
พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรคนที่สี่ของพระยาพหลพลพยุหเสนา
พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เป็นบุตรคนที่สี่จากพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคนในครอบครัวของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา ในปัจจุบันเหลือเพียงพันตรีพุทธินาถและน้องสาวอีกสองคนเท่านั้น ส่วนพี่น้องที่เหลือได้ล่วงลับไปแล้ว
ครอบครัวพหลพลพยุหเสนา
พันตรี พุทธินาถ เล่าว่า พระยาพหลพลพยุหเสนาเคยสมรสกับป้าพิศ (พิศ ธนะโสภณ) ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของท่านผู้หญิงบุญหลง แต่ไม่มีบุตรด้วยกันจึงหย่าขาด ต่อมาจึงสมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนาและมีบุตรด้วยกันเจ็ดคน
ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้มอบบ้านที่สร้างขึ้นจากเงินเดือนของตนในย่านบางซื่อให้แก่ป้าพิจ ขณะที่ครอบครัวของท่านกลับไม่มีบ้านเป็นของตนเอง จึงต้องขอพระราชทานที่อยู่อาศัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานวังปารุสกวันเป็นที่พำนักของครอบครัว
ช่วงสงครามและการโยกย้ายที่อยู่อาศัย
พันตรีพุทธินาถและพี่น้องอีกหลายคนเกิดและเติบโตที่วังปารุสกวัน แต่เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ครอบครัวของพระยาพหลพลพยุหเสนาจำเป็นต้องย้ายไปอาศัยที่จวนข้าหลวง จังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่พระยาพหลพลพยุหเสนายังคงทำงานในพระนคร และเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่มหาชัยทุกสุดสัปดาห์โดยรถไฟจากสถานีปากคลองสาน

ภาพคู่ชีวิต จำกัด-ฉลบชลัยย์ โดยในรูปเขียนว่า
“ให้คุณกุหลาบและคุณชนิด ด้วยความรักใคร่” ลงเดือนพฤศจิกายน 2482
ที่มา : 100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น
ในปีเดียวกัน ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร และครอบครัว ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านของพระยาพหลพลพยุหเสนาและท่านผู้หญิงบุญหลงที่จังหวัดสมุทรสงคราม พันตรีพุทธินาถและพี่น้องได้ติดตามไปอยู่ด้วย และได้รับการศึกษาจากครูฉลบชลัยย์ที่นั่น หลังจากนั้น ครอบครัวพหลพลพยุหเสนาได้ย้ายไปพำนักที่เกาะฝั่งตรงข้ามพระราชวังบางปะอิน โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และครอบครัวพนมยงค์พำนักอยู่ด้วย ครูฉลบชลัยย์ได้ติดตามไป และจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ในบริเวณนั้น
ช่วงเวลาของสงครามและบทบาทของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
เมื่อพระนคร ถูกโจมตีด้วยระเบิดอย่างหนัก หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อัญเชิญสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน โดยใช้ขบวนเรือของเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาพหลฯและท่านผู้หญิงบุญหลงได้รีบไปเข้าเฝ้าฯ เช่นกัน ในวันรุ่งขึ้นพันตรีพุทธินาถและพี่น้องได้มีโ อกาสเข้าเฝ้าฯ และได้รับพระราชทานกระดานชนวนกับดินสอพอง
กลับสู่วังปารุสกวัน
หลังสงครามสงบ ครอบครัวของพระยาพหลฯ ได้กลับไปพำนักที่วังปารุสกวันตามเดิม การโยกย้ายที่อยู่ตลอดช่วงสงครามสะท้อนถึงความยากลำบากและการปรับตัวของครอบครัวผู้นำทางการเมืองในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติ
เรื่องราวของพันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เป็นภาพสะท้อนของชีวิตผู้คนในยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ทั้งในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสถานะของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย
บทบาทของพระยาพหลพลพยุหเสนาในการปกครอง

คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา สมัยที่ 5 มีหลวงพิบูลสงครามยืนอยู่ด้านซ้ายข้างเจ้าคุณพหลฯ
ที่มา: พระยาพหลพลพยุหเสนา : “อยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลน”
พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เล่าว่า พระยาพหลฯ ไม่เคยเล่าถึงบทบาทการปกครองให้ลูก ๆ ฟัง เพราะขณะนั้นลูก ๆ ยังเด็ก หลังจากทานข้าวเย็น พระยาพหลฯ มักใช้เวลากับครอบครัวมากกว่า “ลุงแมว” จึงได้รับข้อมูลส่วนใหญ่มาจากคุณแม่ของตนเอง ซึ่งมีเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจดหมายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เขียนถึงพระยาพหลฯ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
จดหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า พระปกเกล้าฯ ไม่ทรงเห็นด้วยกับการแต่งตั้งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี พระยาพหลฯ จึงตอบกลับว่า "ไม่สามารถปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้" ทำให้พระปกเกล้าฯ ทรงตอบกลับมาว่า "ถ้าแกไม่ตามใจฉัน ฉันจะสละราชสมบัติ" ซึ่งพระยาพหลฯ ก็ตอบว่า "ยินดีให้สละราชสมบัติ" เพราะต้องการให้หลวงประดิษฐ์ฯ ทำงานตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในการพัฒนาประเทศ

[ภาพจากซ้ายไปขวา] หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ที่มา: กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และการต่อสู้ทางความคิด ตอนที่ 1
หลวงประดิษฐ์ฯ ได้เสนอให้มีการตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ด้านการปกครอง การธนาคาร และการเงินให้กับประชาชน นำไปสู่การก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ยังวางแผนแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การเก็บภาษีศุลกากรของต่างชาติ และพัฒนากฎหมายไทยให้มีความเป็นสากล
ในการเลือกองค์รัชทายาท หลวงประดิษฐ์ฯ แนะนำให้ใช้กฎมณเฑียรบาลของราชวงศ์จักรี ส่งผลให้การเลือกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เป็นไปตามสายสืบทอดอย่างถูกต้อง
บทบาทของพระยาพหลฯ ต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ ได้โอน "พระคลังข้างที่" ให้เป็น "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" โดยอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้พระมหากษัตริย์สามารถดำรงพระอิสริยยศได้อย่างมีศักดิ์ศรี เงินจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ถูกนำไปซื้อ "วิลล่าวัฒนา" ที่โลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งกลายเป็นที่พำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบรมวงศานุวงศ์ในเวลาต่อมา
กบฏบวรเดชและจุดยืนของพระยาพหลฯ

พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ขณะฟื้นความหลังถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา
พันตรี พุทธินาถ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชวนพระยาพหลฯ ให้ทำ "Coup d'etat" (รัฐประหาร) แต่พระยาพหลฯ ปฏิเสธ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิวัติแบบฝรั่งเศสที่มีการประหารราชวงศ์ทั้งหมด
ในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงตรัสบริภาษพระยาพหลฯ แต่พระยาพหลฯ กลับพนมมือรับฟังโดยไม่โต้แย้ง จนกระทั่งกรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงกล่าวว่า "พวกนี้มาพูดอะไรฉันไม่เชื่อหรอก แต่สำหรับแก ฉันยอมรับ"
พระยาพหลฯ ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร และมีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระปกเกล้าฯ เสด็จกลับมาเป็นประมุขของประเทศ
พระปกเกล้าฯ ในเบื้องต้นทรงมีพระราชดำริจะเสด็จไปพำนักที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย แต่พระยาพหลฯ ได้จัดขบวนรถไฟหลวงไปรับเสด็จที่หัวหิน ทำให้พระปกเกล้าฯ เสด็จกลับมาประทับที่พระราชวังไกลกังวล และดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477
จากเรื่องเล่าของบุตรชายพระยาพระหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบการปกครองและกฎหมายจนถึงปัจจุบัน โดยบทบาทของพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความสำคัญในการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความท้าทายทางการเมืองที่แม้จะเป็นภารกิจต่อส่วนรวมประเทศชาติกลับส่งผลต่อชีวิตและสวัสดิภาพของครอบครัวในภายหลัง

วันสัมภาษณ์ : 6 กุมภาพันธ์ 2568