ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“การบังคับสูญหาย: อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

15
ตุลาคม
2564

 


ที่มา: The motive

 

เวลาที่เราพูดถึง “การบังคับสูญหาย” ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ตามกฎหมายสากลถือว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะไม่ใช่แค่การที่จะทำลายหรือฆ่าใครสักคนหนึ่ง แต่ว่ายังหมายถึงการทำลายตัวตน การทำลายอัตลักษณ์ การทำลายคุณค่าของคนคนนั้นไปด้วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากสำหรับกฎหมายสากล

ภาพรวมสถานการณ์ในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ของอาชญากรรมโดยรัฐ ถ้าพูดถึงว่าการเริ่มบันทึกไว้ เท่าที่ดิฉันค้นคว้าได้น่าจะประมาณปี 2490 เป็นต้นมา

การบันทึก เช่น มีการเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ ในบันทึกข้อความ แต่ว่าเราไม่เห็นในหนังสือเรียนในหลักสูตรการศึกษาอะไรก็ตาม และเราก็พบว่าในอาชญากรรมโดยรัฐต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะมีวิธีการ มีกฎหมายที่จะคุ้มกันเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ สร้าง immunity ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เกรงกลัวต่อการกระทำผิด เพราะเชื่อว่าเมื่อตัวเองกระทำอะไรแล้ว ตัวเองจะไม่ต้องรับผิด

 

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เริ่มบันทึกตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา เช่น กรณีคุณเตียง ศิริขันธ์ กรณี สส. พร มะลิทอง ซึ่งทั้งคุณเตียงและสส.พร เป็นคนที่ใกล้ชิดกับท่านปรีดีมาก ถือว่าเป็นสหายสนิทคนหนึ่ง สองคนนี้ถูกนำตัวไปฆ่า และหายสาบสูญไป ซึ่งต่อมาได้มีการพบศพ หรือ ใน กรณีของหะยีสุหรง ที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2497

ในช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา มีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการกล่าวหาว่าพัทลุงเป็นพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ และทำให้มีผู้สูญหายกว่า 3,000 คน ซึ่งชาวบ้าน ณ วันนี้ยังคงมีการพูดถึงเรื่องของการที่ประชาชนหลายคนถูกลักพาตัว ถูกทรมานและถูกฆ่าโดยการเผาในถังแดง

 

 

นอกจากนั้น มาถึงเรื่องของกบฏชาวนาในภาคเหนือ ในปี 2517 มีการรวมตัวกันของกลุ่มชาวนา ในการที่จะให้มีการปฏิรูปที่ดิน ให้มีกฎหมายเพื่อที่จะคุ้มครองชาวนา ซึ่งช่วงนั้นก็ทำให้มีผู้ถูกสังหาร 33 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คน และมีผู้หายสาบสูญ 5 คน

กรณีคุณทนง โพธิ์อ่าน ปี 2534 และก็มาช่วงของพฤษภาทมิฬปี 2535 อย่างไรก็ดี ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แม้จะไม่ได้มีบันทึกของผู้สูญหาย แต่ทุกท่านคงทราบว่ามีผู้ที่ถูกฆ่า แล้วก็ถูกเผาซึ่งกลายเป็นบุคคลนิรนามอยู่ถึง 6 คน 

 

 

ปี 2547 เป็น สมชาย นีละไพจิตร และ กมล เหล่าโสภาพันธ์ นักกิจกรรม ซึ่งรณรงค์ในการปราบปรามการคอร์รัปชัน

ปี 2557 คุณบิลลี่ พอละจี

ที่น่าสนใจคือปี 2559 ถึงปี 2563 พบว่ามีการสูญหายของ 9 อดีตนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารและผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาคดีกฎหมายมาตรา 112 ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงของปี 2562-2563 หลังจากมีการบังคับสุดท้ายของ 9 อดีตนักกิจกรรมและก็ผู้ต้องหา 112 ต่อมาได้มีการพบศพ 2 คนคือ สหายกาสะลอง และ สหายภูชนะ 

 

 

ปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่เราได้เห็นในบนถนนราชดำเนิน มีการชูรูปภาพของคนที่หายในประเทศไทย และไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังมีพื้นที่อื่นในประเทศอีกด้วย

สำหรับดิฉันเองถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะว่าไม่เคยมีการปรากฏการณ์ของการต่อต้าน และการไม่ยอมรับ การบังคับสูญหาย หรือ อาชญากรรมโดยรัฐในลักษณะนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ประชาชนพร้อมใจกันที่จะบอกว่าไม่ยอมรับการกระทำในลักษณะนี้แล้ว

 

 

ถ้าหากว่าเราดูผู้ที่สูญหายต่างๆ เท่าที่พูดมา เราจะพบว่าคนเหล่านี้ก็คือคนที่เห็นต่างจากรัฐ คนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ คนที่ตรวจสอบอำนาจรัฐหรือคนที่น่าจะเป็นเป็นพิษเป็นภัยต่อรัฐ แม้แต่คนที่โดนคดี 112 คนที่วิจารณ์สถาบันฯ คนเหล่านี้ก็สามารถเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกทำให้หายไป

ในกรณีของการบังคับสูญหาย ไม่ใช่แค่กรณีที่เป็นปัจเจก แต่ว่านโยบายของรัฐเอง มีความสำคัญมาก เช่น นโยบายการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร คนเสียชีวิ สูญเสีย สูญหาย 2,000-3,000 คน จากที่มีการบันทึกไว้ในต่างประเทศ ในเอกสารของต่างประเทศ เราไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลว่าใครบ้าง มีชื่ออะไรบ้าง คนเหล่ามีตัวตน มีใบหน้า มีครอบครัว แต่ไม่มีการบันทึก

ในช่วงของการต่อต้านการทำร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของการปราบปรามยาเสพติดของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ลี้ภัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และรัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็นศัตรู

 

 

นี่เป็นภาพเป็นตารางที่แสดงให้เห็นว่าในเรื่องของการบังคับสูญหาย ในประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่มีคนที่ถูกบังคับสูญหายมากเป็นลำดับ 3 ในอาเซียน มากสุดคือฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ตัวเลขเมื่อสัก 4-5 ปีก่อนก็จะเป็น 89 ต่อมาลดลงโดยล่าสุดเมื่อประมาณปีที่แล้ว ตัวเลขคนหายในบันทึกของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติมี 87 กรณี และเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยโดยกระทรวงต่างประเทศได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานคนหายสหประชาชาติ ขอถอนกรณีคนหาย 12 กรณี จาก 87 ก็เลยเหลือ 75 โดยที่ 12 กรณี ที่ประเทศไทยขอถอนออก

ประเทศไทยไม่ได้บอกที่อยู่และชะตากรรมของคนเหล่านั้น ประเทศไทยไม่ได้อธิบายต่อสหประชาชาติว่า 12 กรณีนี้ ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหม และอยู่ที่ไหน หรือเสียชีวิตแล้วใครเป็นคนทำให้เขาตาย เรื่องนี้ยังคงเป็นความกำกวม

ขณะเดียวกันกับญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย เขาก็ให้ข้อมูลว่าเนื่องจากว่าประเทศไทยไม่เคยมีการบันทึก ไปถามนายกรัฐมนตรีว่าประเทศไทยมีคนหายกี่คน ไม่มีใครทราบ รัฐบาลไทยไม่เคยรู้ เพราะไม่เคยมีการบันทึก แต่กรณีการบังคับสูญหายกลับถูกบันทึกไว้ในที่คณะทำงานของสหประชาชาติ

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยโดย คณะกรรมการติดตามผู้สูญหาย ที่ตั้งโดยรัฐบาลคุณประยุทธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ก็พยายามที่จะไปพบกับครอบครัวเพื่อที่จะโน้มน้าวให้ครอบครัวถอนเรื่องจากสหประชาชาติ ซึ่งหลายครอบครัวก็พูดให้ฟังว่า ต้องอยู่ในสภาวะจำยอมที่จะต้องเซ็นยินยอมถอนเรื่อง เนื่องจากมีความกลัว ดังนั้นจาก 80 กว่ากรณี ประเทศไทยจะเหลือแค่ 75 ที่ยังเป็น Outstanding case

สำหรับประเทศไทย ถ้าจะพูดเรื่องของการบันทึก และน่าจะมีการรวบรวมตัวเลขในสมัยแรกๆ ตอนนั้น ‘คุณจตุรงค์ ฉายแสง’ เป็นผู้ที่รวบรวมรายชื่อคนหาย และต่อมาปี 2555 สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งตอนนั้น ‘พตอ.ทวี สอดส่อง’ เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมรายชื่อคนหาย และให้มีการเยียวยาครอบครัวผู้บังคับสูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นมิติใหม่ของการเยียวยาครอบครัว แต่ว่าก็น่าเสียดายว่าหลังจากที่ท่านทวีพ้นจากผู้อำนวยการศอ.บต. ไปแล้ว มาตรฐานการเยียวยาได้ถูกเปลี่ยนหมด และมาตรฐานการการเยียวยาที่เป็นที่ยอมรับได้ในสมัยนั้น ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อีก ไม่ใช่แค่ในเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ว่าทั่วประเทศ

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน คณะทำงานได้แถลงรายงานประจำปีของคณะทำงานฯ ต่อสภาคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในแถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสหประชาชาติ ระบุไว้ว่ารัฐต่างๆ จะต้องไม่หลับตาต่อการสูญหาย ต่อการบังคับสูญหายของบุคคลที่อยู่ในสถานะข้ามพรมแดน หรือ ผู้ลี้ภัย ซึ่งเขาได้บอกว่า ถึงแม้ว่าขณะทำงานจะได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับเรื่องของการอุ้มหายในหลายประเทศ แต่เขายังเชื่อว่าตัวเลขเหล่านี้ มันเป็นเพียงแค่ยอดเขาของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะมีคนหายมากกว่านั้น

สิ่งสำคัญที่ถือเป็นปัญหาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัว ก็คือเรื่องของ “สิทธิในการสร้างความจริง” เรื่องของความยุติธรรม ทำอย่างไรคนทำผิดจะต้องถูกลงโทษ ครอบครัวมีสิทธิที่จะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ความพร้อมรับผิด เป็นต้น

เพราะว่าตามกฎหมายสากล เรื่องของการบังคับสูญหาย และเรื่องของความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศ ในช่วงของความขัดแย้ง ถือเป็นอาชญากรรมที่ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ แล้วไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ก็ไม่อาจเป็นข้ออ้างในการกระทำทรมานบังคับสูญหายได้

เรื่องของการเยียวยามีความสำคัญมาก อย่างที่ดิฉันพูดไปแล้ว ประเทศไทยเคยมีการเยียวยาผู้ถูกบังคับสูญหายครั้งแรกในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ สมัยที่ท่านทวีอยู่ที่ศอ.บต. และหลังจากนั้นทางผู้ที่ถูกอุ้มหายไม่เคยได้รับการเยียวยา และก็เป็นกรณีเฉพาะภาคใต้ แต่ว่าไม่ได้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย

ที่สำคัญก็คือ “การเยียวยาตามกฎหมาย” หรือ Judicial Remedy ยังไม่เคยมีการเยียวยาทางด้านกฎหมาย เพราะว่าคำพิพากษาของศาลถือเป็นสิ่งซึ่งมีความหมายมาก ต่อสังคมและก็ต่อญาติ หรือการขอโทษสาธารณะ หรือที่สำคัญที่วันนี้เราพูดกันถึงมากๆ คือเรื่องของ “การรักษาความทรงจำ” ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ลืม ทำอย่างไรเราถึงจะให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ และทวงถามความเป็นธรรมเพื่อที่จะยุติการกระทำที่เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ

สำหรับดิฉันเองคิดว่า เรื่องของการบังคับสูญหาย ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก ไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจรัฐ รัฐตำรวจ รัฐทหาร เป็นโครงสร้างอำนาจขององค์กรสถาบันเหล่านี้ ที่สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจแทบจะเหนือรัฐบาลด้วยซ้ำไป และเป็นสถาบันที่มีอำนาจและมีอาวุธด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตำรวจหรือสถาบันทหาร คนที่ติดตามในเรื่องของอาชญากรรมโดยรัฐ เราจะพบว่าหน้าเดิมก็ยังคงยังอยู่เหมือนเดิม ถึงจะมีข่าวว่าพัวพันกับเรื่องการฆ่า การอุ้มหาย อะไรก็ตาม แต่คนเหล่านี้ เขาก็ยังคงอยู่ ยังได้รับการเลื่อนขั้น ยังอยู่ในหน้าที่ราชการ

เพราะฉะนั้น เรื่องปัญหาของรัฐพันลึก หรือ รัฐซ้อนรัฐ ถ้าเราไม่แก้โดยการปฏิรูปให้สถาบันเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องมีสิทธิตรวจสอบ ก็คงจะยากที่เราจะแก้ไขปัญหาอาชญากรรมโดยรัฐได้

ดิฉันอยากจะพูดเรื่องของ “คนหาย” ในมิติของจิตใจ คำว่า “หาย” มันสร้างความคลุมเครือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัว สังคมเองก็เหมือนกัน ในทางวิทยาศาสตร์เราบอกว่า วัสดุอะไร สิ่งของทั้งหลายก็แล้วแต่ จะต้องไม่สูญหายไปจากโลกนี้ ไม่สามารถหายไปได้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น การที่คนคนหนึ่งถูกบังคับให้หายไป ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือครอบครัว สังคมเองมักจะตั้งคำถาม

“สรุปแล้วเขามีชีวิตอยู่ไหม”
“หาย หรือ ไม่หาย”
“มีชีวิตอยู่แล้วอยู่ที่ไหน”
“ถ้าไม่มีชีวิตอยู่ ถ้าตาย ตายอย่างไร”
“มีศพไหม”

ที่สำคัญ “ใครเป็นคนทำให้หาย ใครเป็นคนทำให้ตาย”
“มีคนผิดไหมหรือไม่มีคนผิด” และที่ผ่านมา เราพบว่าไม่เคยมีคนผิด 

 

 

อย่างกรณีล่าสุด เรื่องของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ศาลของประเทศกัมพูชาก็ให้ความเห็นว่า วันเฉลิมไม่ได้อยู่ที่ประเทศกัมพูชา แล้วถ้าวันเฉลิมไม่ได้อยู่ในประเทศกัมพูชาแล้ววันเฉลิมอยู่ที่ไหนล่ะ จะหายไปได้อย่างไร สรุปว่า วันนี้เขายังมีชีวิตอยู่ไหม สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับคำสาปที่ทำให้ครอบครัวต้องอยู่กับความไม่แน่นอนและความคลุมเครือตลอดเวลา

 

 

หากพูดถึงการรณรงค์ในเรื่องของคนหาย ดิฉันคิดว่าเราคงต้องให้เกียรติกับผู้หญิงกลุ่มแรกๆ ที่ออกมารณรงค์ในเรื่องของการบังคับสูญหาย ผู้หญิงที่เป็นครอบครัว เป็นแม่ เป็นยาย กลุ่มผู้หญิงที่เรียกว่าเป็น “ผู้หญิงบ้าแห่งพลาซ่า เดอ มาโย” (Madres of Plaza De Mayo) ที่เป็นจัตุรัสแห่งหนึ่ง และสิ่งที่เป็นการเรียกร้องและการรณรงค์ของคนเหล่านี้ ก็คือ “จะต้องไม่ซ้ำรอย” Never Again

เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำ ถือว่าเป็นการต่อสู้ของผู้หญิง การต่อสู้ของครอบครัวมีบทบาทมาก ทำให้ที่ประเทศอาร์เจนตินา สามารถที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและคืนศพให้กับครอบครัวได้ 

 

 

ในประเทศไทย เราคงเป็นหนี้บุญคุณของผู้หญิงหลายๆ คนที่ออกมามีบทบาทในการไม่หยุดพูด ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังคงถูกคุกคาม แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็คงพูดอยู่ การพูดถึงสิ่งที่เป็นอดีต มันทิ่มแทงจิตใจ มันเป็นความทรงจำที่เป็นบาดแผล แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังคงพูดอยู่ การที่เรายังคงพูดถึงคนหาย มันแสดงให้เห็นถึงการที่เราไม่ลืม และเรียกร้องให้สังคมไม่ลืม

ดิฉันและลูกๆ เคยบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ เรากลัวว่าเราจะลืมเขา เรากลัวที่เราจะลืมคนที่อยู่ในครอบครัวของเรา ซึ่งไม่ต่างจากหลายๆ ครอบครัว แทบจะทุกครอบครัว ทุกคนยังคงเก็บรักษาเสื้อผ้า กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เขาเขียนข้อความ ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือน และเป็นสิ่งหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เรามีแรงในการที่จะทำงานต่อ เรียกร้องต่อ เพื่อที่จะไม่ให้มีใครต้องเป็นเหยื่อของอาชญากรรมเหล่านี้

 

 

“การรักษาความทรงจำ” สำคัญที่สุด คือ เรื่องของการบังคับข้อมูลและการเก็บรักษาความทรงจำในรูปแบบต่างๆ ชาวบ้านที่พัทลุงไม่รู้จะทำอย่างไรกับกรณีที่มีคนหาย 2,000-3,000 คน สิ่งที่ชาวบ้านทำก็คือสร้าง “อนุสาวรีย์ทหารแดง” ขึ้นมา เพื่อเตือนความจำ รัฐเองก็อาจจะหน้าบางเกินไป กับการที่จะยอมรับว่ามีคนหาย ขณะที่ชาวบ้านสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อที่จะระลึกว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีคนถูกอุ้มหายโดยรัฐอยู่

นอกจากนั้นก็คือการจัดการรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดโดยรัฐ และการสร้างสถานที่รำลึกต่างๆ เหล่านี้มักเกิดโดยประชาชนเอง เริ่มจากญาติ เริ่มจากชุมชน เริ่มจากคนที่รักความเป็นธรรม เพื่อนฝูงและต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกข้อมูล และก็ไม่ทำให้เราลืม 

 

 

ในประเทศอาร์เจนตินาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประเทศอาร์เจนตินาให้เกียรติกับญาติและครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องโดยการพิมพ์ธนบัตรที่มีรูปของกลุ่มแม่และยายที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จนกระทั่งมีการนำคนผิดมาลงโทษ มีการแก้กฎหมาย มีการคืนศพให้กับครอบครัวได้

 


ที่มา: Voice Tv

 

วันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ที่ถูกอุ้มหายไปก็ได้ ถ้าเรายังไม่มีมาตรการในการที่จะยุติการกระทำเช่นนี้ ตอนนี้เรามีพระราชบัญญัติซ้อมทรมาน-อุ้มหายในสภา แต่กฎหมายอาจจะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด และกฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ยุติได้ ไม่ใช่เรามีกฎหมายสักฉบับแล้วเราจะป้องกันและยุติการทรมานได้ สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืม คือ สังคมต้องร่วมมือกันในการที่จะเรียกร้อง

การประชุมนัดแรกของกรรมาธิการพรบ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ร่างของรัฐบาลมี 34 มาตรา นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” กรณีคนหายเอาไปซ่อนไว้ในมาตราข้างใน ไม่ได้มาเป็นนิยามในตอนต้น โดยที่ในร่างของรัฐบาลเขียนว่า นิยามของผู้เสียหายให้ไปตามป.วิอาญาซึ่งตามมาตรา 5 พูดถึงสามี ภรรยา ผู้สืบสันดาน

อย่างกรณีคนหาย ศาลพิพากษาเคยพิพากษาแล้ว กรณีสมชาย นีละไพจิตร ครอบครัวเป็นผู้เสียหายไม่ได้ เนื่องจากว่าไม่มีหลักฐานว่าสมชายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะฉะนั้นสมชาย นีละไพจิตรก็ต้องมาฟ้องศาลเอง ปัญหาก็คือก็สมชายหายไปแล้ว และคดีคนหายในความเป็นจริงไม่มีผู้เสียหาย

ทีนี้ ถ้าเราไปเขียนกฎหมายแบบนี้อีก สามีภรรยาก็จะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย คนที่เป็นคู่ชีวิตกันก็ไม่สามารถดำเนินการได้ กฎหมายไทยอันที่จริงเข้ามายุ่งเรื่องส่วนตัวของมนุษย์มาก คุณจะเป็นผัวเมียกันคุณต้องจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียน กฎหมายก็จะไม่สามารถรับรองอีก

สิ่งเหล่านี้ ดิฉันคิดว่าการร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ เราต้องก้าวไกลไปกว่ากฎหมายอาญาที่เรามีอยู่ ไม่เช่นนั้นเรายังคงอยู่ในกับดักเดิม และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็ขอให้สังคมจับตามอง ในเรื่องของพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน สังคมต้องช่วยเหลือ ต้องช่วยกันส่งเสียง พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีค่า และจะสามารถคุ้มครองได้จริง ต่อเมื่อพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับอนุสัญญาคนหายระหว่างประเทศ และเหนือไปกว่านั้น เราต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจต่างๆ ปัญหาของรัฐซ้อนรัฐ รัฐพันลึกต่างๆ สถาบันทหาร

ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ อยากเล่นการเมือง อยากเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ลาออกไปเสีย และมาสมัครเลือกตั้ง และที่สำคัญดิฉันคิดว่าทุกวันนี้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งซึ่งเหมือนกับไม่กล้าฝัน คนไทยไม่กล้าฝัน ขนาดล่ารายชื่อแสนกว่ารายชื่อ ก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ดิฉันก็ยังหวังว่าวันหนึ่งเราจะมีรัฐบาลประชาธิปไตย และในบรรยากาศของประชาธิปไตย ดิฉันเห็นว่าเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญ” จะต้องบัญญัติไม่ให้ศาลรับรองรัฐประหาร ศาลและองค์กรอิสระต้องไม่รับรอง “รัฏฐาธิปัตย์” และศาลต้องรับรองสิทธิหน้าที่ของพลเมืองไทยให้บุคคลทุกคนมีหน้าที่มีสิทธิและมีหน้าที่ในการต่อต้านการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยสันติวิธีโดยที่ประชาชน ราษฎรทั้งหลายจะต้องสามารถฟ้องคดีอาญาตามกฎหมายได้ ฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำรัฐประหารได้

นอกจากนั้นการปฏิรูปตำรวจ เรื่องของกรรมการตำรวจตั้งแต่ กต. ระดับโรงพัก ระดับจังหวัด หรือ ระดับชาติ ตรวจสอบยากมาก และไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเข้าไป แม้แต่น้อย ก็ยังคงจะเป็นการเลือกกันเอง ในกรณีที่ตำรวจทำผิดก็ต้องลงโทษให้เห็น แยกอำนาจสอบสวนและสืบสวนออกจากกัน ประชาชนต้องตรวจสอบการกำกับนโยบายของตำรวจได้ ทหารด้วย การใช้งบประมาณของทั้งทหารตำรวจ และรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ

นอกจากนั้น ทัศนคติของสังคมมีความสำคัญอย่างมาก อย่างที่ดิฉันบอกว่าวันที่เราเห็นภาพของผู้สูญหายถูกนำมาโชว์นำขึ้นมาชูที่ถนนราชดำเนิน เป็นสิ่งที่ดิฉันคิดว่ารัฐหวาดกลัวมาก แล้วยังคิดว่าคนรุ่นใหม่มาไกลเกินกว่าที่จะถอยกลับไปที่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำกับ การใช้นโยบาย การใช้งบประมาณ รวมถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์

ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นความโปร่งใส จะสามารถคืนความสง่างาม และสุดท้ายดิฉันอยากจะพูดว่าในเรื่องของอาชญากรรมโดยรัฐที่มองเตสกิเออร์ (Charles de Secondat, Baron de Montesquieu) พูด “ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำในนามของกฎหมายและความยุติธรรม” เพราะฉะนั้น ดิฉันก็หวังว่าทุกท่านจะไม่ยอมจำนนและยืนหยัดที่จะต่อสู้ต่อไป 

 

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “การบังคับสูญหาย: อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” โดย อังคณา นีละไพจิตร, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564