ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เหลียวมอง “เสรีไทย” เพื่อก้าวต่อไปของสังคม*

10
สิงหาคม
2566

Focus

  • การเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีคุณค่าต่อการรับใช้ปัจจุบันและอนาคต โดยเหตุการณ์ในอดีตมีสภาพการณ์ที่อาจส่งเสริมหรือขัดขวางวิวัฒนาการของสังคม
  • ขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่เพียงเป็นขบวนการเคลิ่อนไหวเพื่อเอกราชของชาติให้ปลอดพ้นจากการครอบครองของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น  แต่ยังเป็นขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ (นำโดยนายทหารที่เคยเป็นผู้ร่วมก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย โดยขบวนการเสรีไทยประสบความสำเร็จในประการแรก แต่ยังไม่บรรลุเป้าประสงค์เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประการหลัง
  • ขบวนการเสรีไทย ให้บทเรียนแก่คนไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในสามเรื่องที่ผูกพันร่วมกัน คือ (1) การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย มิให้เผด็จการมาแย่งชิงไป  (2) การรักษาบูรณภาพเหนือดินแดน มิให้ประเทศอื่นเข้ามายึดครอง และ (3) ความปรองดองสมานฉันท์ ระหว่างคนทุกกลุ่มในชาติเพื่อเอกราชและประชาธิปไตย

 

1. การศึกษาประวัติศาสตร์ : ความสำคัญของการเหลียวมองอดีต

ประวัติศาสตร์คืออะไร คำถามนี้ตอบกันได้หลายแง่มุม และเป็นเรื่องที่ถกเถียงโต้แย้งกันได้ไม่สิ้นสุด เพราะความหมายของประวัติศาสตร์ไม่มีคำจำกัดความตายตัว อย่างไรก็ดี โดยทั่วไป ประวัติศาสตร์หมายถึง การไต่สวนเข้าไปให้รู้ถึงความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของอดีต ฉะนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความคิดที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ในสังคม และสภาพเหตุการณ์ที่ส่งเสริมหรือขัดขวางวิวัฒนาการของสังคม[1]

ท่าน Polybius กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไม่ใช่เพียงเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะเปิดเผยความจริงในลักษณะที่จะช่วยให้คนได้รับประโยชน์จากการอ่านเรื่องราวในสมัยโบราณด้วย ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นตำราใหญ่ที่สามารถให้ผู้อ่านกลั่นกรองเอาความคิดความอ่านที่จำเป็นออกมา เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติงานในสมัยปัจจุบัน และวางแผนงานอย่างมีสติปัญญาเพื่ออนาคต[2]

ประวัติศาสตร์ไทยก็อยู่ในข่ายเดียวกัน คือทำหน้าที่ศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตของสังคมไทย เพื่อเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบัน เพื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะได้เดินหน้าต่อไปได้จากรากฐานที่มั่นคง เพราะที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ก็เพราะเราเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นเหมือนกระจกเงาฉายให้เห็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นมาแล้วอย่างไรในเหตุการณ์ครั้งอดีต จะได้อาศัยเป็นแนวทางเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (เสฐียรโกเศศ 2547: 16 - 17) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “วิกฤตที่สุดในโลก” อย่างแทบมองไม่เห็นทางออก

เมื่อพอจะเข้าใจความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแล้ว สิ่งที่พึงกล่าวต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่จะนำเสนอในบทความนี้ก็คือ ความสำคัญของขบวนการเสรีไทย เพื่อจะได้เข้าใจว่า เหตุใดต้องมาศึกษาเรื่องราวของขบวนการเสรีไทย และขบวนการนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อย่างไร ซึ่งหมายความอีกด้วยว่า เป็นบทเรียนในฐานะตำราเล่มใหญ่อันมีคุณค่ากับเราในกาลปัจจุบันได้เพียงใด

 

2. ขบวนการเสรีไทย : องค์การผู้รับใช้ชาติเพื่อเอกราชและประชาธิปไตย

สำหรับขบวนการเสรีไทย อาจแยกพิจารณาออกได้ 2 แง่มุม คือ (1) มุมมองจากการต่อสู้ในทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งก็คือการต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อเอกราช และ (2) มุมมองจากการเมืองภายในประเทศ ก็คือการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังจะกล่าวต่อไปนี้

2.1 องค์การต่อต้านญี่ปุ่น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจฝ่ายอักษะต้องการใช้ไทยเป็นทางผ่านและฐานที่มั่นในการโจมตีกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ก่อนหน้านั้นรัฐบาลจะมีท่าทีเตรียมการต่อสู้ป้องกันอธิปไตยอย่างเต็มที่ แต่เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนไทย ครั้นถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อร่วมรบเคียงข้างญี่ปุ่น

โดยที่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บันทึกว่า “เมื่อเสร็จการประชุม ค.ร.ม. เวลา 17.55 น. แล้ว ข้าพเจ้าได้นั่งรถยนต์กลับบ้าน สังเกตเห็นประชาชนชาวไทย 2 ฟากถนน ได้ยืนชุมนุมกันอยู่เป็นจำนวนมากด้วยน้ำตาไหลอันเป็นสภาพตรงกับที่หนังสือพิมพ์อเมริกา Washington Times Herald ...รายงาน... มีข้อความดังต่อไปนี้ ชาวไทยได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง” (ปรีดี พนมยงค์ 2525: 46)

ทั้งนี้เพราะคนไทยที่ได้รับมรดกเป็นความรักชาติมาจากบรรพบุรุษ อันมีความรักในเอกราชและอธิปไตยของชาติ ตลอดจนความรักในสันติภาพเป็นที่ตั้ง ย่อมไม่อาจนิ่งเฉย ดูดายให้ชะตากรรมของประเทศเป็นไปตามยถากรรมได้[3] เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่า ไทยเราเป็นเอกราชมากว่า 700 ปี ไม่ใช่เพื่อมาตกเป็นทาสแก่ญี่ปุ่นในยุคสมัยของพวกเขา (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 2509: 20) คนไทยจึงไม่มีทางที่จะทนต่อการรุกรานของญี่ปุ่นไปได้นาน เพราะมีสติพอที่จะรู้ว่า จะเป็นนายตัวเองไม่ได้เมื่อประเทศถูกครองโดยต่างชาติ กล่าวได้ว่า คนไทยย่อมไม่พอใจไม่ว่าชาติใดที่เป็นภัยต่อเอกราชของเรา[4]

ดังนั้น คนไทยผู้รักชาติด้วยการกระทำจึงดำเนินการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยต่อสู้แต่ลำพังบ้าง รวมกันเป็นกลุ่มๆ บ้าง ตามวิธีที่ถนัด แม้ว่าการต่อสู้ตามวิธีดังกล่าวจะได้ผลบ้าง แต่ก็เป็นการยากที่จะทำลายกองทัพญี่ปุ่นที่มีแสนยานุภาพนั้นให้หมดไปจากประเทศไทยได้ ฉะนั้น จึงได้จัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” รวมผู้รักชาติอย่างกว้างขวางไว้เป็นขบวนการเดียวกัน เพื่อดำเนินการต่อสู้สมานกันตามยุทธศาสตร์เดียวกับยุทธศาสตร์ของสัมพันธมิตร[5]

ในตอนเย็นของวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย ที่บ้าน[6] ของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฝ่ายพลเรือน มีเพื่อนร่วมก่อการฯ หลายคน และผู้ที่เลื่อมใสความสามารถและอุดมคติประชาธิปไตยของนายปรีดี ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินของบ้านเมือง[7]

นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกต่อไปว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์ วราวัฒน์) … เมื่อได้ปรึกษาหารือกันพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป”[8] และต่อมาเมื่อติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศและสัมพันธมิตรได้แล้ว ก็จำต้องใช้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย”[9] เพราะทางอเมริกันเรียกชื่อองค์การว่า Free Thai Movement[10] อันเป็นชื่อที่คณะเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาใช้มาแต่แรก

2.2 ขบวนการประชาธิปไตย

แม้จะมีผู้รักชาติจำนวนไม่น้อยที่เห็นพ้องกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่พลพรรคที่เป็นกำลังจริงๆ ขององค์การคือเสรีไทยสายในประเทศที่มี “คณะกู้ชาติ” เป็นแกนกลาง

 

จำกัด พลางกูร เลขาธิการเสรีไทย
จำกัด พลางกูร เลขาธิการเสรีไทย

 

หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน
หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน

 

ในบรรดาผู้ที่ได้ร่วมมือในการกู้ชาติบ้านเมืองคราวนี้กับนายปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่ต้น มีทั้งผู้เดียวที่เข้ามาพร้อมด้วยแผนการอันแน่นอนและคณะที่เป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ นายจำกัด พลางกูร และ คณะกู้ชาติของเขา (มาลัย ชูพินิจ 2544: 54) ซึ่งระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford) ที่อังกฤษ นายจำกัด ได้รวบรวมนักเรียนไทยที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แล้วกลับมาจัดตั้งคณะกู้ชาติเพื่อต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขณะนั้นโน้มเอียงไปสู่เผด็จการชาตินิยมทหาร[11] นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่มีอุดมการณ์ในการรักษาเอกราชและประชาธิปไตยของไทย แต่ยังมีองค์การที่พร้อมจะสนับสนุนอุดมการณ์ให้เกิดขึ้นได้จริงอีกด้วย

อีกนัยหนึ่ง แกนกลางของขบวนการเสรีไทยซึ่งก็คือคณะกู้ชาติ เป็นเครื่องสะท้อนอุดมการณ์ร่วมของขบวนการได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ คนไทยที่มาร่วมมือกันปฏิบัติงานรับใช้ชาติในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ต้องการรักษาเอกราชของชาติไว้เท่านั้น หากต้องการต่อสู้เพื่อสันติภาพ อธิปไตย บนพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยให้รอดพ้นไปจากการปกครองของทหารที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการด้วย โดยขบวนการเสรีไทยสามารถรวบรวมเอาผู้คนที่นิยมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสร้างความปรองดองที่นำคนชั้นสูงและรากหญ้าเข้ามาร่วมกันต่อต้านเผด็จการทหารในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม[12] นั่นคือ การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย เป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองภายในของไทยอย่างสลับซับซ้อน[13] และไม่มีครั้งใดที่บุคคลผู้ต่างกัน ทั้งความเป็นอยู่ อาชีพ สังคม และสิ่งแวดล้อมราวฟ้ากับดิน จะมีโอกาสรับใช้ชาติ ได้ร่วมชีวิตเพื่ออยู่หรือตายร่วมกัน อย่างสมาชิกขององค์การ X.O. Group[14] ซึ่งเป็นอีก ชื่อหนึ่งขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น

 

การเดินขบวนในวันประกาศสันติภาพบนถนนราชดำเนิน 16 สิงหาคม 2488
การเดินขบวนในวันประกาศสันติภาพบนถนนราชดำเนิน 16 สิงหาคม 2488

 

2.3 ภาพรวมของขบวนการเสรีไทย

ด้วยความที่แกนหลักของประวัติศาสตร์ไทยยึดติดอยู่กับเรื่องการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ จึงหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ซึ่งถูกคิด ถูกเชื่อ หรือเข้าใจว่าเป็นไปเพื่อการต่อสู้เพื่อปกป้องหรือรักษาเอกราช ทำให้บดบังสาระอื่นๆ ที่ซ้อนทับอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวของเสรีไทย ที่ไม่ได้เป็นเพียงองค์การที่มีอุดมการณ์ในการต่อต้านผู้รุกรานแต่ฝ่ายเดียว หากยังมีอุดมการณ์ที่จะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย อีกนัยหนึ่ง คือเป็นทั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารไปในตัว (สุเนตร ชติธรานนท์ 2555: iv)

ขอซ้อมความเข้าใจว่า การพิจารณาขบวนการเสรีไทยจากทั้งสองแง่มุมจะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของเราก้าวพ้นวังวน “ประวัติศาสตร์เอกราช” ไปสู่ “ประวัติศาสตร์การเมือง” ซึ่งช่วยเปิดมิติการรับรู้และความเข้าใจในพัฒนาการทางการเมือง อันจะช่วยให้นำมาเทียบเคียงเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (สุเนตร ชุติธรานนท์ 2555: vi)

 

3. ความสำคัญของขบวนการเสรีไทย : ความสำคัญที่เหมือนจะไม่สำคัญ

3.1 ความสำคัญที่ถูกลืม

“ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของท่าน คือเรื่องอะไรคะ” นี่เป็นคำถามที่พิธีกรสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

“คือความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ใกล้คนที่ซื่อสัตย์สุจริต คนที่รู้วิชาที่จะรับใช้บ้านเมือง แต่ไม่มีโอกาส ภาคภูมิใจและเสียดาย ไม่ใช่พูดเข้าข้างตัว ... ภาคภูมิใจในข้อนี้ ไม่ได้ผิดหวังในชีวิตส่วนตัว” ท่านตอบ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขณะให้สัมภาษณ์
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขณะให้สัมภาษณ์

 

แต่ท่านผู้หญิงพูนสุข มิได้จบเพียงว่าภูมิใจที่ได้เป็นภริยาของนายปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น หากยังกล่าวต่อไปว่า “แต่ที่ดีใจที่สุดในชีวิต ก็คือวันประกาศสันติภาพ เมื่อ พ.ศ.2488 คือประเทศไทยเราเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อธันวาคม พ.ศ. 2484 และตลอดสงครามก็ได้รับใช้ชาติในการที่จะให้เราเป็นเอกราช พอประกาศสันติภาพว่าการที่ประกาศสงครามเป็นโมฆะ และสภาพของประเทศไทยก็มีเอกราชและประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เช่นก่อนสงคราม นี่เป็นเรื่องที่ดีใจที่สุดกับงานชิ้นนี้ มิฉะนั้น เราจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่เดี๋ยวนี้ดิฉันคิดว่าคนไทยลืมวันที่ 16 สิงหา ไม่ทราบว่าวันอะไร ทั้งๆ ที่เป็นวันที่เรามีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์”[15]

ทำไมเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยที่ทั้งทำงานรับใช้ชาติเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตย และเพื่อทำนุบำรุงระบอบประชาธิปไตยของไทยให้สมบูรณ์กลับรางเลือนไป

หลังการรัฐประหาร 2490 อันเป็นการกลับมาของพวกปรปักษ์ประชาธิปไตย[16] ที่นำโดยกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มทหารบกเป็นต้นมา ไม่เพียงนายปรีดีและพรรคพวกจะถูกเล่นงานถึงชีวิตเท่านั้น หากชื่อเสียงและเกียรติคุณของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกทำลายลงอย่างมากเช่นกัน ฉะนั้น ผลงานที่นายปรีดีได้สร้างไว้[17] ถ้าไม่ถูกทำลายหรือทำให้กลายร่างไปจากอุดมการณ์ของนายปรีดี ก็ต้องถูกลืมผ่านการสร้างวาทกรรมทำลายความสำคัญลงไป อาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันอยู่ในพวกแรก ส่วนการอภิวัฒน์ 2475 การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อให้ไทยมีเอกราชทางการศาลอันนำมาซึ่งเอกราชสมบูรณ์และขบวนการเสรีไทยอยู่ในพวกหลัง

เมื่อผู้ครองอำนาจรัฐฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยและเครือข่าย ทำลายการรับรู้เรื่องราวของขบวนการเสรีไทย ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของขบวนการเสรีไทย โดยเฉพาะในส่วนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงถูกลบเลือนหายไป เหลือไว้เพียงส่วนที่พวกปรปักษ์ประชาธิปไตยยอมรับได้ คือความรักชาติเท่านั้น แม้ในบางโอกาสอาจรวมถึงสันติภาพด้วย แต่ความรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปโดยปริยาย ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่วงเล็กๆ ของวิชาการก็ตาม การละเลยเช่นนี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับนักประวัติศาสตร์เท่านั้น หากเป็นกระแสครอบงำทั่วทุกภาคส่วนของสังคมไทย[18]

3.2 ความทรงจำที่ยังพอหลงเหลืออยู่

คนไทยรับรู้จากขบวนการเสรีไทยว่า นั่นก็คือขบวนการของความเสียสละ

“เมื่อประชาชนคิดถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทย พวกเขามักจะนึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่อาจารย์ปรีดีและคณะได้ทำเพื่อประเทศ ผมต้องการให้ประชาชนจดจำผมและรัฐบาลของผมในลักษณะเดียวกัน”[19]

นี่คือคำพูดของพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2548 หนึ่งวันภายหลังการฉลอง 6 ทศวรรษของวันสันติภาพไทย

แม้คนไทยส่วนหนึ่งจะไม่อาจจดจำเขาและรัฐบาลพวกพ้องของเขาได้ในทางเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์และขบวนการเสรีไทย ดังที่เกิดขึ้นกับมวลมหาประชาชนของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) สมัย พ.ศ. 2557 ที่จดจำ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปในทางตรงข้ามกับความปรารถนาของเขาเลยทีเดียว แต่อย่างน้อยคำพูดของเขาก็สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ที่เมื่อนึกถึงขบวนการเสรีไทย นอกจากความรักชาติแล้ว ก็คือความเสียสละที่ได้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อรับใช้ชาติ

สามารถกล่าวเป็นการยกย่องขบวนการเสรีไทยได้ว่า การมีศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะที่สิ่งนั้นอยู่ในยามซึ่งหมายถึงความสะดวกสบาย ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญรุ่งเรืองของท่านเป็นของง่าย แต่การมีศรัทธาต่อสิ่งที่กำลังตกอยู่ในท่ามกลางอันตรายรอบด้าน สิ่งที่หมายถึงการสูญเสียความสุข การทนทุกข์ทรมาน และท่านอาจต้องชดใช้ด้วยชีวิต เพื่อแลกกลับคืนมาเป็นการเสียสละอันสูงสุด ซึ่งยากที่มนุษย์เราจะหวังได้ในกรณีธรรมดาสามัญใดๆ แต่ขบวนการเสรีไทยพร้อมด้วยหัวหน้า ซึ่งดำดินอยู่ในดงเสือดงจระเข้มาเป็นเวลา 4 ปี ก็ได้พิสูจน์มาแล้ว ด้วยงานอันปรากฏโดยพฤติการณ์ นับแต่ต้นจนวาระสุดท้ายว่า การเสียสละใดๆ แม้ชีวิตของคนเราก็จะมีความหมายอะไรนักหนา เมื่อคนเรามีเจตนาที่จะอยู่หรือจะตายอย่างไทย (มาลัย ชูพินิจ 2544: 232-233)

3.3 บทเรียนจากขบวนการเสรีไทย

เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นเข็มทิศช่วยนำพาเราไปสู่ทางที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยไม่ต้องเรียนรู้ความผิดพลาดด้วยประสบการณ์ของตนเอง หากใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์มาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ในหัวข้อนี้ จะขอเสนอตัวอย่างของข้อคิดที่ได้จากขบวนการเสรีไทยที่เข้ากับบรรยากาศวิกฤตประชาธิปไตยในปัจจุบัน

3.3.1 การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย

ตามที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า จุดมุ่งหมายหลักอีกประการหนึ่งที่เป็นอุดมการณ์ร่วมของขบวนการเสรีไทย คือการต่อต้านเผด็จการทหารเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในหัวข้อนี้จะได้ยกตัวอย่างการกระทำของเสรีไทยในประเทศผ่านกลุ่มผู้แทนราษฎรภาคอีสาน เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ จากจังหวัดสกลนคร นายจำลอง ดาวเรือง จังหวัดมหาสารคาม นายถวิล อุดล จังหวัดร้อยเอ็ด และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จังหวัดอุบลราชธานี

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลหรือผู้นำส่วนกลางในกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้กับนักการเมืองท้องถิ่นได้เข้ามามีสิทธิ์มีเสียงแสดงความคิดเห็นในระดับชาติ[20]

ผู้แทนราษฎรกลุ่มนี้ ซึ่งต่อมาเป็นสมาชิกในคณะกู้ชาติและขบวนการเสรีไทย มีความต้องการทำให้คนชนบทมิใช่เป็นเพียงฐานคะแนนเสียงที่จะสำคัญเฉพาะเวลาที่มีการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หากยังต้องการให้คนชนบทมีผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้เช่นกัน[21] จึงต้องการผลักดันให้รัฐบาลเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในเขตชนบทหรือท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งยังมีความล้าหลังอยู่มาก และไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาประเทศที่เน้นหนักด้านความมั่นคงหรือการป้องกันประเทศแบบเก่าที่เน้นพัฒนากองทัพเป็นลำดับแรก[22] เพื่อปรับเปลี่ยน และ/หรือ ผลักดันให้นโยบายการพัฒนาประเทศกระจายกลับไปสู่ท้องถิ่นบ้าง[23] ดังที่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กล่าวว่า “เราจะเริ่มสร้างบ้านด้วยการสร้างรั้ว หรือว่าเราจะเริ่มสร้างบ้านด้วยการลงเสาเสียก่อน”[24]

การเคลื่อนไหวของ สส.อีสาน กลุ่มนี้ ดำเนินมาแต่ภายหลังอภิวัฒน์สยาม ต่อสู้ผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อภาคอีสานเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงประชาชนในท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย[25] ทั้งในรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านกระบวนการในรัฐสภา เช่น การเสนอร่าง การอภิปรายคัดค้านร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นต้น อีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาใช้วิถีทางในระบบรัฐสภาที่พวกเขายึดมั่นต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. อย่างแข็งขัน จนในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลเผด็จการลงได้ โดยผ่านการลงคะแนนไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับในปี พ.ศ. 2487 คือการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ 1 และการสร้างพุทธบุรีมณฑลที่จังหวัดสระบุรี 1 และที่น่าชมเชยคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ลาออกตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

หากเทียบกับการเมืองไทยในสมัยร่วมสองทศวรรษที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ฐานเสียงสนับสนุนในภาคอีสานซึ่งมีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่กว่าภาคอื่น ผิดก็แต่เราแน่ใจไม่ได้เลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพ้อง ได้ทำเพื่อให้คนในชนบทกำหนดนโยบายได้จริงๆ หรือจะหวังใช้เป็นเพียงฐานคะแนนเสียงเท่านั้น

พึงตระหนักไว้ในที่นี้ด้วยว่า การที่รัฐสภาไทยขาดผู้แทนราษฎรน้ำดีดังตัวอย่าง สส.อีสานในอดีต กลุ่มนี้ไป เหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการประหัตประหารศัตรูการเมืองอย่างเลือดเย็นภายหลังการกลับมามีอำนาจของรัฐบาลปรปักษ์ประชาธิปไตย นับแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมานั่นเอง ดังที่ สส. อีสานกลุ่มนี้ถูกฆ่าด้วยอำนาจรัฐอย่างโหดเหี้ยมในปี พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2495[26]

อีกประเด็นหนึ่งคือ การต่อสู้ในระบบรัฐสภาตามวิถีทางของกฎหมาย ตัวอย่างง่ายๆ คือรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีความเป็นเผด็จการ ก็ยอมลาออกตามกระบวนการในระบบกฎหมาย อีกนัยหนึ่ง แม้ขบวนการเสรีไทยจะมีความประสงค์ที่จะโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ล้มด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ มิได้ใช้กระบวนการนอกกฎหมาย ละเลยต่อกติกา หรือบิดเบือนหลักกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญใดๆ มาแทรกแซง ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น ประเทศไทยก็เผชิญกับ “วิกฤตที่สุดในโลก” อันมีเอกราชของชาติเป็นเดิมพันเช่นกัน

3.3.2 การรักษาบูรณภาพเหนือดินแดน

ในห้วงเวลาที่กปปส. เคลื่อนไหวเมื่อ พ.ศ. 2556-2557 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ โพสต์ในเฟซบุ๊ก “สส.นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ระบุว่า เช้าตื่นขึ้นมาได้รับโทรศัพท์จากผู้ชุมนุมด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่า “ผู้แทน! พวกของเราที่โดนระเบิดเมื่อวานตายแล้ว พวกเราทนไม่ไหวแล้ว แยกภาคกันอยู่เถอะ” นึกไว้นานแล้ว คำนี้ต้องหลุดออกจากปากผู้ชุมนุม (ไทยรัฐ 19 มกราคม 2557: 9)

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส.
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส.

 

ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะอึดอัดคับข้องใจ ทั้งฝ่าย กปปส. กับเครือข่าย และฝ่ายที่ออกมาปกป้องประชาธิปไตย เฉกเช่นทุกวันนี้ มีการกล่าวถึงการแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้ กันไม่น้อย หลายคนเห็นว่าความสงบสุขจะกลับมาสู่สังคมอีกครั้ง หากแยกความขัดแย้งในสงครามระหว่างสีออกไปได้ กล่าวง่ายๆ คือถ้าภาคเหนือและอีสานยกให้พรรคเพื่อไทย ภาคใต้ยกให้พรรคประชาธิปัตย์ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะจะได้ไม่ต้องให้คนอีกภาคหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรา มาไล่รัฐบาลฝ่ายเรา สลับกันไปสลับกันมาอย่างไม่รู้จะหาทางลงอย่างไร

ความข้อนี้ ชวนให้ผมย้อนคิดกลับมาว่า เรากำลัง “ขาดทุน” ทางประวัติศาสตร์ถึง 7 ทศวรรษที่เดียว กล่าวคือ ราว พ.ศ. 2486 อังกฤษประสงค์จะให้ไทยเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นรัฐ ในอารักขาภายหลังสงครามสิ้นสุดลง (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ป.ป.: 51) โดยใช้เส้น 16 องศาเหนือแบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้ คือเหนือจังหวัดพิจิตรให้อยู่ในความดูแลของนายปรีดี (สายในประเทศ) ด้วยความช่วยเหลือของจีน ส่วนใต้จังหวัดพิจิตรลงมา ให้ขึ้นกับฝ่ายของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (สายอังกฤษ) และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (สายอเมริกา) ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษ แต่ขบวนการเสรีไทย ที่มีนายจำกัด พลางกูร (ผู้ซึ่งทำหน้าที่ เลขาธิการขององค์การ) เป็นกำลังสำคัญ ได้ประสานงานกับเสรีไทยในต่างประเทศ และเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็คของจีนให้รับรองสถานะเอกราชให้ไทยเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง เมื่อจีนรับรองเช่นนั้น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จึงสนับสนุนตามมา ผลที่เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มาจากการเดินทางไปเจรจาที่จุงกิงของนายจำกัดที่เขาต้องแลกมาด้วยชีวิตนี่เอง[27]

พึงตราให้ปรากฏในที่นี้ว่า คุณูปการมหาศาลของนายจำกัดที่มีต่อประเทศไทย คือ ช่วยให้จีนรับรองคณะเสรีไทยและรับรองเอกราชของไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง คงเป็นเพราะว่า ผู้ที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทยภายหลัง ไม่รู้สึกว่าในช่วงสงครามนั้น ปัญหาเรื่องเอกราชของไทยภายหลังสงครามเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะไทยอยู่ในฐานะศัตรูของสัมพันธมิตร หลังจากประเทศฝ่ายอักษะแพ้ หากไม่มีขบวนการเสรีไทย ไทยย่อมถูกปรับเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม อาจกลายเป็นประเทศที่ถูกยึดครอง ที่มีฐานะเป็นเพียงรัฐในอารักขาของอังกฤษหรือจีนก็ได้[28]

การแบ่งแยกประเทศที่ปรากฏมีขึ้นในสากลประเทศ นับวันยิ่งลดน้อยถอยลง เห็นจะคงเหลือก็แต่เพียงเกาหลีเหนือ-ใต้ เท่านั้น เยอรมนีก็ดี เวียดนามก็ดี ล้วนกลับมารวมกันแล้วสร้างประเทศของตนให้เข้มแข็ง คนที่มาก่อนเราอุตส่าห์ทิ้งบทเรียนไว้ให้ขนาดนี้ คนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมไม่อาจเข้าใจได้เลย ยิ่งกับสถานการณ์ในประเทศที่มีความขัดแย้งมาก ยากที่จะจำแนกง่ายๆ ได้ด้วยภาค หากมีความขัดแย้งกันด้วยฐานะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจอย่างซับซ้อนที่เราไม่มีทางหนีกันไปไหนได้ และหากเราแก้ปัญหาด้วยการแยกประเทศจริง อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงมามีอิทธิพลเหนือไทย ซึ่งเป็นสถานการณ์คล้ายๆ กับเมื่อ 70 ปีที่แล้วที่ขบวนการเสรีไทยสู้อุตส่าห์ปกป้องไว้

3.3.3. ความปรองดองสมานฉันท์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 9 ปีเท่านั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาเยือนแผ่นดินไทย ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับคนที่นิยมระบอบเก่าที่ยังคงคุกรุ่นจึงต้องพักไว้ แล้วหันมาร่วมมือปฏิบัติการเพื่อความสถาพรของชาติ

เรื่องความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ นายจำกัด พลางกูร เคยทักท้วงนายปรีดีว่าบางคนอาจไม่ให้ความร่วมมือกับขบวนการเสรีไทย 100% ไม่อยากให้นายปรีดีตั้งความหวังจากคนอื่นไว้มากนัก นายปรีดีได้ตอบนายจำกัดว่า “คุณอย่าห่วงเลยในเรื่องนั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว เมื่อบ้านเมืองของเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ มีหรือคนไทยที่ไหนจะไม่ดีใจ เมื่อทราบว่าได้มีการต่อต้านญี่ปุ่นใต้ดินเกิดขึ้นในประเทศแล้ว ถึงแม้พวกเจ้านายก็เถอะ ท่านก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ผมแน่ใจ 100% ว่าคนไทยทุกคนจะโผเข้ามาร่วมกับเราในทันทีที่ทำได้ ไม่มีใครมัวจะคิดเรื่องชิงดีชิงเด่นกันหรอก ปัญหานี้ตัดไปได้”[29]

กรณีตัวอย่างที่ผู้เห็นต่างกันทางการเมืองหันมาสมานฉันท์กันได้อย่างปรองดอง คือ กรณีของนายปรีดี กับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กล่าวในคำสามัญ คือพี่เขยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลสุดท้ายในระบอบเดิมกับผู้นำการอภิวัฒน์ ย่อมไม่ลงรอยกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อมีความจริงใจต่อกัน เห็นประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเหมือนกัน ก็สลายความเคลือบแคลงใจออกไปได้ ดังเช่น บันทึกของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยสายอังกฤษ ที่ว่า “ทางอังกฤษได้ถามว่า … อยากจะให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ ซึ่งทรงยศเป็นร้อยเอกในกองทัพบกอังกฤษขณะนั้นเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่า หัวหน้าเสรีไทยจะยินดีต้อนรับหรือไม่”

หัวหน้าเสรีไทยได้โทรเลขตอบในทันทีว่า “ขอเชิญท่านชิ้นเสด็จเข้ามาด้วยความยินดี” ใจความในโทรเลขนั้นตอนหนึ่งว่า “เรื่องการเมืองภายในประเทศนั้นเป็นอันยุติไม่มีปัญหาอีกต่อไป เสรีไทยมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวที่จะรักษาเอกราชและอิสรภาพของประชาชาติไทย”

“ทางราชการอังกฤษยังไม่แน่ใจ ได้โทรเลขถึงผมเป็นการส่วนตนถามว่า หัวหน้าเสรีไทยส่งโทรเลขตอบไปนั้น คำตอบมาจากใจจริงหรือว่าส่งไปเป็นเพียงพิธีและเพื่อแสดงอัธยาศัยเท่านั้น ผมเองได้ตอบยืนยันไปตามที่ได้สังเกตมาก่อนว่า คำตอบของนายปรีดี พนมยงค์นั้น ผมแน่ใจว่ามาจากใจโดยสุจริต”[30]

กล่าวโดยสรุปคือ การสมานฉันท์กันระหว่างท่านชิ้นและนายปรีดี เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ยิ่งที่ผู้ซึ่งเคยขัดแย้งกันมาสามารถหันมาจับมือกันได้ ดังทัศนะของปัญญาชนสยามที่สรุปข้อคิดว่า “ฝ่ายราชาธิปไตยที่มีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ วงศ์สนิท เป็นตัวอย่าง อาจสมานไมตรีกับฝ่ายคณะราษฎรได้ เพราะต่างก็ลดอคติเข้าหากัน และยอมรับข้อเท็จจริง รวมถึงข้อบกพร่องของฝ่ายตน โดยที่ตนเองพร้อมที่จะให้อภัยอีกฝ่ายหนึ่ง และขอให้อีกฝ่ายหนึ่งให้อภัยกับฝ่ายตนด้วย และแล้วทั้งสองฝ่ายก็สามารถผนึกกำลังกันร่วมประกอบกรณียกิจด้วยกัน โดยมีไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นที่ตั้ง” (ส. ศิวรักษ์ 2553: 310)

เทียบกับขณะนี้ ถ้าอคติไม่บังตาจนมากเกินไปนัก คู่ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันควรหันมาดูตัวอย่างจาก ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และนายปรีดีเสียบ้าง เพราะเดิมพันของเสรีไทยคือเอกราช เดิมพันของเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็คือประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ต้องไม่ลืมว่าต้นทุนของการเดิมพันแต่ละครั้ง คือชีวิตของเหล่าราษฎรประชาชนชาวไทยนั่นเอง

 

4. บทสรุป: ภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้นของขบวนการเสรีไทย

บทความนี้ มิได้เสนอทางออกให้กับวิกฤตประชาธิปไตยในขณะนี้โดยตรง หากแต่ชวนผู้อ่านเหลียวกลับมาดูประวัติศาสตร์ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านขบวนการเสรีไทย โดยมุ่งหวังว่าประวัติศาสตร์จะเป็นบทเรียนให้เรา ในการเทียบเคียงเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันและอนาคต สำหรับก้าวต่อไปของสังคม อย่าให้คนรุ่นก่อนเราและคนรุ่นหลังเรา ติเอาได้ว่าเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ ที่แลกบทเรียนมาด้วยชีวิตของผู้คนจำนวนใช่น้อย

การรับรู้และถ่ายทอดเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยที่ถูกต้องตรงกับฐานะทางประวัติศาสตร์มิใช่การเน้นย้ำแต่เรื่องราวของการต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น หากแต่ต้องขยายบริบทให้กว้างออกไปจากกรอบความรักชาติ ชาตินิยม ไปสู่ความรักประชาธิปไตย เพราะความรักในส่วนหลังนี้ จะช่วยให้แลเห็นเนื้อในของขบวนการ และพินิจในฐานะเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของชาติจากทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น คือการนำเสนอเรื่องราวในรูปขบวนการต่อต้านลัทธิเผด็จการทหารเพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง[31] อีกนัยหนึ่ง เป็นการทำให้ขบวนการเสรีไทยมีความเชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างมีชีวิตชีวา มากกว่าจะปล่อยให้เฉาตายผ่านการเล่าแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเดียว

อาจกล่าวได้ว่า ขบวนการเสรีไทยสำเร็จประสงค์ ในการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ได้ แต่ภารกิจของขบวนการเสรีไทย ในอันที่จะสถาปนาและทำนุบำรุงรักษาระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์และพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรม[32] ยังคงเป็นภารกิจที่รอการสานต่อ โดยที่พวกเราไม่ควรมองข้าม

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร. (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549).
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. เพื่อชาติ เพื่อ humanity. (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2549).
  • ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535).
  • แถมสุข นุ่มนนท์. ประวัติศาสตร์. ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บรรณาธิการ. ปรัชญาประวัติศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527).
  • ทศ พันธุมเสน และ จินตนา ยศสุนทร. จากมหาสงครามสู่สันติภาพ. (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530).
  • นิคอล สมิธ และ เบลค คลาร์ค. สู่สยามประเทศใต้ดิน. (กรุงเทพฯ: สันติภาพ, 2529).
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์. บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543).
  • ปรีดี พนมยงค์. จดหมายของนายปรีดี ถึงพระพิศาลสุขุมวิท. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2522).
  • ปรีดีกับสังคมไทย. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
  • พูนศุข พนมยงค์. 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย. (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2533).
  • พูนศุข พนมยงค์. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วันพูนศุข พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2550).
  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง, บรรณาธิการ. สุนทรพจน์ (บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์). (2545).
  • สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555).

สื่อออนไลน์

ที่มารูปประกอบ บทความเสรีไทย

  • สุเทพ เทือกสุบรรณ http:/scoop.mthai.com/wp-contentuploads/2013/1/สุเทพ-เทือกสุบรรณ4.jpg
  • จำกัด พลางกูร http://www.siamintelligence.com/wp-content/uploads/2013/08/จำกัด.jpg
  • หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/7/77/หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท_สวัสดิวัตน์ jpg/220px- หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท_สวัสดิวัตน์jpg

หมายเหตุ

  • บทความนี้ ปรับปรุงแก้ไขจากบทความเรื่อง “เหลียวมอง “เสรีไทย” เพื่อก้าวต่อไปของสังคม,” ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 18 (มิถุนายน 2557 – พฤษภาคม 2558).
  • เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2557

* บทความเดิม ปรับปรุงจากการแสดงปาฐกถาเรื่อง "ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยต่อประวัติศาสตร์ไทย" ในงานวันเปิดมุมข้อมูลเสรีไทย โครงการบันทึกและจัดแสดงข้อมูลเสรีไทย (The Free Thai Movement) ณ สำนักบรรณสารการพัฒนา อาคารบุญชนะ อัตถากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

[1] แถมสุข นุ่มนนท์, ประวัติศาสตร์, ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บรรณาธิการ, ปรัชญาประวัติศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527), น.25.

[2] แฟรงค์ จี. วิลลิสตัน, ขอบเขตและความมุ่งหมายประวัติศาสตร์, ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บรรณาธิการ, ปรัชญาประวัติศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527), น.105.

[3] ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี ถึงพระพิศาลสุขุมวิท, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2522), น.16.

[4] นี่เป็นข้อความจากบทสนทนาของนายการะเวก ศรีวิจารณ์ เสรีไทยผู้หนึ่งซึ่งได้สละชีพไปเพื่อชาติ (ดู นิโคล สมิธ และ เบลคคลาก, สู่สยามประเทศใต้ดิน, (กรุงเทพฯ: สันติภาพ, 2529), น.37-38.)

[5] ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี ถึงพระพิศาลสุขุมวิท, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2522), น.16.

[6] คือ "บ้านพูนศุข" บริเวณป้อมเพชรนิคม ถนนสีลม ซึ่งนายปรีดีและครอบครัวพำนักอยู่ (ดู พูนศุข พนมยงค์ 2550 : 123).

[7] ทศ พันธุมเสน และ จินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530), น.30.

[8] ปรีดีกับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), น.98.

[9] พูนศุข พนมยงค์, 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย, (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2533), น.24.

[10] นายจก ณ ระนอง นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงซึ่งสำเร็จวิชากฎหมายระหว่างประเทศจากฝรั่งเศส และกำลังทำปริญญาโท ทางความสัมพันธ์ระหว่างประทศอยู่ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นนักเรียนไทยผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสนอให้ใช้คำว่า "เสรีไทย" ตลอดจนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานภาพของขบวนการฯ (ดู วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร 2542 : 93).

[11] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity, (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2556) น.7.

[12] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) น.54.

[13] เรื่องเดียวกัน, น.53.

[14] โดยนายปรีดีอธิบายความหมายและที่มาของคำว่า X.O.GROUP ว่าไม่มีความหมาย หรีอย่อมาจากอะไร ตอนให้หลวงประเจิด อักษลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์ ไปติดต่อกับครีอสบี และฟิตช์จรัสต์ ถามว่จะให้ใช้อะไรเป็นคำผ่านและเครื่องหมาย นายปรีดี ตอบว่า X.O.GROUP เห็นจะเป็นเพราะฟังวิทยุจงกิงมาก ได้ยินชื่อสถานีขึ้นต้น X.O. บ่อย เลยติดหู (ดู มาลัย ชูพินิจ 2544 : 51).

[15] นี่แหละชีวิตปรีดี-พูนศุข พนมยงค์”, (2557), สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557.

[16] เป็นคำที่นายปรีดี พนมยงค์ใช้ในอัตชีวประวัติของเขา (ดู ปรีดี พนมยงค์ 2535).

[17] ขอนำพุทธภาษิตที่นายปรีดียึดมั่นมาชั่วชีวิต มาแสดงไว้ในที่นี้ ความว่า อโถสุจิณฺณสฺสพลํ น นสฺสติ - ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูนย์หาย

[18] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), น.ฏ.

[19] When people think about Ajarn Pridi and Seri Thai, they think about the great sacrifice they made for the country. I want people to remember me and my government in the same way. (see The Nation 17 August 2005, quoted in Pasuk Phongpaichit and Chris Baker 2009 : 354)..

[20] โดยที่นายทองอินทร์ได้รับเลือกตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ขณะที่คนที่เหลือเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2480 (ดู สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), น.68-69.

[21] เรื่องเดียวกัน, น.73-105.

[22] เรื่องเดียวกัน, น.74.

[23] เรื่องเดียวกัน, น.101.

[24] รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18/2480, 14 กุมภาพันธ์ 2480 อ้างถึงใน สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) น.74.

[25] เรื่องเดียวกัน, น.101.

[26] โปรดดูเพิ่มเติมจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544)

[27] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร, (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), น.99-100.

[28] เรื่องเดียวกัน, น.89.

[29] เรื่องเดียวกัน, น.29.

[30] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543), น.12-13.

[31] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) น.201.

[32] โปรดดูสุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ขณะดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี ที่แสดงในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 (ดู ปรีดี พนมยงค์ 2545 : 11 - 16)