เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2479 ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ‘พระยาฤทธิอัคเนย์’ (สละ เอมะศิริ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และ คณะผู้ติดตามได้ออกเดินทางไปตรวจราชการและเยือนหลายจังหวัดทางภาคใต้
ในวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2479 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยาฤทธิอัคเนย์ และคณะ เดินทางถึงจังหวัดสงขลา เจ้าของโรงงานทำแป้งสาคูยี่ห้อบันยี่เสงเชื้อเชิญให้เข้าชมโรงงานของตนและเลี้ยงน้ำชา ต่อจากนั้น คณะของสองรัฐมนตรีไปเยี่ยมตึกสาขาของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญประจำจังหวัด ที่เพิ่งสร้างหมาดใหม่
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้โอวาทแก่สมาชิกสาขาสมาคมและกรรมกรรถสามล้อ หลังกล่าวโอวาทเสร็จ คณะกรรมกรเชื้อเชิญสองรัฐมนตรีและคณะให้นั่งรถสามล้อชมสภาพตัวเมืองสงขลา มิหนำซ้ำยังปั่นไปส่งถึงที่พำนักค้างแรม ระหว่างนั่งรถชมเมือง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเอ่ยปากชื่นชมความสามัคคีของคณะกรรมกร และ ซื้อลอตเตอรี่แจกจ่ายให้คณะกรรมกร พร้อมกับอำนวยอวยพรขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่ง
ตกตอนค่ำ คณะข้าราชการ คณะอำนวยการสาขาสมาคมรัฐธรรมนูญ คณะมนตรีเมือง ข้าราชการเบี้ยบำนาญ กรรมการสงขลาสโมสร ได้จัดงานเลี้ยงอาหารต้อนรับ ณ สงขลาสโมสร ปรากฏผู้ร่วมงานจำนวนมาก ทั้งข้าราชการไทยและต่างประเทศ เช่นกงสุลอังกฤษประจำสงขลา เป็นต้น
วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน คณะของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ พระยาฤทธิอัคเนย์ ออกไปตรวจราชการที่จังหวัดสตูล ขากลับแวะโรงเรียนฝึกหัดครู ตำบลท่าชะมวง และสถานีทดลองของกรมเกษตรประจำภาคใต้ ตำบลควนเนียง ที่อำเภอกำแพงเพชร (ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอรัตภูมิ และใช้ชื่อนี้ตราบปัจจุบัน) ย้อนมาถึงหาดใหญ่ตอนบ่าย แวะโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคใต้ ตำบลคอหงส์ ร่วมจิบน้ำชาที่สมาคมยางแห่งหาดใหญ่จัดเลี้ยง ก่อนจะหวนคืนสู่ตัวเมืองสงขลา เยี่ยมศาลจังหวัด เยี่ยมตอบกงสุลอังกฤษ และ รับประทานอาหารมื้อค่ำซึ่งพ่อค้าและประชาชนเป็นเจ้าภาพจัดอาหาร ณ สงขลาสโมสร
วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน สองรัฐมนตรีและคณะลงเรือยนต์แล่นไปในทะเลสาบสงขลา ตรวจดูการทำประมงและแวะดูการทำรังนกนางแอ่นที่เกาะสี่เกาะห้า นายอากรรังนกจัดเลี้ยงอาหารมื้อกลางวัน ก่อนจะออกเดินทางโดยเรือยนต์ไปเยือนพัทลุง และขึ้นรถยนต์ไปพักค้างคืนที่จังหวัดตรัง
กระทั่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยาฤทธิอัคเนย์ และคณะเดินทางมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน จวบเวลา 15.20 น. ได้ไปเยี่ยมศาลากลางจังหวัดและศาลจังหวัด ในอำเภอบ้านดอน (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี) เข้าพักผ่อน ณ สโมสรสุราษฎร์ธานี ประมาณ 19.00 น. คณะราชการ คณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดเลี้ยงอาหารต้อนรับ
วันพุธที่ 17 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 7.00 น. คณะของสองรัฐมนตรีตระเวนดูสถานีตำรวจภูธร, เรือนจำ, สุขศาลา, ศาลาเทศบาล, ที่ทำการไปรษณีย์, โรงเรียนประจำจังหวัด (ปัจจุบันคือโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ผมเองก็เป็นศิษย์เก่า) ตลาด และชมกิจการโรงเลื่อยไม้บริษัทอีสต์ เอเชียติก (East Asiatic Company) รวมทั้งออกจากตัวเมืองบ้านดอนไปยังควนท่าข้าม ในเขตท่าข้าม (ทุกวันนี้คืออำเภอพุนพิน แต่ชาวบ้านเรียกติดปากเนืองๆ ว่า “ท่าข้าม”)
บริเวณอันเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตต์ (สำหรับผู้ป่วยจิตเวช) ประจำภาคใต้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2478 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับบทบาทดูแลทางด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ จึงดำริให้จัดสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น ดังเขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ความตอนหนึ่งว่า
“ฝ่ายบุคคลที่เป็นโรคจิตต์ ซึ่งที่ที่แล้วมาในต่างจังหวัดได้ฝากไว้ยังเรือนจำนั้น ต่อไปจะได้เริ่มจัดให้ไปอยู่ ณ โรงพยาบาลโรคจิตต์ ซึ่งจะสร้างขึ้นสำหรับภาคใต้ ๑ แห่ง ภาคเหนือ ๑ แห่ง”
แน่ละ โรงพยาบาลโรคจิตต์สำหรับภาคใต้ คือ ‘โรงพยาบาลสวนสราญรมย์’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนสำหรับภาคเหนือคือ ‘โรงพยาบาลสวนปรุง’ จังหวัดเชียงใหม่
ฉะนั้น ปีถัดมา กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2479 ครั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาตรวจราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลยมาดูการก่อสร้างโรงพยาบาลตามนโยบายของตนด้วย
“โรงพยาบาลสวนสราญรมย์” บนควนท่าข้ามก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดรักษาคนไข้จิตเวช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2480 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 20 มีนาคม พ.ศ. 2481) นับเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในส่วนภูมิภาคและแห่งที่สองของประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และคณะผู้ติดตามขึ้นรถไฟที่สถานีสุราษฎร์ธานี ไม่ห่างไกลจากควนท่าข้าม เพื่อเดินทางต่อไปจังหวัดชุมพร ก่อนจะกลับสู่กรุงเทพมหานคร
การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ และ พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ไปตรวจราชการและเยี่ยมเยือนหลายจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา, สตูล, พัทลุง, ตรัง, สุราษฎร์ธานี และชุมพร นับเป็นภารกิจสำคัญอันสะท้อนบทบาทรัฐมนตรีผู้เอาใจใส่ต่อสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างแท้จริง หาใช่เพียงแค่ปฏิบัติตามหน้าที่ แต่เอาตัวเองลงไปคลุกคลีเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน เฉกเช่นกรณีของนายปรีดีที่ให้ความกันเองกับคณะกรรมกรรถสามล้อที่สงขลา แม้จะมิได้ครองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ยังคำนึงคอยติดตามดูภาระงานที่ตนเองเคยผลักดันไว้ ทั้งการสาธารณสุขและการแพทย์ เยี่ยงโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยจิตเวช การปกครองทั้งเรื่องเทศบาลและสุขาภิบาล การราชทัณฑ์ หรือแม้จะมารั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แต่ก็ยังหมั่นใส่ใจด้านการกสิกรรม อุตสาหกรรมและกิจการ อื่นๆ ทั้งการผลิตแป้งสาคู การทำรังนกนางแอ่น เป็นต้น
พอ “ล่องใต้” ไปกับทั้งสองรัฐมนตรีผ่านการอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากเพลิดเพลินกับข้อมูลราวอยู่ร่วมเหตุการณ์จริงๆ แล้ว พลันก่อเกิดปณิธานที่จะยึดถือแนวทางการมุ่งลงไปสัมผัสกับประชาชนเพื่อทำความเข้าใจพวกเขาทั้งหลายให้แจ่มชัด
เอกสารอ้างอิง
- หจช. มท. 5.10/31 รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเกษตราธิการไปตรวจราชการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พ.ศ. 2479)
- หจช. มท. 5.14/25 แจ้งข่าวเรื่องหลวงประดิษฐมนูธรรมกับพระยาฤทธิอาคเนย์ไปตรวจราชการทางจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2479)
- ท่องเที่ยวสัปดาห์ (สิงหาคม 2482)
- ท่องเที่ยวสัปดาห์ (มกราคม 2482)
- ท่องเที่ยวสัปดาห์ (กุมภาพันธ์ 2482)
- “สุนทรพจน์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478” ใน ชุมนุมปาฐกถาของคนสำคัญ. ส. คนปรีชา (รวบรวม). พระนคร: สุวรรณบรรพต, 2504
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2510. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2510
หมายเหตุ: บางคำสะกดอิงจากเอกสารต้นฉบับเดิม