10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 มีพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ พระลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีข้อความในหมุดว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 มีการนำหมุดชิ้นใหม่ไปแทนที่หมุดคณะราษฎรเดิมพร้อมข้อความใหม่คือ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” นับจากเหตุการณ์ ‘หมุด (คณะราษฎร) หาย’ ส่งผลให้หมุดคณะราษฎรกลับมาได้รับความสนใจในวงกว้างอีกครั้งทั้งการศึกษาเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของการก่อเกิดหมุดคณะราษฎรช่วงก่อนและหลังการอภิวัฒน์ 2475 และความพยายามของรัฐไทยในการสร้างความทรงจำร่วม[1] เกี่ยวกับคณะราษฎรใหม่แทนที่ประวัติศาสตร์โดยบทความนี้จะนำเสนอหลักฐานชั้นต้นชิ้นหลักเกี่ยวกับพิธีวางหมุดรัฐธรรมนูญไว้จำนวน 4 ชิ้น
กำเนิดหมุดคณะราษฎร 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479
หมุดคณะราษฎร คือสัญลักษณ์ทางการเมืองสำคัญของการอภิวัฒน์ 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ หมุดคณะราษฎรมีลักษณะเป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า อันเป็นตำแหน่งที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำพิธีฝังหมุดและอ่านประกาศคณะราษฎรบริเวณดังกล่าว ซึ่งพิธีฝังหมุดคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยมีคณะทหารบกทหารเรือรวมทั้งพลเรือนร่วมชุมนุมประกอบพิธีฝังหมุด ณ ลานพระราชวังดุสิต และนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวคำปราศัยแก่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงในวันเดียวกันนั้น เรื่องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
บางส่วนของสุนทรพจน์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี กล่าวทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479[2]
“การปกครองตามระบอบนี้ ได้ให้สิทธิเสมอภาค และเสรีภาพแก่ประชาชนพลเมืองทั่วๆ ไป ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใดหามิได้ ดำเนินวิธีการปกครองเป็นสายกลาง ไม่หนักหรือเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เป็นการปกครองที่มีระเบียบแบบแผนอย่างละเอียดละออ จึงทำให้เป็นการยากที่จะปฏิบัติให้เพียบพร้อมในชั้นต้นๆ แต่ถ้าพลเมืองของเราได้เคยชินแก่การปกครองตามระเบียบนี้แล้ว กิจการของชาติก็จะเดินก้าวหน้าไปอย่างสะดวกดาย ทั้งกลับจะนำผลดีมาสู่ประเทศชาติที่รักและประชาชนพลเมืองเป็นอย่างมากอีกด้วย
การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าลองคิดเปรียบเทียบดูกับนิสสัยใจคอของพลเมืองแห่งชาติ ก็พอจะทราบได้ดีว่า พลเมืองของประเทศสยามมีสายโลหิตสืบเนื่องมาจากคนชาติไทยแต่ครั้งโบราณกาล เป็นบุคคลที่ชอบอิสสระภาพ และเสรีภาพมาแต่ดั้งแต่เดิม จึ่งได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย” หมายความว่า เป็นที่มีอิสสระเสรีแก่ตัว ไม่มีจิตต์ใจเป็นทาษ หากในครั้งกระโน้น เขาได้ถูกรังแกรบกวนหนักเข้าก็มิสามารถจะสู้รบปรบมือกับศัตรูของเขาได้ โดยที่มีกำลังและความสามารถน้อยกว่า จึ่งได้พากันอพยพมาหาที่ๆ จะทำมาหากินใหม่ ครั้นได้ภูมิลำเนาที่เหมาะแล้วจึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเอกราชปกครองกันเองสืบตัวมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และยังรู้สึกตัวว่าเป็นไทยอยู่ร่ำไป ฉะนั้นจึ่งเห็นได้ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเหมาะสมแก่นิสสัยใจคอของพวกเราชาวสยามอยู่แล้ว
สยามเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักชัยประจำอยู่ มุ่งแต่จะอบรมสั่งสอนให้บุคคลประพฤติไปในทางศีลธรรม ประกอบกิจแต่ในทางคุณงามความดีอันแท้จริงเท่านั้น มิได้มีการก้าวร้าวต่อศาสนาใดๆ เป็นศาสนาที่ให้อิสสระเสรีแก่ประชาชนเต็มที่ การแผ่ศาสนาก็กระทำไปในทางเห็นดีเห็นชอบและศรัทธาของผู้ที่จะนับถือ ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญใครแต่อย่างใดเลย ใครจะสามารถประพฤติศีลธรรมได้ เพียงใดแค่ไหน ก็แล้วแต่กำลังความสามารถของผู้นั้น ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว การปกครองคณะสงฆ์นั้นเล่า ก็ดำเนินไปคล้ายระบอบรัฐธรรมนูญ จึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเหมาะสมแก่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง
คราวนี้ถ้าเราลองคิดเปรียบเทียบหลักการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญกับทางแง่พระมหากษัตริย์บ้าง จะมีทางได้ทางเสียอย่างไร ถ้าจะคิดดูแต่เพียงเผินๆ แล้ว ก็เห็นไปว่าเป็นการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าหากเราได้คิดไปให้ซึ้งกว่านั้นสักหน่อย คิดถึงว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์ต่างๆ ก็ดี ทุกๆ อย่างจะต้องอยู่ในอำนาจแห่งกฎธรรมชาติและธรรมบัญญัติทั้งนั้น หามีผู้ใดสิ่งใดอยู่นอกเหนือไปได้ไม่ เมื่อคนทุกๆ คนไม่ได้อยู่เหนือกฎแห่งธรรมชาติและธรรมบัญญัติแล้ว และทุกคนได้อาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศแล้ว ทุกๆ คนก็ควรอยู่ใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนของปวงชนและเป็นกฎหมายอันสูงสุดของประเทศได้
การอยู่ในบังคับแห่งระเบียบแบบแผนและกฎหมายนั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติและธรรมบัญญัตินั่นเอง กับทั้งเป็นการชอบด้วยอุปนิสสัยของชาติไทยเราด้วย เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า นิสสัยใจคอของพวกเรารักความเป็นไทย รักในการปกครองกันเอง รักในการมีสิทธิและเสรีภาพทั่วๆ ไปโดยสม่ำเสมอ แต่หากว่าการอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากๆ นั้น ถ้ามิได้จัดให้มีระเบียบการปกครองเสียเลย ก็จะมีการปั่นป่วนยุ่งเหยิงกันใช่น้อย ฉะนั้นท่านจึ่งวางบทบัญญัติต่างๆ ไว้ และจัดให้มีเจ้าหน้าที่สำหรับปกครองกันตามลำดับ และทุกๆ คนมีอิสสระภาพและเสรีภาพภายในขอบเขตต์จำกัดแห่งกฎหมายนั้นๆ ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ซึ่งสืบสายพระโลหิตมาจากเจ้านายไทย จึ่งสมควรอยู่เองที่จะมีน้ำพระราชหฤทัยเป็นไทย เมื่อถึงคราวที่เห็นว่าพลเมืองพอสมควรที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญได้แล้ว ก็ทรงผ่อนผันให้ตามกาลสมัยด้วยน้ำพระราชหฤทัยประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 ดังปรากฏอยู่แล้วในเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และ วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2479 นั้น
อีกนัยหนึ่ง สำหรับการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ถ้าหากพวกเราชาวสยามมีความเคารพรักและบูชารัฐธรรมนูญว่าเป็นมิ่งขวัญของประเทศชาติโดยจริงใจด้วยกันแล้ว ทำอย่างไรพระราชบัลลังก์ของพระบรมราชวงศ์จักรีก็ต้องมั่นคงไม่สั่นสะเทือน ส่วนการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเสียอีก ได้เคยเกิดมีการเปลี่ยนวงศ์พระมหากษัตริย์กันไม่น้อย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร โดยเหตุนี้จึ่งได้ทำความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในประเทศ บางครั้งถึงกับทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากินอย่างปกติสุข การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้นองค์พระมหากษัตริย์มีแต่พระมหากรุณาธิคุณอย่างเดียว และถึงจะทรงใช้พระราชอำนาจก็แต่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากปวงชนชาวสยาม ส่วนกิจการในทางปกครองก็มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ ส่วนอำนาจในทางศาลก็มีศาลยุตติธรรมกอร์ปด้วยคณะข้าราชการตุลาการรักษาหน้าที่อยู่ อำนาจนิติบัญญัตินั้นเล่าก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอันที่จะต้องกะทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์ โดยเหตุนี้ จึงเห็นว่าเป็นการแน่นแฟ้นสำหรับพระราชบัลลังก์มากกว่าการปกครองระบอบเก่า และอาณาประชาราษฎร์ก็ได้อาศัยพึ่งพระบารมีโดยความร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อไป
พระเจ้าฟรีเดริคมหาราชแห่งประเทศปรุสเซียในเยอรมันนีนี้ได้เคยทรงเผยแพร่ไว้ว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น เป็นการปกครองที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรับผิดชอบแต่พระองค์เอง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นยอดเยี่ยมก็ทำให้กิจการแผ่นดินก้าวหน้าขึ้นสู่ความเจริญโดยรวดเร็ว ถ้าหากว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปกครองอยู่นั้นมีพระปรีชาสามารถแต่พอประมาณ ก็พอทำให้ประเทศนั้นทรงตัวไปได้ แต่ถ้าหากตรงกันข้ามก็เป็นอกุศลกรรมของประเทศนั้น ฉะนั้นพระองค์ท่านจึ่งทรงเห็นการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเป็นเหมาะแก่การปกครองประเทศ นี่เป็นการกล่าวเผยแพร่โดยทั่วๆ ไป หาได้กล่าวเจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยฉะเพาะไม่ แต่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใคร่จะดำเนินไปอย่างโลดโผนว่องไวก็จริงอยู่ เพราะการปกครองโดยคณะซึ่งมีคนหลายคนร่วมงานกัน ต่างคนต่างก็มีความคิดความเห็นด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อได้กลั่นร้อยกรองความคิดความเห็นนั้นเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะได้ความคิดความเห็นที่แน่นแฟ้นรอบคอบแห่งส่วนรวม ส่วนกิจการก็ดำเนินไปโดยอาการสม่ำเสมอไม่ถอยหลัง เพราะเหตุที่มีสภาผู้แทนราษฎรคอยควบคุมกิจการงานของแผ่นดินอยู่ สิ่งใดที่เห็นว่าล่าช้าหรือไม่ค่อยดำเนินไปโดยดีก็คอยท้วงติง จี้ไช ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น
ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้เป็นแต่ความคิดความเห็นของข้าพเจ้าประกอบกับการหาหลักฐานมาอ้างให้ฟังพอเป็นสังเขปเท่านั้น ขอท่านผู้ฟังทั้งหลายจงวินิจฉัยเอาเองเถิด”
ข้อสังเกตจากกำหนดการในพิธีวางหมุดคณะราษฎร ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 คือมีเครื่องฉัตรเบญจา ซึ่งเป็นของสูงใช้ประกอบเป็นเครื่องแสดงยศศักดิ์ของสูงในการพระราชพิธีศพซึ่งถ้านำมาใช้ก็ต้องขออนุญาตเสียก่อน และราษฎรสามัญไม่สามารถนำมาใช้ได้ ดังนี้จึงน่าพิจารณาว่าเหตุใดพิธีวางหมุดคณะราษฎรจึงมีเครื่องประกอบดังกล่าวอีกประการคือ เรื่องฤกษ์ว่าช่วงเวลา 14.30 น. ที่ดำเนินการฝังหมุดนั้นไม่ใช่ฤกษ์ทำการมงคล[3] ข้อสังเกตทั้งสองประการปรากฏอยู่ในเอกสาร พิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า ดังนี้
พิธีฝังหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า
๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙
เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพ
เวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณ อาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนตร์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรี เริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเสร็จพิธี
นอกจากนี้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนายังได้กล่าวในพิธีวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไว้ว่า
สุนทรพจน์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
ในพิธีวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙
ที่ๆ เราได้เคยร่วมกำลังร่วมใจร่วมคิดกระทำการ, เพื่อขอความอิสรเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า บางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือนๆ และบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไปก็คงไม่ทราบว่า จุดนั้นอยู่แห่งใดแน่.
ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม, ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย.
มิ่งขวัญของพวกเราชาวสยามเริ่มถูกเรียกและถูกเชิญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณะ ที่นี้. ในขณะวันและเวลาที่กล่าวนั้น พวกท่านผู้ก่อการณ์ได้มอบชีวิตจิตต์ใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ คือ เราจักต้องร่วมตายกัน, ถ้ากิจการที่ก่อขึ้นนั้นไม่เป็นผลสำเหร็จลุล่วง ด้วยความสามัคคีและพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้แหละ ซึ่งทำให้มีความบากบั่น พร้อมด้วยน้ำใจอันแรงกล้าที่จะยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อขอพระราชทานแลกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น
สำหรับเป็นการป้องกันการหลงลืม และเพื่อให้เป็นอนุสรสืบต่อไปภายภาคหน้า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มาหารือกับข้าพเจ้า ในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึก ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ วางไว้ ณะ จุดที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในการที่จะดำเนิรการต่อไป และได้วางกำหนดโทษในการฝ่าฝืนคำสั่งและเสียวินัยในการกระทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น.
ฉนั้น หมุดที่จะวางลง ณะ ที่นี้ จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ ๕ แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉะบับถาวรนี้ นับว่าเป็นมงคลฤกษ์
ฉนั้น ข้าพเจ้าจึ่งขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญ ณะ ที่นี้ ซึ่งเตรียมการไว้นั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
และนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังกล่าวสุนทรพจน์ต่อชุมนุมคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ไว้ดั่งต่อไปนี้.
“พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย
ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งเป็นที่ๆ พวกเราได้เคยร่วมกําลังกาย กําลังใจและกําลังความคิด กระทําการ เพื่อขอความอิสสระเสรีให้แก่ปวงชน ชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจําได้แต่เพียงเลาๆ และบางท่านที่ต้องไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบ ว่าที่นั้นอยู่แห่งใดแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยาม และโดยฉะเพาะอย่างยิ่งสหายผู้ร่วมก่อการณ์ ไม่ควรจะหลงลืมที่สําคัญแห่งนี้เสีย เพราะเปนที่ก่อกําเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติไทย
ผู้ร่วมก่อการได้มอบชีวิตจิตต์ใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ คือ เราจักต้องตายร่วมกัน ถ้ากิจการที่ก่อขึ้นนั้น ไม่เปนผลสําเร็จลุล่วงดังประสงค์ แต่ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้แหละจึ่งทำให้มีความบากบั่นพร้อมด้วย น้ำใจอันแรงกล้าที่ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อขอพระราชทานสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น. ความประสงค์อย่างบริสุทธิ์จริงใจของเรานี้ ได้รับความนิยมเลื่อมใสของอาณาประชาราษฎร ตลอดทั้งได้รับพระบรมราชานุมัติของพระมหากษัตริย์ด้วย.
เพื่อเปนเครื่องป้องกันการหลง ลืม และเปนอนุสสรณ์สืบต่อไป ภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึกนี้ ฉะนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดทําขึ้น หมุดก่อกําเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วย โลหะสําฤทธิ์และจะได้ประดิษฐานไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้าผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยื่น กล่าวประกาศอิสระเสรี เพื่อปลุกใจเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย และให้สั่งการเด็ดขาด ในการที่จะดําเนินการต่อไป โดยวางกำหนดโทษอย่างหนักไว้ ถ้าผู้ใดขัดขืนคําสั่งหรือละเมิดวินัย ในการกระทำหน้าที่ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น.
ฉะนั้น หมุดที่จะวางลงที่นี่จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกําเนิดรัฐธรรมบุญ” ในมงคลสมัยซึ่งเป็นปีที่ ๔ แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรนี้ นับว่าเปนมงคลฤกษ์ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกําเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียร อยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสาน เทอญ.”
ครั้นแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาก็นําหมุดลงฝัง ณ ที่อันเปนชัยภูมิแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๗๕ นั้น.[4]
ขณะที่ในงานศึกษาล่าสุดเรื่องหมุดคณะราษฎรของศรัญญู เทพสงเคราะห์ ได้พบหลักฐานชั้นต้นใหม่จากเอกสารของกรมศิลปากรที่ให้บริการอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติโดยเอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารจากพระพรหมพิจิตร อาจารย์ผู้ปกครองแผนกประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร ถึงพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศิลปากร ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 มีเนื้อหารายงานกิจการของแผนกประณีตศิลปกรรมในช่วงเดือนเมษายนจนถึงกันยายน พ.ศ. 2479
ศรัญญูชี้ให้เห็นข้อความตอนหนึ่งว่า “ปั้น ถอดพิมพ์ และหล่อทองสำริด แผ่นที่ระลึก วันที่ 4 มิถุนายน 2475 ให้สมาคมคณะราษฎ์ 1 แผ่น.” และเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับการสร้างหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2479 ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ “สโมสรคณะราษฎร” ในฐานะเจ้าภาพในการจัดสร้างหมุดและ “โรงเรียนศิลปากร”[5]
‘หมุดคณะราษฎร’ : ความหมาย ความทรงจำ และการสูญหาย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์เรื่องการรื้อสร้างอดีตสมัยอภิวัฒน์สยามและประวัติศาสตร์นิพนธ์ในช่วงที่มีการถอดหมุดคณะราษฎร พ.ศ. 2560 ไว้ว่า
“ประวัติศาสตร์ไทยส่วนที่ถูกประวัติศาสตร์นิพนธ์ใหม่ทบทวนว่า ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อ “ปัจจุบัน”และ”อนาคต”ของสังคมไทยอย่างมากทั้งสิ้น
2475 เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกทบทวนในงานวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์จำนวนมาก นำไปสู่การทบทวนสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งจู่ๆ ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เผยให้เห็นจุดอ่อนและเงื่อนไขที่แวดล้อมระบอบนั้นอยู่มากมายหลายประการซึ่งเคยถูกละเลยในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน
ที่ชนชั้นนำเลิกใส่ใจกับ 2475 ก็เพราะได้กลบฝังความหมายอื่นๆ ทั้งหมดของการปฏิวัติในครั้งนั้นไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว การปฏิวัติได้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ไร้ความหมายใดๆ ทั้งสิ้นแก่ปัจจุบันและอนาคตของชาติไทย
อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ 2520 ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในประเทศไทยได้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่การตั้งโจทย์, การอ้างอิงและแหล่งอ้างอิง, เนื้อหา, และวิธีวิเคราะห์ ซึ่งล้วนมีผลต่อกรอบโครงเรื่องของเนื้อหาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง”
ดังนี้ การแทนที่และถอดถอนหมุดคณะราษฎรคือ เกมการเมืองเชิงสัญลักษณ์กับสงครามแย่งชิงอดีตที่มีผู้เล่นหลักคือ รัฐและราษฎรคู่ตรงข้าม นับจากวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่มีการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎรและข้อความในหมุดดังกล่าวนั้นเป็นการรื้อสร้างอดีตและลบความทรงจำของคณะราษฎรด้วยการทำให้สูญหายไปอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐไทยมีความพยายามที่จะลบความทรงจำผ่านหมุดคณะราษฎรมาแล้วในทศวรรษ 2500
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ และมีธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 17 เป็นเครื่องมือทางการเมืองชิ้นสำคัญในการกดปราบผู้คิดต่างควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นพิธีกรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งใน พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน และในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2503 ได้มีการนำหมุดคณะราษฎรออกไปแต่ไม่มีอันใหม่มาทดแทน เมื่อวิเคราะห์สาเหตุที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้นำหมุดคณะราษฎรออกไปน่าจะด้วยเหตุผลเพราะต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความทรงจำร่วมเกี่ยวกับคณะราษฎรเริ่มที่เปลี่ยนวันชาติจากเดิมคือ 24 มิถุนายนไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคม และอีกเหตุผลหนึ่งคือหมุดนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญ
หมุดคณะราษฎรถูกรื้อฟื้นความหมายขึ้นอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยเริ่มมีกิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับการรื้อฟื้นความรู้และอุดมการณ์ของคณะราษฎรและการอภิวัฒน์สยาม อาทิ
เมื่อ 24 มิถุนายน 2559 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 84 ปี การอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งก็มีการจัดกิจกรรมหลากหลายประเภททั้งกิจกรรมเสวนาวิชาการหรือการอภิปราย ต่างๆ เช่น กิจกรรม “7 รอบ คณะราษฎร 84 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม ประชาธิปไตยไทย” เวลาย่ำรุ่ง ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีกิจกรรมในงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร่วมกันทำความสะอาดหมุดคณะราษฎร แถลงการณ์ครบ 84 ปี อภิวัฒน์สยาม มีการกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 และการวางดอกไม้ เป็นต้น และตลอด พ.ศ. 2559 ทั้งนิสิตนักศึกษาและประชาชนได้สร้างกิจกรรมเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 และหมุดคณะราษฎรอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 เริ่มมีการนำเสนอข่าวการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎร โดยนำหมุดอันใหม่ไปแทนที่หมุดเดิมพร้อมข้อความใหม่คือ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” โดยข้อความที่ปรากฏบนหมุดใหม่นี้บางส่วนมาจากคาถาสุภาษิตที่ปักอยู่บนตรา “ดาราจักรี” คือ “ติรตเน สกรฏฺเฐจ สมฺพ เส จ มมายน สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฎฺฐาภิวฑฺฒน” ซึ่งตรงกับคาถาภาษิตซึ่งอยู่บนขอบจักรพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยะราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในรัชกาลที่ 5 [6]
จากการเปลี่ยนแปลงเป็นหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือหมุดคณะราษฎรแล้วแทนที่ด้วยหมุดหน้าใสนี้ มีการวิเคราะห์ว่าเป็นการพยายามลบประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรออกไปจากสังคมไทยด้วยการกำจัดสัญลักษณ์ทางการเมืองสำคัญดังกล่าว แต่ผลลัพธ์ทางสังคมของคนรุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยกระแสรองกลับส่งผลตรงกันข้ามคือ เกิดการตื่นตัวที่จะรื้อฟื้นอดีตของคณะราษฎรขึ้นทั้งการอ่าน การจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางการสังคมรวมถึงมีการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง
แม้รัฐไทยจะพยายามสร้างและลบ “ความทรงจำร่วม” เรื่องคณะราษฎรใหม่แต่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจสำเร็จได้เพราะ “ประวัติศาสตร์” ได้เข้ามาทำหน้าที่ทางสังคมแทน “ความทรงจำร่วม”[7] โดยมีการนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องคณะราษฎรและหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไว้ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานศึกษาหลายชิ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2567
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีการสะกดตามเอกสารชั้นต้น และต้นฉบับลายมือพระยาพหลพลพยุหเสนาจากพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรี ได้รับอนุญาตจาก ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ แล้ว
บรรณานุกรม
หลักฐานชั้นต้น :
- ประชาชาติ, 12 ธันวาคม 2479, น. 5, 36.
หนังสือภาษาไทย :
- ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552)
- ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
วิทยานิพนธ์ :
- นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์. การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร. (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์. (21 กันยายน 2563). พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า. https://web.facebook.com/search/top/?q=หมุดคณะราษฎร%20120%20ปี%20ชาตกาล, เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2567.
- 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์. (22 กันยายน 2563). สุนทรพจน์ของพระยาพหลพลพยุหเสนาใน “พิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙, https://web.facebook.com/photo?fbid=205192004332123&set=a.112558966928761, เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2567.
- ณภัทร ปัญกาญจน์. (14 เมษายน 2564). กาลครั้งหนึ่ง “หมุดคณะราษฎร” ที่สาบสูญ. https://pridi.or.th/th/content/2021/04/669, เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2567.
- นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (12 มกราคม 2567). ชาติพันธุ์นิพนธ์ของความทรงจำ (Memory Ethnography). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/561, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. (15 พฤษภาคม 2560). สงครามแย่งอดีต. https//prachatai.com/journal/2017/05/71487?__cf_chl_tk=w5h3gkmA4phAwuCBhKVXyj8U9ocSS6McFXSOSPepzuM-1713023869-0.0.1.1-1514, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (14 เมษายน 2566). “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กับ สโมสรคณะราษฎรและโรงเรียนศิลปากร. https://pridi.or.th/th/content/2023/04/1488, เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2567.
- อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (25 ธันวาคม 2558). ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/111387, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
[1] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (25 ธันวาคม 2558). ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/111387, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567. และนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (12 มกราคม 2567). ชาติพันธุ์นิพนธ์ของความทรงจำ (Memory Ethnography). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/561, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.
[2] ประชาชาติ, 12 ธันวาคม 2479, น. 5.
[3] นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์. การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร. (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
[4] ประชาชาติ, 12 ธันวาคม 2479, น. 36.
[5] ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (14 เมษายน 2566). “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กับ สโมสรคณะราษฎรและโรงเรียนศิลปากร. https://pridi.or.th/th/content/2023/04/1488, เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2567.
[6] นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์. การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร. (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
[7] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (25 ธันวาคม 2558). ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/111387, เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2567.