ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

พลังสตรีในขบวนการเสรีไทย

1
สิงหาคม
2565
เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่บ้านของนาวาอากาศตรี ประสงค์ คุณะดิลก ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่บ้านของนาวาอากาศตรี ประสงค์ คุณะดิลก ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ไทยให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แล้วต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม ทางรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรบกับ Teiji Tsubokami เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และในวันที่ 21 ธันวาคม ไทยลงนามเป็นทางการเรียกว่า สนธิสัญญาพันธมิตร คือ Japan Thailand Alliance ซึ่งได้เปลี่ยนจากการจำยอมให้ผ่านทางเป็นเข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ฝ่ายอักษะในช่วงสงครามเพื่อรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร กระทั่งวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาแล้วเข้าร่วมกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย[1]

ต่อมา ปรีดี พนมยงค์[2] ได้ตีพิมพ์บันทึกรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กับคำแปลข้อตกลงระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นที่ทำให้เห็นการถกเถียงอย่างเข้มข้นของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านไทย[3] จวบจนสงครามสิ้นสุดลงหลังการประกาศสันติภาพราวครึ่งปี ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ปรีดีในฐานะพยานของ พ.ท.พระสารสาสน์พลขันธ์ จำเลยคดีอาชญากรสงคราม ได้กล่าวคำให้การเรื่องการก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในไทยหรือขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะครั้งแรกว่า[4]

 

“ก็ได้เกี่ยวข้องในเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นนี้คือ เริ่มกระทำตั้งแต่ในวันแรกที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทย แล้วต่อมาได้ชักชวนเพื่อนฝูงหรือบุคคลที่สนิทสนมให้เข้าร่วมในส่วนภายในนี้เป็นจำนวนมาก และแม้แต่ในส่วนที่อยู่ในต่างประเทศก็มีบรรดาผู้ที่รู้จักหรือชอบพอกันหลายคนปฏิบัติการในต่างประเทศ มาในที่สุดเมื่อกิจการได้คลี่คลายขยายตัวออกไป หรือความเจริญในการต่อต้านได้แผ่ไพศาลมากขึ้น ทางฝ่ายอังกฤษจึงได้ให้นายฉลวย มากระโดดร่มนำสาส์นได้ชี้แจงว่า เขายอมรับว่า ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าของคณะต่อต้านทั้งภายในและภายนอกประเทศ และในสาส์นฉบับเดียวกันนั้น ยังได้ชี้แจงมาเช่นเดียวกันอีกว่าเขาพร้อมที่จะรับรองความเป็นเอกราชของประเทศไทย

ในการต่อต้านนี้ หลักสำคัญเราได้วางแนวยุทธการไว้ดังนี้คือ จะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อมิให้ญี่ปุ่นเข้ามายึดประเทศไทย ก่อนที่จะถึงวันกำหนดว่าจะได้มีการรบเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันต่อจากนั้นไปจะต้องไม่ให้เข้าประเทศไทยได้ ในการทำเช่นนี้ได้มีข้อตกลงกันว่า เราจะต้องทำด้วยอาการอำพรางทุกอย่าง…”

 

หนังสือตำนานเสรีไทย ของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
หนังสือตำนานเสรีไทย ของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

 

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นพบว่า เรื่องราวของขบวนการเสรีไทยมักจะถูกร้อยเรียงและมีตัวแสดงนำเป็นชายเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดขบวนการ การดำเนินงานอย่างโลดโผนเสี่ยงภัย

หากเมื่อพลิกอ่านรายชื่อเสรีไทยที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ ตำนานเสรีไทย ของ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กลับพบว่ามีสตรีที่ร่วมอยู่ในขบวนการเสรีไทยทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทยอยู่จำนวนหนึ่งโดยมีสตรีเสรีไทย 4 ท่าน ได้แก่ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร และคุณหญิงอัมพร มีศุข ที่บันทึกเรื่องเสรีไทย การทำงาน และบทบาทในขบวนการเสรีไทยไว้อย่างละเอียดละออ ดังต่อไปนี้ 

 

พูนศุข พนมยงค์

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่ออายุ 95 ปี
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่ออายุ 95 ปี

 

พูนศุข พนมยงค์[5] คู่ชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ บันทึกความทรงจำครั้งแรกๆ เกี่ยวกับงานเสรีไทยไว้ในบทความเรื่อง ย้อนรอยถนนสีลม ว่า

 

วันนั้นครอบครัวข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจ เช่นเดียวกับราษฎรไทยทั้งปวง หนังสือพิมพ์ Washington Times Herald ได้รายงานข่าวว่า ‘ชาวไทย ได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง’ (“The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.”) ในบ่ายวันเดียวกัน เมื่อนายปรีดีกลับจากการประชุม ค.ร.ม. ถึงบ้าน มีมิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนมาคอยอยู่…ทุกคนแสดงความรู้สึกเจ็บใจและแค้นใจที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย โดยที่รัฐบาลไทยขณะนั้นก็ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้มาประชุมในวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย

ในการนี้ได้ตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย”

 

พูนศุขยังจดจำบริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้นได้ว่าทางญี่ปุ่นบีบรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้ปรีดีออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ตามมติของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาปรีดีดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (Sole Regent) และกลับเป็นผลดีเพราะทำให้ปรีดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้อย่างเต็มตัว และพูนศุขได้มีโอกาสช่วยงานเพื่อบ้านเมืองในขบวนการเสรีไทยนี้เป็นครั้งแรก

 

“ปกตินายปรีดีจะไม่ปรึกษาเรื่องราชการแผ่นดินกับฉันเลย แต่ครั้งนี้ เป็นงานรับใช้ชาติ และฉันก็เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ นายปรีดีจึงมอบหมายให้ฉันเป็นคนคัดลายมือรหัสวิทยุสำหรับติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร และยังมีหน้าที่รับฟังข่าวสารสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับอักษะ เพื่อประกอบการประเมินผลบทบาทของเสรีไทย

นอกจากนี้ ฉันรู้จักผู้คนในวงกว้าง กอปรกับรู้ความเป็นมาของบุคคลหลายคนที่มีชื่อเสียงในสังคมก็ได้ใช้จุดนี้ช่วยนายปรีดี ซึ่งได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรในการพิสูจน์สมาชิกขบวนการเสรีไทยบางท่าน ทั้งนี้ทั้งนั้น เราทำกันอย่างเป็นความลับ ถือว่าเป็นวินัยสูงสุดของขบวนการเสรีไทย ฉะนั้น บทบาทของฉันก็เหมือนกับพลพรรคธรรมดาคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย

 

พูนศุข ยังบันทึกเรื่องการปกปิดเสรีไทยไว้เป็นความลับในบทความชีวิตของดิฉันในยามสงครามและสันติภาพ ในวาระ 45 ปี วันสันติภาพไทย เมื่อ พ.ศ. 2533 ว่า

 

“การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดเป็นความลับ…ความลับเป็นวินัยสูงสุดของพลพรรคเสรีไทย มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ดิฉันยังจำได้แม่นยำ คือเรื่องของอานันท์ ณ ป้อมเพชร น้องชายของดิฉันที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อสงครามเกิดขึ้นได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย แล้วสัมพันธมิตรส่งตัวมายังเมืองซือเหมาในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จากนั้นก็เดินเท้าเข้ามาประเทศไทย เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ทราบข่าวบิดาถึงแก่กรรมจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงแม้ว่าอยากจะกลับบ้านมาเคารพศพบิดาก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะการกลับมาเมืองไทยเป็นความลับ…”[6]

 

พูนศุข พนมยงค์ ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2491
พูนศุข พนมยงค์ ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2491

 

ท้ายที่สุด พูนศุขมองความสำเร็จของขบวนการเสรีไทยสอดรับกับสุนทรพจน์ของ “รู้ธ” (นามแฝงของปรีดี) ซึ่งกล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ว่า ขบวนการเสรีไทยไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่คือคนไทยทั้งปวงเป็นผู้ร่วมในการกู้ชาติครั้งนี้[7]

 

สุภาพ ยศสุนทร

 

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร

 

สุภาพ ยศสุนทร[8] เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2481 ในสาขาวิชาพาณิชยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งเมืองเบอร์มิงแฮมนั้นเป็นจุดทิ้งระเบิดสำคัญของเยอรมนีแห่งหนึ่งด้วย สุภาพเป็นสมาชิกสตรีในขบวนการเสรีไทยที่ทำงานเสรีไทยอย่างมีสีสันและกล้าหาญ หากจุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยของสุภาพเป็นไปอย่างราบเรียบโดยเกิดขึ้นภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว สุภาพได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้มณี สาณะเสน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทางกรุงวอชิงตันได้ส่งมณีมาเพื่อก่อตั้งเสรีไทยในอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2485 ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของสุภาพ ได้บันทึกถึงการร่วมงานเสรีไทยอย่างกระชับว่า

 

“หลังจากที่ทหาร ‘เสรีไทย’ ได้เดินทางมาอินเดียแล้ว คุณหญิงสุภาพได้ไปทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ ซึ่งขณะนั้นอพยพไปอยู่ลอนดอนชั่วคราว หลังจากได้ทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ได้ราว 8 เดือน คุณหญิงสุภาพได้ไปทำงานกับกระทรวงโฆษณาการของอังกฤษเพื่อเตรียมตัวปฏิบัติงาน ‘เสรีไทย’”

 

(คนที่ 2 แถวหน้าจากซ้าย) สุภาพ รักตประจิต ถ่ายภาพที่ Risboro Hotel, Llandudno, Wales
(คนที่ 2 แถวหน้าจากซ้าย) สุภาพ รักตประจิต ถ่ายภาพที่ Risboro Hotel, Llandudno, Wales

 

สุภาพยังเป็นสตรีเสรีไทยท่านแรกๆ ที่ได้ลงพื้นที่ยังต่างประเทศเพื่อทำงานเสรีไทยในเมืองเดลี[9]และเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2487 โดยแปลข่าวและอ่านข่าวส่งให้เสรีไทยในประเทศได้ทราบถึงสถานการณ์สงครามที่แท้จริงและการเคลื่อนไหวของสัมพันธมิตร

 

“ในปี 2487 ได้เดินทางมายังประเทศอินเดีย เพื่อร่วมกับคณะทหาร ‘เสรีไทย’ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยในระยะแรก ทำหน้าที่แปลและอ่านข่าวภาคภาษาไทยของวิทยุ All India Radio ที่เดลี ต่อมาย้ายไปทำหน้าที่แปล และเขียนข่าวลงไปในใบปลิวของกองบัญชาการทหารอังกฤษเอเชียอาคเนย์ที่กัลกัตตา”[10]

 

งานของเสรีไทยที่สุภาพทำในกระทรวงการสนเทศ ณ ประเทศอินเดียคืองานที่ต้องใช้ความถี่ถ้วนและแม่นยำสูง ได้แก่ ทำงานเก็บรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์และจากไมโครฟิล์มที่ถ่ายจากเอกสารต่างๆ และทำงานที่ต้องใช้ทักษะในการฟังสูง รวมถึงการจดข่าวทางวิทยุกระจายเสียงจากประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นมีสถานีรับวิทยุอยู่ที่เนินเขาห่างจากกรุงเดลีหลายกิโลเมตรและมีเสียงรบกวนค่อนข้างมาก สุภาพยังทำงานแปลข่าว บทวิจารณ์ข่าว และบทความอื่นๆ จากสถานีวิทยุ All India Radio เป็นภาษาไทย ทั้งนี้สุภาพเป็นสตรีคนเดียวในแผนกไทยของเสรีไทยสายอังกฤษในอินเดียจึงมีส่วนช่วยงานทางวิทยุอย่างมากเพราะว่ามีความรู้ดียิ่งในภาษาอังกฤษและสามารถพากย์บทเป็นแม่และลูกสาวแทนได้ทั้งหมด[11]

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร บันทึกความทรงจำถึงสุภาพ ไว้ในนามานุกรมเสรีไทย เล่ม 1 ว่า

 

“...หน่วยเสรีไทยในอินเดียแบ่งออกโดยลักษณะงานที่ปฏิบัติได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่หนึ่งเป็นฝ่ายกองรบ อาทิ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์…ประเภทที่สองเป็นฝ่ายการข่าว ทหารเสรีไทยหน่วยนี้เข้าประจำการในกระทรวงการสนเทศของรัฐบาลอังกฤษในกรุงนิวเดลี…มีราว 11-12 คน อาทิ ร้อยเอก ประจิตร ยศสุนทร[12]…หลังจากปฏิบัติการ…ได้ไม่กี่เดือนก็ได้ข่าวมาแว่วๆ…ว่าคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร กำลังจะเดินทางมาสมทบกับเสรีไทยซึ่งทำงานอยู่ในกระทรวงการสนเทศ…คุณหญิงสุภาพอยู่ที่เซ็นทรัลคอร์ตกับพวกเราจนกระทั่งย้ายไปปฏิบัติงานที่เมืองกัลกัตตาในภายหลัง…

คุณหญิงสุภาพเป็นคนคล่องแคล่ว และมีเสน่ห์ในการสมาคม เป็นดาราดวงเด่นในระหว่างเพื่อนร่วมงานทั้งกระทรวง…”

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์[13] ยังได้กล่าวถึงสุภาพเรื่องการรับใช้ชาติในบทบาทของเสรีไทยไว้ว่า

 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สุภาพ (รักตประจิต) ยศสุนทร อาสาสมัครเข้าเป็นเสรีไทยโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย เพราะใจรักชาติเช่นเดียวกับผู้อื่นที่เป็นนักเรียนร่วมสมัยกันในประเทศอังกฤษขณะนั้น พวกเราภูมิใจมากที่เสรีไทยในอังกฤษมีสมาชิกเป็นสุภาพสตรีใจเด็ดหลายคน…ถ้ารัฐบาลอังกฤษใจกว้างสักหน่อย ก็คงจะได้มีทหารหญิงสุภาพเข้ามาโดดร่มชูชีพ ฝึกกองโจรกับเราในขณะนั้น”

 

สุภาพ ยศสุนทร รับเหรียญที่ระลึกในการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครบ 20 ปี จากผู้ว่าการฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ศ. 2510
สุภาพ ยศสุนทร รับเหรียญที่ระลึกในการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครบ 20 ปี จากผู้ว่าการฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ศ. 2510

 

เมื่อสงครามสงบ สุภาพกลับเมืองไทยและได้ร่วมงานกับป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเข้าทำงานที่ส่วนการควบคุมปริวรรต ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าส่วนค้นคว้าและหัวหน้าหน่วยการเงินระหว่างประเทศพร้อมกัน ในพ.ศ. 2493[14] ซึ่งป๋วยกล่าวชื่นชมสุภาพและแสดงถึงความสนิทสนม[15] ว่า

 

“ผมได้มีโอกาสร่วมงานที่เป็นราชการกับสุภาพตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งจากกันไป เมื่อสุภาพเริ่มเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2490 ผมยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยลอนดอน สุภาพเขียนจดหมายชักชวนให้เข้ามาทำงานธนาคารชาติด้วยกันเมื่อผมเรียนสำเร็จ โดยมีข้อจูงใจว่าเป็นงานใหม่ ส่วนค้นคว้าเพิ่งเริ่มตั้ง…

สุภาพอายุน้อยกว่าผม เรียนทีหลังผม จึงตกเป็นหน้าที่เป็นผู้ช่วยผมอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าพูดโดยปราศจากอคติแล้ว ถ้าจะกลับหน้าที่กัน ให้สุภาพเป็นหัวหน้า ผมเป็นผู้ช่วย ก็จะราบรื่นและได้ประโยชน์อย่างเดียวกัน เพราะสติปัญญาความรอบรู้ ความริเริ่ม ความกว้างขวางของสุภาพนับได้ว่ายอดเยี่ยม หาเสมอเหมือนได้ยาก ผมพูดเช่นนี้ได้เต็มปาก เพราะตลอดเวลาที่ผมเป็นรองผู้ว่าการ (7 เดือน) และเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ (12 ปี) สุภาพเป็นคู่คิด เป็นหัวคิดให้ เป็นหูเป็นตาให้อย่างสนิทสนม…

เวลาสุภาพวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ของธนาคารชาติ สังเกตได้ว่าสุภาพวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา…แน่ละ บางครั้งย่อมมีความคิดเห็นขัดกัน และเมื่อได้เถียงกันไปสักพักใหญ่ ต่างคนต่างหยุดหัวเราะสักที แล้วถามซึ่งกันและกันว่า ใครเป็นผู้ว่าการกันแน่?”

 

ฉากชีวิตของสุภาพ สะท้อนให้เห็นความเป็นหญิงสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับในการทำงานเสมอภาคเทียบเท่ากับผู้ชายนับตั้งแต่ในขบวนการเสรีไทยจนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย

 

จินตนา ยศสุนทร

 

คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร
คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร

 

จินตนา ยศสุนทร [16] เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เดิมจินตนาเป็นนักเรียนทุนในประเทศฝรั่งเศส หากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ภายหลังการปฏิเสธการกลับประเทศไทยตามคำเรียกตัวของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในขณะนั้น จินตนาก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเสรีไทยโดยมีหน้าที่ทำนามานุกรมและแปลแผนที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้กับกระทรวงกิจการภายในและกรมแผนที่ทหารของอเมริกา[17] จินตนาเขียนบันทึกเรื่องผู้หญิงเสรีไทย ไว้ในหนังสือ 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย พ.ศ. 2533 ว่า

 

“คนไทยในต่างประเทศในอเมริกาและอังกฤษในระหว่างสงคราม มีพอนับได้ถ้วนจึงเกือบบอกได้ว่า มีใครมีบทบาทอะไรบ้างในขบวนงานเสรีไทย…ผู้หญิงที่รู้จักตัวตนกันอยู่…ว่าเป็นผู้มีบทบาทอยู่ในเรื่องของการต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หรืออาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของจำกัด พลางกูร…บุบผา และอนงค์ แต้สุจิ นั้นเป็นพยาบาลอาสาสมัคร ปฏิบัติงานอยู่ในกองทัพอังกฤษ สุภาพ รักตประจิต[18] คงจะเป็นผู้หญิงเสรีไทยสายอังกฤษคนเดียวที่มีโอกาสทำงานที่มีสีสันเคียงบ่า เคียงไหล่ของเสรีไทยชายโดยได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นผู้ประกาศวิทยุกระจายเสียงภาษาไทย ที่ส่งเสียงจากกรุงเดลีเข้าไปในประเทศไทยตลอดสงคราม…”[19]

 

งานของสมาชิกเสรีไทยที่ร่วมกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. หน่วยงาน โอ.เอส.เอส. (Office of Strategic Services) หรือ สำนักงานแผนยุทธศาสตร์ ฝึกงานด้านการสืบราชการลับสงครามตลอดจนการรบแบบกองโจรให้แก่กองทหารเสรีไทย ซึ่งมีสมาชิกเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่เป็นนักศึกษาอาสาสมัครร่วมอยู่ในส่วนงานนี้
  2. หน่วยงาน โอ.ดับบลิว.ไอ. (Office of War Information) หรือ สำนักงานข่าวสารการสงคราม ซึ่งทำหน้าที่สืบทราบความเคลื่อนไหวภายในประเทศที่ถูกยึดครองและกระจายข่าวประชาสัมพันธ์งานของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับเข้าไปให้ประชาชนในประเทศรับทราบ รวมทั้งกระจายเสียงเพื่อทำสงครามจิตวิทยาด้วย

 

(จากซ้าย) จินตนา ยศสุนทร เทียบ กุญชร ณ อยุธนา และจำรูญ ดิษยนันท์ ร่วมร้องเพลงในงานหาทุนสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างสงคราม
(จากซ้าย) จินตนา ยศสุนทร เทียบ กุญชร ณ อยุธยา และจำรูญ ดิษยนันท์ ร่วมร้องเพลงในงานหาทุนสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างสงคราม

 

จินตนาเล่าถึงการทำงานนามานุกรมและแผนที่ให้แก่สหรัฐอเมริกาว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน หากเปิดโอกาสให้จินตนาและผู้หญิงในขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มความสามารถ

 

“งานนามานุกรมเป็นงานละเอียดและต้องใช้เวลามาก เมื่อได้รับมอบงานนี้ ทางสถานทูตจึงได้เรียกหาอาสาสมัครทุกคนที่สามารถรวบรวมได้…ในกลุ่มนามานุกรมนี้มีผู้หญิงเสรีไทยเพียง 2 คน คืออินทิรา อินทรทูต และจินตนา นาควัชระ ผู้จะไปทำงานแผนที่ต่อไปกับ Army Map Service…

…งานทำนามานุกรมชื่อสถานที่เก็บจากแผนที่ไทย (Thai Gazetteer) อันเป็นงานร่วมกับ Board on Geographical Names ของกระทรวงมหาดไทยอเมริกัน งานทำแผนที่ร่วมกับกรมแผนที่ทหารบกอเมริกัน (Army Map Service)...”

 

นอกจากนี้ จินตนายังทำหน้าที่สอนภาษาไทยให้แก่ทหารอเมริกันที่เตรียมจะเข้ามาปฏิบัติงานใต้ดินในประเทศไทย และช่วยจัดเตรียมบทความเพื่ออ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงให้แก่สมาชิกร่วมขบวนการเสรีไทยอีกด้วย ส่วนชีวิตครอบครัวจินตนาได้พบรักและแต่งงานกับนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาคือ สมจิตร ยศสุนทร ซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทยเช่นเดียวกันจนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงจึงได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิแล้วประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ประจำและหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตกที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตราบจนเกษียณอายุราชการ[20]

 

อัมพร มีศุข

 

คุณหญิงอัมพร มีศุข
คุณหญิงอัมพร มีศุข

 

อัมพร มีศุข[21] เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา ได้ทบทวนการบริบทการเมืองในช่วงการทำงานเสรีไทยไว้อย่างแม่นยำว่า

 

“ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประเทศไทยถูกปิดกั้นจากข่าวสารที่แท้จริงตลอดเวลา และข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับภาวะการสงครามนั้น คนไทยรับก็แต่เฉพาะที่รัฐบาลจะแถลงให้ทราบเท่านั้น และเราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพญี่ปุ่น ข่าวสารต่างๆ ก็ต้องเป็นที่ญี่ปุ่นประสงค์จะให้คนไทยได้ทราบเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ข่าวที่คนไทยได้ยินได้ฟังจึงไม่ค่อยตรงกับความจริงเสมอไป

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้จัดตั้งสำนักงานข่าวสงคราม (Office of War Information) ขึ้นเผยแพร่ข่าวสารให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทราบถึงสถานการณ์สงครามที่แท้จริงซึ่งเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ถูกศัตรูยึดครองอยู่ ดังเช่นในทวีปเอเชียก็ประเทศไทย พม่า ฟิลิปปินส์…เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้วจึงได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็น ‘เสียงอเมริกา’ (Voice of America) ดังที่ทราบกันแล้วและกระจายเสียงภาคภาษาไทยเช่นเดียวกับ บี.บี.ซี. ของอังกฤษ…”

 

อัมพร มีศุข ช่วงที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและเป็นสมาชิกเสรีไทย
อัมพร มีศุข ช่วงที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและเป็นสมาชิกเสรีไทย

 

บทบาทและหน้าที่ของอัมพร ในฐานะสมาชิกเสรีไทยคือทำงานโฆษกวิทยุให้แก่สำนักงานข่าวสงคราม (Office of War Information) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งการข่าวมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ระหว่างสงครามดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น อัมพรทำหน้าที่เป็นโฆษกรายการพิเศษที่นี่อเมริกา (This is America) และบันทึกไว้ว่า              

 

“รายการกระจายเสียงที่ส่งให้คนไทยรับฟังระหว่างสงคราม พ.ศ. 2485 ถึง 2488 นั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือข่าวการรบตามสมรภูมิต่างๆ…

นอกจากข่าวแล้ว ก็มีการวิเคราะห์ข่าวประจำ มีรายการพิเศษ ‘ที่นี่อเมริกา’ (This is America) โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดรายการ และมีบทความต่างๆ เป็นอันมาก เช่น เรื่องการจัดตั้งสหประชาชาติ, ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เป็นต้น หลังจากการทำงานกันมาประมาณปีเศษ พ.ศ. 2486 ทางสำนักข่าวสงครามก็แต่งตั้งให้บุญเยี่ยม มีศุข[22] เป็นหัวหน้าหน่วยของไทยที่เรียกว่า Thai Section…”

 

ในระหว่างสงครามกำลังดุเดือดใกล้สิ้นสุดในสมรภูมิข่าวก็ไม่แพ้กัน อัมพรจดจำได้อย่างชัดเจนว่า

 

“ในช่วงที่สงครามใกล้จะสิ้นสุดลง ได้มีความจำเป็นที่จะต้องส่งข่าวให้คนไทยทราบทันท่วงทีและทันต่อเหตุการณ์ ‘เสรีไทย’ สองคนได้แก่ บุญเยี่ยม มีศุข และราชัน กาญจนวณิชย์ ได้รับอาสาทำงานแปลและเขียนข่าวในตอนดึก ส่งกระจายเสียงโดยตรงคือไม่ต้องลงจานเสียง เวลา 6.00 น. ที่นครซานฟรานซิสโกเพื่อให้ถึงประเทศไทยเวลา 20.00 น. ทุกๆ วัน ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยได้ทราบข่าวสารเร็วที่สุด”

 

เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่สถานทูตไทย กรุงวอชิงตัน ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่สถานทูตไทย กรุงวอชิงตัน ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อัมพรบันทึกบรรยากาศไว้ว่าคนที่ทำงานอยู่ ณ สำนักข่าวสงครามต่างทยอยกันลาออกเพื่อเตรียมตัวกลับเมืองไทยส่วนในแง่ของความรู้สึก “ทุกๆ คนย่อมมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการกู้เอกราชของประเทศไทยให้กลับมาได้ในครั้งนี้” บั้นปลายชีวิตของอัมพรภายหลังสำเร็จการศึกษาด้วยทุนเล่าเรียนหลวงจากสหรัฐอเมริกาก็ได้กลับมารับราชการและก้าวสู่ตำแหน่งอธิบดีหญิงคนแรกของไทย[23]

จากภารกิจของสมาชิกสตรีในขบวนการเสรีไทยทั้ง 4 ท่าน จะเห็นว่าเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความละเอียด และสำคัญในทางยุทธศาสตร์ จุดเด่นของพลังสตรีที่เป็นสมาชิกเสรีไทย คือ ความสุขุม รอบคอบ และเก็บความลับได้ดีเป็นแนวรบเชิงลึกที่ปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในยามสงครามร่วมกับสมาชิกเสรีไทยที่เป็นชายได้อย่างเสมอภาคและนุ่มนวล

 

ที่มาของภาพ: กษิดิศ อนันทนาธร วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหนังสืออนุสรณ์งานศพ

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับคำแนะนำอย่างดียิ่งจากคุณณภัทร ปัญกาญจน์ บรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

 

บรรณานุกรม

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2545.
  • อนุสรณ์งานศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2550)
  • อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท.ช.,ท.ม.,ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2517.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอัมพร มีศุข. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช 2558.

หนังสือภาษาไทย :

  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร, (กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด, 2549)
  • นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522)
  • ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540)
  • ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • ไพศาล ตระกูลลี้, วีรบุรุษนิรนาม, (กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2521)
  • พระพิศาลสุขุมวิท, จดหมายเหตุของเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยเขษม, 2522)
  • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ บรรณาธิการ, งานรำลึก 62 ปีวันสันติภาพไทย วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2550, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2550)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)
  • สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532) 
  • แสงประทีป, ขบวนการเสรีไทยของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์, (กรุงเทพฯ: ทวีการพิมพ์, 2516)
  • แอนดรูว์ ดิลคริสต์, เซอร์, เสรีไทยจากอังกฤษ กองกำลัง 136 รหัส: ขาว, ดุสิต บุญธรรม แปล, (กรุงเทพฯ: สันติภาพ, 2527)

วิทยานิพนธ์ :

  • อนุสรณ์ ไตรสังข์, “บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ในขบวนการเสรีไทย,” (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548) 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กองบรรณาธิการ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. (28 ธันวาคม 2563). ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับคำบอกเล่าถึงอดีต. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/12/549
  • กษิดิศ อนันทนาธร. (3 กรกฎาคม 2561). คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ยอดหญิงของไทย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/suparb-yossunthorn/
  • ชานันท์ ยอดหงษ์. (18 สิงหาคม 2563). เพื่อนหญิงพลังหญิง : วันสันติภาพไทย เสรีไทยหญิง และการปฏิวัติที่เริ่มต้นจากประชาชน. สืบค้นจาก https:/ /thematter.co/thinkers/women-revolution-2489/120781
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร. สืบค้นจาก www.puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=324
  • ปรีดี พนมยงค์. (25 กรกฎาคม 2565). เหตุการณ์ระหว่างตอนค่ำ 7 ธันวาคม ถึงตอนเช้า 8 ธันวาคม 2484. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1180
  • สายสิงห์ สวัสดิวัตน ศิริบุตร, ม.ร.ว.. (24 สิงหาคม 2563). บทบาทของเสรีไทยสตรีสายอังกฤษ. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/391
 

[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร, (กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด, 2549), หน้า 20.

[2] ในขณะนั้นปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

[3] ปรีดี พนมยงค์. (25 กรกฎาคม 2565). เหตุการณ์ระหว่างตอนค่ำ 7 ธันวาคม ถึงตอนเช้า 8 ธันวาคม 2484. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1180

[4] ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516), หน้า 13-14.

[5] นามสกุลเดิม ณ ป้อมเพชร

[6] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 153.

[7] กองบรรณาธิการ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. (28 ธันวาคม 2563). ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับคำบอกเล่าถึงอดีต. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/12/549 

[8] นามสกุลเดิม รักตประจิต

[9] ในบันทึกของเสรีไทยในทศวรรษ 2480 มักจะเขียนว่าเมืองหลวงของอินเดียคือ เดลี แต่บางครั้งสะกดแตกต่างกันเป็นเดลฮี เดฮี หรือเดลลี หากในปัจจุบันตามประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กําหนด ชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ได้ระบุชื่อเมืองหลวงของอินเดียว่า นิวเดลี (New Delhi)

[10] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 168-171. และ อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท.ช.,ท.ม.,ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2517.

[11] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 173-175.

[12] สามีของสุภาพ ในเวลาต่อมา

[13] ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร. สืบค้นจาก www.puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=324

[14] กษิดิศ อนันทนาธร. (3 กรกฎาคม 2561). คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ยอดหญิงของไทย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/suparb-yossunthorn/

[15] ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร. สืบค้นจาก www.puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=324 

[16] นามสกุลเดิมคือ นาควัชระ

[17] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2545.

[18] ต่อมาได้สมรสและเปลี่ยนนามสกุลเป็นยศสุนทร

[19] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 105.

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 106-108.

[21] นามสกุลเดิม ชัยปาณี

[22] ต่อมาคือสามีของอัมพร ชัยปาณี

[23] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย”, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 158-166. และ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอัมพร มีศุข. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช 2558.