เคยนึกเล่นๆ ตามประสาเด็กหนุ่มลุ่มน้ำตาปี เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตนเองชเป็นนักศึกษาอยู่ พอจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับสวนยางพาราบ้างหรือเปล่านะ?”
จวบจนปลายทศวรรษ 2550 ผมอ่านหลักฐานเอกสารเก่าๆ และเผอิญค้นพบข้อมูลเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งนี้เชื่อมโยงกับพืชเศรษฐกิจแห่งปักษ์ใต้เยี่ยงยางพาราเข้าจริงๆ
กล่าวคือ ช่วงต้นทศวรรษ 2480 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ได้เกิดแนวความคิดว่าจะทำสวนยางพาราที่จังหวัดทางภาคใต้
หนังสือพิมพ์ภาษาจีน ฮั่วเฉียวเยอะเป้า ฉบับประจำวันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2480 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับวันที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2481) เผยรายละเอียดว่า ทาง ม.ธ.ก.ใคร่อาศัยกิจการสวนยางพารา เพื่อแสวงหาเงินรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายภายในสถานศึกษา โดยมีมติตกลงจะจ่ายเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยจำนวน 50,000 บาท ซื้อที่ดินปลูกต้นยางพาราที่หาดใหญ่ เนื่องจากห้วงเวลานั้น กิจการทำสวนยางพารากำลังเจริญรุ่งโรจน์ยิ่งนัก และถ้ากิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น ก็จะลงทุนเพิ่มเติมอีก
โครงการอยู่ในระหว่างการวางแผน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยอาจจะจ้างนายเจียคูสีและนายตั้งแปะเจ็งมาเป็นที่ปรึกษา นั่นเพราะนายเจียคูสี คือพ่อค้าชาวจีนนามกระเดื่องดัง ผู้ประกอบกิจการสวนยางพาราที่หาดใหญ่มายาวนานกว่าสิบปี ส่วนนายตั้งแปะเจ็งก็มีความชำนาญอย่างมาก
นายเจียคูสี น่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับ ‘นายเจียกีซี’ หรือ ‘ขุนนิพัทธ์จีนนคร’ ผู้บุกเบิกพัฒนาหาดใหญ่จากป่าดงให้กลายเป็นเมือง
นายเจียกีซี เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนที่มณฑลกวางตุ้ง เข้ามาสู่ประเทศสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ล่องเรือรอนแรมท้องทะเลจนมาถึงบางกอกในปี พ.ศ. 2447 เริ่มทำงานร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ (ยี่ห้อเต็กเฮงไท้)
ประมาณห้าปีถัดมา ทางการจะจัดสร้างทางรถไฟสายใต้ต่อจากเพชรบุรีไปจรดชายแดนภาคใต้ เขาจึงสมัครทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟในตำแหน่งผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไป พอลงไปสร้างทางรถไฟก็เผชิญความยากลำบากเหลือแสน พื้นที่ภาคใต้ล้วนมีป่าทึบรายล้อม แรงงานชาวจีนทั้งหลายต้องแผ้วถางป่าเพื่อเปิดทางให้วางรางเหล็กได้ ผู้จัดการทั่วไปมิแคล้วสวมบทบาทผู้คุมงานถางป่า
ครั้นสร้างทางรถไฟสายใต้มาถึงละแวกย่านบ้านน้ำน้อย อยู่ระหว่างสงขลากับหาดใหญ่ ซึ่งยุคนั้นพื้นที่หาดใหญ่ยังเรียกขานกันว่า “เหนือ” หรือต่อมาเป็นอำเภอเหนือ นายเจียกีซีตัดสินใจลาออกจากงาน มาดหมายจะไปลงหลักปักฐานที่สงขลา ที่นั่นโจรปล้นกวาดเอาทรัพย์สินไปเกือบหมด เขาเลยหาหนทางย้อนกลับไปตรัง เข้าพบนายชีจื้อถิ่น ผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟ และได้รับงานควบคุมการสร้างทางรถไฟสายใต้อีกครา
ต่อมาพอสร้างอุโมงค์สำเร็จก็เรียกขานกันว่า “อุโมงค์ช่องเขา" ก่อนจะถึงสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ และสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง
ตลอดทศวรรษ 2460 นายเจียกีซีพยายามบุกเบิกหักร้างถางพง และพัฒนาพื้นที่ขยายออกไปจากสถานีโคกเสม็ดชุนให้กลายเป็นเมือง ภายหลังจากสร้างทางรถไฟมาถึง เขาสร้างห้องแถว ตัดถนนหลายสาย สร้างสถานพยาบาล และสร้างตลาด โดยเขาวางผังเมืองเอง ค่อยก่อตั้งกิจการต่างๆ ทำการค้ากับชาวมลายูและชาวต่างชาติ ทั้งโรงแรม บริษัทเหมืองแร่ และสวนยางพารา
นายเจียกีซีได้ตั้งชื่อบริเวณบ้านของตนที่ตั้งอยู่ในย่านโคกเสม็ดชุน (เพราะเคยเป็นดงต้นเสม็ด) เพื่อใช้ในการติดต่อทางไปรษณีย์กับชาวต่างชาติว่า “บ้านหาดใหญ่” ต่อมาทางการจะเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีรถไฟโคกเสม็ดชุนเสียใหม่ จึงเปลี่ยนเป็นสถานีหาดใหญ่
ต้นทศวรรษ 2470 ท้องที่หาดใหญ่ได้รับการยกฐานะเป็นสุขาภิบาล นายเจียกีซีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสุขาภิบาล ล่วงมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ทรงทราบกิตติศัพท์ความเป็นนักพัฒนาเมืองของเขา จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ และ ราชทินนามเป็น “ขุนนิพัทธ์จีนนคร”
แนวความคิดที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะทำสวนยางพาราในหาดใหญ่ช่วงต้นทศวรรษ 2480 คงจะสืบเนื่องมาจากปลายทศวรรษ 2470 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดีเคยเยี่ยมเยือนดูงานกิจการสวนยางพาราที่นั่น
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2479 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และ คณะผู้ติดตาม ได้ออกเดินทางไปตรวจราชการและเยือนหลายจังหวัดทางภาคใต้ ดังผมเคยเขียนเล่าไว้ (ดูที่ ล่องใต้ไปกับสองรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ พระยาฤทธิอัคเนย์) ยิ่งเฉพาะในวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน สมาคมสวนยางจังหวัดสงขลาได้จัดเลี้ยงต้อนรับสองรัฐมนตรี ณ บ้านพักสถานีหาดใหญ่
นับแต่กลางทศวรรษ 2470 เรื่อยมา โดยเฉพาะสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กิจการสวนยางพารามีแนวโน้มรุ่งเรืองเฟื่องฟู และก่อคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เป็นสินค้าส่งออกอันได้รับความเอาใจใส่จากทางการและได้รับความสนใจจากประชาชน
กระทั่งการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวาระต่างๆ ก็มักหยิบยกประเด็นเรื่องสวนยางพารามาพิจารณากันเนืองๆ รัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนและปรับปรุงการผลิตยางพารา เข้าร่วมภาคีความตกลงควบคุมจำกัดยางระหว่างประเทศ เอื้ออำนวยให้ราษฎรค้าขายยางพาราได้ราคาสูงขึ้น
วกกลับมาเอ่ยถึง ฮั่วเฉียวเยอะเป้า สื่อที่รายงานข่าว ม.ธ.ก. จะทำสวนยางพารา ถือเป็นหนังสือพิมพ์จีนอันเลื่องลือในเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 เริ่มจัดพิมพ์เผยแพร่ฉบับแรกสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2471 ดำเนินกิจการโดยนายเสิงอิ้วหลิน ผู้มีเชื้อสายจีนแคะ สำนักงานเดิมตั้งอยู่ริมถนนซอยเซียงกง ข้างวัดปทุมคงคา
ปลายปี พ.ศ. 2473 และ ต้นปี พ.ศ. 2474 เพลิงไหม้สำนักงานและโรงพิมพ์เสียหายหลายหน จึงย้ายมาตั้งสำนักงานใหม่บริเวณตลาดน้อย
ปี พ.ศ. 2479 ได้เปลี่ยนคณะผู้จัดทำใหม่และดำเนินกิจการโดยนายเฉินโสวหมิง พร้อมย้ายสำนักงานใหม่มาตั้งอย่างใหญ่โตหรูหราตรงถนนเสือป่า จัดงานพิธีเปิดอาคารในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม และอนุญาตให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมกิจการ มีคนมาเข้าชมมากกว่าหมื่นราย
ผมยังตามสืบค้นหลักฐานไม่กระจ่างชัดว่า ท้ายสุดแล้ว ม.ธ.ก. ได้ประกอบกิจการสวนยางพาราที่หาดใหญ่หรือไม่ แต่อย่างน้อยเราก็รับรู้ว่าเคยปรากฏแนวความคิดเช่นนี้
มูลเหตุที่ผู้ประศาสน์การนามปรีดี พนมยงค์ ดำริเรื่องกิจการสวนยางพารา ย่อมสะท้อนความวาดหวังจะแสวงหาทุนเพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีฐานะทางการเงินดีขึ้น มีแหล่งเงินอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเทอมนักศึกษา จนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ
ขณะงบประมาณที่ทางรัฐบาลจะอุดหนุนมหาวิทยาลัยค่อนข้างจำกัด อาจใช้จ่ายภายในสถานศึกษาไม่เพียงพอ ซึ่งนายปรีดีพยายามครุ่นคิดวิธีการนานาเสมอๆ เฉกเช่นในปีถัดมา ม.ธ.ก. ได้อาศัยการซื้อกิจการธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม หรือ “ธนาคารเอเชีย” มาบริหารเป็นธนาคารของสถานศึกษา
ในปี พ.ศ. 2482 ขณะเมื่อธนาคารเอเชียเพิ่งเปิดกิจการขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงถือโอกาสเข้าถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้ ดังหลักฐานของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งระบุว่า
“การที่มหาวิทยาลัยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารเอเชียนั้น มิใช่เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่เพื่อผลประโยชน์ในทางฝึกหัดให้ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความรู้ในทางธนาคารได้โดยสะดวกด้วย มีนักศึกษาด้านวิชาการบัญชีและพาณิชย์โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหลายคนที่ส่งให้ไปทํางานทางธนาคาร ก็ได้รับประโยชน์ในทางความรู้และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในธนาคารเอเชีย...มากหลายด้วยกัน”
เรื่องราวที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะทำสวนยางพารา แม้อาจดูเป็นแค่เกร็ดข้อมูลเล็กๆ ทว่า กลับบ่งชี้ประเด็นสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทยไว้ไม่น้อยทีเดียว
เอกสารอ้างอิง
- กรุงเทพฯวารศัพท์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 1112 (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479).
- บุญเกิด งอกคำ. ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งความหวัง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนดีที่โลกต้องการ. กรุงเทพฯ : วิจิตรศิลป์การพิมพ์, 2526
- ลักษมี จิระนคร. “ขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้บุกเบิกหาดใหญ่ยุคแรกสุด อุทิศที่ดิน พัฒนาจากป่าสู่เมืองใหญ่.” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2528)
- วารสารและหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ตีพิมพ์ในประเทศไทย ประวัติและบรรณานุกรม (Chinese periodicals and newspapers printed in Thailand: history and bibliography). กรุงเทพฯ: งานบริการหนังสือพิมพ์และวารสาร หอสมุดแห่งชาติ, 2519
- วิชิต กาฬกาญจน์. นโยบายการผลิตและการค้ายางพาราในภาคใต้ของไทย พ.ศ. 2444-2503. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528
- ฮั่วเฉียวเยอะเป้า. (22 มีนาคม 2480)
- ข้อมูลตอนท้ายเรื่องธนาคารเอเชีย ใน ตําราคําสอน ธนาคารเอเชีย และ โรงพิมพ์ ม.ธ.ก. อ่านฉบับเต็มได้ที่ คลิกที่นี่