อนุสนธิ์ของจดหมายนายเข้ม
นายเข้มเขียนจดหมายถึงนายทำนุ เมื่อกุมภาพันธ์ปีนี้ เพราะเหตุหลายประการ บางประการได้กล่าวไว้ในจดหมายนั้นแล้ว แต่ยังมีเหตุจูงใจอย่างอื่นอีก เช่น
ก คนไทยที่ใฝ่เสรีภาพ จำนวนมากอยากจะเขียน อยากจะพูดเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกลับคืนมาโดยเร็ว แต่ไม่สามารถร่วมกันแสดงออกมาได้ (ตัวอย่าง โปรดดูละครเรื่อง “เมื่อฉันสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ในอาณาจักรแห่งความกลัวที่ฉันฝันไป” ในคอลัมน์ปฏิกิริยา ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นเรื่องจริง)
ข หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาที่นิยมในสันติวิธีไม่สามารถแสดงความเห็นให้ประจักษ์ได้ มิหนำซ้ำถูกปรามและถูกสะกดรอยตามทั่วไป ถ้าผู้รักสันติที่เป็นผู้แทนนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ถูกปรามและประณามหนักเข้า ผู้ที่มีหัวรุนแรงจะเฟื่องขึ้นในกลุ่มนิสิตนักศึกษาและอาจจะเกิดเรื่องร้ายขึ้นได้
ค เหตุการณ์ภายในประเทศร้ายลงทุกทีไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือการปกครอง เมื่อได้ยุบเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว การบริหาร 4-5 สาย ก็ยังสับสนอลหม่านไม่มีท่าว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้โดยเร็ว
ง ปัญหาการเมืองต่างประเทศรุนแรงเข้าทุกวัน การจำกัดเสรีภาพยิ่งจะก่ออุปสรรคในการคิดแก้ปัญหานี้ยิ่งขึ้น เพราะประชาชนประหนึ่งว่าไม่ใช่ธุระ มิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาของชาติ ทั้งๆ ที่ปัญหาสำคัญนี้จะแก้ไขได้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วประเทศ
ผมมีฐานะปานนี้ แก่ปานนี้แล้ว ถ้าไม่จับเรื่องและริเริ่ม จะคอยให้ใครริเริ่มก็กระไรอยู่
ผมได้พูดได้เขียนเสมอว่า ตราบใดที่ยังไม่พ้นเกษียณอายุราชการ จะไม่ขอรับตำแหน่งการเมืองใดๆ เป็นอันขาด การเขียนจดหมายนายเข้มไม่ใช่การขอรับตำแหน่งการเมือง แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยผู้หนึ่ง ส่วนที่มีผู้นินทาว่าจะหาเสียงจากนิสิตนักศึกษานั้น จำเป็นละหรือที่จะหาเสียง? จำเป็นละหรือที่จะต้องตอบมากไปกว่านี้ ?
ความสำคัญยิ่งของสันติวิธี
ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี
การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะสำเร็จอาจจะได้ผลก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ เมื่ออาวุธปะทะกันแล้วจะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร ตัวอย่างมีทั่วไปในอาฟริกา เอเชีย อเมริกาใต้ และผู้ที่สมคบกันใช้อาวุธแสวงอำนาจนั้น ภายหลังก็มักจะแตกแยกกันเพราะชิงอำนาจกัน ใช้อาวุธต่อสู้ซึ่งกันและกันอีกไม่มีที่สิ้นสุด
สันติวิธีเพื่อประชาธรรมนั้น เมื่อใช้กับฝ่ายที่มีอาวุธก็ไม่แน่ว่าจะกระทำได้สำเร็จ และแม้จะสำเร็จก็ต้องใช้เวลานาน เช่น มหาตมคานธีใช้กับอังกฤษต้องระกำลำบาก ต้องมานะอดทนเด็ดเดี่ยว ต้องอาศัยความกล้าหาญมากกว่าผู้ที่ใช้อาวุธ เพราะมือเปล่าต้องเผชิญกับอาวุธ
สมมุติว่าเราปักใจท้อเสียก่อนว่าสันติวิธีจะไม่สามารถนำประชาธรรมมาได้ (ความจริงไม่น่าท้อเสียก่อน) สมมุติว่าไม่มีหวังสำเร็จ ก็น่าคิดว่าควรจะทำ หรือควรจะพูดควรจะเขียนเพื่อเสรีภาพหรือ สำหรับผม แม้จะไม่มีหวังสำเร็จ ก็อดเขียนอดพูดไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วจะคับใจเหลือประมาณเพราะขัดหลักการในใจ จะเสียดายโอกาส จะมองหน้าเพื่อนฝูง พี่น้อง ลูกหลาน ลูกศิษย์ไม่ได้
ชาวรัสเซียเพียงหยิบมือที่คัดค้านรัฐบาลโซเวียตที่กำจัดเสรีภาพ นักเขียนและศิลปิน และที่ยกทัพเข้าย่ำยีเชโกสโลวาเกียนั้น เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะทำสำเร็จได้ผล แต่เขาก็ทำเมื่อถูกจับขึ้นศาล เขาแถลงว่า “พวกข้าพเจ้าทราบตระหนักดีว่า จะถูกจับและฟ้องด้วยข้อหาเท็จ ด้วยการปลุกพยานเท็จ (เขาใช้สันติวิธีประท้วง แต่ถูกหาว่าก่อการจลาจล) และทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องโทษหนักและทารุณเพียงใด (ถูกส่งเข้าค่ายกักกันและให้ทำงานหนักคนละหลายๆ ปี) แต่พวกข้าพเจ้าก็จำเป็นที่จะแสดงให้โลกทราบว่า ในโซเวียตรัสเซียยังมีราษฎรหลายคนที่ไม่ชอบให้รังแกเชโกสโลวาเกีย” ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ประท้วงรัฐบาลโซเวียตอยู่ และมีหนังสือพิมพ์ใต้ดิน เช่น Diary of Current Events ออกเผยแพร่ทางลับอยู่ทั่วไป
ผู้รักเสรีภาพในยุโรป อาฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ยังยืนหยัดป้องกันสิทธิเสรีภาพด้วยสันติวิธีอยู่เป็นอันมาก ไม่ว่าจะมีหวังสำเร็จหรือไม่
สรุปความว่าสันติวิธีเป็นวิธีเดียวเพื่อประชาธรรมถาวร คงต้องใช้เวลานาน คงต้องเสียสละ คงต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นพิเศษ คงเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น แต่ถ้ามั่นในหลักการณ์จริง ความมานะอดทนย่อมตามมาเอง
วิธีสันติ
จุดหมายปลายทางคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนทางการเมือง ซึ่งเราเรียกว่าประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม (ประชาธิปไตยเดียวนี้ใช้กันจนเฝือความหมายไป) บ้านเมืองที่มีประชาธรรมนั้นมีขื่อมีแป ไม่ใช่ปกครองกันตามอำเภอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประชาธรรมย่อมสำคัญที่ประชาชน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการประชาธรรม ก็ย่อมไม่มีทางที่ใครจะหยิบยื่นให้
ฉะนั้นจุดเริ่มต้นและจุดหมายสุดท้าย คือประชาชนชาวไทย สิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย
ในบรรดาประชาชนนั้น ไม่ว่าแห่งใดย่อมมีผู้นำในกรณีนี้คือ ผู้ที่ได้สำนึกแล้วในสิทธิเสรีภาพ และใครเล่าที่ได้สำนึกเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้มีวาสนาได้รับการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมีวาสนาถึงเพียงนี้ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น การนำไม่ใช่เป็นสิทธิหรืออภิสิทธิ์ แต่เป็นหน้าที่
วิธีการแยกได้เป็นสองระยะ
1. วิธีระยะยาว
1.1 พยายามพูด เขียน เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์อย่าให้ประทีปดับ ถ้ามืดไปนานๆ จะลืมเลือนกันได้ง่าย
1.2 แต่ละคนที่รักเสรีภาพ พยายามปฏิบัติหน้าที่การงานของตนให้ดีเด่นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้มีมลทิน ทำประโยชน์ให้แก่คนหมู่มากทั้งในชนบทและในเมือง จะเป็นที่รักเคารพและศรัทธาแก่ประชาชนเอง แม้ว่าจะลำบากและใช้เวลานาน
1.3 การรักษาประชาธรรมนั้นป้องกันง่ายกว่าแก้ เมื่อมีรัฐธรรมนูญเมื่อใด รวบรวมกันเป็นปึกแผ่น เป็นสมาคม เป็นชุมนุม เพื่อสงวนรักษาและป้องกันรัฐธรรมนูญมิให้ใครยุบเลิกไปอีก การป้องกันรัฐธรรมนูญมิใช่หมายความว่า แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แต่ต้องเป็นไปโดยชอบธรรมและสันติวิธีแห่งกฎหมาย
1.4 หากเกิดกรณีที่จำเป็นจำต้องป้องกันรัฐธรรมนูญ เมื่อผู้รักเสรีภาพเป็นที่เชื่อถือเคารพของประชาชน ได้รวบรวมกันเป็นปึกแผ่นดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมจะหาวิธีอันสันติได้รับความสนับสนุนจากประชาชนสามารถป้องกันเหตุร้าย เช่น การยึดอำนาจด้วยอาวุธ เป็นต้น ได้โดยง่าย สมมุติว่าผู้รักเสรีภาพเหล่านั้นเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นพ่อค้าที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เป็นนักวิทยาศาสตร์สำคัญ เป็นจินตกวี เป็นศิลปินเอก ฯลฯ รวมกันมีจำนวนมากพอใช้สันติวิธี ไม่ร่วมมือกับผู้ที่ใช้อำนาจจะเลิกล้มรัฐธรรมนูญ ก็คงจะได้ผลดีกว่าที่ต่างคนต่างนั่งนอนงอมืองอเท้าให้เสื่อมสิทธิเสรีภาพไป
1.5 ข้อที่ควรระวังคือ ผู้รักเสรีภาพที่มีการศึกษาสูงนั้นมักจะแตกสามัคคีกันง่าย เท่าที่ได้มีการปกครองระบบรัฐสภามาก็สี่สิบปี ล้มลุกคลุกคลานตลอดมา เพราะเหตุสำคัญเหตุหนึ่ง คือความแตกสามัคคีในบรรดาผู้ใฝ่เสรีภาพ มักจะทะเลาะโกรธเคืองกันในเรื่องที่เล็กน้อย มีการปะทะกันส่วนตัวทั้งทางคารมและการกระทำ ทั้งๆ ที่ใฝ่เสรีภาพอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นขอให้ผู้ใฝ่เสรีภาพทั้งหลายปรองดองกัน ผันผ่อนหย่อนตามกันบ้างเพื่อประโยชน์ในหลักใหญ่ คือการแสวงและสงวนสิทธิและเสรีภาพ
1.6 ถ้าใครกระทำดังที่ได้กล่าวมาแล้วยังพลาดพลั้งไปอีก ก็ควรคิดเสียว่าการได้มาซึ่งของดี คือสิทธิเสรีภาพนั้น ต้องลำบากจึงจะสำเร็จ และกลับกัน เมื่อลำบากแล้วได้มาต้องเป็นของดีแน่ เมื่อพลาดไปแล้วก็ต้องเริ่มกันใหม่ มานะก่อให้สำเร็จ (คนอายุเกิน 50 อย่างผม คงจะไม่มีวาสนาเห็นประชาธรรมอันแท้จริงในประเทศไทย แต่คนที่ไม่เกิน 50 คงจะมีหวัง)
2. วิธีปัจจุบัน
2.1 แต่ละกลุ่มของผู้รักเสรีภาพคงจะอยู่ห่างไกลกันบ้าง แต่ก็ควรจะสัมพันธ์ติดต่อกันอยู่เสมออย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ทราบกันและกันว่าใครบ้างคิดอย่างเดียวกัน จะได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันได้เสมอ
2.2 แต่ละกลุ่มของผู้รักเสรีภาพควรศึกษาภาวะและข้อเท็จจริง ความเคลื่อนไหวภายในประเทศไทยอยู่เสมอ
2.3 ในการแลกเปลี่ยนข่าวสารภาวะและทัศนะความคิดเห็นกันหลายๆ กลุ่มคงจะต้องอาศัยศูนย์กลางเพื่อสัมพันธ์กันได้สะดวก คงจะตกลงกันหาศูนย์ได้ไม่ยากนัก
2.4 เพื่อให้ประทีปแห่งเสรีภาพคงส่องสว่างอยู่ตลอดไปไม่เลือนราง แต่ละคน แต่ละกลุ่ม ควรจะเขียนและพูดเรียกร้องประชาธรรมให้ได้มาโดยเร็วที่สุด โดยไม่ขาดสาย (ผมจะเขียนอยู่เรื่อยๆ ใครจะเขียนหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถ้าช่วยกัน ผลัดกันเขียนก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น) และควรจะศึกษาว่ารัฐธรรมนูญที่เราจะได้มาในอนาคตนั้น ควรจะมีรูปและสาระอย่างไรจึงจะเข้าหลักประชาธรรม ความคิดเห็นที่ได้จากการศึกษานั้น ก็ควรเผยแพร่ให้ทราบกันโดยเปิดเผย
2.5 ผู้ที่ใฝ่เสรีภาพทุกคน ทุกกลุ่ม ควรจะช่วยซึ่งกันและกันในกรณีที่ผู้ใดผู้หนึ่งถูกประทุษร้ายหรือจำกัดเสรีภาพ เนื่องด้วยการกระทำเพื่อเสรีภาพประชาธรรม การช่วยซึ่งกันและกันเช่นนี้ย่อมจะต้องร่วมกันเป็นจำนวนมากพอ จึงจะสามารถทำให้เกิดผลได้ทั้งทางตรง คือช่วยได้จริง และทางอ้อม คือช่วยให้เกิดมติมหาชน มีเมตตาแก่ผู้ที่ได้ทุกข์ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือนี้ควรเป็นไปโดยสันติวิธี
ข้อความต่างๆ ในบันทึกนี้ เขียนขึ้นเพื่อเสนอเป็นความเห็นสำหรับพิจารณากัน ใครไม่เห็นด้วยในสาระสำคัญ ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อถือหรือปฏิบัติตามรายละเอียดต่างๆ นั้น แก้ไขเปลี่ยนแปลงไว้ได้รายละเอียด แต่หลักการที่ขอยึดมั่นเปลี่ยนไม่ได้ คือสันติวิธีเพื่อประชาธรรม
เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
27 เมษายน 2515
ที่มา : ป๋วย อึ๊งภากรณ์, บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี, ใน “สันติประชาธรรม”, (กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2516), หน้า 58 - 64.