ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา

24
สิงหาคม
2564

เรื่องที่จะกล่าวในวันนี้มาจากความจำที่ได้อยู่ในเหตุการณ์และได้รับฟังจากคุณอาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย คุณพ่อผม ‘คุณอนันต์ จินตกานนท์’ ประจำอยู่ที่สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน 11 ปี มีส่วนในการร่วมก่อตั้งขบวนการเสรีไทยภาคสหรัฐอเมริกา 

คุณพ่อเป็นข้าราชการ และสมาชิกขบวนการเสรีไทย ในขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาและที่บ้านจึงเป็นที่ชุมนุมของสมาชิกเสรีไทย และคุณแม่ผม ‘คุณชุบ ห๎ลีละเมียร จินตกานนท์’ ก็ทำอาหารเลี้ยงสมาชิกฯ ดูแลแต่ละคน ให้เป็นเสมือนบ้านในต่างประเทศ 

บรรดาพี่ๆ ของผม ‘คุณอังสนา จินตกานนท์’ และ ‘คุณอนุรี จินตกานนท์ หวั่งหลี’ ก็สิ้นชีวิตไปแล้ว มิฉะนั้นก็จะร่วมเล่าเหตุการณ์ได้ดี ส่วนน้องชาย ‘ดร. อัศวิน’ ซึ่งได้ศึกษาประวัติศาสตร์เสรีไทยช่วงนี้ไม่สะดวกที่จะร่วมนำเสนอ

สิ่งที่ผมจะกล่าวมิได้มาจากเอกสารต่างๆ แต่มาจากความจำที่ประสบที่ได้อยู่ในเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น และที่ได้รับเล่าจากสมาชิกเสรีไทย บางส่วนจะเป็นเกร็ดซึ่งมิได้มีการบันทึก ณ ที่ใดๆ ผมจะได้เรียนบางส่วนให้ท่านผู้ร่วมรายการได้ทราบ เพราะผมก็ตระหนักว่า ตัวเองซึ่งเป็นทายาทอาวุโสคนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีโอกาสอีกนานนักที่ได้เรียนเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ทราบ

“ขบวนการเสรีไทย” มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสถานภาพของประเทศไทยหลังสงคราม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ข้อเท็จจริงทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงหลังสงครามนั้น ไม่สะดวกที่จะมีการกล่าวถึง เพราะผู้ที่เป็นรัฐบาลก็คือบุคคลที่ขบวนการเสรีไทยได้มีบทบาทในการต่อต้าน ประวัติศาสตร์จึงแทบมิได้มีการกล่าวถึง แต่อีกประการหนึ่งคือ สมาชิกขบวนการเสรีไทยได้มีหลักการของกลุ่มว่า จะไม่แสวงหาประโยชน์จากการเป็นสมาชิก และยึดหลักการ “ปิดทองหลังพระ” ทำให้แม้แต่ทายาทเสรีไทยรุ่นน้องๆ มิค่อยจะได้ทราบข้อเท็จจริงจากการบอกเล่า จึงมีผลว่า บางส่วนที่ได้มีการเขียนบันทึกไว้ มิได้สอดคล้องกับที่ผมได้รับการถ่ายทอดมาจากสมาชิกขบวนการเสรีไทยโดยตรง

“ขบวนการเสรีไทยสหรัฐอเมริกา” เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาและข้าราชการของสถานทูตบางส่วน ที่เห็นว่าผู้ก่อสงครามไม่ถูกต้อง และตระหนักในหลักเสรีประชาธิปไตย เมื่อเห็นว่าประเทศไทยถูกรุกราน จึงได้มีการหารือกันที่จะทำการต่อต้าน และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งให้กลับประเทศไทย

ผมได้รับการบอกเล่าว่า เนื่องจากทีท่าของท่านทูตในสมัยนั้นไม่ชัดเจน มีความลังเล จึงทำให้นักศึกษากล่าวว่า “หากท่านไม่สะดวกใจก็ขอให้กลับประเทศไทย” ในช่วงนั้นความสัมพันธ์ภายในสถานทูตเองและกลุ่มนักศึกษามิได้ราบรื่นนัก เพราะท่านทูตจะไม่สู้พอใจบุคคลที่มาจากสายการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในช่วงงานที่ได้มีการสังสรรค์ของสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่กรุงเทพฯ หลังสงคราม ซึ่งผมได้อยู่ในเหตุการณ์ ภรรยาท่านทูตได้กล่าวขออภัยสมาชิกเสรีไทย ที่สมัยนั้นท่านอาจได้ก่อให้เกิดความแตกแยก เพราะท่านยังเด็กอยู่ ผมเองคิดว่าการที่ท่านได้กล่าวเช่นนั้นเป็นการแสดงถึงการเป็นผู้ใหญ่แล้ว

จากการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเห็นร่วมกันว่าจะเป็นฉายภาพที่ไม่ดี หากจะมีการแตกแยกกันในช่วงเวลาที่คับขันเช่นนี้ ก็เป็นการแสดงถึงความรอบคอบของผู้ผลักดันก่อตั้งขบวนการเสรีไทย และความดีของวัฒนธรรมของไทยที่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ ภายในขบวนการเสรีไทยเอง สมาชิกมีความสามัคคีกันเป็นอย่างดี 

ในช่วงนั้นจะเดินทางไปเที่ยวเป็นกลุ่ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพอใจ ส่วนหนึ่งเพราะความปลอดภัย และคุณพ่อของผมเป็นผู้ที่มีเอกสิทธิทางการทูตพอที่จะให้ความคุ้มครองได้บ้าง สังคมในสหรัฐฯ ในช่วงนั้นจะเพ่งเล็ง แม้แต่ชาวเอเชียด้วยกัน เช่น เจ้าของภัตตาคารคนจีนที่คนไทยไปรับประทานเป็นประจำก็ไม่ต้อนรับ เพราะความไม่เข้าใจ

สมาชิกขบวนการเสรีไทยที่เป็นผู้ชายจะได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ได้เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สถานทูตได้มีการร่วมมือกับ OSS คือ Office of Strategic Services ซึ่งหลังสงครามได้ปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงาน CIA ได้มีการฝึกการจารกรรม และการปฏิบัติการทางทหาร 

คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ส่วนหนึ่งของการฝึกหัดจะต้องมีการส่งรหัสทางวิทยุเพื่อสื่อสารจากสถานที่ที่กำหนด ปรากฏผลว่า ทุกคนถูกจับได้เพราะการเป็นชาวเอเซียก็เป็นที่เพ่งเล็งอยู่แล้ว และในช่วงส่งรหัสมอร์ส ไฟในสถานที่จะกระพริบ คนรอบข้างจึงรายงานเจ้าหน้าที่ความมั่นคงให้มาทำการจับกุม

บทบาทของ “สมาชิกสตรี” มีมากและมีความสำคัญในการเสริมงานขบวนการในลักษณะต่างๆ ได้แก่ การส่งวิทยุ ให้การสนับสนุนด้านเอกสาร การแปลเอกสารต่างๆ ประสานงาน ฯลฯ ท่านคงจะได้ยินชื่อ ‘อาจารย์จินตนา ยศสุนทร’ ‘คุณหญิงอุบล หุวนันท์’ ‘ดร. อัมพร มีศุข’ ‘คุณกรองทอง ชุติมา’ ‘คุณเชาวฤทธิ์ ธรรมรงค์’ เป็นต้น ส่วนคุณแม่ผม ‘คุณชุบ ห๎ลีละเมียร จินตกานนท์’ ก็เป็นฝ่ายช่วยดูแลสมาชิกขบวนการเสรีไทย

ผมจะได้ยินการรายงานว่า ใครไปปฏิบัติการและปลอดภัยหรือไม่อย่างไร มีการติดตามตลอดเวลาด้วยความเป็นห่วง จำได้ว่ามีการกล่าวถึง ‘คุณการะเวก ศรีวิจารณ์’ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ที่เป็นตำรวจไทยฆ่าเพื่อเอาทองที่ทางการสหรัฐฯ ให้ติดตัวไว้

 

ผมจำได้ว่าวันหนึ่ง ผมได้ยินเสียงดังมาจากข้างนอก ผมถามคุณแม่ว่า “อะไรเกิดขึ้น”

คุณแม่ซึ่งมองออกไปนอกหน้าต่างหันมาบอกด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม และท่านตอบกล่าวว่า “สงครามจบแล้ว”

ผมจำได้ดีเพราะเป็นวันหนึ่งที่คุณแม่ผมมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด

 

คุณพ่อได้เล่าให้ฟังว่า ท่านทูตได้มอบหมายให้ไปรับเรือ “นางเสือนาวา” ในโอกาสนั้นได้นั่งเครื่องบินกับทูตเดนมาร์ก และได้ถือโอกาสเรียนถามท่านว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่เนื่องจากภาวะสงคราม ประเทศเดนมาร์ก ทำอย่างไรในช่วงที่ได้มีการคุกคามจากเยอรมัน 

ท่านทูตตอบว่า เดนมาร์กตระหนักดีว่า ไม่สามารถจะต้านทานเยอรมันได้ กษัตริย์เดนมาร์กจึงได้ประกาศกล่าวกับประชาชนให้เข้าใจสถานการณ์ที่จะไม่ต่อต้านเยอรมัน แต่ในคำกล่าวได้ให้ข้อคิดประชาชนที่จะปฏิบัติตามที่เห็นเหมาะสมและมโนธรรมของตนสมกับสถานการณ์ จากนั้นท่านทูตอธิบายว่า จึงได้มีการจัดตั้งขบวนการที่เรียกว่า “Free Danes” ซึ่งต่อมาขบวนการเสรีไทยสหรัฐอเมริกาได้มีชื่อว่า “Free Thais”

ผู้ที่มิได้ปฏิบัติการด้านการทหาร ก็ได้ทำการถ่ายทอดวิทยุเพื่อประชาชนไทยได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริง ปัจจุบันน่าจะเรียกว่า IO คือ information operation หรือ ปฏิบัติการข่าวสาร  เนื่องจากจะมีช่วงว่างระหว่างการถ่ายทอด จะต้องหาอะไร ขั้นแรกจะใช้ดนตรีไทยสากลคั่น แต่เนื่องจากการอัดแผ่นเสียงในสมัยนั้น และคุณภาพการบรรเลงได้รับการประเมินว่า ไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จึงเสนอแนะว่า ทำไมไม่เล่นเพลงไทยแท้ล่ะ ซึ่งเขาเห็นว่าน่าสนใจ จึงได้มีการจัดตั้งวงดนตรีไทยเกิดขึ้น!! โชคดีที่คนไทยในสมัยนั้นได้มีการฝึกดนตรี คุณพ่อผมเองก็เล่นขิม

 ช่วงที่กลับมาประเทศไทยและได้พบกัน ‘จอมพลป. พิบูลสงคราม’ ได้กล่าวกับคุณพ่อทำนองว่า “นายอนันต์ เธอเนี่ยตอนพูดวิทยุ เธอต่อว่าฉันมากนะ” แต่ทั้งสองก็ได้คุยกันดี ที่เล่าเกร็ดให้ทราบ เพื่อให้ทราบว่า บทบาทในแต่ละช่วงเหตุการณ์เป็นที่เข้าใจกัน และก็มีน้ำใจนักกีฬาพอที่จะไม่เคียดแค้นอาฆาตกันต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงบริบทต่างๆ ท่านจอมพล ป. ก็รู้จักกันและเป็นรุ่นน้องที่สนิทกันของคุณพ่อ

ในช่วงที่สถานการณ์ส่อเค้าว่า ประเทศไทยจะมีการถูกกดดันจากญี่ปุ่น ท่านทูตได้มอบให้คุณพ่อไปปรึกษา ‘คุณเรมอนด์ สตีเวนส์’ (Raymond Stevens) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไทย เนื่องจากคุณพ่อเคยเป็นเลขานุการท่านสตีเวนส์มา 7 ปี ว่า หากไทยถูกกดดันให้ต้องร่วมมือกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร 

คุณสตีเวนส์แจ้งว่า ไม่สามารถให้คำตอบได้ทันที เป็นคำถามที่สำคัญ ตนขอเวลาและจะไปพบที่สถานทูต ซึ่งเย็นนั้นท่านสตีเวนส์ได้แจ้งให้คณะที่สถานทูตทราบว่า สหรัฐฯ เข้าใจ ว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะถูกกดดัน ดังนั้นสหรัฐฯ จะไม่รับการประกาศประการใดที่ประเทศไทยถูกกดดัน นายสตีเวนส์ เป็นเพื่อนร่วมเรียนกับ ‘ประธานาธิบดีรูสเวลท์’ (Roosevelt) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด

ทั้งนี้เป็นการแสดงถึงความเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง และความเป็นมิตรต่อกัน มิได้ตัดสินจากความรู้เพียงฉาบฉวย มีความเข้าใจเคารพซึ่งกันและกัน เป็นบทเรียนว่าการเป็นมิตรต่อกันในระดับประเทศ และที่สำคัญในระดับบุคคลมีความสำคัญยิ่ง

มิตินี้สำคัญ เพราะหลังสงครามอังกฤษต้องการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามที่สูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความราบลื่นทางสังคม และการเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แม้แต่ความอิสระของประเทศไทย ก็อยู่ในการพิจารณา แต่ด้วยการขัดขวางของสหรัฐฯ ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากค่าปรับและการถูกจำกัดอธิปไตย 

ผมได้รับการบอกเล่าว่า ได้มีการขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือประกอบการอธิบายสถานการณ์ให้สหรัฐฯ ทราบ สหรัฐฯ จึงขัดขวางการเรียกร้องของอังกฤษมิให้ดำเนินการต่อประเทศไทย นับได้ว่าแสดงถึงความเข้าใจ ความเป็นมิตรต่อประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่เสรีไทยได้มีการร่วมมือปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดในช่วงสงคราม

นับว่าสหรัฐอเมริกาได้ช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากการตกอยู่ในสภาพเสมือนเมืองขึ้น เพราะช่วงนั้นอังกฤษได้เข้ามาควบคุมสนามบินดอนเมืองแล้ว ได้ทราบและได้ยินว่า มีการประสานงานติดต่อจากขบวนการเสรีไทยสหรัฐฯ กับผู้นำเสรีไทยในประเทศไทยคือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือ “ท่านปรีดี พนมยงค์” ประสานกันอย่างต่อเนื่อง ได้ยินการกล่าวถึงท่านบ่อยๆ และหลังสงครามสมาชิกขบวนการเสรีไทย ก็มีความเคารพนับถือท่านอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง 

อาจารย์อัศวิน น้องชายผม ได้มีโอกาสพบท่าน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ท่านผู้หญิงเองก็เช่นกัน น้องชายและผมยังมาวิจารณ์ลับหลังว่าท่านผู้หญิงมีความจำที่ดีเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ สามารถจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ที่กล่าวถึงเกร็ดนี้เพื่อแสดงว่า แม้ท่านจะมีตำแหน่งระดับสูง แต่ท่านก็มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและไม่ถือตน

 

ในเวลาที่จำกัด จะขอกล่าวถึง Lessons Learned หรือ บทเรียนจากเหตุการณ์ เพราะถ้าหากไม่เรียนรู้จากเหตุการณ์ ก็จะไม่ได้ใช้วิกฤตจากอดีตเป็นการปรับปรุงอนาคต วิกฤตก็จะมีเพียงส่วนลบ ไม่มีส่วนที่เป้นด้านบวก

ในช่วงที่ผมศึกษาปริญญาเอกอยู่ในสหรัฐฯ เป็นช่วงที่มีแนวโน้มว่า สหรัฐฯจะถอนตัวออกจากเวียดนาม จึงเกิดความเป็นห่วงว่าจะเกิดการล้มของประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (ที่เรียกว่า Domino Theory) ได้มีการประชุมรวมของนักศึกษาทุนปริญญาเอก โดยอาศัยมหาวิทยาลัยชิคาโก้ เป็นที่ประชุมหารือ 

‘คุณโกศล สีสังข์’ ที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นผู้จัดการประสานงาน ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ได้เดินทางไปเป็นวิทยากรหลัก ร่วมกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกอีกท่านหนึ่ง ชัดเจนว่า เป็นต้นสถานการณ์ภาคอีสานเป็นภาคที่ขาดความมั่นคง เพราะการละเลยจากรัฐบาลที่มิได้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาความยากจน และการปฏิบัติต่อชาวอีสานที่ขาดความมั่นคงเหมาะสม  

สรุปผลการประชุมครั้งนั้นว่า หากประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่จะเสียเอกราช เสียความเป็นเสรีประชาธิปไตย พวกเราก็จะจัดตั้งขบวนการเสรีไทย 2 เพื่อต่อต้านภาวการณ์ ณ ตอนนั้นผมจึงเข้าใจความรู้สึกของสมาชิกขบวนการเสรีไทยรุ่นแรกเป็นอย่างดี แต่โชคดีที่สถานการณ์ได้พลิกผันไปในทางที่ดี จากการที่ได้มีการเปลี่ยนนโยบายให้ขบวนการต่อต้านรัฐบาล กลับเข้าสู่สังคมโดยจะได้รับความอนุเคราะห์ในการทำมาหากิน และรัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือพัฒนาต่างๆ เพียงภายในระยะเวลา 2 ปี สถานการณ์ได้สงบลง ผมเองได้ติดตามสถานการณ์ และมีความเห็นว่า หลายๆ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แท้ที่จริงมิได้มีความรู้หรือสนใจลัทธิเลย เพียงแต่ต่อต้านการถูกกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ และในหลายๆ กรณี เป็นการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลที่ขัดใจตน 

ทั้งนี้เป็นการสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่รัฐเอง ขาดความรู้ความเข้าใจทั้งในลัทธิและการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเหมาะสม จนถึงทุกวันนี้ผมมีความชื่นชมผู้บริหารที่ได้ให้ยกเลิกการจับกุม การกระทำวิสามัญฆาตกรรม ผู้ที่ต่อต้านการกระทำของเจ้าหน้าที่ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เป็นดำริของรัฐบุรุษ ‘พลเอก เปรม ติณสูลานนท์’ ท่านหนึ่ง ‘พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ’ ท่านหนึ่งและท่านผู้อื่นที่อาจจะมิได้มีการบันทึกไว้ ผมขอได้รับคำชมเชย ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้นำพาประเทศไทยให้พ้นภัยอันใหญ่หลวง ด้วยความเข้าใจ ด้วยหลักศีลธรรม และการมีคุณธรรมอันดี ผมกล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อเป็นตัวอย่างว่าสามารถแก้ไขผ่อนคลายวิกฤตการณ์ต่างๆ ด้วยความเข้าใจสถานการณ์และความเข้าใจที่ดีต่อกัน

รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้มีโครงการ Peace Corps (ที่เรียกว่า หน่วยสันติภาพ) อาสาสมัครที่ได้ทำงานเคียงไหล่เคียงบ่ากับประชาชนในระดับหมู่บ้าน และได้สร้างถนนมิตรภาพ ซึ่งมีผลเปิดพื้นที่อีสานให้ประชาชนและเกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดได้สะดวกขึ้น มีผลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภาคอิสาน ประชาชนที่อยู่ดีกินดีเป็นนัยยะสำคัญในการสร้างความราบลื่นในสังคม และความมั่นคงของชาติ คณะหน่วยสันติภาพที่ได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตอนหลังก็ได้กลับกลายเป็นข้าราชการสหรัฐที่มีตำแหน่งสูงอยู่หลายท่าน

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยช่วงหลังสงครามแรกๆ เป็นสมาชิก OSS เดิมที่ได้ร่วมมือกันในช่วงสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยสหรัฐจึงสนิทสนมเป็นมิตร สหรัฐได้ให้ความสนุบสนุนในการพัฒนาประเทศอย่างมากในช่วงหลังสงคราม 

แม้ฝ่ายญี่ปุ่นเองที่เป็นศัตรูสงครามก็ยังมีน้ำใจ พลโท อาเคโตะ นากามูระ แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้มีการคัดค้านทัดทาน พลเอก ทราอุจี แม่ทัพกองทัพภาคใต้ ที่จะให้ดำเนินการกับชาวไทยอย่างเด็ดขาด แต่ด้วยน้ำใจและมโนธรรมของท่านนายพล นากามูระ ประชาชนไทยจึงรอดจากการถูกกระทำที่โหดเหี้ยมเช่นในประเทศอื่น หลังสงครามท่านนายพล นากามูระ ได้รับพระราชทานอิสริยาภรณ์

บทเรียนที่ชัดเจนสำหรับผมคือ การมีคุณธรรมหลักการที่ดี เข้าใจในมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด เข้าใจในสภาพข้อเท็จจริงที่ดี ไม่มีบุคคลผู้ใด กลุ่มใด สามารถแก้ปัญหาใดๆ บนมายา หรือ การขาดข้อเท็จจริง ขาดความเข้าใจ ต้องไม่ติดอยู่ในความลำเอียง การมีความรัก เมตตากรุณา จึงจะสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตได้ และจะสามารถเสริมสร้างสังคมของชาติและมนุษยชาติที่ดีสำหรับบุตรหลานต่อไป 

การสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจต่อกันอันดีระหว่างประเทศ และในระดับประชาชนของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะมีลัทธิใดๆ ความเข้าใจอันเป็นนานาชาติ ดังเช่นกษัตริย์ของเราที่นำพาประเทศรอดพันจากภัยคุกคาม ย่อมเสริมให้ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และเสริมความมั่นคงของประเทศ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสถานภาพของประเทศไทยในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไม่มีมนุษย์หรือประเทศใดสามารถอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายได้

ในที่สุด ขบวนการเสรีไทยเป็นสักขีพยานถึงความสามารถของชาวไทยที่สามารถที่จะบูรณาการเพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เราทั้งหลายหวังว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาเสริมสร้างและคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งในประเทศไทยมีท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นศูนย์กลาง ในอังกฤษ ในสหรัฐฯ ฯลฯ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยไม่มีข้อเกี่ยงกัน 

 

ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราช” เสวนาเรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา โดย
ผศ.ดร.อนุชา จินตกานนท์