ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“สันติประชาธรรม” อุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย

7
มีนาคม
2566
PRIDI x BOTNOI - อ่านบทความให้ฟัง

เกริ่นนำ

ข้าพเจ้าจำได้ว่ามักเห็นอาจารย์วรวิทย์ในงานที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และงานวันสันติภาพไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ต่อมาจึงได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว

คราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบท่านอีกครั้ง พร้อมกับอาจารย์เฮนนิง กราเซอร์ และอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติในการสอบสัมภาษณ์เพื่อรับทุนของ CPG ไปดูงานและเรียนระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยมุนสเตอร์ ประเทศเยอรมนี ข้าพเจ้าจำบทสนทนาไม่ได้แล้ว นอกเหนือไปจากบทพูดแนะนำตัวเป็นภาษาเยอรมันที่บอกว่า “เมื่อวานนี้ผมไปเลือกตั้งมา ฯลฯ”!

เมษายน 2557 ข้าพเจ้าพร้อมเพื่อนร่วม 20 คน เดินทางไปเรียนระยะสั้นตามหัวข้อที่ CPG กำหนดซึ่งนับว่าหลากหลายและน่าสนใจมาก ครอบคลุมทั้งทางแพ่ง อาญา มหาชน และระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่ในห้องเรียนอันสวยงามเท่านั้น ยังได้ไปดูงานที่ศาลเยอรมันอีกด้วย นับว่าได้ไปเห็นโลกเสรีประชาธิปไตยที่สวยงาม ต่อมาภายหลังกลับจากเยอรมนีได้ไม่ถึงเดือน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ก็ทำรัฐประหารและครองอำนาจเผด็จการมาจนตราบทุกวันนี้

ในวาระที่อาจารย์วรวิทย์มีอายุครบ 70 ปี ข้าพเจ้าขอนำบทความเรื่อง “สันติประชาธรรม” อุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย มาลงในหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่อาจารย์ เพราะแนวคิดเรื่องสันติประชาธรรมของอาจารย์ป๋วยมีใจความเดียวกับประชาธิปไตยนั่นเอง เพียงท่านเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาในสถานการณ์มีความขัดแย้งรุนแรง เพื่อเลี่ยงการถกเถียงกันถึงสาระของประชาธิปไตยที่ถูกใช้บิดเบือนไปจนสูญความหมายที่ดี ทำนองเดียวกับที่สังคมไทยปู้ยี่ปู้ยำ คำว่านิติรัฐ นิติธรรม จนกลายเป็นเพียงคำเท่ๆ ที่หาแก่นสารอะไรไม่ได้จากผู้ทรงอำนาจที่พูดคำเหล่านี้ ท่านต้องการที่จะชักชวนผู้คนในสังคมไทยให้ช่วยกันนำพาประเทศไปให้ถึงสังคมสันติประชาธรรมเช่นว่านั้น น่าเสียดายที่อาจารย์ป๋วยไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งนั้น แล้วพวกเราในสังคมร่วมสมัยเล่า?

เนื้อหา

นอกจากบทความชิ้นสำคัญอย่าง คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (2516) แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เมื่อเอ่ยถึงแล้วจะต้องนึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์[1] คือคำว่า “สันติประชาธรรม” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของท่านที่ยึดถือยืนหยัดเสมอมา

 

 

คำว่า “สันติประชาธรรม” นี้ ปรากฏครั้งแรกเมื่ออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จัดพิมพ์ หนังสือรวมบทความของอาจารย์ป๋วยในชื่อ สันติประชาธรรม โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทยเมื่อปี 2516 อาจารย์สุลักษณ์เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า ตอนที่จะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ทีแรกอาจารย์ป๋วยจะนำชื่อบทความเด่น เรื่อง บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี (2515) มาเป็นชื่อเรื่อง แต่เห็นว่าเยิ่นเย้อไป จึงถามเขาว่าใช้ “สันติประชาธรรม” ดีไหม เมื่ออาจารย์สุลักษณ์เห็นด้วย จึงเกิดชื่อหนังสือเล่มนี้ขึ้น เขาพูดติดตลกว่า “ชื่อนี้ผมเป็นคนอนุมัติ”[2]

สำหรับบทความเรื่อง บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี นั้น อาจารย์ป๋วยเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2515 ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเวลานั้นท่านรับเชิญไปสอนที่ Wolfson College ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยเขียนหลังจากส่งจดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ (2516) ไม่นานนัก

ในบทความเรื่องนี้ อาจารย์ป๋วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติวิธีว่า “ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรม นอกจากสันติวิธี”[3] และกล่าวต่อไปว่า “สันติวิธีเป็นวิธีเดียวเพื่อประชาธรรมถาวร”[4] ถึงกระนั้นท่านก็ตระหนักดีว่า “คงต้องใช้เวลานาน คงต้องเสียสละ คงต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นพิเศษ คงเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น แต่ถ้ามั่นในหลักการจริง ความมานะอดทนย่อมตามมาเอง”[5]

เมื่อตระหนักดีแล้วว่า ประชาธรรมจะได้มาก็โดยวิธีสันติ ปัญหาต่อไปมีว่า อะไรคือหลักประชาธรรมที่อาจารย์ป๋วยกล่าวถึง

เมื่อพิเคราะห์ถึงบทความต่างๆ ที่อาจารย์ป๋วยเขียนไว้แล้ว พอจะสรุปได้ดังนี้ว่า

หลักประชาธรรม เป็นอุดมคติทางการเมืองที่อาจารย์ป๋วยปรารถนา ท่านว่า “ประชาธรรมเป็นคำที่ผมต้องการใช้มากกว่าประชาธิปไตย เพราะในวงการเมืองนั้นคำว่าประชาธิปไตย ใช้กันจนเฝือ เช่น โรงเรียนในไทย แม้จะอยู่ในระบอบเผด็จการ เขาก็ยังสอนให้นักเรียนท่องว่า ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตย”[6] และคำว่าประชาธิปไตยนั้น นักวิชาการเถียงกันได้ไม่มีวันยุติ ท่านจึงเสนอหลักประชาธรรมขึ้นมาเป็นกลางๆ ดังเคยกล่าวว่า “พวกเราส่วนใหญ่คงจะพอใจเพียงแต่ขอให้สมาชิกในสังคมนั้นมีเสรีภาพในการคิด ในการแสดงความคิด ในการรวบรวมกันเป็นกลุ่มเป็นสมาคม แลและให้ได้ใช้เสรีภาพนั้นโดยวิธีสันติและชอบธรรม”[7]

อาจารย์ป๋วยอธิบายว่า หลักประชาธรรม ประกอบด้วยแก่นสาร 2 ประการ คือ[8]

(1) สิทธิและเสรีภาพของคนแต่ละคน จำกัดความตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ภายในขอบเขตที่จะไม่ทำลายเสรีภาพและสิทธิของผู้อื่น และ

(2) การมีส่วนร่วมกำหนดโชคชะตาของสังคมที่เราอาศัยอยู่ แต่ละคนมีสิทธิหน้าที่เท่ากันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีฐานะ เพศ หรือกำเนิดมาอย่างใด

ซึ่งอาจสรุปใจความสั้นๆ ได้ว่าหลักประชาธรรม คือ ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม[9] และอธิบายต่อไปว่า บ้านเมืองที่มีประชาธรรมนั้นจะต้องมีขื่อแป ไม่ใช่ปกครองกันตามอำเภอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง[10]

ท่านว่า ถ้ามีหลัก 2 ประการข้างต้นแล้ว รูปแบบของประชาธรรมจะเป็นอย่างไรย่อมอยู่กับกาละและเทศะ ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างยุโรปอเมริกา เป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ไทยที่จะคิดหารูปแบบที่เหมาะกับสังคมไทย แต่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ย่อมต้องมีเสรีภาพทางวิชาการด้วย[11]

ที่สำคัญคือ ประชาธรรมย่อมสำคัญที่ประชาชน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการประชาธรรม ก็ย่อมไม่มีทางที่ใครจะหยิบยื่นให้[12]

ทางไปสู่หลักประชาธรรมโดยวิธีสันตินั้น อาจารย์ป๋วยได้เขียนอธิบายไว้โดยพิสดารแล้ว ในบทความ บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี ซึ่งพอสรุปได้ว่า จะต้องพยายาม พูด เขียน เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอยู่เสมอ ทุกคนจะต้องซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่เคารพเชื่อถือ จะต้องป้องกันมิให้ประชาธรรมเสื่อม เพราะกันง่ายกว่าแก้ จะต้องรวมกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีมานะ ซึ่งนับเป็นวิธีในระยะยาว ส่วนในระยะปัจจุบันนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามกาละ เทศะและสภาวการณ์ แต่ควรมีความสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกที่เห็นอย่างเดียวกัน ควรศึกษาภาวะและข้อเท็จจริงเพื่อหาโอกาสสนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ควรช่วยกันเมื่อมีใครถูกประทุษร้าย และควรจะเขียนเรียกร้องประชาธรรมมิให้ขาดสาย[13]

แม้หนทางแห่งประชาธรรมด้วยวิธีสันตินั้นจะยากเย็นเพียงใดก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากจะช่วยกันผลักดันให้เป็นผลสำเร็จได้ต่อไป ดังที่อาจารย์ป๋วยเคยให้สัมภาษณ์ว่า “วิธีการของสันติวิธีในต่างประเทศนั้นเขาอาจต้องถูกจับ ถูกทำร้าย ถูกทรมาน กระทั่งถูกปลิดชีวิตเป็นอันมาก แต่เขาก็ยังเก็บดวงประทีปนั้นไว้อยู่เรื่อยๆ”[14] ปัญหาของสังคมไทยมีว่า เรายังมีประทีปนั้นอยู่หรือไม่?

อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ด้วยว่า ปัญหาของเมืองไทยที่จะต้องแก้นั้น ต้องไม่ลืมที่จะคิดว่าใครเป็นเจ้าของปัญหา ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของปัญหาแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องให้ประชาชนเขาทำเอง แม้ในระยะสั้นจะพึ่งรัฐบาลได้บ้าง แต่ในระยะยาวต้องพึ่งประชาชน เพราะประชาชนเป็นฝ่ายสำคัญที่สุดที่จะเป็นผู้พิจารณาปัญหาและเป็นพลังในการแก้ปัญหา

เมื่อประชาชนจะต้องทำ ปัญหามีว่าจะทำได้อย่างไร อาจารย์ป๋วยเห็นว่า ประชาชนจะทำได้ก็ต่อเมื่อให้การศึกษาประชาชน ถ้าประชาชนได้รับการศึกษาแล้วเขาจะรักความยุติธรรม รักเสรีภาพ มีความเมตตากรุณา และทำให้ข้าราชการมีสมรรถภาพมากขึ้น โดยใช้การรวมกลุ่มเป็นพลังผลักดัน[15]

และแม้จะมีอุปสรรคมากมาย “แต่ว่าเราต้องยืนหยัดในหลักการและพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจมีผู้กล่าวว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ รอไม่ได้ ถ้ารอไม่ได้ก็รอไม่ได้ จะมีรัฐประหารก็มีไป แต่ที่แน่ที่สุดก็คือ เมื่อไม่ได้ผลคราวนี้ คราวหน้าก็เอาใหม่ ถ้าวันหน้ามีรัฐประหารมีเผด็จการ ก็มี 14 ตุลาได้อีก คนเรานั้นต้องตั้งต้นกันใหม่ ในชั่วชีวิตของผมอาจจะไม่ได้เห็น ในชั่วชีวิตท่านทั้งหลายอาจจะไม่ได้เห็น แต่หลักการที่ควรจะทำคือการให้การศึกษา อนามัยกับโภชนาการ และรายได้ที่ดีแก่ประชาชน จะต้องมีอยู่ต่อไป พวกเราเป็นเพียงเชื้อเพลิงอันแรกเท่านั้นที่จะให้แสงสว่างให้เขาตื่นขึ้น แต่ถ้าเผอิญประเทศไทยเกิดเคราะห์ร้าย เราเริ่มงานได้ไม่เท่าไหร่ก็มีรัฐประหาร และเผด็จการนั่นมีอยู่อีก 200 ปี ก็ช่วยไม่ได้”[16]

น่าเสียดายที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อันเลวร้าย ปิดโอกาสของอาจารย์ป๋วยในการที่จะพาสังคมไทยไปสู่หนทางของสันติประชาธรรม แม้นี่จะผ่านมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว แต่หนทางแห่งการไปสู่สังคมสันติประชาธรรมก็ยังดูมืดมนทีเดียว

ในยามที่จำต้องลี้ภัย ก่อนที่อาจารย์ป๋วยจะล้มป่วยลง ท่านมีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึง “เพื่อนรัก” โดยลงชื่อเป็นนามแฝงของตนว่า “สัจจะ ธรรมรักษา” ลงวันที่ 6 เมษายน 2520 ยืนยันถึงอุดมการณ์ สันติประชาธรรม ของท่าน ความตอนหนึ่งว่า “ชีวิตยังมีอยู่ตราบใด ก็มีความหวังตราบนั้น ถึงแม้ความหวังนั้นจะไม่สำเร็จในชั่วชีวิตของเรา แต่เราก็ต้องทิ้งความคิดไว้ให้คนรุ่นหลังทำต่อ ฉะนั้น จึงต้องตั้งเข็มให้ถูกต้อง เอาเป็นเข็มไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด สวยที่สุด และไม่ว็อกแว็ก วิธีการที่ดีที่สุด เป้าหมายที่ดีที่สุด คือ (1) เสรีภาพ (2) สิทธิที่จะร่วมกำหนดโชคชะตาของสังคม จะเรียกอะไรก็ตาม วิธีการที่ดีที่สุด คือ สันติวิธี วิธีที่รุนแรงนำไปสู่ความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีชัยชนะ ก็ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องชัยชนะนั้น”[17]

 


บางส่วนจากจดหมายลงวันที่ 6 เมษายน 02520

 

ความหวังว่าจะได้เห็นสังคมสันติประชาธรรมที่พวกเรามีเสรีภาพและสิทธิที่จะร่วมกำหนดโชคชะตาของสังคม จะสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่พวกเราทุกคน

 

ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร, “สันติประชาธรรม” อุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย, ใน Democracy, Constitution and Human Rights, รวมบทความทางวิชาการภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน ในวาระ 70 ปี วรวิทย์ กนิษฐะเสน, (Bangkok: German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance, 2017), หน้า 198 - 204.

หมายเหตุ :

  • ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันนี้ที่ตีพิมพ์ในสูจิบัตรการประกวดศิลปะเด็กและเยาวชนในหัวข้อ “สันติประชาธรรม” โครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560.
  • บางคำสะกดตามอักขรวิธีตามอย่างเอกสารชั้นต้น

[1] อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2502-2514) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ (2507-2515) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2518-2519) ฯลฯ ผู้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาการทำงานภาครัฐ (2508) และได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปี ชาตกาล 9 มีนาคม 2559 (2558) โดยสามารถดูประวัติ ผลงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ได้ที่ puey-ungphakorn.org.

[2] เก็บความจากบทสนทนากันตลอดหลายปีที่ผ่านมา.

[3] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “บันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธี,” ใน ทัศนะการเมือง (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2559), น. 49.

[4] เพิ่งอ้าง, น. 50.

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “แนวทางสันติวิธี,” ใน ทัศนะการเมือง น. 309, (เน้นโดยผู้เขียนบทความ)

[7] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “บทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัย,” ใน ทัศนะการศึกษา (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 220

[8] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “แนวทางสันติวิธี,” ใน ทัศนะการเมือง น. 309

[9] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี,” ใน ทัศนะทางการเมือง, น. 50-51

[10] เพิ่งอ้าง, น. 51.

[11] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “แนวทางสันติวิธี,” ใน ทัศนะทางการเมือง, น. 310.

[12] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “บันทึกประชาธรมไทยโดยสันติวิธี,” ใน ทัศนะทางการเมือง, น. 51.

[13] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “แนวทางสันติวิธี,” ใน ทัศนะทางการเมือง, น. 313.

[14] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “ปัญหาสังคมไทย,” ใน ทัศนะทางการเมือง, น. 417.

[15] ป๋วย อึ้งภากรณ์, “เป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย,” ใน ทัศนะทางการเมือง น. 225.

[16] เพิ่งอ้าง, น. 226. (เน้นโดยผู้เขียนบทความนี้)

[17] เอกสารจดหมายเหตุของอาจารย์ป๋วยในส่วนที่ไม่ได้ตีพิมพ์เช่น จดหมายลงวันที่ 6 เมษายน 2520 ฉบับนี้สามารถเข้าถึงได้โดยสืบค้นผ่านเว็บของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เน้นโดยผู้เขียนบทความ)