ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

อาลัยท่านอําลา จากประชาทั่วธาณิน: บทกวีคัดสรรเนื่องในวันอสัญกรรม

2
พฤษภาคม
2568

Focus

  • หนังสือ “มิตรกำสรวล: เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ถือเป็นหนังสือในประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง โดยกองบรรณาธิการได้คัดเลือกบทกวีจำนวน 3 บทคือบทกวีของวิสา คัญทัพ, จริย์วัฒน์ สันตะบุตร และเฉินซัน อันเป็นบทกวีมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัย
  • บทกวีของวิสา มีการเน้นย้ำอารมณ์ความรู้สึกได้ดี วรรคหนึ่งกล่าวว่า “ประเทศไทยในรอบหนึ่งร้อยปี นานครั้งบังเกิดมีแผ่นดินไหว” ซึ่งเวลาอสัญกรรมใกล้เคียงกับเวลาแผ่นดินไหวในประเทศไทยราว 17:00 น. ทั้งนี้ยังทำให้เราทราบประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยเคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ ในปี 2526
  • บทกวีของ ดร. จริย์วัฒน์ระบุว่าเขียนขณะอยู่บนเครื่องบินแอร์ฟร้านซ์ในอีกสามวันต่อมา
  • บทกวีของเฉินซันถ่ายทอดภาษาได้อย่างทรงพลังอย่างวรรค “แม่โดมจักผงาด ธรรมศาสตร์จักดํารง  ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”  ประดับไว้ในใจชน” ที่ต่อมารู้จักในเพลง “ปรีดี พนมยงค์”

 


ท่านผู้หญิงนั่งพิจารณาศพท่านอาจารย์
ซึ่งนอนอยู่บนเตียงของท่านเองเช่นปกติหลังจากมรณกรรม 5 วัน

 

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

บทกวีไว้อาลัย

วิสา คัญทัพ

 

 

มีก็เหมือนไม่มีประวัติศาสตร์
พลิกหน้าไหนก็ผิดพลาดเสียทั้งนั้น
เฉพาะตอนต้องกำหนดบทสำคัญ
ดำเป็นขาว ขาวพลัน เป็นดำไป

ไม่รู้ใครต่อสู้กอบกู้ชาติ
ไม่รู้ใครขายเอกราชอันยิ่งใหญ่
ไม่รู้ใครรักประชาธิปไตย
ใครทำลายถวายให้เผด็จการ

มากอนุสาวรีย์ มีให้เห็น
ก็ชื่นชมเช้าเย็นเวลาผ่าน
แต่พิเคราะห์เงื่อนงำแห่งตำนาน
กลับต้องถอนใจสะท้านทุกทีไป

ประเทศไทยในรอบหนึ่งร้อยปี
นานครั้งบังเกิดมีแผ่นดินไหว
ชะรอยแตกขยับรับศพใคร
รับศพรัฐบุรุษไทยผู้เที่ยงธรรม

ท่านมิใช่เสาเอกจะอวดอ้าง
แต่คือดินถมสร้างทางให้ย่ำ
แม้น้อยหนึ่งมิเคยจะเอ่ยคํา
ทบทวนความทรงจําแล้วเจ็บนัก

บุญคุณของท่านสูงเทียมฟ้า
คนไทยทั่วหน้าแจ้งประจักษ์
จะบิดเบือนอย่างไรใครก็รัก
ต่างปกป้องพิทักษ์ท่านปรีดี

สร้างชาติบ้านเมืองมากับมือ
แต่แล้วกระไรหรือต้องหลบหนี
ตราบจนดับสิ้นซึ่งชีวี
ฟ้องโลก, ประเทศนี้ไม่มีธรรม

ไม่มีแม้ดินจะกลบหน้า
ประเทศไทยของข้ามันน่าขํา
รู้ชาติเห็นเช่นเป็นประจํา
ปีศาจครอบงําตลอดกาล

อัญเชิญวิญญาณรัฐบุรุษ
สดับธรรมพระพุทธพระผู้ผ่าน
สดับเสียงสรรเสริญเจริญทาน
สู่สุขคติสถานสุขารมย์

วันนี้กองประจําการประชาราษฎร์
ลดธงแล้วทั้งชาติ, สะกดข่ม
สงบจิตอธิษฐานมือพนม
สืบทอดเจตนารมย์ท่านปรีดี

ภูเขาก็จะแยกแหลกเป็นผง
อกธรณีก็คงขยับที่
แม่น้ําทุกสายสดุดี
เกียรติภูมิศักดิ์ศรีวีรกรรม

ร้อยใจมาแทนดอกไม้หอม
สวดศพขับกล่อมทุกเช้าค่ำ
เป็นเพลงว่า, ใครหนอผู้ก่อกรรม
สาปให้จงถูกกระทําสนองเทอญ

สาปให้จงถูกกระทําสนองเทอญ-สาธุ[1]

 

บทกวีไว้อาลัยโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข–ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และจริย์วัฒน์ สันตะบุตร

 

วันเก่า เคยรุ่งเพี้ยง รัฐบุรุษ
วันก่อน มารพาลหยุด กลั่นแกล้ง
วันนี้ เปรียบประดุจ สละทุกข์
วันหน้า ประจักษ์แจ้ง ชื่อก้องเกียรติกระจาย

วันเก่า ท่านมุ่งสร้าง กรุงสยาม เรื่องเฮย
วันก่อน เขาใส่ความ แต่งปั้น
วันนี้ ท่านงดงาม บริสุทธิ์
วันหน้า มิอาจกั้น ปิดป้องสัจจธรรม

วันเก่า เสาหลักตั้ง ประชาธิปไตย
วันก่อน เป็นธงชัย นักสู้
วันนี้ ชีพอาจไม่ คืนกลับ
วันหน้า วันไหนรู้ ท่านชี้ทางเจริญ

วันเก่า อยากกู่ให้ คืนที่
วันก่อน ท่านปรีดี อยู่ด้วย
วันนี้ ใคร่ขอพลี ดวงจิต
วันหน้า ตราบชีพด้วย จักน้อมทดแทนคุณ

จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
บนเครื่องบินแอร์ฟรานซ์
เขียนเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2526[2]

 


ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

 


หนังสือ Thai Foreign Policy 1932-1946 ของ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

 

อาลัยอาจารย์ปรีดี

เฉินซัน

คือวิญญาณเสรี
ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”
คือดาวที่ดํารง
อยู่คู่ฟ้าสถาวร

คือเทียนที่ลาร้าง
แต่ส่องทางไว้สุนทร
คือเกียรติที่กําจร
แหละจารใจผู้ใฝ่ธรรม

คือแสงธรรมที่นําฉาย
คือความหมายที่เลิศล้ํา
คือผู้ประศาสน์คํา
“ธรรมศาสตร์และการเมือง”

คือผู้พลิกประวัติศาสตร์
ประชาราษฎร์ให้โลกเลื่อง
คือเสรีที่รองเรื่อง
ระยับอยู่คู่ฟ้าดิน

อาลัยท่านอําลา
จากประชาทั่วธาณิน
แต่เจตนาจินต์
จักสืบร่วมเป็นพลัง

คือหรีดและมาลัย
จากดวงใจชนรุ่นหลัง
สายใยไม่หยุดยั้ง
แต่ยังอยู่อย่างยืนยง

แม่โดมจักผงาด
ธรรมศาสตร์จักดํารง
ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”
ประดับไว้ในใจชน

* เขียนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2526[3]

 

 


[1] วิสา คัญทัพ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, มิตรกำสรวล, (กรุงเทพฯ : มิตรกำสรวล อมรินทร์การพิมพ์, 2526). น. 405-506.

[2] จริย์วัฒน์ สันตะบุตร, ชีวิตร่วมทุกข์และสุขของพูนศุข-ปรีดี แบบฉบับของนักสู้, มิตรกำสรวล, (กรุงเทพฯ : มิตรกำสรวล อมรินทร์การพิมพ์, 2526). น. 436.

[3] เฉินซัน, ชีวิตร่วมทุกข์และสุขของพูนศุข-ปรีดี แบบฉบับของนักสู้, มิตรกำสรวล,  (กรุงเทพฯ : มิตรกำสรวล อมรินทร์การพิมพ์, 2526). น. 437.