ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ญี่ปุ่นละเมิดข้อตกลง ข้าพเจ้าถูกผลักให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

16
ธันวาคม
2564

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาไทยได้ โดยทหารไทยได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิให้ทำการต่อต้านแล้ว ฝ่ายญี่ปุ่นก็เริ่มละเมิดข้อตกลง ข้อ ๒. ที่ว่า “ญี่ปุ่นขอเพียงส่งกองทัพผ่านประเทศไทยเท่านั้น โดยจะพักอยู่ที่กรุงเทพฯ” คือ ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นได้พักอยู่ในกรุงเทพฯ และควบคุมจุดยุทธศาสตร์ไว้หลายแห่ง และวางยามล้อมรอบสถานทูตอังกฤษ อเมริกัน เนเธอร์แลนด์ และได้จัดตั้งองค์การตำรวจปราบปรามที่นาซีเยอรมันเรียกว่า “แกสตาโป” ญี่ปุนเรียกว่า “แกมเปอิ” ตามล่าตัวเสรีจีนที่เป็นหน่วยสาขาของจีนซึ่งโฆษณาทิ้งใบปลิวโจมตีญี่ปุ่นตลอดมาก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย 

บางคนญี่ปุ่นขอให้ตำรวจไทยจับเอาไปขึ้นศาลอัยการศึกของไทย บางคนญี่ปุ่นจับเองเอาไปทรมานจนได้รับความบาดเจ็บสาหัสหรือถึงตาย และเตรียมจับคนอังกฤษ อเมริกัน ดัทช์ ที่เป็นพลเรือนไปคุมขังไว้ ทั้งนี้ เป็นการละเมิดอธิปไตยของชาติไทยที่มีอำนาจเหนือคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ผลทั้งปวงดังกล่าวข้างบนนี้ เท่ากับญี่ปุ่นครองประเทศไทยโดยมีรัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นและอยู่ใต้อิทธิพลญี่ปุ่น

ในส่วนที่เกี่ยวกับพลเรือนอังกฤษ อเมริกัน ดัทช์ นั้น รัฐบาลไทยขอเป็นผู้จับกุมเอามาคุมขังเอง โดยให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มอบอาคารกับบริเวณส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยให้แก่ฝ่ายทหารไทยรับไปจัดเป็นค่ายคุมขัง


ฝ่ายญี่ปุ่นได้ละเมิดข้อตกลงข้อ ๓ และข้อ ๔ อีก คือ ข้อ ๓. มีความว่าข้อตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านนั้น จำกัดเฉพาะในเรื่องการทหารเท่านั้น ข้อ ๔. มีความว่า ข้อตกลงนี้เป็นอันเด็ดขาดจะไม่มีขออะไรเพิ่มเติมมาอีก แต่อีก ๒-๓ วันต่อมาฝ่ายญี่ปุ่นขอกู้ยืมเงินจากไทยอีก ดั่งปรากฏตามความในบันทึกของ นายทวี บุณยเกตุ ดังต่อไปนี้

“ครั้นต่อมา จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่เข้าใจว่าระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ ธันวาคม หรือไงนี่แหละ แต่ที่แน่ใจนั้นก็ภายหลังที่รัฐบาลได้เซ็นสัญญายอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยเป็นงวดแรก เพื่อใช้จ่ายในกิจการของทหารญี่ปุ่น 

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปเพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้น เข้าใจว่า คงจะไม่กู้แต่เพียงจำนวนเท่านี้ แต่จะต้องขอกู้มาอีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ตามความจำเป็นในทางทหารของเขา หากเราให้กู้ก็จะต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจ คือ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ (Inflation) จึงเห็นควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขา เรียกว่า Invasion notes จะดีกว่า 

ทั้งนี้ เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เสีย หากทำได้เช่นนี้ เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้ว การเงินการเศรษฐกิจของประเทศก็จะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือน และจะไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่า การที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตาม แต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว จึงไม่เห็นด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้แถลงค้านว่า ก็การยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆ น่ะ ไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วดอกหรือ 

ในเรื่องนี้รู้สึกว่าได้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็คงยืนยันในความเห็นที่จะให้กองทัพญี่ปุ่นยืมเป็นเงินบาทโดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้เพิ่มเติมให้มากขึ้นตามความจำเป็น และต่อมาอีกไม่กี่วันก็ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่

นายปรีดี พนมยงค์ ได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งยังว่างอยู่อีกตำแหน่งแทน และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีกสองสามคนได้พ้นจากตำแหน่งไปด้วยเท่าที่จำได้ก็มี นายดิเรก ชัยนาม พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ถูกส่งไปเป็นอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวในภายหลัง) กับนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอันว่าเราต้องพิมพ์ธนบัตรให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ไปใช้อยู่เรื่อยๆ โดยมีทองคำส่วนหนึ่งผูกหูไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักประกัน กับมีเงินเยนเป็นส่วนมากเป็นหลักประกันในตอนหลัง และยิ่งกว่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินเยน โดยเพิ่มค่าของเงินเยนให้สูงขึ้น ให้เป็น ๑ เยนเท่ากับ ๑ บาท ซึ่งแต่ก่อนนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ๑.๕๐ เยน เท่ากับ ๑ บาท ทั้งนี้คงเนื่องมาจากการกู้ยืม เพราะญี่ปุ่นประสงค์จะใช้เงินคืนเราเป็นเงินเยนจำนวนน้อยลงนั่นเอง”

นับแต่นั้นมาเงินบาทก็มีมูลค่าลดลง และลดลงมาตามลำดับเนื่องจากต้องออกธนบัตรเพิ่มขึ้นตามความต้องการของฝ่ายญี่ปุ่นและตามความต้องการของทางทหารไทย

ประชาชนไทยถูกกระทบอย่างแรงเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งย่อมเห็นได้ว่า สิ่งของที่ทำขึ้นได้ภายในประเทศเอง เช่น ข้าวราดแกงซึ่งเมื่อก่อนญี่ปุ่นเข้าครองเมืองไทยนั้นจานละ ๓ สตางค์ก็รับประทานได้อิ่ม แต่เมื่อปลายสงครามมีราคาสูงขึ้นถึงจานละ ๕๐ สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวที่รัฐบาลได้ประกาศว่าเป็นอาหารประจำของคนไทยแล้วถึงขนาดที่วิทยุกรมโฆษณาการได้กระจายเสียงเพลง “ก๋วยเตี๋ยว” แทบทุกวันนั้น (ปัจจุบันนั้นอาจมีผู้ไม่เคยฟังเพลงนี้ถ้าสนใจขอให้ถามคนรุ่นเก่า) เมื่อก่อนซามละ ๓ สตางค์ แต่ต่อมามีราคาสูงขึ้นจนถึงราคาชามละ ๕๐ สตางค์ เมื่อสงครามสงบลง

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคมปีนั้น พล.ต.อ.อดุลฯ ได้มาพบข้าพเจ้าแจ้งว่านายกรัฐมนตรีให้มาแจ้งว่า ฝ่ายญี่ปุ่นไม่พอใจข้าพเจ้าที่ขัดขวางทางไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ฝ่ายญี่ปุ่นจึงขอให้รัฐบาลไทยจัดการให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐบาลไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่มีอำนาจทางบริหาร พล.ต.อ.อดุลฯ ปรึกษานายกฯ แล้วเห็นว่า มีตำแหน่งผู้สำเร็จราชการว่างอยู่ ๑ ตำแหน่ง เนื่องจากเจ้าพระยายมราชได้ถึงแก่อสัญกรรม ยังมิได้ตั้งใครแทนตำแหน่งว่าง ถ้าข้าพเจ้าตกลงยอมรับตำแหน่งนี้ รัฐบาลก็จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติแต่งตั้ง 

ข้าพเจ้าเห็นว่าตำแหน่งนี้ไม่มีงานที่ต้องทำมาก เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าใช้เวลาเตรียมเพื่อต่อสู้ฝ่ายญี่ปุ่นที่มีอำนาจเหนือประเทศชาติ และข้าพเจ้าก็จะได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงรับที่จะเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้าพเจ้าได้ทำพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งใหม่นี้ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม

ส่วนทางรัฐบาลไทยก็ได้คืบหน้าอีกก้าวหนึ่งในการร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคมปีนั้น ภายหลังที่ข้าพเจ้าลาออกจากรัฐบาล ก่อนที่ปฏิญาณตนรับตำแหน่งใหม่ดังกล่าวนั้น

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “ญี่ปุ่นละเมิดข้อตกลง ข้าพเจ้าถูกผลักให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”, ใน, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ : กรุงเทพฯ) หน้า. 195-204