จานเซรามิกทรงกลมพิมพ์ภาพสีขาวดำของพ่อกับแม่ผู้ล่วงลับคู่นั้น ตั้งอยู่บนหลังเปียโนหลังใหญ่ ลูกคนที่ห้าของเขาและเธอค่อยๆ หยิบแผ่นซีดีเพลงออกจากกล่องใส่ลงในเครื่องเล่นก่อนเปิดเพลงในลำดับที่สาม เพลงที่เธอบอกว่าเป็นตัวตนและความหมายแห่งชีวิตของผู้เป็นพ่อ “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโส และผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
“คนดีนี่ต้องมุ่งสู่ประชาธิปไตย ในเนื้อเพลงนี้มีอยู่ คนดีจะต้องทำทุกอย่างเพื่อชาติและราษฎรไทย สรุปว่าคนดีไม่ต้องเอ่ยชื่อ เพลงที่เอ่ยชื่อคนนะคะ แล้วในที่สุดพอคนนั้นเกิดตายไป ต้องเปลี่ยนเนื้อหรือยกเพลงไปเลย แต่เพลงนี้ไม่ได้หมายถึงปรีดี ใครก็ได้ที่เป็นอย่างนี้ก็คือคนดีที่มีค่า”
‘ดุษฎี พนมยงค์’ บุตรคนรองสุดท้องของนายปรีดี พนมยงค์ กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อธิบายความหมายของบทเพลงนี้ที่แต่งขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในโอกาสที่ยูเนสโกยกย่องให้ปรีดี เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ตลอด 81 ปีของดุษฎี เกินกว่าครึ่งชีวิตของเธอพันผูกกับชีวิตบุพการีผู้เผชิญคลื่นลมทางการเมืองที่หนักหนารุนแรง ตั้งแต่ชีวิตวัยเยาว์ในเมืองไทย และช่วงเวลาที่ติดตามพ่อกับแม่ลี้ภัยทางการเมืองในจีนและฝรั่งเศสกว่า 20 ปี
บีบีซีไทย สนทนากับดุษฎีถึงเส้นทางชีวิตที่ผกผันของครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ และเรื่องราวว่าด้วยทำไม “คนดี” ต้องมุ่งสู่ประชาธิปไตย
วัยเยาว์กับความทรงจำที่ทำเนียบท่าช้าง
“เรามีกัน 6 พี่น้อง ก็เป็นคนที่ 5 คุณพ่อมอบภาระการดูแลลูก การอบรมเลี้ยงดูลูกให้คุณแม่หมดเลย เพราะตั้งแต่เด็กๆ ที่เห็นคุณพ่อคร่ำเคร่งอยู่กับงาน อยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ที่ศาลาริมน้ำคุณพ่อก็จะนั่งอ่าน นั่งประชุม นั่งเขียนอยู่ตรงนั้น พอกลางคืนขึ้นไปนอนบนตึก คุณพ่อก็ยังอ่านหนังสืออยู่ ตลอดเวลาที่เห็น คุณพ่อคือไม่อ่านหนังสือก็ฟังวิทยุหรือประชุม หน้าที่ของคุณแม่ทั้งนั้นที่เลี้ยงดูลูก” ดุษฎี เปิดฉากเล่าเรื่องชีวิตวันวานในวัยเด็ก เธอเกิดเมื่อปี 2482 เป็นเวลาราว 7 ปี หลังนายปรีดี ได้ร่วมในคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อายุได้ 8 ขวบ ก็ต้องเผชิญกับภัยทางการเมืองที่ผู้เป็นพ่อตกเป็นฝ่ายถูกยึดอำนาจ ในปี 2490 นายปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก หลังการรัฐประหารในวันที่ 8 พ.ย. ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งมีนายปรีดีเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของรัฐบาล
ในคืนก่อนวันรัฐประหาร ดุษฎีเล่าเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำที่บ้านทำเนียบท่าช้างที่เธอไม่เคยลืม “นอนอยู่ในห้อง พี่น้องก็นอนอยู่ในห้องเดียวกัน ที่ทำเนียบท่าช้างมี 3 ชั้น นอนอยู่ชั้น 3 คุณพ่อคุณแม่นอนอยู่อีกฝั่ง ติดกับห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ คือ ห้องพระ เราก็ตกใจตื่น เพราะได้ยินเสียงปืน ซึ่งเป็นปืนจากรถถัง มันก็ดังพอสมควร... ก็ตั้งใจที่จะยิงห้องนอน แต่กระสุนพลาดไปเฉียดตรงห้องพระที่อยู่ตรงห้องนอน รูกระสุนนี่ต่อมานกกระจิบทำรังได้ ตอนนั้นตื่นแล้วก็ตกใจ คุณแม่เข้ามาอยู่กับเราแล้วพยายามให้เราหลบ ตอนนั้นคุณพ่อไม่อยู่ คุณแม่ก็ให้เราก้มต่ำๆ จำได้ว่าคุณแม่พูดออกไปว่า อย่ายิง... ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก ตอนนั้นเราก็รู้สึกตกใจแต่ว่าไม่รู้เรื่องว่าคืออะไร”
หลังการรัฐประหาร 2490 ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยทางการเมืองไปยังสิงคโปร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาเดินทางออกนอกประเทศ ครั้งที่สองในปี 2492 หลังจากดำเนิน “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงลี้ภัยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน นับแต่นั้นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนและอดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ได้กลับมายังแผ่นดินไทยในร่างกายที่มีลมหายใจอีกเลย
กบฏสันติภาพ
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ครอบครัวพนมยงค์ก็เผชิญกับวิบากกรรมทางการเมือง นับเนื่องต่อจากการออกนอกประเทศของนายปรีดี ปี 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และปาล พนมยงค์ ลูกคนโต ถูกตั้งข้อหาในคดี “กบฏสันติภาพ”
“คดีกบฏสันติภาพ” คือ เหตุการณ์การจับกุมนักคิด นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านการส่งทหารเข้าร่วมในสงครามเกาหลีและการใช้ระเบิดปรมาณู โดยรัฐบาลทหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กวาดล้างจับกุมและกล่าวหาคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ บิดาลี้ภัยทางการเมือง ส่วนมารดาที่เลี้ยงดูลูกทั้งหมด 6 คน ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลาถึง 84 วัน
ดุษฎี ซึ่งมีอายุ 13 ปี และวาณี น้องคนสุดท้องที่อายุไล่เลี่ยกัน กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ สองพี่น้องจำต้องเข้าไปอยู่โรงเรียนประจำแห่งนี้ เพราะบ้านไม่มีใครอยู่แล้ว ลูกสาวสองคนเล็กของนายปรีดีและพูนศุข ได้ใช้ชีวิตทุกช่วงสุดสัปดาห์ในห้องขังบนตึกไม้สองชั้นของที่ทำการตำรวจสันติบาล พร้อมกับแม่ของพวกเธอ วนเวียนไปเช่นนี้ตลอดช่วงที่ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องถูกจองจำ
“วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เขา (โรงเรียน) ปล่อยให้กลับบ้าน บ้านก็ไม่มีใครอยู่ คุณแม่ก็เลยบอกให้คุณน้าเอาเราไปส่งที่สันติบาล เราสองคนก็เลยได้รับเกียรติเข้าไปนอนอยู่ในห้องที่มีลูกกรง ยังจำได้ว่านอนกับพื้นไม้เย็นๆ ไม่มีที่นอน ไม่มีมุ้ง ไม่มีมุ้งลวด นั่นคือปี 2495”
หลังจากถูกขังอยู่นานเกือบสามเดือน ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องพูนศุข เมื่อได้รับอิสรภาพ พูนศุขจึงพาลูกสาวสองคนเดินทางมุ่งหน้าฝรั่งเศส
ออกจากแผ่นดินไทย
ลูกพลัดพรากจากพ่อ แม่โดนตั้งข้อหากบฏ ชีวิตในวัยนั้นดุษฎีไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เธอเผชิญอยู่คืออะไร ตลอดช่วงที่ปรีดีลี้ภัยไปช่วงแรกๆ นั้น เธอไม่ได้ยินข่าวอะไรเกี่ยวกับผู้เป็นพ่อเลย
“คุณแม่เป็นคนรักษาความลับเก่งมาก” ดุษฎีเล่า
“สมัยที่ทำเสรีไทย คุณแม่มีหน้าที่เขียนโค้ดติดต่อสัมพันธมิตรไม่มีใครรู้เลยเพราะไม่เคยบอกใคร พอคุณแม่ถูกจับคุณแม่ก็ไม่ได้บอกอะไรเราเรื่องนี้ เรารู้เองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้บอกอะไรเราเลย จนกระทั่งไปฝรั่งเศสก็ไม่บอกอะไร บอกแค่ว่าให้ไปแล้วนะ ไปเรียนหนังสือ”
เมื่อไปถึงฝรั่งเศสที่พี่สาว สุดา พนมยงค์ เรียนดนตรีอยู่ที่นั่นอยู่ก่อนแล้ว ดุษฎี ได้เรียนดนตรีกับพี่สาวบ้าง และพยายามสอบเข้าที่สถาบันดนตรีแห่งหนึ่ง เธอเล่าว่า ไม่รู้ว่าเป็นโชคร้าย หรือโชคดีที่สอบเข้าเรียนไม่ผ่าน จึงได้ติดตามมารดา เดินทางมุ่งหน้าประเทศจีน ซึ่งพ่อผู้เป็นที่รักพำนักลี้ภัยอยู่ที่นั่น ภายหลังได้รับจดหมายติดต่อจากปรีดี ซึ่งไม่ได้รับรู้ข่าวคราวมาเป็นเวลา 4 ปี
ชีวิตในจีน
“คุณแม่อยู่ประมาณ 15 ปี พ่อ 21 ลูกสองคนสุดท้อง 19 ปี พี่สาว 15 ปี” คือ ช่วงเวลาที่ครอบครัวพนมยงค์แต่ละคนใช้ชีวิตอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ดุษฎีเล่าว่า ชีวิตประจำวันของนายปรีดีที่เมืองจีน คือการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือออกไปเดินดูชีวิตของราษฎรชาวจีนในละแวกที่พำนัก เธอบอกว่าด้วยความที่พ่อเป็นคนใฝ่เรียนรู้ ลูกๆ เลยติดนิสัยนี้มา ทั้งชอบอ่าน ชอบเขียนหนังสือ
“แต่เราก็ไม่ได้มีสมองที่ปราดเปรื่องอย่างนั้นเหมือนพ่อ ก็เขียนไปตามเรื่อง ลูกทุกคนที่เขียน ที่อ่านหนังสือ ก็ได้สิ่งนี้มาจากพ่อ”
ตามคำบอกเล่าของดุษฎี ประเทศจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แล้วในตอนนั้นดูแลปรีดี และครอบครัว “อย่างกับแขกในระดับดีของเขา” แต่กระนั้น ใช่ว่า ลูกๆ ของปรีดี จะอยู่สบายไปเสียทุกด้าน นอกจากเรียนหนังสือแล้วยังได้ใช้ชีวิตประหนึ่งชนชั้นแรงงาน ที่ทำให้เข้าใจความทุกข์ยากในการตรากตรำทำงานของกรรมกร
“จริงๆ แล้วเราเป็นนักเรียนต่างประเทศที่อยู่ในฐานะพิเศษไม่ต้องไป แต่คุณพ่อบอกว่าให้ไป เพื่อให้ไปเรียนรู้ชีวิตของคนจีน จึงได้หลายสิ่งจากที่นั่น... บอกว่าไปเรียนรู้ชีวิตของคนยากลำบาก” ดุษฎีเล่า
“เราก็ได้ซึมซับมา คนจีนสมัยนั้นเป็นจีนคอมมิวนิสต์ เป็นคนจีนที่ขยันและซื่อสัตย์ เราได้รับได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากเขา รวมทั้งที่คุณพ่อพูดด้วย อย่างการไปทำงาน คนจะเข้าใจว่าเราถูกเกณฑ์แรงงาน คือไม่ใช่ นักศึกษานักเรียนจีนต้องไปทำงาน ต่อปีหนึ่ง เทอมหนึ่งเนี่ยต้องไปทำนาหนหนึ่ง และทำงานที่โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานทำอุปกรณ์รถยนต์ ปีหนึ่งเราต้องไปสองครั้ง” นาทุกฤดูที่หว่านลง และเท้าที่เหยียบลงบนผืนดินของประเทศจีนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ดุษฎียังจดจำประสบการณ์นั้นได้
“ทำสารพัดเลยไปกับน้องสาวสองคน เช่น ทำนานาหว่าน เมื่อถึงฤดูหว่านข้าวก็ต้องไปทำตั้งแต่ปรับปรุงดิน ใส่ปุ๋ย ปุ๋ยของเขาคือปุ๋ยสดอุจจาระ เราต้องเอาไปเทใส่ในนาแล้วเอาเท้าเหยียบ เหยียบวันนึงหลายชั่วโมงจนเล็บเท้าเหลือง ล้างเท่าไหร่ก็ไม่ออก กลิ่นอาจจะติดอยู่นิดหน่อย แต่สีนี่ไม่ออก ดำนา หว่านก็ทำให้รู้วิธีดำนา ไปอีกทีก็เก็บเกี่ยวก็รู้วิธีเก็บเกี่ยว สมัยนั้นเครื่องจักรยังไม่พัฒนา ก็ต้องเอารวงข้าวไปฟาดกับเครื่องปั่น”
ส่วนเส้นทางสายดนตรีของดุษฎี ก็ถือได้ว่าก่อกำเนิดอย่างเข้มข้นในระหว่างอยู่ที่เมืองจีนนั้นเอง จากความฝันช่วงแรกที่อยากเป็นแพทย์ เมื่อสุดา พี่สาว เป็นอันต้องตกค้างในเมืองจีน เนื่องจากถูกขึ้นบัญชีดำในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ไม่ให้เข้าประเทศไทย
สุดาซึ่งร่ำเรียนดนตรีจากฝรั่งเศสมาอยู่แล้วจึงศึกษาต่อที่จีน แต่ด้วยการเรียนการสอนเป็นภาษาจีน ดุษฎี จึงทำหน้าที่เป็นล่ามให้ เวลานั้นเองที่สายเลือดครอบครัวดนตรีแต่ยุคปู่ทวดถูกปลุกขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งได้เรียนทางสายดนตรีและศึกษาจบที่สถาบันดนตรีกลางแห่งกรุงปักกิ่ง
ณ บ้านอองโตนี ฝรั่งเศส
ช่วงชีวิตในฝรั่งเศส ที่บ้านอองโตนี ในความรู้สึกของดุษฎี นับได้ว่า เป็นช่วงชีวิตที่ “มีความสุขในระดับหนึ่ง” ความสุขในระดับหนึ่ง คือ ช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน แม้จะขาดพี่สาวคนโต ลลิตา พนมยงค์ ซึ่งเจ็บป่วยพิการทางสมองและอยู่เมืองไทยตลอดระยะเวลาที่ครอบครัวลี้ภัยอยู่เมืองนอก
ที่กล่าวว่า “ความสุขนี่มันก็ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น” เป็นเพราะว่าชีวิตที่ฝรั่งเศสอยู่กันอย่างค่อนข้างประหยัดมัธยัสถ์
“เราก็ค่อนข้างอัตคัด พี่น้องทุกคนทำงาน น้องสาวไปเป็นคนรับจ้างกวาดถูล้างกระทั่งห้องน้ำ พี่สาวก็ไปทำอาหารเดลิเวอรี่ คนโทรมาจองแล้วก็ส่ง ส่วนครูดุษนอกจากสอนเปียโน บางทีก็ไปขายดอกไม้ พี่ชายคนหนึ่งไปเป็นคนเสิร์ฟที่ร้านอาหาร คือทุกคนทำงาน”
เมื่อไปอยู่ฝรั่งเศส กว่าจะได้เงินบำนาญตามสิทธิคืนมาก็ต้องฟ้องร้องทำอยู่ระยะเวลาหนึ่ง อีกทั้งหลังจากลี้ภัยไปยังปารีสเมื่อปี 2513 ดุษฎีเล่าว่า ผู้เป็นแม่ได้ขายที่ดินในกรุงเทพฯ เพื่อนำเงินจำนวนนั้นมาซื้อบ้านหลังนี้ ปรีดียังใช้เวลาช่วงหนึ่งในการติดตามต่อสู้เรียกร้องกรณีเงินบำนาญตามสิทธิกับทางการไทย
“เงินแค่นั้นก็จุนเจืออยู่บ้านเล็กๆ เลี้ยงลูก 5 คน แล้วบางทีก็มีหลานมาอยู่ด้วยอีก เราก็อยู่อย่างสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย คุณพ่อเป็นคนสมถะมาก ใครจะคิดว่าชุดสากลสีกรมท่าแล้วมีเส้นๆ จำแม่นเลยเป็นตัวที่คุณพ่อตัดตอนลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์ ช่วงปี 2491 คุณพ่อใช้มากว่าสามสิบกว่าปี จนกระทั่งวันที่เสียชีวิต พ.ศ. 2526 เราก็ได้ใส่ชุดนั้นให้กับตัวคุณพ่อในโลงศพ…”
กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8
“ไม่ค่อยรู้สึกอะไรเพราะเราเป็นเด็ก โตขึ้นมาก็รู้ว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ดุษฎี สะท้อนถึงกรณีการถูกใส่ร้ายจากกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ที่ปรีดี ถูกกล่าวหา ช่วงหลังจากการรัฐประหาร 2490
ข้อกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสี “ปรีดีฆ่าในหลวง” ปรากฏให้หลังหนึ่งปีครึ่งจากวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2489
คดีประวัติศาสตร์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาสอบสวนใหม่หลังรัฐประหาร 2490
“นำไปสู่การจับกุมนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน สองมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในวันที่ 20 พ.ย. 2490 หลังจากวันทำรัฐประหาร 12 วัน”
จำเลยทั้งสาม ถูกประหารชีวิตในปี 2498 ใน “ฐานความผิดสมคบกันประทุษร้ายต่อรัชกาลที่ 8 และเพทุบายเท็จเพื่อปกปิดการกระทำผิด” ในคำฟ้องมีบรรยายฟ้อง ที่ระบุถึงการสมคบคิดกับ “พวก” ซึ่งในข้อเขียนของ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ บันทึกไว้ว่า สื่อถึงนายปรีดีและ เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ผู้ที่โจทก์พยายามเสกสรรปั้นแต่งพยานเท็จให้เป็นมือปืนในคดีลอบปลงพระชนม์ ดุษฎีเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับครอบครัวช่วงหลังรัฐประหารนั้นว่า
“ตั้งแต่เรียน หนังสืออยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่อเกิดกรณีสวรรคต น้องสาว (วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์) ก็โดนเพื่อนที่โรงเรียนซุบซิบว่าพ่อต้องฆ่าในหลวง น้องสาวร้องไห้ แต่สำหรับครูดุษเพื่อนไม่ได้ต่อว่า แต่ยังจำได้ว่ามาเซอร์ (ครู) ที่โรงเรียนคนหนึ่งเคยเอาไปกอดแล้วบอกว่าเข้าใจ เพราะมาเซอร์เป็นคนฝรั่งเศส ก็ย่อมมีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง เหตุการณ์แบบนี้ก็มีมาเรื่อยๆ ล่ะค่ะ มีญาติพอนามสกุลพนมยงค์สมัยนั้นจะทำงานรับราชการก็ไม่ได้”
แม้หลังปี 2500 ไปแล้วหลายปี ก็ยังมีข้อเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ และงานวิชาการจากนักประวัติศาสตร์บางชิ้น ที่กล่าวหาว่าปรีดีมีส่วนพัวพันต่อกรณีสวรรคต นายปรีดีได้ฟ้องร้องจนชนะคดีในหลายต่อหลายกรณี เช่น การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ คอลัมน์นิสต์ เมื่อปี 2513 หรือกรณีการฟ้องร้อง นายรอง ศยามานนท์ นักวิชาการ และโรงพิมพ์ กรณีตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” เมื่อปี 2521
ดุษฎีกล่าวถึงสิ่งที่บิดาเจอว่า “ถ้าเป็นคนที่ไม่มีหลักของพุทธศาสนา คิดว่ามีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว” อันเนื่องมาจากความลำบากทั้งเรื่องที่ถูกป้ายสีกรณีสวรรคต และความลำบาก ที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ในต่างถิ่นเมืองนอน ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นเคยกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า “ไม่ลืม... แต่ว่าอโหสิ”
“ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ”
ความนึกคิดถึงเรื่องบ้านเมืองและราษฎร เป็นสิ่งที่ดุษฎีเห็นในผู้เป็นพ่อมาตลอดช่วงชีวิต
“ตลอดเวลานึกถึงคนอื่น นึกถึงบ้านเมือง นึกถึงประชาธิปไตย ตลอดเวลาเลย คือไม่ว่าจะสนทนาในครอบครัวหรือสนทนากับลูกศิษย์ที่มาพบ (ที่บ้านในฝรั่งเศส) หรือแขกที่มา จะพูดแต่เรื่องความห่วงใยต่อบ้านเมืองตลอดเวลา” บุตรสาวคนที่ 5 ของรัฐบุรุษอาวุโสเล่า
จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงภรรยาคู่ชีวิตถึงเหตุผล การก่อการปฏิวัติ เจ็ดวันหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 เป็นจดหมายที่ดุษฎีบอกว่า
“คนสมัยใหม่หรือคนรุ่นเก่าที่มีหัวคิดเก่ามากน่าจะมาอ่าน”
ดุษฎี เล่าถึงความในจดหมายบอกเหตุผลของบิดาที่ต้องกระทำการเสี่ยงชีวิตครั้งนั้นว่า
“ที่ฉันทำเพราะว่าเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม เรื่องบ้านก็เป็นเรื่องบ้าน เรื่องงานก็เป็นเรื่องงาน ที่ฉันบอกว่าไปบวชเนี่ย การกระทำอภิวัฒน์ 2475 ก็เหมือนกับการบวช เพราะได้บุญ เป็นการกระทำที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาส....”
เธอยังเล่าความที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวไว้ในหลายวาระถึงเรื่องราวในค่ำคืนก่อนวันที่ 24 มิถุนา 2475
“คุณพ่อมาลาคุณแม่ที่บ้านป้อมเพชร์ที่สีลมว่า ฉันจะไปบวชที่อยุธยา หวังว่าเธอจะอนุโมทนาบุญนะ แล้วก็ไป คืนวันนั้นคุณแม่เล่าว่า ลูกชายคนที่สอง คือ ปาล พนมยงค์ ตอนนั้นอายุเพิ่งประมาณเพิ่ง 6 เดือน ร้องไห้ทั้งคืน เลยไม่รู้เป็นอะไร คุณแม่ก็เอ๊ะวันนี้ทำไมลูกชาย 6 เดือนร้องไห้ทั้งคืน... คุณแม่ยังไปส่งคุณพ่อขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเพื่อขึ้นรถไฟไปอยุธยาไปบวช คือเสมือนจริงมาก”
“เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ”
บางส่วนของจดหมายที่ปรีดี เขียนลงวันที่ 3 ก.ค. 2475
120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ กับ มรดกคณะราษฎร
หากกล่าวถึงการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรปักหมุดอุดมการณ์ไว้ สิ่งนั้นคือหลัก 6 ประการ จวบจนปีที่ 88 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสายตาของดุษฎี ไม่มีประการไหนเลยที่ลงหลักปักฐานได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย
หลัก 6 ประการนี้ได้แก่ เอกราชทางการเมือง ศาล เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และชีวิตของราษฎร ความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจไม่ให้ราษฎรอดอยาก หลักเสมอภาคให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน หลักเสรีภาพที่ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิผู้ใดจะบังคับมิได้ และหลักการศึกษาจะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง
“ไม่คิดว่าจะได้อยู่ถึงวันที่เห็นประเทศไทยมีประชาธิปไตย ไม่คิดถึงวันนั้น ขอทำวันนี้ให้ดีที่สุด อยู่กับปัจจุบันขณะ”
ความหวังของบุตรสาวผู้ก่อการอภิวัฒน์ในวัย 81 ปี คือ การได้เห็นคนรุ่นใหม่สานต่ออุดมการณ์ความหวังในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง
“ไม่งั้นสังคมก็ไม่เจริญก้าวหน้า เราดูประวัติศาสตร์สังคมโลก สังคมมันต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่”
มรดกคณะราษฎรทางอุดมการณ์ยังไม่อาจตั้งได้อย่างมั่นคงในการเมืองไทย ส่วนมรดกคณะราษฎรทางวัตถุ ก็มีอันเริ่มสูญหายไปในระยะหลัง อย่างหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ หรือความเปลี่ยนแปลงเรื่องชื่อนามในบางสถานที่ รวมถึงการย้ายอนุสาวรีย์บางแห่ง ดุษฎีบอกว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ทั้ง “สำคัญและไม่สำคัญ” ในเวลาเดียวกัน
“หมุดนั้นถูกรื้อไปไม่เป็นไร แต่จิตวิญญาณของคณะราษฎร มันยังอยู่ในใจของคนจำนวนหนึ่ง เปลี่ยนชื่อค่ายทหาร เปลี่ยนชื่อถนน ในอนาคตคงจะต้องมีอะไรอีกหลายเรื่อง สำหรับส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่เป็นไร…”
ดุษฎีกล่าว และเอ่ยคำว่า “ไม่เป็นไร” ซ้ำสองด้วยเสียงที่แผ่วเบา
“ปรีดีเหมือนกับรู้ เขียนเอาไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อนว่าพ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์ที่เป็นวัตถุ แต่ต้องการให้หนังสือเหล่านี้ หนังสือที่เขียนรวบรวมการตัดสินใหม่ของเรื่องกรณีสวรรคตที่โดนใส่ร้ายเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ ก่อนที่เขาจะทุบอนุสาวรีย์ หลายอย่างคนบอกว่าปรีดีเป็นคนเกิดก่อนกาล เกิดก่อนกาลเวลาเยอะไปหน่อยก็เลยลำบาก ว่าไหม…” ดุษฎีเอ่ยเป็นคำถาม
“เกิดก่อนกาลและเวลา…”
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์ : 120 ปีชาตกาลของผู้เป็นพ่อในความทรงจำของบุตรคนที่ 5 ดุษฎี พนมยงค์, เรื่องโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย, เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2020
หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับอนุญาตจาก BBC News Thai แล้ว