ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

หนึ่งทศวรรษการกดปราบประชาชน : โจทย์สำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ

2
สิงหาคม
2566

Focus

  • การกดปราบประชาชนในระยะเวลาร่วมสมัย 9-10 ปีที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่สนองตอบต่อการยืนยันสิทธิทางอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่ถูกใช้ผ่านคำสั่งของคณะรักษาความสงบ ด้วยการอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และต่อมาด้วยการสอดแทรกการกดปราบดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยที่การทำประชามติเพื่อรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ขาดบรรยากาศที่เสรีและมีความไม่เป็นธรรมในการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
  • การกดปราบอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่เป็นปัญหาร้ายแรงที่ยังคงเป็นอยู่ในขณะนี้คือ การที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีในระยะ 5 ปี แรกของการใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงการสืบทอดอำนาจเผด็จการหทหารผ่านองค์กรอิสระ การยุบพรรคการเมือง การจับกุมประชาชนที่ชุมนุมประท้วง ฯลฯ และกระทำไปด้วยกันกับการดำเนินคดีประชาชนและเยาวชนกว่า 200 คดี (วันที่ 24 พ.ย. 63 – 16 ก.ค. 66) ด้วยข้อหาการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ)
  • การโต้ตอบของประชาชนต่อรัฐด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมประท้วงใหญ่หลายครั้ง อันแสดงถึงการไม่ยอมรับการกดปราบประชาชน ย่อมจะลดความแหลมคมลงไป หากกระบวนการทางการเมืองดำเนินไปตามครรลองของประชาธิปไตย อันจะช่วยหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสีย ผ่านการอภิปรายความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อการหาทางออกร่วมกัน

 

“...บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงวันนี้ (13 ก.ค. 2566-ผู้เขียน) กลับทำให้เกิดคำถามดังๆ ในใจของพี่น้องประชาชนจำนวนนับล้านๆ คน ที่กำลังดูการพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ด้วย เกิดคำถามดังๆ ในใจของเขาว่า หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่…”[1]

คำอภิปรายข้างต้นของนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก หลังการเลือกตั้ง 2566 ผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งอันยาวนานของวิกฤตทางการเมืองไทย

ในวันดังกล่าวมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 324 ต่อ 182 งดออกเสียง 199 ในจำนวนนี้ พบว่ามี สว.ไม่มาลงคะแนนเป็นจำนวน 44 คน ส่งผลให้ประเทศไทยยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้เสนอชื่อต้องได้รับคะแนนเสียงจากที่ประชุมทั้งสองสภาเกินกว่า 375 เสียง

หนึ่งสัปดาห์ถัดมาได้มีอุปสรรคทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความลักษณะต้องห้ามของพิธา และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องให้พิธาหยุดทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนนำมาสู่การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อห้ามเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของปมปัญหาขั้นพื้นฐานทางการเมืองการปกครองว่า ใครจะมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ด้วยวิธีการอะไร ซึ่งกินเวลายาวนานมาเกือบทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการ คำถามนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานกว่านั้น นับตั้งแต่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ประชาธิปไตย[2] ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยซับซ้อน และมีคำอธิบายที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่สภาพการณ์เงื่อนไขทางสังคม

รายงานชิ้นนี้จะทบทวนวิกฤตที่เกิดขึ้นตรงหน้าเราในระยะเวลาร่วมสมัย 9-10 ปีที่ผ่านมา ว่ามีพลวัตในการกดปราบ การยืนยันสิทธิทางอำนาจของประชาชนอย่างไรบ้าง แล้วชวนคิดต่อว่า เราจะรักษาระเบียบทางการเมืองและหลักการประชาธิปไตยอย่างไรโดยไม่ต้องมีบาดแผลกันอีก

 

100 วันแรก หลังการรัฐประหาร

คำอธิบายการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่าไม่มีการต่อต้านจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้ามมีการชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจในหลายพื้นที่ และพบว่ามีการใช้ความรุนแรงปราบปราม จับกุมประชาชน และดำเนินคดีในศาลทหารไม่ต่างจากการเอาผิดกับอริราชศัตรู[3] รูปแบบต่อต้านของประชาชนเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย พร้อมๆ กับมีการควบคุมตัวและทำร้ายประชาชนหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งวงเสวนาวิชาการ การรณรงค์ประเด็นความทุกข์ร้อนอื่นๆ ของประชาชนก็ถูกนับรวมว่าเป็นการก่อความไม่สงบในบ้านเมือง

อำนาจของรัฐบาลคณะรัฐประหารในเวลานั้น จึงเป็นการใช้ “คำสั่งของคณะรักษาความสงบ” ในการกดปราบประชาชน ก่อนที่จะมีการแปรรูปมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เรียกกันว่ามาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. กระทำการได้ทุกอย่าง และเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และเป็นคำสั่งที่เป็นผลที่สุด โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย[4] วิธีการครองอำนาจเช่นนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ปี ก่อนที่คณะรัฐประหาร คสช. จะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการครองอำนาจด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

การผ่องถ่ายอำนาจรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมีการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดำเนินไปภายใต้บรรยากาศที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้รณรงค์ประชามติในหลายพื้นที่ โดยอาศัยอำนาจที่มาจากการรัฐประหารในการควบคุมผลลัพธ์ทางการเมือง ผลคือ การลงมติเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะรัฐประหาร[5]

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพแย่ที่สุดฉบับหนึ่งในจำนวน 20 ฉบับที่ประเทศไทยเคยมีมา อันเต็มไปด้วยการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรอิสระ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ การกำหนดให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีในระยะ 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ธรรมเนียมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่ดำเนินไปตามครรลอง ดังเราจะเห็นได้ในความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่การลงมติในรูปแบบเดียวกัน กลับดำเนินไปอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ซึ่งพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 2 อย่างพรรคพลังประชารัฐกลับสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ภายใต้กติกาเลือกตั้งที่พิสดาร นั่นคือบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ถูกนำไปคำนวณ สส. 2 ประเภท[6]

ช่วงเวลาถัดจากนั้น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีอายุอยู่ครบเทอม ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรอิสระและกลไกจำนวนมากที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับเผชิญการต่อต้านของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาวระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

การปราบปรามกลุ่มเยาวชนในช่วงเวลานี้รุนแรงกว่าครั้งใดๆ กล่าวคือ มีการดำเนินคดีประชาชนด้วยกฎหมายหลากหลายประเภทตั้งแต่ พ.ร.บ.ความสะอาด ไปจนถึง อั้งยี่ ซ่องโจร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมสถิติการดำเนินคดีประชาชน แต่หนึ่งในกฎหมายหลักที่นำมาใช้ดำเนินคดีประชาชนคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63–16 ก.ค. 66 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 253 คน ใน 273 คดี[7]

จำนวนเหล่านี้ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการตราประมวลกฎหมายนี้ขึ้นมาใช้ และมีการแก้ไขให้มีโทษหนักขึ้นหลังการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา

 

แนวโน้มการต่อต้านและความรุนแรง

ปมปัญหาใจกลางที่ถือว่ายังไม่มีคำตอบคือ การยอมรับสิทธิและเสียงของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวต่อต้านและปราบปรามประชาชนอยู่ภายใต้ปมเงื่อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร 2557 การจับกุมดำเนินคดีประชาชนที่ออกมารณรงค์ประชามติ การยุบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 รวมถึงการชุมนุมที่กำลังก่อตัวหลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชนไม่สำเร็จ ซึ่งกำลังดำเนินอยู่นี้ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาเจตจำนงของประชาชน

เมื่อพิจารณาให้ไกลกว่ารัฐประหาร 2557 เราจะพบว่า กงล้อของความรุนแรงก็คือ การว่ายเวียนอยู่กับวงจรการรัฐประหาร - ร่างรัฐธรรมนูญ - จัดการเลือกตั้ง - ยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง - การจับมือกันของพรรคการเมืองอันดับรอง - การปราบปรามประชาชน ฯลฯ นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

ปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจนิยมจารีตและประชาชนผู้ยืนยันสิทธิอำนาจของตนเอง ดังปรากฏให้เห็นผ่านข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

ตารางที่ 1 : การชุมนุมใหญ่นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 - ก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566[8]

ปี กลุ่มเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้องหลัก
2549 กลุ่มประชาชนอิสระ ต่อต้านรัฐประหาร
2550 การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550  
2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลสมัคร
(ระบอบทักษิณ)
2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยุบสภา
2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยุบสภา
2554 การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554  
2555 องค์การพิทักษ์สยาม ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
(ระบอบทักษิณ)
2556 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
(ระบอบทักษิณ)
2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
2558 กลุ่มประชาชนอิสระ ต่อต้านรัฐประหาร
2559 กลุ่มประชาชนอิสระ รณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญ
2560 กลุ่มประชาชนอิสระ เรียกร้องการเลือกตั้ง
2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องการเลือกตั้ง
2562 การเลือกตั้ง 23 มีนาคม 2562  
2563 กลุ่มเยาวชน ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ
2564 กลุ่มเยาวชน ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ
2565 กลุ่มเยาวชน ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ

 

จากตารางที่ 1 จะพบว่า นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา แทบทุกปีมีการประท้วงขนาดย่อมไปจนถึงขนาดใหญ่บ้าง แตกต่างกันตามแต่ละเงื่อนไขบริบท แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่คณะรัฐประหาร คสช. ครองอำนาจด้วยกฎหมายพิเศษ การต่อต้านของประชาชนยังคงเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อเรียกร้องหรือเจตนารมณ์ของการต่อต้านแล้ว ยังพบว่า ปมปัญหาใจกลางเกี่ยวพันกับการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง ไปจนถึงปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอื่นๆ

ประกอบการพินิจด้วยว่า “เมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อออกไป และเมื่อมีการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แนวโน้มของข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ก็จะมีทิศทางที่แหลมคมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน”

แต่หากเมื่อพิจารณาแง่มุมด้านบวก อาจจะกล่าวได้ว่าเกือบทุกปีที่มีการเลือกตั้งหรืออยู่ในบรรยากาศการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสามารถลดบรรยากาศของการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงลงได้ (ยกเว้นการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นการปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งแรกของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง)

หากกระบวนการทางการเมืองดำเนินไปตามครรลองของประชาธิปไตย ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ดี ในการทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากวงจรของความรุนแรง ซึ่งสังคมที่มีสติปัญญาจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสีย และเลือกใช้วิธีอภิปรายความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

บรรณานุกรม

สื่อออนไลน์

หนังสือ

  • เกษียร เตชะพีระ. “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: ที่มาและที่ไป”. ใน เมืองไทยสองเสี่ยง?: สภาพปัญหา แนวโน้ม และทางออกวิกฤติการเมืองไทย. กิตติ ประเสริฐสุข บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554). น. 1-55.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. “ระบบเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตย”. รายงานวิจัย. (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, 2565).
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.”. (กรุงเทพฯ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2562).
  • อิทธิพล โคตะมี และกรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. “ภาษาของผู้ต่อต้านหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557”. วารสารชุมทางอินโดจีน มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558), น. 592-690.
  • Prajak Kongkirati. “Thailand’s Failed 2014 Election: The AntiElection Movement, Violence and Democratic Breakdown”. Journal of Contemporary Asia. no.3 (April 2016). p. 467-485.

วิทยานิพนธ์

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559”. (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560).
  • อิทธิพล โคตะมี, “ปฏิบัติการภาษาและการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2557”. (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560).

[1] มติชนออนไลน์ (13 กรกฎาคม 2566), “"ชัยธวัช" ชี้ ทำไม ส.ส.-ส.ว.ต้องโหวตให้ "พิธา" เป็นนายกฯแทน "บิ๊กตู่," [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566.

[2] เกษียร เตชะพีระ, "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: ที่มาและที่ไป," ในเมืองไทยสองเสี่ยง?: สภาพปัญหา แนวโน้ม และทางออกวิกฤติการเมืองไทย, กิตติ ประเสริฐสุข (บ.ก.), 1-55,

[3] อิทธิพล โคตะมี และกรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์, “ภาษาของผู้ต่อต้านหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557,” วารสารชุมทางอินโดจีน มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): 592-690

[4] พิจารณารูปแบบการใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินคดีกับประชาชนได้ใน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.,” (กรุงเทพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2562) 

[5] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)

[6] ดูการเปรียบระบบการเลือกตั้งไทยในรอบ 20 ปี ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, ระบบเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตย. รายงานวิจัย, วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, 2565

[7] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (1 เมษายน 2565), “สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-66 [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566.

[8]ประมวลจาก อิทธิพล โคตะมี, “ปฏิบัติการภาษาและการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2557,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560) และ Prajak Kongkirati, “Thailand’s Failed 2014 Election: The AntiElection Movement, Violence and Democratic Breakdown,” Journal of Contemporary Asia, no.3 (April 2016): 467-485.