บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับสิทธิสวัสดิการสาธารณสุข
สิทธิสวัสดิการนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะได้บัญญัติรับรองเอาไว้ เพื่อวางและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในเรื่องสิทธิสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสวัสดิการด้านการสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ประเทศส่วนใหญ่ให้การยอมรับว่าในการจะเป็นรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องมีการรับรองสิทธิในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ โดยจากการศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development; OECD) ซึ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในทางเศรษฐกิจ จะพบว่าในรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิก OECD ส่วนใหญ่นั้นมีการบัญญัติบทบัญญัติเกี่ยวกับสวัสดิการด้านการสาธารณสุขเอาไว้ ดังแสดงตามแผนภาพนี้
แผนภาพแสดงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่างประเทศที่รองรับสิทธิสวัสดิการ
อย่างไรก็ตาม แม้บางประเทศเหล่านี้จะไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสาธารณสุขเอาไว้หรือมีบทบัญญัติไว้น้อยกว่าบางประเทศนั้น แต่การมีบทบัญญัติหรือไม่มีบทบัญญัติเฉพาะ เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสาธารณสุขไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กรณีของประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งไม่มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสาธารณสุขไว้ แต่ภายใต้บทบัญญัติที่กำหนดให้ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีจะต้องเป็นสังคมรัฐ (Sozialstaats) ซึ่งสร้างความผูกพันให้กับรัฐบาลเยอรมนีในการจัดให้มีสวัสดิการสังคม ซึ่งรวมไปถึงสวัสดิการพื้นฐานแบบสวัสดิการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมพอสมควรโดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข
การใช้จ่ายงบประมาณด้านการสาธารณสุข
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าแม้บางประเทศจะไม่ได้มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการสาธารณสุขไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยการอาศัยบทบัญญัติพื้นฐานต่างๆ เช่น กรณีของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่อาศัยการตีความบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมมาเป็นเหตุในการสร้างความผูกพันระหว่างรัฐกับประชาชนในการจัดสวัสดิการ เป็นต้น สิ่งสำคัญเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการจึงเป็นเรื่องความตระหนักของรัฐและการต่อสู้กันของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิสวัสดิการของตนเอง ซึ่งหากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็คงให้สำคัญและสนใจในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตประการหนึ่งหากดูงบประมาณการใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนตาม GDP ของปี ค.ศ. 2019 และ ค.ศ. 2020 จะเห็นได้ว่าประเทศกลุ่มสมาชิก OECD ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสมาชิกดั้งเดิมนั้นจะมีสัดส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดสวัสดิการในปริมาณที่สูง
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนตาม GDP ของปี ค.ศ. 2019 และ ค.ศ. 2020
กล่าวโดยสรุป แม้จะไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสวัสดิการเอาไว้ แต่การรับรองสิทธิสวัสดิการก็สามารถมีขึ้นได้ภายใต้บริบทของการต่อสู้และการเรียกร้อง บนสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นได้จากภาพสะท้อนของกลุ่มประเทศสมาชิก OECD