ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 การพิทักษ์รัฐธรรมนูญในยุคแรก

20
ธันวาคม
2564

การเริ่มต้นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงต้นของการเริ่มรู้จักรัฐธรรมนูญ

แม้จะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจะมีขึ้นมานานแล้ว หากแต่พิจารณาตามความเป็นจริงแล้วการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นเพิ่งเริ่มต้นเกิดขึ้นมาในประเทศไทยได้ไม่ถึง 90 ปี เสียด้วยซ้ำ หรือก็คือ ยังไม่เกินชั่วอายุของคนๆ หนึ่ง หากแต่ที่ทำให้รู้สึกว่านาน อาจจะเพราะตลอดช่วงเวลา 90 ปีนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เมื่อเริ่มต้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้ไม่นาน เส้นทางการเมืองของประเทศไทยก็สะดุดหยุดลงด้วยหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา (เปรียบได้กับการรัฐประหาร)[1] ซึ่งเป็นเหตุให้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ต้องทำการรัฐประหารเพื่อกู้รัฐธรรมนูญและประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญต่อไป

ภายหลังจากการรัฐประหารและการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐบาลในเวลานั้นได้เสนอ พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 เพื่อตอบโต้และป้องกันมิให้เกิดการกระทำในลักษณะเดียวกันกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยทำมาก่อน โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาจำนวนทั้งสิ้น 6 มาตรา โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในมาตรา 3 ซึ่งกำหนดความผิดและโทษไว้ดังนี้

“ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหรือหวาดหวั่นต่อ การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดั่งกล่าวมาแล้วจะเป็นเพียงการคบคิด หรือทำความตกลง หรือจะเตรียมการก็ตาม ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 500 บาทจนถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทำปรับ แต่ถ้าหากความผิดที่กระทำลงนั้นต้องด้วยบทกฎหมายอื่น ท่านว่า บุคคลผู้กระทำผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมายอื่นนั้นด้วย”

บทลงโทษที่ค่อนข้างหนักและการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เมื่อพิจารณาบทลงโทษดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอัตราโทษจำคุกสูงสุดไว้ในอัตราโทษที่สูง กล่าวคือ 20 ปี  นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลกระทำความผิดและการกระทำความผิดดังกล่าวต้องด้วยบทกฎหมายอื่นด้วยนั้น บุคคลก็อาจจะถูกลงโทษตามกฎหมายดังกล่าวด้วย ซึ่งในเวลานั้นกฎหมายที่มักจะถูกใช้เพื่อลงโทษก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 และการกระทำความผิดที่อาจจะลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้รวมถึงการคบคิดหรือทำความตกลง หรือจะตระเตรียมการก็เป็นความผิดในลักษณะเดียวกันกับบทบัญญัติในมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน

นอกจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้จะมีการกำหนดโทษในอัตราที่สูงแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 4 ยังให้อำนาจกับรัฐในการดำเนินการไต่สวนบุคคลที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดตามมาตรา 3 และเมื่อไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูลความผิดก็อาจจะกักตัวบุคคลดังกล่าวเอาไว้เป็นเวลาไม่เกินกว่า 10 ปี

ดังจะเห็นได้ว่า แม้เจตนาของ พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 จะมีเจตนาเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำในลักษณะที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และได้ถูกนำมาใช้ในการลงโทษการกระทำที่มีลักษณะเป็นการกบฏมุ่งจะล้มล้างการปกครองของรัฐบาล เช่น กบฏนายสิบ ในปี พ.ศ. 2478[2] เป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปการใช้พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือในการทำลายขั้วตรงข้ามทางการเมืองมากกว่าจะดำเนินการรักษาไว้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการป้องกันมิให้มีการกระทำในลักษณะที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในหลายกรณีบุคคลได้แสดงความคิดเห็นในทางการเมืองเพื่อติชมการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล แต่ก็ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ดังเช่นกรณีของ ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ ซึ่งได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลอยู่บ่อยๆ[3]

การยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476

จากข้อเสียของการใช้พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ดังกล่าวจึงนำมาสู่การเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในปี พ.ศ. 2480 โดยมี นายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวโดยให้เหตุผลในการยกเลิกเอาไว้ 3 ประการ ดังนี้[4]

“ประการแรก เพื่อความสมบูรณ์แห่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประการที่สอง เพื่อให้ความยุติธรรมอันแท้จริงแก่ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นอันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่รัฐบาลหรือแก่ชุมชน และประการที่สาม เพื่อเป็นบันไดขั้นต้นที่จะฝึกฝนวิธีก่อตั้งพรรคการเมือง”

ประเด็นทั้งสามที่นายเตียง ยกขึ้นมานั้นเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาสู่การลงมติเพื่อยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ในปี พ.ศ. 2481 โดยสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง 64 ต่อ 27

หากเราพิจารณาและตระหนักถึงคุณค่าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจะจัดตั้งพรรคการเมืองในอนาคต (ในเวลานั้น) ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเสรี รวมกลุ่มกันเพื่อดำรงวัตถุประสงค์ทางการเมืองร่วมกัน ฉะนั้น แม้เจตนาของการมีพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อช่วยประคับประคองและรักษาสถานะของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลมาจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปการมีพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็อาจกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเหตุและปัจจัยเปลี่ยนไปการมีอยู่ของกฎหมายก็ควรจะยกเลิกไปเสีย

อย่างไรก็ตาม วิธีการในการคุ้มครองและรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญจากการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2489 ซึ่งศาลฎีกาในเวลานั้นได้วินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเพื่อมาลงโทษการกระทำของบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งคงได้มีโอกาสจะเล่าถึงต่อไปในอนาคต

 


[1] พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีสาระสำคัญอยู่ในข้อ 1 และข้อ 4 ดังนี้ ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสีย และห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว และตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งการกระทำในข้อหลังนี้เป็นการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

[2] ตรงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, การกบฏ ปฏิวัติ และรัฐประหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2537) 3; อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กบฏนายสิบนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากภายการปราบกบฏได้สำเร็จรัฐบาลได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 ซึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้ศาลพิเศษนี้มีการนำวิธีพิจารณาศาลทหารมาใช้โดยอนุโลม และการพิพากษาของศาลพิเศษนี้เป็นเด็ดขาดโดยไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ จึงเท่ากับว่าการพิจารณาของศาลพิเศษนี้เป็นศาลชั้นเดียว.

[3] ไม่ปรากฏชื่อ, รัฐธรรมนูญฉบับปฐมฤกษ์จึงถึงปัจจุบัน หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ 30 กันยายน 2514 (โรงพิมพ์อักษรสมัย 2514) 25.

[4] สภาผู้แทนราษฎร, บันทึกการประชุม ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญสมัยที่สอง) (26 กรกฎาคม 2481) 523.