ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

25
มกราคม
2565

-๑-

ประกาศสงคราม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เวลาเย็นภายหลังที่ไฟฟ้าจังหวัดได้จ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว (สมัยนั้นเวลากลางวันไม่มีกระแสไฟฟ้า) ข้าพเจ้าได้เปิดเครื่องวิทยุรับฟัง ณ บ้านพักคุ้มขุนแผน กลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้ยินวิทยุกรมโฆษณาการจากกรุงเทพฯ กระจายเสียงสดุดี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประดับประดาด้วยเพลงเกลี้ยกล่อมของอธิบดีกรมโฆษณาการแล้ว วิทยุแจ้งข่าวสำคัญว่า “วันนี้เวลาเที่ยงประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” แล้วก็เริ่มอ่านประกาศตั้งต้นว่า “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิตย์ทิพอาภา, พิชเยนทรโยธิน, ปรีดี พนมยงค์” ข้าพเจ้าเอะใจขึ้นมาทันทีว่าข้าพเจ้ามิได้รู้เห็นด้วยกับประกาศสงครามนั้นและมิได้เป็นผู้ลงนาม เหตุใดกรมโฆษณาการจึงเอาชื่อข้าพเจ้าไปประกาศ

ข้าพเจ้าได้ฟังวิทยุนั้นอ่านประกาศต่อไป อ้างเหตุเป็นใจความว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดประเทศไทย ประเทศไทยจึงประกาศสงครามกับประเทศทั้งสองนั้น ครั้นแล้วก็มีชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ภรรยาข้าพเจ้าได้กล่าวแก่ผู้ที่นั่งฟังวิทยุด้วยกันขณะนั้นว่า ข้าพเจ้ามาพักที่คุ้มขุนแผนตั้งแต่บ่ายวันศุกร์ (วันที่ ๒๓ มกราคม)

รุ่งขึ้น วันที่ ๒๖ มกราคม ข้าพเจ้าได้รีบเดินทางมากรุงเทพฯ เป็นการด่วน เชิญ นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาสอบถามเรื่องราวความเป็นมา ในการที่วิทยุเอาชื่อข้าพเจ้าไปประกาศโดยข้าพเจ้ามิได้ลงนาม ข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงมีใจความตามสาระที่นายทวี บุณยเกตุได้เขียนบันทึกที่ นายดิเรก ชัยนาม ได้นำไปตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒” และหนังสือที่เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ดั่งต่อไปนี้

“ส่วนการรบทางบกนั้นเล่ากองทหารญี่ปุ่นก็รุกคืบหน้าเข้ามลายูอย่างรวดเร็ว กองทัพอังกฤษไม่สามารถต่อต้านกำลังกองทัพญี่ปุ่น เกาะฮ่องกงก็ยอมแพ้ไปแล้ว ทางสิงคโปร์ก็ได้รับการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินญี่ปุ่นอย่างหนัก ส่วนทางแนวรบด้านยุโรป กองทัพเยอรมันก็รบรุกแบบสายฟ้าแลบและมีชัยชนะต่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในเกือบทุกแนวรบ

ฉะนั้น เมื่อเรือรบของอังกฤษ ๒ ลำ คือ เรือ Prince of Wales และ Repulse ถูกโจมตีจมลงโดยรวดเร็วและง่ายดายเช่นนี้ จึงทำให้นักการทหารและนักการเมืองบางคนของเราเสนอความคิดเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ไหนๆ ประเทศไทยเราก็ได้หลวมตัวมาถึงเพียงนี้แล้ว และการรบก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าฝ่ายอักษะประเทศจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด หากเราร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่เพียงครึ่งๆ กลางๆ เช่นนี้ ต่อไปเมื่อฝ่ายอักษะเป็นผู้ชนะสงครามไทยเราก็จะไม่ได้อะไร จึงควรเข้าข้างญี่ปุ่นให้เต็มที่ โดยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเสียเลย เรายังจะได้ชื่อว่า เป็นฝ่ายชนะและได้ส่วนแบ่งอะไรกันกับเขาบ้าง

อาจเป็นเพราะเหตุดังกล่าวข้างบนนี้ จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ หลวงวิจิตรวาทการ เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เห็นควรให้ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย และได้ตกลงให้ถือเอาเวลาเที่ยงตรง คือ ๑๒.๐๐ น.) ของวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นวันประกาศสงคราม และเมื่อได้ร่างประกาศเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วจึงส่งไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามเพื่อประกาศต่อไป

ตามระเบียบนั้น จะเป็นพระราชบัญญัติก็ตาม หรือ พระบรมราชโองการใดๆ ก็ตาม พระมหากษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย หรือลงนามก่อนแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในภายหลัง แต่การประกาศสงครามครั้งนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้วจึงได้ส่งไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ (๑) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (๒) พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ (๓) นายปรีดี พนมยงค์

เมื่อได้ตกลงในเรื่องการประกาศสงครามแล้ว ก็ได้กำหนดให้อ่านประกาศในเวลา ๑๒.๐๐ น. ตรง พอเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. เศษ ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานนายกรัฐมนตรีว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง ๒ คนเท่านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับ พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่ง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนคร ทราบว่าไปต่างจังหวัด

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงลงพระนามและลงนามเพียง ๒ คนเท่านั้น จะรอให้ลงนามครบคณะทั้ง ๓ คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงวันของวันนี้ไม่ได้ แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกันแม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง จึงเป็นอันว่าการประกาศสงครามในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ นั้น ความจริงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในประกาศเพียง ๒ คน เท่านั้น แต่ได้อ่านประกาศเป็น ๓ คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงวันของวันนี้ไม่ได้ แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกันแม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง จึงเป็นอันว่าการประกาศสงครามในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ นั้น ความจริงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนาม ในประกาศเพียง ๒ คน เท่านั้น แต่ได้อ่านประกาศเป็น ๓ คน ให้ครบคณะอันไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง”

นายทวีฯ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าต้องการทราบเพิ่มเติมว่า การที่จอมพล ป. รีบรวบรัดประกาศสงครามในวันเวลาดังกล่าวนั้น เนื่องจากจอมพล ป. กับหลวงวิจิตรฯ ได้ตกลงกันมาก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีหลวงวิจิตรฯ แนะนำว่า วันอาทิตย์ถือว่า เป็นวันแห่งความเข้มแข็ง และเวลาเที่ยงวันนั้น เป็นยอดของบรรดาฤกษ์ที่เข้มแข็ง ถ้าจอมพล ป. ถือเอาวันเวลานั้นประกาศสงครามแล้วก็จะปราบศัตรูให้ราบคาบได้ อานุภาพของจอมพล ป. ก็จะเผยแผ่ไปทั่วพิภพประดุจดวงอาทิตย์ที่แผ่รัศมีเจิดจ้าในเวลาเที่ยงวัน

นายทวีฯ ได้ชี้แจงอีกว่า การประกาศสงครามนั้น มิได้ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและมิได้ทำตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๕๔) ที่กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า การประกาศสงครามจะทำได้ต่อเมื่อไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ และหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตสยาม ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลหุนหันพลันแล่นเอาชะตากรรมของชาติไปเสี่ยงเป็นเดิมพันในการประกาศสงคราม แม้ว่าสันนิบาตชาติจะทำการขณะนั้นไม่ได้แต่กติกาคงมีอยู่ และตามธรรมะระหว่างประเทศนั้น ก่อนจะประกาศสงครามก็ต้องยื่นอัลติเมตัม (คำขาด) ให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติก่อนภายในเวลาที่กำหนด แต่รัฐบาลก็หาได้ทำวิธีนั้นไม่ จู่ๆ ก็รวบรัดประกาศสงครามไป ซึ่งจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศได้

ข้าพเจ้าจึงขอให้นายทวี บุณยเกตุ เสนอให้จอมพล ป. ทราบว่า การประกาศสงครามที่ทำไปนั้นเป็นโมฆะ

 

-๒-

วิจารณ์สงคราม

ข้าพเจ้ากับนายทวี บุณยเกตุ ได้สนทนากันต่อไปถึงความวิตกของเราทั้งสองที่มีต่อชะตากรรมของประเทศชาติ ข้าพเจ้าชี้แจงว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงครามและเขาจะแบ่งดินแดนที่ยึดได้มาให้ประเทศไทยบ้าง แต่เราก็ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นซึ่งวางตนเป็นนายใหญ่ของวงไพบูลย์แห่งเอเซียบูรพา ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้ รัฐบาลไทยได้ยอมลงนามในพิธีสารเข้าสู่ระบบใหม่แห่งมหาเอเชียเพื่อแลกกับการได้ดินแดนบางส่วนคืนมาจากอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ชาติไทยที่ทรุดหนักอยู่แล้ว จะต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศสงครามนี้ คือ ยิ่งจะเป็นเหตุให้ทั้งประเทศไทยและดินแดนที่จะได้ส่วนแบ่งจากญี่ปุ่นมีฐานะเสมือนเมืองขึ้นของญี่ปุ่น ประดุจเป็นตัวหุ่นให้ญี่ปุ่นเชิดเหมือนดังมานจูกัวและประเทศต่างๆ ที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้นในดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและรัฐบาลจีนแห่งวังจิงไว แต่ถ้าสัมพันธมิตรชนะสงคราม ชาติไทยเราก็สิ้นความเป็นเอกราชโดยจะถูกยึดครองเหมือนประเทศที่แพ้สงครามทั้งหลาย บูรณภาพแห่งประเทศของเราก็จะหมดไป

ขอให้ดูตัวอย่างเยอรมันที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ และออสเตรียฮังการีที่เป็นมหาอาณาจักรต้องสลายลงโดยชนชาติต่างๆ ที่เคยร่วมอยู่นั้นต่างก็พากันแยกตนออกเป็นชาติอิสระมากหลาย มหาอาณาจักรนั้นก็เหลือเพียงส่วนที่เป็นออสเตรียนิดเดียวเท่านั้น อาณาจักรออตโตมันที่แพ้สงครามก็สลายตัวไปเหลือแต่ตุรกี นอกนั้นตกอยู่ในอาณัติของสันนิบาตชาติแล้วก็แยกย้ายกันเป็นเอกเทศออกไป เช่น อิรัก เยเมน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย เลบานอน ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยเรานั้นก็ต้องระลึกไว้ให้ดีว่า เราเป็นประเทศที่ประกอบด้วยรัฐและดินแดนซึ่งเคยเป็นอิสระจากกรุงครีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในการรวบรวมเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ได้ทรงตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดีจึงขนานนามประเทศเราว่า “สยาม” (ตามภาษาบาลีที่จารึกไว้ในกฎหมายตรา ๓ ดวงว่า “สามปเทส” และท่านแปลว่า “ประเทศสยาม”)

ขณะที่ข้าพเจ้าสนทนากับนายทวีฯ นั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้พิราลัยไปไม่นาน เจ้าผู้ครองนครลำพูนยังมีพระชนม์อยู่ ราชาแห่งยะหริ่งและราชาแห่งระแงะก็ยังมีพระชนม์อยู่ ส่วนราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเดนั้น ได้ไปอาศัยอยู่ที่กลันตันสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีทายาทที่เคยมาพบข้าพเจ้าภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รับรองว่า ขอสมัครใจเข้าร่วมในสยามประชาธิปไตยโดยไม่มีความประสงค์แยกดินแดน แต่ถ้าสัมพันธมิตรชนะสงคราม เราก็รู้ไม่ได้ว่า สัมพันธมิตรจะจัดการแก่ดินแดนส่วนนั้นอย่างไร ข้าพเจ้าจึงวิตกถึงชะตากรรมของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง

นายทวีฯ ขอให้ข้าพเจ้าวิจารณ์ความเห็นของนักการทหารและการเมือง บางคนที่เสนอจอมพล ป. ให้เข้าข้างญี่ปุ่นโดยเห็นว่า ญี่ปุ่นทำการรบรุกได้รวดเร็ว เป็นฝ่ายชนะสงครามและบางคนก็อ้างว่าทางวิซาทหารนั้น การร่วมรบกับญี่ปุ่นในดินแดนนอกประเทศไทยจะดีมาก ข้าพเจ้าจึงชี้แจงว่า การอ้างเช่นนั้น ทำให้นักการทหารและนักการเมืองที่แท้จริงต้องพลอยเสียหายไปด้วย ถ้านายทวีฯ มีโอกาสก็ลองถามคนคนนั้นๆ ดูว่า เขาอาศัยตำราการทหารและการเมืองเล่มใด ใครเป็นผู้สอนที่ไหน เท่าที่ข้าพเจ้าอ่านมาบ้างก็ระลึกได้ว่า นโปเลียนที่ทางทหารนิยมนั้น ได้ทำการรบมีชัยหลายครั้งทั่วภาคพื้นยุโรป ได้ยาตราทัพไปไกลถึงมอสโกและถึงจุดจบพ่ายแพ้ ณ ที่นั้น อันเป็นสนามรบนอกประเทศฝรั่งเศส ต้องถอยทัพอย่างเสียหายมาก เป็นเหตุให้หลายชาติร่วมกันเป็นพันธมิตร กรีฑาทัพมายึดกรุงปารีสได้ คือ เป็นการชักศึกเข้าเมืองนั่นเอง นโปเลียนต้องถูกบังคับให้สละบัลลังก์จักรพรรดิฝรั่งเศส แล้วถูกส่งไปเป็นราชาธิบดีแห่งเกาะน้อย “เอลบา” ต่อมานโปเลียนยกพลขึ้นฝรั่งเศสกลับไปเป็นจักรพรรดิอีก จึงทำสงครามนอกประเทศฝรั่งเศสอีกและพ่ายแพ้ในสมรภูมิ “วอเตอร์ลู” แล้วถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่เกาะ “เซนด์ เฮเลน่า” จนสิ้นชีพ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น เยอรมันรบรุกได้รวดเร็วและยึดดินแดนฝรั่งเศสกับรุสเซียไว้ได้มาก แต่การรบแตกหักขั้นสุดท้ายนั้น ดำเนินไปในสมรภูมิฝรั่งเศสห่างจากปารีสประมาณ ๖๐ กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเยอรมันต้องยอมแพ้ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่กำลังดำเนินอยู่ แม้เยอรมันจะได้ชัยชนะแบบยุทธวิธีสายฟ้าแลบ แต่สงครามยังไม่จบ นักการทหารฝ่ายตะวันตก บางคนถือคติว่า การรบที่ชี้ขาดในการสงครามคือการรบครั้งสุดท้าย

เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวเมื่อต้องถอยจากดันเคิร์ก ว่า “ในการทำสงครามนั้นอังกฤษแพ้ในการรบหลายครั้ง แต่การรบครั้งสุดท้ายนั้นอังกฤษชนะเสมอไป” ดังนั้น เราจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะในสงครามโดยเพียงแต่อาศัยการรบในระยะต้นสงครามว่าใครรุกรบได้รวดเร็วก็เป็นฝ่ายชนะสงครามนั้น ยังไม่ถูกต้อง เราต้องดูว่าฝ่ายใดจะต่อสู้ได้ยืดเยื้อนานที่สุดกว่าฝ่ายอื่นและเอาชนะในการรบขั้นสุดท้ายได้อย่างไร

ทั้งนี้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคนิคว่าฝ่ายใด เหนือกว่าฝ่ายใด กำลังใจของพลรบยอมเสียสละเพื่อชาติได้จริงจังหรือเพียงแต่คำพูดพล่อยๆ พลเมืองอันเป็นกระดูกสันหลังภายในประเทศนั้นๆ เองให้การสนับสนุนแก่การทำสงครามจริงจังเพียงใด พลเมืองในดินแดนที่ถูกรุกให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายทำการรุกเพียงใดหรือไม่ ประชาชนส่วนข้างมากของโลกสนับสนุนการทำสงครามของฝ่ายใด

ข้าพเจ้าได้วิจารณ์ให้นายทวีฯ ฟังว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายอักษะด้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะประการแรก อักษะอัตคัดอาหารกว่าสัมพันธมิตร นโปเลียนกล่าวไว้ว่า ทหารเดินได้ด้วยท้อง ส่วนวัตถุปัจจัยสำคัญ ในการทำอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ดีบุก วุลแฟรม ยางพารานั้น แม้ญี่ปุ่นได้จากอาเซียอาคเนย์ที่ยึดได้ แต่เยอรมันกับอิตาลีก็ขาดแคลน ญี่ปุ่นจะส่งไปให้ก็ไม่ได้วิทยาศาสตร์ และเทคนิคเยอรมันทัดเทียมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ญี่ปุ่นกับอิตาลียังด้อยอยู่

พลรบญี่ปุ่นและเยอรมันมีกำลังใจสูง แต่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งคติหลอกลวงให้บูชาผู้วิเศษตามลัทธินาซีและบูชิโดซึ่งเป็นไปได้ชั่วขณะ แต่วันใดพลรบรู้ว่าถูกหลอกลวงก็เสียกำลังใจได้ง่ายๆ พลเมืองของฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนมากก็สนับสนุนการทำสงครามของฝ่ายตน แต่ฝ่ายใดสนับสนุนโดยอาศัยคติประชาธิปไตยที่แท้จริง การสนับสนุนก็คงทน แต่ถ้าเป็นไปโดยถูกหลอกลวง ก็อาจทิ้งการสนับสนุนเมื่อรู้ว่าถูกหลอกลวง

นอกจากนั้นมีผู้รักชาติจำนวนไม่น้อยในประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ที่ข้าพเจ้าเคยไปพบเห็นในประเทศนั้นๆ ไม่นิยมการรุกรานที่รัฐบาลของเขาทำต่อประเทศอื่น ส่วนประชาชนจำนวนมากของโลกเลื่อมใสในระบบที่ไม่ถูกกดหัวอย่างลัทธินาซี ฟาสซิสต์ หรือลัทธิคลั่งชาติของญี่ปุ่น จึงเป็นธรรมดาที่พลโลกสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับอักษะ ข้าพเจ้าจึงสรุปว่า ข้าพเจ้าเห็นแน่นอนว่า ฝ่ายอักษะรวมทั้งญี่ปุ่นจะต้องแพ้ และฝ่ายสัมพันธมิตรจะชนะการรบขั้นสุดท้าย คือ การชนะสงคราม

นายทวีฯ ถามข้าพเจ้าว่า เราจะทำอย่างไรกันดีจึงจะรับใช้ชาติให้พ้นภัยพิบัติได้ ข้าพเจ้าจึงขอให้นายทวีฯ ไปพิจารณาตัวอย่างของผู้รักชาติที่ดำเนินการต่อต้านภายในประเทศ และมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศที่สัมพันธมิตรรับรอง ก็จะเป็นการล้างสิ่งที่รัฐบาลในประเทศที่เข้าข้างอักษะนั้น ความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งชาติก็คงอยู่ได้ดังเดิม นายพล เดอโกลล์ ได้แก้ภัยพิบัติแห่งชาติฝรั่งเศสโดยตั้งเสรีฝรั่งเศสและคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ลอนดอน ซึ่งได้รับการรับรองจากสัมพันธมิตรและได้รับการช่วยเหลืออาวุธยุทธภัณฑ์ในการต่อต้านเยอรมันกายในประเทศ

ในระยะต่อมานายทวีฯ ได้เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย

 

พระเจ้าโคมิสสลาฟที่ ๒ ไม่รับเป็นหุ่นเชิดของมุสโสลินีจึงไม่ตกเป็นอาชญากรสงคราม
พระเจ้าโคมิสสลาฟที่ ๒ ไม่รับเป็นหุ่นเชิดของมุสโสลินีจึงไม่ตกเป็นอาชญากรสงคราม

 

จเซฟ ติโส (คนขวามือ) ยอมรับเป็นหุ่นเชิดของฮิตเลอร์จึงตกเป็นอาชญากรและถูกตัดสินประหารชีวิต
จเซฟ ติโส (คนขวามือ) ยอมรับเป็นหุ่นเชิดของฮิตเลอร์จึงตกเป็นอาชญากรและถูกตัดสินประหารชีวิต

 

ต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดของนายปรีดี พนมยงค์
ต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดของนายปรีดี พนมยงค์

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” ใน, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยชองรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น.213-233