ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ตําราคําสอน ธนาคารเอเซีย และโรงพิมพ์ ม.ธ.ก.

9
กรกฎาคม
2563

ม.ธ.ก. ในระยะเริ่มต้น 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก. เป็นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแห่งที่สอง รองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่คนธรรมดาสามัญริเริ่มจัดตั้งขึ้น เป็นตลาดวิชาที่ได้ให้การศึกษาเป็นพื้นฐานแก่กุลบุตรกุลธิดาของไทย เพื่อใช้วิชาชีพเลี้ยงตนเอง และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในเวลาต่อมาอย่างมากมาย  

มหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มทําพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ซึ่งเป็นวันตรงกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  สถานที่ครั้งแรกใช้โรงเรียนกฎหมายเดิมเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ซึ่งเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในเวลานี้ [2533] (อาคารหลังเดิมถูกรื้อออกไปและสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทนที่) ในพิธีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนรานุวัติวงศ์ ผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน เสด็จมาเป็นองค์ประธาน 

ในการนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ได้กราบบังคมทูลถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัย มีข้อความว่า

“ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

“วันนี้เป็นวันมงคลดิถีบรรจบพร้อมกัน 2 ประการ ประการที่หนึ่ง วันที่ 27 มิถุนายน เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรสยาม ประการที่สอง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้พยายามเร่งรัดการงานให้สามารถเปิดได้ในวันนี้ เพื่อดําเนินการสอนวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตามพระราชบัญญัติที่ได้ประกาศตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้นให้ทันในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ 

“การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดี ตั้งแต่ชั้นต่ำตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นในการที่จะอํานวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้จึงจําต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น 

“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ําบําบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจําเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น 

“ในปัจจุบันนี้ประเทศสยามมีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่จะปรับระดับการศึกษาของราษฎรให้ถึงขนาด เหมาะแก่กาลสมัย  ถ้าระดับการศึกษายังไม่เจริญถึงขนาดตราบใด ความก้าวหน้าของประเทศก็ยังจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอีกนาน  ยิ่งในสมัยที่ประเทศของเราดําเนินการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว เป็นการจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสําหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองที่จะใช้เสรีภาพในการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป 

“นับแต่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ตั้งขึ้นแล้ว ปรากฏว่าได้รับความยินยอมของมหาชนเกินความคาดหมาย โดยมีผู้สมัครเข้าเรียนในชั้นนี้ถึง 7,094 คน แม้ผู้ที่ละทิ้งการศึกษามานานแล้ว ก็กลับเริ่มศึกษาในฐานะที่เป็นนักเรียนของมหาวิทยาลัย นับได้ว่าบรรลุผลขั้นต้นของความมุ่งหมายที่จะได้เรียนรู้วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกันแพร่หลาย 

“บัดนี้กิจการของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ดําเนินมาแล้วโดยเรียบร้อย เตรียมพร้อมที่จะเปิดทําการประศาสน์วิชาให้สมกับความประสงค์ของพระราชบัญญัติแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล อัญเชิญฝ่าละอองพระบาทได้ทรงเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อความสวัสดิมงคลให้บังเกิดความวัฒนาถาวรแก่มหาวิทยาลัยนี้สืบไป 

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณาโปรดเกล้า”

เมื่อผู้ประศาสน์การฯ กล่าวคํากราบบังคมทูลจบลง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนรานุวัติวงศ์ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีดํารัสตอบดังนี้ 

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้เห็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นแน่นหนา รัฐบาลนี้และสภาผู้แทนราษฎรมีความคิดเห็นกันถูกต้องในการที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้น ข้าพเจ้าเห็นสอดคล้องต้องด้วยถ้อยคําที่ท่านกล่าวมานี้ว่า ในสมัยนี้ประเทศเราจะต้องเผยแพร่วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้แพร่หลาย เพื่อปวงชนจะได้รับทราบความเป็นไปในบ้านเมืองซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของ 

“ข้าพเจ้ารู้สึกปิติที่ทราบว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับความนิยมของมหาชน จนมีนักศึกษามากหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  ข้าพเจ้ามีความหวังอย่างมั่นคงว่ามหาวิทยาลัยนี้จะดํารงถาวรและดําเนินการโดยสมความปรารถนาทุกประการ 

“ข้าพเจ้าขอเปิดมหาวิทยาลัยนี้ด้วยสัจจาธิษฐานของอํานาจพระรัตนตรัยให้คุ้มครองมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งอาจารย์และนักศึกษาทั้งหลาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ดําเนินการ ขอให้มหาวิทยาลัยนี้มั่นคงถาวรยืนนานบรรลุถึงความสําเร็จอย่างไพศาลสมบูรณ์ ขอให้มหาวิทยาลัยนี้จงเป็นที่เกื้อกูลวิชาการเมืองให้นักศึกษามีความรุ่งเรือง สามารถจะกระทํากิจอันเป็นประโยชน์แก่ชาติและประเทศต่อไปข้างหน้า เทอญ” 

เป็นอันว่านับตั้งแต่เวลานั้น มหาวิทยาลัยแห่งที่สองของประเทศซึ่งมีลักษณะมหาวิทยาลัยเปิด เนื่องจากรับผู้ที่สนใจจะเข้าศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวางเป็นแห่งแรกตามเจตนารมณ์ทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและผู้ก่อตั้งที่จะให้ประชาชนชาวไทยมีพื้นฐานการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้มากที่สุดที่จะมากได้ตามระบอบรัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งขึ้นและมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นฐานรองรับ 

ในความเป็นจริงการที่จะก่อตั้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถาบันใดหนึ่ง ย่อมจะต้องมีแผนหรือโครงการหลาย ๆ อย่างให้พร้อม มีการแก้ไข มีการหารือในรายละเอียด รวมทั้งเตรียมการณ์ไว้อย่างพร้อมเพรียงแล้วจึงจะทําการเปิดได้  ม.ธ.ก. นี้ก็เช่นกัน ก่อนที่จะมีพิธีเปิดตามข้อความและพิธีการข้างต้นนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างได้เตรียมกันไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ดีการที่มหาวิทยาลัยได้เตรียมการต่าง ๆ ไว้ก่อนนั้น เช่น การกําหนดหลักสูตร การกําหนดคุณสมบัติของผู้ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาเล่าเรียน การกําหนดคุณสมบัติของครูอาจารย์ ฯลฯ เข้าใจว่าได้มีการพูดถึงกันมาหลายครั้งและหลายแห่งมาแล้ว และเพื่อเป็นการเสริมสร้างให้สมบูรณ์ จะขอนําเอารายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างมากล่าวถึงในคราวนี้ เช่น การจัดทําตํารา 

คณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสําคัญและจําเป็นยิ่งในเรื่องนี้ จึงได้ประชุมหารือและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดกําหนดว่าจะต้องมีแผนกจัดทําตําราขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ตําราในภาษาไทยเกี่ยวกับกฎหมายมีไม่เพียงพอแก่การศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา จึงเห็นควรจ้างเนติบัณฑิตที่มีความรู้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นผู้ช่วยจัดทําตําราขึ้นอย่างน้อย 4 ท่าน  ในการนี้ มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธาน โดยมี ม. แอล. ดูปลาต์ กับ ม. ฮัตเจสสัน เป็นกรรมการจัดการสอบแข่งขันคัดเลือกให้มีผู้ช่วยจัดทําตําราขึ้นในมหาวิทยาลัยตามความต้องการ 

หน้าที่ของผู้ช่วยจัดทําตําราที่มหาวิทยาลัยกําหนดว่าจ้างเนติบัณฑิตผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสนี้ มีดังนี้ 

  1. ค้คว้าจากตําราและตัวบทกฎหมายภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส แปลเรียบเรียง ร่างเป็นตําราหรือบันทึกตามหัวข้อในลักษณะวิชาที่มหาวิทยาลัยจะกําหนดให้ 
  2. ช่วยเหลือในกิจการทั่วไปเกี่ยวกับการบรรยาย การทวนคําสอนและกิจการอื่นอันเกี่ยวกับวิชากฎหมายและหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะกําหนดให้ 

กรรมการทั้งสามที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งทําหน้าที่สอบเนติบัณฑิตผู้สมัครสอบเข้าทําหน้าที่ผู้ช่วยจัดทําตําราที่สมัครเข้ามา โดยมีการสอบทั้งข้อเขียนและปากเปล่า การสอบข้อเขียนคือ 

  • เรียงความภาษาไทยในเรื่องกฎหมาย
  • แปลกฎหมายภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
  • แปลกฎหมายภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย ส่วนการสอบปากเปล่านั้น ผู้สมัครสอบจะต้องสอบต่อกรรมการทั้งสามท่าน 
  • อธิบายข้อความในภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
  • อธิบายข้อความในภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย และ
  • ทําการค้นจากบรรดาหนังสือที่คณะกรรมการจัดการสอบนํามาให้ 

มีเนติบัณฑิตสมัครสอบเข้าเป็นผู้จัดทําตําราตามความต้องการของมหาวิทยาลัย 12 ท่าน แต่เมื่อสอบข้อเขียนผ่านไปแล้วปรากฏว่า ผู้มีสิทธิเข้ามาสอบปากเปล่ามีเพียง 8 นายเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่ากรรมการทั้ง 3 ท่านที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้นมา จะต้องเลือกเฟ้นเนติบัณฑิตทั้ง 8 ให้เหลือเพียง 4 ท่านนั้นที่จะมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดทําตําราของมหาวิทยาลัยตามความต้องการ 

เนติบัณฑิตสยามทั้ง 4 มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันมากนัก ทําความหนักใจให้แก่กรรมการไม่น้อย แต่เมื่อมีตําแหน่งหน้าที่เพียง 4 ก็ต้องตัดออกไป 4 ด้วยความเสียดาย ท่านทั้งสี่นี้ คือ นายวิจิตร ลุลิตานนท์, ขุนประเสริฐศุภมาตรา, ดร.เสริม วินิจฉัยกุล และ ดร.ทวี ตะเวทิกุล  

ท่านทั้งสี่ที่ผ่านการเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้จัดทําตําราที่มหาวิทยาลัยต้องการนี้ เมื่อได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่กําหนดไว้แล้วข้างต้น มหาวิทยาลัยเห็นว่า ท่านเหล่านี้มีความรู้ความสามารถดียิ่ง จึงมองเห็นประโยชน์ขั้นต่อไปที่ทําให้นักศึกษาได้รับความรู้ความสามารถไปด้วย จึงกําหนดให้ทําหน้าที่เป็นผู้บรรยายลักษณะวิชาตามหลักสูตรขั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งเริ่มแต่สมัยการศึกษา พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา โดยแบ่งให้แต่ละท่านเป็นผู้บรรยายตามความถนัดของตน เช่น อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ บรรยายวิชาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ภาค 1 และวิชากฎหมายการคลังใน ภาค 2 อาจารย์ขุนประเสริฐศุภมาตราบรรยายในวิชาเบื้องต้นกฎหมายทั่วไป อาจารย์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล บรรยายในวิชานิติกรรมและหนี้ เป็นต้น

ม.ธ.ก. ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีหลักสูตรให้ศึกษาในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต และประกาศนียบัตรการบัญชีชั้นสูง คือ ที่สนใจกฎหมายก็เรียนในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ถ้าสนใจวิชาบัญชีก็ศึกษาในหลักสูตรวิชาการบัญชีชั้นสูง หลักสูตรแรก 4 ปี หลักสูตรหลัง 5 ปี จึงถือเสมือนว่า หลักสูตรกฎหมายนั้นปริญญาตรี ส่วนหลักสูตรบัญชีชั้นสูงนั้นเทียบเท่าปริญญาโท 

แต่ต่อมามหาวิทยาลัยได้กําหนดให้มีปริญญาโทจากผู้ที่สําเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิตแล้วอีก 4 แขนง คือ ปริญญาโททางนิติศาสตร์, ทางรัฐศาสตร์, ทางเศรษฐศาสตร์ และทางการทูต โดยใช้เวลาเพิ่มเติมอีก 2 ปี ส่วนทางการบัญชีให้คงเดิมไว้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่สําเร็จการศึกษาอนุปริญญา (กฎหมาย 3 ปี - สําเร็จปีที่ 3 หรือบัญชีสําเร็จปี ที่ 4) มีสิทธิที่สมัครสอบในหน่วยงานต่าง ๆ เทียบเท่าปริญญาตรีได้ 

ม.ธ.ก. มีคณาจารย์ที่สนใจและสําเร็จวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์มาจากต่างประเทศหลายท่าน และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่สนใจในด้านนี้ ดังนั้น สิ่งแรกที่ทุกคนได้คิดคํานึงมาตลอดเวลาที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก็คือ สถาบันจะยืนยงคงถาวรอยู่ได้ ก็คือ รายรับกับรายจ่ายจะต้องสมดุลกัน 

กิจการของมหาวิทยาลัยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ และจะขยายตัวออกเรื่อยไปตราบเท่ามหาวิทยาลัยได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้น จํานวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น 

รวมทั้งเมื่อทางการกําหนดให้สถาบันการศึกษาระดับเตรียมมหาวิทยาลัยเป็นของตนเองในปี 2481 เช่น โรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฯลฯ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แม้จะเพิ่งตั้งขึ้น ก็จําเป็นต้องมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียม ม.ธ.ก.ขึ้นมาด้วยเช่นกัน เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในเวลานั้น 

แต่ขณะเดียวกันเงินอุดหนุนที่มหาวิทยาลัยได้รับจากทางการ (ถ้ามี) ไม่สามารถรองรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมานี้ได้ อีกประการหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยทุกหลักสูตร ไม่ว่าพาณิชย์บัญชี กฎหมายทั้งระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท จะมีวิชาเศรษฐศาสตร์รวมอยู่ด้วยเสมอไป เมื่อเป็นเช่นนี้หากมหาวิทยาลัยมีส่วนอยู่ในธนาคารใดหนึ่งได้จะโดยขอเข้าถือหุ้นส่วนหรืออะไรก็ตาม จะรองรับความต้องการทั้งสองประการนี้ได้แน่นอน 

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2482 ขณะเมื่อธนาคารเอเชียเพิ่งเปิดกิจการขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงถือโอกาสเข้าถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้ ดังหลักฐานของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งระบุว่า 

“การที่มหาวิทยาลัยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารเอเชียนั้น มิใช่เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่เพื่อผลประโยชน์ในทางฝึกหัดให้ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความรู้ในทางธนาคารได้โดยสะดวกด้วย มีนักศึกษาด้านวิชาการบัญชีและพาณิชย์โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหลายคนที่ส่งให้ไปทํางานทางธนาคาร ก็ได้รับประโยชน์ในทางความรู้และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในธนาคารเอเชีย...มากหลายด้วยกัน” 

วรรคต่อมาของเอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า 

“ธนาคารเอเชียดําเนินการได้ด้วยดี เป็นที่มาแห่งรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียประโยชน์นี้ไปภายหลังรัฐประหาร 2490 โดยการกระทําและเหตุผลที่มืดมน หากมหาวิทยาลัยยังคงรักษาความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารได้อยู่จนปัจจุบัน และสามารถที่จะควบคุมการดําเนินกิจการให้เป็นไปด้วยดีอย่างที่เคยเป็นมา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยย่อมจะมีรายได้เป็นผลประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยมิใช่น้อย”

 

แท่นพิมพ์เดิมของโรงพิมพ์นิติสาส์น ซึ่งต่อมาเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันจัดแสดงในหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
แท่นพิมพ์เดิมของโรงพิมพ์นิติสาส์น ซึ่งต่อมาเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันจัดแสดงในหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

 

โรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัย 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขออนุญาตตัดตอนจากแฟ้มประวัติของศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ มาเพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบ ดังต่อไปนี้ 

เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่มีโรงพิมพ์ของตนเอง โดยได้รับการยกให้จากท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์นิติสาส์น เมื่อ พ.ศ. 2484 เพราะเหตุท่านเจ้าของเดิมมีความปรารถนาที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความสะดวกในการพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ 

กิจการโรงพิมพ์ดําเนินการต่อไป แต่ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมาย จึงต้องปิดในปี 2501 แต่ทางมหาวิทยาลัยมิได้ทิ้งความคิดที่จะรื้อฟื้นงานโรงพิมพ์ขึ้นมาใหม่  ในปี 2504 จึงได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดทําและพิมพ์ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2504 ดังนี้ 

โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมการจัดทําตําราและหนังสือคู่มือการศึกษาในสาขาวิชาการต่าง ๆ และปรับปรุงกิจการโรงพิมพ์ให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับโครงการจัดทําตําราและคู่มือการศึกษา 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 สภามหาวิทยาลัยจึงตราข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับว่าด้วยการจัดทําและพิมพ์ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2504” 

ข้อ 2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3. การจัดทําและพิมพ์ตําราให้แบ่งออกเป็น 

1. งานจัดทําและพิมพ์ตํารา ได้แก่ การประมวลแนวการสอนในลักษณะวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้ครบถ้วนทุกคณะ จัดดําเนินการให้มีตําราและคําบรรยายในลักษณะวิชาต่าง ๆ ตลอดจนเอกสารประกอบการศึกษาให้สมบูรณ์เพื่อประโยชน์การศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาให้ครบถ้วนลักษณะวิชา ทั้งนี้โดยการร่วมมือกับคณบดีต่าง ๆ 

2. งานโรงพิมพ์ ได้แก่ การจัดพิมพ์คําบรรยายตํารา คู่มือการศึกษา และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทุกชนิดทั้งสิ้นของมหาวิทยาลัย และเมื่อสามารถทํางานของมหาวิทยาลัยได้สมบูรณ์แล้วจะขยายงานออกรับพิมพ์งานเฉพาะของหน่วยราชการ องค์การของรัฐ หรือสถานการศึกษาของทางราชการ ก็จะกระทําได้ 

3. งานหนังสือพิมพ์วิชาการของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การจัดออกวารสาร “ธรรมศาสตร์” เพื่อเผยแพร่วิทยาการในธรรมศาสตร์ต่าง ๆ ตามหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเสนอข่าวความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอันเป็นทางราชการ 

ข้อ 4. การจัดทําและพิมพ์ตําราให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตําราตามระเบียบที่อธิการบดีกําหนด 

ข้อ 5. ในการดําเนินการจัดทําและพิมพ์ตํารา ให้มีเงินทุนหมุนเวียนตามที่สภามหาวิทยาลัยจัดสรรให้ 

ข้อ 6. การเงินและพัสดุของการจัดทําและพิมพ์ตํารา ให้นําระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองเงินและพัสดุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

อาศัยข้อบังคับดังกล่าวมหาวิทยาลัยมีคําสั่งว่า เพื่อส่งเสริมการจัดทําและพิมพ์ตําราหนังสือคู่มือการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ และปรับปรุงกิจการโรงพิมพ์ให้ทันสมัยและให้สอดคล้องกับโครงการจัดทําตําราและคู่มือการศึกษาจึงเห็นสมควร แต่งตั้งให้ ศ.วิจิตร ลุลิตานนท์ อาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตํารา มีหน้าที่อํานวยการและส่งเสริมการจัดทําตราและหนังสือคู่มือการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ และมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย 

เมื่อมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้ ศ.วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตําราแล้วต ามระเบียบการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยกําหนดให้มีกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตําราเป็นประธานกรรมการ เลขานุการคณะทุกคณะ หัวหน้ากองกลาง หัวหน้ากองบริการการศึกษา เลขานุการ อธิบดี หัวหน้าแผนกพัสดุเป็นกรรมการ ผู้จัดการโรงพิมพ์เป็นกรรมการและเลขานุการ 

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2504 ได้มีพิธีเปิดโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นใหม่ ในฐานะผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตํารา ศ.วิจิตร ลุลิตานนท์ ได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี 

ต่อมาเมื่อต้นปี 2510 ทางโรงพิมพ์ได้รับมอบแท่นพิมพ์ชนิดแท่นนอนหนึ่ง แท่น ขนาด 24 และ 31 นิ้ว โดยการบริจาคให้ของบริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด ปรากฏตามรายงานของ ศ.วิจิตร ในฐานะผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตําราถวายเสด็จในกรมฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2510 ว่าดังนี้ 

“ขอประทานกราบทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท 

“โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มดําเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ในระยะแรกได้จัดพิมพ์คําบรรยาย ตําราคู่มือที่ใช้ในการศึกษา ตลอดจนการเอกสารและสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่ใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย กิจการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยได้ดําเนินมาเรียบร้อยเป็นผลดีแก่นักศึกษาแก่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการดําเนินกิจการโรงพิมพ์ไปจากเดิม แต่ไม่บังเกิดผลสมตามความมุ่งหมายจึงต้องปิดใน พ.ศ. 2501 

“ในระยะที่สองได้มีการปรับปรุงกิจการต่าง ๆ และเปิดโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ในขณะนั้นโรงพิมพ์ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชียจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาสําเร็จเครื่องพิมพ์ และเครื่องพิมพ์ที่ใช้มีอยู่ และให้คําแนะนําที่เป็นประโยชน์ 

“โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นมีเครื่องพิมพ์ในส่วนของมหาวิทยาลัยเพียง 5 แท่น เป็นแท่นนอน 3 แท่น และแท่นยืน 2 แท่น นอกจากนั้นมูลนิธิเอเชียได้ให้แท่นพิมพ์แก่มหาวิทยาลัยอีก 2 แท่น เป็นแท่นนอนซึ่งช่วยให้โรงพิมพ์ได้มีกําลังของงานเพิ่มขึ้น และสามารถปฏิบัติงานพิมพ์ในของมหาวิทยาลัยได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังกําลังเหลือรับงานภายนอกของหน่วยราชการและสถานศึกษาบางแห่งได้อีกด้วย สรุปว่าในระยะ 5 ปีที่แล้วมานี้โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยได้ทํางานมีรายได้คิดรวมเป็น เงิน 5,594,577.00 บาท และมีผลกําไรสุทธิรวมเงิน 1,110,777.29 บาท ทั้งนี้ก็เพราะการบริหารงานของโรงพิมพ์ได้ดําเนินไปอย่างเข้มงวดกวดขันให้อยู่ในระเบียบปฏิบัติอันดีทุกด้าน โดยเฉพาะในการประหยัดค่าใช้จ่ายและการป้องกันทุกวิถีทางมิให้มีการรั่วไหลได้เลยผลกําไรที่สะสมไว้นี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตที่จะได้เป็นโอกาสให้มีการปรับปรุงและขยายกิจการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยให้ทันสมัยยิ่งขึ้นอีก 

“ส่วนแท่นพิมพ์ซึ่งบริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด ให้เป็นสมบัติของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัย และจักได้รับมอบกันในวันนี้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้โรงพิมพ์ได้มีกําลังงานเพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์แก่กิจการของโรงพิมพ์และการศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก 

“อนึ่ง มีเหตุการณ์สําคัญยิ่งที่ไม่อาจเว้นกล่าวเสียได้ ก็คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินยังมหาวิทยาลัยเป็นการส่วนพระองค์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2507 นั้น ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ทอดพระเนตรกิจการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่และคนงานโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมิอาจที่จะลืมเหตุการณ์นั้นเสียได้และรู้สึกสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง 

“ณ บัดนี้ กรรมการผู้จัดการบริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด จะได้กราบทูลมอบแท่นพิมพ์ และขอใต้ฝ่าพระบาทได้ทรงโปรดกดปุ่มไฟฟ้าเดินเครื่องพิมพ์ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยต่อไป 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ” 

และมีพระดํารัสตอบของเสด็จในกรมฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการรับมอบแท่นพิมพ์จาก บริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด ดังนี้ 

“ท่านสุภาพสตรีและท่านสุภาพบุรุษ 

“ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า บริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด ได้มอบแท่นพิมพ์ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งแท่น ข้าพเจ้าถือว่า การมอบแท่นพิมพ์ให้นี้เป็นสิ่งมีประโยชน์และเป็นการช่วยเหลืออย่างมาก เพราะได้มีการพิมพ์สมุดตําราเรียนของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นโดยลําดับ การให้แท่นพิมพ์ของบริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด นี้ ได้เกิดขึ้นจากดําริของผู้จัดการใหญ่ และมิใช่เพราะเหตุว่า พี่ชายของเขาเป็นผู้อํานวยการจัดทําและพิมพ์ตํารา แต่เป็นเพราะครั้งนี้เขาได้เป็นผู้ทํางานให้แก่มหาวิทยาลัยนี้ ข้าพเจ้าในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าขอขอบคุณบริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด และนายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์” 

เหตุที่เสด็จในกรมฯ อธิการบดี ได้กล่าวถึงนายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ผู้จัดการใหญ่บริษัทโพสต์พับบลิชชิ่ง จํากัด ก็เพราะเหตุว่านายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เป็นน้องชายของอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ผู้จัดการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยคนแรก โดยโอนมาจากโรงพิมพ์นิติสาส์น ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ยกให้แก่มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2483 ซึ่งในการยกโรงพิมพ์นิติสาส์นให้แก่มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ได้โอนเจ้าหน้าที่และคนงานทั้งหมดของโรงพิมพ์ติดมาด้วย ซึ่งด้วยเหตุนี้เมื่อโรงพิมพ์ได้ตกมาเป็นของมหาวิทยาลัยแล้วก็สามารถดําเนินการได้ทันที 

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ปรับปรุงสถาปนาขึ้นใหม่นี้ จึงมีวัตถุประสงค์อันแน่วแน่ที่จะจัดสรรให้บริการอีกด้านหนึ่งแก่นักศึกษาเช่นเดียวกับงานด้านอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดทําไว้แล้ว นอกจากนั้นโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยตามรูปที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ จึงได้จัดวางระเบียบและวิธีปฏิบัติงานไว้อย่างทันสมัยและรัดกุม เพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ 

การดําเนินงานโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยในชั้นหลังนี้ได้เป็นไปในลักษณะรัฐวิสาหกิจ แยกเป็นกิจการส่วนหนึ่งต่างหากจากมหาวิทยาลัยในเรื่องการดําเนินงานและในเรื่องการเงิน ฉะนั้น โรงพิมพ์จึงอยู่ในฐานะที่จะต้องเลี้ยงตัวเองและปรากฏว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ กิจการของโรงพิมพ์ซึ่งดําเนินมาในรูปที่มีระเบียบแบบแผนอันถูกต้องตามหลักวิชาและในการบริหารที่ชอบจึงเป็นผลให้กิจการของโรงพิมพ์ได้เป็นไปในรูปการที่อยู่ภายใต้หลักการที่ถูกต้อง ทุกปีการเงินของโรงพิมพ์ได้มีการตรวจสอบบัญชีและการเงินของโรงพิมพ์ โดยผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัยและตรวจรับรองโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นที่รับรองได้ว่ากิจการโรงพิมพ์ที่ได้ดําเนินมาด้วยดีตลอดมาในขั้นหลังนี้ก็โดยอาศัยความตั้งใจดีและด้วยการสนับสนุนของทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากโรงพิมพ์สามารถให้บริการแก่มหาวิทยาลัยในด้านการ พิมพ์โดยทั่วไปซึ่งเป็นประโยชน์แก่การช่วยเหลือนักศึกษาในด้านสมุดคู่มือตําราเรียนด้วยนั้น โรงพิมพ์ก็ยังได้พยายามสร้างเงินสะสมจากผลกําไรในอัตราส่วนพอสมควรเพียงพอที่มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงและขยายงานการพิมพ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม โดยมิได้รบกวนเงินมหาวิทยาลัยไม่อาจเว้นที่จะกล่าวได้ว่าการดําเนินงานของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมีคณะกรรมการประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยชั้นหัวหน้างานของสํานักงานเลขาธิการมหาวิทยาลัยและของคณะต่าง ๆ ด้วย คณะกรรมการนี้มีการประชุมกันเป็นประจําทุกเดือน โดยลําดับมามิได้เว้น 

จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเริ่มทําพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 มาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงมีขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา บางครั้งประสบความวิปโยค หลายครั้งสั่นคลอน และมีบ้างที่มีทั้งน้ำตาปนสายเลือด กระนั้นก็ดีความเป็นธรรมศาสตร์ยืนยงคงถาวร ไม่เสื่อมคลายกับก้าวไปข้างหน้าเรื่อยไป บางสิ่งบางอย่างที่ได้เล่ามาข้างต้นเป็นอดีต เป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่น่าจดจํา เอกสารและข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจจะหาไม่ได้ง่ายในปัจจุบัน ดังนั้นผู้เรียบเรียงขอขอบพระคุณต่อเจ้าของต้นฉบับเอกสารที่นํามาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ โดยเฉพาะทายาทของศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ อดีตเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างมากไว้ ณ โอกาส นี้ด้วย

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2533, น. 102-114.