ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เมื่อเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาต้องห้ามในประเทศไทย

12
กรกฎาคม
2564

การเรียนรู้วิทยาการจากตะวันตก

เมื่อสยามเริ่มเรียนรู้วิทยาการจากโลกตะวันตกในช่วง “การปฏิรูปประเทศ” สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งหลายวิทยาการที่นำเข้ามาจากโลกตะวันตกได้รับความนิยมชมชอบจากชนชั้นนำของสยามในเวลานั้น ตัวอย่างเช่น วิชานิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเป็นผลมาจากการปฏิรูปประเทศจนกลายมาเป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง ภายใต้กำกับของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การ “ปฏิรูปกฎหมาย” ในสยามเกิดขึ้นเพื่อสนองรัฐสมัยใหม่ที่อ้างอำนาจเหนือดินและรวมอำนาจที่ศูนย์กลาง[1] ซึ่งนอกเหนือจากวิชานิติศาสตร์แล้ว วิทยาการจากโลกตะวันตกอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ “วิชาการทหาร” ซึ่งมาพร้อมกับการปฏิรูปกองทัพเพื่อตอบสนองต่อการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อย่างไรก็ตาม วิชาการอีกอย่างหนึ่งที่ชนชั้นนำสยามได้เริ่มศึกษาก็คือ “วิชาเศรษฐศาสตร์” ซึ่งเป็นวิชาการใหม่ที่สยามในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จัก ความสนใจในวิชาเศรษฐศาสตร์ในชนชั้นนำของสยามมีอยู่มากถึงขนาดว่า ‘พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ’ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสวรรควิไสยนรบดี) พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาเป็น “ด็อกเตอร์” คนแรกๆ ของประเทศไทยในสาขาเศรษฐศาสตร์ และมีผลงานตีพิมพ์คือ เป็นหนังสือชื่อว่า “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม” (Die Landwirtschaft in Siam) โดยเป็นงานนิพนธ์เศรษฐศาสตร์เล่มแรกๆ ของไทย 

อย่างไรก็ตาม งานนิพนธ์ฉบับดังกล่าวของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทย ทำให้วงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ในขณะที่องค์ความรู้โดยส่วนใหญ่ถูกจำกัดเอาไว้ที่ชนชั้นนำ

‘พระยาสุริยานุวัตร’ กับ “ทรัพยศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกของไทย

ตำราเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยชื่อว่า “ทรัพยศาสตร์” โดย ‘พระยาสุริยานุวัตร’[2] ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2454 ภายหลังจากลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยเกิดจากการสังเกตเห็นความเจริญของต่างประเทศดีกว่าของประเทศไทยในเวลานั้น และด้วยความปรารถนาที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นจนเท่าเทียมกับชาติอื่นได้บ้าง จึงเป็นเหตุให้ที่ทำให้พระยาสุริยานุวัตรเขียนหนังสือทรัพยศาสตร์ขึ้น โดยความหวังว่าจะให้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์นี้ได้เกิดการริเริ่มและสร้างรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย[3]

สำหรับในครั้งแรกที่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือทรัพยศาสตร์ ได้แบ่งหนังสือออกเป็น 2 เล่ม คือ ทรัพยศาสตร์ชั้นต้นเล่ม 1 และ ทรัพยศาสตร์ชั้นต้นเล่ม 2 โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงธรรมการให้เป็นตำราเรียน[4] แต่เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยชนชั้นนำของสังคม และได้รับการขอความร่วมมือจากรัฐบาลมิให้เผยแพร่หนังสือ[5]

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในปี พ.ศ. 2475 หนังสือทรัพยศาสตร์ได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่เฉพาะในส่วนเล่มที่ 1 โดย ‘ศาสตราจารย์ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ’ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “เศรษฐวิทยาชั้นต้น” และคงเนื้อหาไว้เช่นเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มในชื่อทรัพยศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

ทรรศนะของ ‘พระยาสุริยานุวัตร’ กับระบบเศรษฐกิจไทย

งานนิพนธ์ทางเศรษฐกิจในยุคต้นของประเทศไทยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยนั้นมีปัญหาเชิงโครงสร้าง หนังสือทรัพยศาสตร์ของพระยาสุริยานุวัตรนั้นเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว

ในหนังสือทรัพยศาสตร์ พระยาสุริยานุวัตได้ชี้ให้เห็นว่า ชีวิตราษฎรไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชีวิตที่ยากลำบาก โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังตัวด้วยความเหน็ดเหนื่อย และในเวลาที่ทำนาอยู่เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่เพียงพอก็ต้องซื้อเชื่อโดยเสียราคาแพง หรือ ถ้าต้องกู้เงินไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน และเมื่อถึงคราวเกี่ยวข้าวได้ผลผลิตออกมาแต่ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนข้าวไปจากลานนวดข้าว หรือ ไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา จึงจำเป็นต้องขายข้าวในราคาตามที่มีผู้มาซื้อที่ลานโดยจะซื้อในราคาใดก็ต้องยอมรับและจำใจขาย เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีเงินไปใช้ชำระหนี้ทันกำหนดสัญญา[6] สภาพเช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2473 – 2475 ดังปรากฏในรายงานการศึกษาของ ‘คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน’ (Carle C. Zimmerman) ก็ได้อธิบายสภาพเศรษฐกิจสยามในช่วงเวลานั้นว่ามีปัญหาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ‘ฉัตรทิพย์ นาถสุภา’ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ภายใต้บริบทของโครงสร้างระบบศักดินา แม้ขยันทำการผลิตสักเท่าใด ผลผลิตส่วนใหญ่ก็หาตกเป็นของตนไม่ เพราะนอกจากจะต้องชำระหนี้สินแล้วประชาชนยังต้องส่งส่วยให้รัฐบาลและเจ้าของที่ดินแทบไม่เหลือไว้บริโภค[7] ซึ่งส่วนเกินดังกล่าวนั้นจึงตกอยู่ในมือรัฐบาล ชนชั้นศักดินา คือ เจ้านาย เจ้าของที่ดิน ข้าราชการและนายทุนชาวจีนและชาวต่างชาติอื่นๆ[8]

ทรรศนะของพระยาสุริยานุวัตรที่ได้แสดงไว้ในหนังสือทรัพยาศาสตร์นั้น มีความสำคัญโดยชี้ให้เห็นสภาพความยากจนของประเทศไทย แนวทางแก้ไขด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และการจัดระบบเศรษฐกิจไทยใหม่ เพื่อขจัดการเอารัดเอาเปรียบ และลดความแตกต่างในรายได้และทรัพย์สิน[9] ทรรศนะในหลายๆ ส่วนของหนังสือจึงได้มีการพูดถึงประเด็นของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสยามในเวลานั้นโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยในระยะที่พระยาสุริยานุวัตรได้เขียนไว้ คือ ระบบศักดินาเสริมด้วยนายทุน ภายใต้ระบบนี้ส่วนเกินถูกขูดรีดจากชาวนาและนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แม้การผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นและถูกส่งออกตลาดโลกมากขึ้น ส่วนเกินนั้นก็ถูกใช้หมดไปไม่ถูกนำมาลงทุน การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเปลี่ยนเทคนิคการผลิตและพัฒนาการอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นเชื่องช้า[10]

ทรรศนะของชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับทรัพยศาสตร์

ด้วยทรรศนะการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจของสยามในเวลานั้น ทำให้ชนชั้นนำสยามโดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือทรัพยศาสตร์เอาไว้ใน วารสารสมุทสารของราชนาวีสมาคม (สมุทสาร ปีที่ 2 เล่ม 9 กันยายน 2458) โดยทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ”

ท่านทรงวิจารณ์หนังสือทรัพยศาสตร์และการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในเวลานั้นว่าไม่มีความเหมาะสมโดยทรงอธิบายเหตุผลประการสำคัญในทำนองว่า

ทรัพยศาสตร์นั้นริเริ่มในประเทศยุโรปและอเมริกา เนื่องจากทรัพย์สมมติไปรวมอยู่ในมือบุคคลบางกลุ่มหรือบางตระกูลซึ่งในอดีตเคยเป็นนักรบ ประกอบกับด้วยในประเทศยุโรปและอเมริกานั้นมีปัญหาว่าที่ดินมีจำกัด

เมื่อมีคนเกิดเพิ่มขึ้นก็ยิ่งต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่เมื่อที่ดินไปตกอยู่ในมือบุคคลบางกลุ่ม จึงมีไม่พอกับการอยู่อาศัยทำให้ผู้คนไม่มีทรัพย์สินรู้สึกเสียหาย วิชาเช่นทรัพยศาสตร์จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความไม่เพียงพอของทรัพยากรเช่นว่านั้น แต่ในประเทศไทย มิได้มีผู้มั่งมีเช่นในสังคมยุโรปและอเมริกา และก็ไม่ได้มีคนยากจนเท่ากับยุโรปและอเมริกา การศึกษาทรัพยศาสตร์จึงทำให้มีแต่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นกับคนในสังคมเท่านั้น และจะทำลายน้ำใจไมตรีของคนในสังคมที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามคติแบบพุทธศาสนาคือ การให้ทาน[11]

การที่องค์ประมุขสูงสุดของประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์หนังสือทรัพยศาสตร์นั้นทำให้เกิดการพยายามเกลี้ยกล่อมให้มีการเผยแพร่หนังสือทรัพยศาสตร์โดยจำกัด โดยขอให้พระยาสุริยานุวัตรไม่เผยแพร่หนังสือดังกล่าว การดังกล่าวสร้างความเสียใจให้กับพระยาสุริยานุวัตรเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ความประสงค์ของพระยาสุริยานุวัตรต้องการจะให้ประเทศไทยพัฒนาได้ทัดเทียมนานาประเทศ

การยิ่งซ้ำแล้วเมื่อในเวลาต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีรับสั่งไม่ให้มีการสอนวิชาเศรษฐวิทยาหรือลัทธิทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งก็ทำให้พัฒนาการของวิชาเศรษฐศาสตร์หยุดชะงักไป

ทรัพยศาสตร์ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

หนังสือ “ทรัพยศาสตร์” นั้น มีความสำคัญในฐานะการก่อให้เกิดจิตสำนึกขึ้นในหมู่ชนชาวสยามโดยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้เกิดนักคิดทางเศรษฐกิจไทยอีกหลายคนโดยเฉพาะในช่วงภายหลัง พ.ศ. 2475 เช่น ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้แสดงทรรศนะสำคัญเอาไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ซึ่งพยายามวางโครงสร้างและรื้อถอนระบบเศรษฐกิจลูกผสมศักดินาทุนนิยม หรือ ‘สมสมัย ศรีศูทรพรรณ’ (จิตร ภูมิศักดิ์) ซึ่งได้เขียนหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทย ซึ่งรวมถึงระบบเศรษฐกิจลูกผสมศักดินาทุนนิยม เป็นต้น

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความคิดริเริ่มของพระยาสุริยานุวัตรที่ต้องการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดถกเถียงและเผยแพร่องค์ความรู้วิทยาการทางเศรษฐศาสตร์ต่อไป

 

หมายเหตุ: แก้ไขและจัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ

 

[1] ธงชัย วินิจจะกูล, นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule of law แบบไทย, (นิตยสาร WAY, 2563) 101.

[2] พระยาสุริยานุวัตรกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของนายอากรฝิ่น ภายหลังจากได้เสนอแนะให้โอนกิจการฝิ่นจากเจ้าภาษีผูกขาดให้กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้น แต่เจ้าภาษีนายอากรและข้าราชการบางคนไม่ให้ความร่วมมือ ในท้ายที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการเฉพาะแนะนำให้ลาออกจากราชการเพื่อระงับเหตุ; ‘ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต’ (ศิลปวัฒนธรรม, 22 พฤษภาคม 2564) <www.silpa-mag.com/history/article_45640> สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564.

[3] พระยาสุริยานุวัตร, ทรัพยศาสตร์ (สำนักพิมพ์โฆษิต, 2547), 21.

[4] อัศวพาหุ, ‘ทรัพยศาสตร์ (ความเห็นเอกชน)’ (2458) 2 สมุทสาร 9, 113.

[5] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2.

[6] พระยาสุริยานุวัตร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 97.

[7] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ‘ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร’ (2519) 12 สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 9, 24-29 อ้างใน พระยาสุริยานุวัตร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 34.

[8] เพิ่งอ้าง, 36.

[9] เพิ่งอ้าง, 23.

[10] เพิ่งอ้าง, 37.

[11] อัศวพาหุ, ‘ทรัพยศาสตร์ (ความเห็นเอกชน)’ (2458) 2 สมุทสาร 9, 127 - 129.