่าอาจจะได้พบจํากัด แต่ไม่มีจํากัด และไม่เห็นมีใครพูดถึง ดิฉันครุ่นคิดอยู่ในใจว่าจํากัดอาจจะได้รับมอบหมายให้ทําธุระสําคัญอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ยังทิ้งมาไม่ได้แน่ ๆ เขาต้องยังไม่ตาย ตอนแรก ๆ ที่เขาออกเดินทางไป ตลอดเวลาดิฉันกลัวเหลือเกินว่าเขา อาจจะถูกฆ่าตายเสียก่อนที่เข้าเขตจีนได้ แต่เมื่อได้ฟังวิทยุจากเมืองจีน เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๘๖ ว่าวันรุ่งขึ้นก็แบบเดียวกันอีก คนพวกเดิมมาพบกัน นั่งคุยกันในห้องรับแขกชั้นสาม แต่วันนี้มีท่านชิ้น (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) มาร่วมด้วย จําได้ดีว่าระหว่างนั้นเสียงวิทยุที่เปิดอยู่นอกห้องดังชัดเข้ามาข้างใน บรรยายถึงเรื่องเสรีไทยตั้งแต่ต้นว่าพวกแรก ๆ ที่ส่งไปได้เสียชีวิตลงดิฉันได้ยินแต่ไม่สนใจเลย ไม่สังหรณ์สักนิดว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับตัวเรา หลังจากคุยกันอยู่สักพัก ท่านชิ้นขยับเข้ามานั่งใกล้ดิฉัน และเล่าว่าท่านได้ไปพบจํากัดที่จุงกิง ได้ไปทํางานอะไรต่ออะไรด้วยกันมากมาย ดิฉันเริ่มใจไม่ดีแล้ว ยิ่งตอนที่ท่านเริ่มกล่าวสรรเสริญชมเชยจํากัดหลายต่อหลายประการ ดิฉันยิ่งเริ่มจะแน่ใจ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องว่าท่านพูดอะไรต่อไปบ้าง

จนในที่สุดท่านบอกว่าท่านเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งในการเสียชีวิตของจํากัดและขอแสดงความเสียใจอย่างเหลือล้นต่อดิฉันด้วย

ดิฉันพูดไม่ออกเลย ลืมสติ เกลียดท่านชิ้นอย่างจับใจในฉับพลันนั้น คิดว่าถ้าที่นั่นเป็นบ้านของตนเองก็คงจะร้องกรี๊ดออกมาดัง ๆ และถ้าท่านชิ้น เป็นสิ่งของก็คงจะทําลายให้แหลกลาญไปกับมือ แต่นั่นเป็นบ้านของท่านผู้ใหญ่ และอยู่ในหมู่คนที่ดิฉันเคารพนับถือทั้งนั้น ทําอะไรไม่ได้ แสนที่จะปวดร้าวหัวใจ พยายามลุกขึ้นจากเก้าอี้ด้วยเรี่ยวแรงที่เกือบไม่มีเหลืออยู่แล้ว วิ่งเข้าไปในห้องนอน ซึ่งอยู่ห่างจากห้องนั้นไม่มากนัก ไม่รู้ว่าจะร้องไห้อย่างไรและแค่ไหนจึงจะสมกับความหวังที่แตกสลายไป ความสูญเสียครั้งนี้อธิบายไม่ถูกว่ามันใหญ่หลวงเพียงไร รู้สึกแต่ว่าในทรวงอกไม่มีอะไรอยู่เลย

ท่านปรีดีกับกําแหงเดินตามเข้ามา ท่านโอบกอดทั้งกําแหงและดิฉันไว้ แล้วพูดพลางร้องไห้ว่า “ต่อไปนี้ ขอให้เราถือเป็นครอบครัวเดียวกัน นะ มีอะไรขอให้มาบอกเล่าและปรึกษาหารือกัน” ท่านพูดอะไรอีกนั้น ดิฉันฟังไม่ใคร่ได้ยิน ดิฉันได้แต่เพียงกราบท่านโดยมิได้พูดอะไรเลย เผยอปากไม่ ออกจริง ๆ ดิฉันรู้ซึ้งอยู่เต็มหัวใจว่าตัวท่านเองก็เสียใจไม่น้อยไปกว่าเราเลย ดิฉันหักใจได้ว่าการสูญเสียของดิฉันนี้ ไม่มีใคร (แม้แต่เทพยดาองค์ไหน) จะสามารถทําอะไรให้ได้กลับคืนมา พรหมลิขิตโชคชะตาของเราให้เป็นไปอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับโดยดุษณี

 


“ครอบครัวเดียวกัน” สุดา พนมยงค์, ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ดุษฎี บุญทัศนกุล, วาณี สายประดิษฐ์ ที่บ้านดรุโณทยาน เมื่อปลายปี ๒๕๕๙ (ภาพจากดุษฎี พนมยงค์)

 

ครูใหญ่หลังจากที่ท่านปรีดีและกําแหงกลับออกไปแล้ว เด็กรับใช้ คนหนึ่งมาเคาะและเปิดประตู เอาเสื้อกระโปรงสีดําของคุณพูนศุขมาให้ เอา อีกแล้ว! คิดว่าหักใจได้อยู่หยก ๆ แต่มันไม่ง่ายเช่นนั้น ถ้าเป็นที่บ้านของตัวเอง ดิฉันคงเอาเสื้อพร้อมทั้งไม้แขวนขว้างหน้าเด็กคนนั้นไปแล้ว ไม่อยากใส่เสื้อดํา ไม่อยากเห็นสีดํา กลับร้องไห้อีกพักใหญ่ แล้วนึกขึ้นได้ว่า ขณะนั้นตนเองก็ไม่มีปัญญาที่จะทําอะไรให้วิญญาณของจํากัดเลย การสวมชุดสีดําเพื่อเขาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะทําได้ในตอนนั้น ก็เลยลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ชุดดําของคุณพูนศุข แล้วคงจะนอนหลับไปหรืออย่างไรไม่ทราบ แปลก ที่ว่าดิฉันจําเหตุการณ์ ๒-๓ วันหลังจากนั้นไม่ได้เลย

คุณพูนศุขคงจะรู้ว่าท่านปรีดีได้พูดอะไรกับดิฉัน และท่านเองก็คงจะคิดเช่นเดียวกัน ฉะนั้นท่านจึงปฏิบัติต่อดิฉันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันจริง ๆ มาโดยตลอด ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งพระคุณอันสูงนี้ได้ฝังแน่นลึกอยู่ในดวงใจของดิฉัน แต่ก็ไม่มีปัญญาที่จะทดแทนท่านได้ อย่างไรดิฉันมารู้ทีหลังว่าวันแรกที่ดิฉันมาถึงนั้น ท่านปรีดีได้จัดคณะที่จะช่วยกันแจ้งข่าวร้ายแก่ดิฉัน และจัดคุณหมอบุญช่วยมาอยู่ด้วย เผื่อว่าดิฉันจะเป็นลมหมดสติไป แต่เอาเข้าจริงถึงเวลาแล้วก็ไม่มีใครกล้าเอ่ยอะไรเลย วันรุ่งขึ้นจึงต้องไปทูลเชิญท่านชิ้นให้มาช่วยแจ้งแทน ดิฉันขอขอบพระคุณท่านทุกคนที่เห็นใจดิฉันถึงเพียงนั้น

 

คิดถึงวันสุดท้ายของจํากัด

ทุกวันทุกคืนดิฉันครุ่นคิดแต่ว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเลย จํากัดกับดิฉันได้เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันต่อสู้โลก แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นเช่นนี้ก็รู้สึกว่าเราแพ้โลกอย่างราบคาบแล้ว จะอยู่ไปอีกทําไม คิดสงสารจํากัดอย่างบอกไม่ถูก คือทั้ง ๆ ที่ถูกออกจากราชการแล้ว เขาก็ยังมีจิตใจที่จะรับใช้ชาติตลอดเวลาด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ของเขาจริง ๆ แต่โชคชะตาไม่อํานวยเสียเลย ที่สงสารมากที่สุดก็ตอนที่นึกเห็นภาพเขานอนป่วยผอมโซอยู่คนเดียว จะรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวสักเพียงใด เจ็บกายแล้วจิตใจยังถูกทรมานอีก ถ้าดิฉันได้ไปอยู่ใกล้ ๆ เขา อย่างน้อยก็จะช่วยให้กําลังใจเขาได้บ้าง ถึงจะต้องตายก็จะหลับตาตายด้วยความอบอุ่นใจ ไม่ใช่ด้วยความ ว้าเหว่ เหี่ยวแห้งใจอย่างที่เรารู้กัน

อย่างไรก็ตามดิฉันเชื่อแน่ว่าก่อนจะสิ้นลมปราณนั้น จํากัดคงจะนึกถึงผลงานที่เขาได้ทําให้ประเทศชาติไปแล้วและเชื่อมั่นว่าจะต้องมีคนประสานงานนั้นต่อไปให้สําเร็จสมบูรณ์ได้ และความคิดอันนี้คงจะทําให้จิตใจของเขารู้สึกดีขึ้นก่อนจะลาโลกไป

 

หมายเหตุ :

  • บทความนี้นำมาจาก ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ชีวิตรัก “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ใน หนังสือที่ระลึกในวาระ 73 ปี วันสันติภาพไทย (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2561) โดยได้ขออนุญาตจากบรรณาธิการแล้ว ซึ่งบรรณาธิการคัดมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือที่คุณครูฉลบชลัยย์เขียนไว้ แล้วตั้งชื่อบทความใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหา และทําเชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร โดยสามารถดูต้นฉบับได้ในหนังสือ อัตชีวประวัติ ภาคมัชฌิมวัย (กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. 2557), น. 136-165 ที่มีคุณศรัณย์ ทองปาน เป็นบรรณาธิการ ซึ่งแจกในงานฌาปนกิจ ศพผู้เขียน ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2560.
  • คงอักขร การสะกด เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 


[1] ดูรายละเอียดที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จํากัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, ๒๕๔๙)

[2] นายอัศนี พลจันทร นักประพันธ์นามอุโฆษ เจ้าของนามปากกา “นายผี” เป็นบุตรชายคนโตของพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) กับนางสอง โดยพระมนูกิจวิมลอรรถ เป็นบุตรชายของขุนวิเศษธานี (แจ่ม พลจันทร) กับนางสุ่น จึงเป็นน้องชายแท้ ๆ ของนางแฉล้ม มหานีรานนท์ (แม่ของฉลบชลัยย์)

ดู ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๑๐๐ ปี นางแฉล้ม มหานีรานนท์ ๕ มกราคม ๒๕๓๖ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ราชทัณฑ์, ๒๕๓๕), น. ๒๕.

[3] ขุนสมานสมุทกรรม (บุญหนุน มหานีรานนท์) [ภายหลังเมื่อเลิกบรรดาศักดิ์ ใช้ชื่อจริงว่า สมาน] เป็นบุตรของพระยาสัตยานุกูลกับคุณหญิงแปลก รับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตอนที่ฉลบชลัยย์เกิด เขาเป็นปลัดจังหวัดสมุทรสงครามและนายอำเภอเมือง ดู อนุสรณ์ขุนสมานสมุทกรรม วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๖ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, น. (๑)-(๔).

[4] “นาย” เป็นคำเรียก “แม่” ซึ่งในที่นี้หมายถึง นางแฉล้ม มหานีรานนท์ ครูฉลบฯ อธิบายถึงที่มาว่า เมื่ออรรณพ พี่ชายคนโต อายุได้ไม่กี่เดือน ป่วยหนัก (เรียกว่าโรคสํารอก) ใคร ๆ ก็เห็นว่าจะไม่รอด แต่มีหมอดูแต่งตัวรุงรังคนหนึ่งมาจากกาญจนบุรี มาชี้ว่าเด็กคนนี้จะไม่ตาย แต่ต้องไม่เรียกแม่ว่า “แม่” ครั้นต่อมาอรรณพหาย เป็นปกติ ญาติพี่น้องจึงพร้อมใจกันให้เรียกแม่ว่า “นาย” ทําให้น้อง ๆ ซึ่งเกิดมาภายหลัง เรียกแม่ว่า “นาย” ตามไปด้วย ดู ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๑๐๐ ปี นางแฉล้ม มหานีรานนท์ ๕ มกราคม ๒๕๓๖, น. ๖.

[5] นายเที่ยง จินดาวัฒน์ เป็นบุตรเขยของพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) พี่ชายของคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ แม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข และมีความสนิทสนมกับครอบครัวนายปรีดี เป็นต้นว่า เขาเป็นคนแจ้งเกิดให้สุดาแทนคุณพ่อซึ่งมีงานราชการมาก.

[6] ม.จ.จารุพัตรา อาภากร ธิดาในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์มาสมรสกับหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) มีบุตรธิดารวม ๕ คน.

[7]  นายบุญช่วยเป็นบุตรชายของพระยาสุนทรสงคราม พี่ชายของคุณหญิงเพ็งฯ แม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์