Focus
- บทความชิ้นนี้เสนอให้เห็น (1) การต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าซึ่งเป็นดินแดนชนบทอันห่างไกลมีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นบริบทสำคัญของการต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์ (2) การต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์
- ครองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2500 ในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครอง ได้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญ 3 ฉบับได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ และร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ การยกเลิกร่างพระราชบัญญัติชุดนี้สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของครองได้อย่างเด่นชัด อาทิ ครองมีเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพราะว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวกีดกันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจับกุมคุมขังนักการเมือง ลิดรอนเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และประชาชนโดยมิชอบ สร้างความหวั่นเกรงและหวาดกลัวให้แก่ประชาชน จึงเป็นกฎหมายที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
- ปัจจัยหลักที่ทำให้ครองประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองจากครูประชาบาลจนกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ่งแรกที่จะนำมาพิจารณาในที่นี้คือบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของท้องถิ่นที่เขาทำการเคลื่อนไหวคือ ในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นสำคัญ ประกอบกับการสานต่ออุดมการณ์หลังการอภิวัฒน์สยามและประสบการณ์ทำงานเป็นเสรีไทยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
การต่อสู้ของชาวนาในเขตดงพระเจ้า อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์ โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายพื้นที่ที่มีการต่อสู้ของชาวนาก่อนที่ พคท. จะเข้าไปเคลื่อนไหวเขตดงพระเจ้าก็เป็นพื้นที่ประเภทดังกล่าว ชาวนารอบๆ ดงพระเจ้าได้เคลื่อนไหวต่อสู้และมีความขัดแย้งกับรัฐไทยอย่างรุนแรงมาก่อน ความขัดแย้งดังกล่าวได้กลายเป็น “เชื้อไฟ” ให้แก่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. ในเวลาต่อมา บทความชิ้นนี้เสนอให้เห็น (1) การต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าซึ่งเป็นดินแดนชนบทอันห่างไกลมีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นบริบทสำคัญของการต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์ (2) การต่อสู้ของชาวนาเขตดงพระเจ้าภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์
ครอง จันดาวงศ์กับการเมืองของรัฐประชาชาติไทย
เนื่องการต่อสู้ของชาวนาในเขตสว่างแดนดินอยู่ภายใต้การนำของครอง จันดาวงศ์ การทำความเข้าใจการต่อสู้ของชาวนาในเขตดังกล่าวจึงแยกไม่ออกจากการศึกษาชีวิตของเขา ครองเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2451 ที่อำเภอเมือง (ในสมัยนั้นเรียกอำเภอธาตุเชิงชุม) จังหวัดสกลนคร พ่อแม่ของเขาเป็นชาวย้อมีอาชีพทำนา ครอบครัวของครองเคยยากจนมาก่อนแต่เนื่องด้วยความขยันขันแข็งจึงยกฐานะเป็นผู้มีฐานะดีในเวลาต่อมา[1]รองเป็นหนึ่งในเด็กอีสานจำนวนไม่มากนักในสมัยนั้นที่มีโอกาสได้เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษา การศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการสร้างรัฐประชาชาติไทย ในปี พ.ศ. 2441 ร.5 ทรงได้จัดทำแผนการศึกษาหัวเมืองเพื่อสอนภาษาไทยและหลักสูตรส่วนกลางแทนการ ศึกษาท้องถิ่น แต่ในระยะแรกๆ การศึกษาดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัดจนถึงทศวรรษ 2470 จึงมีการศึกษาภาคบังคับสี่ปีในอีสาน[2]การที่ครองมีโอกาสเรียนจนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดคงเป็นเพราะครอบครัวมีฐานะดีและอาศัยอยู่ในตัวเมือง
หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมครองได้ศึกษาต่อจนจบประโยคครูมัธยมและได้รับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่อำเภอสว่างแดนดิน[3] การเปลี่ยนฐานะจากลูกชาวนาชาติพันธุ์ย้อมาเป็นข้าราชการครูของครองเป็นตัวอย่างหนึ่งของการผนวกเอาผู้ที่ไม่ใช่คนไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย นอกจากรับราชการครูแล้วครองยังเป็นเกษตรกรที่ขยันขันแข็งจนสามารถยกฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่งของอำเภอสว่างแดนดิน ในช่วงเวลาดังกล่าวครองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและไม่ได้มีความคิดก้าวหน้าแต่อย่างใด เช่น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ครองยังเห็นอกเห็นใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่าที่จะสนับสนุนคณะราษฎร[4]
ถึงแม้ว่าครองจะไม่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่อชีวิตของเขาอย่างใหญ่หลวง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญหลังการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการสถาปนาระบอบรัฐสภาขึ้นในประเทศไทยระบอบรัฐสภาได้เปิดช่องทางใหม่ในการแสดงออกของคนในภูมิภาคต่อปัญหาต่างๆ ของพวกเขาผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ระบอบรัฐสภา ส.ส. อีสานได้แสดงบทบาทอย่างโดดเด่นในสภา ความโดดเด่นของ ส.ส. อีสานมาจากความแข็งขันในการทำหน้าที่ในสภาดังจะเห็นได้จากการที่ ส.ส. อีสานอภิปรายมากกว่า ส.ส. ภาคอื่นๆ[5] และการอภิปรายของพวกเขาก็เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนจนพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นถึงกับเอ่ยปาก ว่า ‘ทำไมพวก ส.ส. ทางภาคอีสานจึง “เฮี้ยว” นัก’[6]
นอกจากนี้ ความโดดเด่นของพวกเขายังเกิดจากความสามารถในการรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อไม่ไว้วางใจรัฐบาล การอภิปรายของพวกเขาประสบความสำเร็จหลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ. 2478 พระยาพหลฯ ต้องลาออกเพราะกระทู้ที่เสนอโดยเลียง ไชยกาล (ส.ส. อุบลราชธานี) เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ ในเดือนกันยายน 2481 รัฐบาลต้องยุบสภาเพราะแพ้การลงมติในญัตติที่เสนอโดยถวิล อุดล (ส.ส. ร้อยเอ็ด)[7] ความสำเร็จครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ ส.ส. อีสานคือการล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในการอภิปรายคัดค้านโครงการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรญ์ในปี พ.ศ. 2487 ผู้มีบทบาทอย่างแข็งขันในกรณีนี้คือทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส. อุบลราชธานี) และ เตียง ศิริขันธ์ (ส.ส. สกลนคร)[8]
ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ ส.ส.อีสานที่มีบทบาทเด่นในรัฐสภาคือการเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนยากคนจนในสังคม พวกเขาเคลื่อนไหวเพื่อลดอากรค่านา ยกเลิกเงินรัชชูปการ ลดอาญาบัตร ค่าโค กระบือ การชลประทาน รวมทั้งการช่วยเหลือกรรมกร การเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนอีสาน[9] ด้วยเหตุที่พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจชาวชนบทที่มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นทำให้พวกเขาต้องขัดแย้งกับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารที่ต้องการขยายและพัฒนากองทัพให้ทันสมัยอย่างขนานใหญ่
ในระหว่างปี พ.ศ. 2476-2481 ส.ส.อีสานได้วิจารณ์งบประมาณทางการทหารและคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินที่ไม่สนใจความต้องการอันเร่งด่วนของประชาชนในชนบท ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้ตั้งคำถามต่อการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในกิจการด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง เขาตั้งคำถามว่าเราควรจะเริ่มการป้องกันประเทศจากที่ใด? เราควรจะเริ่มจากการสร้างบ้านหรือเริ่มจากการสร้างรั้ว[10] (คำขวัญของรัฐบาลในขณะนั้นคือประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว)
พวกเขาเห็นว่าการที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณไปพัฒนากองทัพนั้นทำให้ประเทศไม่มีโอกาสที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ชาวชนบทจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเองการวิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองดังกล่าวทำให้ ส.ส.อีสานคัดค้านงบความมั่นคงอยู่เสมอในขณะที่เรียกร้องงบประมาณเพื่อการพัฒนาชนบทอย่างแข็งขัน ด้วยจุดยืนดังกล่าวทำให้ ส.ส.อีสานกลายเป็นผู้นำในการคัดค้านเผด็จการทหาร[11] พวกเขาเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของนายทหารระดับสูงและวิพากษ์วิจารณ์งบลับของทหาร คัดค้านการควบคุม สื่อมวลชน คัดค้านอำนาจอย่างไม่มีขอบเขตของนายกรัฐมนตรี[12]และประณามจอมพล ป.ว่าเป็นเผด็จการเช่นเดียวกับ ฮิตเลอร์ มุสโสลินี และขุนศึกญี่ปุ่น[13]
ในขณะที่เป็นปฏิปักษ์กับจอมพล ป. ส.ส. อีสานกลุ่มนี้สนับสนุนปรีดี พนมยงค์เพราะว่าพวกเขาศรัทธาในนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของปรีดี[14] ในบรรดาผู้นำของคณะราษฎรปรีดีเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องและมีอุดมการณ์มากที่สุดคนหนึ่ง[15] ปรีดีถือกำเนิดจากครอบครัวคหบดีในชนบทภาคกลางของไทย เขามีโอกาสได้ไปศึกษาในฝรั่งเศสจนได้ปริญญาเอกทางนิติศาสตร์
ในขณะที่อยู่ที่ฝรั่งเศสปรีดีได้เข้าร่วมถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบของการปฏิวัติรัสเซียต่อประเทศโลกที่สามด้วย[16]
ในปี พ.ศ. 2476 ปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ในเค้าโครงฯ ปรีดีเสนอให้โอนที่ดินเป็นของรัฐให้ชาวนาทำงานให้รัฐบาลโดยได้รับค่าแรงและบำนาญ นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องเป็นผู้ผลิตและค้าข้าวเองเพื่อขจัดพ่อค้าคนกลาง[17]ปรีดียังเสนอให้จัดตั้งสหกรณ์และนำเอาเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรในตอนท้ายของเค้าโครงฯ ปรีดีกล่าวถึงการมาถึงของโลกพระศรีอาริย์เช่นเดียวกับขบวนการผู้มีบุญของอีสาน เขาหวังว่าการดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่าศรีอาริยะก็จะ ‘พึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยทั่วหน้า’[18]
พันธมิตรระหว่างนักการเมืองอีสานกลุ่มนี้กับปรีดีเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อจุดยืนทางการเมืองของครอง หากพิจารณาดูการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองและเลือกข้างในความขัดแย้งทางการเมืองของครอง เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่ว่านี้อย่างชัดแจ้ง ชีวิตทางการเมืองของครองเริ่มขึ้นเมื่อเตียง ศิริขันธ์เพื่อนสนิทของเขาผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นผู้นำของ ส.ส. อีสานลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ในปี พ.ศ. 2481 ครองได้ช่วยเตียงหาเสียงในเขตอำเภอสว่างแดนดินและวานรนิวาสอย่างแข็งขันจนทำให้เตียงชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น[19] ต่อมาเตียงได้ชักนำเอาครองมาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มข้นกว่าการหาเสียงเลือกตั้งหลายเท่าตัวนั่นคือ การเคลื่อนไหวใต้ดินร่วมกับขบวนการเสรีไทย ในปี พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นรุกเข้าประเทศไทย หลังจากทำการต่อต้านอย่างไม่จริงจัง จอมพล ป. ได้ร่วมเป็น พันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีไม่พอใจในการกระทำดังกล่าวจึงได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมาต่อต้านโดย มี ส.ส. อีสานคนสำคัญหลายคนเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย[20]
เตียงในฐานะที่เป็นผู้นำของขบวนการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานในภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2485 เตียงได้จัดการประชุมเตรียมการปฏิบัติการของเสรีไทยสายอีสานขึ้นที่โรงแรมตราชูในตัวเมืองอุดรธานีหลังจากนั้นเตียงได้ตั้งสำนักงานกลางที่สกลนครเพื่อติดต่อกับกรุงเทพฯ และสำนักงานใหญ่ของสัมพันธมิตรในเกาะลังกา[21] ภารกิจหลักประการหนึ่งของเสรีไทยสายอีสานคือการระดมชาวบ้านเข้าร่วมฝึกอาวุธเพื่อการนี้เตียงได้จัดตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยขึ้นที่สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครพนม อุบลราชธานี และหนองคาย โดยมีเทือกเขาภูพานเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหว[22]
อนึ่ง มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกับการเข้าร่วมเสรีไทยของชาวชนบทอีสาน การที่พวกเขาเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าพวกเขามีความเป็นไทยอย่างเต็มเปี่ยมแต่จริงๆ แล้วมีชาวชนบทเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขาหรือชายแดนที่ยังถือว่าพวกเขาเป็นลาวแต่เข้าร่วมเสรีไทยเพราะศรัทธาในตัวผู้มาชักชวนอย่างเช่นเตียง หรือครอง[23] ส่วนอีกพวกหนึ่งสนับสนุนเสรีไทยเพราะพวกเขาเคยเห็นเครื่องบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดในละแวกบ้านจึงมีความกังวลว่าหากญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง ชีวิตของพวกเขาจะตกอยู่ในอันตรายจึงยินดีเข้าร่วมกับเสรีไทย[24] เป็นที่แน่นอนว่าบรรดาชาวชนบทที่ยังคงความเป็นลาวไว้อยู่นี้เมื่อได้เข้าร่วมงานกับขบวนการเสรีไทยแล้วย่อมมีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาชาติไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
สำหรับที่สกลนคร ครองทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของเตียงในการชักชวนชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการเพื่อขยายกำลังพลพรรคเสรีไทย หาที่ตั้งค่าย สร้างสนามบินลับ ฝึกอาวุธให้แก่พลพรรค ลำเลียงอาวุธ เวชภัณฑ์ ตลอดจนการหาข่าว[25] พื้นที่ที่ครอง รับผิดชอบคือค่ายดงพระเจ้า บ้านหนองหลวง สว่างแดนดิน[26] ครองทุ่มเทชีวิตให้กับงานเสรีไทยถึงกับยอมลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนสว่างวิทยา รวมทั้งปิดการทำงานเสรีไทยเป็นความ ลับแม้กระทั่งภรรยาของเขาก็ไม่บอกให้ทราบ การที่ครองทุ่มเทชีวิตให้กับเสรีไทยถึงขนาดนี้เกิดจากอะไร? วิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายของครองเห็นว่าเกิดจาก ‘ความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อครูเตียงมากกว่าเหตุผลทางการเมืองเมื่อครูเตียงสั่งให้ทำอะไร ครูครองจะรับปฏิบัติอย่างไม่คิดชีวิต’[27]
ถึงแม้ว่าครองจะเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพราะความศรัทธาที่มีต่อเตียงเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้สร้างทุนทางการเมืองอันทรงคุณค่าแก่เขา ประการแรก การทำหน้าที่ขยายสมาชิกเสรีไทยนอกจากจะได้ประสบการณ์ในการจัดตั้งมวลชนแล้วยังเป็นการสร้างเครือข่ายมวลชนที่มีประโยชน์สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปด้วย ประการที่สองในการเคลื่อนไหวเสรีไทย ครองได้เรียนรู้การทำงานในลักษณะองค์กรอันเป็น สิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยมาก่อน ประสบการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของครองในอนาคต
ในการเคลื่อนไหวเสรีไทยถึงแม้ครองจะยังไม่มีความคิดทางการเมืองเป็นของตนเองแต่ก็ได้แสดงออกถึงความเป็นคนเสียสละ เขาได้ใช้ทรัพย์สินเพื่อการเคลื่อนไหวทำให้ยากจนลงจนต้องขายบ้านและรถม้า[28] นอกจากนี้การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นยังแสดงถึงความเป็นคนกล้าหาญมีไหวพริบของครองด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาได้รับมอบหมายให้ไปส่งชาวอเมริกันฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางประเทศลาว ขากลับถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ เขาหาทางหลบหนีโดยบดใบยาสูบจนเป็นผง สาดเข้าตาทหารญี่ปุ่น แล้วจู่โจมแย่งปืนยิงทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต จากนั้นได้เดินทางมายังฝั่งแม่น้ำโขงพบทหารญี่ปุ่นสกัดอยู่จึงลงมือโจมตีแล้วว่ายน้ำมาขึ้นเรือกลางลำน้ำโขงกลับมายังฝั่งไทย[29]ความเสียสละกล้าหาญของครองได้แสดงออกจนถึงวันที่เขาเดินสู่หลักประหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 (จะกล่าวถึงต่อไป)
ภายหลังที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. 2488 เสรีไทยในฐานะกองกำลังต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นได้ยุติบทบาทลง ปรีดีได้เสนอผ่านเตียงให้ครองกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งศึกษาธิการ แต่ครองปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เขาเลือกที่จะเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกันกับพลพรรคเสรีไทยที่มาจากชนบทคนอื่นๆ[30] อย่างไรก็ดีครองยังคงทำงานให้ปรีดีและเตียงต่อไป
งานชิ้นสำคัญที่เขาได้รับมอบหมาย คือการหาที่อยู่ให้ชาวเวียดนามอพยพ ในช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นเสรีไทยได้ร่วมมือกับขบวนการกู้ชาติของลาวและเวียดนามอย่างใกล้ชิด[31] ภายหลังสงครามปรีดียังคงให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการเหล่านั้นต่อไป เมื่อญี่ปุ่นถอนตัวออกจากลาว ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามายึดครองลาวอีกครั้ง ขบวนการลาวอิสระและเวียดมินห์ได้ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสทำให้เกิดสงครามละลอกใหม่ในลาว ก่อนการรบที่ท่าแขก ตัวแทนเวียดมินห์ได้เจรจากับฝ่ายไทยเกี่ยวกับการขออพยพชาวเวียดนามในลาวมายังภาคอีสานซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นด้วย ปรีดีมีนโยบายให้จัดหาที่อยู่และการงานแก่ผู้อพยพเหล่านี้ เตียงได้เดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดในภาคอีสานเพื่อหาวิธีการช่วยชาวเวียดนามอพยพ[32]
ในขณะนั้นมีชาวเวียดนามอพยพส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่หนองคายกว่า 30,000 คน เตียงได้มอบให้สวาสดิ์และสวัสดิ์ ตราชู กับ สนิท ประสิทธิพันธ์ โยกย้ายชาวเวียดนามกลุ่มนี้ประมาณ 20,000 คนไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนที่เหลือกว่า 10,000 คน ครองเป็นผู้ดำเนินการหาที่ทำกินให้ การช่วยเหลือครั้งนี้ได้ทำให้ครองมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับชาวเวียดนามอพยพ ในยามคับขันชาวเวียดนามเหล่านี้เคยให้ที่พักพิงแก่เขา นอกจากนี้ การติดต่อสัมพันธ์กับชาวเวียดนามอพยพยังมีผลต่อการยกระดับความคิดทางการเมืองของครองอีกด้วย การเรียนรู้ความคิดสังคมนิยมและวินัยการจัดตั้งที่เข้มงวดจากชาวเวียดนามอพยพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครองสามารถยกระดับความคิดทางการเมืองและการทำงานของเขาให้สูงขึ้น[33]
การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองยังคงผันผวนและความผันผวนดังกล่าวได้ส่งผลต่อชีวิตทางการเมืองของครองอย่างลึกซึ้ง ช่วงปีแรกๆ หลังสงครามเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปรีดีและ ส.ส. อีสาน ขณะที่จอมพล ป. ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นได้ตกเป็นอาชญากรสงคราม ปรีดีได้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2489 เขาได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีผู้นำคนสำคัญของ ส.ส. อีสาน เช่น เตียง ทองอินทร์ ถวิล และจำลอง ดาวเรือง (ส.ส.มหาสารคาม) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่แล้วปรีดีก็เผชิญกับมรสุมทางการเมืองเมื่อถูกใส่ร้ายว่าอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ ร. 8 และต้องลาออก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เข้ารับตำแหน่งแทน วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศการรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การคืนสู่อำนาจของจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2491[34]
ภายหลังคืนสู่อำนาจแล้วจอมพล ป. ได้ทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง เป้าหมายของความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้พุ่งไปที่ ส.ส.จากภูมิภาค ทั้งนี้เพราะพวกเขาสนับสนุนปรีดี ระหว่างปี พ.ศ. 2488-2490 ในหมู่ ส.ส. ที่สนับสนุนปรีดีซึ่งมีทั้งสิ้น 97 คน มีถึง 96 คน เป็น ส.ส.ที่มาจากภูมิภาค ส.ส.อีสานที่สนับสนุนปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน[35]ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ทองอินทร์ ถวิล จำลอง พร้อมด้วยทองเปลว ชลภูมิ เลขานุการของปรีดีถูกจับกุมและถูกตำรวจนำตัวจากห้องขังไปสังหารอย่างทารุณบริเวณ กม. 14-15 ถนนพหลโยธิน บางเขน ในเวลา 2 นาฬิกาของวันที่ 4 มีนาคม[36]
สำหรับเตียงภายหลังการรัฐประหารได้หลบหนีการจับกุมไปหลบซ่อนที่ภูพานที่ที่เขาเคยใช้เคลื่อนไหวเสรีไทย ครองได้ช่วยเหลือเตียงหลบหลีกการจับกุมในเทือกเขาภูพานเพื่อการดังกล่าวครองต้องเดินทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้านและภูพาน[37] และถูกจับเมื่อเขามาส่งหมอที่เขาพาไปรักษาเตียงในภูพานกลับหมู่บ้านในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2491[38] ครองถูกคุมขังอยู่ระยะหนึ่งจึงได้รับการประกันตัว และต้องต่อสู้คดีอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2494 ศาลจึงยกฟ้อง การถูกจับกุมครั้งนี้ทำให้ครองได้รู้จักกับปัญญาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความคิดก้าวหน้ารวมทั้งบุคคลในเครือข่ายของ พคท. ด้วย เริ่มแต่ปี พ.ศ. 2491 พคท. ได้เสนอคำขวัญเข้าสู่ชนบท พรรคได้ส่งผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่เข้าสู่ชนบท[39] ในปี พ.ศ. 2492 คนของ พคท. ชื่อเกิดได้มาอยู่กับครองในช่วงสั้นๆ ต่อจากนั้น ดำริห์ เรืองสุธรรมซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำของ พคท. ก็ได้มาอยู่ที่บ้านของครอง หลังจากดำริห์จากไป สมควร พิชัยกุล ได้มาติดต่อสัมพันธ์กับครองแทนจนถึงปี พ.ศ. 2495 ทั้งสามคนนี้มาฝึกใช้แรงงานเท่านั้นไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวมวลชน[40]
ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. คนสุดท้ายที่มาสัมพันธ์กับครอง คือ ถวิล พงศ์สกุล เขาติดต่อกับครองจนกระทั่งครองถูกจับในปี พ.ศ. 2504 การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนเหล่านี้และกับชาวเวียดนามอพยพ (ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว) ทำให้ครองสามารถพัฒนายกระดับความคิดทางการเมืองจนมีจุดยืนเป็นของตนเอง ไม่ผูกติดกับความคิดของเตียง ดังเช่นที่เป็นมา ว่ากันว่าทั้งคู่เคยโต้เถียงกันและถึงกับมีการตั้งคำถามว่าจะปฏิรูปหรือปฏิวัติ ขณะที่เตียงเลือกการปฏิรูป ครองสนับสนุนการปฏิวัติ[41]
ในปี พ.ศ. 2493 ครองได้ลงสู่สนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร เขตอำเภอสว่างแดนดิน ขณะดำรงตำแหน่งครองปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันและตรงไปตรงมา เขาได้ใช้เวลาพบปะพูดคุยกับประชาชนเพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพวกเขา แล้วผลักดันให้สภาจังหวัดหาทางแก้ไข
ครองยังเป็นธุระให้กับประชาชนที่มาติดต่อกับสภาจังหวัด เมื่อไปขอคำปรึกษาครองจะช่วยชี้แจง แนะนำ อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี จนเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน นอกจากนี้ ครองยังใช้ความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนมาช่วยแก้ปัญหาให้กับทางราชการด้วย ในการสร้างถนนจากตัวอำเภอสว่างแดนดินไปยังบ้านโคกสีซึ่งยาวประมาณ 19 กิโลเมตร เนื่องจากเส้นทางผ่านที่ทำกินของประชาชนจึงไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน เมื่อครองทราบปัญหา ก็ได้ทำการเจรจากับเจ้าของที่ดิน ด้วยความสุภาพ มีเหตุผล ประกอบกับเป็น ที่รู้จักมักคุ้นกับคนในท้องถิ่นจึงทำให้ประชาชนหันกลับมาให้ความร่วมมือกับทางการ การก่อสร้างทางเส้นนี้จึงสำเร็จลุล่วงไปได้[42]
ต่อมาครองได้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 แต่ไม่ได้รับเลือก เตียงเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง สาเหตุที่ครองลงสมัครรับเลือกตั้งเกิดจากความขัดแย้งทางความคิดกับเตียง หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ครองได้เริ่มการจัดตั้งมวลชนอย่างจริงจังโดยมีแรงจูงใจมาจากประการแรก การที่ถูกเตียงสบประมาทว่าทำอย่างไรก็สู้เตียงไม่ได้ เตียงได้เป็นถึงรัฐมนตรีแล้วแต่ครองแม้แต่ ส.ส. ยังไม่ได้เป็น ประการที่สอง เป็นการตระเตรียมการเคลื่อนไหวกับขบวนการสันติภาพ[43]
เมื่อจอมพล ป. คืนสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2491 นั้นเขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศอย่างขนานใหญ่ ในช่วงปี พ.ศ. 2481-2484 และ 2484-2490 จอมพล ป. ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบรักษาความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย (equidistance) และนโยบายสนับสนุนญี่ปุ่นตามลำดับ แต่ว่าภายหลังที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลของเขาดำเนินนโยบายที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกา
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของนโยบายดังกล่าวมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ภายในประเทศ การเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันของฝ่ายซ้าย การยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ และนโยบายของไทยต่อสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐบาลปรีดีสร้างความหวาดกลัวในหมู่ทหาร พวกอนุรักษนิยม และพวกนิยมเจ้า ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน และการขยายตัวของความขัดแย้งในอินโดจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ จอมพล ป. มีนโยบายใกล้ชิด กับสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่ส่งทหารไปร่วมรบกับกองกำลังของอเมริกาในเกาหลีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2493 ต่อมาในปีเดียวกันนั้นไทยก็ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการป้องกันร่วมกัน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกา หลังจากที่โฮจิมินห์ได้รับชัยชนะที่เดียนเบียนฟู ความสำคัญของไทยในยุทธศาสตร์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมาก[44]
การส่งทหารไปร่วมรบในเกาหลี การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาของรัฐบาลจอมพล ป. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนอย่างรุนแรง[45]ในช่วงระยะเวลาเดียวกันก็ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพในประเทศไทย ตามความเห็นของวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ สันติภาพนั้นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมไทยเพราะพุทธศาสนาได้ยึดถือเอาสันติภาพเป็นรากฐานหล่อเลี้ยงจิตใจของพุทธศาสนิกชน ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัญหาสงครามและสันติภาพก็เป็นที่สนใจของสังคมไทย สำหรับการก่อตัวของการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในทศวรรษ 2490 นั้น เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในยุโรป
หลังจากการประชุมที่กรุงสตอกโฮล์มของขบวนการสันติภาพสากลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 ในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน อัศนี พลจันทร นักเขียนชื่อดังได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘เพื่อสันติภาพ’ ในหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาในการเตรียมก่อสงครามรุกรานและเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วโลกให้ร่วมมือกันต่อต้านสงครามโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ผิวพรรณ ศาสนา ประเพณี ภาษา เพศ และวัย[46]หลังจากผ่านการเคลื่อนไหวระยะหนึ่งก็ได้มีการก่อตั้ง ‘คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย’ ขึ้น เมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2494 โดยมีผู้สนับสนุนประมาณ 130,000 คน ผู้สนับสนุนขบวนการสันติภาพที่สำคัญมาจากสื่อมวลชน กรรมกร นักศึกษา พระสงฆ์ และผู้นำใน ส่วนภูมิภาค[47]
การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพนอกจากเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวในส่วนภูมิภาคอีกด้วย การเคลื่อนไหวในส่วนภูมิภาคที่เด่นที่สุดคือการเคลื่อนไหวที่สกลนครและศรีสะเกษ ที่สกลนครครองได้จัดการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพขึ้น เขาได้รณรงค์ต่อต้านนโยบายต่างประเทศของไทยและสหรัฐอเมริกา ต่อต้านการส่งทหารไทยไปรบในเกาหลี สนับสนุนนโยบายสันติภาพ เป็นกลาง และต่อต้านเผด็จการทหาร บ้านของครองเป็นศูนย์การเคลื่อนไหวที่คอยรับเอกสารจากกรุงเทพฯ แล้วแจกจ่ายไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนลงนามคัดค้านสงคราม สนับสนุนสันติภาพ ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนจะรวบรวมรายชื่อประมาณ 50 รายชื่อในหมู่บ้านของพวกเขาแล้วนำมาส่งให้ครองที่บ้าน
เมื่อรวบรวมรายชื่อได้มากพอสมควรครองก็จะนำรายชื่อเหล่านั้นไปส่งให้คณะกรรมการสันติภาพฯ ที่กรุงเทพฯ ระหว่างเดือนกันยายนกับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2495 ครองเดินทางไปตามตำบลต่างๆ เพื่อทำการกล่าวปราศรัยตามตลาดหรือริมถนน แจกจ่ายเอกสารและรวบรวมรายชื่อผู้ต่อต้านสงคราม วิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายของครองได้กล่าวคำปราศรัยในฐานะตัวแทนของโรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 2 ในที่ประชุม สันติภาพที่วัดโพธิ์ศรีซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน ในที่ประชุม วิทิตได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายของสงครามที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินและเรียกร้องสันติภาพ[48]
จากบทบาทอันแข็งขันครองได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปประชุมสันติภาพที่ปักกิ่ง แต่ไม่ทันได้เดินทางก็ถูกจับกุมเสียก่อน[49]การเคลื่อนไหวสันติภาพเผชิญกับการปราบปรามจากทางการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ในระยะแรกมีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 104 คน ต่อมาก็มีผู้ถูกจับกุมอีกจำนวนหนึ่งหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแล้วตำรวจได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสิ้น 54 คนในข้อหากบฏ คดีนี้ต่อมาได้รับการเรียกขาน ว่าเป็น ‘กบฏสันติภาพ’[50]
การถูกจับกุมครั้งนี้ทำให้ครองได้รู้จักกับนักศึกษา ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักกฎหมาย และนักการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้าหลายคน อาทิ ปาล พนมยงค์ (บุตรชายของปรีดี) น.ต. มนัส จารุภา สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เป็นต้น การใช้ชีวิตกับคนเหล่านี้จึงเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของครอง ดังข้อความในจดหมายที่เขาเขียนถึงลูกชาย ว่าการติดคุกครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘การได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย’ ทำให้มีโอกาสได้ ‘ศึกษาความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าความรู้ในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ซึ่งมีค่ามากกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเสียอีก’
นอกจากนี้ การต้องโทษครั้งนั้นยังสร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมให้แก่ครองอีกด้วย ‘การถูกต้องขังทางการเมืองถือว่ามีเกียรติใหญ่หลวงเพราะเราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมเพื่อคนส่วนข้างมากที่ถูกเอาเปรียบ ความผิดทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม เป็นความผิดที่ไม่เป็นความผิด เป็นความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติให้ผิด’[51]
ในช่วงสุดท้ายของการใช้ชีวิตในที่คุมขัง ครองได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปสมัคร ส.ส. ที่สกลนคร หลังจากที่จอมพล ป. ประกาศจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ครองได้รับอนุญาตให้เดินทางไปสมัครรับเลือกตั้ง แต่หลังจากสมัครแล้วต้องกลับเข้าที่คุมขังอีก ก่อนเลือกตั้งประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงได้รับการประกันตัวและมีโอกาสหาเสียง เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่เป็นที่สงสัยว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนั้นครองยังคงไปมาหาสู่กับมวลชนที่เป็นฐานเสียงของเขาอย่างสม่ำเสมอ เขาเล่าเรื่องการถูกคุมขัง ประสบการณ์การต่อสู้ และให้การศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่มวลชนเหมือนที่เคยทำมา[52]
ครองไม่ต้องรอนานที่จะมีโอกาสแก้ตัวในการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม จอมพล ป. ได้ใช้วิธีการต่างๆ มาช่วยให้พรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง ทำให้ความนิยมของจอมพล ป. ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป.[53] หลังการรัฐประหารสฤษดิ์ได้ประกาศจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 15 ธันวาคมปีเดียวกัน ครองซึ่งได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากมีการนิรโทษกรรมในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาลในวันที่ 20 กันยายน ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งโดยครั้งนี้เขาสมัครในนามพรรคเศรษฐกร พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่มี เทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค และมีแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรค[54]
การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวทั้งจังหวัด ในการหาเสียง ครอง และผู้สมัครร่วมทีม ได้แก่ ทองพันธ์ สุทธิมาศ สวาสดิ์ ตราชู พร้อมด้วยผู้ช่วยอีกสามคนได้ปั่นจักรยานที่มีเครื่องขยายเสียงแบบใช้ถ่านไฟฉายติดท้ายตระเวนหาเสียงไปตามอำเภอต่างๆ ของสกลนครแบบค่ำไหนนอนนั่น ปั่น มิ่งขวัญ ซึ่งช่วยครองหาเสียงกล่าวว่าที่พักก็อาศัยค้างคืนกับชาวบ้าน ส่วนอาหารก็ได้จากชาวบ้านเช่นกัน อนึ่ง ครองได้ห้ามทีมงานของเขาดื่มสุราระหว่างการหาเสียง[55]
ครองใช้เวลาส่วนใหญ่หาเสียงในอำเภออื่นๆ ที่คนรู้จักเขาน้อย ส่วนที่สว่างแดนดินมวลชนในพื้นที่เป็นผู้จัดการหาเสียงเองโดยพวกเขาจะจัดแบ่งความรับผิดชอบเป็นตำบลและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ในระหว่างการหาเสียงมีประชาชนที่ศรัทธาในตัวครองบริจาคเงินและสิ่งของให้ด้วย[56]
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าครองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมใจปรารถนา[57] ในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครอง ได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ 3 ฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ และร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ เหตุผลของในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คือ พ.ร.บ. ดังกล่าวกีดกันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจับกุมคุมขังนักการเมือง ลิดรอนเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และประชาชนโดยมิชอบ สร้างความหวั่นเกรงและหวาดกลัวให้แก่ประชาชน จึงเป็นกฎหมายที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษนั้นเสนอให้ขยายการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงผู้ต้องโทษทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศ และร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะการปกครองส่วนท้องที่ พ.ศ. 2457 ให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้ในวาระคราวละ 5 ปี โดยการลงคะแนนลับเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. การแก้ไขเช่นนี้นอกจากจะสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังจะทำให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถโดยความเห็นชอบจากประชาชน รวมทั้งจะทำให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น และจะเป็นการขจัดผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมิให้กดขี่ประชาชนไปตลอดชีวิต[58] จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ครองร่วมผลักดันล้วนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะร่างที่หนึ่งและสามถือได้ว่ามีความก้าวหน้า ทันสมัยมาก และมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครองประสบความสำเร็จทางการเมือง? หากเราพิจารณาเส้นทางการเมืองของครองจากครูประชาบาลจนกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพบว่าความสำเร็จของครองขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการ สิ่งแรกที่จะนำมาพิจารณาในที่นี้คือบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของท้องถิ่นที่เขาทำการเคลื่อนไหว
ในสมัยนั้นสว่างแดนดินยังเป็นถิ่นทุรกันดาร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วมก็ทำให้เกิดความอดอยากทั่วไป การคมนาคมไม่สะดวกทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำผลผลิตไปขายยังตลาดสูง ซ้ำยังถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย เมื่อพวกเขาไปติดต่อราชการจะถูกเจ้าหน้าที่ดุด่า ดูถูกเหยียดหยาม รวมทั้งถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วย[59] ความเดือดร้อนยากเข็ญของประชาชนดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของครองเป็นอย่างดี
ลำพังแต่สภาพการณ์ภายนอกย่อมไม่เพียงพอที่จะทำให้ครองประสบความสำเร็จได้ ความสำเร็จของเขายังมาจากปัจจัยภายในตัวเขาเองด้วย ครองมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้ที่คัดค้านและผู้ที่สนับสนุนเขา คมสรรค์ มาตุคาม ผู้เขียนหนังสือต่อต้านครองได้ยอมรับว่าครองเป็นคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น สุภาพ มีเหตุผล สุขุม รอบคอบ ไม่ถือตัว กล้าหาญ ไม่ยอมต่อการบังคับขู่เข็ญของผู้ใด แต่ก็รับฟังความเห็นของผู้อื่นถึงแม้ว่าความเห็นนั้นจะไม่ตรงกับความเห็นของเขา[60] ส่วนผู้สนับสนุนครองให้เหตุผลในการติดตามครองว่าเป็นเพราะชอบที่เขา ‘เป็นคนทำงานเสียสละเพื่อส่วนรวม เคารพมติที่ประชุม ไม่ใช่สั่งให้ทำนั่นทำนี่ มีอะไรก็ต้องประชุมกัน’ และเป็นคนตรงไปตรงมา[61]
ความสำเร็จของครองยังเกิดจากการที่เขาประสานการให้การศึกษาทางการเมืองและการจัดตั้งมวลชน เข้ากับการแก้ปัญหาให้มวลชนครองให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง เนื้อหาของคำปราศรัยทางการเมืองของเขามีเนื้อหาไปใน ทิศทางเดียวกับของ ส.ส. อีสานรุ่นก่อนเขา เช่น ทองอินทร์ (ดูข้างบน) ที่เน้นความไม่ยุติธรรมของการจัดสรรงบประมาณ ครองชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนคนยากคนจน แต่เป็นตัวแทนของนายทุน ขุนศึก
ดังนั้น พวกเขาจึงนำเอางบประมาณซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในทางการทหารเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกระทรวงที่มีความสำคัญต่อชีวิตของประชาชน อย่างเช่นกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ กลับได้งบประมาณน้อยมาก ครองเสนอให้เปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าวโดยการเลือกผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของคนยากจนให้เข้าไปจัดสรรงบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด[62]กล่าวอย่างรวบรัดนี่คือการสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นขั้นต้นให้แก่คนยากคนจน
ในทัศนะของครอง การปลุกระดมมวลชนให้ตื่นตัวทางการเมืองอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เมื่อประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง มองเห็นความอยุติธรรมและต้องการจะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ ก็ต้องสร้างองค์กรจัดตั้งของพวกเขาขึ้นมา ครองเห็นว่าการทำงานความคิดทางการเมืองมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการจัดตั้ง หากไม่มีการจัดตั้งการให้การศึกษาทางการเมืองก็เป็นเรื่องเลื่อนลอย อย่างไรก็ดี การจัดตั้งจะต้องเริ่มจากผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของมวลชน นั่นคือต้องเริ่มจากการรวมกลุ่มอาชีพ (การจัดตั้งทางเศรษฐกิจ) แต่การจัดตั้งองค์กรทางเศรษฐกิจมักจะประสบ ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบกันภายในหมู่สมาชิก ก่อให้เกิดความแตกแยกในที่สุดองค์กรก็จะล่มสลาย เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืนต้องมีกระบวนการยกระดับทางความคิดจากการทำงานเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนไปสู่การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม มีระเบียบวินัย
ในขณะเดียวกันต้องมีการเรียนรู้ ปรึกษาหารือและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การกำหนดแนวทาง นโยบายโครงการมติ (ครองเรียกกระบวนการนี้ว่ากระบวนการทางการเมือง) ถัดไป ต้องมีการมอบหมายภาระหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีกำหนดเวลาการปฏิบัติให้บรรลุผลด้วย (ครองเรียกสิ่งนี้ว่ากระบวนการจัดตั้ง) หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นต้องมีการสรุปบทเรียน ค้นหาสาเหตุของความสำเร็จและความผิดพลาด เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม นี่คือการยกระดับการจัดตั้งซึ่งเป็นหัวใจในการบรรลุเป้าหมาย[63] เมื่อเป็นเช่นนี้การประสานระหว่างการให้การศึกษาทางการเมืองกับการจัดตั้งมวลชนที่กล่าวมานี้จึงเป็นพื้นฐานของกิจกรรมอื่นๆ ที่ครองทำร่วมกับชาวบ้าน งานทั้งปวงจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับสิ่งนี้ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาทางการเมืองและการจัดตั้งมวลชน
ครองได้ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่มวลชนอย่างต่อเนื่อง เขาได้นำพาประชาชนต่อสู้กับนายทุนเงินกู้ที่ใช้กลโกงเอาเปรียบประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดิน กลโกงที่นายทุนใช้บ่อยคือเมื่อประชาชนที่กู้นำเงินมาชำระตามสัญญาก็หลบหลีก แต่เมื่อครบสัญญาแล้วก็ยึดที่ดิน ด้วยที่ครองเป็นคนตรงไปตรงมาแม้ว่านายทุนเงินกู้จะเป็นญาติของภรรยาเขาก็ไม่ยกเว้น[64] นอกจากนี้ ครองยังช่วยเหลือประชาชน ที่ถูกข้าราชการกลั่นแกล้ง ข่มเหง เขาทำการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน จนข้าราชการที่ไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ พวกที่ชอบรีดไถ ดุด่าประชาชน จงเกลียดจงชังเขาเป็นยิ่งนัก แต่ครองก็มิได้ใส่ใจยังคงเดินหน้า ต่อสู้เพื่อประชาชนต่อไป[65]
การพัฒนาท้องถิ่นเป็นอีกงานหนึ่งที่ครองใส่ใจ เขาได้ร่วมมือกับประชาชนจากหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านง่อน บ้านถ่อน บ้านเหล่า บ้านหนองพะเนาว์ บ้านดงขวาง บ้านเปือย บ้านดง บ้านโคกพุทรา บ้านหวาย บ้านทุ่งนาศรีนวล เป็นต้น ช่วยกันสร้างกุฏิถวายวัดโพธิ์ศรี โดยที่ประชาชนบริจาคไม้ครองจ่ายค่าเขียนแบบและอุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อสร้างกุฏิพระสูงสองชั้นสำเร็จแล้วประชาชนเสนอให้ตั้งชื่อกุฏิดังกล่าวตามนามสกุลของครอง แต่ครองกลับเสนอให้เรียกว่าประชานิมิตรแทนเพื่อแสดงว่าเป็นผลจากการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนพร้อมทั้งให้การศึกษาแก่ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญและพลังของการทำงานร่วมกัน[66]
การสร้างทางติดต่อระหว่างหมู่บ้านเป็นงานพัฒนาอีกงานหนึ่งที่ครองสร้างขึ้นโดยอาศัยประเพณีทางศาสนาที่คนอีสานยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน เพื่อที่จะสร้างถนนเขาได้จัดตั้งกองกฐินที่มีชื่อว่ากฐินสามัคคีธรรมขึ้นมาโดยมีเป้าหมายจะไปทอดกฐินที่บ้านโพนศรี ตำบลวัฒนา แต่ยังไม่มีถนนไปยังบ้านโพนศรี เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้สำเร็จครองได้ชักชวนให้ผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันตัดทางทำถนนเลียบดงพันนาไปหมู่บ้านดังกล่าวจนสำเร็จลุล่วง ต่อมา ประชาชนได้พากันเรียกถนนเส้น ดังกล่าวว่าทางกฐินครูครอง[67]
นอกจากการพัฒนาท้องถิ่นที่กล่าวมาแล้ว ครองยังช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนด้วย ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของชาวนาอีสานในสมัยนั้นคือการหาที่ทำกิน ครองได้นำชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านรอบๆ ดงพระเจ้าเข้าบุกเบิกที่ทำกินบริเวณเหล่าใหญ่ในดง เขาจัดสรรที่ดินโดยแบ่งออกเป็นแปลงแล้วให้ชาวบ้านจับสลาก ต่อมาบริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นบ้านเหล่าใหญ่[68]นอกจากนี้ ครองยังได้จับจองที่ดินที่ดงผาลาดไว้ 800 ไร่ และได้ยกให้ชาวบ้านทั้งหมด[69]
การช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ประชาชนที่ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งของครองคือการช่วยแก้ปัญหาความอดอยากในหลายตำบลของอำเภอสว่างแดนดิน ความอดอยากเกิดจากความแห้งแล้งทำให้ประชาชนไม่สามารถเพาะปลูกได้ เมื่อไปร้องเรียนแล้วนายอำเภอกลับเมินเฉย จนประชาชนได้รวมตัวกันนับพันคนไปร้องเรียนอีกครั้ง ถึงแม้ไม่เชื่อว่ามีความอดอยากจริงนายอำเภอก็ได้ของบประมาณฉุกเฉินมาแก้ไขปัญหา ทางจังหวัดสกลนครได้อนุมัติงบประมาณให้ชาวบ้านมารับจ้างสร้างถนนเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ทางอำเภอไม่ได้ดำเนินการโดยอ้างว่าไม่มีผู้สมัครทำงาน ชาวบ้านยืนยันว่าไม่มีการรับสมัครแต่อย่างใด
เมื่อครองทราบเรื่องจึงเสนอตัวเป็นผู้รับสมัครคนงาน นายอำเภอยอมให้ประกาศแค่ 3 วัน ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น มีผู้มาสมัครทำงานกันอย่างล้นหลาม ภายในเวลาแค่ 2 วันก็สามารถสร้างทางยาว 2 กิโลเมตรได้สำเร็จ ขณะที่ทำการก่อสร้างทางชาวบ้านไม่มีข้าวกิน ครองได้ซื้อข้าวสารมาให้ชาวบ้านยืมก่อนแล้วใช้คืนหลังจากได้ค่าแรงแล้ว[70]
การดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของครองสิ้นสุดลงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501[71] ในวันนั้นครองเดินทางไปปราศรัยและพบปะประชาชนที่บ้านเหล่าโพนค้อ ในเขตอำเภอเมือง ในวันรุ่งขึ้นขณะที่เตรียมเดินทางไปยังหมู่บ้านอื่นก็ทราบจากประชาชนที่รับฟังวิทยุว่ามีการยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ[72] เมื่อเดินทางกลับมาถึงสว่างแดนดินครองได้หลบภัยไปซ่อนตัวที่บ้านดงสวรรค์[73] ทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จจอมพลสฤษดิ์ ได้ทำการจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์กว่า 40 คน ผู้ต้องหาเหล่านี้มีทั้งนักการเมือง นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และผู้นำกรรมกร[74] ทำให้ครองต้องหลบซ่อนอยู่จนถึงต้นปี พ.ศ. 2502 เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงได้เดินทางกลับบ้าน[75]
เนื่องจากมีการประกาศกฎอัยการศึก ครองจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ การเคลื่อนไหวของเขาจึงจำกัดอยู่เฉพาะการเคลื่อนไหวทางสังคมและเศรษฐกิจ ทางสังคมเขาได้มอบให้วิทิตลูกชายคนโตไปแก้ปัญหาแก๊งอินทรีย์แดงซึ่งเป็นการรวมตัวกันของวัยรุ่นที่เลียนแบบจากภาพยนตร์ในสมัยนั้น ภารกิจของวิทิตคือต้องให้การศึกษาให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ให้หันมาทำประโยชน์แก่สังคม ครองแนะนำวิทิตให้สำรวจว่าแต่ละคนมีความสามารถพิเศษด้านใดแล้วนำมาผสมผสานกันในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม การดำเนินการของวิทิตทำให้เกิดวงดนตรีขึ้นสองวงคือคนหนุ่มและรีวิวประชาชน ซึ่งเป็นวงดนตรีสมัครเล่นมีเครื่องดนตรีง่ายๆ เช่น พิณ แคน ซอ ขลุ่ย และกลอง ส่วนมากจะทำการแสดงในงานวัดโดยไม่คิดค่าแสดง วิทิตเห็นว่าการ ที่ครองให้เขาทำกิจกรรมทางสังคมเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการปูทางสู่การสมัคร ส.ส. ของเขาในอนาคต[76]
การตั้งวงดนตรีได้นำไปสู่ผลที่ไม่ได้ตั้งใจแต่มีความสำคัญนั่นคือการร่วมแรงทำงานร่วมกัน การใช้แรงงานช่วยเหลือกันเริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมประมาณ 10 คน พวกเขาร่วมแรงกันเกี่ยวข้าวที่มีการจัดลำดับโดยการจับสลาก เมื่อได้ผลดีในปีต่อมาก็มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ความจริงแล้ว การร่วมแรงทำงานที่เรียกว่าการลงแขกเป็นประเพณีของคนอีสานที่สืบทอดกันมานานแล้ว ประชาชนจะขอแรงให้เพื่อนบ้านมาช่วยทำงานต่างๆ เช่น ดำนาเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน ถางป่า เป็นต้น ในการนี้ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะเป็นคนเลี้ยงอาหารและสุราซึ่งเป็นภาระมากสำหรับครอบครัวที่ยากจน และการลงแขกก็ไม่จำเป็นต้องเวียนทำงานช่วยทุกครอบครัว ครองได้พัฒนาให้การลงแขกซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเป็นครั้งคราวให้เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความต่อเนื่องและมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น
นั่นคือ ทำให้มีลักษณะเป็นองค์กรนั่นเองครองได้แก้ไขจุดอ่อนของการลงแขกโดยทำความเข้าใจกับมวลชนให้สนใจการให้ความช่วยเหลือกันมากกว่าเรื่องอื่น ดังนั้น เมื่อมาทำงานให้ทุกคนเตรียมอาหารมาเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพและต้องทำงานช่วยสมาชิกในกลุ่มจนครบทุกครอบครัว (แต่ก่อนจะช่วยเฉพาะครอบครัวที่วานขอแรง) นอกจากนี้ ครองยังทำให้การช่วยแรงกันมีความเป็นประชาธิปไตยอีกด้วย กล่าวคือ มีการเรียกประชุมสมาชิกเพื่อสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละครอบครัว ตลอดจนออกความคิดเห็นหาทางแก้ไขร่วมกัน ส่วนการทำงานจะเริ่มที่ครอบครัวใดให้ใช้การจับสลาก แต่สมาชิกก็มักจะช่วยครอบครัวที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน หลังจากทำงานเสร็จแล้วก็มีการประชุมสรุปบทเรียนเพื่อยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
จากการปฏิบัติปรากฏว่าการร่วมแรงงานตามแนวความคิดของครองได้ผลดีกว่าการลงแขกที่เคยทำมา ในแต่ละวันจะได้งานมากกว่าและเจ้าภาพก็ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย จึงเป็นที่นิยมทำให้มีสมาชิกขยายตัวไปในหลายหมู่บ้าน[77] ปั่น มิ่งขวัญชาวบ้านโคกสีเล่าว่าเขาได้นำเอาความคิดของครองไปเผยแพร่และชักชวนเพื่อนบ้านมาร่วมงานได้สามคน หลังจากนั้นทั้งสามคนก็ช่วยกันขยายงานไปจนมีผู้เข้าร่วมถึง 90 คน การช่วยเหลือแรงงานกันได้ผลดี สำเร็จรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกบ้าน ทำคลองส่งน้ำ ทำให้เป็นที่พอใจของสมาชิกทุกคน[78] การช่วยเหลือแรงงานที่กล่าวมานี้ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามองค์กรสามัคคีธรรม
ในช่วงปี พ.ศ. 2502-2503 การเคลื่อนไหวมวลชนของครองก้าวหน้าไปอย่างน่าพอใจ การเคลื่อนไหวช่วงนี้เน้นที่การพัฒนาการจัดตั้งและยกระดับความคิดทางการเมืองให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานอันจะส่งผลให้มวลชนศรัทธาในการทำงานร่วมกันเป็นองค์กรยิ่งขึ้นเนื่องจากความสำเร็จในการดำเนินงานความเชื่อมั่นของมวลชนที่มีต่อครองได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความน่าเชื่อถือของแกนนำคนอื่นๆ ในหมู่มวลชน ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่องานขยายตัวได้มีแกนนำจากหมู่บ้านต่างๆ เดินทางมาพบครองมากขึ้นทุกเดือน ส่วนการรวมกลุ่มของประชาชนก็เป็นปีกแผ่นยิ่งขึ้น
การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่น พวกเขาได้ข่มขู่ให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่มวลชนยังเคลื่อนไหวต่อไปรวมทั้งยังได้ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นทั้งนี้เพราะพวกเขาเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ในบางครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาสอดแนมการเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็ได้เกิดการเผชิญหน้ากัน มวลชนที่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งและมีกำลังคนมากได้ผลักดันให้เจ้าหน้าที่ล่าถอยไป การกระทำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าหน้าที่ทำให้พวกเขาสร้างหลักฐานเท็จปรักปรำครองในเวลาต่อมา[79]
เมื่อพิจารณาภายใต้บริบทของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศเราจะเห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครองและมวลชนของเขาได้ไม่ยากนัก ยิ่งการเคลื่อนไหวของพวกเขาขยายตัวไปมากเท่าไรอันตรายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวของครองในครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างจากการเคลื่อนไหวครั้งก่อนๆ ของเขามากนัก แต่ในสายตาของผู้ปกครองที่กรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวของเขาเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของประเทศ เหตุผลของความเชื่อดังกล่าวเกิดจากการประเมินยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยใหม่ในสมัยจอมพล สฤษดิ์
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ‘ปัญหาอีสาน’ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ ความขัดแย้งกับรัฐบาลที่เกิดขึ้นในอีสานซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดเท่านั้นได้ถูกตีความใหม่โดยกลุ่มผู้นำที่กรุงเทพฯ ว่าเป็นอันตรายที่จะคุกคามการดำรงอยู่ของรัฐบาลและประเทศชาติ ความหวาดกลัวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความขัดแย้งในอินโดจีนซึ่งเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ในลาวและเวียดนาม ทางการไทยระแวงว่าความไม่ลงรอยใดๆ กับรัฐบาลที่เกิดขึ้นในอีสานซึ่งมีพรมแดนติดกับลาวอาจจะพัฒนาไปสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการนั้นๆ จะขอความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน เวียดนามเหนือ และลาว[80]
ทางการไทยมองการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันให้แก่ประชาชนของครองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ ‘บ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร’ โดยมีวัตถุประสงค์ ‘เพื่อแยกเอาดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปรวมกับอาณาจักรลาวในระบอบนิยมคอมมิวนิสต์’[81] และเพื่อบรรลุดังกล่าวเขาดำเนินการผ่านองค์การสามัคคีธรรมโดยการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาลหมดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้คนอีสานเชื่อว่าพวกเขาเป็นลาวไม่ใช่ไทย มีการสะสมและฝึกอาวุธ เมื่อมีกำลังมากพอก็มีแผนที่จะยึดครองพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งมีแผนที่จะนำเอาทหารของขบวนการประเทศลาว (ลาวแดง) เข้ายึดครองภาคอีสานแล้วนำไปผนวกเข้ากับคอมมิวนิสต์ลาว[82]
หากเราพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าวจะเห็นได้ถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแยกอีสานไปรวมกับลาวเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากเราพิจารณาถึงการที่มีทหารของขบวนการประเทศลาวมาเคลื่อนไหวปลุกระดมคนอีสานให้ไปช่วยรบในลาวกล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2496 กองกำลังของขบวนการกู้ชาติในอินโดจีนประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการทางการทหารครั้งใหญ่ ตั้งแต่เดือนมกราคมกองกำลังเวียดมินห์ได้เข้ายึดครองชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ของภาคกลางและภาคใต้ รวมทั้งสามารถครอบครองดินแดนถึงสองในสามของภาคเหนือเอาไว้ได้
นอกจากนี้ เวียดมินห์ยังรุกโจมตีกองกำลังฝรั่งเศสในลาวและสามารถเข้ายึดหลวงพระบางได้ ส่วนขบวนการประเทศลาวก็เข้ายึดเมืองท่าแขกที่อยู่ตรงข้ามกับนครพนมได้เช่นกัน[83] การรุกรบครั้งใหญ่ทำให้ขบวนการประเทศลาวข้ามแม่น้ำโขงมาหาคนใ อีสานไปช่วยรบในลาว และได้มีชาวอีสานซึ่งมีความผูกพันกับลาวเดินทางไปสู้รบร่วมกับขบวนการประเทศลาวเป็นจำนวนมาก[84] การมีคนอีสานจำนวนมากให้การสนับสนุนขบวนการประเทศลาวเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ชนชั้นนำของไทย
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 ร้อยเอกกองแลได้ก่อรัฐประหารในลาวโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำลาวกลับสู่ความเป็นกลางโดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งมีคอมมิวนิสต์เข้าร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามภายในประเทศ จอมพลสฤษดิ์หวั่นเกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ลาวตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ในที่สุด เขาเรียกร้องให้มหาอำนาจตะวันตกเข้าแทรกแซง เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง จอมพลสฤษดิ์ได้แถลงว่าคนไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงในลาวและสู้ตายกับคอมมิวนิสต์เขาได้สั่งปิดพรมแดนทำให้ฝ่ายกองแลขาดแคลนอาหารและน้ำมัน[85]
ความตึงเครียดบริเวณพรมแดนทำให้ครองเกรงว่าทางการจะทำการกวาดล้างจึงหลบภัยไปอาศัยอยู่กับ ทองพันธ์ สุทธิมาศ ซึ่งทำไร่อยู่ที่คำอีบ่าน ดงผาลาด อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันคือบ้านชัยยานนท์ อำเภอบ้านม่วง) ทองพันธ์ เป็นครูประชาบาล เคยสมัคร ส.ส. ในนามพรรคสังคมนิยมในการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ขณะที่อยู่ที่ดงผาลาดครองยังคงพบปะกับประชาชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้การศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตย รวมทั้งคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของลาว มีประชาชนมาพบครองครั้งละ 40-50 คน เมื่อมีผู้คนมาพบมากขึ้นการหลบภัยของครองก็ไม่เป็นความลับอีกต่อไป[86]ต่อมา ครองและปั่น มิ่งขวัญได้หลบไปซ่อนตัวที่ดงพระเจ้า โดยมีดอกไม้ หลักทอง และจำปา บันทิด ชาวบ้านเหล่าใหญ่ คอยส่งเสบียงอาหาร ครองหลบซ่อนอยู่เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จึงเดินทางกลับบ้านในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2504[87]
การที่ครองเดินทางกลับบ้านทำให้คิดได้ว่าถึงแม้ครองจะตระหนักถึงอันตรายที่คุกคามเขาอยู่ แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ประเมินว่าทางการติดตามการเคลื่อนไหวของเขาอย่างใกล้ชิดและต้องการชีวิตเขา ทำให้เขาปฏิบัติเหมือนกับการหลบภัยครั้งก่อนๆ คือเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ผ่อนคลายก็ปรากฏตัว แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่ารัฐบาลมองความขัดแย้งในอีสานว่าเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติจึงใช้มาตรการปราบปรามที่รุนแรงเฉียบขาดมากกว่าเดิม
เช้าตรู่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ทางการได้สนธิกำลังตำรวจสันติบาล ตำรวจภูธร และตำรวจภูธรชายแดน 250 นาย เข้าจับกุมครอง ทองพันธ์ และผู้สนับสนุนในเขตอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองหานและกิ่งอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย การปฏิบัติการดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม จึงยุติลง มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 148 คน รวมทั้งวิทิต ลูกชายคนโตของครองด้วย หลังจากที่ถูกจับครองถูกนำตัวไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 พฤษภาคม เมื่อถูกนักข่าวถามว่ามีอะไรจะพูดกับนายกรัฐมนตรี ครองตอบว่าเมื่อไรจะเปิดสภาให้มี ส.ส. สักที[88]
นอกจากครองจะแสดงออกถึงการยึดมั่นอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว เขายังเชื่อว่าการจับกุมครั้งนี้ก็คงไม่ต่างจากการจับกุมที่ผ่านมาเมื่อเขาตอบนักข่าวว่าตนรู้สึกเฉยๆ ต่อการถูกจับกุมครังนี้และก็เคยชินกับการถูกจับกุมเสียแล้ว[89]ครองถูกน้ำตัวไปสอบปากคำต่อหน้าจอมพลสฤษดิ์และคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พฤษภาคม เวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปรามให้ดำเนินการประหารชีวิตครองและทองพันธ์[90]
วันที่ 31 พฤษภาคม ครองและทองพันธ์ถูกนำตัวกลับมายังสว่างแดนดินเพื่อทำการประหาร ก่อนการประหารครองได้แสดงออกถึงความองอาจกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวเขามาตั้งแต่ก่อเกิดจนถึงวันสิ้นลมหายใจ เมื่อกลับมาถึงสว่างแดนดินครองได้พบกับคาน พิลารักษ์ เสรีไทยผู้ใกล้ชิดที่ถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจ ครองบอกคานว่าวันนี้เขาจะถูกประหารชีวิต แล้วก็หัวเราะอย่างสบายใจ พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า ‘ขอให้น้องทุกคนสบายใจได้ไม่เป็นไรดอกตายก็คือตาย ทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน’[91] ก่อนการประหารเจ้าหน้าที่ได้อ่านคำสั่งประหาร ครองยืนขาถ่างมือกางออกจากลำตัวอย่างทระนง ทองพันธ์ยืน ตัวตรง ทั้งคู่ยืนฟังอย่างสงบไม่มีความตื่นตระหนกแต่อย่างใด เมื่อเดินเข้าสู่หลักประหารทั้งคู่เดินไปอย่างทระนง โดยเฉพาะครองนั้นยิ้มอยู่ตลอดเวลาเมื่อแพทย์ของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 เข้าไปจับชีพจร ปรากฏว่า ชีพจรของเขาเต้นปกติ ครองบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ เวลา 12.13 น. เพชฌฆาตทั้ง 6 คนได้รับคำสั่งให้ลงมือสังหาร โดยที่สามคนแรกยิงครองที่เหลือยิงทองพันธ์ ทั้งสองคนถูกยิงคนละ 45 นัด[92] ครองจบชีวิตเมื่ออายุได้ 53 ปี 4 เดือน 3 วัน สิ่งที่น่าเศร้าใจก็คือสถานที่ที่ใช้ประหารครองนั้นคือสนามบินเก่าของเสรีไทยที่ครองมีบทบาทสำคัญในการสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจกู้ชาติ[93]
ถ้าจะถามว่าครองมีความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ถวิล พงศ์สกุล ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ที่ติดต่อสัมพันธ์กับครอง กล่าวว่าครองรวมทั้งเตียงด้วยยังคงมีความเป็นลาวสูง แต่พวกเขาไม่ได้ต้องการแยกประเทศเพียงแต่ต้องการให้อีสานมีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองเท่านั้น[94] หากดูบทบาทของเตียงและครองในขบวนการเสรีไทยก็คงไม่เป็นที่สงสัยว่าพวกเขาจงรักภักดีต่อชาติไทยหรือไม่ ถวิลเห็นว่าจริงๆ แล้วการที่คนทั้งสองยังคงผูกพันกับความเป็นลาวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะอีสานในสมัยนั้นยังคงมีความเป็นลาวอย่างเข้มข้น ตัวเขาเองซึ่งเป็นคนภาคกลางเมื่อมาอยู่ใหม่ๆ ก็มีความแปลกแยกกับคนท้องถิ่นสูงมาก ส่วนเรื่องการต่อสู้ด้วยอาวุธ ครองมีความคิดที่จะปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ เพราะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติจีน เวียดนาม และลาว แต่ก็ไม่ได้ลงมือเพราะไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธโดยอาศัยป่าเขาอย่างไร[95]
ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลในเวลานั้นซึ่งรวมทั้ง พคท. ด้วยยังไม่มีบทเรียนในการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในป่า การเคลื่อนไหวยังใช้เมืองหรือบ้านเป็นที่พักพิงในการเคลื่อนไหวมวลชน เมื่อความลับรั่วไหลก็จะย้ายไปที่อื่น[96]จนถึงปี พ.ศ. 2506 พคท. จึงค้นพบวิธีการอาศัยป่าเป็นฐานในการเคลื่อนไหวมวลชนที่เรียกว่ายุทธวิธี ‘ป่านำบ้าน’ ยุทธวิธีดังกล่าวเป็นการสรุปบทเรียนจากการเคลื่อนไหวชาวนาในเขตอีสานเหนือของเจริญ วรรณงาม เลขาธิการใหญ่ของ พคท. เนื้อหาสำคัญของยุทธวิธีนี้คือเมื่อการเคลื่อนไหวในบ้านถูกคุกคามไม่สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ ให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคหลบซ่อนอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน กลางวันอยู่ในป่า กลางคืนกลับเข้าไปเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน อาศัยมวลชนที่จัดตั้งไว้เป็นผู้ส่งเสบียงและข่าวคราว[97]
ชาวนากับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธหลังการประหารชีวิตครอง
หลังการประหารชีวิตครองและทองพันธ์ทางการได้คุกคามปราบปรามผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับครอง[98] ธำรงบุตรชายคนรองของครองได้หลบหนีการจับกุมไปยังลาวและเดินทางไปศึกษาที่เวียดนามในปี พ.ศ. 2504 ส่วนควรครอง บุตรสาว ต้องหลบหนีการคุกคามไปยังจีนในปี พ.ศ. 2505[99] แตงอ่อน ภรรยาของครองถูกจับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2506 และถูกขังอยู่ 1 ปี 7 เดือนจึงได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ถูกคุกคามอย่างหนักจนต้องตัดสินใจเดินทางไปจีนในที่สุด[100]
การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจันดาวงศ์แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นความผิด เช่น ผู้ที่บวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่ครองและทองพันธ์ซึ่งตั้งใจว่าจะบวชให้เป็นเวลาหนึ่งพรรษาก็ถูกคุกคามจนต้องสึกหลังจากบวชได้เพียงสามวัน[101] มีผู้ที่ทางการเห็นว่ามีความใกล้ชิดกับครองตกเป็นเป้าหมายในการปราบปรามเป็นจำนวนมาก ผู้ที่หลบหนีไม่ทันบ้างก็ถูกจับกุมบ้างก็ถูกฆ่า[102] เพื่อให้หลุดพ้นจากอันตรายดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปร่วมสู้รบกับขบวนการประเทศลาว แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามได้เลือกที่จะหลบหนีไปซ่อนตัวในป่า[103] ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าสภาวการณ์เช่นนี้ได้สร้างเงื่อนไขอันดีให้แก่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท.
ความคิดที่จะต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. เพิ่มมากขึ้นหลังการรัฐประหาร 2490 ทั้งนี้เพราะโอกาสการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยที่เริ่มมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2488 ได้ถูกปิดลงเพราะการรัฐประหารครั้งนั้น ทำให้พรรคหันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 พคท. ได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 และมีมติให้ ‘ปลุกระดมมวลชนเรือนแสนเรือนล้าน เข้าสู่ชนบท ถือชนบทเป็นพื้นฐานเน้นปัญหาชาวนาเพื่อวางพื้นฐานให้แก่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ’[104]
ในทางปฏิบัติภายในพรรคได้มีการจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวมวลชนในชนบท ต่อมาคนเหล่านี้ก็ถูกส่งไปยังพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะแก่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ที่สว่างแดนดินในปี พ.ศ. 2495 พคท. ได้ส่งถวิล ซึ่งเดิมทีเคลื่อนไหวกับสมาคมกรรมกรข้าวสารที่กรุงเทพฯ เข้ามาเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนเพื่อตระเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เริ่มแรกถวิลอาศัยอยู่กับมวลชนในจัดตั้งของ พคท. ที่บ้านม่วงไข่ อำเภอพังโคน แล้วเดินทางมาติดต่อกับครองโดยการแนะนำของอดีตเสรีไทย ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ที่สว่างแดนดินประกอบอาชีพตัดผมและแต่งงานกับหญิงสาวในท้องถิ่น[105] ถวิลได้ร่วมกับครองบุกเบิกที่ปลูกปอบริเวณเหล่าใหญ่ในดงพระเจ้า[106]
ในการเคลื่อนไหวจัดตั้งเพื่อขยายมวลชนของพรรคถวิลทำผ่านเครือข่ายมวลชนของครองบริเวณดงพระเจ้า โดยเฉพาะที่บ้านเหล่าใหญ่และบ้านเปือย[107] การที่เขาไปมาหาสู่กับครองแม้ว่าได้พยายามไม่ให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไปแต่ก็ทำให้ถูกทางการเพ่งเล็ง เมื่อครองถูกจับได้มีตำรวจมาค้นที่บ้านของถวิลแต่ไม่พบหลักฐานใดๆ จึงไม่ถูกจับกุม[108]
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ถึงการประหารชีวิตครองการเคลื่อนไหวของ พคท. ในสว่างแดนดินมีแค่การเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนในบ้านเท่านั้น ยังไม่ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในป่า การที่มีผู้ใกล้ชิดกับครองซึ่งเต็มไปด้วยความเคียดแค้นต่อทางการหลบหนีไปลี้ภัยในป่าได้สร้างเงื่อนไขที่ดีแก่การขยายงานไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ กลางปี พ.ศ. 2505 พคท. จึงเริ่มเตรียมการการต่อสู้ด้วยอาวุธโดยอาศัยหมู่บ้านที่มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเข้มแข็งในดงพระเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมการ[109]
ดงพระเจ้าตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอสว่างแดนดิน มีอาณาเขตประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงปกคลุมด้วยป่าดงดิบรกทึบ ดงแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากเทือกเขาภูพานเท่าใดนัก ติดกับดงพระเจ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของดงพันนาซึ่ง มีขนาดใกล้เคียงกันกับดงพระเจ้า บริเวณดงทั้งสองแห่งนี้มีหมู่บ้านใหญ่น้อยตั้งอยู่ประมาณ 40 หมู่บ้าน[110] ประชาชนในหมู่บ้านเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเพราะเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับเตียงและครองมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยต่อเนื่องเรื่อยมา[111] อุดม สีสุวรรณ ผู้นำ พคท.ได้เปรียบดงพระเจ้าว่าเป็นเสมือน ‘เปลที่ฟูมฟักสงครามปฏิวัติ’[112]
ในการตระเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ พคท. ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติงานในป่าเพื่อจัดตั้งนำพาผู้ที่หลบหนีเข้าป่าทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ[113]ทำให้การหลบหนีเข้าป่าเพียงเพื่อมีชีวิตรอดต่อไปเท่านั้นกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็เร่งให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน กลางปี พ.ศ. 2505 ธง แจ่มศรี ได้เดินทางจากในเมืองเข้าไปให้การศึกษาแก่มวลชนซึ่งจัดขึ้นอย่างลับๆ ที่บ้านเหล่าใหญ่[114]ธง เป็นหนึ่งในสามของสมาชิกประจำกรมการเมืองซึ่งเป็นองค์การนำสูงสุดของ พคท. อีกสองคนที่เหลือคือเจริญ วรรณงาม และ วิรัช อังคถาวร ทั้งสามคนได้เคลื่อนไหวสร้างรากฐานให้แก่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในอีสานซึ่งเป็นพื้นที่ที่ พคท. กำหนดให้เป็นศูนย์กลางของการตระเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ โดยที่เจริญ นำการเคลื่อนไหวที่ภูพานและที่ราบของอำเภอนาแก เรณูนคร (นครพนม) วิรัช อังคถาวร เคลื่อนไหวในเขตดงหลวง (มุกดาหาร) ธง แจ่มศรี นำการเคลื่อนไหวที่ดงพระเจ้า (สกลนคร)[115]
การจัดตั้งและการให้การศึกษาแก่มวลชนในเขตดงพระเจ้าเป็นงานที่ถวิลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แกนนำมวลชนคนสำคัญที่ทำงานร่วมกับถวิล ได้แก่ ปุ่น แก้วหานาม ผู้ใหญ่บ้านของบ้านเหล่าใหญ่[116] ปุ่นเคยร่วมงานกับครองมาก่อนเขามีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ พคท. ชวลิต ทับขวา ผู้นำ พคท. ที่บุกเบิกสร้างงานในเขตดงพระเจ้าถึงกับกล่าวว่า ‘พคท. มาอยู่ดงพระเจ้าก็ได้อาศัยคนนี้แหละ’ ในช่วงเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ เขาเป็นผู้รับผิดชอบจัดการส่งคนเดินทางเข้าออกระหว่างป่ากับเมืองและก็ทำหน้าที่ส่งอาวุธด้วย เมื่อการเคลื่อนไหวของเขาถูกเพ่งเล็งจากทางการปุ่นยังคงพยายามอยู่เคลื่อนไหวในบ้านต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์ไม่สู้ดีก็จะหลบเข้าป่า วิธีการเช่นนี้ พคท. เรียกว่ากึ่งป่ากึ่งบ้าน เขาทำเช่นนี้อยู่ระยะหนึ่งแต่ในที่สุดก็ต้องเข้าป่าในปี พ.ศ. 2509 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของเขตงานดงพระเจ้าและต่อมาได้เป็นเลขาธิการเขตงาน 222 แทนถวิล[117]
การตระเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างบุคลากรด้านการเมืองการทหาร และการแพทย์ พคท. ได้จัดส่งคนหนุ่มสาวแถบดงพระเจ้าซึ่งส่วนใหญ่อายุ 17-20 ปี ไปศึกษาที่จีนและเวียดนาม[118] นอกจากศึกษาจากต่างประเทศแล้วยังมีการศึกษาบทเรียนจากเขตงานอื่นภายในประเทศด้วย เพื่อตระเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตดงพระเจ้า ถวิลได้เดินทางไปศึกษาการใช้ชีวิตในป่าของกองกำลัง พคท. ที่นาบัว เป็นเวลาประมาณ 10 วัน ด้วยการดูงานนี้เกิดขึ้นก่อนการปะทะใหญ่ครั้งแรกระหว่างกองกำลังของ พคท.กับตำรวจที่ป่าบ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508 [119]
ในขณะที่ พคท. ตระเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างขะมักเขม้น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2506 ทางการได้ทำการกวาดล้างจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ ‘สืบต่อแผนงานของนายครอง จันดาวงศ์ตลอดมาโดยมิได้หยุดยั้ง’ ใน 4 อำเภอของสกลนคร ได้แก่ สว่างแดนดิน วานรนิวาส วาริชภูมิ และ พรรณนานิคม โดยใช้กำลังตำรวจจาก 7 จังหวัดกว่า 100 นายออกปฏิบัติการใน 40 จุด เป็นเวลา 10 วัน มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 90 คน แตงอ่อนภรรยาของครองก็ถูกจับในครั้งนี้[120] การปราบปรามไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ใกล้ชิดครองดังที่เป็นมาแต่ได้ขยายไปสู่การปราบชาวบ้านทั่วไปด้วย ทำให้มีผู้หลบหนีเข้าป่าอีกระลอก คนเหล่านี้เข้าป่าด้วยความหวาดกลัวระคนกับความโกรธแค้น[121] เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่การเคลื่อนไหวของ พคท. รอบๆ ดงพระเจ้าได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว[122]
การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พท. เขตดงพระเจ้าใกล้เป็นความจริงยิ่งขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่พรรคส่งไปศึกษาในต่างประเทศรวม 14 คน ซึ่งในนี้มีผู้ที่ไปศึกษาการทหารด้วยเดินทางถึงดงพระเจ้าในปี พ.ศ. 2508 คนกลุ่มนี้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวเข้าสู่เขตป่าดงของอำเภอสังคม จังหวัดหนองคายในเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างทางได้ยิงต่อสู้กับโจรในป่าใกล้บ้านสามัคคีอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี หลังจากปราบโจรได้แล้วก็เดินทางผ่านช่องข้าวสารเข้าสู่เขตงานของ พคท. ที่หนองบัวลำภู แล้วนั่งรถผ่านอุดรธานีไปยังสว่างแดนดิน จากนั้นก็เดินเท้าเข้าสู่ดงพระเจ้า รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน
ในเวลานั้นกองกำลังของ พคท. จำนวน 20 คน ภายใต้การนำของธง ลงหลักปักฐานในดงพระเจ้าได้แล้ว พวกเขาทำการจัดตั้งมวลชนใน 7 หมู่บ้าน หลังจากมีกำลังมาสมทบอีก 14 คนแล้ว การเคลื่อนไหวมวลชนได้ขยายตัวไปสู่หมู่บ้านรอบๆ ตัวอำเภอสว่างแดนดิน เขตเคลื่อนไหวบางแห่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแค่ 3 กิโลเมตรเท่านั้น มวลชนในจัดตั้งก็มีความเข้มแข็งสามารถให้ที่หลบภัยในหมู่บ้านในยามที่ทางการออกกวาดล้างได้[123]ความเข้มแข็งของการจัดตั้งมวลชนยังแสดงให้เห็นจากความสามารถในการระดมคนหนุ่มสาวรอบๆ ดงพระเจ้ามาฝึกวิชาการทหาร ทั้งการยิงต่อสู้ การลาดตระเวน การหาข่าว[124]
เนื่องจากการเคลื่อนไหวบริเวณดงพระเจ้ามีมวลชนให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันและอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอสว่างแดนดินเท่าไรนักการเข้าออกเมืองค่อนข้างสะดวกทำให้ พคท. ใช้เป็นจุดติดต่อระหว่างป่ากับเมือง[125] เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็เดินทางเข้าป่าที่นี่ ดงพระเจ้ายังถูกใช้เป็นที่ศึกษาดูงานช่วงสั้นๆ ของสมาชิกในเมืองของ พคท. อีกด้วย[126] เดือนกันยายน พ.ศ. 2505 พคท. ได้จัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นที่ดงพระเจ้า
ความสำคัญของการประชุมกรรมการเมืองขยายวงครั้งนั้นคือการผ่านมติให้ลงมือโจมตีกองกำลังของรัฐบาลแทนการหลบหลีกการปะทะอันเป็นสิ่งที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมาตามมติปี 2506[127] นั่นก็หมายความว่าการตัดสินใจเปิดฉากสงครามประชาชนของ พคท. เกิดขึ้นที่ดงพระเจ้านี่เอง การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ภายหลังที่กองกำลังของ พคท. ปะทะกับกองกำลังของทางการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่นาบัว หลัง ‘เสียงปืนแตก’ ทางการได้ยกระดับการค้นหาและปราบปรามกองกำลังของ พคท. ทำให้การหลบหลีกการปะทะเป็นไปได้ยาก การจะรักษาความเป็นฝ่ายกระทำ ก็ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มโจมตีก่อน[128]
เขตดงพระเจ้าก่อนการปะทะที่นาบัวโดยทั่วไปการรักษาความลับของกองกำลังในป่ายังคงทำได้ดี แต่ก็มีเหมือนกันที่ทางการสามารถสืบทราบที่ตั้งและเข้าโจมตี เช่น ที่บ้านเปือยน้อย (ปัจจุบันคือบ้านทานตะวัน) ทำให้ฝ่าย พคท. เสียชีวิต 3 คน ว่ากันว่าในเหตุการณ์นี้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าจู่โจม ด้วยความจวนตัวกองกำลังของ พคท. ได้ตะลุมบอนกับเจ้าหน้าที่ด้วยมือเปล่าจึงถูกสังหารเสียชีวิตดังกล่าว ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ในเขตนั้นถือว่านี่เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธก่อนเหตุการณ์ปะทะที่นาบัว[129] ภายหลัง ‘เสียงปืนแตก’ ที่นาบัวเนื่องจากทางการเพิ่มความพยายามในการค้นหามากขึ้น ประกอบกับการเคลื่อนไหวมวลชนที่กว้างขึ้นทำให้เป็นเรื่องยากที่กองกำลังของ พคท. จะรักษาความลับได้ดังเดิม[130]
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 กองกำลังรัฐบาลได้เข้าโจมตีที่ตั้ง พคท. ในดงพระเจ้าที่เหล่าขี้เหล็กและได้ปะทะกับหน่วยย่อยของ พคท. ประมาณ 5 นาทีก็ล่าถอยไป[131] หัวหน้าหน่วยทหารของ พคท. ที่ดงพระเจ้าในขณะนั้นคือสหายสาริกาผู้ซึ่งสำเร็จวิชาการทหารจากเวียดนามในปี พ.ศ. 2505 เขาและน้องชายได้ทำหน้าที่คุ้มกันลูกสาวของครองในการเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาวิชาการทหารประมาณ 2 ปีจึงเดินทางกลับมายังดงพระเจ้าในปี พ.ศ. 2508[132] เสียงปืนที่เหล่าขี้เหล็กเป็นสัญญาณบอกว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่ได้ตระเตรียมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ได้เริ่มขึ้นแล้ว กองทหารกองแรกของ พคท. เขตดงพระเจ้าได้รับการตั้งชื่อว่าหน่วย ‘ครองชัย’ เป็นการให้เกียรติแก่ครอง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองร้อย 167 เมื่อ พคท. ประกาศจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2511[133]
เมื่อมีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธปฏิกิริยาตอบโต้จากรัฐบาลย่อมรุนแรง ระหว่างปี พ.ศ. 2508-2510 ทางการได้ดำเนินการปราบปรามอย่างทารุณโหดร้าย มีการจับกุมชาวบ้านครั้งใหญ่แบบเหวี่ยงแห เมื่อจับได้แล้วก็ทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทุบตี เอาไฟลน จับแขวนคอกับต้นไม้ ให้รับสารภาพ หากไม่สารภาพก็ฆ่าทิ้ง มีหญิงที่ตั้งครรภ์ถูกเตะจนแท้งลูก ชาวบ้านที่เป็นบุตรหรือภรรยาของผู้ต้องสงสัยบางคนที่ไม่สามารถตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ได้ก็ถูกนำตัวไปทรมานและถูกยึดโค-กระบือ ยังมีการใช้อำนาจข่มเหงประชาชนแบบอื่นๆ อีก เช่น ไม่ยอมจ่ายค่าผลไม้เมื่อเจ้าของทวงถามก็ตัดต้นผลไม้ทิ้ง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการข่มขืนลูกสาวและภรรยาของชาวบ้าน การปราบปรามดังกล่าวทำให้บางหมู่บ้าน เช่น บ้านเหล่าใหญ่ เกือบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง เหลือก็เพียงคนชราที่หลบหนีไม่ได้เท่านั้น
แต่ต่อมาพวกเขาก็ถูกจับกุมด้วย[134]การปราบปรามของทางการได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและความบีบคั้นทางจิตใจในหมู่ชาวบ้าน จนบางครั้งทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เช่น กรณีของหญิงบ้านเปือยน้อยคนหนึ่งที่พ่อถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตาย สามีต้องหลบหนี ทำให้เธอต้องดูแลลูกเล็กๆ ถึง 7-8 คน ลูกคนสุดท้องยังเล็กจึงต้องคอยให้นม ทำให้มีความยากลำบากในการเลี้ยงดูครอบครัว ในที่สุดเธอได้ตัดสินใจฆ่าลูกคนสุดท้องนั้นเสียโดยการใส่สารหนูลงในอาหาร[135]
การปราบปรามของทางการก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความชิงชังต่อเจ้าหน้าที่ในหมู่ประชาชน[136] การปราบปรามทำให้มีผู้หลบหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมากจนแม้แต่กองกำลังของ พคท. เองก็รับไว้ได้ไม่หมด[137]ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่หลังจากการปะทะที่เหล่าขี้เหล็กเขตงานดงพระเจ้าได้มีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ปลายปี พ.ศ. 2509 นอกจากดงพระเจ้า-ดงพันนาแล้ว การเคลื่อนไหวยังครอบคลุมถึงดงสารที่อยู่ถัดจากดงพระเจ้าไปทางทิศเหนือ ดงผาลาดในเขตอำเภอวานรนิวาสซึ่งตังอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของดงสาร และภูเตี้ยซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของดงพระเจ้า-ดงพันนา ครอบคลุมภูพานบริเวณอำเภอส่องดาว วาริชภูมิ (สกลนคร) หนองหานศรีธาตุ (อุดรธานี)
ต่อมาได้มีการบุกเบิกเขตงานใหม่แถบเทือกเขาภูพานทาง ทิศตะวันออกของภูเตี้ยบริเวณอำเภอวาริชภูมิ กุดบาก (สกลนคร) สหัสขันธ์ ท่าคันโท (ภาพสินธุ์) เขตนี้เรียกว่าเขตภูสูง ในปี 2510 ชวลิต ทับขวา ได้นำกำลัง 1 หมวดจากดงพระเจ้าไปบุกเบิกเขตงานใหม่ที่ดงมูลซึ่งตั้งอยู่รอยต่อกาฬสินธุ์-ขอนแก่น[138]
การขยายตัวของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตดงพระเจ้าที่กล่าวมานี้นอกจากจะอาศัยมวลชนผู้ศรัทธาในตัวครองตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นผู้สนับสนุนแล้ว ผู้ศรัทธาในตัวครองที่เข้าป่า ก็มีบทบาทในการขยายงานของ พคท. อย่างสำคัญยิ่ง ตัวอย่างเช่นที่เขตงานดงสารซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวในปี พ.ศ. 2509 ด้วยผู้ที่ศรัทธาในตัวครองเพียงสองคน พวกเขาทำงานอย่างโดดเดี่ยวภายใต้สถานการณ์อันยากลำบาก กลางวันหลังจากเก็บซ่อนข้าวของแล้วก็แต่งตัวแบบชาวบ้านตระเวนตามชายป่าไปพบปะประชาชน กลางคืนกลับเข้ามานอนในป่า หลังการปลุกระดม จัดตั้ง ให้การศึกษา ฝึกอบรมระเบียบวินัย ฝึกทหารบ้าน จัดตั้งระบบข่าว การสื่อสาร และการส่งเสบียง
จนในที่สุดสามารถจัดตั้งคณะกรรมการบ้านซึ่งเป็นองค์การอำนาจรัฐขั้นพื้นฐานขึ้นซ้อนกับอำนาจรัฐของทางการในหมู่บ้านดงสารได้กลายเป็นฐานอันแข็งแกร่งของกองกำลังอาวุธที่ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว พอถึงปี 2511-2512 ดงสารมีทหารกว่า 40 คน รวมกับผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ แล้วก็มีกำลังถึงร้อยกว่าคน ดงสาร ดงผาลาด และดงสีชมพูต่อมาได้รวมกันเข้าเป็นเขต 222 ของ พคท.[139]หลังจากหนีอย่างหัวซุกหัวซุนภายหลังการประหารชีวิตครองในปี พ.ศ. 2504 ชาวนาดงพระเจ้าได้กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการ ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท.
สรุป
ก่อนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. ชาวนาดงพระเจ้าได้ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างหลากหลาย ยาวนาน ตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการเสรีไทย การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ และการเลือกตั้ง การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ชาวชนบทในดินแดนอันห่างไกลได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของรัฐประชาชาติไทย
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจเครือข่าย ส.ส. อีสาน ที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐสภาได้มี ส.ส. อีสานกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเป็นตัวแทนให้กับคนยากคนจน ส.ส. กลุ่มนี้สนับสนุนปรีดีเนื่องจากเห็นว่าปรีดีมีนโยบายที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
ในช่วงทศวรรษ 2480 พันธมิตรทางการเมืองระหว่าง ส.ส. อีสานกับปรีดีมีความขัดแย้งกับจอมพล ป. เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเมื่อจอมพล ป. ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีไม่พอใจในการกระทำดังกล่าวจึงได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมาต่อต้านโดยมี ส.ส. อีสานคนสำคัญหลายคนเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย เตียง ผู้นำ ส.ส. อีสานได้ระดมชาวนาให้เข้าร่วมต่อสู้กับเสรีไทยบริเวณเทือกเขาภูพาน
นี่คือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติครั้งสำคัญของชาวชนบทในดินแดนอันห่างไกลของอีสาน ที่จังหวัดสกลนครครองซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเตียงมีบทบาทสำคัญในการชักชวนชาวนาให้เข้า ร่วมขบวนการเสรีไทย การเคลื่อนไหวมวลชนครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อครองในอนาคต
ภายหลังที่เสรีไทยยุติบทบาทลง ครองยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับชาวนาบริเวณดงพระเจ้าต่อไป การเคลื่อนไหวของครองตกเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลและถูกจับกุมถึง 3 ครั้ง คือ ในปี 2491 เขาถูกจับพร้อมกับเตียงด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและกบฏในราชอาณาจักร ต่อมาครองถูกจับในการเคลื่อนไหวสันติภาพในเดือนพฤศจิกายน 2495 ครั้งสุดท้ายถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม 2504 ในข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรพร้อมกับคนอื่นๆ ที่ทางการเห็นว่าเป็น ‘พวกพ้อง’ ของเขารวมทั้งสิ้น 148 คน ครองถูกประหารชีวิตหลังการจับกุมเพียงไม่กี่วัน
หลังการเสียชีวิตของครองชาวนารอบๆ ดงพระเจ้าได้หนีเข้า ป่าเพื่อให้รอดพ้นจากการจับกุมเข่นฆ่า พวกเขาและครอบครัวของครองได้เข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท. ซึ่งเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธในแถบนั้น การต่อสู้ด้วยกำลังของ พคท. ได้อาศัยชาวนาผู้ศรัทธาในตัวครองจากหมู่บ้านต่างๆ รอบดงพระเจ้าเป็นฐานสนับสนุนการต่อสู้ นอกจากนี้ ผู้ศรัทธาในตัวครองที่เข้าป่าก็มีบทบาทในการขยายงานของ พคท. อย่างสำคัญยิ่ง พวกเขาได้ช่วยให้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพคท. ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียน รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปรับปรุงต้นฉบับโดยบรรณาธิการวิชาการ
- บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สมชัย ภัทรธนานันท์, “ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน”, วารสารบัณฑิตอาสาสมัคร, 11: 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557), 1-46.
- คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ และปรับรูปแบบการอ้างอิงเป็นเชิงอรรถท้ายบท
บรรณานุกรม :
ภาษาไทย
- คมสันต์ มาตุคาม. (2520). ดงพระเจ้า แดนมรณะ. กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา.
- คมสันต์ มาตุคาม. (2521). ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร. กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา.
- คายส์, ชาร์ลส์. (2552). แนวคิดท้องถิ่นอีสานนิยมในประเทศไทย. อุบลราชธานี: ศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2544). ปรีดี พนมยงค์และ 4 รัฐมนตรีอีสาน+1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2546). การเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
- แตงอ่อน จันดาวงศ์. (2546). “ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้” ใน อนุสรณ์งานฌาปนากิจศพนางแตงอ่อน จันดาวงศ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา: 21-52.
- ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2548). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ธ. เพียรวิทยา. (2546). “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา”. ฟ้าเดียวกัน, มกราคม-เมษายน, น. 170-200.
- ปรีชา ธรรมวินทร. (2553). เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง.
- พ. เมืองชมพู. (2543). สู่สมรภูมิภูพาน. กรุงเทพฯ: มติชน.
- พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์. (2549). สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของรัฐไทย. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
- ลิขิต ธีรเวคิน. (2544). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- วิทิต จันดาวงศ์. (2546). “แตงอ่อน จันดาวงศ์ วิบากกรรมอำมหิต ทั้งชีวิต ต้องผิดหวัง” ใน อนุสรณ์งานฌาปนากิจศพนางแตงอ่อน จันดาวงศ์: 59-69.
- วิทิต จันดาวงศ์. (2546). “รำลึกอดีต” ใน เสรีไทยภูพาน ครอง จันดาวงศ์. สกลนคร: โครงการส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการท้องถิ่นสกลนคร: 41-62.
- วิทิต จันดาวงศ์. (2552), บทบาทชีวิต แนวคิดการเมือง ครูครอง จันดาวงศ์. สกลนคร: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.
- วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. (2539), กบฏสันติภาพ. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2545). “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกบฏ สันติภาพ”, ใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา (บก), กึ่งศตวรรษขบวนการ สันติภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมฆขาว, น. 141-223.
- สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ. (2546). “ครูครอง จันดาวงศ์ ประวัติโดยสังเขป” ใน สมศักดิ์ภู่สุวรรณ, เสรีไทยภูพาน ครอง จันดาวงศ์. สกลนคร: โครงการส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการท้องถิ่นสกลนคร: 67-97.
- สิริลักษณ์ จันทรวงศ์, ทาคาฮาชิ คัทซูยูกิ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ชลธิรา สัตยา วัฒนา (บก). (2545), กึ่งศตวรรษขบวนการสันติภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมฆขาว.
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2550). แผนชิงชาติไทย. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก.
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. (2542). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์.
ภาษาอังกฤษ
- Girling, J. (1981). Thailand: Society and Politics. Ithaca, NY: Cornell University Press.
- Goscha, C. (1999). Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution, 1885-1954, Surrey: Curzon.
- Katsuyuki, T. (2002). 'The Peace Movement in Thailand after the Second World War: the Case of Sakon Nakhon and Sisaket' ใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา (บก), กึ่งศตวรรษขบวนการสันติภาพ, กรุงเทพฯ: เมฆขาว, น. 107-142.
- Keyes, Charles F. (1967). Isan: Regionalism in Northeast Thailand. Ithaca, NY: Cornell University.
- Kobkua Suwannathat-Pian. (1995). Thailand's Durable Premier: Phibun through Three Decades, 1932-1957. Kuala Lumpur: Oxford University Press.
- Pasuk Phongpaichit and Chris Baker. (1995). Thailand: Economy and Politics. Oxford: Oxford University Press.
- Stowe, Judith A. (1991). Siam Becomes Thailand. Honolulu: University of Hawaii Press.
- Thak Chaloemtiarana. (1979). Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Bangkok: Thammasat University Press.
สัมภาษณ์
- ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2553
- ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์. 20 กุมภาพันธ์ 2557
- วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
- วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2553
- สหายวิสันต์, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2553
- ยาง วงศ์กระโซ่, สัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2552
- สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
- เฮือง มิกระราช, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2553
[1] คมสันต์ มาตุคาม. (2520). ดงพระเจ้า แดนมรณะ. กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา, น. 26.
[2] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2546). การเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, น. 106.
[3] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ. (2546). “ครูครอง จันดาวงศ์ ประวัติโดยสังเขป” ใน สมศักดิ์ภู่สุวรรณ, เสรีไทยภูพาน ครอง จันดาวงศ์. สกลนคระ โครงการส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการท้องถิ่นสกลนคร, น. 67-68.
[4] วิทิต จันดาวงศ์. (2552), บทบาทชีวิต แนวคิดการเมือง ครูครอง จันดาวงศ์. สกลนคร: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, น. 14.
[5] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, น. 222.
[6] อ้างในดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, น. 227.
[7] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2546, น. 191-192.
[8] คายส์, ชาร์ลส์. (2552). แนวคิดท้องถิ่นอีสานนิยมในประเทศไทย. อุบลราชธานี: ศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี, น. 81-82.
[9] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2546, น. 248-252: 257-258.
[10] Kobkua Suwannathat-Pian. (1995). Thailand's Durable Premier: Phibun through Three Decades, 1932-1957. Kuala Lumpur: Oxford University Press, p. 184.
[11] Kobkua, 1995, p. 213.
[12] Pasuk Phongpaichit and Chris Baker. (1995). Thailand: Economy and Politics. Oxford: Oxford University Press, น. 246.
[13] Kobkua, 1995, p. 214.
[14] Kobkua, 1995, p. 214.
[15] Wright, 1991, p. 49.
[16] Stowe, Judith A. (1991). Siam Becomes Thailand. Honolulu: University of Hawaii Press, pp. 9-10.
[17]Girling, J. (1981). Thailand: Society and Politics. Ithaca, NY: Cornell University Press, p. 105.
[18] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. (2542). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, น. 30-38, 43.
[19] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 15.
[20] คายส์, ชาร์ลส์. (2552). แนวคิดท้องถิ่นอีสานนิยมในประเทศไทย. อุบลราชธานี: ศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี, น. 80.
[21] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, น. 317.
[22] ปรีชา ธรรมวินทร. (2553). เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, น. 32-33.
[23] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549.
[24] ยาง วงศ์กระโซ่, สัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2552
[25] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, น. 319.
[26] ปรีชา ธรรมวินทร, 2553, น. 53-55.
[27] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 17.
[28] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 17.
[29] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 71-72.
[30] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 26.
[31] Goscha, C. (1999). Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution, 1885-1954, Surrey: Curzon, pp. 128-129.
[32] Goscha, 1999, p. 155.
[33] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
[34] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2550), แผนชิงชาติไทย กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, น. 80-132.
[35] Kobkua, 1995, p. 215.
[36] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2544). ปรีดี พนมยงค์และ 4 รัฐมนตรีอีสาน+1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, น. 297-300.
[37] วิทิต จันดาวงศ์. (2546). “แตงอ่อน จันดาวงศ์ วิบากกรรมอำมหิต ทั้งชีวิต ต้องผิดหวัง”, ใน อนุสรณ์งานฌาปนากิจศพนางแตงอ่อน จันดาวงศ์, น. 61.
[38] แตงอ่อน จันดาวงศ์. (2546). “ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้” ใน อนุสรณ์งานฌาปนากิจศพนางแตงอ่อน จันดาวงศ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, น. 24; สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 76.
[39] ธ. เพียรวิทยา. (2546). “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา”. ฟ้าเดียวกัน, มกราคม-เมษายน, น. 170-200, น. 182.
[40] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์ 19 กุมภาพันธ์ 2553
[41] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
[42] คมสันต์ มาตุคาม. (2521). ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร. กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา, น. 25-26.
[43] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 40-41.
[44] Kobkua, 1995, pp. 243-291; Thak, 1979, p.103.
[45] สิริลักษณ์ จันทรวงศ์, ทาคาฮาชิ คัทซูยูกิ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ชลธิรา สัตยา วัฒนา (บก). (2545), กึ่งศตวรรษขบวนการสันติภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมฆขาว, น. 53.
[46] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. (2539), กบฏสันติภาพ. กรุงเทพฯ: คบไฟ, น. 131-132.
[47] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, 2539, น. 140.
[48] Katsuyuki, T. (2002). ‘The Peace Movement in Thailand after the Second World War: the Case of Sakon Nakhon and Sisaket’, pp. 124-126.
[49] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 82.
[50] วิวัฒน์ คติธรรมนิต, 2539, น.147; สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 2545, น. 215-217.
[51] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 43.
[52] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 45.
[53] ลิขิต ธีรเวคิน. (2544). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 151-152.
[54] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 85.
[55] เสรีไทยภูพาน ครอง จันดาวงศ์, 2546, น. 114.
[56] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
[57] แตงอ่อน จันดาวงศ์, 2546 น. 28.
[58] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 61-119.
[59] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 127-130.
[60] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 8-9: 26-27.
[61] วิทิต จันดาวงศ์, 2546, น. 115.
[62] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 38-39.
[63] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
[64] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 37-38.
[65] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 121.
[66] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 61.: แตงอ่อน จันดาวงศ์, 2546, น. 29.
[67] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 42.; แตงอ่อน จันดาวงศ์, 2546, น. 30.
[68] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 41.
[69] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549
[70] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 121-122.
[71] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2548. น. 178.
[72] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 47.
[73] วิทิต จันดาวงศ์, 2546, น. 50.
[74] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2548). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 240.
[75] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 47.
[76] วิทิต จันดาวงศ์, 2546, น. 51.; วิทิต จันดาวงศ์, 2552 น. 49; คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 150.
[77] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549.
[78] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 89.
[79] วิทิต จันดาวงศ์, 2552, น. 53-54.
[80] Keyes, 1967, pp. 51-52.
[81] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 251.
[82] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 63-65.
[83] พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์. (2549). สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของรัฐไทย. กรุงเทพฯ: คบไฟ, น. 8.
[84] ชม แสนมิตร, สัมภาษณ์, 19 สิงหาคม 2552.
[85] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2548, น. 286-287.
[86] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2549.
[87] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ์, 2546, น. 90-91.
[88] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 189-192, 224, 226.
[89] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 226.
[90] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 243-244.
[91] เสรีไทย ภูพาน ครอง จันดาวงศ์, 2546, น. 116.
[92] คมสรรค์ มาตุคาม 2521, น. 252-257.
[93] สมศักดิ์ ภู่สุวรรณ, 2546,น. 94.
[94] ถวิลพงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[95] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[96] ธ. เพียร-วิทยา, 2546 น. 188.
[97] พ. เมืองชมพู. (2543). สู่สมรภูมิภูพาน. กรุงเทพฯ: มติชน, น. 42.
[98] สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
[99] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2553
[100] แตงอ่อน จันดาวงศ์, 2546, น. 35, 42-44, 49.
[101] แตงอ่อน จันดาวงศ์, 2546, น. 35.
[102] ถวิล พงศ์สกุล. สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[103] สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
[104] ธ. เพียรวิทยา, 2546, น. 181-183.
[105] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[106] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์ 19 กุมภาพันธ์ 2553
[107] สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
[108] ถวิล พงศ์สกุล. สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[109] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[110] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 9-11.
[111] พ. เมืองชมพู, 2543, น. 72-73.
[112] พ. เมืองชมพู. 2543, น. 111.
[113] สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
[114] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2553
[115] พ. เมืองชมพู, 2543,น. 43-44, 101-102.
[116] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[117] ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2553
[118] สานิต มิกระราช, สัมภาษณ์, 15 กุมภาพันธ์ 2553
[119] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[120] คมสรรค์ มาตุคาม, 2521, น. 288-297.
[121] วิทิต จันดาวงศ์. สัมภาษณ์. 19 กุมภาพันธ์ 2553
[122] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[123] ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์. 2 กุมภาพันธ์ 2553
[124] พ. เมืองชมพู, 2543, น. 81.
[125] ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2553
[126] พ. เมืองชมพู. 2543, น. 64, 84, 128.
[127] พ. เมืองชมพู, 2543, น. 89, 112.
[128] ธ. เพียรวิทยา, 2546, น. 189.
[129] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2553
[130] ถวิล พงศ์สกุล, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2557
[131] ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2553
[132] วิทิต จันดาวงศ์, สัมภาษณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2553
[133] สหายวิสันต์, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2553
[134] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 166-170.
[135] เฮือง มิกระราช, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2553
[136] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 170.
[137] คมสรรค์ มาตุคาม, 2520, น. 167.
[138] ชวลิต ทับขวา, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2553
[139] พ. เมืองชมพู. 2543, น. 72-73, 190-191.