วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เวลาราวๆ 11.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือการถึงแก่อสัญกรรมของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ รัฐบุรุษอาวุโส มันสมองแห่งคณะราษฎร ผู้ริเริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
ในบทความนี้จึงได้รวบรวมเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากข่าวสารต่างๆ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ฟากฝั่งประเทศไทยบางฉบับ โดยเนื้อหาบางส่วนได้นำมาจากหนังสือ “มิตรกำสรวล” หนังสือที่จัดพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2526 เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในการถึงแก่อสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ กอปรกับเป็นความบังเอิญที่กองบรรณาธิการฯ ได้รับเอื้อเฟื้อภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ต้นฉบับจาก ‘กษิดิศ อนันทนาธร’ ซึ่งถ่ายมาจากหนังสือพิมพ์เก่าที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นที่มาของบทความนี้
วันนี้ วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 นับจากวินาทีนั้น ผ่านกาลเวลามาถึง 39 ปีเต็ม ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในทุกวินาที ไม่มีสิ่งใดจักชนะเงื่อนแห่งเวลาได้ แต่สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและจะอยู่สืบต่อไป นั่นก็คือความดีงามและคุณูปการต่อประเทศชาติและราษฎรไทยที่ท่านอาจารย์ปรีดีก่อร่างสร้างคุณประโยชน์เอาไว้ เป็นไปดังคติธรรมที่ท่านยึดถือมาตลอดชีวิตที่ว่า “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”
ด้วยจิตคารวะ
ณภัทร ปัญกาญจน์
ผู้รวบรวม
ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส มรณกรรม
มติชนรายวัน
วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2526
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจอย่างยิ่งต่อกรณีที่ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยได้มรณกรรม เมื่อเที่ยงวันที่ 2 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่นายปรีดีได้พำนักอยู่ ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ด้วยหัวใจวายอย่างกะทันหัน ท่ามกลางญาติพี่น้องแเละท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
“มติชน” ได้โทรศัพท์ทางไกลสอบถามรายละเอียดการมรณกรรมของนายปรีดีไปยังบ้านพักของท่านเมื่อเวลา 19.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเทพฯ ในวันเดียวกันนี้หลังจากทราบข่าว โดยผู้สื่อข่าวแจ้งว่าต้องการเรียนถามรายละเอียดจากท่านผู้หญิงพูนศุข แต่เนื่องจากทางท่านผู้หญิงและญาติ มิตรกำลังอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานศพของนายปรีดี จึงได้มอบหมายให้ญาติสตรีผู้หนึ่งเป็นผู้ชี้แจงแทน ก็ได้ทราบว่านายปรีดีได้มรณกรรมเมื่อตอนเที่ยงของวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งในตอนเช้านายปรีดียังมีอาการเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา มิได้มีอาการป่วยแต่อย่างใด ปรากฏว่าในตอนเที่ยงนายปรีดีเกิดอาการหน้ามืดและหัวใจวายอย่างกะทันหัน ท่ามกลางการปฐมพยาบาลของท่านผู้หญิงและญาติๆ อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เพราะนายปรีดีได้สิ้นใจเสียแล้ว
ญาติสตรีของนายปรีดีเปิดเผยต่อไปถึงการจัดงานศพของนายปรีดีว่า ยังไม่สามารถตอบในเวลานี้ได้ เพราะกำลังปรึกษาหารือกันอยู่ รวมทั้งจะต้องรอบุตรของนายปรีดีที่อยู่ที่ฮ่องกง และที่กรุงเทพฯ เสียก่อน
ญาติสตรีผู้นี้กล่าวว่า นายปรีดีจะมีอายุครบ 83 ปี ในวันที่ 11 เท่าที่ผ่านมาสุขภาพตลอดจนความจำของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ดีมาก เมื่อคืนวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ยังได้มีการพูดเรื่องเมืองไทยอยู่เลย และในตอนเช้าวันที่ 2 ท่านก็ปกติทุกอย่าง ไม่มีอาการแสดงว่าเจ็บป่วยแต่อย่างใด งานที่กำลังเขียนอยู่ในขณะนี้ คือ กรณีที่ท่านมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้อง นายอาภา ภมรบุตร ซึ่งเขียนหนังสือมีข้อความหมิ่นประมาท ทำให้ท่านได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ก็กำลังเตรียมโครงการที่บรรดาญาติมิตรและลูกศิษย์จะจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่นายปรีดีจะมีอายุครบ 7 รอบ (84 ปี) ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
‘นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์’ กล่าวว่า มรณกรรมของนายปรีดีครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียที่สำคัญที่สุด เพราะนายปรีดีได้สร้างคุณสำคัญไว้ 2 ประการ คือ ถ้าไม่มีนายปรีดี ประเทศไทยจะไม่มีประชาธิปไตย และอีกประการหนึ่ง ถ้าไม่มีนายปรีดีประเทศไทยก็จะเป็นเมืองขึ้น นายปรีดีได้กู้ชาติให้เป็นอิสระจนมาถึงบัดนี้ “เป็นที่น่าเสียดาย กลับมีคนบางกลุ่มบางพวกไม่เห็นคุณความดีของผู้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ที่เขากลัวๆ กันนั้นเขากลัวสัจจะ กลัวความจริง กลัวอิสระ กลัวประชาธิปไตย และกลัวการรับใช้ประชาชน จึงมีแต่การบิดผันเพื่อมุ่งประโยชน์จากราษฎร” นายสุลักษณ์กล่าว “ผมอยากจะดูว่ารัฐบุรุษของประเทศมรณกรรมเช่นนี้ จะได้รับเกียรติยศอย่างไรหรือไม่”
สำหรับการจัดงานศพในเมืองไทยนั้น นายสุลักษณ์กล่าวว่า ขอฟังจากญาติของนายปรีดีก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าคงต้องมีคนจัดงานเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับคนรุ่นใหม่ นายสุลักษณ์กล่าวว่า ทางเมืองไทยโดยลูกษย์ลูกหาได้ร่วมกันจัด “โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” ในโอกาสอายุครบรอบ 84 ปี ในปี 2527 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ต้องการรวบรวมงานเขียนทั้งหมดมาพิมพ์และวิจัยสังคมไทย เพราะเมื่อปี 2475 นายปรีดีเขียนสมุดปกเหลืองวิเคราะห์สังคมไทย วางแผนพัฒนาประเทศไทย มาบัดนี้ครบ 50 ปีแล้ว เรามาดูว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“โครงการเหล่านี้เราอยากทำเป็นอนุสรณ์ เท่าที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดี ท่านบอกว่า ทุกอย่างขอให้ทำด้วยความระมัดระวังอย่าประมาท เพราะอาจถูกโจมตีทางการเมืองได้” นายสุลักษณ์กล่าว
ทางด้าน ‘นายสุภา ศิริมานนท์’ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับจากปารีสเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากไปพักร่วมกับนายปรีดีอยู่ 18 วัน และในวันเดินทางกลับนายปรีดียังออกมาส่งที่หน้าประตูบ้าน “ผมเป็นลูกศิษย์ท่านสมัยท่านอยู่ธรรมศาสตร์ ไม่ได้พบกันมา 37 ปีแล้วจึงไปเยี่ยมท่าน” นายสุภากล่าว และว่ารู้สึกเสียใจต่อการจากไปของนายปรีดี เพราะเป็นผู้มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก และความสำคัญนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ดังจะเห็นว่าทูตต่างประเทศจะไปคำนับ และมอบดอกไม้ให้เมื่อเวลาถึงวันเกิดอยู่เป็นประจำ
เมื่อถามว่าในการพบกัน นายปรีดีได้พูดคุยอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยบ้าง นายสุภากล่าวว่า ในการพบและพูดคุยกันนั้น นายปรีดีได้แสดงความกังวลกับเมืองไทยอยู่บ้าง สิ่งที่ควรจะเป็นก็ไม่เป็น
รัฐบุรุษ “ปรีดี” ถึงแก่กรรม เตรียมเสนอนำศพกลับไทย
สยามรัฐรายวัน
4 พฤษภาคม 2526
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จบชีวิตลงอย่างสงบ ณ ชานกรุงปารีส ก่อนอายุครบ 83 ปีเพียงเก้าวัน แหล่งข่าวเปิดเผย บุคคลในวงการรัฐบาลเตรียมเสนอเปรมนำศพมาทำพิธีในเมืองไทย
รายงานข่าวจากกรุงปารีสที่ยืนยันโดยสำนักข่าว เอ.พี. และวิทยุบีบีซี. กรุงลอนดอน แจ้งว่า รัฐบุรุษอาวุโสของไทยคือ นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คนสำคัญ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยการเมืองอยู่ในฝรั่งเศส ได้มรณกรรมอย่างสงบที่บ้านพักชานกรุงปารีส ด้วยหัวใจล้มเหลวกระทันหัน เมื่อเวลา 11.45 น. เวลาท้องถิ่น (16.45 น. ตามเวลาเมืองไทยโดยประมาณ) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
นสพ. เดอะเนชั่นรีวิว ออกในกรุงเทพฯ รายงานการสัมภาษณ์คุณวาณี ธิดาคนหนึ่งของนายปรีดี โดยโทรศัพท์ข้ามประเทศให้สัมภาษณ์ว่า นายปรีดีมีอาการอึดอัดก่อนสิ้นความรู้สึกประมาณ 5 นาที จึงได้รีบเรียกตัวนายแพทย์มารักษา แต่ไม่สามารถทันเยียวยาชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสได้
คุณวาณีเปิดเผยด้วยว่า “คุณพ่อพูดอยู่เสมอ อยากจะกลับมาตายในเมืองไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อภาพในแมกกาซีน ที่มีรูปและเรื่องเกี่ยวกับอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณพ่อ” อย่างไรก็ตาม นายปรีดีเคยพูดกับคนในครอบครัวว่า หากมาตุภูมิบ้านเกิดไม่ต้องการตน ตนก็ยินดีจะให้มีการทำพิธีศพในกรุงปารีส
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า บุคคลในวงการรัฐบาลหลายท่านมีการพูดถึงว่าจะนำศพรัฐบุรุษอาวุโสกลับมาทำพิธีในเมืองไทยหรือไม่ เพราะนายปรีดีก็มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นใหญ่เป็นโตในวงการราชการมากมาย รวมทั้งเป็นผู้ประศาสน์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็มีปัญหาด้านนโยบายการเมืองว่า จะพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร รัฐมนตรีท่านหนึ่งกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในขณะนี้คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เลื่อนฌาปนกิจศพปรีดี มธ.จัดงานสดุดียิ่งใหญ่
มาตุภูมิรายวัน
5 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
หลายฝ่ายเรียกร้องรัฐบาลจัดเชิดชูเกียรติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ แคล้ว นรปติ เสนอให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพงานศพให้สมเกียรติเช่นเดียวกับวีรบุรุษ และขอพระราชทานบรรจุอัฐิในโกศ องค์การนักศึกษาสถาบันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ของปรีดี พร้อมติดโบว์ไว้ทุกข์ในวันที่ 9 -10 นี้ และจัดอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ ส่วนที่ฝรั่งเศสชาวไทยในยุโรปแห่แหนไปเคารพศพเนืองแน่น เลื่อนฌาปนกิจที่คอมมูนปารีส 9 พ.ค.
นางวาณี สายประดิษฐ์ บุตรสาวคนเล็กของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เปิดเผยกับ “มาตุภูมิ” ว่า พิธีมาปนกิจศพนายปรีดี จะมีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เวลา 14.30 น. ตรงกับเวลาในประเทศไทย 19.30 น. ที่แปร ลาแชส หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คอมมูนปารีส” ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก ขณะนี้ บุตรสาวและบุตรชาย อีกสองคน คือ นางดุษฎี และ นายศุขปรีดา พนมยงค์ ได้เดินทางไปถึงกรุงปารีสแล้ว และจะได้ปรึกษากับญาติๆ เกี่ยวกับการดำเนินการหลังพิธีศพต่อไป
สำหรับศพของนายปรีดีนั้น เก็บไว้ที่ห้องนอนบ้านเลขที่ 173 ถนนอริสไทด์ ไบรอัน อันโตนี ชานกรุงปารีส ซึ่งเป็นบ้านพักที่นายปรีดีอาศัยมาโดยตลอด “ลักษณะของศพเหมือนคนนอนพักผ่อนธรรมดาๆ ญาติๆ เลยให้ท่านนอนสบายๆ ไปก่อนจนกว่าจะเข้าพิธีฌาปนกิจในวันจันทร์ที่ 9” นางวาณีกล่าว และว่าขณะนี้คนไทยในฝรั่งเศสและเยอรมันจำนวนมาก ทะยอยมาเยี่ยมคำนับศพไม่ขาดสาย สำหรับความรู้สึกของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์นั้น บุตรสาวคนเล็กกล่าวว่า มีความเสียใจมากเพราะใช้ชีวิตร่วมกันมาจนเกือบจะครบ 55 ปีในเดือนพฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ แต่นายปรีดีมาด่วนเสียชีวิตก่อน “ท่านปวารณาตัวว่า จะทำหน้าที่สานต่อจิตใจ ทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
นางวาณีเปิดเผยต่อไปว่า ในประเทศฝรั่งเศสเอง หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ “เฮราลด์ ทรีบูน” เสนอข่าวมรณกรรมและผลงานของนายปรีดีถึง 2 คอลัมน์ นับว่าเป็นการให้เกียรติอย่างมาก สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ได้มอบหมายให้นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ เดินทางไปร่วมในพิธีฌาปนกิจศพครั้งนี้ด้วย
นายแคล้ว นรปติ เลขาธิการพรรคสังคมประชาธิปไตย ส.ส. ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมรณกรรมของนายปรีดีว่า ตนได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในพิธีของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงชีวิตของนายปรีดี ได้ประกอบคุณงามความดีไว้อย่างมาก เช่น ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบกับต่างชาติ เดยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่า ไทยไม่ใช่ผู้แพ้สงคราม
ส.ส. ขอนแก่นกล่าวต่อไปว่า เหตุที่นายปรีดีถึงแก่กรรมในต่างประเทศ เนื่องจากความเข้าใจผิดของบุคคลบางคนบางฝ่าย จึงเห็นว่ารัฐบาลสมควรจัดพิธีศพให้สมเกียรติเช่นเดียวกับวีรบุรุษ และขอพระราชทานบรรจุอัฐิในโกศ หรือ อนุญาติให้ญาติเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการมาปนกิจได้ หรือมีบัญชาให้เอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส รับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานฌาปนกิจศพ และหากอัฐิถูกส่งกลับคืนประเทศไทย ก็ให้จัดงานรัฐพิธีอย่างสมเกียรติ
ทางด้นนักศึกษา 6 สถาบัน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (ที่ 4) กล่าวถึงนายปรีดีว่า เป็นนักสู้ของผู้รักประชาธิปไตย สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนไทย ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอำนาจสิทธิขาดเพียงคนเดียว มาเป็นระบอบที่ประชาชนสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้เอง “หากไม่มีอาจารย์ปรีดีแล้ว คนไทยคงไม่มีโอกาสสัมผัสชื่นชมกับประชาชิปไตย” แถลงการณ์กล่าว
“นอกจากนั้น ท่านยังยืนหยัดต่อสู้กับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และจักรวรรดินิยมตะวันตก จนนำพาชาติให้รอดปลอดภัยจากการถูกคุกคามและควบคุมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านยังเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ไม่อาจนำมาใช้ได้ เพราะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้กุมอำนาจเดิม ใช้เล่ห์เพทุบายจนท่านต้องระหกระเหินออกจากประเทศไทย ไปพำนักอยู่ต่างแดน ไม่อาจกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย”
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว เปิดเผยต่อไปว่า ในวันที่ 4 มิถุนายน 2525 นายปรีดียังได้พูดกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุ บี.บี.ซี. ประเทศอังกฤษ ส่งความห่วงใยและความปรารถณาดีมายังประชาชนไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของประชาธิปไตยไทย การต่อสู้อันแน่วแน่ของนายปรีดีเป็นการยืนยันให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันประเสริฐ แม้จะถูกคุกคามด้วยอำนาจแฝงเร้นนานาประการก็ตาม
ท้ายที่สุด องค์การนักศึกษา 6 สถาบัน วิงวอนให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ยึดถือนายปรีดีเป็นแบบอย่าง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่บุคคลผู้มีคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อชาติด้วย
องค์การนักศึกษา 6 สถาบัน อันเป็นตัวแทนของเยาวชนรุ่นหลังจะขอรำลึกถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของท่านไว้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของอาจารย์ปรีดีที่ต้องสูญเสียผู้อันเป็นที่รักยิ่งไป
ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวานนี้ ในเวลา 9.00 น. มีการทำพิธีสงฆ์ จนกระทั่ง 10.00 น. ถวายสังฆทาน รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 9-10 ที่จะถึงนี้ จะมีการไว้ทุกข์โดยพร้อมเพียงกันทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยการติดโบว์สีดำ พร้อมทั้งชักชวนให้นักศึกษาทั่วไป เรียนรู้ประวัติของนายปรีดี และในวันที่ 10 ตอนเย็น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะจัดอภิปรายในหัวข้อ “อาจารย์ปรีดีกับสังคมไทย” หลังการอภิปรายจะมีการไว้อาลัยและรำลึกถึงนายปรีดีด้วย
นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจไปแล้วเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง นายมารุตเปิดเผยต่อไปอีกว่า “นับเป็นการสูญเสียคนสำคัญคนหนึ่งของบ้านเมือง เมื่อนำกระดูกกลับมาแล้ว จะมีการจัดงานใหญ่ระหว่างญาติมิตรกับธรรมศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ เมื่อครบ 100 วัน ในวันที่ 9 สิงหาคม จะมีการทำบุญร่วมกันทุกฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง”
การจัดงานเมื่อวานนี้มี นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภาเป็นประธานในพิธี และมีบุคคลสำคัญอื่นๆ อีกหลายคนเช่น นายประภาศน์ อวยชัย นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายบุญ เจริญชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ สปอ.และอดีตทูตไทยประจำกรุงปารีส ส่วนกรณีที่ว่ารัฐบาลควรมีส่วนในการจัดงานครั้งนี้หรือไม่นั้น นายมารุตกล่าวว่า “ต้องไปถามนายกฯ เอาเอง”
บำเพ็ญกุศลวันปรีดี รุมร่วมสดุดีคับคั่ง
มติชนรายวัน
พฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2526
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มีการจัดงานบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันเกิดนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส มีคนไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ทั้งอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 อดีตผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย นักการเมือง อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ปัญญาชน และกวี เป็นต้นว่า นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ปรึกษาพรรคชาติประชาธิปไตย หลวงบรรณกรโกวิท อดีดผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
พิธีเริ่มขึ้นโดย นายสุภา สิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสในฐานะประธานจัดงาน ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน จากนั้นก็เป็นการปาฐกถาธรรมโดย พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ
พระพิมลธรรม ได้แสดงปาฐกถาให้เห็นถึงความจริงแท้แน่นอนของชีวิตที่ว่าชีวิตคนเรานั้นย่อมดับสลายในที่สุด ร่างกายเป็นแต่เพียงเปลือกนอกของชีวิต จิตใจคือแก่นแท้ ดังภาษิตที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” และว่าการเกิด การตายนั้นไม่สามารถกำหนดถ่วงหน้าได้ พระพิมลธรรมกล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาว่า “มีแต่คนหูหนวกตาบอดเท่านั้นที่ไม่รู้ว่ารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ทำอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง” และว่านายปรีดีเป็นผู้พลิกฟื้นแผ่นดินใหม่จากที่เคยอาศัยแผ่นดินผู้อื่นอยู่ มามีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเองได้ตามระบอบประชาธิปไตย
“อาตมาภาพได้ไปเยี่ยมท่านที่บ้านประเทศฝรั่งเสส 2-3 ครั้ง เคยถามท่านว่าเมื่อไหร่จะกลับเมืองไทย ท่านตอบว่า ถ้าความบริสุทธิ์ของคณะท่านไม่บริสุทธิ์ทั่วถึงท่านก็จะไม่กลับ ถ้ารัฐบาลรับรองความบริสุทธิ์นั่นแหละถึงจะกลับมา” พระพิมลธรรมกล่าว และว่าท่านเป็นห่วงบริวารที่ร่วมงานกันมา แต่แล้วท่านก็มาถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน อย่างไรก็ตามเราไม่ควรโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ร้องห่มกันเพราะไม่มีประโยชน์อันใดแก่ผู้ตาย ถ้าเรานึกถึงท่านต้องรู้จักท่านอย่างถูกต้อง / ศึกษาทรรศนะท่านอย่างถูกต้อง รักษาความดีที่ท่านให้ไว้แก่เราอย่าให้สูญหายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
จากนั้น หลวงบรรณกรโกวิท อดีตผู้ก่อการฯ วัย 86 ปีซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดนายปรีดีคนหนึ่งกล่าวว่า ความดีของท่านรัฐบุรุษมีผู้เห็นมามาก นับได้ไม่ผิดว่าท่านมีส่วนอย่างมากในการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ท่านเป็นคนสำคัญในการก่อร่างเสรีไทยที่ช่วยให้ฐานะเราไม่ใช่ประเทศแพ้สงคราม ถ้าไม่มีเสรีไทยไม่รู้ว่าทุกคนจะได้มานั่งหน้าชื่นตาบานอย่างนี้หรือไม่
ท่านเป็นผู้นำที่ไม่เคยคอร์รัปชันโกงกิน ท่านนึกถึงแต่เรื่องชาติบ้านเมืองและประชาชน ท่านไม่มีชีวิตต่างไปจากคนธรรมดาสามัญเลย
พิธีต่อมา เด็กชายฤทธิพัฒน์ และ เด็กชายฤทธิพงษ์ เทียนคำ หลานชายของนายสุภาได้มาท่องกลอนที่กล่าวถึงนายปรีดีว่าเป็น “คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ” จากนั้นก็เป็นการเปิดเทปคำปราศรัยของนายปรีดีที่มีมาถึงหลานทั้งสองคนดังกล่าวมีข้อความว่า “ตาหวังว่าหลานทั้งสองจะได้สืบทอดคติของตาเพื่อชาติและราษฎรไทยต่อไปภายหน้า ตาขออวยพรให้หลานทั้งสองมีความสุขกายสบายใจ ขอให้ตั้งใจเล่าเรียนและออกแรงานช่วยคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายอันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้หลานเรียนรู้ว่า แรงงานนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์”
จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.45 น. พระสงฆ์สดัปกรณ์ บังสุกุลและอนุโมทนา จากนั้นผู้ร่วมในพิธีการได้ยืนไว้อาลัยให้กับนายปรีดีเป็นเวลา 1 นาทีเป็นอันเสร็จพิธี
นายสุภา ศิริมานนท์ เปิดเผยผู้สื่อข่าว ภายหลังเสร็จพิธีเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ว่า จะต้องมีสร้างอย่างแน่นอน หากรัฐบาลไม่เป็นผู้ริเริ่มสร้างเอง ราษฎรนี่แหละจะเป็นผู้สร้างกันขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จแล้วขออย่าให้มีการมาป้ายขี้ใส่ก็แล้วกัน
นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็เป็นลูกศิษย์ท่านหลายคนควรจะริเริ่มทำอะไรเพื่อตอบแทนบุญคุณท่านบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ลูกศิษย์ลูกหาของนายปรีดีต้องทำอย่างแน่นอน อนุสาวรีย์ควรสร้างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านเป็นผู้ประศาสน์การ
นายจริย์วัฒน์ สันตบุตร ซึ่งเดินทางไปร่วมพิธีปลงศพนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมเปิดเผยกับ “มติชน” ภายหลังเดินทางกลับจากพิธีดังกล่าวเมื่อเที่ยงวันที่ 11 พฤษภาคมเกี่ยวกับการนำอัฐิของนายปรีดีกลับเมืองไทยว่าเท่าที่ทราบท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และลูกๆ หลานๆ ของนายปรีดีตกลงกันไว้ว่าจะนำกลับมาก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ต้องการและทุกคนเข้าใจในความบริสุทธิ์ของนายปรีดี “เพราะนั่นคือสิ่งที่สู้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต เพราะฉะนั้น ลูกหลานเลยอยากให้เป็นอย่างนั้น” นายจริย์วัฒน์กล่าว
นับตั้งแต่นายปรีดี พนมยงค์ได้วายชนม์ ณ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ได้มีพระคุณเจ้า ท่านที่เคารพนับถือและญาติมิตร ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่งโทรเลข โทรศัพท์ทางไกลและจดหมายไปแสดงความเสียใจ บางท่านก็ส่งพวงมาลาไปเคารพศพ ข้าพเจ้าและลูกๆ รู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ขออภัยที่ไม่สามารถตอบขอบคุณเป็นรายบุคคลได้ จึงขอกราบขอบพระคุณทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้
พูนศุข พนมยงค์ และบุตรธิดา
ชานกรุงปารีส
พฤษภาคม 2526
หมายเหตุ :
- เอื้อเฟื้อภาพต้นฉบับหนังสือพิมพ์ โดย กษิดิศ อนันทนาธร
- รวบรวมเรื่องราว โดย ณภัทร ปัญกาญจน์
ที่มา : หนังสือ “มิตรกำสรวล” เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จัดพิมพ์เมื่อ สิงหาคม 2526
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- วันที่ต้องจดจำชั่วชีวิตของลูก โดย ดุษฎี พนมยงค์
- คุณตาปรีดีในความทรงจำ โดย อนวัช ศกุนตาภัย
- ท่านผู้ชายผู้มีกุศล โดย ม.จ.มารยาตรกัญญา ดิศกุล
- ฉันเป็นฉันทุกวันนี้ได้เพราะคุณลุงปรีดี โดย หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน