ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

กาลครั้งหนึ่ง “หมุดคณะราษฎร” ที่สาบสูญ

14
เมษายน
2564

 

 

“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”  คือ ข้อความที่ปรากฏอยู่บนหมุดคณะราษฎร

 

เอกสารกำหนดการพิธีฝังหมุด ภาพจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์
เอกสารกำหนดการพิธีฝังหมุด
ภาพจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์

 

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2479 ตรงกับปีนักษัตร คือ ปีชวด ณ บริเวณพื้นถนนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งเดิมที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เคยยืนอ่านประกาศคณะราษฎร เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศเมื่อ 24 มิถุนายน พุทธศักรราช 2475

เวลาล่วงเลยเข้า 4 ปีเศษ ณ ตำแหน่งเดิม บุคคลเดิม กับ พิธีวาง “หมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่รู้จักกันในนาม “หมุดคณะราษฎร”

 

สุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ

พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการกล่าวสุนทรพจน์ มีใจความดังต่อไปนี้

พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งเปนที่ๆ พวกเราได้เคยร่วมกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิด กระทำการเพื่อขอความอิสสระให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านที่ต้องไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบว่าที่นั้นอยู่แห่งใดแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยามและโดยฉะเพาะอย่างยิ่งสหายผู้ร่วมก่อการณ์ ไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญแห่งนี้เสีย เพราะเปนที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถือกันว่าเปนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติไทย

มิ่งขวัญของชาวสยามได้เริ่มถูกเรียกและถูกเชิญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ในขณะวันและเวลาที่กล่าวนั้น พวกท่านผู้ร่วมก่อการณ์ได้มอบชีวิตจิตต์ใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ คือ เราจักต้องตายร่วมกัน ถ้ากิจการที่ก่อขึ้นนั้นไม่เปนผลสำเร็จลุล่วงดังประสงค์.

แต่ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้แหละ จึ่งทำให้มีความบากบั่นพร้อมด้วยน้ำใจอันแรงกล้าที่ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อขอพระราชทานสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น. ความประสงค์อย่างบริสุทธิ์จริงใจของเรานี้ ได้รับความนิยมเลื่อมใสของอาณาประชาราษฎร ตลอดทั้งได้รับพระบรมราชานุมัติของพระมหากษัตริย์ด้วย.

เพื่อเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึกนี้ ฉะนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึ่งได้จัดทำขึ้น หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และจะได้ประดิษฐานไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้าผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยืนกล่าวประกาศอิสสระเสรีเพื่อปลุกใจเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไปโดยวางกำหนดโทษอย่างหนักไว้ ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งหรือละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น.

ฉะนั้น หมุดที่จะวางลง ณ ที่นี้ จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ ๕ แห่งการพระราชทานธรรมนูญฉะบับถาวรนี้ นับว่าเป็นมงคลฤกษ์ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อเกิดธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติ ชั่วกัลปาวสาน เทอญ.”[1]

จากนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาก็นำหมุดลงฝัง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่อันเป็นชัยภูมิแห่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น

 

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479
หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479

 

ต่อมาภายหลัง เรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 2500 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดการปกครองโดยอำนาจทหารเป็นใหญ่ และได้ทำการถอนหมุดคณะราษฎรออกไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2503 โดยเป็นคำสั่งของจอมพล สฤษดิ์ ซึ่งให้เหตุผลว่าต้องการเปลี่ยนแปลงวันชาติจากเดิมวันที่ 24 มิถุนายน เป็น วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เห็นว่าหมุดหมายนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นรัฐธรรมนูญในความหมายของคณะราษฎร คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความถูกต้อง ตามหลักความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือ ต้องมีการเลือกตั้ง

แต่ ณ เวลานั้น เป็นการปกครองแบบรัฐบาลทหารอันมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีกฎหมายเพียง 20 มาตราเท่านั้น และ ในมาตรา 17 นั้นบัญญัติไว้ว่า “คำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีถือเป็นกฎหมาย” การที่ยังมี “หมุดคณะราษฎร” อยู่นั้น จึงเป็นการขัดอกขัดใจของผู้มีอำนาจอย่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ไม่น้อย

 

นายปรีดี พนมยงค์ และนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์
นายปรีดี พนมยงค์ และนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์

 

เมื่อหมุดถูกถอดถอนเป็นที่เรียบร้อย นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเอาหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไปเก็บไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่เห็นด้วยกับการขุดถอนหมุดที่เป็นสัญลักษณ์อันมีเกียรตินี้ขึ้นมา เนื่องจาก "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" หรือ "หมุดคณะราษฎร" นั้น ทำพิธีฝังในวันรัฐธรรมนูญคือวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นคนละวันกับวันชาติ และหมุดทองเหลืองหมุดนี้เป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็น รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกแห่งสยามประเทศ

ครั้นเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังที่จอมพล สฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นจึงจัดการนำหมุดทองเหลืองดั้งเดิมกลับไปฝังเอาไว้ ณ สถานที่เดิม[2]

 

“หมุดหน้าใส” คืออะไร มาได้อย่างไร ใครรู้บ้าง ?

 

หมุดหน้าใส
หมุดหน้าใส

 

ย้อนเรื่องราวกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เจ้าแผ่นเหล็กกลมๆ แบนๆ ผิวเผินอาจจะดูคล้ายกับ “หมุดคณะราษฎร” ในส่วนของการจัดวาง รูปแบบตัวอักษร ก็เป็นที่แน่ชัดว่าผู้จัดทำมีความจงใจทำให้ดูคล้ายคลึงกับของเดิม ในเวลานั้น ประชาชนต่างพากันเรียกหมุดชิ้นใหม่นี้ว่า "หมุดหน้าใส" ซึ่งข้อความที่ปรากฏบนหมุด คือ

“ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ภายหลังการปรากฏของ “หมุดหน้าใส” ประชาชนกลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลายฝ่ายได้เข้าร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอทวงคืนหมุดคณะราษฎรให้คืนกลับสู่ที่ที่เคยอยู่มากว่า 81 ปี แต่คำตอบที่ได้รับจากหน่วยงานที่คิดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกลับกลายเป็นปฏิเสธอะไรก็ได้เท่าที่จะสามารถ

‘เขตดุสิต’ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยน ‘กรมศิลปากร’ ออกมาแจง บอกว่าไม่ได้อยู่ในหน้าที่ดูแล  ‘นายกรัฐมนตรี’ และ ‘โฆษกรัฐบาล’ บอกว่า รัฐบาลไม่รู้ไม่เห็นในการเปลี่ยนหมุด และ ไม่มีการออกมาตรการเพื่อหาคนผิดมาลงโทษ  ‘รอง ผบ.ตร.’ ณ ขณะนั้น กล่าวถึงการแจ้งความว่าไม่สามารถแจ้งได้ เพราะหมุดไม่มีเจ้าของ  ‘เลขานุการผู้ว่ากทม.’ แจ้งกับประชาชนว่า กล้องวงจรปิดแถวนั้นถูกถอดออกไปซ่อมเป็นจำนวน 11 ตัว จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ และ ท้ายสุด สุดท้าย ‘คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ (คสช.) กล่าวว่า ขอให้ยุติและหยุดถามเรื่อง “หมุดคณะราษฎร” เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 

ดูเหมือนทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน จะรับไม้ต่อกันด้วยความสามัคคีและแข็งขัน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ...

จนเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560 นายวิชาญ ภูวิหาร รองประธานสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ อ้างว่าตัวเองเป็นผู้ถอนหมุดคณะราษฎร และ ได้ทำการอ่านแถลงการณ์รับผิดชอบจำนวน 27 หน้า นายวิชาญอ้างว่า “เมื่อถอนหมุดแล้วก็วางไว้ที่บริเวณเดิมไม่ได้เอาไปไหน และไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด” ตำรวจสน. ดุสิตได้นำตัวไปสอบสวน และ ปล่อยกลับโดยไม่มีตั้งข้อหาแต่อย่างใด  

 

จาก “หมุดคณะราษฎร 2475” สู่ “หมุดคณะราษฎร 2563”

 

หมุดคณะราษฎร 2563
หมุดคณะราษฎร 2563 

 

20 กันยายน พุทธศักราช 2563 “คณะราษฎร 2563” นำโดย “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้จัดทำหมุดขึ้นมาใหม่ และ ทำพิธีฝังหมุด ณ บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งใช้เป็นสถานที่รวบรวมมวลชนเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจโดยคสช. และ ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงดีนัก “หมุดคณะราษฎร 2563” ก็ได้ถูกทำการรื้อออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า ได้รับการร้องทุกข์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนว่ามีกลุ่มบุคคลทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมานั้น คือ การลดทอนคุณค่า ทำให้ความทรงจำเลือนหาย โดยกลุ่มบุคคลมีความตั้งใจทำเพื่อพยายามลบเลือนความทรงจำต่างๆ ที่คณะราษฎรได้เคยสร้างไว้ ไม่ใช่เพียงแค่หมุดเท่านั้นที่ได้สาบสูญหายไป ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกมากมายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกคณะราษฎร ถูกปรับเปลี่ยนชื่อบ้าง ถูกทำให้สูญหายอย่างไร้ร่องรอยบ้าง ไร้ซึ่งคำถาม ไร้ซึ่งคำตอบ เพื่อเจตนามิให้ชนรุ่นหลังได้หวนระลึกถึงร่องรอยประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร แต่หาใช่อย่างนั้นไม่

ใดๆ ก็ตาม ในวันที่โลกก้าวเดินไปข้างหน้า ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามลบเลือน กลับเกิดกระแสธารแห่งการรื้อฟื้น ชนรุ่นใหม่เกิดขึ้นพร้อมมันสมองและสติปัญญา บางสิ่งที่พยายามลบเพื่อให้เลือน กลับเด่นชัดและก่อเกิดให้เป็นเครื่องหมายคำถามว่าคืออะไร และ ทำไม

สังคมโซเชียลทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงหลากหลายข้อมูล งานวิจัย งานเขียน ทุกเรื่องที่ไม่เคยถูกบรรจุในตำราเรียน ที่เคยถูกปิดเงียบเพราะมีความตั้งใจเพื่อไม่ให้เป็นที่จดจำ กลับถูกทำให้เปิดเผย และสุดท้าย การลบไม่ได้ช่วยให้ลืม แต่การลบยิ่งทำให้สิ่งที่ตั้งใจลบนั้นเด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ และเรื่อยๆ

ถึงแม้วันนี้ “หมุดคณะราษฎร 2475” และ “หมุดคณะราษฎร 2563” ได้ถูกทำให้สาบสูญไปแล้วก็ตาม แต่นั่นก็หาใช่ว่าจะสามารถพังทลายอุดมการณ์ของผู้ที่มีใจรักประชาธิปไตยลงไปได้ เพราะหมุดหมายเป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นเพียงวัตถุที่ใครก็ตามสามารถทำให้เคลื่อนที่ได้ตามแต่ใจปรารถนา ถ้าหมุดหมายที่หายไปจะหมายถึงอุดมการณ์ การถูกทำให้สาบสูญของผู้ที่ตั้งใจก็คงทำได้แค่นำไปเก็บ นำไปซ่อน นำไปทำลาย แต่สิ่งที่ไม่มีใครสามารถขุดไปทิ้ง หรือทำให้สาบสูญไปได้ นั่นก็คืออุดมการณ์อันแน่วแน่ที่อยู่ในตัวตน และ ประชาธิปไตยที่ฝังรากลึกอยู่ภายในหัวใจของเหล่าปวงชนชาวไทยที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง

 

และท้ายที่สุด “คณะราษฎร” และ “หมุดคณะราษฎร” จะไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ

 

เอกสารอ้างอิง

  • นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์. “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร”, (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560).

หมายเหตุ:

  • คำสะกดในคำกล่าวสุนทรพจน์พิธีฝังหมุด คงไว้ซึ่งเอกสารต้นฉบับ
  • ปรับปรุงและเรียบเรียงเนื้อหาโดยบรรณาธิการ

[1] หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479, หน้า 32

[2] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือหมุดคณะราษฎร” https://www.matichon.co.th/columnists/news_539591 (สืบค้นเมื่อ 12/04/64)