Focus
- อาจารย์ดิเรก ชัยนาม ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจด้านการทูต มีความรู้ลึกซึ้ง เมตตา และมุ่งมั่นในการถ่ายทอดวิชาอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนระดับปริญญาโทด้านการทูตในประเทศไทย

ดิเรก ชัยนาม

วิเชียร วัฒนคุณ
วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นวันแห่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของศิษยานุศิษย์ของท่านอาจารย์ดิเรก ชัยนาม ถึงแม้ว่าเราจะได้เคยทราบมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า โรคภัยที่ได้คุกคามท่านอาจารย์อยู่นั้น ยากที่จะเยียวยาให้หายได้เป็นปกติ แต่เราก็ยังมีความหวังอยู่ว่าท่านอาจารย์จะยังไม่จากพวกเราไปในเวลาอันใกล้นั้น
ในฐานะที่เป็นศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์ และอยู่ในบรรดาศิษยานุศิษย์ชั้นปริญญาโท ทางการทูต รุ่นแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทําให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่เนื่องจากการที่ท่านอาจารย์เป็นผู้บรรยายวิชา “ประวัติการเกี่ยวพันระหว่างประเทศ” อันเป็นวิชาหลักวิชาหนึ่งของการศึกษาทางการทูตในสมัยนั้นเท่านั้น แต่พวกเรายังถือกันว่า ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่ได้สนับสนุนและร้องขอให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในครั้งนั้น เปิดการสอนชั้นปริญญาโททางการทูตขึ้นใหม่ภายหลังสงครามหลังจากได้ยุติการศึกษาวิชาแผนกนี้มาเป็นเวลานานหลายปี
ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า ทั้งในระหว่างชั่วโมงบรรยาย ทั้งที่มหาวิทยาลัยและที่บ้าน ท่านอาจารย์ตั้งใจและเต็มใจให้ความรู้และประสบการณ์ที่แก่พวกเราอยู่เสมอ การสอนของท่านอาจารย์เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา น่าสนใจและตื่นเต้น ความรู้ใหม่ที่ท่านอาจารย์ได้ประสิทธิ์ประสาทให้นั้น เปรียบเสมือนรากแก้วแห่งวิชาการทูตที่เสริมสร้างและค้ำจุนให้พวกเราเดินก้าวหน้าต่อไปสําหรับการศึกษาวิชานี้ ทั้ง ๆ ที่เรายอมรับกันในความเป็นพหูสูตรของท่าน แต่ท่านกลับกล่าวอยู่เสมอว่า ท่านยังต้องศึกษาอยู่เรื่อย ๆ และโดยไม่หยุดยั้ง ท่านกล่าวว่าชีวิตของคนเรานั้นสั้นนัก ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งอยากอ่านอยากรู้ในวิชาการมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะไม่มีโอกาสเรียนรู้ได้จบสิ้นเลยชั่วชีวิต ความทรงจำของพวกเรามีต่อท่านอาจารย์ จึงมีความแน่นแฟ้น และอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคนอย่างไม่มีวันเลือนลาง แม้วันเวลาจะผ่านล่วงเลยไปเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ในขณะนี้ แต่เราก็ยังรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งจะผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง
ฉะนั้น การจากไปของท่านอาจารย์ผู้เป็นที่รักและเคารพ จึงเป็นสิ่งซึ่งยากที่จะสรรหาถ้อยคําใด ๆ มาบรรยายความรู้สึกได้ทั้งหมด ภาพของท่านอาจารย์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้น ยังฝังอยู่ในความทรงจําของพวกเราอย่างชัดเจน สดชื่น แจ่มใส และประทับใจอยู่คล้ายกับว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ฉะนั้น
ความเลื่อมใสศรัทธาที่ศิษยานุศิษย์มีต่อท่านอาจารย์นั้น เป็นความเลื่อมใสศรัทธาที่บริสุทธิ์ ซึ่งศิษย์ทุกคนภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะท่านอาจารย์มีสิ่งที่เราเลื่อมใสศรัทธา ความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ในทางราชการ ความซื่อสัตย์สุจริต คุณงามความดีและเกียรติประวัติ ตลอดจนอุปนิสัยใจคอ พวกเราจึงถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่อาจกล่าวอย่างเต็มภาคภูมิได้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ดิเรก ชัยนาม”
ภายหลังการศึกษาในมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านอาจารย์เป็นพิเศษต่อมาอีก กล่าวคือ ในระหว่างที่ท่านอาจารย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับราชการอยู่ ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศที่อยู่ใกล้ชิดติดกันกับประเทศที่ท่านอาจารย์ประจําอยู่ ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสรับใช้และได้กราบเรียนขอความรู้และความเห็นของท่านอาจารย์อยู่บ่อย ๆ และท่านอาจารย์ก็ได้แสดงไมตรีจิต อนุญาตให้ ข้าพเจ้าโทรศัพท์ถึงท่านได้ทุกเมื่อทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ได้รับเอกสิทธิเป็นพิเศษในฐานะที่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์อยู่ตลอดมา ยิ่งไปกว่านั้น ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่ได้ร่วมงานกับท่านอาจารย์โดยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของท่านโดยตรง ในระหว่างการประชุมระหว่างสมัชชาสามัญสมัยที่ ๑๘ ของสหประชาชาติ ณ นคร นิวยอร์ก ข้าพเจ้าจึงอาจกล่าวจากประสบการณ์ของตนเองได้ว่า นอกจากท่านอาจารย์จะเป็นอาจารย์ที่ประเสริฐยิ่งของศิษย์แล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นผู้บังคับบัญชาที่เต็มไปด้วยคุณธรรมทุกประการ สำหรับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย

แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชาทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
ที่มา: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เพียงไม่กี่วัน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปกราบเท้าเยี่ยม และสนทนากับท่านอาจารย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช แม้ท่านจะซูบผอมและอ่อนเพลีย เนื่องจากขาดกำลัง เพราะโรคภัยที่สุดกำลังของแพทย์ที่จะเยียวยา แต่ข้าพเจ้าก็ยังสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่า แววตาของท่านยังเข้มแข็ง น้ำเสียงของท่านยังคงชัดเจนแจ่มใส ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเป็นเวลานาน ถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ในครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งของท่าน แต่อนิจจา หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันต่อมา ท่านก็ได้จากพวกเราไปเสียแล้ว การจากไปของท่าน นอกจากจะเป็นการสูญเสียซึ่งนำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ครอบครัวและญาติมิตร ตลอดจนทางราชการและวงการศึกษาแล้ว ยังเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ซึ่งนำความวิปโยคมาสู่ศิษยานุศิษย์ของท่านทุก ๆ คนอีกด้วย
เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์ ในวันนี้ ข้าพเจ้าขอบันทึกความทรงจำในฐานะของศิษย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ด้วยกตัญญูกตเวทีคุณและขอตั้งจิตอธิษฐานร่วมกับศิษยานุศิษย์ทั้งปวง เพื่อขอให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยกุศลของท่านอาจารย์ที่เคารพรัก จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพ เทอญ
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในความทรงจำของศิษย์ผู้หนึ่ง” เป็น “คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 3 : ในความทรงจำของศิษย์ผู้หนึ่ง วิเชียร วัฒนคุณ”
เอกสารอ้างอิง
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในความทรงจำของศิษย์ผู้หนึ่ง, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก, ม.ป.พ., หน้า 51-54.