“...หลังจากชัยชนะของขบวนการประเทศลาว ในลาวแล้ว เฉพาะปืน M16 อันเป็นอาวุธเบา ได้ทะลักมาอยู่ชายแดนไทยประมาณ 709,000 กระบอกปืน 709,000 กระบอกนี่แหละค่ะ ที่เขาลักลอบขนเข้ามาดำเนินการร้ายในประเทศไทย คือ สาเหตุที่เกลียด นปข. นัก (หมายถึง หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง) เพราะเขาจะขนอาวุธเหล่านี้เข้ามา อาวุธเหล่านี้ ในเวลานี้ได้สะสมไว้ที่เวียงป่าเป้าในเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งนั้นได้สะสมไว้ที่สุราษฎร์ธานี
เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายคงเข้าใจว่า ทำไมความวุ่นวายทางภาคใต้นั้นได้ดำเนินเรื่อยไป ท่านทั้งหลายจะคิดไหมว่า ความวุ่นวายเหล่านั้นหรือเหตุที่เกิดขึ้นกลางเมืองเรานั้น บางทีมันมีขั้นตอนติดต่อกันมาอย่างน่าสนใจ อยากจะยกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือ การที่บังคับประชาชนพกบัตรประจำตัว
ในมาเลเซียนั้น เคยทำได้ผลอยู่อย่างหนึ่ง คือการทำให้ประชาชนออกจากบ้านต้องพกบัตรประชาชน เขาจะตรวจบัตรประชาชนเหมือนตรวจใบขับขี่ คือ ประชาชนรู้สึกว่าออกจากบ้านไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้พกบัตรประชาชน เคยมีหนังสือพิมพ์เมืองไทยไปด่าว่าถึงมาเลเซียไปด่าว่าทำยังงี้ ไปตัดสิทธิเสรีภาพของคนมาเลเซีย ไม่ทราบว่าหนังสือพิมพ์ไทยไปยุ่งอะไรกับเขาถึงที่นั่น แต่เขาทำนั้นคือการกะว่า ถ้าจับใครก็ตามไม่พกบัตรประชาชนให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่ใช่คนมาเลเซีย และถ้าเขตใดเป็นเขตแทรกซึมก็ออกบัตรสีเหลืองให้ทันที ให้รู้ว่าคนนี้มาจากเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์
ในเมืองไทยเราเคยพยายามทำอย่างนั้น ผลก็คือว่า ในครั้งหนึ่งมีการชุมนุมคนที่สนามหลวง คนที่ชุมนุมก็จะไม่รู้อะไร แต่มีผู้ยุยงว่า เมื่อทำอย่างนี้ ขออย่างนี้ต่อรัฐบาลไม่ได้ ก็เผาบัตรประชาชนมันทิ้ง ไม่ขอเป็นประชาชนคนไทยอีกสืบไป (เน้นคำโดยผู้เขียน) อาการที่ม็อบคนขึ้นมักจะพูดอะไรที่พูดตามกัน เผาบัตรประชาชนกันที่สนามหลวงค่ะ เผาเสร็จกลับท้องถิ่นตน ไม่มีบัตรประชาชน ทำอย่างไร ก็ขอใหม่กับอำเภอค่ะ เมื่อขอใหม่ คนที่ไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นนั้น แจ้งต่ออำเภอว่าตนเป็นบุคคลในท้องถิ่นนั้น ขอบัตรประจำตัวเป็นประชาชน
แล้วเราก็ทราบว่าในต่างจังหวัดบางครั้งบางแห่งเงินมีอำนาจ อำเภอก็ถามกำนันผู้ใหญ่บ้านว่าคนนี้เป็นลูกบ้านตนหรือเปล่า เมื่อเงินเสียงมันดัง คนนั้นก็ยอมรับว่า ใช่ คนนี้เป็นลูกบ้านของตน เขาก็ออกบัตรประชาชนใหม่ให้ ทุกวันนี้เราจึงมีคดีเกิดขึ้น คือคนไทยถือพาสปอร์ตไทย คนไทยถือบัตรประชาชนไทย แต่ทว่าพูดไทยไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว...” [1]
ข้อความข้างต้นมาจากเสียงการปลุกระดมในรายการวิทยุยานเกราะ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผู้พูดคือ 'คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์' หรือที่สังคมไทยรู้จักในฐานะนักเขียนชื่อดังว่า “ทมยันตี”
ทมยันตี เพิ่งเสียชีวิตไปในวัย 85 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ท่ามกลางการขุดค้นถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของไทยที่ถูกทำให้เงียบเชียบมาเกือบครึ่งศตวรรษ
คำถาม คือ ประโยคที่ทมยันตีกล่าวข้างต้นนั้นคืออะไร เธอกล่าวถึงใคร และสำคัญอย่างไรกับเหตุบ้านการเมืองในช่วงก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษาที่เป็นเป้าในการทำร้าย
หากฟังโดยไม่คำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ ภาพที่ถูกจดจำในการเคลื่อนไหวยุคประชาธิปไตยเบ่งบานระหว่างปี 2516-2518 อาจจะทำให้เราเข้าใจประโยคข้างต้นว่าทมยันตีกำลังหมายถึงของขบวนการนักศึกษาเท่านั้น เนื่องจากพวกเขามีบทบาทโดดเด่นในทางการเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงนักศึกษาเท่านั้น หากยังมีแรงงานกรรมกร และในกรณีนี้คือชาวนา ซึ่งเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตีว่าได้รับการยุยงให้เผาบัตรประชาชนที่สนามหลวง และสะสมอาวุธ นอกจากนั้นทมยันตีกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของพวกคอมมิวนิสต์
ข้อความของทมยันตีแสดงให้เห็นถึงโครงเรื่องหลักของขบวนการฝ่ายขวาที่ใช้ปลุกระดมทำร้ายขบวนการ “สามประสาน” ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและกฎหมายที่เป็นธรรมอย่างกว้างขวางในช่วงที่เสรีภาพเปิดกว้าง โดยถูกตีตราง่ายๆ ว่าเป็นการกระทำของคนไม่รักชาติ
"ขบวนการฝ่ายขวา" ซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยรัฐ ได้ก่อตัวขึ้นมาตอบโต้กับขบวนการประชาธิปไตยสามประสานข้างต้น โดยอาศัยข้อกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน
"ทมยันตี" มีบทบาทก่อตั้งชมรมแม่บ้าน โดยเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาขบวนการฝ่ายขวาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2518-2519 นอกเหนือไปจากกลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ทมยันตีได้รวบรวมภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล รวมทั้งแม่บ้านจำนวนมากเข้าเป็นสมาชิกของชมรมแม่บ้าน โดยก่อตั้งกลุ่มในปี 2519 เพื่อทำกิจกรรมต่อต้านขบวนการนักศึกษาหลากหลายประเภท และความโหดร้ายจากการปลุกระดมก็พุ่งถึงขีดสุดในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
กล่าวได้ว่าก่อนหน้าความรุนแรงครั้งนั้น พบการลอบสังหาร นักศึกษา แรงงาน กรรมกร อยู่เป็นระยะ รวมไปถึงการก่อความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ เช่น การลักพาตัว การรุมทำร้าย ไปจนกระทั่งกระทั่งแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าสองคนที่ออกไปติดใบปลิวรณรงค์ทางการเมือง
ชาวนาเคลื่อนไหวอะไร และถูกปราบอย่างไร
กล่าวเฉพาะกลุ่มชาวนา ซึ่งเผชิญกับความโหดร้ายไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่นในขบวนการประชาธิปไตย จากหนังสือ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย เขียนโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ตีพิมพ์ในปี 2560 เสนอไว้ว่า การเคลื่อนไหวของชาวนา ซึ่งชูประเด็นหลักคือเรียกร้องการควบคุมค่าเช่านา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาถูกปราบปรามอย่างหนัก โดยกระทำอย่างปิดลับซ่อนเงื่อน
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ขบวนการชาวนารวมตัวกันในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมสมาชิกได้จำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน จากข้อมูลของไทเรล ฮาเบอร์คอร์นระบุว่า การเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ต้องการเรียกร้องการตราพระราชบัญญัติการควบคุมค่าเช่านาจนสามารถออกเป็นกฎหมายได้ในปี 2517
เหตุผลที่กฎหมายฉบับนี้กลายเป็นประเด็นหลักในการเรียกร้องของชาวนา เนื่องจากภาวะอดอยากแร้นแค้นจากการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การเรียกร้องกฎหมายฉบับนี้จะช่วยในการจำกัดการขึ้นค่าเช่านาตามอำเภอใจของเจ้าที่ดิน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาข้าวของไทยกำลังตกต่ำในตลาดค้าข้าวของโลก ซึ่งในเชียงใหม่อันเป็นพื้นที่ศึกษาของไทเรลเอง พบว่ามีเจ้าที่ดินอันดับ 1 ของประเทศ มีจำนวนครัวเรือนที่เป็นผู้เช่านาสูงที่สุดในประเทศอีกด้วย โดยมีถึง 54,225 ครัวเรือน ขณะที่ค่าเช่าที่ดินของภาคเหนือเองมีการเก็บในอัตราที่สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ทำได้ในแต่ละปี บางปีชาวนาต้องจ่ายค่าเช่านาถึง 60 เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตที่พวกเขาผลิตได้ (น.13)
ขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา ซึ่งเคยถูกตราขึ้นในสมัย 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2493 กลับบังคับใช้ได้เฉพาะพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ขณะที่ภูมิภาคอื่น ยังเป็นเพียงการกำหนดให้พิจารณาเป็นรายจังหวัด และสถานการณ์ก็รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อถึงยุครัฐบาล 'จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์'
เวลาผ่านไปเกือบ 3 ทศวรรษ ขบวนการชาวนาจึงกลับมามีพลังอีกครั้งหลังการสิ้นสุดอำนาจของเผด็จการทหาร ‘ถนอม ประภาส ณรงค์’ แต่การเคลื่อนไหวของชาวนาหลังจากนั้นก็ต้องแลกมาด้วยเลือด เพราะระหว่างเดือนมีนาคม 2517 - กันยายน 2522 มีสมาชิกองค์กรในระดับแกนนำกว่า 33 คน ถูกสังหาร 8 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอีก 5 คน หายสาบสูญ แต่ไทเรลเสนอว่าจุดที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2518 เมื่อพบว่ามีแกนนำสหพันธ์ถูกสังหารไปถึง 21 คน การลอบสังหารนี้กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแกนนำถูกสังหารในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน คือ มิถุนายน-สิงหาคม 2518 ถึง 8 คน หนึ่งในนั้นคือ 'พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง' ที่ถูกสังหารไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2518 (น.7)
นัยยะสำคัญของการเรียกร้องของชาวนา และผลของความรุนแรงที่ตามมาจึงมิใช่การเรียกร้องดาดๆ ของพวกที่ได้รับยุยงปลุกปั่น ในทางตรงกันข้ามจากการตีความไทเรลเสนอว่า การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นการตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมของสังคมไทย ที่กระทบอย่างถึงรากเหง้าความเชื่อดั้งเดิมของเจ้าที่ดินอีกด้วย ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างรัฐที่ไม่เป็นเอกภาพ เจ้าที่ดิน และปัญหาการต่อสู้ทางอุดมการณ์นี้เอง จึงนำมาสู่ความซับซ้อนในการค้นหาผู้กระทำความรุนแรงต่อชาวนาด้วย เพราะในส่วนมุมมองของเจ้าที่ดินเอง ก็ได้มีความพยายามอำพรางความเดือดเนื้อร้อนใจของชาวนาเอาไว้เช่นกัน
ความยากลำบากของขบวนการชาวนาเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง บางครั้งเครือข่ายผู้มีอำนาจในระดับจังหวัดและภูมิภาคก็ฉวยโอกาสกระทำความรุนแรงเสียเอง ท่ามกลางความสับสนในการแปะป้ายผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น กระทำผ่านการปิดบังความคืบหน้าข้อเรียกร้องชาวนา การให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อคณะกรรมการจังหวัด ในที่ประชุมของเจ้าที่ดินของภาคเหนือครั้งหนึ่ง ถึงกับมีคนยืนกรานกับทางการว่า “ตนถือครองที่นาจำนวนไม่มาก กระทั่งคนมีที่ดินตั้ง 100 กว่าไร่ ก็บอกว่ามี ‘แค่’ 100 ไร่” ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของขบวนการชาวนากลับเป็นชาวนาที่ไร้ซึ่งที่ดินไว้ทำกิน
ขบวนการชาวนาจึงได้รวมตัวประท้วงและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาคและการชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพราะแม้ว่าพ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาที่ตราเป็นกฎหมายได้ในปี 2517 จะระบุว่าคณะกรรมการอำเภอจะต้องกำหนดค่าเช่านา กระบวนการดังกล่าวก็ล่าช้าไปจนถึงปี 2518 ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างชาวนา เจ้าที่ดิน และเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความรุนแรงหลายครั้ง
จนถึงเดือนพฤษภาคม 2518 สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ก็ได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างชาวนา นักศึกษา และกรรมกร พร้อมๆ กับการชุมนุมในหัวเมืองต่างจังหวัดเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนากยรัฐมนตรี โดยให้เรียกร้องรัฐจัดหาที่ทำกินให้ชาวนาก่อนฤดูฝนและให้จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ชาวนา และนักศึกษาในจำนวนที่เท่ากันเพื่อตรวจสอบเจ้าที่ดินให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
แต่ถึงที่สุดรัฐบาล 'คึกฤทธิ์ ปราโมช' ก็ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของชาวนาทั้งหมด ถัดจากนั้นความรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตก็ตามมาสู่แกนนำชาวนาราวกับดอกเห็ดยามหน้าฝน
นี่จึงเป็นที่มาถึงข้อกล่าวหาว่าการเดินขบวนเข้ามาสู่ใจกลางของอำนาจการเมืองของชาวนาครั้งนั้น เป็นปฏิบัติการที่ทมยันตีโจมตีชาวนาว่า พวกเขาถูกยุยงปลุกปั่นมาให้เผาบัตรประชาชน
[1] คลิปเสียงทมยันตี วิทยุยานเกราะ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, https://soundcloud.com/enra-enratius-akathezia/62519a, เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564