ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บางเรื่องจากความคิดคำนึง

31
ตุลาคม
2564

* วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ แปลจากพระราชนิพนธ์บทกวีของ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชนิพนธ์บทกวีภาษาฝรั่งเศส Réflexions ความคิดคำนึง[1] และทรงแปลเป็นความเรียง ทรงมิได้ตั้งพระราชหฤทัยแปลเป็นกลอนเปล่าจำนวน ๑๔ บท ได้แก่ แมงมุม, รุ่งอรุณ, ดอกไม้ดิน, เงาลึกลับ, ลำนำหญ้า,นกฮูก, ความไม่รู้, พระจันทร์, การกลับมา, กาลเวลาที่ผ่านเลย, เพลงจากใจเพื่อผู้อ่าน, ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว, เดินตามรอยเท้าพ่อ และ แสงอาทิตย์อันแจ่มใส

นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ขอพระราชทานพระราชานุญาตแปลเป็นภาษาไทย ๗ บท และแปลเป็นภาษาจีน ๑ บท คือ ‘Châteaux de sable’ อีก ๒๐ บท อาจารย์หวังเย่ พระอาจารย์ผู้ถวายพระอักษรภาษาจีนช่วง พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ และสิงฮุ่ยหยู เป็นผู้แปล

ในการนี้ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตนำบทแปลภาษาไทย ๗ บท และภาษาจีน ๑ บท ที่นางวาณี ผู้วายชนม์แปลถวาย มาลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์.

กษิดิศ อนันทนาธร
บรรณาธิการ
หนังสือที่ระลึกงานปลงศพ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

 

นาข้าว
Les champs de riz

เด็กผู้หญิงเล็กๆ สองคน
เดินอยู่บนคันนาที่ทอดยาว
ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
สองมือจับกันแน่น
ทั้งสองคนดูเหมือนจะรุ่นราวคราวเดียวกัน
แต่คนข้างขวามือดูจะสูงกว่าเพื่อนนิดหน่อย
ควายสองตัวเดินนำหน้าหนูน้อยทั้งสองในท้องนา
นอกจากหนูน้อยและควายของเธอแล้ว
มีแต่ความว่างเปล่า
ต้นข้าวที่ยังอ่อนอยู่เรียงรายอย่างมีระเบียบ
ผืนนาราบเรียบ ปราศจากต้นไม้ใหญ่ๆ
ระหว่างภูเขาสองลูกที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า
อากาศสดชื่นแจ่มใส
แสงอาทิตย์ยามอัสดงสาดส่องยังต้นข้าวสีเขียว
แสงนั้นอ่อนสลัว
ท้องฟ้าปราศจากปุยเมฆ
ไม่มีแม้แต่สายลม

๒๕๑๔

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงการประพันธ์บทกวีนี้ว่า ในราว พ.ศ. ๒๕๑๔ อาจารย์บาแบงให้ยกตัวอย่างบทกวีเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติในท้องนา แล้วให้แต่งเลียนแบบ แต่ต้องมีความคิดของตนเอง จึงทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยกรอง “เลส์ ช็อง เดอ รีส์” (Les champs de riz) หรือ “นาข้าว” รับสั่งว่า “ตั้งใจบรรยายให้เหมือนกับภาพเขียน”

 

 

ยามรอคอยผู้มาเยือน
En attendant une visite

กระท่อมซอมซ่อ โดดเดี่ยว และมืดทึบ
ตั้งอยู่เชิงเขาลูกหนึ่ง
มองเห็นทะเลอยู่ไกลๆ
สุนัขตัวหนึ่ง ขี้โรคและสกปรก
นอนอยู่บนพื้นดินแห้งผาก
ชายคนหนึ่งดวงตาปิดสนิท
ผิวสีน้ำตาลเข้ม หน้าตาหมองคล้ำ
กำลังสูบฝิ่นอยู่หน้าประตูกระท่อม
เขายืนอยู่ที่นั่น สบายๆ
ในโลกแห่งความฝันของเขา
ใบหน้าเฉยเมย
สมองว่างเปล่า
เขาอาจจะรู้ว่า มีคนจะเอาเงินมาให้เขา
สำ หรับแลกกับฝิ่น
หญิงชรานอนอยู่ในกระท่อมซอมซ่อนี้
เธอป่วยหนักและหิวโหย
เธอหวังว่าในไม่ช้านี้
จะมีใครสักคนมาช่วยเธอ
และดูแลเอาใจใส่เธอ

๒๕๑๔

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีนี้ในเวลาใกล้เคียงกับที่ทรงประพันธ์ “Les champs de riz” หรือ “นาข้าว” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ครูให้อ่านตัวอย่างคำประพันธ์ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการรอคอย และให้แต่งบทกวีโดยใช้แนวคิดนี้เป็นแก่นเรื่อง (theme) รับสั่งถึงการพระราชนิพนธ์ว่า

“เมื่อตอนเล็กๆ เคยรู้จักชาวบ้านคนหนึ่ง วันๆ เอาแต่สูบฝิ่น แถมเอาลูกสาวมาขาย เพื่อเอาเงินไปซื้อฝิ่น พอมีเงินบ้างก็มาไถ่ตัวไป แล้วก็เอามาขายอีก จึงเกิดความคิดที่จะบรรยายภาพของชายคนนี้ ในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง จึงกล่าวถึงความต้องการของหญิงชราที่ป่วยหนักและหิวโหยตั้งความหวังรอคอยอาหารและการดูแลเพื่อยังชีวิต อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการยังชีพ”

 

 

รุ่งอรุณเดือนหนาวบนยอดดอย
Matin d’hiver sur la montagne

รุ่งอรุณที่หนาวเหน็บแห่งเดือนหนาว
บนยอดดอยสูง ลมเย็นพัดโชยมา
วันใหม่เริ่มขึ้นแล้ว
แสงสีทองเริ่มจับขอบฟ้า
ดวงอาทิตย์ยังไม่เจิดจ้า
ฉันเดินอยู่ในสวน
เห็นนกสวยบนต้นไม้
และเหนือพุ่มไม้
ดอกไม้สวยสดสีสันนานา
ในสวนผู้คนบางตา
เพราะเป็นยามเช้า
ฉันย่างก้าวไปบนพื้นดินสีดำ
ที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำค้างแห่งค่ำคืน
มองดูเมืองเบื้องล่างของดอย
ฉันเห็นแต่ม่านหมอก
ขาวดั่งหิมะ
กระจายอยู่ตามหุบเขา
เมฆหมอกลอยช้าๆ อยู่ไกลๆ
ธรรมชาติและความเดียวดายทำให้สุขใจ

๒๕๑๔/๒๕๑๕

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งถึงบทกวีนี้ว่า “เขียนในราว พ.ศ. ๒๕๑๔ หรือ ๒๕๑๕ ไม่ได้จดไว้ เพราะตอนที่เขียนไม่ได้ตั้งใจให้เป็นบทกวี เขียนในรูปของความเรียงธรรมดา บรรยายทิวทัศน์บนภูพิงคราชนิเวศน์ในยามเช้า มองลงมาเห็นเมืองเชียงใหม่ เห็นแต่ม่านหมอกกระจายอยู่ตามหุบเขา ธรรมชาติงดงาม เงียบสงบ แสดงความพอใจในธรรมชาติความสุขที่อยู่คนเดียว

ความเรียงซึ่งกลายเป็นบทกวีไปแล้วนี้เขียนเลียนแบบความเรียงที่ชื่อ “เอิง ซัวร์ โดต็อน อา ปารีส์” (Un soir d’automne à Paris) ของอัลแบรต์กามูส์ (Albert Camus)”

 

ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกในงานนิทรรศการ 100 ปี "ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

ฝัน
Rêve

“ยุคพ่อขุนรามคำ แหง
กรุงสุโขทัยเป็นดินแดนสงบสุข
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...”
เป็นข้อความในศิลาจารึก
ทันใดนั้นมโนภาพของฉัน
มีภาพของเมืองหนึ่ง ... สวยงามและอารยะ
พระมหากษัตริย์มีเมตตา โอบอ้อมอารี
และทรงพลัง
ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินซื่อสัตย์และมีอิสระเสรี
เมืองนี้ดารดาษไปด้วยวัดวาอารามที่ใหญ่โต
พระสุรเสียงทรงเสน่ห์กังวานทั่ว
“กู คือ พ่อขุนรามคำ แหงแห่งกรุงสุโขทัย
ไพร่ฟ้ารักกู ศัตรูยำ เกรงกู
พวกเราชาวไทย กล้าหาญชาญชัยตลอดมา
ทว่า เรารักสันติภาพ
ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของพวกเราทุกคน
ดูนั่นซิ ... วัดวาอารามนั้น
คือเอกลักษณ์ของชาติเรา
พลเมืองทุกคนเปรียบเสมือนก้อนอิฐ
ซึ่งก่อรวมเป็นวัดวาอาราม
ทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน
และต้องพยายามทำให้ดีที่สุด
เพื่อความอยู่ยั้งยืนยงของประเทศชาติ”

๒๕๑๕

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า “แต่งตอนอยู่ชั้น ม.ศ. ๕ ราว พ.ศ. ๒๕๑๕ ไม่ได้จด พ.ศ. ไว้ เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นบทกวีแต่งแบบความเรียง เอาแนวคิดว่าฝันถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง แทรกความคิดว่าคนมีความสำคัญเท่ากัน ควรทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อชาติบ้านเมือง”

 

 

เรือ
Le navire

เห็นไหม!
เรือใหญ่บรรทุกเต็มระวาง
แล่นอยู่ในมหาสมุทรสุดขอบฟ้า
พายุพัดหวิวๆ
ฝนตกกระหน่ำซ้ำเติม
คลื่นลมส่งเสียงคำรามลั่น
แล้วเรือใหญ่ก็อับปางลง
แต่ดูนั่นซิ!
เรือสวรรค์ลำนั้น
ฝ่าคลื่นลมแห่งทะเลชีวิต
เป็นที่ชื่นชมของใครๆ
ฝ่าคลื่นลมแห่งความโลภ
เรือสวรรค์โลดแล่นไปไม่หยุด
ทิ้งโลกแห่งความอนิจจังไว้เบื้องหลัง
เพื่อไปสู่ดินแดนแห่งความสงบ
...โลกแห่งความดีพร้อม

๒๕๑๖

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับพระราชหฤทัยบทร้อยกรองที่ชื่อ “สำเภา” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ในคราวที่ทรงเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในปีต่อมา (๒๕๑๖) ทรงเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความชื่นชอบในบทร้อยกรองนี้ จึงทรงนำ แนวคิดมาประพันธ์เป็นบทกวีภาษาฝรั่งเศส รับสั่งว่า “แต่งตอนอยู่ปี ๑ ลา แปร์แฟกซิยง (La Perfection) ในบทกวีนี้ใช้ในความหมายถึง บารมี หรือ นิพพาน คำนี้แปลตามศัพท์ว่า ความดีพร้อม”

 

เมื่อ “นิด” ยังเยาว์วัย
Quand Nit était un p’tit enfant

เมื่อ “นิด” ยังเยาว์วัย
ใครๆ ก็บอกกับเขาว่า
“จงรักพี่ๆ น้องๆ ให้มาก
เพราะพวกเขาคือพวกพ้องของเจ้า”
เมื่อ “นิด” ยังเป็นเด็กชายเล็กๆ
พ่อแม่สั่งสอนเขาเสมอว่า
“จงช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติเถิด
เพราะพวกเขาคือพวกพ้องของเจ้า”
บัดนี้ “นิด” เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
จิตวิญญาณที่หนักแน่นของเขาได้ย้ำเตือนว่า
“โอ้ นิดเอ๋ย จงทำ ดีกับทุกๆ คน
เพราะพวกเขาคือพวกพ้องของเจ้า”

๒๕๑๖

 

เกร็ดประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีนี้ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ทรงประพันธ์บทกวีชื่อ “เลอนาวีร์” (Le navire) หรือ “เรือ” ทรงเล่าว่า

“ตอนที่เขียนคิดถึงการอบรมเด็กเรื่องความรักหรือความเมตตา เมื่อยังเยาว์ สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในแวดวงพี่น้องเพราะเป็นพวกพ้องของตนพอโตขึ้นรู้ความ สังคมของเด็กกว้างขึ้น ต้องรู้จักรักและช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ เป็นหน้าที่ของพลเมืองดี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุมากขึ้น แวดวงของชีวิตยิ่งกว้างขึ้น ต้องมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ไม่ควรที่จะให้ใครต้องมานั่งสั่งสอนอีกต่อไป มโนธรรมต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า จะต้องมีจิตใจกว้างขวาง มีเมตตากรุณาต่อมนุษยชาติทั้งมวล

ในการแต่งนั้นเล่นคำว่า ‘les tiens’ (เล เตียง) ในความหมาย ‘พวกพ้อง’ แต่มีระดับในการสื่อความต่างกัน ในตอนแรกหมายถึงพี่น้อง (เซอร์-soeurs, แฟรร์-frère) ขยายมาเป็นเพื่อนร่วมชาติ (กงปาตริย็อตส์-compatriotes) แล้วขยายกว้างขึ้นมาเป็นมนุษยชาติ (ออมส์-Hommes) แต่ละบทจึงจบด้วยประโยคที่ว่า Car ils sont certainement les tiens เพราะพวกเขาคือพวกพ้องของเจ้า”

 

ปราสาททราย
Châteaux de sable

เฉกเช่นเด็กทุกคน
เธอและฉัน
เราเล่นกันบนชายหาด
เราช่วยกันก่อปราสาททราย
สวยงามและสูงใหญ่
ในนี้มีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่
สายลมและแสงแดดที่อ่อนละมุน
เสียงเพลงแห่งท้องทะเล
มีมนต์ขลังเหนือจินตนาการใดๆ

ดูนั่นสิ!
ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม
ฉันบอกเธอว่า
“ฝนจะตกแล้ว รีบกลับไปกันเถอะ!”
เธอจูงมือฉัน
แล้วเราสองคนก็เริ่มวิ่ง ... วิ่ง
ทิ้งปราสาททรายที่สวยงามไว้ที่นั่น
ฝนกระหน่ำใส่
คลื่นเซาะทราย

เราคิดว่า
ปราสาททรายคงอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่ง
หาดทรายกับทะเลจะอยู่ไปอีกนานแสนนาน
แต่มิตรภาพของเราจะยืนยงชั่วนิรันดร์

๒๕๒๕

 

เกร็ดประวัติ

บทกวีนิพนธ์นี้ทรงแต่งพระราชทานพระสหายคนหนึ่งเมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้นฉบับจริงที่มีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ด้วย ได้สูญหายไปเสียแล้วระหว่างการขนย้ายข้าวของกลับบ้าน แต่ทรงพบต้นร่างบทกวีนี้ในสมุดบันทึก จึงพระราชทานให้นำ มาเผยแพร่ในการพิมพ์ ความคิดคำนึง ครั้งใหม่นี้ ทรงเล่าว่า “เป็นจินตนาการจากชีวิตวัยเด็กที่เราชอบไปเล่นหาดทราย ก่อเจดีย์ทราย คิดกันไปว่าเป็นปราสาทและมีสมบัติต่างๆ ฝนทำท่าจะตก เด็กๆ ก็วิ่งหลบฝน ทิ้งปราสาททรายให้น้ำซัด ปราสาททรายนั้นไม่ถาวร คลื่นหาดและสายฝนอยู่ยืนนานแล้ว แต่ความเป็นเพื่อนของเราคงอยู่นิจนิรันดร์”

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับ สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์ ณ งานเปิดนิทรรศการชีวิตและผลงานลาวัณย์ อุปอินทร์ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556


[1] เทพรัตนราชสุดาฯ, สมเด็จพระ, Réflexions ความคิดคำนึง, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ (กรณีพิเศษ) นางเงิ้นเฮีย แซ่โค้ว ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.

 

ที่มา: กษิดิศ อนันทนาธร (บรรณาธิการ). อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว, 2562), น.69-81