ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

จากวันนั้นถึงวันนี้

3
ธันวาคม
2564

“............

วนเวียนมาก็นานแล้วกับความทรงจำเก่าๆ อาจจะถึงเวลาที่ใกล้จะต้องจบลงเสียทีกระมัง สงครามก็ใกล้จะสิ้นสุด และงานการหน้าที่ของเสรีไทยในอเมริกาก็บรรลุตามที่มุ่งหมายเอาไว้แล้ว ด้วยความร่วมมือของคนหลายฝ่าย ทั้งเสรีไทยในประเทศ ทั้งเสรีไทยในอเมริกาด้วยกันที่รับผิดชอบหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่งานสนามรบโดยตรง

อาจจะยังคงเหลืองานอยู่อีกส่วนหนึ่งที่ยังมิได้กล่าวถึงโดยเฉพาะ นั่นก็คือ งานของพวกผู้หญิง เขาทำอะไรกัน แล้วคราวหน้าก็คงจะจบลงด้วยเรื่องว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนเมื่อประเทศสงบสงคราม

ผู้หญิงเสรีไทย

ผู้หญิงไทยที่ยังเหลืออยู่ในสหรัฐฯ ในระหว่างสงครามนั้น คือ ผู้ที่ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลไทยในขณะนั้นให้เดินทางกลับ มีไม่มากนัก พอจะนับจำนวนได้ถ้วน เกือบทุกคนมิได้อยู่นิ่งเฉย ล้วนแล้วแต่มีส่วนในความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อว่าพวกผู้ชายที่เขาไปเสี่ยงชีวิตอยู่นั้นจะได้รู้สึกภาคภูมิในพวกเราบ้าง

“พวกเรา” ในที่นี้ทั้งสมาชิกครอบครัวอัครราชทูต ข้าราชการ และนักศึกษา ได้แก่ คุณอุศนา ปราโมช (ปัจจุบันท่านผู้หญิงอุศนา) ภริยาทูต คุณเทียบ กุญชร ณ อยุธยา ภริยาทูตทหาร  พ.ญ.สายหยุด ดิฐการภักดี (เดิมเก่ง ระดมยิง) ภริยาเลขานุการโท  คุณชุบ จินตกานนท์ ภริยาเลขานุการตรี และ อินทิรา อินทรทูต (ปัจจุบัน ชาลีจันทร์) หลานสาวอัครราชทูต

ทั้งนี้ไม่ได้รวมบุตรหญิงและชายของท่านเหล่านั้น ซึ่งยังเด็กอยู่อีกไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน ได้แม่ ม.ล.เสรี อัศนี และ นัยนา ปราโมช  ทวีวัฒน์ วีรวัฒน์ และ อุรัช กุญชรฯ  อังศนา อนุรี อนุชา และ อัศวิน จินตกานนท์

ในส่วนนักศึกษาผู้หญิงขณะนั้นที่อยู่มิชิแกนก็ได้แก่ พูนทรัพย์ ไกรยง  อุบล หุวะนันท์

ประภา กันตะบุตร และยังมี กรองทอง ชุติมา  อัมพร ชัยปาณี  จินตนา นาควัชระ และ ม.ล.สุจินต์ ชุมแสง

…………….”

 

จเลิศ เจษฎาวัลย์ ได้รวบรวมเรื่องราวของคุณจินตนา ยศสุนทร (น.ส.จินตนา นาควัชระ) ไว้ในบทความเรื่อง “ชีวิตและงานของคุณจินตนา ยศสุนทร” ในเรื่องการเป็นเสรีไทยของท่านไว้ว่า

“ในขณะนั้น สงครามโลกครั้งที่สองได้ขยายวงกว้าง โดยวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพอเมริกันที่เพิร์ลฮาเบอร์ บนเกาะฮาวาย และทหารญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์ประกาศไม่ยอมรับการยอมแพ้ของรัฐบาลไทยและประกาศจะยืนหยัดต่อสู้ขับไล่ญี่ปุ่นอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงมีคำสั่งเรียกคนไทยทั้งข้าราชการสถานทูต และนักเรียนกลับประเทศปรากฏว่ามีเพียง ๑๘ คนเท่านั้นที่ยินยอมเดินทางกลับประเทศไทย ขณะที่เหลือประมาณ ๘๐ คน ปฏิเสธที่จะกลับประเทศไทย และ นางสาวจินตนา นาควัชระ เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

วันหนึ่งในวัยชราเธอเล่าความตอนนั้นให้ฟังว่า “เพราะว่ากลับไปก็ต้องไปอยู่ใต้ญี่ปุ่น” ความรู้สึกของเราเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่เรากลับบ้านเรา เราจะต้องกลับไปอยู่ใต้ญี่ปุ่น พวกเราก็คิดว่าเราไม่กลับ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้รู้เลยว่าจะมีการตั้งเสรีไทยขึ้นมารึเปล่าไม่รู้… ในหนังสือที่เขามีถึงเรา ถ้าไม่กลับเขาริบสมบัติซึ่งเราก็ไม่มี และสัญชาติเขาริบสัญชาติก็หมายความว่า ในนั้นมีคำอธิบายว่าเราไม่มีสิทธิจะกลับไปเหยียบแผ่นดินไทยหรืออะไรทำนองนี้ ถ้าเราไม่กลับนะคะ เราก็คิดว่าชาติก็จะลองดู ถ้าจะไม่ได้กลับไปเหยียบแผ่นดินไทยก็คงจะเป็นลิขิตว่าอย่างนั้น เราก็ตัดสินใจตอนนั้นไม่กลับแล้ว เราตัดสินใจว่าไม่กลับ เราก็ไม่รู้นะว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร เพราะว่าตอนนั้นสถานทูตเขายังไม่ติดต่อแจ้งให้เราทราบเลยว่าอะไรเป็นอะไร พวกเราทำงานกันนะคะ ดิฉันไปทำงานเลี้ยงเด็กอนุบาลยังจำได้ ไปเลี้ยงเด็กอนุบาลสนุกดียิ่งทางสถานทูตเขาก็ยังไม่มีทีท่าว่าอย่างไรเราก็ลองเสี่ยงดูอย่างนั้น เราก็ไม่กลับตอนนั้น”

นางสาวจินตนา นาควัชระ บันทึกเหตุการณ์ในขณะนั้นต่อไปว่า

“จิตใจและชีวิตของคนไทยเหล่านี้ ต้องประสบกับความคับแค้นมิใช่น้อยเพราะการปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลในครั้งนี้นั้น หมายถึงการสูญเสียสัญชาติไทยถูกตัดความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลทุกอย่างและถูกริบทรัพย์สมบัติส่วนตัวทั้งสิ้นที่มีอยู่ภายในประเทศ”

 

เสรีไทยหญิง

เมื่อ นางสาวจินตนา นาควัชระ ปฏิเสธกลับประเทศไทยก็เรียนต่อจนใกล้จะสำเร็จการศึกมา “พอดีทางสถานทูตก็ได้บอกมาว่า ได้ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมาแล้ว แล้วพวกเราทุกคนก็มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิก เราก็เป็นสมาชิก แต่ที่นี้ดิฉันเป็นผู้หญิงก็ยังไม่มีงานการอะไรให้ดิฉันทำ ให้อยู่ในแคนาดาต่อไป ในระหว่างนั้นพวกผู้ชายรุ่นแรกซึ่ง ๒๐ กว่าคนนั้นนะฝึกทหาร ทหารนั้นเรียกว่าทหารกองโจร พวกใต้ดินฝึกสำเร็จเรียบร้อยแล้วด้วย ติดดาวแล้วกำลังจะเดินทางไปทำงานในประเทศจีน ตอนนั้นก็พอดีทูตขึ้นไปประชุม ประชุมอะไร อินเตอร์แปซิฟิก เป็นองค์กรทางการเมืองที่เกี่ยวกับเอเชีย ทูตก็เรียกดิฉันกลับมาในฐานะที่รู้ภาษาหลายภาษา พิมพ์ดีดได้ ก็มาเป็นเลขาในระหว่างประชุมนั้น พอดีท่านทูตพูดเรื่องการตั้งเสรีไทย ดิฉันก็เลยตัดสินใจกลับไปเก็บข้าวของ กลับมาอยู่วอชิงตัน ทำหน้าที่เลขาจอมปลอมอยู่สักพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำงานเสรีไทยอย่างที่ใครๆ รู้กัน ผู้หญิงก็ไม่ได้ทำอะไรมากก็ทำแผนที่เขียนบทความ อะไรต่ออะไรส่งสถานีวิทยุ เรื่องราวมันก็มาอย่างนั้น”

 

นางสาวจินตนา นาควัชระ ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับเพื่อนๆ นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นผู้แปลหรือเขียนชื่อภาษาไทยที่ปรากฏอยู่บนแผนที่นับร้อยแผ่นให้กับคณะกรรมการที่เรียกว่า Board on Geographical Names ของกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior) และเมื่องานนี้สำเร็จเธอได้ไปทำงานให้กรมแผนที่ทหารสหรัฐอเมริกันต่อไป จนกระทั่งสิ้นสงคราม

หนึ่งในบรรดาคนไทยที่ไปช่วยงานนั้นคือ นายสมจิตร กังศานนท์ (ยศสุนทร) นักเรียนสาขาวิศวกรรมเคมี กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน จากการร่วมงานกันอย่างหนักนี้เอง เป็นที่มาของความรักของคนทั้งสอง จนกระทั่งนายสมจิตร ยศสุนทร ได้ไปสมัครเตรียมออกรบกับหน่วย โอ.เอส.เอส. แต่ก่อนที่นายสมจิตรจะถูกส่งตัวไปปฏิบัติการนั้น ทั้งคู่ได้จดทะเบียนสมรสกันที่สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และนายสมจิตร กังศานนท์ (ยศสุนทร) เมื่อผ่านการฝึกตามหลักสูตร โอ.เอส.เอส. ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ถูกส่งมาอินเดียเพื่อเดินทางเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๘๘

เรื่องราวเสรีไทยมีผู้บันทึกไว้มากมาย ทั้ง จินตนา กังศานนท์และสหายเสรีไทยทั้งสายอเมริกันและสายอังกฤษ แต่ใจความสำคัญที่สมควรบันทึกไว้ที่นี้ คือ ในยามที่เธอเคยรำลึกให้ฟังในวัยชราวันหนึ่งว่า “การที่เรามีขบวนการเสรีไทย มีทหารซึ่งจะไปรบในนามของไทยและอเมริกันอยู่แล้วก็เท่ากับว่าแสดงให้เห็นว่าพวกเราเป็นพวกเขา เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ได้เรียกว่าจับพวกเราเข้าแคมป์ หรือว่าจำกัดสิทธิพวกเรา เงินทองที่ของรัฐบาลฝากเอาไว้ในธนาคารก็ปล่อยให้สถานทูตเบิกเอามาใช้ได้ เพราะฉะนั้นทหารของเราที่ฝึกฝนอะไรทั้งหลาย ก็ฝึกฝนด้วยเงินของไทยแท้ๆ ซึ่งผิดกับพวกเราซึ่งอยู่ในอังกฤษที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษนั้น ทูตไทยซึ่งประจำในอังกฤษในตอนนั้นตัดสินใจกลับประเทศไทย

เพราะฉะนั้นพวกเด็กๆ ทั้งหลายที่อยู่กันนั้นก็ต้องว่ากันไปตามกึ่งๆ จะเป็นเชลยศึก และยังต้องไปเป็นทหารของอังกฤษต้องทำงานหนักมาก พวกเขานั้นมีโชคชะตาที่เลวร้ายกว่าพวกเราที่อยู่ในอเมริกานั้นมาก แต่ว่าพวกเขามีกำลังใจอยู่คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คือท่านประทับอยู่ที่นั่น และทรงเป็นกำลังใจให้แก่เด็กทั้งหลายมากทีเดียว แต่ควรจะทราบตรงนี้ ท่านทรงเป็นองค์อุปถัมภ์เป็นกำลังใจให้พวกเขาทั้งหลายและพวกเขาลำบากกว่าพวกเรามาก พวกเขาก็เป็นทหารอยู่ในกองทัพอังกฤษต้องมาประจำอยู่กองทัพอินเดียกัน ส่วนพวกเรารุ่นแรกไปประจำอยู่ที่คุนหมิง และพวกเรารุ่นที่ ๒ ไปประจำในอินเดีย ก็หาทางเดินทางมาติดต่อในประเทศไทย ทั้งหมดพวกเราเรียกว่าโชคดีกว่าพวกประจำในอังกฤษหลายสิบคน ดิฉันจำไม่ได้ว่าประมาณ ๔๐ หรือ ๕๐ คน และพวกเราทั้งหมดที่เป็นทหารประมาณ ๕๐ คน ก็มีตายอยู่ ๒ คนเท่านั้น”

เพื่อนสองคนที่ จินตนา ระลึกถึงเสมอว่าเป็นคนโชคร้าย คือ สมพงษ์ ศัลพงษ์ และ การเวก ศรีวิจารณ์ เธอเล่าว่า “มีแต่เพื่อนเรา ๒ คน ซึ่งเป็นคนโชคร้าย เขาเลือกเดินทาง พวกที่มาจากอเมริกาที่ไปประจำที่เมืองจีนนั้น เขาควรจะได้เดินทางเข้ามาโดยการกระโดดร่ม และก็ติดต่อกับพวกคนไทยในนี้ได้ เพราะทางไทยส่งวิทยุอะไรต่อมิอะไรกันได้ แต่ทว่าสถานทูตทางวอชิงตันของเราก็ไม่ได้รับรองเสียที ก็ปรากฏว่าพวกนี้อยู่ในเมืองจีนอยู่ ๒ ปี ก็ตัดสินใจเดินทางมากับพวกกองคาราวานฝิ่นมันอันตรายแสนสาหัส แล้วสองคนนี้เขามากันเป็นคู่ คือ สมพงษ์ กับ การเวกื เขาจับคู่กันมา เขาควรจะเดินทางมาตามแม่น้ำโขง แต่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ มีคนนำทางที่เป็นคนไทยลูกจีนอยู่คนหนึ่งซึ่งตายด้วยกันในครั้งนั้น ก็เกิดฟากจากทางฝั่งซ้ายไปฝั่งขวาไปหลวงพระบาง แล้วก็ไปตายที่นั่นเพราะว่าถูกปล้นเอาทองไป ไม่ได้ตายในการรบอะไรจริงๆ ซึ่งน่าเสียดายมาก

เมื่อตอนที่ NHK เขามาถาม ดิฉันก็พูดเรื่องคนไทยของเรา ๒ คนที่ตาย แล้วเขาก็ถามดิฉันมีความรู้สึกอย่างไร ดิฉันก็บอกว่าไม่ค่อยมีความรู้สึกอะไร เพราะว่าเพื่อนสองนี้ เราก็จากกันไปเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว เราก็รู้เขาไปเสี่ยงอันตราย เมื่อมีข่าวมาว่าเขาตาย มันก็พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ฝรั่งเศส เพื่อนแคนาเดียน เพื่อนอเมริกันไม่รู้อีกเท่าไหร่ที่ตายความรู้สึกสะเทือนใจมันไม่มากเท่าที่คิดว่าเราจะเป็น เขาว่าอย่างไร้รู้มั้ย บอกว่าแปลกนะ เพราะว่าคนตายอย่างนี้สำหรับพวกเขาเป็นวีรบุรุษเขาจะต้องบูชา ของเรานี่อยากลืมด้วยซ้ำว่าใครตายไปบ้างญาติพี่น้องใครตายก็เป็นส่วนรับผิดชอบ เศร้าโศกของคนเหล่านั้น ส่วนคนอื่นก็ได้แต่คิดว่าเป็นเวร เป็นกรรม เขาตายด้วยหน้าที่ดีแล้ว”

สำหรับ สมพงษ์ ศัลยพงษ์ นั้น จินตนาถือว่าเป็นเพื่อนสนิทเธอ ย้อนเล่าถึงเพื่อนสนิทคนนี้ว่า “ความจริงฉันลืม มันเลือนไปหมดแล้วทุกอย่าง เดี๋ยวนี้เป็นชื่อ เป็นความทรงจำ ความละเอียดอ่อน ในความรู้สึกอาลัยอาวรณ์อะไรต่ออะไรมันไม่มีแล้ว มัน ๔๐-๕๐ กว่าปีแล้ว เราไม่ได้คิดอย่างนั้น นานๆ เห็นรูปเขา ก็เกิดความรู้สึกคิดถึงขึ้นมาบ้าง เจ้าหน้าที่โทรทัศน์บอกว่า เอ้อแปลกนะ เขาขอรูปสมพงษ์ไปติด แล้วเขาถ่าย เขาบอกว่าแปลก นี่ถ้าเผื่อเป็นคนญี่ปุ่น เขาเป็นฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ ฉันบอกว่า ฉันก็ว่าใช่นะ ในความรู้สึกฉันเขาก็เป็นฮีโร่เหมือนกัน แต่ว่าเขาไม่ใช่คนเดียว มีคนไทยอีกตั้งเยอะที่เป็นฮีโร่ เขาบอกว่า คนไทยนี่แปลกที่ไม่ได้จดจำคนเหล่านี้ ไม่ได้จดชื่อเสียงเอาไว้ ไม่เหมือนคนญี่ปุ่น ฉันก็เลยบอกว่า ใช่ไม่เหมือน เราก็จำเขาไว้ แล้วต่อไปลูกหลานในอนาคตอาจจะเคยได้ยินชื่อเปรยๆ แค่ก็ไม่รู้ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ของตนนั้นทำอะไรไปบ้าง แล้วเขาก็ไม่ต้องการจะไปปลูกฝังความรู้สึกที่ว่าเราจะต้องไปแก้แค้น ไปเอาอะไรกลับมา”

“ก็ไม่ต้องขอนะคะ แต่ขอให้จำหน่อยว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนต่างชาติมาครอบครองเรา แล้วปฏิบัติต่อเราอย่างไร คือ ทำนิ่มนวล แต่ความจริงในส่วนลึกเป็นอย่างไร คือว่าเดี๋ยวนี้มันกลับมาหมดแล้วทุกอย่างเหล่านั้น เชื่อว่ายังไม่ได้เอาอาวุธมาเท่านั้น แต่ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ดูแลตัวเองหน่อยเพราะดิฉันก็คงไม่ได้มาอยู่ช่วยปกปักรักษาว่าใครจะเข้ามาครอบครองประเทศนี้อย่างไร เพียงแต่ว่าขณะนี้ คิดว่าเขาก็ครองอยู่แล้ว

เพราะว่าเป็นความรู้สึกที่เราไม่อยากพูดถึง ก็เลยเลิกพูดถึงมันไปเสียนาน เพิ่งจะเริ่มเมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว ไม่รู้เพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าท่านปรีดี ท่านล่วงลับไปแล้ว เถ้ากระดูกก็ได้กลับมาเมืองไทย อันนั้นก็เลยทำให้ความรู้สึกของคนที่เป็นลูกศิษย์ และเคยทำงานอยู่ภายใต้การนำของท่านเกิดความรู้สึก ก็เลยกลับมาพูดถึงเรื่องเหล่านี้ใหม่ 

ถ้าก่อนหน้านั้นก็ยังเกิดความรู้สึกระดากกระเดื่องที่จะไปพูดถึงท่าน หรือแม้กระทั่งยกย่องท่านทำนองใด ซึ่งเราก็ไม่ได้ยกย่องท่านจนทุกวันนี้ แต่เราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเราไม่มีใครเป็นหัวหน้าสักคนหนึ่ง งานนี้ก็ทำไม่ได้สำเร็จ แล้วท่านก็ไม่ใช่คนเดียวที่เป็นหัวหน้า ท่านอาจจะเป็นหัวหน้าใหญ่ แต่ก็ยังมี คุณหลวงอดุลย์ เดชจรัส ยังมี คุณหลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ ยังมี คุณควง อะไรที่ต่อกันมาอีกตั้งหลายคน เพราะฉะนั้น ก็พูดถึงบ้างก็ดี ไม่เป็นไร ก็มีคนเขียนเอาไว้เยอะ แต่มันไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพาย อย่างที่บอกแล้ว เราไม่มีคนที่มาจดจำหรือจดเอาไว้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ออกมาเป็นลำดับที่เหมาะสม บัดนี้มา นักวิชาการจะมาวิจัยเรื่องนี้ว่าขบวนการเสรีไทยเป็นเครื่องมือของการเมือง เรานี่เลยเศร้าเลย พูดไม่ออกจริงๆ อาจจะถูกของเค้า

ทำไมจะมองไม่เห็น มองๆ ไป ไม่เป็นไรหรอกน่ะ พวกเรานี้เสียนิสัยเรื่องพระสยามเทวาธิราช ท่านคุ้มครองเรามามาก มากไปแล้ว แต่ท่านคุ้มครองด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายที่เราคิดไม่ถึงว่าจะเป็นอย่างนั้น ที่เรารอดพ้นภัยนั้นเพราะพระสยามเทวาธิราช พึ่งท่านนักก็ไม่ได้ ท่านเหนื่อย”

ในฐานะที่เป็นเสรีไทย เมื่อถามว่า อยากเรียกร้องอะไรบ้างหรือไม่ จินตนา ยศสุนทรกลับตอบว่า

“อ้าว ก็บอกแล้วไงว่า มีคำกล่าวของท่านผู้นำ ของท่านหัวหน้าเสรีไทย เขียนเอาไว้ละเอียดทีเดียวนะคะ เป็นคำกล่าวในวันที่เรียกว่า วันสลายตัว ๒๕ สิงหาคม หรือ กันยายน ดิฉันจำไม่ได้แน่ ท่านพูดเลยว่า จากนี้ไป เราต่างคนต่างเดินทางชีวิตตนไป จะไม่กลับมาพบกันอีกเลย แต่เราก็อาจจะไม่มานั่งปรึกษาเรียกร้องความทรงจำเก่า ๆ ด้วยซ้ำไป เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ถ้าหากมีใครมาเรียกว่าเราเป็นผู้กู้ชาติ เสรีไทยเป็นผู้กู้ชาตินั้น ท่านบอกว่าเราทุกคนจะลุกขึ้นปฏิเสธเด็ดขาด เราเป็นผู้ที่ช่วยชาติ แต่เราไม่ใช่ผู้กู้ชาติ ผู้ที่กู้ชาตินั้นคือคนไทยทั้งหมด ถ้าเราไม่ได้คนไทยทั้งหมด เราจะกู้ชาติมาได้อย่างไร ท่านพูดว่าอย่างนั้นเลยนะ แล้วเราก็แยกย้ายตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็แทบจะไม่เคยเจอกันอีก หรือพบปะกันที่ไหน ถ้าพบปะกันก็คุยกันดี จะไปรื้อฟื้นความทรงจำที่มันไม่สวยนั่นขึ้นมาทำอะไร นั่นคือความรู้สึกของเราเป็นอย่างนั้น”

สงครามสงบลง จินตนา กังศานนท์ เข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวิชาภาษาปัจจุบันและวิชาการหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันส่วนนายสมจิตร กลับไปศึกษาต่อทางด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งถือว่าเป็นวิชาการทางเคมีสมัยใหม่ในขณะนั้น ที่มหาวิทยาลัย Akron มลรัฐ Ohio เมื่อทั้งคู่สำเร็จการศึกษาก็เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมา นายสมจิตร กังศานนท์ ได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุล “ยศสุนทร” ตามราชทินนามของบิดาที่ได้รับพระราชทาน คือ “พระยศสุนทร” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมาและทั้งคู่ก็ใช้นามสกุล “ยศสุนทร” ตราบนั้นเป็นตันมา”[1]

 

หมายเหตุ: จ.ย.ส. : จากวันนั้นถึงวันนี้ อนุสรณ์ในงานพระราชทานพลิงศพ ศาสตราจารย์คุณหญิง จินตนา ยศสุนทร (๒๕๔๕)

ที่มา : จินตนา ยศสุนทร. จากวันนั้นถึงวันนี้, ใน, 62 ปี วันสันติภาพไทย ปี 2550 (กรุงเทพฯ: 2550), หน้า 45-53


[1] จเลิศ เจษฎาวัลย์ : ชีวิตและงานของคุณหญิงจินตนา ยศสุนทร, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร (๒๕๔๕)