Focus
- บทความนี้เสนอในวาระ 108 ปี ชาตกาล ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ของฉลบชลัยย์ พลางกูร เล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองที่เชื่อมโยงกับนายปรีดี พนมยงค์ อันเป็นบุคคลที่ฉลบชลัยย์ รัก และเคารพ ตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ พ.ศ. 2471 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนายปรีดี ใน พ.ศ. 2526
ประวัติชีวิตของฉลบชลัยย์ พลางกูรก่อนจะพบกับนายปรีดี พนมยงค์
ดิฉันได้ยินชื่อ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๑ ขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ๔ ร.ร.ราชินี ทั้งนี้ก็เพราะดิฉันเป็นนักเรียนประจำ มีเพื่อนประจำที่สนิทสนมกันมาก ๆ หลายคน และหนึ่งในพวกนี้ชื่อคุณเพียงแข ณ ป้อมเพชร น้องสาวของท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยาของท่านปรีดี พนมยงค์ หรือที่รู้จักกันในสมัยนั้นว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั่นเอง พวกเราคุยกันถึงเรื่องพ่อแม่พี่น้องของกันและกัน ดิฉันรู้จักชื่อพี่น้องของคุณเพียงแขครบถ้วน ตั้งแต่คนหัวปีจนคนสุดท้อง รู้ด้วยว่าคนไหนแต่งงานแล้ว คนไหนทำงานอะไร และคนไหนกำลังเรียนอยู่ ร.ร. ไหนบ้าง รู้ว่าคุณพูนศุขแต่งงานกับคุณหลวงประดิษฐ์ฯ เพียงแต่รู้และจำได้ ไม่ได้มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ
ครั้น พ.ศ. ๒๔๗๕ ใคร ๆ ก็ต้องได้ยินชื่อคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดิฉันแอบภูมิใจนิดหน่อยว่าตนเองก็เคยรู้จักชื่อคุณหลวงประดิษฐ์มาก่อนแล้ว และยังรู้เรื่องกิจวัตรส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ ท่านด้วย ระยะนั้นได้เห็นรูปคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ทุกเมื่อเชื่อวันใน น.ส.พ. จนจำหน้าตาท่าทางท่านได้ดี ต่อมาได้รู้เรื่องการงานของท่าน ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และอะไรต่ออะไร อีกเยอะแยะ ทำให้อยากเห็นตัวจริงเป็นกำลัง แต่ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะได้มีโอกาสได้พบและรู้จักท่าน เมื่อเพียงสิบกว่าปีให้หลัง
พ.ศ. ๒๔๗๙ ดิฉันสอบชิงทุนรัฐบาลได้และไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พวกเราเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไป ลงเรือที่ปีนัง ตอนนั้นกงศุลไทยประจําปีนังคือคุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งมีภริยาเป็นชาวยุโรป ท่านจะจัดให้เราไปอยู่โรงแรม E & 0 ซึ่งใหญ่โตหรูหราและแพงมาก บังเอิญในคณะเรามีคุณจก ณ ระนอง ซึ่งเคยมีภูมิลําเนาอยู่ในปีนัง รู้จักปีนังดี อาสาจะพาพวกเราไปอยู่โรงแรมเล็ก ๆ เพื่อประหยัดเงิน เราโต้เถียงกับคุณยิ้มเป็นการ ใหญ่ คุณยิ้มโกรธมากเพราะเหตุเกิดขึ้นต่อหน้าภริยาแหม่มของท่าน ท่านไม่ยอมเด็ดขาด บังคับเราไปอยู่โรงแรม E & O จนได้ และบอกว่าจะเขียนรายงานไปยัง กระทรวงต่างประเทศถึงความดื้อดึงและอวดดีของเรา คืนนั้นพวกเราประชุมกันแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ปรึกษาและตกลงกันว่าทางที่ดีเราควรชิงเขียนไปถึง ร.ม.ต. ต่างประเทศเล่าความจริงใจของเรา ว่าเราเพียงแต่ต้องการประหยัดเงินเท่านั้นและฟ้องไปด้วยว่า คุณยิ้มดุด่าเรามากมายเพียงไร การเขียนจดหมายฉบับนั้นกินเวลานานมาก เพราะหลายคนก็หลายความคิด ตัดโน่นเติมนี่ กว่าจะเสร็จก็ดึกโขทีเดียว
เขาให้ดิฉันเป็นผู้ลอกจดหมายนั้น และจัดส่งไปให้คุณหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็น ร.ม.ต. ว่าการต่างประเทศในขณะนั้น ดิฉันรู้สึกตัวว่าได้ใกล้ชิด คุณหลวงประดิษฐ์ฯ เข้าไปอีกนิดหนึ่ง แต่จนบัดนี้ก็ไม่ทราบเลยว่าจดหมายนั้นได้ไปถึงท่านจริง ๆ หรือเปล่า สงสัยว่าเลขา ฯ ของท่านอ่านแล้วคงรู้สึกขำหรือไม่ก็สมเพชที่เป็นเรื่องของเด็ก ๆ หาสาระไม่ได้ คงจะโยนทิ้งตะกร้าไปเสียมากกว่า ส่วนตัวดิฉันเองนั้น เมื่อไปอยู่ต่างประเทศแล้วประมาณ ๒ ปี มีความคิดเป็นผู้ ใหญ่ขึ้น พอนึกถึงเรื่องนี้ทีไรก็รู้สึกละอายตัวเองที่แสดงความเป็นเด็กเช่นนั้น นึกภาวนาในใจว่าจดหมายนั้นคงไม่ไปถึงคุณหลวงประดิษฐ์ฯ หรือถ้าถึงก็ขอให้ท่านลืมมันเสียโดยสิ้นเชิง
ตั้งแต่เริ่มไปถึงอังกฤษใหม่ ๆ ดิฉันก็ได้รู้เรื่องการงานของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ มากขึ้นจากพวกเพื่อน ๆ ผู้ซึ่งได้มีโอกาสพบและรู้จักท่าน ดิฉันนึกอยากให้ท่านมาต่างประเทศอีกเหลือเกิน เผื่อจะได้โชคดีมีโอกาสพบท่านบ้าง เพราะเวลาอยู่เมืองไทยนั้นโอกาสที่เด็ก ๆ อย่างเราจะได้พบท่านเป็นของสุดเอื้อม อย่างไรก็ตาม ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดิฉันบังเอิญได้พบกับท่านผู้หญิงพูนศุขภริยาคุณหลวงประดิษฐ์ฯ กับคุณสุดาลูกสาวอายุ ๓-๔ ขวบของท่านที่สถานทูตปารีส
ดิฉันดีใจมากที่ได้รู้จักกับท่านผู้หญิงพูนศุขอย่างเป็นทางการ เมื่อตอนอยู่กรุงเทพฯ เคยเห็นท่านเหมือนกัน แต่เฉียดไปเฉียดมา ไม่เคยได้รับการแนะนำเป็นทางการเลย ทั้งคุณพูนศุข (ต่อไปจะขอเรียกชื่อท่านอย่างนี้ตามความเป็นจริงที่ดิฉันเรียกท่าน) และดิฉันต่างก็ได้รู้เรื่องราวของกันและกันมาก่อนพอสมควรแล้วจึงพูดคุยกันได้สะดวกสบายไม่อึดอัดใจ โดยเฉพาะตอนนั้นน้องสาวของท่านอีกคนหนึ่งคือคุณนวลจันทร์ไปกับท่านด้วย คุณนวลจันทร์คุ้นเคยกับดิฉันตั้งแต่ อยู่ ร.ร. ราชินีพอ ๆ กับคุณเพียงแข จึงทําให้เกิดความสนิทสนมยิ่งขึ้น ดิฉันนึกในใจว่าบัดนี้เราได้เข้ามาใกล้คุณหลวงประดิษฐ์ฯ อีกขั้นหนึ่งแล้ว
แรกพบกับนายปรีดี พนมยงค์ ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดิฉันกลับเมืองไทย ได้แต่งงานกับนายจำกัด พลางกูร และได้ตั้ง ร.ร. ดรุโณทยานขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๔ เมืองไทยถูกรุกราน จํากัดคิดมาก จะหาทางออกไปจากเมืองไทยท่าเดียว ได้ไปปรึกษาและชักชวนเพื่อนฝูงและใครต่อใครหลายคน แต่ก็ไม่ได้ผล ไม่มีใครอยากไปเสี่ยงตายด้วย จำกัดเคยรู้จักท่านปรีดี ครั้งที่ท่านไปประเทศอังกฤษ และทราบดีว่าท่านปรีดีต้องไม่พอใจสภาพบ้านเมืองไทยในขณะนั้นแน่นอน จึงลองไปกราบท่านฟังความเห็นของท่าน ก็ได้เรื่องสมใจ
หลังจากนั้นจำกัดก็ไปหาท่านปรีดีแทบทุกวัน เมื่อกลับมาเล่าให้ดิฉันฟัง ดิฉันตื่นเต้นมาก คิดว่าโอกาสที่จะได้พบท่านปรีดีใกล้เข้ามามากแล้ว และก็เป็นความจริง ไม่นานหลังจากนี้ ท่านปรีดีให้จํากัดพาดิฉันไปรับประทานอาหารกับท่านและครอบครัว ดิฉันทั้งตื่นเต้นและหวั่นใจ ไม่ทราบว่าจะไปพูดอะไรกับท่าน แต่ยังเบาใจหน่อยที่ดิฉันเคยพบปะสนทนากับคุณพูนศุขมาแล้ว ฉะนั้นก็เห็นจะไม่กระไรนัก
ท่านปรีดีต้อนรับดิฉันอย่างเป็นกันเอง ท่าทางท่านใจดี เปิดเผยและยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ทําให้ความประหวั่นพรั่นพรึงของดิฉันหายเป็นปลิดทิ้งและพูดคุยกับท่านได้อย่างสบายอกสบายใจ ท่านเล่าว่าครั้งหนึ่ง ม.จ. สกลวรรณากร (ผู้หนึ่งในคณะกรรมการ ก.พ.) ได้มาเล่าให้ท่านฟังว่าจํากัดมาชอบพอดิฉัน แต่ถูก Mr. Cardew ผู้ปกครองคอย “กันท่า” ตลอดเวลา ท่านสงสัย ในคําว่า “กันท่า” นี้ คงไม่ได้หมายความว่า Mr. Cardew จะ “กันท่า” เอาไว้ เสียเองนะ ดิฉันถึงกับต้องหัวเราะและกราบเรียนท่านว่า Mr. Cardew ท่านดูแลพวกเราทุกคนราวกับเป็นลูกของท่านเอง จึงคอยกันท่าเพื่อมิให้มีเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น
ดิฉันนึกแปลกใจว่าทําไมท่านสกลฯ จึงมาสนใจกับเด็ก ๆ อย่างเราถึงเพียงนั้น แต่นึกไปอีกทีอาจเป็นเพราะว่าจํากัดเป็นลูกของเจ้าคุณผดุงวิทยาเสริม ซึ่งกว้างขวางอยู่ในกระทรวงศึกษาและคุ้นเคยกับท่านสกลฯ ส่วนดิฉันก็เป็นหนึ่งในนักเรียนหญิงซึ่งมีอยู่เพียง ๓-๔ คนในประเทศอังกฤษในขณะนั้น และคุณจิริ ลูกสาวท่านสกลฯ ก็เป็นหนึ่งในพวกเรา จึงทําให้ท่านสนใจและจําง่าย
ข้าพเจ้าเริ่มคุ้นเคยสนิทสนมกับครอบครัวท่านปรีดีมากขึ้น ๆ ท่านมอบความไว้วางใจให้คุณลลิตาลูกสาวคนโตของท่านซึ่งมีความเจริญทางสมองช้ากว่าธรรมดามาอยู่เป็นนักเรียนประจําพิเศษที่ ร.ร. ดิฉัน โดยจัดพี่เลี้ยงมาอยู่ช่วยดูแลด้วย เพื่อมิให้เป็นภาระต่อดิฉันมากนัก และคุณพูนศุขเองก็หมั่นมาเยี่ยมเยียนเสมอ ยังจําได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ตอนน้ําท่วมใหญ่ ร.ร. ต้องปิด เพราะการคมนาคมลําบากมาก ท่านปรีดีได้จัดส่งเรือลำปั้นลำใหญ่มาให้เราลำหนึ่ง เพื่อให้เราพาลลิตาไปเยี่ยมบ้าน ดูเหมือนเราจะไปวันเว้นวัน ลลิตาชื่นชมกับการนั่งเรือไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่มาก เธออยู่กับเรามาจนกระทั่งก่อนจำกัดเดินทางไปต่างประเทศในการทำหน้าที่ให้คณะเสรีไทยใต้ดิน คุณพูนศุขจึงรับตัวกลับไปเพื่อมิให้ดิฉันต้องมีภาระมากเกินไป
จำกัดเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ดิฉันก็ดูแล ร.ร. ต่อไป พอถึงวันเกิดดิฉัน ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านปรีดีมาที่ ร.ร. ดิฉัน เอาของขวัญมาให้เป็นขันเงินใบใหญ่มีพานรองและทัพพีครบชุดสําหรับใส่บาตร ท่านคงจะทราบแล้วว่าจํากัดถึงแก่กรรมเมื่อ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ และคงจะสงสารดิฉัน แต่ตัวดิฉันเองไม่ทราบจนกระทั่งสงคราม เลิกแล้ว (พ.ศ. ๒๔๘๘) ยังจําได้ว่าตอนนั้นน้ำท่วมอีก แต่ไม่มากถึงกับต้องใช้เรือ การจะเดินไปห้องรับแขกอีกตึกหนึ่งนั้นต้องไต่สะพานไป ดิฉันจึงจําเป็นต้องต้อนรับท่านปรีดีในห้องเรียนอนุบาล เก้าอี้ตัวใหญ่ธรรมดาก็ไม่มี ตัวเล็กของเด็ก ๆ ท่านก็นั่งไม่ได้ เลยต้องเชิญให้นั่งบนโต๊ะเรียนอนุบาล
ทำงานในธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัด
หลังจากนี้ท่านให้คุณพูนศุขมารับดิฉันไปค้างที่บ้านท่านบ่อย ๆ และตอนหลังเมื่อเรือบิน มาทิ้งระเบิดบ่อย ๆ ไม่ปลอดภัยแก่เด็ก ๆ กระทรวงศึกษาฯ สั่งปิด ร.ร. ทุกแห่ง ท่านไม่อยากให้ดิฉันอยู่คนเดียว เลยมารับไปอยู่กับครอบครัวของท่านเป็นการถาวร
ยิ่งกว่านั้นท่านเกรงว่าดิฉันอยู่ว่าง ๆ อาจจะคิดมาก เลยจัดให้ไปทํางานที่ธนาคารเอเชีย ในตําแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีแทนคุณทิพยา ณ ป้อมเพชร พี่สะใภ้ของคุณพูนศุขซึ่งลาไปคลอดบุตร และไม่คิดว่าจะกลับมาทํางานอีก ฉะนั้นเมื่อคุณพูนศุขและลูก ๆ อพยพตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาไปอยู่ที่นนทบุรี แล้วตอนหลังไปอยู่ที่อยุธยา ตอนแรก ๆ นั้นดิฉันยังทํางานอยู่จึงไปด้วยไม่ได้ แต่ติดตามท่านปรีดีไปเยี่ยมคณะอพยพทุก ๆ ปลายสัปดาห์
ระหว่างนั้นเศรษฐกิจกําลังปั่นป่วน บรรดาธนาคารถูกกระทบกระเทือนมากท่านปรีดีเป็นห่วง ให้ทางธนาคารเอเชียทํารายงานสรุปแสดงยอดเงินแต่ละวันให้ดิฉันเอามาให้ท่านดู ตอนนั้นทุกวันดิฉันรับประทานอาหารเย็นกับท่านปรีดีและคุณเที่ยง จินดาวัฒน์ ซึ่งมาอยู่เป็นเพื่อนท่าน ท่านปรีดีรับประทานอาหารน้อยมาก ตรงข้ามกับดิฉันซึ่งเจริญอาหารและเป็นคนกินช้าเสียด้วย ทุกครั้งที่ท่านอิ่มก่อน ท่านจะบอกว่า “คุณฉลบเชิญตามสบายนะ” ดิฉันต้องหัวเราะกับคุณเที่ยงเสมอ และพยายามหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารกับท่าน หลายครั้งที่ดิฉันแวะกินเสียก่อนที่บางลําภู และกลับมาพูดปดกับท่านว่าไปกินกับเพื่อนมาแล้ว ดิฉันจะไถลไปไหนนานนักก็ไม่ได้เพราะต้องเอารายงานธนาคารมาส่งท่าน
สมัยนั้นรัฐบาลออกธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งคนไม่นิยมเลย หลายคนที่ไม่ศรัทธาได้เอามาขายกันแถว ๆ ธนาคารเอเชียในราคาใบละ ๕๐๐ บาท เท่านั้น โดยยอมขาดทุน ๕๐๐ บาท เพราะคิดว่าดีกว่าที่จะสูญเสียเปล่า ท่านปรีดีทราบเรื่องนี้ จึงให้ดิฉันไปดูบัญชีของท่านที่ธนาคารเอเชีย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ฝากไว้เป็นเงินเดือนของท่านแต่ท่านไม่เคยเบิกมาใช้เลย ว่าเป็นเงินจํานวนเท่าไรแล้ว ท่านจะเซ็นเช็คยกเงินทั้งหมดให้ดิฉัน เพื่อดิฉันจะได้ไปซื้อธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ในราคา ๕๐๐ บาทมาเก็บไว้ แล้วภายในเดือนนั้น ๆ จะได้กําไรเท่าตัว ดิฉันถามว่าทําไมท่านไม่ซื้อเอาไว้เสียเอง ท่านว่าท่านทําอย่างนั้นไม่ได้ ท่านต้องเชื่อมั่นในรัฐบาลที่ท่านสนับสนุนอยู่ (ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ไม่เห็นด้วยเลยมาแต่ต้น)
ดิฉันกราบเรียนท่านว่าดิฉันอยู่กับท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย และเงินเดือนจากธนาคารก็ได้มากอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะเอาเงินไปทําอะไร เอาไว้ให้ดิฉันเดือดร้อนเรื่องเงินจึงจะกราบขอรบกวนท่านเอง ท่านยิ้มและบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจคุณ” พอถึงกําหนดเวลาที่ท่านบอกพวกคนที่ซื้อธนบัตรราคาเพียงใบละ ๕๐๐ บาทก็ได้กำไรเท่าตัวจริง ๆ
ขณะที่ทำงานที่ธนาคารเอเชียนี้ ดิฉันต้องรับผิดชอบเก็บกุญแจเซฟไว้ลูกหนึ่งด้วย คือเก็บกัน ๓ คน ผู้จัดการ สมุห์บัญชี และดิฉัน ต้องไขพร้อมกันทั้ง ๓ ลูกเซฟจึงจะเปิดได้ สมัยนั้นผู้จัดการคือคุณหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ และต่อมาคือคุณปพาฬ บุญ-หลง วันหนึ่งเป็นวันอาทิตย์ดิฉันรู้สึกว่าได้ทํากุญแจเซฟหายไป รีบไปกราบเรียนท่านปรีดี ท่านตกใจ แต่ไม่ได้ตําหนิอะไรดิฉันเลย ท่านสงสารดิฉันและพูดในทํานองว่าจิตใจของดิฉันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คงเกี่ยวกับการที่จำกัดจากไป! แท้ที่จริงแล้ว ดิฉันเป็นคนขี้หลงขี้ลืมในสันดานเองต่างหาก! ท่านปรีดีบอกว่าต้องทำเรื่องด่วน ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งไปตามตัวช่างมาเตรียมระเบิดเซฟ เพราะรุ่งขึ้นจะเป็นวันจันทร์
อีกอย่างหนึ่งให้ดิฉันค่อย ๆ คิดลำดับเหตุการณ์ให้ดีว่าอาจจะทิ้งกุญแจไว้ที่ไหนได้บ้าง ดิฉันจำได้ในทันทีทิ้ง ไว้บนโต๊ะทำงานนั่นเอง และเรียนท่านว่ามีเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ชายจีนคนหนึ่งชื่อ อาซีเป็นคนที่ทำงานมานานมากแล้ว และเป็นคนมีอัธยาศัยใจคอดีเหลือเกิน ในตําแหน่งนั้นเขาเป็นลูกน้องของดิฉัน แต่ดิฉันได้พึ่งพาอาศัยไต่ถามเขาอยู่เสมอ เขากลับบ้านช้ากว่าใคร ๆ เข้าใจว่าเขาคงเก็บกุญแจไว้ให้ ท่านปรีดีสืบได้ความว่าอาซีอพยพไปอยู่ในคลองไกลมาก จึงให้คนไปตามเพื่อนของอาซีมา และให้พาดิฉันลงเรือเช่าพิเศษไปบ้านอาซี พอเรือไปจอดหน้าบ้าน อาซีก็ยกกุญแจออกมาส่งให้เลย ดิฉันไม่รู้จะขอบคุณเขาอย่างไรดีจึงจะสมกับที่เขาได้ช่วยยกภูเขาออกไปจากอกดิฉันได้ ท่านปรีดีไม่อยากให้ดิฉันต้องกังวลใจอีก เลยบอกผู้จัดการให้มอบกุญแจดอกนั้นแก่คนอื่นเก็บแทนต่อไป
ระยะนั้นเรือบินมาทิ้งระเบิดตอนกลางวันด้วย ธนาคารจึงเปิดทำการ ๙-๑๓.๐๐ น. เท่านั้น แต่ธนาคารเอเชียนับว่ามีกิจการมากพอใช้ คนแน่น ๆ ทุกวัน สมุดบัญชีเล่มใหญ่ ๆ ที่ดิฉันต้องตรวจและลงชื่อนั้นสุม ๆ กันอยู่บนโต๊ะดิฉัน สูงท่วมหัว ดิฉันไม่เคยมีเวลาได้เงยหน้าดูอะไรเลย ก้มหน้าก้มตาจัดการกับสมุดนั้นไปทีละเล่ม ๆ พอจบเล่มสุดท้ายก็พอดี ๑๓ น. ทุกวัน เวลาเครื่องบินมาดิฉันเคยไปเข้าหลุมหลบภัยที่บ้านเพื่อนซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้นก็มี แต่ตอนกลางคืนจะมีการทิ้งระเบิดบ่อยกว่าตอนกลางวันมาก ที่บ้านท่านปรีดีมีหลุมหลบภัยอยู่ใต้ถุน ครอบครัวคุณหลวงศุภชลาศัย (ท่านหญิงและลูก ๆ ) ได้อพยพมาอยู่อีกตึกหนึ่งในบริเวณเดียวกับท่านปรีดี แต่ที่ตึกนั้นไม่มีหลุมหลบภัย จะต้องมาเข้าหลุมเดียวกับท่านปรีดี หลุมนี้อยู่ติดกับห้องซึ่งคุณวาณีลูกสาวคนสุดท้อง ของท่านปรีดีเคยอยู่กับคนเลี้ยง เวลาเครื่องบินขาดระยะ แต่ยังไม่ปลอดภัยทีเดียว ทุกคนจะออกมานั่งคุยกันในห้องนี้ ตอนระเบิดกําลังลงนั้น ใครจะสวดมนต์ขออะไรเป็นที่พึ่งก็ตามแต่
ส่วนตัวดิฉันนั้นขอเอาท่านปรีดีเป็นที่พึ่งก่อนละ ดิฉันคิดว่าท่านเป็นคนมีบุญ ได้ทําประโยชน์ให้บ้านเมืองมาตลอดเวลา และขณะนั้นก็กําลังทํางานใต้ดินเป็นเรื่องใหญ่ เทพยดาฟ้าดินคงจะไม่ยอมให้ท่านตายง่าย ๆ หรอก ฉะนั้นเวลาท่านปรีดีไปนั่งตรงไหน ดิฉันก็พยายามนั่งติดกับท่านให้มากที่สุดโดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ตัวเลย!
จะเป็นตอนก่อนครอบครัวคุณหลวงศุภฯ มา หรือตอนท่านย้ายไปแล้วก็จําไม่ได้ ในห้องใต้ถุนหน้าหลุมหลบภัยนี้ ตอนพักระเบิดท่านปรีดีเล่าเรื่องสมัยที่ท่านเป็นนักเรียนอยู่อยุธยาให้ดิฉันฟัง ท่านเล่าถึงพี่น้องของท่านทุกคนด้วยท่านภูมิใจว่าน้องของท่านแทบทุกคนเก่งไม่น้อย แต่ละคนทําธุรกิจต่าง ๆ กันเป็นผลสําเร็จโดยไม่ต้องอาศัยท่านเลย ยกตัวอย่างคุณชวนชื่น นิติทัณฑ์ประภาส สามีตายตั้งแต่ลูก ๆ ทั้ง ๗ คนยังเล็กอยู่ เธอก็สามารถทํามาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเธอไปตามความเหมาะสมของสภาพบ้านเมืองในระยะเวลานั้น ๆ จนกระทั่งลูกของเธอจบการศึกษาชั้นสูง ๆ ทุกคน หรือในตอนหลังเมื่อคุณหลุย พนมยงค์ ตั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มิได้มาบอกท่านด้วยซ้ํา
คุณหลุยถามดิฉันว่า “คุณพี่ว่าอะไรผมบ้างหรือเปล่าที่ตั้งธนาคารนี้?” ดิฉันบอกว่าไม่เคยว่าเลย มีแต่ชมว่าเก่ง สามารถ ดิฉันเตือนคุณหลุยให้ไปหาท่านบ้าง คุณหลุยก็ยังไม่กล้าไปอยู่นั่นเอง เพราะคิดว่ายังไง ๆ ท่านปรีดีต้องไม่ชอบที่มีคนมาตั้งธนาคารแข่งกับธนาคารเอเซีย อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก
ท่านปรีดีชอบสนับสนุนคนที่ฉลาด สามารถ เพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อย่าว่าแต่คุณหลุยซึ่งเป็นน้องของท่านเองแท้ ๆ เลย เมื่อตอนคุณหลวงรอบรู้กิจและคณะก่อตั้งธนาคารกรุงเทพฯขึ้นก็คิดแบบเดียวกันนี้ คุณหลวงรอบ ฯ ไปหาท่านด้วยความเคารพ ท่านบอกว่าท่านยินดีสนับสนุนทุกประการ และเพื่อให้คุณหลวงรอบ ฯ หายข้องใจจริง ๆ ท่านบอกว่าท่านไม่เคยมีหุ้นอยู่ในธนาคารใดเลย แม้แต่ธนาคารเอเชีย แต่จะขอซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ ๑๐๐ หุ้น ใส่ชื่อคุณสุดาบุตรสาวของท่าน ดิฉันเป็นผู้รับติดต่อฝากเงินของธนาคารกรุงเทพต่อธนาคารเอเชียในหน้าที่อยู่แล้ว จึงทราบเรื่องนี้ดี ไม่แต่เพียงเท่านี้ เมื่อตอนธนาคารกรุงเทพ ถูกรุมถอนเงินเหมือนกับธนาคารทั่วไปในระยะสั้น ๆ ระยะหนึ่ง ได้ไปขอความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ยังได้ให้ธนาคารเอเซียช่วยเหลือด้วย
ปฏิบัติภารกิจลับของขบวนการเสรีไทย
ระหว่างที่ดิฉันอยู่กับท่านปรีดีในชั่วระยะไม่นานนักนี้ ดิฉันได้เห็นกิจวัตรประจําวันของท่านแล้วรู้สึกสงสารท่านมาก ท่านไม่เคยออกไปเที่ยวเตร่สนุกสนานหรือออกไปกินอาหารตามภัตตาคารโก้หรูหราอย่างที่คนใหญ่คนโตส่วนมากเขากระทําเลย ดิฉันมิสนใจว่าท่านมีบุญหรือมีกรรมหนอ อย่างไรก็ตามสุขภาพของท่านก็ดีมาก ทั้ง ๆ ที่กินก็ไม่ได้กิน นอนก็ไม่ค่อยได้นอน อันหลังนี้ดิฉันทราบดีเพราะว่าห้องที่ดิฉันนอนอยู่นั้นไม่มีห้องน้ํา ตอนดึก ๆ เมื่อดิฉันตื่นไป ห้องน้ําจะต้องเดินผ่านห้องโถงใหญ่ ทุกครั้งที่ดิฉันผ่านไปจะเห็นท่านปรีดีนั่งเงียบอยู่คนเดียว ดิฉันต้องค่อยย่อง ๆ เกรงจะรบกวนสมาธิของท่าน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านเห็นดิฉันหรือเปล่า ดิฉันแน่ใจว่าท่านกําลังใช้ความคิดอย่างหนักเรื่องเสรีไทยและสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น
ครั้งหนึ่งดิฉันเห็นผู้ชายคนหนึ่งใส่หมวกเอาปีกลงปิดหน้าครึ่ง ๆ นั่งอยู่กับท่านตอนดึกออกอย่างนั้นและอยู่ในบ้าน ทําไมเขาจะต้องใส่หมวกบังหน้าด้วย ดิฉันอดไม่ได้ที่จะชําเลืองอีกแวบหนึ่ง ขณะที่เดินเลาะไปตามริมห้องโถง ดิฉันคิดว่าดิฉันเห็นไม่ผิด เขาคือ น.ร. อังกฤษคนหนึ่ง เขาจะต้องกระโดดร่มลงมาแน่ ๆ ดิฉันใจเต้น คืนนั้นกว่าจะหลับได้ใหม่ก็กินเวลานาน และเชื่อแน่ว่าท่านปรีดีคงมีเรื่องทําเรื่องคิดเช่นนี้ทุกคืน สงสัยว่าสุขภาพของท่านจะทนต่อไปได้นานสักเท่าใด
คืนหนึ่งยังหัวค่ําอยู่ ท่านมาเคาะประตูเรียกดิฉัน บอกว่าเช้าวันรุ่งขึ้น ให้เตรียมตัวตื่นเช้าเป็นพิเศษ (ดิฉันชอบตื่นสาย) เพราะท่านมีธุระจะใช้ไปบอก คุณเตียง ศิริขันธ์ ให้แก้ข้อความที่จะเคาะวิทยุติดต่อกับพันธมิตร ตอนนั้นคุณเตียงและพรรคพวกมาพํานักอยู่ที่ ร.ร. ดิฉัน (ร.ร. ปิด) คําที่ให้แก้มีเพียงแค่ ๒ คํา แต่ท่านว่าสําคัญมาก ท่านกลัวดิฉันจะตื่นไม่ทัน ถึงเวลานั้นมาเคาะปลุกอีก แต่ดิฉันตั้งนาฬิกาปลุกไว้แล้ว รีบแต่งตัวออกไปขึ้นรถรางหน้าบ้าน (ท่าช้างวังหน้า) รถรางยังไม่ได้จัดแยกสายเลย ยังพ่วงกันมาเป็นขบวนยาว ยังมืดมากต้องเปิดไฟด้วย ดิฉันบอกคนขับว่าจะไปสี่แยกปทุมวัน เขาก็ให้ขึ้นไป ไม่ต้องเสียเงิน นั่งฟรี ๆ เพราะคนเก็บเงินยังไม่ขึ้นมา รถแยกกันตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างดิฉันจําไม่ได้
แต่ในที่สุดก็พาดิฉันไปถึงสี่แยกสระปทุมตามต้องการ ยังไม่ สว่าง คนเดินถนนก็ยังไม่มี แต่ตอนนั้นโจรผู้ร้ายไม่ชุกชุมเหมือนตอนนี้ ดิฉันจึงเดินไปถึง ร.ร. โดยไม่นึกกลัวเลย ไปบอกคุณเตียงให้แก้ข้อความได้ทันก่อนเขาส่งวิทยุ คุณเตียงพูดเป็นนัย ๆ ว่า มีคนที่ดิฉันรู้จักมาจากทางไกลและขณะนี้อยู่ห่างจากดิฉันไม่กี่เมตร ดิฉันรู้ทันทีว่าคงจะต้องเป็น น.ร. อังกฤษที่โดดร่มลงมาทําการส่งวิทยุแน่ ๆ และคงอยู่อีกห้องหนึ่งติด ๆ กันนั้น แต่ดิฉันไม่ซักถามต่อเลย ทั้ง ๆ ที่ใจก็อยากรู้จะแย่แล้วว่าเป็นใคร แต่ไม่อยากรับทราบความลับอันใด ลําพังภาระที่ต้องเก็บความลับเรื่องจํากัดไม่ให้ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ของเขาทราบก็หนักมากอยู่แล้ว ดิฉันได้สัญญากับจํากัดว่าจะไม่ไต่ถามข่าวคราวของเขาจากใครเลย นอกจากจะมีคนบอกเอง เพราะเกรงว่าจะทําให้ท่านผู้ใหญ่ไม่สบายใจ เพราะเหตุนี้เองดิฉันจึงไม่ทราบเรื่องการตายของเขาจนกระทั่งเกือบ ๒ ปีภายหลัง
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ท่านปรีดีได้ก่อตั้งคณะเสรีไทยใต้ดินขึ้นนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องผ่านชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง ไม่ทราบว่าวันไหนญี่ปุ่นจะค้นพบความจริงและอาจถูกลงโทษถึงตายได้ระหว่างที่คุณพูนศุขยังไม่อพยพไปนั้น ท่านได้ช่วยท่านปรีดีมากทั้งด้านการงานและทางจิตใจ และการอพยพของท่านนั้นก็เป็นการแบ่งเบาภาระอันหนักส่วนหนึ่งของท่านปรีดีด้วย คือท่านปรีดีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ต้องดูแลความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (พระราชชนนี ในหลวง และครอบครัวอยู่สวิตเซอร์แลนด์)
คุณพูนศุขต้องตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปทุกแห่ง และจัดตัวเองให้มีหน้าที่ไปเฝ้าทุกวันมิได้ขาดเลย และตัวท่านปรีดีก็เดินทางไปเฝ้าเยี่ยมทุกปลายสัปดาห์ตลอดเวลาจนกระทั่งเสด็จกลับพระนคร
จําได้ว่าก่อนที่คุณพูนศุขจะอพยพไปนั้น วันอาทิตย์วันหนึ่งคุณจรูญ สืบแสง และภริยามาเยี่ยม ดิฉันก็ร่วมคุยอยู่ด้วย ท่านปรีดีซึ่งเคยฟังวิทยุต่าง ๆ อยู่ตลอดวันได้แจกกระดาษดินสอและปทานุกรม Concise Oxford ให้เราทุกคน ให้เราคอยจดข่าววิทยุซึ่งพันธมิตรกําลังจะส่งมาเป็นรหัสตัวเลข ท่านเปิดวิทยุให้ดังพอที่เราจะได้ยินทุกคน เราต่างคนต่างจุด เป็นวรรค ๆ ตามที่เขาบอก เมื่อจบแล้ว เอาตัวเลขมาทานกัน
พอตรงกันทุกคนแล้ว ก็เปิดปทานุกรมถอดรหัส ดูเหมือนตัวหรือวรรคแรกบอกหน้าในปทานุกรม เช่น หน้า ๗ หน้า ๒๕ ต่อไป บอกคําหรือบรรทัดอะไรทํานองนี้ ช่วยกันหา พอสําเร็จแล้วได้ใจความว่า เขาจะมาทิ้งระเบิดในคืนนั้น ขอให้พวกเราออกไปให้ห่างจากจุดสําคัญ ๆ (ที่รู้อยู่แล้ว) ท่านปรีดีโมโหใหญ่ คิดว่าจะเป็นเรื่องสําคัญอะไร จะให้ดําเนินการอย่างไร ท่านว่า “ไม่หนีหรอก จะตายก็ให้ตายไป” และปรากฏว่าครั้งหนึ่งลูกระเบิดลงมาถูกเรือน ไม้ ๒ ชั้น ริมน้ำในบริเวณบ้านของท่านเองพังจมน้ำไปเลย เคราะห์ดีที่ไม่มีคนอยู่ในเรือนนั้น บ้านท่านปรีดีอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย ฉะนั้นลูกระเบิดย่อมจะพลาดมาลงที่บ้านท่านได้อย่างง่ายดาย
ถึงแม้ท่านปรีดีจะมีภาระหนักแทบไม่ได้กินไม่ได้นอน โดยตอนกลางวันปฏิบัติหน้าที่ผู้สําเร็จราชการ และพบปะกับคนสําคัญ ๆ ทั้งในธุรกิจเปิดเผยและเรื่องลับ และตอนกลางคืนก็อุทิศให้แก่เรื่องเสรีไทยจนหมดสิ้นแล้วก็ตาม ท่านก็มิได้ทอดทิ้งครอบครัวของท่าน ครั้งหนึ่งใกล้ ๆ วันเกิดของคุณพูนศุข (๒ มกราคม) ดูเหมือนจะเป็น พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านถามดิฉันว่าควรหาของอะไรให้ดี ดิฉันเรียนว่าเอาอะไรก็ได้สักอย่างที่คุณพูนศุขชอบ ท่านหัวเราะบอกว่าท่านไม่เห็นคุณพูนศุขชอบอะไรเป็นพิเศษสักอย่างเลย!
ในที่สุดดูเหมือนจะตัดเสื้อให้ ๑ ชุด ระหว่างสงครามนั้นผ้าตัดเสื้อหายากมาก เพราะเราสั่งจากต่างประเทศทั้งสิ้น คนไทยยังไม่เคยคิดอ่านทําผ้าตัดเสื้อดี ๆ เลย แต่ตอนนั้นคุณแผ้ว กรลักษณ์ สต็อกผ้าช้าคสกินไว้ไม่น้อย ท่านปรีดีได้ให้จีนช่างตัดเสื้อประจําตัว คุณพูนศุขตัดชุดช้าคสกินสีเหลืองให้ ซึ่งคุณพูนศุขก็คงไม่มีโอกาสได้สวมไปงานไหนจนกว่าสงครามจะเลิกแล้ว ท่านปลื้มเปรมใจมากเมื่อคุณปาลลูกชายคนโต ของท่านอายุครบ ๑๒ ปี (รอบแรก) ท่านจัดให้แต่งชุดสากล จัดงานเลี้ยงระหว่างญาติพี่น้อง โดยท่านสั่งรายการอาหารเอง จัดให้มีเค้กวันเกิดด้วย และสอนให้คุณปาลทําหน้าที่เจ้าภาพให้ถูกต้อง ท่านคอยสอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของคนในบ้านท่านเป็นอย่างดี ถ้าใครเกิดเจ็บป่วยเป็นอะไรท่านจะร้อนใจและรีบจัดการช่วยเหลือเท่าที่ควร
วันหนึ่งก่อนวันปีใหม่ ดิฉันตั้งใจแน่วแน่ว่ารุ่งขึ้นวันปีใหม่จะต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษไปกราบขอพรท่าน แต่ที่ไหนได้ ยังไม่ทันจะเช้าดีเลย ท่านมาเคาะประตูห้องดิฉัน พอดิฉันเปิดประตูออกไป ท่านส่งซองหนังซึ่งมีธนบัตรอยู่ในนั้น (จําไม่ได้ว่าเท่าไร) ให้ พร้อมกับพูดว่า Happy New Year ท่านบอกว่าท่านได้ให้ของขวัญคนในบ้านครบหมดทุกคนแล้ว คอยไม่เห็นดิฉันตื่นสักที เลยต้องเคาะเรียกและขอโทษด้วยเพราะท่านมีธุระอื่นจะต้องทําอีก ดิฉันอายแทบจะมุดแผ่นดินไปเลย ได้แต่กราบขอบพระคุณท่าน และกราบ Happy New Year แก่ท่านด้วยเท่านั้น (สมัยนั้นยังไม่มีคนบัญญัติตัวว่าสุขสันต์วันปีใหม่ไว้)
อารมณ์ขันของนายปรีดี พนมยงค์
ใครว่าท่านปรีดีไม่มีอารมณ์ขัน ? อันนี้ดิฉันขอเถียง ท่านมีอารมณ์ขันเสมอ เป็นแต่ว่างานของท่านมากมาย เวลาที่จะแสดงอารมณ์ขันให้คนอื่นเห็นจึงมีน้อย ดิฉันยังจําเรื่องที่ขันที่สุดได้เรื่องหนึ่งจนบัดนี้ คือแม่เล็กมารดา คุณพูน พุกกะรัตน์ ซึ่งทํางานอยู่กับท่านมาหลายปีแล้วได้มาหาท่าน ยังจําภาพได้ติดตา แกกราบแล้วกราบอีก ขอร้องให้ท่านช่วย โดยเล่าอย่างเปิดเผยว่าคิดจะโกงสมบัติของสามีส่วนหนึ่ง มิฉะนั้นเขาอาจเอาไปยกให้คนอื่นหรืออะไรทํานองนี้ แกขอเรียนปรึกษาท่านว่าจะคิดอ่านทําแบบไหนดี ท่านหันไปยิ้มอีกทางหนึ่ง และหันกลับมาบอกแกในทันทีว่า “รู้หรือเปล่าว่าถ้าแม่เล็กโกงเขาในชาตินี้ ชาติต่อไปแม่เล็กจะต้องใช้เขากลับคืน เพียงสตางค์เดียวก็ต้องใช้หนี้เป็นสิบชาติแล้ว นี่แม่เล็กคิดจะโกงเขาเท่าไร มิต้องใช้หนี้กันกี่ร้อยกี่พันชาติหรือ ?” แม่เล็กตกใจใหญ่ ก้มลงกราบอีก และบอกว่า “จริงหรือเจ้าคะ เคราะห์ดีที่ดิฉันมากราบเรียนท่านเสียก่อน ถึงได้รู้ความจริง ขอบพระคุณที่ท่านกรุณาชี้แจงให้ เลิกแล้วค่ะ ดิฉัน ไม่คิดโกงเขาอีกแล้ว!”
พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นั้นกลั้นหัวเราะกันไม่ได้เลย แต่ท่านทำหน้าตาขึงขังบอกว่า “ดีแล้วแม่เล็ก กลับไปทำใจให้สบาย อย่าไปคิด อ่านโกงใครเขาอีกเลยนะ” พอแม่เล็กไปแล้ว ท่านก็หัวเราะใหญ่แล้วบอกว่าถ้าท่านอธิบายตามตัวบทกฎหมาย แม่เล็กก็จะไม่ฟัง และคงจะเซ้าซี้ท่านอีกต่อไป บอกอย่างนี้แหละได้ผลเห็นทันตา!
ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย ท่านรําคาญคนที่ชอบพูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงิน ไม่เคยแตะต้องเงินจนไม่รู้ว่าตอนนั้นเงินหรือเหรียญมีกี่ชนิดและมีค่าเท่าใดบ้าง ครั้งหนึ่งท่านไปทอดกฐินที่อยุธยา ได้ให้คนไปแลกเหรียญมาแจกนักเรียนที่จะมาตั้งแถวรับ ซึ่งได้สืบถามมาแล้วว่าเป็นจํานวนเท่าใด ครั้นแจกเสร็จแล้วปรากฏว่าเงินเหรียญยังเหลืออีกมาก ท่านแปลกใจเรียกคนที่จัดการแลกเหรียญมาถาม ได้ความว่าเหรียญที่ท่านให้แลกนั้นไม่มีได้มาแต่เหรียญที่มีค่าครึ่งหนึ่ง เขาลืมกราบเรียนท่านไปว่าแทนที่จะแจกเหรียญเดียวท่านจะต้องแจก ๒ เหรียญ ท่านปรีดีฉิวทีเดียว แต่ท่านนิ่งอึดใจหนึ่งแล้วบอกว่า “ไหน ๆ เรื่องก็แล้วไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ช่างเถอะ ต่อไปอย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก” ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของท่าน ไม่สนใจว่าจะเป็นเท่าไร เมื่อคุณจิตราภา บุนนาค หลานสาวของท่านทํางานที่บริษัท P. O. A.S. ได้เงินเดือน ๖๐๐ บาท ท่านตกใจ ลืมไปว่าค่าของเงินตอนนั้นเปลี่ยนไปมากแล้ว ท่านพูดว่า “ได้เท่าอธิบดีเชียวหรือ?” และเมื่อคุณจิตราภามาหาท่าน ท่านก็ล้อว่า “แน่ะ อธิบดีมาแล้ว” (ครั้งหนึ่งอธิบดีคงจะได้เงินเดือน ๖๐๐ บาท)
และอีกครั้งหนึ่งเมื่อพวกลูกน้องสนิท ๆ ของท่านมากราบเยี่ยม ๔-๕ คน ท่านบอกว่า “อยู่กิน กลางวันด้วยกันนะ กินอะไรดีล่ะ ให้คนไปซื้อขนมจีบ ซาลาเปาดีกว่า ๒๐ บาทพอไหม?” ทุกคนหัวเราะขึ้นพร้อมกัน ท่านถามว่า “ทําไม น้อยไปหรือ?” คนหนึ่งในพวกเราจึงตอบว่า “๑๐๐ บาทก็ยังไม่พอเลยครับ สมัยนี้” ท่านหัวเราะบ้าง แล้วไม่ว่าอะไร บอกคุณพูนศุขว่าสุดแล้วแต่จะสั่งการเอาเอง
ไม่ทราบว่าตอนท่านปรีดีเรียนจบใหม่ ๆ ยังเป็นหนุ่มฟ้อนั้น จะสม้าท และชอบของโก้เก๋เหมือนนักเรียนนอกส่วนมากหรือไม่ ดิฉันไม่เคยเห็นท่านขับรถเอง เมื่อตอนที่ดิฉันรู้จักท่านนั้น ท่านอายุประมาณ ๔๒ ปีเท่านั้น ยังไม่แก่เกินที่จะขับรถ แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะท่านมีตําแหน่งสูงมากแล้ว คือเป็น ร.ม.ต. มาหลายกระทรวง และขณะนั้นกำลังเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ จึงไม่สมควรที่จะขับรถเองก็ได้ คนข้างเคียงท่านบอกว่าไม่เคยเห็นท่านขับรถ หลายคนสงสัยว่าท่านขี่จักรยานเป็นหรือเปล่า แต่ของแน่ ๆ ก็คือว่าท่านสนใจและมุ่งมั่นในด้านวิชาการอย่างเดียว ไม่สนใจในของอื่น มีเรื่องขำอยู่เรื่องหนึ่งคือเมื่อตอนน้ำท่วมมาก ท่านมีเรือหลายลำ แต่มีคนเอาเรือเล็ก ๆ ลำหนึ่งมาให้ เป็นเรือที่ตามชนบทใช้กัน ตามปกตินั่งคนเดียวหรืออย่างมากก็เพียง ๒ คน เรือเจ้ากรรมลำนี้ไม่ว่าใครลงไปนั่งก็คว่ำลงมาทุกคน แม้กระทั่งคุณวิชา กันตามระ ชาวอยุธยาผู้เจนจัดในการนั่งเรือ ลองลงไปนั่งก็ล่มอีก ท่านปรีดีนั่งดูอยู่นานแล้ว ท่านสงสัย ว่าคนทั้งหลายนั้นคงจะไม่รู้จักวิธีถ่วงดุลตัวเองให้ถูกต้อง
ท่านเคยเล่าว่าสมัย อยู่อยุธยาท่านเชี่ยวชาญการนั่งเรือมากจึงอยากจะแสดงเทคนิคในการนั่งเรือให้ใคร ๆ ได้รู้ไว้บ้าง แต่พอท่านก้าวลงไป “ตูม!” ยังไม่ทันได้แสดงอะไรเลยเรือก็คว่ำเสียแล้ว ตัวท่านเปียกปอนหมดแต่น้ำที่นั่นเป็นน้ำในบริเวณรั้วบ้านไม่สกปรกอะไร คนที่อยู่รอบ ๆ ลืมตัวพากันหัวเราะโดยไม่กลัวว่าท่านจะโกรธ แต่ท่านก็ไม่โกรธกลับหัวเราะด้วย และพูดว่า “เอ ทําไมเป็นอย่างนี้” แต่ก็ไม่เสียเวลาลองอีกครั้ง ในที่สุดจำไม่ได้ว่ามีคนสามารถพิชิตเรือวิเศษลำนั้นหรือเปล่า
ระหว่างระเบิดลงหนักขึ้น ๆ ท่านปรีดีไม่ไว้ใจในความปลอดภัยของดิฉัน จึงให้ดิฉันลาออกจากธนาคาร และไปอยู่กับครอบครัวของท่าน ครั้งแรกอยู่อยุธยา และต่อมาไปอยู่ในวังบางปะอิน ที่วังบางปะอินนี้เจ้านายฝ่ายในได้ตาม เสด็จสมเด็จพระพันวัสสาไปอยู่กันคับคั่ง ท่านปรีดีได้ดูแลให้ความสะดวกสบายทุกประการ ท่านไม่แน่ใจว่าสงครามจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานเท่าใด เห็นว่าเด็กที่อพยพไปมีไม่น้อย จึงได้จัดการขอตั้งโรงเรียนขึ้นชั่วคราวเป็นทางการจากกระทรวงศึกษาฯ สถานที่ที่ใช้เป็นโรงเรียนนั้นคือศาลาหลังคามุงจาก ซึ่งกว้างขวางพอใช้ พวกเด็ก ๆ ลูกหลานของคณะอพยพทั้งในวังและรอบ ๆ วังได้มาสมัครเรียนกัน ทําให้ผู้ปกครองโล่งใจที่เด็ก ๆ จะได้ไม่ว่าง และไม่มีเวลาเกะกะซุกซนอีกต่อไป ส่วนครูที่จะสอนก็คือพวกเราที่อพยพไปนั่นเอง ทําให้หลายคนหายเหงาเพราะมีงานทำไม่เบื่อ จำได้ว่าตอนนั้นทุกคนขอบคุณและชมเชยท่านปรีดีมาก
อำลาอาลัยนายจำกัด พลางกูร คู่ชีวิตและวีรบุรุษเสรีไทย
ตอนจวนสงครามเลิก เมื่อรู้ว่าญี่ปุ่นกําลังจะยอมแพ้แน่แล้ว ท่านปรีดีส่ง กําแหง พลางกูร น้องชายจํากัด ซึ่งโดดร่มลงมาทํางานอยู่ในเมืองไทยนานแล้ว ไปเยี่ยมและพักค้างอยู่กับดิฉันที่บางปะอิน ๒-๓ วัน ท่านคงจะให้ดิฉันดีใจที่ได้พบกําแหงก่อนที่จะรู้เรื่องตายของจํากัด ท่านให้คนไปเชิญคุณวัฒนา อิศรภักดี เพื่อนสนิทของจํากัดคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่อยุธยามาเยี่ยมดิฉันบ่อย ๆ ด้วย ครั้นถึงวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสันติภาพ ท่านปรีดีให้คุณเฉลียว ปทุมรส เอารถไปรับดิฉันมาจากบางปะอิน เพราะท่านรู้ว่าถึงไม่ไปรับดิฉันก็คงเข้ากรุงเทพฯ เองจนได้ เพราะดิฉันเคยเล่าให้คุณพูนศุขฟังว่าทุก ๆ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแต่งงานของเรานั้น จํากัดและดิฉันจะต้องไปถ่ายรูปด้วยกัน เมื่อจํากัดจากไปแล้ว ดิฉันก็ไปถ่ายรูปคนเดียว เมื่อคุณเฉลียวและดิฉันมาถึงบ้านท่าช้างเห็นมีคนอยู่ด้วยกันหลายคน เช่น กําแหง คุณหลุย พนมยงค์ หมอบุญช่วย สุวรรณศร และท่านชิ้น (ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท) ท่านปรีดีเป็นผู้วางแผนจัดคนพร้อมเรียบร้อยเช่นนี้ด้วยตนเอง ท่านเตรียมหมอไว้เพราะเกรงว่าดิฉันจะช็อค
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันแล้ว ก็มานั่งล้อมวงคุยกัน ตอนนี้เองที่ท่านชิ้นเริ่มเล่าเรื่อง จํากัด บรรยายตั้งแต่ตอนต้นที่ได้พบจํากัด เล่าว่าจํากัดทํางานหนักมาก ฯลฯ ดิฉันเริ่มสังหรณ์ใจทันที จึงมิได้ปริปากพูดหรือถามอะไรเลย ใจเต้นและหายใจขัด ๆ ในที่สุดท่านชิ้นก็จบลงด้วยการแสดงความเสียใจที่จํากัดได้เสียชีวิตลง ดิฉันไม่ถึงกับช็อคและร้องไห้ก็ไม่ออก แต่ทนนั่งต่อไปไม่ไหว จึงวิ่งเข้าไปในห้องนอนที่อยู่ติด ๆ กันนั้น เข้าไปแล้วจึงร้องไห้ออก ท่านปรีดีและกําแหง ตามติดเข้าไปด้วย ท่านปรีดีกอดกําแหงและดิฉันไว้และก็พูดขณะที่ร้องไห้ไป ด้วยว่า “ต่อไปนี้ขอให้ถือว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันนะ” แล้วสักครู่ก็ปล่อยให้ดิฉันอยู่ตามลําพัง ถึงแม้ว่าดิฉันจะเศร้าโศกสักปานใดแต่ก็ยังมีสติพอที่จะรู้ว่า ท่านรัก หวังดี และเสียใจต่อเราจริง ๆ ฉะนั้นจึงพยายามสงบสติอารมณ์ไม่ทําอะไรให้เป็นที่หนักใจแก่ท่านมากนัก ดิฉันรู้ว่าถ้าดิฉันอยู่ที่บ้านของตนเองอย่างน้อยก็คงจะร้องกรี๊ด ๆ จนหมดกําลังไปเป็นแน่
ต่อมาอีกวันหรือสองวันจําไม่ได้ ท่านปรีดีให้พาดิฉันกลับไปอยู่บางปะอินเพื่อดิฉันจะได้อยู่อย่างสงบ ท่านไม่อยากให้ดิฉันสะเทือนใจที่ได้เห็นพวกเสรีไทยไป-มาที่บ้านท่าช้าง ท่านให้หมออรรณพพี่ชายของดิฉันไปอยู่กับดิฉันระยะหนึ่ง และบอกคุณวัฒนาให้หมั่นมาเยี่ยมดิฉัน และพาดิฉันไปเยี่ยมเจ้าคุณพหล ฯ ซึ่งอพยพไปอยู่ฝั่งคลองตรงข้ามนั่นเอง ท่านจัดทุกอย่างอย่างละเอียดเรียบร้อยแทบไม่มีช่องโหว่เลย ดิฉันซาบซึ้งในความกรุณาของท่านมาก และคําพูดของท่านที่ให้กําแหงและดิฉันถือเป็นครอบครัวเดียวกับท่านนั้น ผูกพันจิตใจของดิฉันให้แนบแน่นกับครอบครัวของท่านอีกเปราะหนึ่ง ดิฉันอยู่ที่บางปะอินอีกไม่นานนัก ก็ตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสากลับกรุงเทพฯ
เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ก็อยู่กับครอบครัวท่านปรีดีเช่นเดิม มีเพื่อนฝูงหลายคนแสดงความเสียใจทั้งทางจดหมายและทั้งมาเยี่ยมด้วยตนเอง เพื่อเป็นการปลอบใจให้คลายเศร้า หลายคนเสนอการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นคุณหลุยจะให้ไปทํางานบริษัทอะไรไม่ทราบโดยจะให้เงินเดือนสูง บางคนก็จะให้ไปเป็นเอเย่นต์รถยนต์ ฯลฯ ต่าง ๆ นานา
แต่ท่านปรีดีเข้าใจจิตใจดิฉันดีกว่าคนอื่น ท่านเตือนให้ดิฉันนิ่ง ๆ ไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปรับปากใคร เพราะจิตใจของดิฉันขณะนั้นกําลังสับสนไม่เป็นปกติ รอไว้นานอีกหน่อย ให้เวลาช่วยรักษาจิตใจ แล้วจึงค่อยคิดว่าควรจะทําอะไร จะดีกว่า
ท่านปรีดีได้จัดแจงขอพระราชทานยศให้จํากัดได้เป็นนายพันตรี และดิฉันได้รับพระราชทานบํานาญมาจนทุกวันนี้ แล้วยังขอบํานาญทางทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้อีกด้วย ถึงแม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่ดิฉันก็ภูมิใจ นอกจากนี้แล้วท่านยังจัดตั้ง จํากัด พลางกูรมูลนิธิ ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่จํากัด ท่านจัดหาเงินทุนของมูลนิธิมาเองและจัดตั้งกรรมการมูลนิธิชุดแรกให้เป็นที่เรียบร้อย โดยที่ดิฉันมิได้ต้องกระดิกนิ้วเลย
เมื่อคุณสงวน ตุลารักษ์ กลับเข้ามาเมืองไทย ได้นําเอาอัฐิของจํากัดมาด้วย ท่านปรีดีได้ให้จัดการต้อนรับอย่างสมเกียรติ ให้ตั้งอัฐิเพื่อทําบุญตามประเพณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึง ๗ วัน มีลูกเสือมาผลัดเวรกันยืนยาม ครั้งละ ๒ คนตลอดเวลา ท่านทําทุกอย่างเท่าที่จะทําได้เพื่อให้ดิฉัน คุณพ่อจํากัด น้องๆ และญาติมิตรของเราคลายความเศร้าใจ และภาคภูมิใจในตัวเขา
ดิฉันมาทราบในภายหลังว่าคุณสงวน ตุลารักษ์ ได้มอบบันทึกประจำวันของจำกัดแก่ท่านปรีดีด้วย ท่านได้อ่านแล้วแต่ยังไม่ยอมมอบให้ดิฉัน เพราะตอนนั้นท่านกำลังจะเชิญ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านกลัวว่าถ้าดิฉันอ่านบันทึกแล้วจะโกรธคุณเสนีย์ ท่านพยายามพูดกับดิฉันถึงคุณเสนีย์บ่อย ๆ คล้ายกับเกลี้ยกล่อมให้ดิฉันชอบคุณเสนีย์ไปด้วยและในวันที่คุณเสนีย์เดินทางถึงกรุงเทพฯ ได้ตรงมากินอาหารกลางวันที่บ้านท่าช้าง โดยมีพวกผู้ใหญ่หลายคนรวมทั้งคุณสงวน ตุลารักษ์ ร่วมกินด้วยรวม ๑๐ คน (โต๊ะจีน) ท่านก็ให้ดิฉันร่วมคณะนี้ด้วย หลังจากที่คุณเสนีย์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งนาน ท่านจึงมอบบันทึกของจำกัดให้ดิฉัน ดิฉันอ่านแล้วก็เก็บความรู้สึกไว้ในใจ มิได้เอ่ยถึงคุณเสนีย์แก่ท่านเลย เพราะไม่อยากทำให้ท่านไม่สบายใจ
เปิดโรงเรียนดรุโณทยานอีกครั้งหลังสงคราม
เมื่ออยู่บ้านท่านปรีดีได้ ๒-๓ เดือน โดยมิได้ทำการงานอะไรเลยดิฉันคิดถึง ร.ร. มาก ตอนนั้น ร.ร. ต่าง ๆ เปิดสอนใหม่ในทันทีที่สงครามเลิก แต่ดิฉันไม่มีจิตใจที่จะทำต่อ จึงยังไม่เปิดสอน คืนหนึ่งดินฉันแอบหนีไปที่นั่งอยู่ที่ ร.ร. ตลอดคืน รุ่งขึ้นคุณพูนศุขได้ตามตัวกลับมา ท่านปรีดีคิดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้อง ท่านรู้ว่าดิฉันต้องทำ ร.ร. ต่อไปแน่ ๆ ท่านอ่านบันทึกของจำกัดที่ว่า “ถ้าข้าพเจ้าตายไป อาจารย์คงจะช่วยฉลบในการทำ ร.ร. ต่อไป” ท่านบอกดิฉันว่าท่านอยากทำตามที่จำกัดต้องการ เพื่อท่านจะได้สบายใจ ขอให้ดิฉันเปิด ร.ร. ใหม่ และท่านจะช่วยเหลือทุกอย่าง แล้วท่านก็ดำเนินการทันที ให้คุณวุฒิ ศุขะวณิช หลานเขยของท่านรื้อโรงรถ ๒ ชั้นที่ผุพัง ไปสร้างเป็นเรือนเล็กชั้นเดียวและซ่อมแซมอาคารส่วนต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น แล้วโรงเรียนก็เปิดได้เป็นที่เรียบร้อย
ระหว่างนั้นยังมีทหารแขกชาติต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ โรงเรียน ท่านปรีดีคิดรอบครอบมาก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะ ร.ร. ดิฉันมีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น จึงให้จัดงานเลี้ยงขึ้นวันหนึ่ง และขอให้คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะเสรีไทยในอังกฤษทุกคนแต่งตัวนายทหารอังกฤษเต็มยศมากินเลี้ยง เปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน ส่งเสียงดังให้พวกทหารแขกได้ยินโผล่หน้าต่างไปให้เห็น ก็ได้ผลจริง ๆ พวกทหารแขกโผล่หน้ามาดูกันใหญ่ ได้เห็นทหารอังกฤษเต็มไปหมด จึงไม่คิดอ่านมารังควาญ ได้แต่โยนเครื่องกระป๋องต่าง ๆ ข้ามรั้วเข้ามาให้เนือง ๆ
เมื่อเปิด ร.ร. แล้วดิฉันค้างที่ ร.ร. บ้าง ที่บ้านท่านปรีดีบ้าง แต่ในวันหยุดต่าง ๆ จะอยู่ที่บ้านท่านปรีดีเป็นประจำ นอกจากจะมีธุระพิเศษเช่นในวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ดิฉันอยู่ ร.ร. เพราะตั้งใจว่าวันรุ่งขึ้น ๙ มิถุนายน จะเอาเด็กที่เลี้ยงไว้คนหนึ่งไปตัดผม ดิฉันไปที่ร้านลัดดาเชิงสะพานมอญ ได้ยินคนที่มาทำผมคุยกันเรื่องในหลวง ว่าวันที่ ๑๓ จะเสด็จกลับเมืองนอก จะได้กลับหรือ? เขาถือกันออก ทำไมท่านเลือกวันที่ ๑๓ ฯลฯ ดิฉันไม่สนใจ
กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘
พอกลับมาถึงบ้านสักครู่ คุณพูนศุขเอารถมารับบอกว่าในหลวงสวรรคตโดยพระแสงปืนไปถึงบ้านจึงเล่ารายละเอียดว่าเจ้าคุณเทวาฯ มาเรียนให้ท่านทราบเมื่อตอนสาย ๆ ท่านจึงเข้าไปในวังแล้วและยังไม่รู้เรื่องต่อไป ตอนนั้นดิฉันติดกระเดียดไปในทางว่าท่านปลงพระชนม์เอง อย่างไรก็ตามเขาไม่รู้ข้อมูลอะรไเพิ่มเติมที่จะให้สันนิษฐานได้ จึงพากันนั่งคอยท่านด้วยความร้อนใจ
ตอนท่านกลับมาดิฉันยังจำภาพติดตาได้จนบัดนี้ เรานั่งอยู่ที่ห้องโถงชั้น ๓ เห็นท่านค่อย ๆ ขึ้นบันไดมาอย่างอ่อนระโหยโรยแรง พอถึงหัวบันไดท่านเงยหน้าขึ้นและส่ายหน้าน้อย ๆ หน้าท่านแดงกว่าปกติ คุณพูนศุขรีบลุกขึ้นไปถามว่าเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่ ท่านก็ตอบว่า “อุบัติเหตุ” แล้วก็ไม่พูดอะไรต่อเดินไปห้องนอนเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า คุณพูนศุขตามท่านไป ดิฉันจึงลงไปคอยอยู่ชั้นล่างที่ศาลาริมน้ำ เมื่อท่านลงมาท่านก็ไม่ได้พูดมากนักโดยอยู่ในอาการครุ่นคิดตลอด
แต่ตอนหนึ่งท่านเดินกลับไปกลับมา พลางสั่นศรีษะพร้อมกับพูดว่า “แย่ แย่จริง ๆ” ดิฉันไม่เข้าใจเลยถามไปว่า “ใครแย่คะ?” ท่านว่า “เราน่ะซิแย่” ดิฉันถามต่อไปอีกว่า “แย่ยังไงคะ?” ท่านจึงอธิบายว่า “อ้าว ก็คนฝ่ายตรงข้ามกับเราจะต้องถือโอกาสเล่นงานเราทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าเป็นอุบัติเหตุ เขาก็ว่ารัฐบาลไม่ถวายความอารักขาให้ดีพอ ถ้าปลงพระชนม์เอง เขาก็จะหาว่าท่านคงคับพระทัยในเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่” ในตอนนั้นยังไม่มีใครคิดเลยไปถึงการลอบปลงพระชนม์ ความคิดอันนี้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ประสงค์ร้ายสองสามวันต่อมา ดิฉันแน่ใจทีเดียว่าตัวท่านปรีดีเองก็หาฉุกคิดไม่ว่าเรื่องนี้จะวกกลับมาหาท่านอย่างร้ายแรง จนถึงกับว่าท่านเป็นต้นตอแห่งการฆาตกรรมที่ยิ่งใหญ่นี้!
คืนนั้นหลังจากท่านไปสภาผู้แทนแล้ว คุณพูนศุขและดิฉันนั่งรถคันเล็กของท่านไปเฝ้าท่านหญิงพูนพิศมัยด้วย เพราะอยากทราบว่าเจ้านายองค์นั้น จะได้ข่าวกระเส็นกระสายอะไรมาก่อนหรือเปล่าว่าในหลวงทรงกลุ้มพระทัยเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องส่วนพระองค์หรือเรื่องรัฐบาลก็ตาม แต่ก็ต้องกลับมาโดยไม่ได้เค้าเงื่อนอะไรเลย ดิฉันมั่นใจทีเดียวว่าทั้ง ๆ ที่ท่านปรีดีเชื่อในอุบัติเหตุ แต่ท่านก็ยังไม่หมดความกังขาในเรื่องปลงพระชนม์เอง อย่างน้อย ๆ ก็ยังอีกหลายเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ท่านได้เชิญคุณพระอัพภันตราพาธพิศาลมาปรึกษาว่าขณะที่ในหลวงกําลังประชวรเช่นนั้น ในทางวิชาการแพทย์จะเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะทําให้พระองค์ทรงคิดฟุ้งซ่านจนถึงกับทรงกระทําการที่รุนแรงอย่างนั้น ท่านเองก็ไม่อยากเชื่อ แต่ต้องการให้หายข้องใจเท่านั้น ความคิดที่ว่าเพราะอะไร? ทําไม? ยังคงค้างอยู่ในสมองท่านต่อไปอย่างแน่นอนในตอนนั้น ก่อนที่จะได้พิสูจน์กันในภายหลังถึงรอยกระสุน ฯลฯ
จะอย่างไรก็ตาม ดิฉันขอประกันด้วยชีวิตว่าท่านปรีดีมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดลเลยแม้แต่น้อย ดิฉันอยู่ใกล้ชิดกับท่านมานานพอควร ไม่เคยมีอะไรผิดสังเกตที่จะชวนคิดไปงานนั้น ดิฉันไม่เคยได้ยินท่านพูดไม่ดีกับในหลวงเลย ตรงข้ามท่านเล่าว่าในหลวงสนพระทัยในการบ้านการเมืองและเรื่องกฎหมายมาก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ท่านไปร่วมโต๊ะเสวยและซักไซ้ในวิชาการด้านนี้มากมาย ถึงตอนสําคัญท่านรับสั่งเป็นภาษาฝรั่งเศส และท่านก็ทูลอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย ซึ่งดูท่านพอพระทัยมาก สนพระทัยในเรื่องเสรีไทยด้วย และขออ่านบันทึกของจำกัด
รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
นอกจากบันทึกส่วนตัวให้ดิฉันแล้ว จํากัดมีบันทึกเป็นทางการให้ท่านปรีดี ซึ่งท่านก็เลยไปพิมพ์ดีดอัดสําเนาถวายในหลวงไปฉบับหนึ่ง แล้วยังให้ดิฉันมาฉบับหนึ่งด้วย ท่านยังพูดอีกว่าถ้ามีเวลาจะกราบทูลเชิญเสด็จไปทรงเยี่ยม ร.ร. ของจํากัด พอดีตอนนั้นสะพานข้ามคลองเล็ก ๆ หน้า ร.ร. ชํารุด ทางทรัพย์สินฯ ไม่ยอมมาซ่อมสักที ท่านจึงให้คนไปบอกคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ผู้อํานวยการทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นว่าในหลวงอาจจะเสด็จเยี่ยม ร.ร. ดิฉัน เท่านั้นแหละทางทรัพย์สิน ฯ ส่งคนมาซ่อมสะพานเสร็จภายใน ๑-๒ วัน! ตอนหลังท่านบอกว่าในหลวงจะเสด็จกลับเมืองนอกเร็วเสียแล้ว เสียดาย
ท่านปรีดีคิดจะให้ดิฉันขยาย ร.ร. ไปตั้งสาขาที่ถนนราชดําริ ซอยมหาดเล็กเพราะที่นั่นมีเรือนไม้ชั้นเดียวแต่ใหญ่โตมหึมาซึ่งญี่ปุ่นได้สร้างขึ้นเป็นสโมสรนายทหาร ท่านให้ดิฉันกู้เงินธนาคารเอเชียไปซื้อเรือนไม้ใหญ่นี้จากพระคลังข้างที่และเช่าที่บริเวณนั้นจากพระคลัง ฯ จํานวน ๑๐ กว่าไร่เพื่อทําเป็น ร.ร. ใหม่ ดิฉันได้ไปเตรียมทําสวนปลูกดอกไม้ แต่ยังไม่ทันจะทํารั้วก็เกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน เสียก่อน
วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนวันรัฐประหาร ๑ เดือนพอดี ดิฉันจัดพิธีเปิดห้องสมุดจํากัด พลางกูร ขึ้น ตั้งใจจะเชิญท่านปรีดีมาเป็นประธาน แต่ตอนนั้นเริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายไม่ค่อยจะดีแล้ว ท่านขอโทษดิฉัน ไม่อยากไปแสดงตนในที่ต่าง ๆ อยากอยู่เงียบ ๆ ท่านให้ดิฉันไปขอร้องคุณเล้ง ศรีสมวงศ์ให้ทําหน้าที่แทน
๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ดิฉันค้างที่ ร.ร. พอเช้าตรู่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้ข่าวรัฐประหารก็รีบไปที่บ้านท่าช้าง พบว่าท่านปรีดีปลอดภัยและลงเรือหนีไปแล้วตั้งแต่ตอนกลางคืน ดิฉันก็เลยค้างอยู่กับคุณพูนศุขตลอดมา จนกระทั่งวันที่ ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ พาพรรคพวกไปค้นบ้านคุณพูนศุขต้อนรับเขาอย่างดี เชิญให้เขาตรวจตามสบาย แต่ท่านไม่พูดอะไรมาก ดิฉันเองเป็นคนโต้ตอบกับคุณชาติชายซึ่งกลับไปโดยไม่ได้ผลอะไร
ดิฉันไม่ได้ข่าวท่านจนกระทั่งวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นวันครบรอบแต่งงานของท่านพอดี ดิฉันไปกับคุณพูนศุข ไปพบท่านที่สัตหีบ โล่งใจที่สุขภาพของท่านยังดีอยู่ จากนั้นท่านก็ไปสัตหีบ และครอบครัวของท่านก็เลยอพยพไปอยู่สัตหีบเลย ดิฉันไม่ได้ไปอยู่ด้วย แต่เดินทางไปสัตหีบเกือบทุกวัน จนกระทั่งจําบ้านเรือนโรงร้านตามทางได้แทบหมด เช้ามืดจะมีเพื่อนชาวธรรมศาสตร์คนหนึ่งมารับไปส่งที่สถานีรถบัส ตอนรถไปจอดพักให้กินอาหารที่ระยอง มักจะได้พบคุณเสวตร เปี่ยมพงศานต์ ซึ่งเป็นผู้แทนในขณะนั้นเสมอ บรรดาลูกน้องที่สนิทของท่านต่างพากันเป็นห่วงท่าน และฝากความเคารพให้ดิฉันไปกราบแทน แต่คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร คิดได้ดีกว่าคนอื่น ๆ ฝากเงินไปให้ท่าน ๕๐ บาท พวกเราพึ่งนึกขึ้นได้ เป็นความจริงที่ท่านไม่มีเงินติดตัวเลย ท่านใช้ดิฉันกลับมาติดต่อกับคนต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร แต่เป็นเรื่องการงานของท่านที่คั่งค้างอยู่ ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องด่วน
วันหนึ่งรถโดยสารของดิฉันคว่ําลงข้างทาง ดิฉันไม่บาดเจ็บเลย ผู้ชายสองคนที่มาเป็นเพื่อนฉุดดิฉันขึ้นมา แล้วเราก็โดดขึ้นรถอีกคันหนึ่งที่ผ่านมาพอดี จึงไม่เสียเวลาไปมากนัก และได้มาทํากิจธุระของท่านได้เสร็จ จําได้ว่าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นวันเกิดของดิฉันเองนั้น คุณประไพลูกสาวคุณหลวงอดุลย์แต่งงาน ท่านให้ดิฉันเอาจดหมายซึ่งท่านเขียนไม่กี่บรรทัดไปให้คุณหลวงอดุลย์ ฯ คงจะไม่มีอะไรสําคัญนอกจากแสดงความยินดีและส่งข่าวของท่านให้ทราบเท่านั้น เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน วันรุ่งขึ้น ดิฉันไปสัตหีบอีก ก็พบท่านเดินทางออกจากประเทศไปแล้ว ตอนนั้นดูเหมือนจะไปอยู่ที่สิงคโปร์ระยะหนึ่ง สําหรับคุณพูนศุขและลูก ๆ ไปเยี่ยมท่านที่นั่นในเวลาหยุดเทอม
ระหว่างที่ท่านจากไปนี้ ครอบครัวของท่านต้องประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ คุณปาลลูกชายคนโตถูกจับ คุณพูนศุขถูกจับ ถูกกลั่นแกล้งสารพัดดิฉันนึกถึงท่านที่อยู่ทางโน้นจะปวดร้าวจิตใจสักเพียงไหน รู้สึกสงสารท่านจับใจ ภายหลังเมื่อคุณพูนศุขกับลูก ๆ ได้ตามไปอยู่กับท่านที่ประเทศจีนแล้ว พวกเราจึงค่อยรู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง จากนั้นดิฉันจะติดต่อกับครอบครัวท่านได้ก็นาน ๆ ครั้ง โดยส่งจดหมายและของกินผ่านเพื่อนทางฮ่องกงไป
พบนายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวในจีน
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๙ ดิฉันได้มีโอกาสพบท่านและครอบครัวอีกครั้งหนึ่งในสถานที่แห่งหนึ่งที่ชายแดนประเทศจีน เพียงได้พบท่านชั่ววันเดียว ดิฉันก็ทราบว่ากิจวัตรของท่านวันหนึ่ง ๆ นั้นมีอะไรบ้าง ท่านไม่เคยปล่อยเวลาให้หมดไปเปล่าโดยการนั่ง ๆ กิน ๆ นอน ๆ เลย ท่านฟังข่าวจากวิทยุทั่วโลกโดยเฉพาะของประเทศไทย ท่านห่วงใยเมืองไทยทั้ง ๆ ที่เมืองไทยเขาไม่มีที่ให้ท่านอยู่ ท่านไม่ต้องจด แต่จะจําได้เองว่าเวลาไหนข่าวของประเทศไทยจะเริ่ม ท่านศึกษาและรู้สถานการณ์ของโลกแทบจะทุกชั่วโมงที่เปลี่ยนไปในทันควัน เสียดายเหลือเกินที่ท่านได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ และความเป็นอัจฉริยะของท่านให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในช่วงระยะเวลาที่สั้นเกินไป สั้นเกินไปมากจริง ๆ แต่แม้ในช่วงอันสั้นนี้ ท่านก็ได้ผลิตผลงานสําคัญหลายอย่างให้พวกเราชาวไทยได้เสพสุขกันมาจนทุกวันนี้
ชีวิตนายปรีดี ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อท่านออกจากประเทศจีนมาอยู่ปารีสนั้น คุณพูนศุขออกมาก่อนนานแล้วเพื่อมาเตรียมการให้พร้อม การที่ท่านอยู่ในเมืองจีนนั้นท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร แต่ถ้าท่านออกมาท่านจะต้องมีทุนไว้รองรับรายจ่ายทุกอย่าง ตอนที่ท่านออกจากเมืองไทยใหม่ ๆ ครอบครัวไม่มีรายได้อะไร เพราะบํานาญก็งดจ่าย คุณพูนศุขต้องแบ่งที่ดินขายไปทีละเล็กละน้อย เคราะห์ดีที่ตามไปสมทบกับท่านเสียได้ มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย
ดิฉันไปเยี่ยมคุณพูนศุขทุกปีที่ปารีส ท่านอยู่อย่างกระเบียดกระเสียน ไม่เหมือนที่พวกคนใหญ่คนโตอื่น ๆ เขาไปอยู่กันจะซื้อโต๊ะเล็ก ๆ สําหรับตั้งเครื่องโทรทัศน์สักตัวหนึ่งก็ไม่กล้า เพราะงบประมาณไม่มี ดิฉันพาเพื่อนไปด้วยอีก ๓ คน ก็ยังไม่มีเก้าอี้นั่งพอ ลูกสาวท่านต้องยอมนั่งกับพื้น คุณพูนศุขติดต่อขายที่ดินที่เหลืออยู่ต้องขายให้หมด เพื่อจะได้เงินก้อนไปทําทุนฝากธนาคารเอาดอกเบี้ยมาใช้ ไม่ใช่แบ่งขายแล้วเงินละลายไปหมดเหมือนที่แล้วมา การขายก็ไม่ใช่ง่าย เพราะผู้ซื้อกลัวที่มีชื่อท่านปรีดีอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อขายที่สําเร็จแล้ว ท่านปรีดีจึงออกมาได้ และท่านซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ชานเมืองปารีส แล้วให้ลูก ๆ ในเมืองจีนตามออกมาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวที่เกือบสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
ณ บ้านหลังเล็ก ๆ ที่ตําบลอองโตนีนั้น ท่านไม่รอให้เสียเวลาเลยในการที่จะทําชีวิตของท่านให้สมบูรณ์กว่าเมื่อครั้งอยู่ในเมืองจีน ด้วยเงินบํานาญตกเบิกตลอดเวลาที่ท่านออกจากเมืองไทยกับเงินรายได้จากการขายที่ดินในเมืองไทยเกือบทุกชิ้น ท่านสร้างห้องสมุดเล็ก ๆ ขึ้น นอกจากการฟังวิทยุทั่วโลกอย่างเดิมแล้ว ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ อังกฤษ ฝรั่งเศสและไทยหลายฉบับ ท่านอ่านหนังสือของชาติต่าง ๆ ที่ออกใหม่ ๆ ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันของโลก ซึ่งแต่ละเล่มราคาแพงมาก ท่านเสียเงินมากในเรื่องนี้ แต่ท่านได้กันเงินส่วนหนึ่งไว้โดยเฉพาะ ท่านจัดงบประมาณการใช้จ่ายของท่านไว้เรียบร้อย เพราะรายได้ของท่านนั้นจํากัดจําเขี่ย ไม่มีเงินเหลือสําหรับการใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อเลย ท่านต้องอ่านและฟังอัตราแลกเปลี่ยนของเงินทุกสกุลทุกวันด้วย และต้องคอยยักย้ายถ่ายเทการฝากเงินในเมื่อเงินสกุลหนึ่งดอกเบี้ยลดลงในขณะที่อีกสกุลหนึ่งดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นท่านจะไม่มีเงินพอใช้
ห้องสมุด (หรือห้องทํางาน) ของท่านนี้เติบโตรวดเร็วมาก หนังสือที่สั่งไปจากเมืองไทยก็มากมาย แผนที่โลก และปทานุกรมทั้งของไทยและเทศเกือบทุกชนิดท่านมีหมดแม้แต่ปทานุกรมเฉพาะเรื่อง เช่นปทานุกรมของทหารเป็นต้น นอกจากเวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน เวลาเดินออกกำลังกาย เวลาดูโทรทัศน์และฟังวิทยุแล้ว ท่านใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่ในห้องนี้ นอกจากการเขียนหนังสือเรื่องชีวิตการลี้ภัยของท่านในเมืองจีนแล้ว ท่านยังได้ทําบันทึกเรื่องต่าง ๆ มากมายก่ายกองเกี่ยวกับเมืองไทย ท่านมีเลขาส่วนตัวสําหรับพิมพ์ดีดและเก็บแฟ้มต่าง ๆ ซึ่งทวีจํานวนขึ้นแทบทุกวัน ดิฉันเรียนท่านว่าใคร ๆ อยากให้ท่านเขียนเรื่องเสรีไทยตั้งแต่ต้น ท่านว่าท่านอยากทําอยู่แล้ว แต่ยังหาเวลาไม่ได้เลย เพราะมีเรื่องอื่น ๆ แทรกเข้ามา ซึ่งทําให้ท่านต้องเสียเวลามากอยู่เสมอ เช่นในการฟ้องเรื่องคดีสวรรคตหลายครั้งหลายครา และท่านชนะความทุกครั้งนั้น ทนายของท่านค่อนข้างจะสบาย เพราะท่านเขียนคําฟ้องมาให้เสร็จทุกแง่ทุกมุมอย่างละเอียดลออ
นอกจากนั้นแล้วคนทางเมืองไทยยังขอให้ท่านเขียนโน่นเขียนนี้ ไม่ว่าจะเขียนอะไรท่านไม่เคยเขียนโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงเลย ฉะนั้น เรื่องที่ท่านเขียนทุกชิ้นจะดูคล้ายตําราและการหาหลักอ้างอิงนี้ท่านก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย แต่ท่านใช้คนเก่งมากในเรื่องนี้ ใครเข้าไปใกล้ท่านบ่อย ๆ ก็จะถูกใช้ให้อ่านโน่นอ่านนี่ ค้นโน่นค้นนี่ ส่งให้ค้นข้ามประเทศก็มีประจํา เช่น ให้ทางเมืองไทยค้นบันทึกการประชุมรัฐสภา พ.ศ. นั้นถึง พ.ศ. นั้น ครั้งหนึ่งดิฉันข้ามไปอังกฤษแล้ว ท่านยังโทรศัพท์สั่งให้ไปค้นบางเรื่องที่ Public Record Office ในลอนดอนอีก แต่ทุกคนที่รับใช้ท่านในเรื่องเช่นนี้ จะได้รับความรู้เพิ่มแก่ตัวเองเสมอไป
เวลาของท่านที่ต้องเสียไปกับแขกที่มาหาก็ไม่ใช่น้อย นอกจากคนสําคัญ ๆ ต่างชาติที่มาเยี่ยมเยียนในโอกาสต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ วันเกิดแล้ว ยังมีคนจากเมืองไทยมาเสมอ ๆ นอกนั้นนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสเองก็มักจะไปเรียนปรึกษาและขอคําแนะนําในเรื่องการเรียน ซึ่งท่านก็ยินดีและเต็มใจช่วยแนะนําให้ทุกราย ส่วนบางคนที่มาถามเรื่องวิชาการท่านก็มักจะบอกให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้น ๆ เสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาหาใหม่จะได้พูดกันรู้เรื่อง เด็กนักเรียนไทยส่วนมากรักและเคารพท่านมาก เขาเชิญท่านไปรับการรดน้ําสงกรานต์ทุกปี และในวันเกิดของท่านนั้น คนโน้นขอมา คนนี้ขอมา ลูก ๆ ของท่านเลยขอให้มาเสียเวลาเดียวกัน เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเหนื่อยทั้งวัน แล้วก็เลยเลี้ยงอาหารเขาด้วย ตอนหลังเลยกลายเป็นประเพณี ใคร ๆ ที่จะมาหาท่านในวันเกิด จะมาเวลาเดียวกันคือในตอนอาหารเย็น
ท่านปรีดีเป็นคนรอบคอบมาก เมื่อนักการเมืองหรือนักข่าวจากเมืองไทยไปหาท่าน ท่านไม่แน่ใจว่าเขาจะเอาคําพูดของท่านไปเผยแพร่อย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะบางทีข้อเท็จจริงอาจผิดเพี้ยนไปได้ ฉะนั้นท่านมักจะให้ตั้งเครื่องบันทึกเสียงไว้ตลอดการเจรจานั้น ๆ บางทีมีคนต่างชาติมาขอสัมภาษณ์ คุณพูนศุขช่วยท่านได้มากในเมื่อท่านมีแขกเพราะคุณจําชื่อ นามสกุลของคนทั้งไทยและเทศ และวันเวลาของเหตุการณ์ที่สําคัญต่าง ๆ ได้แม่นยำ
วันหนึ่งขณะที่คุณพูนศุขอยู่เมืองไทย มี Mrs. Judy Stowe แห่ง BBC มาขอสัมภาษณ์ท่าน เขาไม่อยากให้ท่านเหนื่อยเกินไปจึงขอนัดเวลา ๑๐.๐๐-๑๑.๐๐ น. บังเอิญวันนั้นเรา ๓-๔ คน นัดจะไปว่ายน้ํากัน ทุกคนใส่ชุดว่ายน้ําไว้ข้างในเรียบร้อยแล้ว ท่านทราบได้อย่างไรก็ไม่แจ้ง ไม่พอใจเลยบอกว่าคุณก็ไม่อยู่แล้วจะทิ้งท่านไปอย่างนี้หรือ ความจริงจะมีคนอยู่กับท่านอีก ๒-๓ คน แต่ตอนนั้นก่อนที่ท่านจะพูดเราก็ลังเลใจกันอยู่แล้ว การสัมภาษณ์ของท่านกลายเป็นคุยต่อไปถึงเรื่องอะไรต่ออะไรซึ่งท่านคงจะอยากพูดอยู่แล้ว ถึงเวลากินอาหารและเชิญเขากินด้วย กินเสร็จท่านให้เขาพักก่อน เพราะท่านจะเขียนหรือหาอะไรเพิ่มเติมให้เขา ซึ่งต้องใช้เวลาเล็กน้อย
ตอนนี้ซิ ท่านใช้พวกเราพร้อม ๆ กันเลยทั้ง ๖-๗ คนให้ทํางานต่าง ๆ กัน แต็ก นักเรียนอังกฤษให้ไปร่างคําพูดอะไรก็ไม่ทราบเป็นภาษาอังกฤษ คนหนึ่งช่วยค้นแฟ้ม คนหนึ่งพิมพ์ดีด คนหนึ่งเอาเรื่องไปถ่ายเอกสาร ฯลฯ ส่วนดิฉันไม่มีอะไรทํา ท่านให้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ B. B. C. คนนั้น ซึ่งรู้สึกจะมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย เขายังแปลกใจที่สุขภาพของท่านดีเกินคาด เพราะท่านไม่ทําท่าเหนื่อยอ่อนอะไรเลย พวกเราที่สวมชุดว่ายน้ําก็ไม่มีเวลาไปเปลี่ยน เป็นอันว่าต้องสวมอยู่ตลอดวัน
ดิฉันไปเยี่ยมท่านทุกปี ปีหนึ่งอยู่ราว ๑ เดือน ได้อยู่ใกล้ท่านก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมทุกวัน ดียิ่งกว่าอ่านหนังสือ และรวดเร็วกว่าที่จะไปค้นคว้าหาเอาเอง ท่านเรียกให้ไปดูโทรทัศน์เมื่อเวลามีเรื่องสําคัญ เช่นตอนที่เขามีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ท่านอธิบายถึงตัวผู้เข้าแข่งขันทีละคน คนนั้นฝ่ายขวา คนนั้นฝ่ายซ้าย คนนั้นเป็นคอมมูนิสต์เลย ฯลฯ ท่านพาไปดูสถานที่เลือกตั้งจริง ๆ ของเขาด้วยและอธิบายวิธีการเลือกตั้งของเขา บางทีเมื่อมีเหตุการณ์สําคัญอะไรเกิดขึ้น ท่านก็อธิบายถึงคนสําคัญในเหตุการณ์นั้นที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ คนนี้สืบ เชื้อสายมาจากตระกูลนี้ คนนั้นจากครอบครัวนั้น ดิฉันเคยเรียนประวัติศาสตร์สากลมาแล้ว แต่ลืมเสียเป็นส่วนมาก พอได้ฟังท่านอธิบายก็ระลึกได้
บางทีท่านมานั่งรถไปดูสถานที่ที่เขาทําการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่โค่นล้มระบอบกษัตริย์ ประชาชนเดินจากที่นั่นไปถึงที่นั่น ฯลฯ พอจากมา ๑ ปีความรู้ความจําเริ่มเลือนลาง ก็ได้กลับไปเพิ่มเติมใหม่อีก ครั้งหนึ่งเมื่อทางสถานทูตจีนมีบัตรมาเชิญท่านและคุณไปดูงานแสดงที่ “พระราชวังน้อย” ท่านขอให้เขาเชิญดิฉันด้วย ได้ไปเห็นคนสําคัญ ๆ ของฝรั่งเศสตัวจริงหลายคน เป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ และก็อีกครั้งหนึ่งเมื่อเอกอัครราชทูตจีนประจําปารีสมาเยี่ยมท่าน ดิฉันเรียนท่านว่าดิฉันอยากไปเมืองจีน เพราะจํากัดไปตายที่นั่น ท่านบอกเขา เขาบอกให้เขียนจดหมายเป็นทางการผ่านไปทางเขา คุณวาณีลูกสาวคนสุดท้องของท่านเป็นธุระช่วยท่านในการเขียนจดหมายนี้ แต่บอกไปว่าจะขอไปต่อเมื่อเมืองไทยกลับมีสัมพันธภาพกับจีนแล้ว (ตอนนั้นไทยกับจีนไม่ติดต่อกัน)
ฉะนั้น หลังจากที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ไปเยี่ยมเมืองจีนเป็นคนแรกหลังจากที่ไทยคืนดีกับจีน ทางการจีนไม่ลืมเรื่องของดิฉัน ได้ส่งคําเชิญมายังคุณพูนศุข คุณวาณี และดิฉันด้วย เราออกเดินทางจากปารีสโดยเครื่องบินจีน ก่อนไปท่านเอกอัครราชทูตจึงได้เชิญท่านและคณะที่จะเดินทางไปรับประทานอาหารที่สถานทูตเพื่ออธิบายเรื่องอากาศในจีนในขณะนั้น เพื่อเราจะได้เตรียมเสื้อผ้าเครื่องใช้ไปได้ถูกต้องและก็ด้วยบารมีท่านนั่นเอง เขาได้พาดิฉันไปดูเมืองจุงกิงที่ซึ่งจํากัดไปอยู่และเสียชีวิต ขณะนั้นเมืองจุงกิงกําลังปรับปรุงถนนหนทางรถไปหมด เขาไม่อนุญาตให้ได้ไปเลย แต่เราได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษ
ชีวิตของท่านที่อองโตนี่นี้ก็นับว่ามีความสุขตามอัตภาพ ลูก ๆ ของท่านดูแลท่าน คนหนึ่งดูแลเรื่องอาหารการกินและเรื่องภายในบ้าน อีกคนหนึ่งรับจัดการติดต่อนอกบ้านเป็นทางการ เช่น การชําระค่าไฟฟ้า แก๊ส ประปา โทรศัพท์และภาษีต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องโรงพยาบาลด้วย สุขภาพท่านดี แต่ก็ยังมีโรคประจําตัวหลายอย่าง ตอนนี้ท่านสามารถรับประทานอาหารได้มากกว่าก่อน แต่เจ้ากรรม หมอให้ท่านจํากัดอาหาร ลูก ๆ ของท่านดูแลจัดยาให้ท่านทั้งเช้า กลางวัน เย็น มียาที่ต้องกินขณะกินอาหารด้วย ท่านมีโรคหัวใจเล็กน้อย หมอคอยดูแลควบคุมอยู่ ท่านต้องเดินช้า ๆ และออกกําลังมากไม่ได้ เวลาไปเดิน เล่นถ้าไปถึงหนทางที่ขึ้นเนิน แม้แต่จะค่อย ๆ ลาดเพียงเล็กน้อย ท่านก็มีความรู้สึกและท่านไม่ฝืน
วาระสุดท้ายอันงดงามของรัฐบุรุษอาวุโส
ครั้งหนึ่งท่านเกิดมีอาการแน่นอึดอัดไม่น่าไว้ใจในราว ๆ ตี ๓-๔ ต้องเรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาล พวกเราผลัดกันไปเยี่ยม หมอแปลกใจที่แฟ้มการเจ็บป่วยของท่านทําไว้อย่างสมบูรณ์ดีเลิศโดยลูกสาวของท่านเอง เป็นการช่วยหมอได้อย่างมาก ท่านอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วัน ไม่ชอบโรงพยาบาลเลย ท่านบอกว่าจะไม่กลับมาอยู่โรงพยาบาลอีกและท่านก็ไม่ได้กลับไปจริง ๆ
ก่อนที่จะเดินทางไปปารีสในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นั้น ดิฉันได้ทราบจากญาติคนหนึ่งว่าท่านเจ้าคุณปัญญานันทะจะไปทอดผ้าป่าที่อังกฤษในวันที่เท่านั้น ๆ ในเดือนเมษายน ดิฉันจึงเตรียมการบอกลูกสาวที่อยู่ในอังกฤษว่าดิฉันจะไปอยู่อังกฤษ ๗ วัน จากวันที่เท่านั้นถึงเท่านั้นเพื่อจะไปร่วมในงานทอดผ้าป่าด้วย ลูกสาวของดิฉันกับสามีของเขาจึงจัดวันหยุดของเขาให้ตรงกับระยะเวลาที่ดิฉันจะไป แต่ครั้นก่อนเดินทาง ดิฉันไปหาท่านปัญญา ท่านบอกว่าดิฉันได้รับข้อมูลผิดไป วันทอดผ้าป่าของท่านคือ ตอนหลังจากที่ดิฉันจะกลับจากอังกฤษนั่นเอง แต่ดิฉันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วเพราะทุกอย่างจัดไปหมดแล้ว ท่านปัญญาฝากหนังสือให้ท่านปรีดีตามเคยเหมือนกับทุก ๆ ปีที่ดิฉันไปลาท่านก่อนออกเดินทาง ดิฉันไปอยู่ปารีสได้เพียง ๓ สัปดาห์ ก็ไปอยู่อังกฤษ ๗ วัน แล้วกลับมาปารีสอีก ซึ่งขณะนั้นท่านปัญญาเพิ่งจะไปถึงอังกฤษ ดิฉันกลับมาถึงปารีสได้ไม่กี่วันก็ถึง วันมหาวิปโยคของเรา คือวันที่ ๒ พฤษภาคม ที่ท่านปรีดีจากเราไป
เช้าวันนั้นท่านปรีดีรับประทานอาหารได้อย่างปกติ และคงจะรู้สึกอร่อยเป็นพิเศษ จึงขอขนมปังจากคุณพูนศุขอีกครึ่งชิ้น หลังจากอาหารเช้าประมาณ ๑๐.๐๐ น. กว่า ๆ คุณพูนศุขและดิฉันขึ้นรถเมล์ไปตลาดนัดที่ใกล้ ๆ บ้าน เผื่อว่าจะมีสินค้าอะไรแปลก ๆ บ้าง แต่เมื่อปรากฏว่าไม่มีอะไรที่เราต้องการก็เลยกลับบ้าน เพราะกลางวันวันนั้นคุณพูนศุขได้เชิญเพื่อนคนหนึ่งชื่อคุณโรสให้มารับประทานอาหารไทยด้วย มาถึงบ้านประมาณ ๑๐.๔๐ น. เห็นท่านนั่งอยู่ที่โต๊ะทํางานในห้องสมุด ประตูเปิดอยู่ ท่านนั่งหันหน้ามาทางประตู คุณพูนศุขตรงไปหาท่าน ส่วนดิฉันเข้าห้องน้ําซึ่งอยู่ห่างจากประตูนั้นเพียง ๑-๒ เมตร ดิฉันได้ยินเสียงคุณพูนศุขพูดกับท่าน ๓-๔ ประโยค แล้วก็ร้องเสียงดังว่า “เธอคะ เธอเป็นอะไร? ใครอยู่บ้าง? เร็ว เธอเป็นอะไรไม่รู้”
ขณะนั้นคุณอนุวัติ ศกุนตาภัย ยืนอยู่หน้าห้องน้ํา ก็รีบวิ่งเข้าไปเป็นคนแรก ดิฉันรีบออกจากห้องน้ําตามเข้าไปเป็นคนที่ ๒ แล้วก็มีคนอื่น ๆ ในบ้านตามเข้ามาติด ๆ กัน เห็นท่านนั่งคอพับก้มมาทางข้างหน้า เราช่วยกันยกตัวท่านจากเก้าอี้ซึ่งก็ทําได้อย่างทุลักทุเลมาก เพราะห้องนั้นเล็ก เก้าอี้ที่ท่านนั่งอยู่ติดกับฝาห้องพอดีและข้างหน้าตัวท่านก็เป็นโต๊ะทํางาน ซึ่งบังตัวท่านไว้ อย่างไรก็ตามเราดึงท่านออกมาได้ในทันที ปลดกางเกงของท่าน และคุณพูนศุขเอายาฉุกเฉินประจําตัวท่านเหน็บที่ทวาร (ตอนนั้นยาแก้โรคต่าง ๆ ของฝรั่งเศสเป็นยาเหน็บ) เกือบในนาทีนั้นเอง คุณโรสก็โผล่เข้ามา คุณโรสเป็นนางพยาบาล และคุณอนวัติ ศกุนตาภัย ก็เรียนแพทย์ปีที่ ๔ แล้ว เราช่วยกันอุ้มท่านไปที่เตียงนอนของท่านเพื่อทําการปฐมพยาบาล (ห้องนอนของท่านอยู่ติดกับห้องทํางานนั่นเอง) ก็พอดีรถพยาบาลคันแรกมาถึงเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยปฐมพยาบาลด้วย ๒-๓ คน คนที่บ้านโทรศัพท์ไปบอกเขา และเขาก็มาถึงได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วอีกประเดี๋ยวรถคันที่ ๒ ก็มา มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาอีก ๔-๕ คน เต็มห้องไปหมด เขาพยายามปั๊มหัวใจและทําอย่างอื่น ๆ อีก แต่ไม่ได้ผล เข้าใจว่าท่านสิ้นใจเสียตั้งแต่ตอนที่คอพับ และคุณพูนศุขร้องเอะอะนั้นแล้ว
เมื่อหมอประจําตัวของท่านมาถึงก็บอกว่าถึงอย่างไรก็ช่วยท่านไม่ทัน ท่านเสียชีวิตแบบที่งดงามที่สุดแล้ว เราควรจะยินดีกับท่านด้วยซ้ํา! จริง เราไม่เถียง ท่านมีบุญจริง ๆ ท่านจากไปด้วยอาการสงบไปอย่างสบาย แต่คนที่อยู่ข้างหลังนี่สิคะ ภริยาของท่าน ลูก ๆ ของท่าน และญาติมิตรที่แวดล้อมของท่าน ต่างก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนรักท่านและผูกพันกับท่านอย่างบริสุทธิ์ใจและลึกซึ้ง จะให้สลัดความเศร้าโศกอาลัยรักไป ง่าย ๆ ได้อย่างไร แต่เนื่องจากทุกคนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญา จึงตระหนักดีว่าร่ําไห้คร่ําครวญตีโพยตีพายย่อมจะไม่เกิดผลอันใดขึ้นมา ฉะนั้นทุกคนจึงตั้งจิตดับโศกสงบอารมณ์ และคิดอ่านที่จะกระทําการครั้งสุดท้ายให้ท่านได้งดงามสมใจต่อไป
เขาแบ่งหน้าที่กันตามถนัด แต่สําหรับดิฉันนั้นเขาไม่ให้ทําอะไรเลย นอกจากนั่งเฝ้าติดตัวท่านในห้องนอนตลอดวันยกเว้นเวลากินและเขาฉีดยาให้ท่าน ทำให้ท่านดูไม่ต่างจากคนที่กําลังหลับเลย หน้าตาผิวพรรณยังผ่องใสตามเดิม ไม่มี อะไรเปรอะเปื้อนออกมาทางปาก หู หรือจมูกแม้แต่น้อย แห้งและสะอาดจริง ๆ ตอนนั้นแม้แต่แขกต่างชาติที่สําคัญ ๆ ก็ต้องเข้ามาเคารพศพท่านถึงในห้องนี้ เพราะเขาห้ามขยับเขยื้อนท่าน คุณพูนศุขโทรศัพท์ไปหาท่านปัญญาที่อังกฤษ
ขอให้ท่านช่วยทำพิธีทางศาสนา ท่านก็มาในทันทีหลังจากที่ต้องให้คนวิ่งเต้นขออนุญาตพิเศษในเรื่องหนังสือเดินทาง-ขอวีซ่า ตอนที่พูดโทรศัพท์นั้นท่านพูดกับดิฉันด้วย ท่านบอกว่าโชคดีที่ดิฉันรับข้อมูลผิด ๆ ในเรื่องวันเวลาของการทอดผ้าป่าของท่าน หาไม่แล้วดิฉันก็ยังคงอยู่ในอังกฤษและไม่มีโอกาสกลับไปทันท่านปรีดีสิ้นชีพ ท่านคิดว่าชาติก่อนดิฉันคงจะเคยรับใช้ท่านปรีดีมา ชาตินี้จึงได้ดลบันดาลให้ได้อยู่ใกล้ ๆ ท่านในวาระสุดท้ายก่อนที่ท่านจะจากไป
พอครบ ๕ วันแล้วเขาก็จัดการเอาท่านลงหีบ และออกมาตั้งในห้องรับแขกให้คนได้มาเคารพสะดวก ดิฉันมีหน้าที่เฝ้าต่อไป แต่ระยะนี้มีคนอาสาช่วย กันหลายคนแล้ว คนมาเคารพศพทุกวันและตลอดวัน ผู้ที่อยู่ต่างประเทศเช่นอังกฤษและเยอรมัน แม้แต่เมืองไทยก็เริ่มมาถึง คนทางบ้านต่างทําหน้าที่แข็งขัน รับรองแขกได้อย่างไม่บกพร่องเลยเพราะทุกคนทําด้วยใจ โทรเลขและจดหมายมาถึงคุณพูนศุขนับไม่ถ้วน นอกจากนี้แล้วยังมีบทประพันธ์ เป็นกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ซึ่งซาบซึ้งกินใจเหลือเกิน เห็นได้ว่าแต่ละคนบรรจงแต่งขึ้นด้วยความเคารพภักดีและอาลัยรัก ดิฉันอ่านไปร้องไห้ไป สุดรักหักห้ามไว้ได้จริง ๆ
งานเผาศพก็สำเร็จลุล่วงไปอย่างทรงเกียรติและน่าภาคภูมิใจ ผู้คนมากันล้นหลาม คนไทยบางคนที่เป็นเจ้าของร้านถึงกับปิดร้านเลยในวันนั้น เจ้าหน้าที่สถานเผาศพแห่งนั้นคงมิได้คาดคิดว่าจะได้เห็นงานใหญ่โตเช่นนี้ เขาจึงบอกแต่ทีแรกว่าให้เราจัดทําการเผาให้เสร็จภายใน ๓๐ นาที ทําให้คุณสุดาบุตรสาวของท่านต้องเขียนแผนผังของสถานที่ ที่ตั้งและที่วางของต่าง ๆ ที่คนยืน ที่คนนั่ง ที่สําหรับแขกประเภทต่าง ๆ และจัดหน้าที่ของพวกเราทุกคนไว้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกรวดเร็ว จะได้เสร็จตามเวลากําหนด ดิฉันมีหน้าที่นั่งหลังคุณพูนศุขและถือยาดมไว้ เผื่อคุณจะเป็นลม แต่ครั้นเขาเห็นผู้คนมากมายอย่างนั้น ซึ่งต้องเรียงแถวเข้าไปทีละคน ๆ ยังไง ๆ ก็ไม่เสร็จทันใน ๓๐ นาทีได้ เขาจึงบอกว่าไม่จําเป็นต้องรีบร้อน ให้ทําไปตามสบายได้
เสรีไทย คดีคำฟ้อง และฉากสุดท้ายบนโต๊ะเขียนหนังสือ: ภาพรำลึกถึงนายปรีดี
เมื่อไรที่ดิฉันนึกถึงท่าน ภาพแรกที่ดิฉันจะเห็นก็คือภาพที่ท่านอดหลับอดนอนครุ่นคิดเรื่องเสรีไทย ภาพที่สองก็คือตอนที่ท่านต้องคร่ําเคร่งกับเรื่องการฟ้องคนต่าง ๆ เพื่อความบริสุทธิ์ของท่านในกรณีสวรรคต และภาพสุดท้าย ก็คือภาพที่ท่านเสียชีวิตอยู่ที่โต๊ะทํางาน และเมื่อนึกถึงจิตใจของท่าน ก็จะคิดถึงความปวดร้าวใจของท่าน เมื่อท่านลี้ภัยออกไปจากเมืองไทย และได้ข่าวทยอยมาเรื่อย ๆ ว่าครอบครัวของท่านถูกกลั่นแกล้งรังแก พรรคพวกที่ใกล้ชิดของท่านถูกจับเข้าคุกบ้าง และถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมมากมายหลายคน โดยที่ท่านไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้เลย ท่านเป็นคนที่รักลูกน้อง แต่ท่านไม่มีปัญญาที่จะเอาเงินมาจับจ่ายให้ลูกน้องได้ร่ํารวยเป็นราย ๆ ไปเหมือนอย่างที่คนอื่นเขาทํากัน
คุณพูนศุขเคยเล่าว่าตอนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น ท่านมีโรงพิมพ์เล็ก ๆ ของท่านเอง โดยท่านพิมพ์หนังสือนิติสาส์นออกขาย ซึ่งขายดีเป็นเทน้ําเทท่า คนในบ้านสนุกกับการห่อหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตามที่คนสั่งจองมา เรียกว่ามีเงินมีทองของตัวเองกินพอใช้ทีเดียว ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านกลับไม่มีสมบัติเหลือเลย ลูกเต้าไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนลูกของเพื่อน แต่ท่านยอมรับสภาพต่าง ๆ อย่างอาจหาญและแสนที่จะอดทนอุตส่าห์ประคับประคองหัวใจที่ยับเยินแหลกลาญของท่าน ให้คงเป็นรูปร่างเท่าที่พอจะทําได้ ท่านยังรักเมืองไทย ยังอยากกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ท่านตั้งใจไว้แล้วอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่กลับมาจนกว่าผู้คนจะเข้าใจและเชื่อในความบริสุทธิ์ของท่าน ท่าน (และเรา) มั่นใจว่าวันนั้นจะต้องมีมาแน่แต่เสียดายที่ท่านอยู่ไม่ถึง
มีเหตุการณ์หลายอย่างในยุคปัจจุบันนี้ที่ชวนให้ดิฉันคิดถึงท่าน เช่นเรื่องป่าไม้ ท่านเคยเตือนนายกรัฐมนตรีในสมัยสงครามว่าไม้สักในประเทศไทยกําลังจะหมดไป ฉะนั้นควรจะถือเป็นเรื่องด่วนที่จะรณรงค์ปลูกไม้สักใหม่ในทันที หาไม่แล้วอีก ๕๐ ปี จะไม่มีเหลือเลย คําตอบที่ท่านได้รับก็คือ “ใช่ อาจารย์เอาอะไรมาพูด อีก ๕๐ ปีเราจะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ พูดเรื่องเดี๋ยวนี้ดีกว่า นั่นเอาไว้ คนอื่นเขาทําทีหลังแล้วกัน!” และเมื่อท่านกลับจากไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลังสงคราม ท่านเล่าว่าได้ไปเห็นการทํานาข้าวซึ่งอเมริกากําลังเริ่มเป็นการใหญ่ ท่านคาดว่าอีกราว ๆ ปีกว่า หรือ ๒ ปี เขาจะผลิตข้าวได้จํานวนมหึมา เราจะต้องรีบจัดการเตรียมพร้อมไว้รับมือเขา จะต้องปรับปรุงแก้ไขลดค่าผลิตให้ต่ําลงให้มากเท่าที่จะทําได้ เพื่อสู้ด้านราคา และจะต้องเตรียมหาตลาดใหม่ ๆ ฯลฯ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือดิฉันได้พบกับนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเองไม่เคยรู้จักสนิทชิดเชื้อกับท่านปรีดีมาก่อน ไม่เคยสนใจในความคิดของท่านปรีดีในเรื่องอื่น แต่มาชอบใจที่บังเอิญ ได้พบท่านเมื่อตอนเสร็จสงครามใหม่ ๆ และท่านบอกว่าต่อไปนี้กรุงเทพ ฯ จะต้องเป็นศูนย์กลางของการบินที่สําคัญแห่งหนึ่ง ควรจะต้องเร่งจัดการปรับปรุงสนามบินเดิมหรือสร้างขึ้นใหม่ให้ทันสมัย ขืนทิ้งไว้จะไม่ทันการ จะสู้เพื่อนบ้านเขาไม่ได้ เขาบอกว่าท่านเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องจริง ๆ เมื่อตัวท่านเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เท่าไร ก็ถูกมรสุมการเมืองซัดกระหน่ําเสียจนแทบตั้งตัวไม่ติด ท่านจึงยังไม่มีโอกาสได้กระทําสิ่งที่ท่านต้องการทําเลย เป็นที่น่าเสียดาย น่าเสียดายจริง ๆ
ท่านคะ ดิฉันจะต้องคิดเสียใจต่อไปอีกจนตายที่ไม่ได้มีโอกาสทดแทนพระคุณท่านได้เพียงพอ จึงขอแต่สวดมนต์ภาวนาให้ท่านได้ไปเกิดในภพที่สุขสงบ พบแต่คนดีมีศีลธรรมรู้คุณคน ปราศจากพวกมนุษย์ใจสัตว์ที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาคอยแต่คิดทําลาย ห่างไกลจากคนขลาดที่ใจบาปหยาบช้าโยนความผิดให้คนอื่น ดิฉันเชื่อมั่นว่าเวลาจะพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ ๑๐๐-๒๐๐ ปี ในประวัติศาสตร์ เป็นเวลาไม่นานนัก ใช่ไหมคะ?
ภาคผนวก
ชีวประวัติย่อของฉลบชลัยย์ พลางกูร
- เป็นเจ้าของและผู้อํานวยการโรงเรียนดรุโณทยาน
- เป็นนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
- เป็นภริยานายจํากัด พลางกูร ซึ่งร่วมกับผู้รักชาติต่อต้านผู้รุกราน ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้อาสาเป็นผู้แทนขบวนการเสรีไทย เดินทางไปติดต่อกับสัมพันธมิตรในประเทศจีน และได้เสียชีวิตที่นั่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
- เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ในคืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เวลาหลังสองยาม คณะรัฐประหารได้ใช้ปืนกลยิงกราดไปที่ห้องนอน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ แต่เดชะบุญกระสุนไม่ทะลุเพียงเจาะกําแพงเป็นช่องโหว่ที่นกพอทํารังได้ รุ่งเช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน ได้มีขบวนรถถังนํา โดย ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้นําขบวน จะเอารถถังบุกพังประตูทําเนียบเข้าไป แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะมีวีรสตรีผู้หนึ่งได้ยืนขวางกั้นรถถังไว้ไม่ยอมให้เข้าไปโดยไม่กลัวเกรงอันตรายต่อชีวิต ทําให้รถถังไม่สามารถบุกเข้าไปในทําเนียบได้วีรสตรีผู้นั้น คือ “คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร”
- เป็นผู้ที่อยู่กับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่ทําเนียบท่าช้างตลอดเวลา
- ในช่วง 6 ตุลา 2519 เป็นผู้นำอาหารไปส่งให้แก่กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต้องขังทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ
หมายเหตุ
- ตั้งชื่อบทย่อยโดยบรรณาธิการ
บรรณานุกรม
- ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชา ท่านปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535), 46-74.