ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติวิธีกับการชุมนุม: อุปสรรคและความหวังของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

16
ตุลาคม
2564
 

 

เนื่องจากเป็นรายการ PRIDI Talks ก็จะขอเริ่มต้นด้วยปาฐกถาของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2516 หัวข้อ “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่”

อาจารย์ปรีดี กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยปฐมกาล (Primitive) ว่าด้วยความที่มนุษย์เองมีวิวัฒนาการเหนือเอป (Ape) ทำให้มีสภาวะการเป็นอยู่ของชุมชนขนาดย่อยๆ ที่เป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่ง คือ สมาชิกต่างร่วมมือกันฉันท์พี่น้อง แสวงหาอาหารผลิตสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในช่วงเวลานั้นอาจารย์ปรีดีอธิบายว่า ยังไม่มีผู้ใดหวงที่ดิน หวงเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตซึ่งกันและกัน

จนกระทั่งเมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการในการผลิตสิ่งของมากขึ้น รู้จักการใช้หัตถกรรม การสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างเช่น อุปกรณ์ในการล่าสัตว์มากขึ้น ก็เริ่มมีการพยายามจะสะสม รวมไปถึงการเพาะปลูกด้วย ทำให้ผู้นำในชุมชนนั้น จากเดิมที่อาจารย์ปรีดีอธิบายว่าเป็นผู้นำชุมชนที่เป็นผู้หญิง เรียกว่า “มาตุสังคม” (Matriarchal Society) ปกครองแบบคุณแม่ปกครองคนในหมู่บ้าน หรือ ชุมชนขนาดเล็ก ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นผู้ชายเป็นผู้นำ เนื่องจากต้องใช้ความเข้มแข็ง แข็งแกร่งมากขึ้นในการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนนั้นๆ ไป อย่างเช่นการออกไปล่าสัตว์ การออกไปทำอะไรต่างๆ จำเป็นต้องพึ่งแรงงานชาย ก็เลยทำให้ผู้หญิงหมดบทบาทไปในฐานะผู้นำ ผู้ชายจึงมีอำนาจบทบาทขึ้นมาแทน

ขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบการผลิตที่ขยายตัวมากขึ้น ผลิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้นำชุมชนนั้นเกิดต้องการครอบครองที่ดิน จากเดิมที่ไม่มีความสำนึกของการที่จะยึดดินแดน ก็เลยเป็นผู้นำ ผู้นำก็ต้องการปกครอง เป็นเจ้าของที่ดินนั้น ประหนึ่งว่าตัวเองเป็นเจ้าของชุมชน เจ้าของแรงงานในชุมชนนั้นด้วย เกิดสำนึกแบบระบบศักดินา (Feudal System) ขึ้นมา

แต่เมื่อสังคมพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ มีการรู้จักเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น เครื่องจักรกลไอน้ำ แรงงานไพร่ไม่สามารถจัดการได้อีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีกลไกซับซ้อนมากขึ้น ต้องการคนที่มีทักษะมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติ ที่ทำให้บรรดาคนภายใต้การปกครองต่อสู้กับระบบศักดินา หลังจากนั้นเป็นต้นมา การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตนเอง ในฐานะแรงงานหนึ่งที่ไม่ใช่ไพร่ทาส สิ่งเหล่านี้ที่อาจารย์ปรีดีบอกว่านำไปสู่ประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวต่อสู้ระบบศักดินาเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย จำเป็นไหมที่จะต้องใช้สันติวิธีหรือไม่ใช้สันติวิธี ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็ได้ยกตัวอย่าง เช่น อังกฤษ อเมริกา อย่างในอเมริกามีการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษก็นำไปสู่ความรุนแรงด้วยเช่นกัน อาจารย์ปรีดียกตัวอย่างของฝรั่งเศส ในศตวรรรษที่ 18 ว่าหลังจากมีจักรกลไอน้ำใช้ เหล่านายทุน เจ้าสมบัติ ผู้เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจสมัยใหม่ที่มีหัวก้าวหน้าได้เรียกร้องให้มีการล้มล้างระบบศักดินาเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย

แต่ผู้นำศักดินากลับดื้อรั้นที่จะรักษาระบบเดิมของตนเองไว้ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งที่อาจารย์ปรีดียกตัวอย่างจะเห็นได้ว่าขบวนการในการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยในหลายๆ กรณี ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สันติวิธี อาจจะต้องมีการจับอาวุธด้วยเช่นกัน เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากระบบเดิม แต่ปัญหาจะอยู่ที่ผู้นำในการปลดแอกมีสำนึกแบบสันติวิธีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเจ้าของอำนาจเดิมกลับดื้อรั้นและพยายามจะรักษาอำนาจ ฐานการผลิต ฐานอำนาจของตนเองจึงนำไปสู่ความรุนแรง

สิ่งที่อาจารย์ปรีดีพูดนั้นน่าสนใจ จากเดิมสังคมไม่มีความรุนแรงและมีความเป็นประชาธิปไตย เช่น ในบรรพกาล ใน Primitive มาสู่สังคมแบบนี้ ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้พูดในปี พ.ศ.2516 ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีว่าด้วยความรุนแรงของ ‘โยฮัน กัลตุง’ (Johan Vincent Galtung) ที่พูดถึงเรื่อง Structural violence ที่บอกว่าความรุนแรงไม่ได้มีแค่การจับอาวุธต่อสู้กัน แต่รวมไปถึงความรุนแรงอันเกิดมาจากโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างของรัฐนั้นๆ ที่มีผู้ปกครอง เจ้าผู้ปกครองเพียงคนเดียว เป็น Top Dog ในการกอบโกยทรัพยากรต่างๆ เป็นเจ้าข้าวเจ้าของทรัพยากรแล้วนำไปสู่การทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนั้นได้ ทำให้เขาไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง นี่ก็คือความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน

อาจารย์ปรีดียังได้กล่าวต่อไปอีกว่า การปลดแอกตัวเองเพื่อสร้างเอกราชและประชาธิปไตย เลี่ยงไม่ได้ในหลายๆ กรณี หลายๆ ตัวอย่าง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในประเทศไทย อาจารย์ปรีดียกตัวอย่างว่า แม้ว่าคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน จะจับอาวุธก็จริงแต่กระบวนการต่างๆ เป็นไปด้วยสันติวิธี ที่มีการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็จบการปาฐกถาเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว หลังจากวันที่ 24 มิถุนายน ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มศักดินาเก่าที่ต้องจะทวงอำนาจกลับคืนมาและนำไปสู่ความรุนแรงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

เมื่อพูดถึง Nonviolence หรือ สันติวิธี จึงค่อนข้างเป็นคำที่กำกวมมากๆ ถ้าจะตรงตัวมากกว่าน่าจะใช้คำว่า “การต่อสู้แบบไร้ความรุนแรง” อาจจะตรงตัวมากกว่าคำว่าสันติวิธี ยกตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา สันติวิธีไม่ได้หมายความว่าจะต้องนิ่งเฉย ดูดาย สงบใจอดกลั้น หรือ ไม่โกรธไม่เกลียด และสันติวิธีก็ไม่จำเป็นต้องอิงกับหลักศาสนาด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในขณะฝ่ายรัฐที่หวงอำนาจ หวงทรัพยากร ใช้ทั้งสารเคมีรุนแรง แก๊สน้ำตา รุมทำร้าย รุมกระทืบ ฉุดกระชาก ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏมาอย่างยาวนานมากแม้กระทั่งในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ ณ วันนี้ ก็ยังดำรงอยู่ 

 

 

การที่ประชาชนออกมาประท้วง เป็นขบวนการอย่างหนึ่งที่ชอบธรรมด้วยตัวของมันเอง และการประท้วงมีได้หลายรูปแบบ เช่น การที่คุณเพนกวิน หรือ ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ประท้วงด้วยการอดอาหาร คุณรุ้ง ปนัสยาเองก็ประท้วงอดอาหาร เพื่อให้จำเลยในคดีมาตรา 112 และคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีและกลุ่มคนที่ชุมนุมทางการเมืองแล้วถูกจับ จะขอไม่พูดถึงเรื่องความวิปริต ประหลาดของมาตรา 112 ทั้งในตัวบทบัญญัติ และ กฎหมายที่มันผิด กระบวนในการใช้ ซึ่งมันผิดมากๆ 

 

ที่มา: Facebook ธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ที่มา: Facebook ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

“การอดอาหาร” ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่เป็น Nonviolence มากๆ เป็นการยอมเอาร่างกาย เอาชีวิตของเรามาประท้วง ในรัฐสมัยใหม่ รัฐประชาชาติจะให้ความสำคัญกับตัวประชาชน ชีวิตประชาชนมากๆ ในฐานะที่เป็นทรัพยากรสำคัญของรัฐ แล้วการที่ประชาชนประท้วงเช่นนี้มันจึงทรงพลังมากๆ และมันก็สะท้อนให้เห็นว่า การสู้เช่นนี้ รัฐหรือคนที่มองรวมถึงสื่อด้วยนั้นมีมนุษยธรรมมากน้อยแค่ไหน กับการที่ละเลยหรือการด้อยค่าการอดอาหารประท้วง มันสะท้อนถึงมนุษยธรรมของผู้นำรัฐ ผู้ที่อยู่ในกลไกของรัฐรวมถึงสื่อ เพราะในช่วงเวลานั้นสื่อไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการอดอาหารประท้วงทั้งของคุณเพนกวินและของคุณรุ้ง

“การอดอาหารประท้วง” เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น ก่อนปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 กลุ่มนักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวก็ออกมาต่อสู้โดยการอดอาหารประท้วงเช่นเดียวกัน มีหลายคนที่ต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ เขาก็ผลิตหนังสือนิตยสารขึ้นมาที่ชื่อว่า Free Russian ในลอนดอนที่เล่าถึงการอดอาหารประท้วงเช่นเดียวกัน

การอดอาหารประท้วงในรัสเซียก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ถูกเรียกว่า Russian method สำหรับกลุ่มเฟมินิสต์คลื่นลูกแรกที่ออกมาประท้วงในอังกฤษที่ต้องการสิทธิพลเมืองในการเลือกตั้ง เมื่อเธอออกมาประท้วงจนถูกจับกุมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และไม่ได้ถูก Recognize ในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมือง ซึ่งในโลกที่เจริญแล้วนักโทษการเมืองจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากนักโทษชุดอื่น แต่เธอก็ไม่ได้รับการยอมรับ และถูกใช้แรงงานหนักต่างๆ มีการอดอาหารประท้วง รัฐในอังกฤษเองก็เกรงว่าประชาชนจะตายเพราะการที่ประชาชนอดอาหารประท้วง ถูกเมินจนตาย การอดอาหารประท้วงเพียงแค่หนึ่งมื้อ การทนทุกข์ทรมานหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งวันมันก็ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีของรัฐอยู่แล้ว

 

 

แต่ในขณะเดียวกันการอดอาหารประท้วงของทั้งเพนกวินทั้งรุ้งนั้น อดเป็นเดือน ยาวนานกว่าคานธีด้วยซ้ำ ก็ถือว่าเป็นความย่ำแย่ด้านมนุษยธรรมของรัฐไทยไม่ว่าจะเปลี่ยนยุคสมัยมาแค่ไหนตั้งแต่ พ.ศ.2519 จนถึง พ.ศ.2563 - 2564 จะเห็นได้ว่ารูปแบบของรัฐ มโนทัศน์และความเป็นมนุษยธรรมของรัฐนั้นไม่มีเอาเสียเลย

 

 

ในช่วงเวลานั้น คุณแม่ของเพนกวิน หรือ ‘คุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์’ ได้ยึดสันติวิธีเช่นเดียวกัน คือ การประท้วงโดยการโกนผมประท้วงที่ศาลอาญา ในตอนนั้นผมก็อยู่ในเหตุการณ์ เป็นการประท้วงว่า ศาลสถิตที่ยุติธรรมแต่ไม่ได้มีความยุติธรรมสถิตอยู่ในศาลเอาเสียเลย ซึ่งการโกนหัวประท้วงโดยผู้หญิงจะมีความทรงพลังและมีคุณค่ามากกว่าในโลกของชายเป็นใหญ่ที่มักจะกำหนดว่าผู้หญิงมักจะคู่กับการมีผมยาวสลวยและการให้คุณค่าความหมายของสุนทรียศาสตร์ด้าน ความงามของผู้หญิงมักจะไปกำหนดร่วมอยู่กับการมีผมที่ยาวของผู้หญิงด้วย

คุณแม่เพนกวินบอกว่า “แม่ยอมไม่สวยหรืออัปลักษณ์ แต่สิ่งที่มันอัปลักษณ์ยิ่งกว่าก็คือศาลที่ไม่มีความยุติธรรม” ซึ่งการโกนหัวประท้วงก็ปรากฏขึ้นในหลายๆ ที่เช่นเดียวกันในปีนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไปบังคับโกนผมชาวบ้านบางกลอยที่ประท้วงที่ต้องการกลับไปอยู่ในใจแผ่นดิน จึงทำให้เกิดกระแสการโกนผมประท้วงจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐบังคับโกนหัวชาวบ้าน “กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก” เช่น คุณชุมาพร แต่งเกลี้ยง คุณกรกนก คำตา เธอก็สละเส้นผมเช่นเดียวกัน โดยหวังว่าการสูญเสียเส้นผมของเธอไปจะปลุกพลังและการยอมรับความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านและความยุติธรรมจะงอกเงยขึ้นมาอีกครั้ง มันเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากที่ประชาชนตัวเปล่าที่ไม่มีอะไรจะต่อสู้เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจรัฐที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีอำนาจในการตัดสินคดีความ อำนาจทางด้านกฎหมายเต็มไม้เต็มมือมาใช้กับประชาชน

 

ที่มาภาพ: มติชน
ที่มาภาพ: มติชน

 

เช่นเดียวกัน การต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มสันติวิธี คือ การต่อสู้ของป้าเป้าและการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มป้าเป้าที่เปลือยตัวต่อสู้กับอำนาจรัฐ เราจะเห็นได้ในหลายๆ ภาพของการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่บางครั้งก็มีการเปลือย การถอดเสื้อผ้าของตนเอง ซึ่งในตอนที่คุณป้าเป้าแก้ผ้า เธอบอกเลยว่า “กูมีหีแล้วก็แตดเท่านั้นเอง จะเอาอะไรกับกูอีก” เป็นการต่อสู้ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มที่ คุณภาพสูง ติดอาวุธ มีทั้งชุดเกราะและโล่ป้องกัน “การที่ประชาชนออกมาสู้ด้วยตัวเปล่า เป็นการสะท้อนว่าการต่อสู้ของประชาชน ฉันมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันก็หวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน”

 

ที่มาภาพ: Eak_THESTANDARD Twitter
ที่มาภาพ: Eak_THESTANDARD Twitter

 

“การเปลือยของป้าเป้า” สะท้อนให้เห็นว่าฉันก็มีเนื้อตัว มีเนื้อหนังมังสาเช่นเดียว ฉันก็มีเหมือนของแม่ เหมือนของเมียเธอ เหมือนของลูกสาวเธอเช่นเดียวกัน และการออกมาประท้วงเช่นนี้ เป็นการลดทอนอำนาจคุณค่าของรัฐมากๆ ที่คุณกำลังใช้อาวุธต่างๆ ทั้งในเรื่องของกฎหมายและอาวุธด้านความรุนแรงต่างๆ ทำกับประชาชนตัวเปล่าเล่าเปลือย

 

 

การต่อสู้แบบนี้ไม่ได้เกิดในไทยเท่านั้น ยังมีหลายๆ ที่ ที่ประท้วงโดยการเปลือยเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ อย่างเช่น ถ้าเราจำได้ในภาพของ July Revolution ในปี ค.ศ.1830 ที่ฝรั่งเศส ภาพวาดที่ชื่อว่า “Liberty Leading the People” ที่ผู้หญิงถือปืนคาบศิลา อีกมือนึงถือธงไตรรงค์แห่งการปฏิวัติ เธอก็เปลือยอกเช่นเดียวกัน

ในปี ค.ศ.2015 ผู้หญิงสูงอายุในยูกันดา เขาก็ออกมาประท้วงด้วยการเปลือยร่างกายและสาปแช่ง กลิ้งไปกับพื้นถนนตามขนบความเชื่อดั่งเดิม เพราะว่ามันเป็นการประท้วงเพื่อต่อต้านการไล่ที่ของชาวบ้าน เป็นการบังคับให้ชาวบ้านต้องพลัดถิ่นเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐจะเอาพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่เขาดำรงอยู่อาศัยมายาวนาน ครอบครัว ตระกูล บรรพชนของเขาก็อยู่ที่นั่น แต่รัฐกลับไล่ที่และอ้างว่าเป็นเขตป่าสงวน อันที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่รัฐที่ยูกันดาต้องการใช้เพื่อธุรกิจอย่างอื่นแทน จึงเกิดการประท้วงขึ้น

ในการประท้วงครั้งนั้น ผู้หญิงที่ออกมาแก้ผ้ากลิ้งไปกับพื้นและสาปแช่งเจ้าหน้าที่ เธอบอกว่าเธอไม่มีอะไรจะเสีย จากการถูกคุกคามนั้น ลูกชายของเธอถูกยิงตาย แพะแปดตัวก็ถูกฆ่า แล้วยังจะไล่เธอออกไปจากพื้นที่ของตระกูลเธออีก เธอก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว การที่เปลื้องผ้าออกมาต่อสู้หรือประท้วงเนี่ยมันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหามากๆ และมันก็น่าเศร้ามากๆ ด้วยที่ประชาชนไม่เหลืออะไรแล้ว จนต้องออกมาเปลื้องผ้าประท้วง มันก็สะท้อนถึงความน่าเศร้าเช่นเดียวกัน

 

 

เรื่องของการต่อสู้เช่นนี้ ผมค่อนข้างชื่นชม “กลุ่มทะลุแก๊ส” มากๆ ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เพราะว่าปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหวในไทยหลายๆ ครั้ง คำว่า “สันติวิธี” แม้กระทั่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในปาฐกถาเมื่อทศวรรษ 2510 ก็จะไปอิงกับศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน ในการที่จะบอกว่าในประเทศไทย ในการปฏิวัติสยาม 2475 มันไม่มีความรุนแรง มันเป็นสันติวิธี จากปาฐกถาก็บอกว่าด้วยความที่เป็นสังคมแบบพุทธ เป็นการนิยามแบบนั้นซึ่งอันที่จริงสันติวิธีไม่จำเป็นต้องอิงตามหลักศาสนาก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การต่อสู้แบบสันติวิธี คือ ในการต่อสู้แต่ละครั้ง ในการมาชุมนุมแต่ละครั้ง มันมีความจำเป็นต้องใช้ประชาชนจำนวนมากๆ ในการชุมนุม เพราะว่าถ้าประชาชนมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่หากวันใดที่การเคลื่อนไหวประชาชนมีน้อย รัฐจะรู้สึกมีอิสรภาพมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้นในการที่จะปราบปราม สลายการชุมนุมอย่างรุนแรงได้ การที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมมาก เป็นการสกัดกั้น ยับยั้งไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน รวมไปถึงการแสดงออกของการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ ที่ถูกกดทับ กดขี่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หรือปิดกั้นข่าวสาร รวมไปถึงโรคระบาด ทั้งที่โรคระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐอย่างหนึ่งตามหลักสากล เพียงแต่ว่าความวิปริตของรัฐนี้ก็คือว่า รัฐกลับสร้างความมั่นคงจากโรคระบาด แทนที่มันจะกลายเป็นภัยความมั่นคงใหม่ มันเป็นสิ่งที่ประหลาดมากๆ

“สันติวิธีไม่ได้ถูกใช้เป็นการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว” แต่ยังเป็นการหาแนวร่วมให้คนที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม คนที่ Ignorant คนที่ไม่ได้สนใจให้หันกลับมาด้วยสามัญสำนึกของเขา ด้วยทัศนคติของเขา มาทบทวนเพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจกับสถานการณ์ ยอมรับเสียงของผู้เรียกร้องและเห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรง มันจึงเป็นการสื่อสารกับทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อสารกับผู้ที่คิดต่างกับผู้ชุมนุม ว่ามีผู้เห็นต่างถูกอุ้มฆ่า มีคนที่ถูกขับไล่ การต่อสู้อย่างสันติวิธีจึงเป็นหนทางเดียวของผู้ชุมนุมที่จะสามารถสู้กับรัฐได้ในฐานะที่ตนเองไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์

ในการเคลื่อนไหวแบบ “สันติวิธี” เราสามารถโกรธแค้น เราสามารถด่าทอได้ เราไม่ใช่ประชาชนที่จะสยบยอม เราสามารถด่าทอ เกรี้ยวกราด หยาบคาย ก้าวร้าวได้ เป็นเรื่องปกติมากๆ ซึ่งเราจะไม่ทำลายตัวบุคคล แต่เราจะทำลายตัวสัญลักษณ์ของอำนาจที่กดขี่

เราสามารถเผารูปได้ เราสามารถขีดเขียน พ่นสเปรย์ด่าทอ เพราะอย่างไรก็ตาม การไปสาปแช่งเผารูปภาพไม่ใช่การหมิ่นประมาท ไม่ใช่การดูหมิ่น ไม่ใช่การแสดงอาฆาตมาดร้าย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียทางกายภาพ เพียงแต่ว่าอาจจะกระทบกระเทือนจิตใจของแต่ละปัจเจกบุคคล แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างกับสัญลักษณ์ที่กดขี่ประชาชนอยู่

ผมจึงคิดว่าการที่มีคนเผารูปแล้วโดนมาตรา 112 หรือมาตราอื่นๆ เป็นการตีความกฎหมายที่ผิดเพี้ยนมากๆ อีกอย่างหนึ่งคือเราสามารถคว่ำบาตรได้ โดยที่เราสามารถร่วมงดกิจกรรมทางศาสนาให้กับศาสนสถานบางแห่งที่สนับสนุนเผด็จการ หรือว่างดให้บริการบางกลุ่มอาชีพที่เป็นตัวแทนคุกคามที่ประชาชน เพื่อเป็นการแสดงอารยะขัดขืนเพื่อให้เขาได้ตระหนักและยอมรับว่าประชาชนลำพังออกมาชุมนุม หนึ่ง เสี่ยงโรคระบาด เสี่ยงโรคติดต่อ สอง เสี่ยงความไม่ปลอดภัย การถูกทำร้ายร่างกายทุบตี มันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว การที่ตำรวจ คฝ. หรือเจ้าหน้าที่รัฐจะยอมเสี่ยงตัวเองบ้าง ด้วยการไม่ทำร้ายประชาชน ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาการ เป็นสิ่งที่เขาควรจะยอมเสี่ยงเช่นเดียวกัน ถ้าเรายกระดับไปมากกว่านั้นได้ เราสามารถหยุดงาน หยุดเรียนเพื่อประท้วงได้ ซึ่งมันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้สันติวิธีและอารยะขัดขืน

เราจะเห็นได้ว่าในกลุ่มทะลุแก๊ส เขามีอาวุธอะไรบ้าง มันเป็นอาวุธที่ถูกเรียกว่าอาวุธได้หรือเปล่าไม่ทราบ เพียงแต่ว่ามันสามารถใช้ประหนึ่งอาวุธได้ เช่นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในตอนที่จับกุมป้าเป้า ก็กลายเป็นหาว่าป้าเป้ามีบางอย่างที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เพียงแต่ว่าป้าเป้าก็บอกว่า “เขามีแค่หีกับแตดเท่านั้นเอง” แสดงว่าในรูปแบบของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถพิจารณาว่าอะไรเป็นอาวุธก็ได้ ตราบเท่าที่เขาคิดว่าความมั่นคงของเขาไม่มี

ผมคิดว่าด้วยความที่กลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งเขาอาจจะมีหลายๆ กลุ่มรวมตัวกันในพื้นที่เดียวกัน มีหลายคนที่ผมเคยพูดคุยกัน บางคนเขาก็เผชิญความสูญเสียจากโควิด พ่อแม่ตายก็มีไม่เหลือใคร รูปแบบในการต่อสู้ การเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงความรู้บางประการเขาอาจจะมีโอกาสไม่มาก โอกาสที่เขาจะออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกได้ มันจึงออกมาในรูปแบบของกลุ่มทะลุแก๊ส เช่น การใช้พลุ ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ยังอยู่ในรูปแบบของสันติวิธีที่เขากำลังทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐกำลังทำตัวประหนึ่งว่าเป็นอำนาจของรัฐ แต่ไม่ได้ทำตัวว่าเป็นประชาชนร่วมกัน มันจึงสามารถกระทำได้ โดยอยู่ภายใต้หลักสันติวิธีอย่างแน่นอน

ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่รัฐเองก็กำลังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเองให้เป็นเพียงกลไกนึงของรัฐเท่านั้น ไม่สามารถนับรวมได้ว่า เขาจะเป็นประชาชนที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกับประชาชนด้วยกันได้ ประชาชนเองย่อมมีสิทธิ์ในการปะทะด้วยความโกรธแค้น เหยาะเย้ย ถากถาง ด่าทอได้หรือว่าจะฉีดสเปรย์ พ่นทำลาย เผาอาวุธยุทโธปกรณ์ รถของเจ้าหน้าที่หรือโล่ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหยุดยั้งความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ที่จะกระทำต่อประชาชนต่อไป รวมไปถึงเป็นสิ่งที่ปกป้อง ป้องกันตัวเองได้ด้วย

ขณะเดียวกันก็เป็นการตัดหนทางของเจ้าหน้าที่ ที่จะก่อความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งการที่ประชาชน ที่เขาจะรู้ว่าอาวุธของรัฐจะถูกลำเลียงมาจากเส้นทางใด เขาสามารถกีดขวาง เผา สกัดกั้นเส้นทางนั้นได้ ซึ่งก็อยู่ภายใต้หลักสันติวิธีเช่นเดียวกัน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้

แต่อย่างไรก็ตามภายใต้อำนาจรัฐ การต่อสู้ของประชาชนภายใต้สันติวิธีก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่ามันก็มีรูปแบบของกฎหมายบางประการที่มันมาจำกัดตัวตนของประชาชนอยู่แล้ว โอกาสและเสรีภาพของประชาชนในการที่เขาจะออกมาเคลื่อนไหว เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ในการที่ประชาชนจะต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ ทรราชด้วยสันติวิธี มันทำได้ หนึ่งมันอาจจะมีคุณูปการตรงที่สร้างความตระหนักรู้ ตื่นรู้ให้กับผู้อื่นที่มองเข้ามา ให้เขาทบทวนทัศนคติและสามัญสำนึกของเขา แต่กับอำนาจรัฐอาจจะเป็นเรื่องยาก

ถ้าเรากลับไปอ่านปาฐกถาของอาจารย์ปรีดีจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ผ่านมามีการต่อสู้ปะทะกันกับกลุ่มผู้ที่มีอำนาจเก่าที่พยายามจะสงวนรักษาอำนาจไว้ โดยใช้ความรุนแรงและมันก็เกิดความรุนแรงตามประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ปรีดียกตัวอย่าง

แต่ว่าอย่างไรก็ตามมันก็มีบริบททางประวัติศาสตร์ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อจำกัด แต่ในยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าทางออกที่ดีที่สุด อาจจะเป็นเรื่องของการเจรจากัน ซึ่งมันอาจจะเป็นไปได้ยากอยู่แล้วด้วยตัวของมันเองกับสภาวะรัฐเช่นนี้ ถ้าถามว่ามองเห็นอนาคตไหม ผมก็ยังเชื่อว่ายังมองเห็นอนาคตอยู่ เพียงแต่ว่าหากประชาชนที่มาร่วมชุมนุมน้อยลง มันก็อาจจะทำให้รัฐใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ขณะเดียวกันเราจะเห็นได้ว่ามาตรฐานของความหมายสันติวิธีมันค่อนข้างไต่ระดับสูงไปเรื่อยๆ แล้ว เช่นเดียวกันการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไต่ระดับสูงมากขึ้นไปด้วย เมื่อเปรียบเทียบกันในปี พ.ศ.2563 การเกิดการฉีดน้ำ การใช้สารเคมีครั้งแรกของคฝ. สร้างความโกรธให้กับประชาชนมากๆ แล้วก็เกิดการประท้วงใหญ่ต่อมาด้วย จำนวนคนร่วมชุมนุมมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้ผมเป็นกังวลใจและเกิดความกลัวมากๆ ก็คือว่ามันถูกทำให้คุณชินกับความรุนแรงของ คฝ. มากขึ้น เช่น การไล่ตี การขับรถไล่ยิงกราด การใช้อาวุธจริง การกระทืบ เตะเสย เราเห็นภาพเหล่านี้อยู่ทุกวันๆ มันน่ากลัวตรงที่คนส่วนใหญ่และสื่อกำลังจะทำให้ประชาชนผู้เสพข่าวคุ้นชินกับความรุนแรงที่รัฐกำลังทำและมันก็จะสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันบาร์ในความหมายของสันติวิธีของภาคประชาชนเองก็สูงขึ้นมาเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ด้วยอาชีพหน้าที่การงาน สถานะของพลเรือนไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อจับอาวุธอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันจึงเป็นโอกาสยากมากที่ประชาชนจะจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ ขณะเดียวกัน มโนธรรม มนุษยธรรมของประชาชนมันก็มีระดับที่เขาจะไม่จับอาวุธเพื่อเข่นฆ่า ซึ่งมันจะต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐ

แม้กระทั่ง น้องในกลุ่มทะลุแก๊สบางคนที่ผมเคยคุย ผมถามว่า ถ้าเขามาตีเธอขนาดนี้ กระทืบเพื่อนเธอ โดนยิงแก๊สน้ำตาขนาดนี้ ถ้ามีวันที่คุณจับ คฝ. ได้สักคนหนึ่ง คุณจะกระทืบเขาไหม เขาตอบว่าผมไม่ทำอย่างนั้น “ผมกำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐอยู่ ผมไม่ได้สู้กับ คฝ. นะ ผมกำลังสู้กับความไม่ชอบธรรมของรัฐ เขาก็เป็นคนเหมือนกับผม” มันทำให้เห็นได้ว่า เขามีมนุษยธรรมมากๆ ซึ่งผมก็ค่อนข้างเคารพเขา แล้วก็เคารพขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในหลายๆ กลุ่มเช่นเดียวกันครับ

 

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “สันติวิธีกับการชุมนุม: อุปสรรคและความหวังของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย” โดย ชานันท์ ยอดหงษ์, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564