ด้วย พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ 110 ปี การจากไปของ ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ อาตมาขอโอกาสว่า อยากจะกล่าวคำนี้ไว้ในที่ประชุมนี้ว่า
หญิงไทยแห่งยุค
ปลุกประชาให้ตื่น
ฟื้นคุณธรรมของมนุษย์
ประเสริฐสุดด้วยอมตะธรรม
นี่คือ ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’
ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันเกิดท่านผู้หญิงพูนศุข มีความหมายกับผืนแผ่นดินไทย และพวกเราที่อยู่ข้างหลัง โดยเฉพาะวันนี้อยากจะขอกล่าวว่า เพราะมีท่าน ทำให้พวกเราทั้งหลายได้มีวันที่เรียกว่า PRIDI Talks ครั้งที่ 14 ขึ้น
ฉะนั้น วันนี้จึงเป็นวันที่รับรองคนในห้องประชุมด้วย คนที่รับฟังทั่วประเทศหรือทั่วโลกด้วย รับรองว่า ผู้ที่ได้ระลึกถึงท่าน ได้ดูแลภารกิจที่ท่านเคยทำ และเคยประพฤติมา เคยได้มีส่วนตรงนี้ เขาได้เรียกว่า คนดีเกิดแล้ว คนดีเกิดแล้ว คนดีเกิดไม่พอ คนประเสริฐตามมาด้วย
ดังนั้น คนดีในหลักพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมรับรองว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ดังนั้นวันนี้ เราจึงเป็นวันที่มีส่วนรับรองความเป็นคนดีตามหลักพระพุทธศาสนา โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นที่ระลึกถึง
ประการที่สอง ด้วยท่านเป็นผู้ที่เราทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ว่าท่านคือเป็นปูชนียบุคคล การที่เราจัดบูชาท่านก็ตรงตามหลักพระธรรมในพระพุทธศาสนาตามหลักมงคลสูตรที่ทรงตรัสว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ บูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นการสร้างความประเสริฐขึ้นในชีวิต ทั้งประเทศไทยเรา น่าจะมีทั้งสองอย่างนี้ เข้ามาร่วมกัน ก็คือความเป็นคนดี คนดีต้องเป็นคนที่ประเสริฐด้วย คนดีที่ประเสริฐ คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข เราจะเห็นได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้ทำอะไรให้เราทั้งหลายได้นึกถึง โดยเฉพาะท่านมั่นคงในประเทศชาติที่มีธรรมะเป็นเครื่องประกอบที่สำคัญมาก เราท่านทั้งหลายก็คุ้นกับธรรมะบทนี้ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ํ ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม อาตมาเชื่อเหลือเกินว่าคำนี้คุ้นหูและคุ้นชิน
แต่ถ้าอาตมาพูดเชิงคำถามสักนิดว่า ใครในที่นี้ประพฤติธรรมทุกวันบ้าง จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตทันทีเลยว่าเราไม่ใช่เป็นนักบวช หรือ การประพฤติธรรมเราคงไม่น่าจะทำอยู่เสมอ ตรงนี้แหละเป็นความผิดพลาดของใครก็ไม่ทราบ พระองค์เมตตาเรามากว่าการปฏิบัติธรรมว่าเป็นสิ่งสำคัญ
ดังนั้นท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จึงไม่เอาคำว่า ผู้ประพฤติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมมาใช้ แต่ให้ใช้คำว่า ผู้ประพฤติธรรมอยู่เป็นสุข ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ํ ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ไม่เอาคำว่า ปฏิบัติธรรมมาเป็นตัวหลัก แต่ทำอย่างไรจะให้มีส่วนกับชีวิตว่าธรรมมีความหมายมาก จึงขอทำความเข้าใจว่า ธรรมะตัวแรกแปลตรงไปตรงมาที่น่ามีค่าที่สุดว่า “หน้าที่” เกิดมาแล้ว ไม่มีหน้าที่ก็ไม่ใช่มนุษย์ แต่หน้าที่ยังไม่จำแนกว่ามีหน้าที่อะไร จึงมีประโยคต่อมาว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
“ผู้ประพฤติธรรม” หมายถึง ผู้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการแห่งชีวิต ชีวิตนี้ต้องมีการวิวัฒนาการไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นลม
การวิวัฒนาการของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยเวลาจำกัดยังไม่อธิบายในส่วนอื่น แต่ขอให้มาดูชีวิตของ ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ ว่าท่านได้ใช้ชีวิตประพฤติธรรมที่น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ท่านจะเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ ด้วยการทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ทุกขั้นตอนที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้อง ยามเป็นเด็ก ยามเป็นนักศึกษา ยามเป็นผู้อยู่ในวัยเรียน ยามที่มาอยู่ในความเป็นคู่ครอง ยามที่ต้องมารับภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมาเป็นภรรยารัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และทุกหน้าที่ที่ท่านได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง จนกระทั่งมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนท่านปรีดี แล้วก็ยังมีส่วนไปเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งหมดนี้ หญิงคนนี้เข้าเกี่ยวข้องด้วยการประพฤติธรรม ให้ถูกต้องในแต่ละเรื่อง แต่ละเรื่อง คลื่นความดีตรงนี้ หลายคนถ้าเจอ เรียกว่าตั้งตัวอยากเหมือนกันนะท่าน
หลัง 2475 มาแล้วคลื่นที่มาพิสูจน์ธรรมของท่าน ทั้งหมดนั้น ไม่มีการจะไปจัดการอะไรอื่นนอกจากผู้หญิงคนนี้ เกิดมาเป็นผู้ปรารถนาแล้วว่าจะประพฤติธรรม ทั้งคลื่นที่กระทบกระเทือนทั้งหมด พิสูจน์การประพฤติธรรมของท่าน ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเสียหายอะไร เพราะหลายคนที่อยากจะเป็นคนที่มีธรรมะ แต่ว่าพอมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง วางตัวไม่ถูกเพราะการประพฤติธรรมไม่สมบูรณ์ การประพฤติธรรมของท่าน ท่านเป็นศิษย์มีครู ก็มีพระพุทธเจ้า เราก็ต้องยอมรับว่านั้นคือ พระศาสดา แต่ท่านหาครูที่อยู่ในแผ่นดินนี้ ตั้งแต่เจ้าประคุณสมเด็จอาสภะ มาถึงพระที่ท่านเคารพนับถือ หลายรูปหลายองค์ เราคงจะคุ้นเคย
มหาเถระรูปหนึ่งที่ท่านผู้หญิงฯ เคารพ คือ ‘หลวงพ่อพุทธทาสฯ’ หลวงพ่อพุทธทาสฯ ให้ธรรมะสัมพันธ์กับชีวิตที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น ท่านจะชี้ให้เห็นว่าชีวิต มีเรื่องที่น่าสนใจที่สุด เรามักจะใช้คำว่า “ความตาย” โดยทั่วไปเรามักจะคิดถึงความตายอยู่สองประการอย่างน้อย หนึ่งตายเพราะสิ้นลม การสิ้นลมเป็นเรื่องของสังขาร เป็นเรื่องของอายุขัย แต่ตายอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตายเพราะสิ้นดี ตายเพราะสิ้นดี
ถ้าตามหลักพระศาสนาว่า ตายที่มีทุกข์ งั้นใครทุกข์เมื่อไหร่คนนั้นก็ตายเมื่อนั้น ทุกข์เมื่อไหร่ตายเมื่อนั้น แล้วน่าสนใจไปอีกประการหนึ่งว่า เรามีชีวิตอยู่รักษาโรงพยาบาล มีหมอ มีพยาบาล มียา มีเครื่องมือแพทย์ มีทุกข์อย่างที่มีเรารักษา ทีนี้พอเรารักษาไป หายบ้างก็มีไม่หายก็มี หรือ รักษาหายทุกโรคแต่ไม่พ้นตายเพราะความตายไม่ใช่โรค ความตายไม่ใ่ช่โรค ดังนั้น ความตายจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยพระธรรมไปรักษา ความตายในที่นี้หมายถึงทุกข์เมื่อไหร่ตายเมื่อนั้น
ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ที่ทำให้เราเห็นเลยนะว่าชีวิตของท่านไม่เอาความตายมาเป็นตัวทำร้ายท่าน ทำให้ชีวิตของท่านมีบทบาทสำคัญ ที่จะทำให้ชีวิตเดินไปบนเส้นทางของคำว่า ทุกขั้นตอนของชีวิตมีอะไรเกิดขึ้น ปรากฏการณ์เมื่อไหร่ขอให้ชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่รับใช้สติปัญญา ท่านได้ทำหน้าที่ของความเป็นแม่ ของความเป็นผู้ร่วมทางกันกับรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของความหมายของชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้อง ท่านดำเนินชีวิตไปทุกขั้นตอนด้วยความรอบคอบ ประพฤติธรรมอย่างละเอียดลอออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ท่านก็ตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นอย่างเหมาะสมและดีงาม
จนที่สุด ความหมายของคำว่าชีวิตไม่ทุกข์เป็นเรื่องที่น่าคิด หลักธรรมในศาสนาที่พระองค์ตรัสไว้ว่า อมตะ หรือ อริยะ มรณะ ดังนั้น ท่านผู้หญิงฯ จึงเป็นผู้ได้สัมผัส และเข้าใจธรรมะ นำชีวิตผ่านคลื่นลมสารพัดที่เข้ามาเกี่ยวข้องแต่ไม่เอาความทุกข์มาจัดการท่าน ทำไมความทุกข์จึงหายไป ท่านได้ใช้หลักคำว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยการเจริญตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด หรือ ย่อลงมาคือไตรสิกขา ไปจัดการอะไรในตัวท่าน? ก็คือไปจัดการเรื่องของ กิเลสตัณหา อุปาทาน ตัวที่ร้ายกาจ ใครที่ทำร้ายใครที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์นี่ยังไม่ร้ายกาจเท่ากับการทำร้ายใจตัวเอง
พระพุทธองค์ยังตรัสให้เราทราบว่า การที่จิตเราวางไว้ผิด ย่อมทำลายบุคคลนั้น ยิ่งกว่าโจรกับโจรทำลายกัน สร้างความวินาศ ทีนี้ ท่านผู้หญิงฯ เป็นผู้ที่ไปจัดการกับปัญหา กิเลส อุปาทาน ของตัวเองด้วยเครื่องมือ คือ ไตรสิกขา พอไปจัดการกิเลสมันดับ พอกิเลสดับชีวิตยังอยู่ ทีนี้ ชีวิตที่อยู่เป็นการพิสูจน์ว่าปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้ากำจัดกิเลสได้เมื่ออายุ 35 เราไม่สามารถไปรู้ของท่านผู้หญิงฯ ว่าท่านจัดการได้เมื่อไหร่ แต่รู้ในวิถีชีวิตมาตลอดว่าท่านไม่ใช้โมโห ไม่ใช้ความเศร้า ไม่ใช้ความอะไรทั้งหมด
แม้คดีที่แรงๆ คนทั้งหลายฉันว่าเขาอ่อนนะ คงไม่มีท่าเดินแบบผู้หญิงคนนี้หรอก แต่ผู้หญิงคนนี้เดินอย่างสง่างามแม้จะมีการทักท้วง บอกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างไรก็ตาม ท่านยังบอกด้วยว่าคุกนี้พ่อฉันสร้างมา ไม่ต้องมีความรู้สึกว่าจะต้องท้อแท้ หรือจะต้องขอร้องใครด้วย เอาใจใส่ นี่คือท่านจัดการกิเลส ตัณหา อุปาทาน ในจิตได้ พอได้ตรงนี้แล้วท่านมีชีวิตเหลือ ที่เหลือเท่าไหร่ จะพาไปคุก จะพาไปขัง จะพาไปอะไรก็แล้วแต่ ท่านไม่ได้ใช้คำขอร้องอ้อนวอน แต่ใช้สติปัญญาว่าฉันไม่เคยทำสิ่งเหล่านั้น เมื่อใช้สติปัญญามา เข้าคุกแล้วออกจากคุก ออกจากคุกแล้ววันหนึ่งที่เราทั้งหลายได้เห็นถึง ความเด็ดเดี่ยวที่เรียกว่า “เมตตา” แต่เฉียบขาด
ลูกปาลอยู่ในคุก ท่านออกมาแล้วจำเป็นต้องรักษาลูกอีกทั้ง 5 คน ไว้ให้รอด เดินทางต่อออกต่างประเทศ พูดกับลูกอย่างชนิดที่ว่ายอดยิ่งที่ยิ่งใหญ่
แม่ไม่เคยคิดอยากจากลูกแต่ด้วยความจำเป็นที่ให้ความดีมันคุ้มครองลูกด้วย อย่าให้ภัยมันเข้ามารุกรานจนเราอยู่กันไม่ได้ แม่ขอเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อทำกิจอันควรแก่การกระทำ ให้คนขาด หยุดการระแวงท่าน ท่านก็กลับมาเป็นผู้ที่เรียกว่า ได้พบกับสิ่งหนึ่งในชีวิตคือ ตายก่อนตาย คือ กิเลสตายแล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งชีวิตที่อยู่นั้นเป็นชีวิตประเสริฐมาก เราจะเห็นว่าเวลาท่านพูดที่ไหนก็ตาม ไม่มีคำว่า ผูกแค้น พยาบาท อาฆาต มีแต่ให้อภัย แต่สิ่งที่จะจำไม่ลืมคือ ใครเคยทำสิ่งดีงามให้ข้าพเจ้า จะขอแสดงความเคารพนับถือและกตัญญูต่อผู้นั้นอย่างจริงใจ นี่คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่มีวิถีชีวิตตามหลักพุทธศาสนา เราได้ถือว่า ธรรมได้รักษาท่านด้วยการประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
ประการที่สอง ที่ว่า ท่านไม่เพียงอยู่เพียงสิ้นลม แต่ท่านอยู่เพื่อจัดการกับลมของท่าน ให้มีความหมาย ที่สมควรแก่การที่จะรักษาดูแลไว้อย่างดี ลมของท่านมีไว้เพื่ออะไร เราจะเห็นเลยว่า ท่านมีชีวิตอยู่เพียงสองส่วน ส่วนหนึ่งขอเรียกว่า อายุขัยของสังขาร อันนี้ใครไปจัดการไม่ได้ว่า จะต้องอยู่ไปเท่านั้นเท่านี้เป็นเรื่องของอายุไขของแต่ละคน พอท่านสิ้นอายุขัยก็คือการจากโลกนี้ไป แต่ท่านดูสิ ก่อนที่จะจาก ท่านเตรียมของของท่านอย่างดี
หนึ่ง คือ จดหมายปรารภกับลูก ไม่ได้ทำพินัยกรรมอะไรหรอก เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หลวงพ่อพุทธทาสฯ ท่านจะทำพินัยกรรมกับเรื่องชีวิตไว้ว่า เสียชีวิตแล้วอย่าลืมนำไปโรงพยาบาลจุฬาฯ แกไปเป็นครูเป็นอาจารย์ แกไม่ได้จบมหาวิทยาลัยไปเป็นครูเป็นอาจารย์หรอก แต่วันนี้แกได้เป็นอาจารย์แล้วนะเนี่ย ตรงนี้ใครบ้างที่ ได้สมัครไปเป็นลูกศิษย์ไปเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ บ้างแล้ว ไม่มีการสวดพระอภิธรรม คือที่เราทำอยู่ที่เรียกว่าพิธีกรรมเราก็ทำ
แต่ท่านเห็นว่าตรงนี้จะต้องขึ้นไปกว่านั้นแล้ว และไม่ต้องรบกวนญาติมิตรให้มากนัก ไม่ต้องมีดอกไม้ ไม่ต้องมีพวงหรีด สิ่งเหล่านี้ฉันคิดว่า ท่านรับแนวคิดของหลวงพ่อพุทธทาสฯ แล้วก็เห็นภาพชัดว่า อย่าไปสูญเสียเวลา ไปกับเรื่องที่ไม่ควรสูญเสีย แล้วก็หากมีเงินบ้าง ใครมาทำบุญเพราะคนไทยเราไม่ยอมหรอก ก็นำไปบริจาคแก่มูลนิธิเพื่อทำประโยชน์ ท่านทั้งหลายนี่คือสั่งเสีย แล้วเราทั้งหลายที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ กี่คนล่ะที่สั่งเสียบ้างแล้ว หรือว่าเราจะอยู่อีกหลายร้อยปี
ในที่สุดก่อนสิ้นชีวิต ไปหาหลวงพ่อกัน ไปกราบหลวงพ่อปัญญาฯ ตอนนั้นเราผู้อยู่ในวัดก็เห็นเพราะท่านเป็นผู้หญิงที่งามตั้งแต่หนุ่มสาว แม้ในวันที่แก่ชรา ก็ยังงามแม้จะเดินจะเหิน ทุกอย่างไม่เคยปล่อยตัว ก่อนละสังขารไปห้าหกวัน
สรุป 3 เรื่องกับหลวงพ่อเล่าให้ฟัง
1. ได้คุยเรื่องสังขารกัน คนแก่เขาก็มีของไว้คุยนะ มีสังขารไว้คุยกัน
2. ห่วงใยศาสนาและวัดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีคุณค่าสำคัญ แต่พอรู้ว่ามีการย้ายมหาวิทยาลัยออกจากมหาจุฬาฯ ออกจากวัดมหาธาตุฯ ออกจากวัดบวรฯ แล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ผลที่ออกมาคือ วัดกับมหาวิทยาลัยอยู่คนละที่ หลวงพ่อตามไปซื้อที่ดินติดกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ สร้างโบสถ์ ท่านเอาเงิน ไม่ได้มากมายอะไรหรอก ขอบำรุงบูชาท่าน ให้สร้างโบสถ์ให้เสร็จ เพราะหลวงพ่อบอกว่า ถ้าสร้างโบสถ์ไม่เสร็จจะไม่ตายเพื่อต้องการให้ศาสนากับการศึกษาอยู่คู่กัน ถ้าขาดเมื่อไหร่สังคมเราจะบอบช้ำมากกว่านี้
3. ท่านบอกว่าเห็นหลวงพ่อปัญญาฯ นำปาฐกถามาจนวันหนึ่งท่านมาเห็นธรรมมาสน์แบบนี้ ฉันตอนแรกจะถวายมาที่นี่แต่ไม่รู้ว่ามีที่ไว้หรือไม่มีที่ไว้เลยไม่กล้าพูด ท่านบอกว่าชอบใจมาก ธรรมมาสน์ที่ขึ้นมาแล้วหันก้นให้คน แล้วเวลากลับตัวแล้วจะรู้สึกไม่สุภาพ ธรรมมาสน์แบบนี้น่าจะขยายไปทุกหนทุกแห่ง วันนี้เลยบอกยังไม่กล้าบอกว่าจะถวายไว้ที่นี่นะ ที่พระขึ้นนี่ท่านก็ดูสิ จะดูเหมือนปาฐกถาก็ได้ จะยืนก็ดูเหมือนการนั่งธรรมมาสน์ก็ได้ นี่คือท่านเป็นหนึ่งในการเห็นความงดงามของธรรมมาสน์เช่นนี้
รวมความว่าอายุขัยท่านจากเรา ตามเวลาที่เราเรียกว่า 95 ปี 4 เดือน 9 วัน จากเรา แต่อายุที่ผ่านใช้อายุ คือ อายุอิทธิบาท 4 เราชาวพุทธจะมีคำนึงที่พูดอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าพูดอยู่เสมอว่า ถ้าใครเจริญอิทธิบาท 4 สมบูรณ์ ผู้นั้นจะอยู่ร้อยปี พันปี อยู่เท่าไหร่ก็ได้ เชื่อเหลือเกินว่าเราฟังแล้วมันแปลกๆ
พระพุทธเจ้าอายุขัยจากเรา 80 ปี แต่อายุอิทธิบาท 4 ที่ใช้ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน 45 ปี อยู่เป็นพระพุทธศาสนายืนยันในความเป็นผู้เจริญในอิทธิบาท 4
ท่านผู้หญิงฯ ท่านได้ทำหน้าที่ของคำว่าชีวิตของท่าน กำหนดด้วยอิทธิบาท 4 จนที่สุดงานทั้งหลายที่ปรากฏอยู่วันนี้ นั่นคือผ่านอิทธิบาท 4 อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็น อมตะ อมตะของชีวิตอย่าไปหวังเอากายมาเป็นอมตะ กายเป็นเพียงที่รองรับอายุอิทธิบาท 4 เราผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ขอให้ดำเนินการตามที่ท่านได้ดำเนินมา อิทธิบาท 4 ก็จะทำเป็นตัวแทนเรายืนกว่าอายุขัย
ใครก็ตามที่ทำตัวทำหน้าที่ของตนได้สมบูรณ์ตามที่เราทั้งหลายตั้งใจปรารถนาว่า ท่านผู้หญิงฯ ว่าท่านได้ทั้งอริยะ มรณะ คือ กิเลสตายแล้วชีวิตเหลือ ได้ใช้เพื่อทำให้ความประเสริฐประจักษ์อยู่กับโลก แล้วท่านก็ได้ดำเนินชีวิตไปตามอิทธิบาท 4 อันใดที่ควรทำเป็นอย่างไร ท่านได้ทำจากที่เราได้ทราบแล้ว แล้วอายุขัยของท่านก็ดับลง พออายุขัยของท่านดับลงสิ่งที่เหลือจนถึงวันนี้ คือ “อมตะ” จึงมีคำว่า อมตะ มรณะ ท่านได้ทำทั้งสองระดับที่สมบูรณ์ที่สุด
ขอเราและท่านทั้งหลายได้มีส่วนร่วมในการที่จะให้การเสวนากันวันนี้ การจัดงานวันนี้ จงมีส่วนแก่ท่านนั้นอาตมาไม่ห่วง แต่ขอให้มีส่วนแก่พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ ขอให้ใครก็ตามที่คิดว่าชีวิตนี้ ต้องเป็นผู้ได้รับคำว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” รักษาให้ได้อริยะ มรณะ รักษาให้ได้อมตะ มรณะจงทั่วกัน เจริญพร
ที่มา: ปาฐกถา “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” โดย พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์. งานกิจกรรม PRIDI Talks #14 : 110 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี
รับชมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/1100339134052500