หากเราไล่ตามประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง ปฐมบทของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่พูดถึงความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ปฐมบทของการต่อสู้ครั้งนี้เริ่มต้นที่ปี พ.ศ.2475 “เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์” และ “พระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” พระราชบัญญัตินี้ได้นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุด แม้จะใช้มาตรวัดของสังคมไทยหรือสังคมโลกในปัจจุบัน
ข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ นั้น ถ้าวัดตามมาตรฐานปัจจุบันแล้ว เราเรียกว่า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ผนวกรวมด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า การทำให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต การวางนโยบายที่ง่ายและตรงจุดที่สุด การที่จะทำให้ผู้คนในประเทศนี้คงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็จะทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต
เรื่องที่น่าเสียดายที่สำคัญก็คือ พระราชบัญญัติตัวนี้ไม่เคยถูกประกาศใช้ นโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอในปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโต้แย้งของฝั่งอนุรักษนิยม ทั้งในคณะราษฎรเอง และฝั่งอนุรักษนิยมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมเอง พยายามโต้แย้งว่า “ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยแม้จะไม่ได้มั่งคั่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เดือดร้อนยากจน”
ในเอกสารโต้แย้งของรัชกาลที่ 7 ต่อ ปรีดี พนมยงค์ มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดและกลายเป็นข้ออ้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในเมืองไทย แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 90 ปีก็ดี ข้ออ้างกับคำอธิบายนี้คือบอกว่า
ประการแรก ที่สำคัญ ประเทศไทยยังไม่พร้อมกับเรื่องนี้
ประการที่ 2 เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย
โดยอ้างว่าปรีดี พนมยงค์ ชอบใช้คำว่า “อดตาย” แต่รัชกาลที่ 7 ก็พยายามที่จะอธิบายว่า “ประเทศไทยไม่มีคนอดตาย แม้แต่สุนัขจรจัดที่ไม่มีข้าวกิน หากเดินเข้าไปในวัด เดินเข้าไปหาพระ พระยังหาอาหารให้กินได้ ประเทศเรา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่มีใครที่จะสามารถอดตายได้ เว้นแต่คนที่ไม่สามารถ อ้าปากกินข้าวได้เท่านั้นเอง”
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของปรีดีนี้ นำไปสู่ความขัดแย้งฉากแรกระหว่าง “คณะราษฎร” กับ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” และความพยายามในการที่จะลดบทบาทของปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างมาก
ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เรียบง่ายแต่ชัดเจน การจัดรัฐสวัสดิการและเงินเดือนพื้นฐานให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน คิดเป็นมาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบันแล้วประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ภาคประชาชนกำลังพูดถึง “เรื่องบำนาญ” กำลังพูดถึง “เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า” พูดกันมา 80 - 90 ปี นี่คือสิ่งที่ถูกนำเสนอในรอบแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 15 ปี เมื่อปรีดี พนมยงค์ มีโอกาสในการที่จะเป็นรัฐบาลและผลักดันประเด็นทางการเมือง การต่อสู้ของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย การต่อสู้ของนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกขานรับอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสากลโลก อังกฤษก็ดี เยอรมนี หรือแม้กระทั่งฝรั่งเศส รวมถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิก สแกนดิเนเวีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศบอบช้ำในสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสถาปนารัฐสวัสดิการ และการปกครองตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเปลี่ยนประเทศและสร้างความเสมอภาค ธำรงซึ่งประชาธิปไตยอย่างยาวนาน
สำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ นักการเมืองสายปรีดี พนมยงค์ หลายท่านที่ต้องถูกให้จบชีวิตด้วยการพยายามผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้า อย่างเช่น คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ การพยายามนำเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายในสภาวะคับขัน พระราชบัญญัติตัวนี้มีนัยยะก็คือการลดอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลให้ ควง อภัยวงศ์ ต้องทำการลาออก เป็นที่มาของการตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการปูทางสู่การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2489 ประเทศไทยมี “รัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด” และเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำสู่การวางรากฐานรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นภายใต้การพยายามผลักดันและการร่างของปรีดี พนมยงค์ ในมาตรา 12 ได้เขียนไว้ว่า
“บุคคลทุกคนมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดีหรือฐานันดรสถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” นั่นคือจิตวิญญาณของรัฐสวัสดิการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489
แต่น่าเสียดาย อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าความพยายามของปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มการเมืองที่ก้าวหน้าได้ถูกใช้ข้อกล่าวหาอันไม่เป็นธรรม นั่นก็คือเหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ถูกใช้มาเป็นข้ออ้างในการทำลายความก้าวหน้าของกระบวนการการต่อสู้ ซึ่งเราเชื่อกันว่าในห้วงเวลานั้นน่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น และแน่นอนที่สุด เมื่อเกิดการรัฐประหารจึงมีการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งซีกของนายปรีดี พนมยงค์ อาทิเช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่ถูกปลิดชีวิตอย่างโหดเหี้ยม
ที่มา : ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. “รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”, (กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2564), น.11-14