ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านผู้ประศาสน์การปรีดีกับพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

17
เมษายน
2564

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ในวันที่ 17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้วันที่ 20 มีนาคม (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477) โดยเป็นไปตามมาตรา 4 ความว่า

“ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการและบรรดาวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”

ครั้นสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว ก็อาศัยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ส่วนที่ 3 ผู้สอนมหาวิทยาลัย มาตรา 40-45 มาดำเนินงาน ได้แก่ ผู้สอนชนิดสามัญแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ศาสตราจารย์สามัญ และ รองศาสตราจารย์สามัญ ขณะที่ผู้สอนชนิดวิสามัญแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาสตราจารย์วิสามัญ, รองศาสตราจารย์วิสามัญ และผู้บรรยาย 

ศาสตราจารย์สามัญ คือ ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นจากบุคคลที่เป็นรองศาสตราจารย์สามัญมาก่อน มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปี ด้านรองศาสตราจารย์สามัญคือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ได้รับปริญญาเอก (สามัญหรือกิตติมศักดิ์) ของมหาวิทยาลัยนี้ และสอบแข่งขันวิชาชั้นรองศาสตราจารย์ได้

ทางมหาวิทยาลัยยังนำเอามาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติมาแต่งตั้งศาสตราจารย์วิสามัญประจำสำนักการศึกษา ดังมีรายละเอียดว่า

“มาตรา ๔๓ ศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์วิสามัญนั้น คือ ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ได้รับปริญญาต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาเอก หรือผู้ที่ได้ทำการตรวจค้น หรือ กระทำการอย่างใดในสยามหรือต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้สอบสวนความรู้เห็นเป็นที่พอใจว่าชำนาญในวิชาที่จะสอนนั้นแล้ว”

นับแต่กลางปี พ.ศ. 2477 ที่มีการเสนอชื่อให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ประกอบด้วย

  1. หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ
  2. พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา)
  3. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน)
  4. พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)

ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

การมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และ การเมืองครั้งสำคัญ เห็นจะมิพ้นกรณีในกลางปี พ.ศ. 2482 ซึ่งบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ประกอบด้วย

  1. นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
  2. นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
  3. นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
  4. เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)
  5. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร์ ณ สงขลา)
  6. นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)

ประกาศประมาณวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดย นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

ภายหลังแต่งตั้งยังได้จัดพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 นับแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ปีที่ 7 ฉะบับที่ 2708 ประจำวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม ปีเดียวกัน รายงานข่าวเริ่มตั้งแต่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ลงจากรถ ทำความเคารพมหาวิทยาลัย สนทนากับผู้มาต้อนรับ และเข้าสู่ห้องพิธีในท่ามกลางบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับการเชื้อเชิญมาร่วมพิธีการ

ครั้นเวลา 17.15 น. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยกล่าวแถลงถ้อยคำปราศรัย ดังหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ นำมาลงเผยแพร่ไว้

“ท่านศาสตราจารย์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รู้สึกเปนเกียรติยศอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำการต้อนรับท่านในวันนี้ เนื่องจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งท่านเปนศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยในวันที่ ๒๔ มิถุนายนปีนี้ อันเปนวันชาติและฉลองสนธิสัญญา.

การที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเปนศาสตราจารย์ก็เนื่องด้วยคณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้ลงมติเปนเอกฉันท์ว่าท่านได้บำเพ็ญกรณีต่างๆ สมควรที่จะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย

อันคุณความดีของท่านนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่จะขอกล่าว ณ ที่นี้ซึ่งนับว่าเกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นก็คือ

พล.ต. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เปนหัวหน้าในการก่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเปนระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เปนหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ควบคุมในการเจรจาสนธิสัญญาจนสำเร็จในหลายประเทศ ตลอดจนทั้งได้ดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัย มาเปนเวลานับตั้งแต่ที่ตั้งมหาวิทยาลัย จนกระทั่งท่านได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ควบคุมการทำประมวลกฎหมายสำเร็จอันเปนสาระสำคัญในการขอเอกราชในทางศาลด้วย. 

พล.ต. หลวงพิบูลสงคราม ได้เปนหัวหน้าผู้หนึ่งในการก่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเปนระบอบรัฐธรรมนูญ ได้บำเพ็ญกรณีตลอดมา และได้เปนหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ควบคุมการเจรจาสนธิสัญญา สืบต่อจากท่านนายพลตรีพระยาพหลพลพยุหเสนาจนสำเร็จ.

พล. ร.ต. หลวงสินธุสงครามชัย ได้เปนหัวหน้าผู้หนึ่งในการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเปนระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เปนนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยนี้ตั้งแต่ท่านได้เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ นับว่าเปนผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาของชาติและควบคุมให้กิจการของมหาวิทยาลัยดำเนินก้าวหน้าเปนอันมาก

น.อ. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เปนผู้หนึ่งในการที่ได้ร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเปนระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีส่วนในการเปนผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยนี้ และได้ช่วยเหลือในการทำสนธิสัญญาคราวนี้ และเวลานี้ก็เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม อันมีส่วนร่วมในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่.

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ได้เคยดำรงตำแหน่งนายกคณะกรรมการร่างกฎหมายซึ่งได้ร่างประมวลกฎหมายสำเร็จออกไปแล้วหลายบรรพ และเปนทั้งครูของโรงเรียนกฎหมายและครูโรงเรียนข้าราชการพลเรือนอันเปนแหล่งที่มาของมหาวิทยาลัยนี้ และในตอนที่ได้เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในราชการตุลาการอันนับว่าเปนสาระสำคัญในการเจรจาขอเอกราชในทางกฎหมาย และขณะที่เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็มีส่วนเปนผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉะบับหลังนี้

เจ้าพระยามหิธร ได้เปนผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้ชั้นที่หนึ่งแห่งเนติบัณฑิตรุ่นแรกของโรงเรียนกฎหมาย และ ได้เปนครูโรงเรียนกฎหมายมานาน เมื่อครั้งเปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในราชการตุลาการอันนับว่าเปนสาระสำคัญในการเจรจาขอเอกราชในทางศาล.

ประมวลคุณความดีของท่านดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยรู้สึกว่าการที่ท่านมาอยู่ในท่ามกลางศาสตราจารย์และครูผู้สอนทั้งหลาย ย่อมเปนประกันอันดียิ่งแห่งเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยนี้  ซึ่งนับแต่จะก้าวหน้าต่อไปไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยแห่งอารยประเทศทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสอันเปนศุภมงคลนี้ต้อนรับท่านในนามกรรมการ ศาสตราจารย์และผู้สอนของมหาวิทยาลัย และขอมอบเสื้อครุยอาจารย์ไว้แก่ท่านเพื่อเปนเกียรติยศและเปนสง่าราษีแก่มหาวิทยาลัยนี้สืบไป.”

 

นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กำลังมอบเสื้อครุยให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
กำลังมอบเสื้อครุยให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม

 

ต่อจากนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวตอบรับในฐานะตัวแทนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิสามัญ 

“ท่านผู้ประสาทน์การ และ คณะกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้าพเจ้าขอกล่าวในนามของบรรดาผู้ซึ่งได้รับมอบเสื้อครุยศาสตราจารย์ในขณะนี้

ในการที่ท่านผู้ประสาทการและคณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้ลงมติเปนเอกฉันท์  จะให้ข้าพเจ้าทั้งหลายดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิสามัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  แล้วได้นำเรื่องขึ้นเสนอต่อไปตามลำดับ จนได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเปนศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจเปนอันมากในเกียรติยศอันนี้  ยังได้รับมอบเสื้อครุยมาเปนเครื่องประดับเกียรติอีกด้วย จึงทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มปีติขึ้นอีกมาก  

ฉะนั้นข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านผู้ประสาทการและคณะกรรมการที่มีความตั้งใจดีแก่พวกข้าพเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงเจริญด้วยจัตุรพิธพร  และขอให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจงเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปไม่มีวันเสื่อมถอย ส่วนเสื้อครุยศาสตราจารย์นั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับมอบจะรักษาไว้เปนเครื่องประดับเชิดชูเกียรติยศต่อไป.

เสร็จสิ้นพิธีการรับรอง ทั้งศาสตราจารย์วิสามัญหมาดใหม่ ท่านผู้ประศาสน์การและคณะกรรมการมหาวิทยาลัย พร้อมแขกผู้มีเกียรติได้ร่วมถ่ายภาพและร่วมกันรับประทานอาหาร ระหว่างนั้น หลวงพิบูลสงครามได้กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและศาสตราจารย์วิสามัญ

 

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม กำลังกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีรองรับศาสตราจารย์วิสามัญ เย็นวันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2482
พลตรี หลวงพิบูลสงคราม กำลังกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญ
เย็นวันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2482

ศาสตราจารย์วิสามัญที่ทางมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้เสนอชื่อแต่งตั้งขึ้น ก็เพื่อสรรหาบุคคลเปี่ยมล้นความสามารถเข้ามาสวมบทบาทผู้สอนมหาวิทยาลัย บรรยายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ปฏิบัติงานให้แก่นักศึกษากรณีพิเศษ นอกเหนือไปจากผู้สอนชนิดสามัญประจำสำนักการศึกษา นับว่าเป็นวิธีจัดรูปแบบการศึกษาที่น่าสนใจ และสะท้อนวิสัยทัศน์กว้างขวางก้าวไกลของท่านผู้ประศาสน์การนามปรีดี พนมยงค์

 

หมายเหตุ: คำสะกดดังที่ปรากฏในบทความให้คงตามเอกสารต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง

  •  “ประกาศตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51 (1 กรกฎาคม 2477). หน้า 900
  • “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (24 มิถุนายน 2482). หน้า 809
  • ประชาชาติ. (7 กรกฎาคม 2482)
  • “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช ๒๔๗๖.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 (20 มีนาคม 2476). หน้า 1007-1026