ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทุ่งสังหาร 6 ตุลาฯ กับ ความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

14
ตุลาคม
2564

 

เช้าวันนี้ผมได้ไปร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้ว เวลาที่ล่วงเลยมานานถึง 45 ปี ความทรงจำย่อมต้องสูญหาย ในปีนี้เป็นที่น่าแปลกใจ มีผู้คนเข้าร่วมรำลึกถึงและสามารถต่อเชื่อมร่องรอยที่ขาดหายไป ตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆ เข้ามาค่อนข้างครบถ้วนและมากขึ้นเรื่อยๆ มีภาพบางภาพที่ผมเองก็นึกไม่ถึงว่าจะมีการเก็บไว้ ก็มีการต่อเชื่อม

ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สังคมปัจจุบัน สังคมของคนรุ่นใหม่นั้น ได้สนใจอดีต สนใจบาดแผล สนใจสาเหตุในอดีต ที่ทำให้ประเทศของเราเจอปัญญา แล้วเขาก็นำเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้ออกมาขับเคลื่อน ผลักดันเพื่อให้เกิดการรับรู้ ยอมรับ เพื่อจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง หรือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้น มีความกลัว ทุกวันนี้ความกลัวของผู้มีอำนาจ หรือ ผู้ที่มีตำแหน่งได้สร้างปัญหาใหญ่ขึ้นไปมากกว่าที่ควรจะเป็น จริงๆ การจัดรำลึกในทุกปี ไม่มีอะไรมากกว่าการมีพิธีทางศาสนา การมีพิธีการที่พูดถึงเพื่อนมิตรที่ได้เสียชีวิตไป โดยมีเจตนาที่จะรำลึกถึงในรูปแบบต่างๆ เท่านั้นเอง

 

ภาพ: งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพ: งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ในวันนี้ ในปีนี้คนไปร่วมมาก พวงมาลาล้นหลามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะการที่คนมีอำนาจในระดับต่างๆ พยายามกดดันมากเท่าไหร่ การอยากจะรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงของประชาชนก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าทำการให้อนุญาตจัดพิธี ผู้คนก็คงจะไม่มากเท่ากับวันนี้ แต่วันนี้เขาก็จำยอมให้จัด เพราะเขากลัวผู้มีอำนาจ กลัวเผด็จการไม่พอใจเขา มากกว่ากลัวประชาชนผู้สูญเสียและฝ่ายประชาธิปไตยโกรธเขา เห็นไหมครับ เขาย่ำยีหัวใจขนาดนั้น แต่พวกเราก็ได้ใช้ความอดทนและสามารถดำเนินการอย่างละมุมละม่อม จนสามารถจัดงานในวันนี้ได้

เราทิ้งประเด็นไว้ในวันนี้ โดย ‘ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส’ ได้บอกไว้ว่า 6 ตุลาฯ เกิดเหตุขึ้นกลางเมือง มีรูปปรากฏคนแขวนคอ คนกระทำ คนทุบตีและคนเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ทำไมเขาจึงไม่ถูกดำเนินคดีหรือลงโทษเลย วันนี้เราตามหาแต่คนสูญหายเท่านั้น แต่เราไม่เคยตามหาผู้กระทำจริงๆ เราสาวจากคนที่มีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วเหล่านั้นว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร และสามารถสาวไปหาต้นเหตุ ต้นตอ ผมว่าได้ไม่ยากเลย นี่คือประการที่ 1

 

 

ประการที่ 2 ในประเด็นที่คุณกฤษฎางค์ได้ทิ้งไว้ และผมคงจะต้องเข้าร่วม และพร้อมที่จะนำประสบการณ์และคอนเนคชันที่มี เพื่อส่งเรื่องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศให้ได้ ในรูปแบบไหนค่อยดูอีกทีหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทิ้งไว้ให้ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับการสูญหายของบุคคลในรูปแบบต่างๆ

“การสูญหายถือว่าเป็นการสังหารอีกรูปแบบหนึ่ง” สังหารทิ้งแม่น้ำ สังหารไม่ฝัง สังหารทำลายศพ คือ การสังหารเหมือนกัน ผมจึงอยากบอกกับญาติมิตร กับฝ่ายประชาธิปไตยทุกคนว่า ขอให้ได้มีความรู้สึกเริ่มอุ่นใจขึ้นว่านี่คือกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมต่อไป ที่เราจะไม่ยอมจำนนให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น บิดเบือน หรือ เลือนหาย

วันนี้พอพูดถึงจะชุมนุม ก็อย่าให้เหมือน 6 ตุลาฯ อีก ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ฝ่ายนิสิต นักศึกษา ประชาชนนั้นมีความต้องการแค่ได้แสดงความรู้สึกอย่างสงบสันติ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง หลบเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยซึ่งเปรียบเสมือนบ้าน ถ้าเขาไม่เอาระเบิดไปโยน หรือ ยิงปืนไปใส่ ก็จะไม่เกิดความรุนแรง

ผมคิดว่าเมื่อหัวข้อที่ผมได้พูดว่า 6 ตุลาฯ เป็นกรณีทุ่งสังหาร ผมคิดว่านั่นก็เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เป็นเรื่องที่เกิดกลางเมือง เกิดต่อหน้าสื่อมวลชน AP (Associated Press)  นิตยสารต่างประเทศ สื่อมวลชนต่างประเทศ เก็บภาพเหล่านี้ไว้

หลัง 14 ตุลาฯ ภาพที่ได้รับรางวัลของสื่อมวลชนไทย คือ ภาพ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในภาพคือภาพที่คนคนหนึ่ง เอาลิ่มตอกอกคนเข้าร่วมชุมนุมตายอย่างทารุณที่สุด แล้วลิ่มนั้นยังตอกคาอกอยู่ ปรากฏว่าภาพนั้นก็หายไปจนทุกวันนี้ และภาพของ AP ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คือ ภาพที่มีการแขวนคอทั้งเป็นที่ท้องสนามหลวง

นี่มีเพียง 2 ภาพนี้เท่านั้น แต่ว่าเรื่องราวทั้งหมด ผมถึงเคยกราบเรียนในการพูดคุยหลายครั้งว่า ก่อน 6 ตุลาฯ นั้น ได้เกิดการสังหารหมู่ในหลายที่มาแล้ว ตั้งแต่ถนอม ตั้งแต่สฤษดิ์ยึดอำนาจ ก็ได้สร้างประเทศไทยไว้รองรับอเมริกา สร้างประเทศไทยให้เป็นรัฐในอาณานิคมกลายๆ เพื่อจะเอาไทยเป็นฐานทัพและเอาไทยเป็นหน้าด่านในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ สำคัญที่สุดก็คือ การจำกัดไม่ให้คนรู้เท่าทัน และไม่ให้คนแสดงออก เคลื่อนไหวรับรู้ ก็คือการมีมาตรการทุกอย่างที่จะจำกัดการพูด การคิด การเขียน

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ที่สฤษดิ์ยึดอำนาจมา ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญหลัก คือเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างกันมา 11 ปีเต็ม มาเสร็จในปี พ.ศ. 2511 และเลือกตั้งปี พ.ศ. 2512 จากนั้นปี พ.ศ. 2514 ก็ใช้วิธีเดิม โดยการยึดอำนาจอีกครั้ง ระหว่างเส้นทางนั้น การใช้มาตรการเผด็จการปิดปาก ฆ่าสังหารประชาชน ได้ดำเนินต่อเนื่องมาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ผมสนิทกับนักการเมืองเก่าๆ ‘คุณไขแสง สุกใส’ เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เป็นนักสู้ที่ถูกจับขังคุกตาราง เป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน ท่านได้เป็นผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2512

ระหว่างที่เป็นผู้แทนราษฎรนั้น ท่านก็ได้นำเอากรณีชาวบ้านที่กกจำปา “7 ศพ กกจำปา” ที่ถูกอุ้มฆ่า ถูกทรมาน และก็หาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำไม ‘คุณไขแสง สุกใส’ ซึ่งเป็น ส.ส. นครพนม ถึงไปรู้เรื่องในหลายที่ เพราะการติดคุกอยู่ 10 กว่าปี ได้พบกับบุคคลในหลายพื้นที่ เมื่อคุณไขแสงได้เป็นผู้แทนราษฎร ก็ได้มีความผูกพันสานต่อในเรื่องเหล่านี้

เมื่อมีคนถูกจับในภาคอีสานในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐเป็นจำนวนหลายร้อยคน และคุณไขแสงได้ไปช่วยเป็นปากเป็นเสียง ประกันตัวให้คนเหล่านั้นออกจากคุก โดยใช้ที่ดินของภาคอีสานทั้งหมด ทิศเหนือจรดกัมพูชา นี่คือการดิ้นรนต่อสู้ของคุณไขแสง

กรณี “7 ศพ กกจำปา” กรณีฆ่าในพื้นที่ต่างๆ “กรณีนาทราย” “กรณีนาหินกอง” ที่ถูกเปิดเผยหลัง 14 ตุลาฯ และกรณีการเผาหมู่บ้าน เลียนแบบการเผาหมู่บ้านไล่อิทธิพลคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม หมู่บ้านไมลายและหมู่บ้านต่างๆ เพราะอเมริกาได้เอาวิธีเหล่านี้มาสอนทหารไทย มาถ่ายทอดสู่ประเทศไทย และประเทศก็ได้ใช้กลไกนี้ทำงานกับประชาชนของตัวเองที่มีความเห็นต่าง นี่คือเรื่องที่ 1

เพราะฉะนั้น การฝังกลบ การสั่งสมความทุกข์ในหลายรูปแบบ ได้กดดันให้มีการระบาย มีการเรียกร้องของคนหนุ่มสาว ที่เรียกว่านิสิต นักศึกษา ซึ่งนำโดย “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” และสามารถก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้ ซึ่งจุดชนวนมาจากความกดดัน และการเรียกร้องเพื่อให้บ้านเมืองมีหลัก มีเกณฑ์ มีประชาธิปไตย เพราะหลักเกณฑ์เหล่านั้น จะเป็นหลักประกันได้ว่าประชาชนรู้ว่ากติกาทางอำนาจอยู่อย่างไร เมื่อประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วม จะเข้าร่วมได้ทางไปไหน เข้าร่วมด้วยการเลือกตั้ง กระบวนการอำนาจ 3 ฝ่าย มีการแยกกัน มีการถ่วงดุลกัน ศาลต้องยุติธรรมทุกอย่าง ตรงนี้ต่างหากที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ซึ่งเป็นแรงกดดันที่สะสมมามาก

คุณไขแสงบอกว่า ประเทศนี้แปลก มีการปกครองโดยการแบ่งแยกประชาชน ให้เกลียดชังกัน เข้าใจผิดกัน โดยท่านบอกว่า ถ้าคนอีสานเป็นลาว คนพายัพไม่ใช่ไทย คนปักษ์ใต้เป็นแขกมลายู ก็จะไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกเป็นอันขาด นี่ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นประเทศนั้นต้องหลอมรวม ต้องรักกัน แต่นี่ไปแบ่งแยกให้ประชาชนเกลียดชังกัน การแบ่งแยกและปกครอง โดยใช้ความไม่เข้าใจ ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด ใช้ข้อหาต่างๆ ทำร้ายชีวิตจิตใจคนมามาก

เพราะฉะนั้น 14 ตุลาฯ 2516 จึงเกิดขึ้น เพราะปัญหาต่างๆ มันสั่งสมมา 15 ปี กลไกที่ใช้ก็ไปสัมผัสความรู้สึกของประชาชนมาก และความรู้สึกต่างๆ ก็ส่งผ่านมาทางคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษา

นิสิต นักศึกษาในบ้านเราเป็นพลเมืองของโลก ตอนนั้นเกิดสงครามเวียดนาม กระแสในคนหนุ่มคนสาวเป็นกระแสที่แสวงหาเสรีภาพ ไม่ต้องการการถูกบังคับในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม จึงได้มีการผลักดันในประเทศของเขา และลมแห่งเสรีภาพก็ได้พัดพามายังคนหนุ่มคนสาวในประเทศไทย จึงมีการรวมตัวกัน เรียกร้องต่อรัฐบาลและมีการละเมิดจับกุม คุมขัง จึงนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” เป็นเหตุการณ์ที่สังหารประชาชนเหมือนกัน แต่สังหารแล้วรัฐบาลในเวลานั้น ต้องเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อให้เหตุการณ์สงบชั่วคราว และมีข้อขัดแย้งในผู้มีอำนาจเท่านั้น สังหารแล้วแพ้ เหมือนนักศึกษาชนะ จึงรู้สึกว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนอำนาจทางโครงสร้างความคิดใดๆ นอกจากเรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ที่ดูมีหลักประกันหน่อย ในเวลาเดียวกันประชาชนก็ได้ใช้โอกาสที่มีเสรีภาพนั้น ระบายทุกข์ของเขาในรูปแบบต่างๆ

เหมือนที่ ‘คุณอังคณา นีละไพจิตร’ บอกว่านิสิต นักศึกษาซึ่งจัดโครงการกลับสู่บ้านเกิดไปรับฟังปัญหาต่างๆ ในชนบท ได้ไปรู้ว่าที่พัทลุง ระหว่างปี พ.ศ. 2514 - 2515 ที่ถนอมยึดอำนาจยาวนานมา คนในพัทลุง คนหนุ่ม คนสาว คนที่แข็งแรงหายไปจากหมู่บ้าน 3,000 กว่าคน โดยไม่มีการสอบสวน ฆ่าใส่ถังแดง นิสิต นักศึกษาตอนนั้นโดยศูนย์นิสิตฯ นำโดย ‘คุณพินิจ จารุสมบัติ’ รองเลขาศูนย์ฯ ฝ่ายการเมือง ผมยังเป็นเด็กแต่ก็ไปร่วมด้วย ‘นายแพทย์ เหวง โตจิราการ’ นำคณะนักศึกษาลงไปค้นหารายชื่อ ข้อเท็จจริงและเอาคนเหล่านั้นมาเปิดข้อเท็จจริงที่สนามหลวง รัฐบาลก็กลัวมาก เข้ามาเจรจา แต่เรื่องก็หายไปพร้อมๆ กับ 6 ตุลาฯ

ผมเองได้มีโอกาสไปร่วมรับรู้ทุกข์สุขของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “กรณีการฆ่า 5 ศพ ที่สะพานกอตอ ปัตตานี” เนื่องจากมีการตั้งด่านตรวจของนาวิกโยธินที่ปัตตานี และระหว่างผ่านด่านตรวจนั้นก็คงมีการสื่อสารกันไม่เข้าใจ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และใช้ดาบปลายปืนแทงทั้ง 5 คน โยนลงแม่น้ำปัตตานี มีเด็กคนหนึ่งชื่อ ‘สือแม บราเซะ’ อายุ 11 ปี เขาไม่ตาย เขาฟื้นขึ้นมาและเอาความทุกข์มาบอกเล่าความจริงให้พี่น้องชาวบ้านฟัง จึงมีการชุมนุมครั้งใหญ่

ผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปร่วมกับเขา ชุมนุมตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ระหว่างชุมนุมมีการยุบสภาของอาจารย์คึกฤทธิ์ และมีการยอมรับผิดในบางประการเบื้องต้น ผมจึงเดินทางกลับไประหว่างไปอยู่ที่นั่น ผมได้เห็นว่าพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทนทุกข์ทรมานกับมาตรการเช่นนี้ ยิ่งกว่าที่อื่นมหาศาล บางคนถูกเรียกตัวมา แต่กลับไปคนไหนที่ไปไม่ลงรอย กลับไปถูกยิงตายเกือบหมด

ความกดดันเช่นนั้น ทำให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาเรียกร้อง เราก็จะไปรับรู้ทุกข์สุข ผมเป็นเลขาศูนย์นิสิตฯ ผมไปอยู่ที่นั่นและได้ไปรับรู้ปัญหาเหล่านี้ ผมติดคุก พี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ยังส่งทนายมาร่วมกับผม มาร่วมว่าความ มาร่วมเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ผม คือ ‘คุณยงยุทธ มติวัตร’  ผมจึงนึกถึง ‘คุณสมชาย นีละไพจิตร’ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางกฎหมายของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โดนกระทำ นี่เป็นกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเรามีเสรีภาพ เราก็สามารถใช้เสรีภาพที่เกิดขึ้นจากระบอบประชาธิปไตยนั้น ระบายทุกข์ของเรา ต่อรองกับรัฐบาล กดดันรัฐบาล

“กรณี 5 ศพ สะพานกอตอ” ในการชุมนุมครั้งแรก มีระเบิดลงทำร้ายคนตายไปกว่า 10 คน จึงย้ายการชุมนุมไปที่มัสยิดกลางปัตตานี และปักหลักชุมนุมอยู่ที่นั่นจนจบ มีการได้รับข้อเสนอว่าต้องมีการจับกุมคุมขัง มีการดำเนินคดีคนดำเนินการ แต่ว่านั่นก็เป็นเพียงรูปแบบ พอ 6 ตุลาฯ ทุกอย่างก็หายไป

อีกประการหนึ่ง ที่ก่อนจะมาสู่ข้อสรุปเรื่องทุ่งสังหาร ผมจะเล่าให้ฟังว่า 6 ตุลาฯ เป็นการรวบยอดของการเผด็จศึกการสังหารครั้งใหญ่เท่านั้น เมื่อก่อนสังหารกระจาย ที่นู้น ที่นี่ นักศึกษาเมื่อได้อำนาจอธิปไตยมา นักศึกษาเขาก็รู้ว่าอำนาจอยู่กับเราไม่นานหรอก พอเราเรียบจบก็ต้องไปทำงาน เหมือนประชาชนทั่วไป เราจึงคิดว่าเราต้องฝากอำนาจที่ยิ่งใหญ่นี้ไว้กับพี่น้องประชาชนให้เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือสำคัญของเขาในการแก้ปัญหา

ปัญหาเวลานั้นปรากฏว่าพี่น้องอาชีพส่วนใหญ่คือ เกษตรกร คือ ชาวนาอยู่อย่างยากลำบากที่สุด เช่านาด้วยราคาแพง พืชผลเกษตรตกต่ำ เราคิดว่าเราจะไปยุ่งแต่ละรายไม่ได้ ต้องร่วมมือกับชาวนาในการจัดตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” และมีการผลักดันจนรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ สามารถออก พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดิน ให้กับคนยากคนจน สามารถออก พ.ร.บ. ค่าเช่านา และประกันการค้าพืชผลได้ระดับหนึ่ง

แต่ผลที่เกิดขึ้น คือ มีชาวนาถูกลอบยิง และมีการลอบฆ่าผู้นำชาวนา ลงมือกระทำโดยอันธพาลท้องถิ่น เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ มีการจัดตั้งองค์กรของ กอ.รมน. นวพลบ้าง กระทิงแดงบ้าง กระทิงแดงทำหน้าที่ในเมือง นวพลทำหน้าที่ในต่างจังหวัด และลูกเสือชาวบ้านก็ในอีกกลุ่ม พวกนี้ทำหน้าที่สอดคล้องประสานกัน พร้อมๆ กับการเคลื่อนความคิดแบ่งแยกนิสิตนักศึกษาและประชาชนฝ่ายก้าวหน้าออกจากประชาชนส่วนใหญ่ให้เข้าใจกันผิด

อีกอาชีพหนึ่ง คือ “เกษตรกร” และ “กรรมกร” คือ คนมาทำงานตามโรงงาน ก่อน 14 ตุลาฯ คนเหล่านี้ต้องทำงานวันละเกือบ 20 ชั่วโมง ค่าแรงวันละ 10 บาท เกิดอะไรขึ้นมาไม่มีหลักประกัน เราก็คิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เพื่อนผมนิสิตนักศึกษาวิศวกรต้องไปอยู่ตามโรงงาน เพื่อจะไปร่วมศึกษาเรียนรู้จากเขา ช่วยเขาในการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ จึงสามารถเคลื่อนไหวเดินขบวนมาจากอ้อมน้อยทั้งประเทศ แล้วผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่มีค่าแรงวันละ 25 บาท และทำงาน 3 กะ เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาหรือว่าเจ็บปวดระหว่างทำงานจะได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อก่อนไล่ออก ใช้แต่แรงงาน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญ

ในส่วนนี้ที่ผมคิดว่าเป็นการสูญเสียซึ่งผลประโยชน์ที่เขาเคยได้มา เหมือนบอกว่าอเมริกาได้มาวางโครงสร้าง หลังจากสฤษดิ์ยึดอำนาจที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ ให้ประเทศไทยเป็นด่านหน้า เอาการลงทุนลงมา เขาสูญเสียผลประโยชน์ เขาก็ร่วมกับทหารไทยที่เคยหากินกับฐานทัพ เคยหากินกับกระสุน กระสุนที่ส่งไปแล้วเหมือนอัฟกานิสถาน ที่กระสุนเจ๊งสู้เยอรมันไม่ได้ เพราะส่งกระสุนไปกลายเป็นดินมากกว่าเป็นกระสุน

เพราะฉะนั้น ทหารไทยก็ไม่พอใจ จริงๆ ก็ต้องถอนอยู่แล้ว อาจารย์คึกฤทธิ์เห็นด้วยกับเราในการถอน ก็ถูกกระทำไปด้วย ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาเสียค่าแรงให้กรรมกร ไม่ยอมมาเสียให้ผู้มีอำนาจดีกว่า ปราบปรามกรรมกร และ เริ่มสังหารกระจายอยู่ทั่วทุกกลุ่มการเคลื่อนไหวหลักๆ หลังจากนั้นจึงได้มาฆ่ารวมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และจริงๆ เขาต้องการฆ่าระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาจาก 14 ตุลาฯ 2516 ให้ตายไปพร้อมๆ กัน

แต่ด้วยเสรีภาพที่ได้เคลื่อนไหว ได้มีการแสดงออก 3 ปี มันฝังอยู่ในวิญญาณมนุษย์แล้ว พวกเราจึงไม่ยอมจำนน ผมติดคุกจริง แต่เพื่อนอีก 3,000 กว่าคนไม่ยอม ออกไปชนบท ออกไปสู้ด้วยกัน และพี่น้องประชาชนก็ร่วมกับขับเคลื่อนผลักดัน จนรัฐบาลเผด็จการตอนนั้นอยู่ไม่ได้ อเมริกาก็ต้องเปลี่ยนแผนบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ จึงให้เกรียงศักดิ์ล้มธานินทร์ แล้วปิดคดี 6 ตุลาฯ โดยการนิรโทษกรรมให้กับคนฆ่า แต่ปล่อยพวกผมซึ่งเป็นเหยื่อออกมาจากบางขวาง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็มีประชาธิปไตยครึ่งใบมา

โครงสร้างอำนาจในเมืองไทยเป็นโครงสร้างในเชิงอุปถัมภ์ให้ประชาชนอ่อนแอ ประชาชนแข็งแรงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จะถูกสังหารด้วยวิธีการต่างๆ สังหารโดยกฎหมาย 6 ตุลาฯ เขานำกฎหมายมาตรา 112 มาเล่นงานพวกผม โดยที่พวกผมไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลย โดยยกการแสดงละครขึ้นมาแล้วจับกุมคุมขัง และเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มโทษคดี 112 เป็นจาก 7 ปีกว่าเป็น 15 ปี แต่เนื่องจากหน้าตามีหู ประตูมีช่อง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ในวันนี้ก็ยังมีการนำกฎหมายมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความเห็นต่างด้วยวิธีการต่างๆ ผมถึงว่าเด็ก และ ลูกหลานทุกวันนี้ เขาเรียกว่าตาสว่างกันแล้ว เขาถือว่าไม่ทำอะไรอย่างพวกผมก็ถูกจับไปทรมานตั้งหลายปี มันก็ทำแล้วถูกจับก็น่าจะคุ้มกว่า

สุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจทุกคนได้ดำเนินการกันต่อ สู้กันหลายคน สู้กันต่อเนื่อง สู้อย่างสันติ นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดแล้ว

 

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “ทุ่งสังหาร 6 ตุลาฯ กับ ความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” โดย สุธรรม แสงประทุม, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564