ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

โรงเรียนการเมืองคือท้องนา : จิตสำนึกการอภิวัฒน์ในวัยเยาว์ของปรีดี พนมยงค์

8
มิถุนายน
2565

เลือดเนื้อเชื้อไขของชาวนา

อาชีพเดิมของบรรพบุรุษนายปรีดีนั้น คือ อาชีพค้าขายขนมทั้งแบบไทยและแบบจีน รวมทั้งเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซึ่งมีคุณภาพดีเป็นที่นิยมชมชอบของชาวกรุงศรีฯ กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในรุ่นปู่-ย่าของนายปรีดี ซึ่งมีฐานะเป็นคหบดีใหญ่ มีทรัพย์สินข้าทาสบริวารมากมาย แต่เมื่อตกมาถึงรุ่นบิดา ลุง ป้า และอาของนายปรีดี ไม่มีผู้ใดรักษากิจการค้าขายของบรรพบุรุษไว้ได้ มีแต่ทรุดโทรมลงตามลำดับ เพราะมีผู้อื่นทำแข่งขันมากขึ้น และบริเวณใกล้เคียงวัดพนมยงค์ก็หมดสภาพเป็นย่านตลาด เพราะคลองเมืองตื้นเขินยิ่งขึ้น

 

นายเสียงบิดาของนายปรีดี
นายเสียงบิดาของนายปรีดี

 

ต่อมารัฐบาลได้ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลขึ้นที่วังจันทรเกษม ทั้งยังมีตลาดใหม่ขึ้นที่หัวรอและโรงบ่อนเบี้ยได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมข้างวัดพนมยงค์ไปอยู่ตลาดหัวรอ จึงทำให้บริเวณใกล้วัดพนมยงค์หมดสภาพเป็นย่านตลาด การทำมาหากินของผู้ที่อยู่ในย่านวัดพนมยงค์จึงฝืดเคืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

 

นางลูกจันทน์ มารดานายปรีดี
นางลูกจันทน์ มารดานายปรีดี

 

กล่าวสำหรับนายเสียงบิดานายปรีดีนั้น ภายหลังแต่งงานกับนางลูกจันทน์แล้ว มีผู้แนะนำให้สมัครรับราชการเพราะมีพื้นความรู้ทางหนังสือ ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีพอสมควร สามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ และมีฝีมือในศิลปินดนตรีไทย ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวได้ว่านายเสียงเป็นปัญญาชนนายทุนน้อยคนหนึ่งในยุคนั้น

แต่นายเสียงชอบชีวิตอิสระ รักการผจญภัย ไม่นิยมทำอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษและไม่ใจสมัครรับราชการ แรกทีเดียวนั้น นายเสียงได้ไปทำป่าไม้ในบริเวณพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งขณะนั้นมีไข้ป่าชุกชุม แต่เมื่อผจญกับโรคภัยไม่ไหว นายเสียงจึงจำต้องเลิกล้มกิจการป่าไม้ด้วยการขาดทุนเป็นอันมาก

ต่อมานายเสียงกับนางลูกจันทน์ภรรยาได้ไปทำนาที่ตำบลท่าหลวง จังหวัดสระบุรี แต่เนื่องจากฝนแล้งติดๆ กันสองปี การทำนาไม่ได้ผล ต้องเป็นลูกหนี้ผู้อื่น จึงเลิกการทำนาในพื้นที่นั้น

แม้จะประสบความล้มเหลว นายเสียงก็ไม่ย่อท้อ ไม่ล้มเลิกอาชีพชาวนา ได้ไปหักร้างถางพงที่ว่างเปล่าในท้องที่ซึ่งปัจจุบัน คือ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยนั้นท้องที่บริเวณดังกล่าวมีช้างป่าจำนวนมาก นายเสียงต้องผจญกับช้างที่มารบกวนกินต้นข้าว ประกอบกับการทำนาไม่ได้ผล เพราะฝนแล้งบ้าง หรือบางปีมีน้ำท่วมมากบ้าง อีกทั้งมีเพลี้ยชุกชุม ทำลายต้นข้าวเสียหาย เมื่อผลผลิตไม่ดี นายเสียงก็ไม่มีรายได้จากการขายข้าว

มิหนำซ้ำ ต่อมา บริษัทขุดคลองคูนาสยาม ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทำการขุดคลอง ได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินของนายเสียง และเรียกเก็บ “ค่ากรอกนา” หรือ “ค่าขุดคลอง” จากนายเสียงในอัตราไร่ละ 4 บาท นายเสียงไม่มีเงินพอจึงต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ทำให้นายเสียงซึ่งมีหนี้สินอยู่ก่อนแล้ว กลับมีหนี้สินท่วมท้นมากขึ้น ฐานะของนายเสียงได้เปลี่ยนจากนายทุนน้อยในเมืองมาเป็นชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบท มีความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสนเป็นเวลาหลายปี

จนกระทั่งโครงการชลประทานป่าสักใต้ของรัฐบาลได้ขยายไปถึงบริเวณที่นาของนายเสียง จึงทำให้ผลผลิตข้าวดีขึ้น ช่วยพยุงให้นายเสียงกลับฟื้นเป็นชาวนา “ผู้มีอันจะกิน” ในเวลาต่อมา

นายปรีดีเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พอเริ่มจำความได้ก็รับรู้และได้รับผลกระทบจากความผันผวนในชีวิตของบิดามารดาซึ่งประสบชะตากรรมอย่างชาวนาทั่วไปในชนบทภาคกลางสมัยนั้น การถือกำเนิดในครอบครัวชาวนานี้เอง เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมเบื้องแรกที่ฟูมฟักให้นายปรีดีมีจิตสำนึกเห็นอกเห็นใจคนยากจน

 

ปฐมทัศน์ทางการเมือง

จากบันทึกของนายปรีดี เรื่อง “การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า” (ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน พ.ศ. 2529 น. 14) ทำให้พอคะเนได้ว่า นายปรีดีเริ่มมีความคิดทางการเมืองตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี ตรงกับ ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นปีหลักหมายทางความคิดของลูกชาวนากรุงศรีอยุธยาชื่อ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญทางสังคมการเมืองเกิดขึ้นในสยามไล่เลี่ยกันสองเหตุการณ์ ซึ่งได้ปลุกจิตสำนึกอภิวัฒน์แก่เด็กชายปรีดี พนมยงค์

 

บันทึกเหตุการณ์แรก

“ในปี พ.ศ. 2454 ข้าพเจ้าอายุได้ 11 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และเด่นชัดในเรื่องวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลและลูกหลานชาวจีนในเมืองไทย ซึ่งเป็นประชากรจำนวนประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ สิ่งนั้น คือ การที่ชายจีนทุกคนตัดผมทิ้ง ทั้งๆ ที่ได้ไว้เปียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เขาต่างอธิบายถึงเหตุผลการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ต่อประชาชนในประเทศที่พวกเขามาอาศัยอยู่ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยก่อน ซึ่งเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียที่ไม่น่าดูนี้ ได้ถูกล้มล้างไปแล้ว โดยการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอันมี ดร.ซุนยัดเซนเป็นผู้นำและเป็นผู้แนะนำให้ชาวจีนทุกคนเปลี่ยนทรงผมใหม่เป็นทรงสั้นตามแบบชาวยุโรป (ในยุคนั้น) ทั้งนี้ชาวจีนจะได้ไม่ถูกชาวต่างชาติล้อเลียนว่า ‘มีหางที่หัว’”

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ อ้างแล้ว น. 15

 

บันทึกเหตุการณ์ที่ 2

“ต่อมาหลายปี ร.ศ. 130 ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ. 130 รักชาติ กล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในคณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเห็นใจมาก” 

ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ฉบับพิมพ์ปี 2542 น. 39

 

คณะร.ศ. 130
คณะร.ศ. 130

 

อีกสองทศวรรษต่อมา ความรู้สึก “เห็นใจ” ของเด็กน้อยคนนี้ได้มีโอกาสแสดงออกอีกครั้งเมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยของคณะอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งมีนายปรีดีเป็น “มันสมอง” ได้คืนยศให้แก่นักโทษการเมือง ร.ศ. 130 อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความเห็นอกเห็นใจที่คณะอภิวัฒน์ 2475 มีต่อคณะอภิวัฒน์ ร.ศ. 130

การที่เด็กหัวเมืองอายุเพียง 11 ปี แต่มีวุฒิภาวะทางการเมืองถึงขนาดรู้สึก “เห็นใจ”คณะ ร.ศ. 130 ที่ถูกจับกุมลงโทษ นับเป็นสิ่งที่น่าศึกษาว่าเป็นไปได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุน

การที่บุคคลจะมีความคิดเห็นที่ถูกต้องได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประกอบกัน แน่นอนนายปรีดีเมื่อครั้งเยาว์วัยเป็นเด็กช่างคิด ช่างสังเกต วิเคราะห์ อันเป็นคุณลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน แต่ปัญญาความคิดเห็นของท่านจะถูกต้องสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการแนะนำชักจูงจากภายนอก ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ กัลยาณมิตรสองท่าน ที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองในวัยเด็กของนายปรีดี

ท่านแรก คือ นายเสียง พนมยงค์ ผู้เป็นบิดา แม้จะประกอบอาชีพทำนา แต่ก็ส่งเสริมให้บุตรได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ในส่วนตัวของนายเสียงเองก็เป็นผู้มีความคิดอ่านก้าวหน้า ท่านเป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เรียนการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกับหมออาดัมสัน (เป็นแพทย์และหมอมิชชันนารี คนอเมริกันแบ็บทิสต์มิชชัน เป็นอาจารย์แพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชในระยะเริ่มแรก ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระบำบัดสรรพโรค) จนสอบได้ประกาศนียบัตร แล้วทำการช่วยเหลือปลูกฝีแก่ราษฎร และรณรงค์ต่อต้านไข้ทรพิษตามหมู่บ้านต่างๆ เล่ากันว่าตอนเด็กๆ นายปรีดีมีความประทับใจในบทบาทนักพัฒนาเอกชนของบิดาเป็นอันมาก ถึงกับสมมติตัวเองเป็นหมอเล่นปลูกฝีเลียนแบบบิดา

ความสนใจของนายเสียง มิใช่มีแต่เรื่องการทำนาและการบริการสาธารณสุขชุมชนเท่านั้น ท่านยังสนใจกิจการของบ้านเมืองและความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้า ทั้งยังจงใจถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นแก่ลูกชายตั้งแต่อยู่ชั้นประถม นอกเหนือไปจากการปลูกฝังศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังที่นายปรีดีได้เล่าไว้ว่า

 

“แต่เมื่อท่านหลวงวิเสศสาลีกลับกรุงสยามแล้ว ท่านก็ได้ชี้แจงให้ลูกหลานและญาติมิตรทราบถึงวิธีปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ท่านเคยเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร บิดาก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับคำชี้แจงจากท่าน จึงได้นำเรื่องที่ท่านผู้นั้นมาอธิบายชี้แจงให้ผมขณะเป็นนักเรียนประถมทราบเป็นเค้าลางๆ” 

ประสบการณ์และความเห็นบางประการฯ อ้างแล้ว น.21

 

‘หลวงวิเสศสาลี’ ที่กล่าวถึงผู้นี้คือ นายนาค ณ ป้อมเพชร์ หนึ่งในข้าราชการหัวก้าวหน้าที่เข้าร่วมกับเจ้านายและเพื่อนข้าราชการอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 11 ท่าน ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2428) ขอให้ทรงเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบที่เรียกว่า “คอนสติตูชาแนลโมนาคี” (Constitutional Monarchy) หรือ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”

 

หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5
หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5

 

ภายหลัง ‘หลวงวิเลศสาลี’ ได้รับบรรดาศักดิ์และตำแหน่งราชการสูงขึ้นจนกระทั่งเป็น ‘พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา’ ผู้รักษากรุงเก่า อันที่จริงนายเสียงก็เป็นญาติกับพระยาไชยวิชิตฯ หรือ เจ้าคุณกรุงฯ เนื่องจากมารดาของท่านเจ้าคุณกรุงฯ เป็นน้องสาวแท้ๆ ของย่านายเสียง

แม้นายเสียงจะเป็นชาวนาแต่ก็รู้จักคุ้นเคยกับท่านข้าหลวง ผู้รักษากรุงเป็นอย่างดี ท่านเจ้าคุณกรุงฯ ผู้นี้เองที่แนะนำให้บุตรชายของท่านเองกับนายเสียงออกไปบุกเบิกที่ดินทำนาที่อำเภออุทัย ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายหลังสกุล ณ ป้อมเพชร์ และสกุลพนมยงค์มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เมื่อนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ หลานผู้แท้ๆ ของพระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ได้สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดชาวบ้านนอกไกลปืนเที่ยงอย่างนายเสียงจึงสามารถรับรู้ความเป็นไปของโลกสากล ซ้ำยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเผยแพร่แนวความคิดใหม่ในชนบทด้วย

ตอนเด็กๆ นายปรีดีมักได้ยินบิดาสนทนากับชาวนาที่มาปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดายังบอกแก่เพื่อนชาวนาถึงเรื่องที่ได้ยินเจ้าคุณกรุงฯ เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือ สภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใดก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปเรียกร้องรัฐบาลได้ อาศัยบิดาอย่างนายเสียงเป็นกัลยาณมิตรได้ช่วยให้โลกทัศน์ทางการเมืองของเด็กชายปรีดีกว้างไกลกว่าที่สภาพในหัวเมืองจะอำนวยให้ ตอนที่เด็กชายปรีดีสนใจกับขบวนการเก็กเหม็งซึ่งนำโดย ดร. ซุนยัดเซ็น ก็ได้บิดาเป็นผู้ป้อนข้อมูลให้ นายปรีดีเล่าให้ฟังในภายหลังว่า

 

“ในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ยังไม่แพร่หลายในสยาม โดยเฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า บิดาของข้าพเจ้าเห็นว่าข้าพเจ้ากระหายใคร่รู้ข่าวคราวต่างๆ มากนัก จึงได้นำหนังสือพิมพ์เก่าๆ ของญาติของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกมาให้ข้าพเจ้าอ่าน ทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ทีละเล็กละน้อยว่า ระบอบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีข้อเสียหรือข้อบกพร่องอย่างไร ชาวจีนจึงได้ต่อต้านการปกครองระบอบนี้ และเปลี่ยนมาเป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ”

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ อ้างแล้ว น. 16

 

กัลยาณมิตรผู้มีอิทธิพลต่อปฐมทัศน์ทางการเมืองของนายปรีดีอีกท่านหนึ่ง คือ ครูวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ชั้นมัธยมที่โรงเรียน ตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า ครูได้สอนให้นักเรียนรู้จักรูปแบบการปกครองฉบับย่อ ซึ่งนายปรีดียังจดจำได้ดีว่า 

 

“ครูสอนว่าแบบการปกครองประเทศแยกออกเป็นสามชนิด คือ

  1. พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมายเรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’
  2. พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายการปกครองแผ่นดิน
  3. ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเป็นประมุขเรียกว่า ‘รีปับลิก’... มีคณะเสนาบดี การปกครองประเทศตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

ประสบการณ์และความเห็นบางประการฯ น. 38

 

ภายหลังนายปรีดีได้ตั้งข้อสังเกตว่า ครูชั้นมัธยมผู้นี้คงเป็นสายจัดตั้งของคณะ ร.ศ. 130 เพราะนำความคิดประชาธิปไตยมาเผยแพร่แก่นักเรียน โดยเฉพาะช่วงเกิดสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็งกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู นายปรีดียังจำได้ว่า

 

“ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้นก็เปลี่ยนเรื่องเล่นใหม่ให้สมกับสมัย คือเล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย 

ต่อมาในไม่ช้า ความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน 

ประสบการณ์และความเห็นบางประการฯ อ้างแล้ว น. 38 - 39

 

โรงเรียนการเมืองในท้องนา

ความตื่นตัวทางความคิดดังกล่าวได้ส่งผลให้เวลาต่อมา ถือเป็นเหตุปลุกเร้าให้นายปรีดีมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติ เมื่อนายปรีดีสอบไล่ได้ขึ้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมืองแล้วได้เข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบในกรุงเทพฯ แต่เรียนอยู่เพียง 6 เดือนก็ลาออกและกลับไปช่วยบิดาทำนาที่อำเภอวังน้อย ขณะนั้นนายปรีดีมีอายุได้ 15 ปีเศษ

สภาพชนบทไทยแถบลุ่มภาคกลางในสมัยนั้นได้ให้บทเรียนด้านเศรษฐกิจการเมืองแก่นายปรีดีอย่างลึกซึ้ง ตลอดเวลาสองปีเต็ม เด็กในวัยเรียนอย่างท่านได้ใช้ชีวิตหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอย่างชาวนาแท้ๆ คนหนึ่ง นับตั้งแต่ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าวและขนข้าวเปลือกไปสีที่โรงสี ท่านได้สะท้อนชีวิตลำเค็ญของชาวนาจากประสบการณ์ที่ท่านเห็นประจักษ์แก่ตาตัวเองในเวลานั้นว่า

 

“เนื่องจากชาวนาต้องประสบภัยธรรมชาติ เช่น โรคพืช ฝนแล้ง น้ำท่วมมากเกินไป ป่วยไข้ทำงานไม่ได้ ต้องถูกขโมยลักควาย แต่เจ้าของที่ดินก็ไม่ปรานี คือ เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ให้ได้ จึงทำให้ลูกนาอัตคัดขัดสน เจ้าของนาก็ทำการยึดทรัพย์ ตลอดจนข้าวกิน ข้าวปลูกที่ชาวนาพอมีอยู่บ้างนั้น”

 

ในความรับรู้ของนายปรีดี ปัญหาแท้จริงที่เพื่อนชาวชนบทของท่านประสบอยู่นั้น มิใช่มีเหตุมาจากภัยธรรมชาติหรือเทวดาฟ้าดินบันดาล หากเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ท่านพบความจริงว่า นอกจากเจ้าของที่ดินแล้ว ผู้ค้าข้าวเปลือกและเจ้าของโรงสีก็เป็นกลุ่มขูดรีดชาวนาที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ลูกชาวนากรุงเก่าผู้นี้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อท่านพบว่า

 

“ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่าชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ 15-30 วัน และต้องเสียอากรค่านา” 

ประสบการณ์และความเห็นบางประการฯ น. 41

 

ประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ได้สัมผัสชีวิตชาวนาโดยตรงช่วงวัยเยาว์นี่เอง ทำให้นายปรีดีเริ่มมีความคิดอภิวัฒน์แลเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังคำปรารภตอนหนึ่งว่า

 

“จากการที่ปรีดีได้ประสบพบเห็น จากการได้คลุกคลีใกล้ชิดกับชาวนาดังกล่าวแล้ว ปรีดีจึงระลึกถึงคำสอนของครูและเหตุการณ์ต่างๆ…ว่าถ้าเมืองได้มี Parliament คือ สภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรได้แล้ว ก็จะแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎรได้”

ประสบการณ์และความเห็นบางประการฯ น. 41

 

และจากประสบการณ์ในโรงเรียนการเมืองกลางท้องนานี่เอง ทำให้นายปรีดีมีจินตภาพในการอภิวัฒน์ก้าวไปไกลกว่าผู้ก่อการคนอื่นๆ ตรงที่ท่านไม่ต้องการให้การอภิวัฒน์ 2475 เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีผู้เผด็จการคนเดียว มาเป็นคณาธิปไตยที่มีผู้เผด็จการหลายคน หากมุ่งให้เกิดความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับประชาธิปไตยในทางการเมืองด้วย ดังปณิธานที่ท่านกล่าวไว้ในตอนต้นเค้าโครงเศรษฐกิจว่า

 

“ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือ ‘บำรุงสุขสมบูรณ์ราษฎร’”

 

แม้ภายหลังนายปรีดีจะกลายเป็นชนชั้นปกครอง แต่ท่านไม่เคยหลงลืมกำเนิดและอุดมการณ์ในวัยเด็ก จุดยืนเพื่อสามัญชนคนยากไร้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากคำกล่าวที่ท่านประกาศต่อที่ประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึงรู้หัวอกคนบ้านนอกเป็นอย่างดี โดยได้รับความลำบากยากจน เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก”

อย่างไรก็ตาม นายปรีดีมิได้มีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบราชาธิปไตยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ท่านกลับเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สยามเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งได้ ท่านมิได้เชื่อเลยว่าระบอบสาธารณรัฐจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังข้อวิจารณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งท่านเขียนในปี พ.ศ. 2477 ว่า

 

“การปฏิวัติใดหนักไปในทางความคิด ในทางแสวงสิทธิเท่านั้นแล้ว ความสนใจของผู้ปฏิวัติครั้งกระนั้น (การปฏิวัติฝรั่งเศส-ผู้เขียน) มุ่งหนักไปในทางที่จะเปลี่ยนแบบเปลี่ยนบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งการปกครอง เช่น เปลี่ยนแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาเป็นแบบประชาธิปไตยโดยไม่มีพระมหากษัตริย์ เป็นต้น 

อันการเปลี่ยนแต่เพียงแบบเช่นนี้ ประโยชน์ที่จะได้แก่ราษฎรในความสุขสมบูรณ์นั้น ย่อมจะไม่แตกต่างกันนัก เพราะระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอาจประสิทธิ์ประสาทสิทธิที่เอกชนพึงได้รับ เหมือนดั่งกับระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีพระมหากษัตริย์ได้ ปัญหาต่อไปไม่น่าจะสนใจในเรื่องแบบแห่งการปกครอง ควรสนใจในการที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรซึ่งได้รับสิทธิแล้วตามรัฐธรรมนูญ” 

คำนำในประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสและสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต
พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พ.ศ. 2475 โดย ปรีดี พนมยงค์ 

 

ในระหว่างใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวนา นายปรีดีคงมีความแน่ใจมากขึ้นในการเลือกเรียนต่อทางด้านกฎหมาย เพราะกฎหมายย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง รัฐในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมีกฎหมายชุดใหม่ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ตลอดจนประกันความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร

ดังนั้น เมื่อถึงเกณฑ์อายุที่จะเข้าเรียนวิชากฎหมายได้ นายปรีดีจึงตัดสินใจละจากโรงเรียนชีวิตในท้องนา ไปสมัครเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมในกรุงเทพฯ พร้อมกับศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภากับอาจารย์เลเดแกร์ (E. LADEKER) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศของสยามในเวลานั้น

 

หมายเหตุ : ตั้งชื่อเรื่องโดยบรรณาธิการ

ที่มา : ตัดตอนมาจาก สันติสุข โสภณสิริ. “กรุงศีอยุธยาไม่สิ้นคนดี จิตสำนึกอภิวัฒน์ในวัยเยาว์ ปรีดี พนมยงค์”, ใน, “คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์”. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พฤษภาคม 2543)

 

-----------------------

ประชาสัมพันธ์กิจกรรม

PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม

“อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย”

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565
ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เวลา 14.00 - 17.00 น.

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่ : https://pridi.or.th/th/register/pridi-talks-16