ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

จดหมายของปรีดี พนมยงค์ ถึงลูก ๆ ฉบับที่ 1 ความรู้เปรียบเทียบเรื่องประชากรและเมือง

19
กันยายน
2567

จดหมายของปรีดี พนมยงค์เขียนสอนเรื่องความรู้ทั่วไป แก่ลูก ๆ คือ ปาล แป๋ว ดา

 

วันที่ 20 กันยายน 2511

ปาล, แป๋ว, ดา ลูกรัก

ด้วยพ่อได้เคยเขียนถึงแม่ซึ่งมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาการหลายอย่างเพื่อให้แจ้งแก่ลูกรับไว้ศึกษา พ่อเห็นใจแม่ที่แก่แล้วที่ต้องถ่ายทอดเรื่องวิชาการ เมื่อไม่นานมานี้แม่ได้แจ้งแก่พ่อขอให้พ่อเขียนตรงมายังลูก ฉะนั้นพ่อจึงเริ่มที่จะทําความรู้ทั่วไปเท่าที่พอเห็นสมควรจะถ่ายทอดมายังลูกโดยมีเลขหมายถือว่าเป็นเรื่องที่หนึ่ง ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป ส่วนฉบับต่อ ๆ ไปก็อาจจะมีเรื่องใหม่หรือคัดเอาเรื่องที่เป็นวิชาการซึ่งเคยบอกมาแล้วมาจัดทําเป็นฉบับต่อ ๆ ไป

ความรู้ทั่วไปที่พ่อจะทยอยส่งมาเป็นระบบนั้น พ่อมอบให้เป็นมรดกแก่ลูกทุกคนทั้งที่อยู่ปารีสและที่อยู่กับพ่อเพื่อว่าถ้าพ่อตายแล้วขอให้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อญาติมิตรและผู้สนใจจะได้ศึกษา แต่ก่อนอื่นขอให้ปาลรับภาระที่จะชวนน้อง ๆ ซึ่งอยู่ที่ปารีสให้ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือตามปกติ ปาลไปพบแม่และน้อง ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้งก็ขอให้นําเอาความรู้ทั่วไปที่ได้รับจากพ่อเพื่อทุกคนอ่านและศึกษากันโดยคํานึงว่าอย่าให้เสียแรงกายและแรงสมองที่พ่ออุตส่าห์เหน็ดเหนื่อยจัดถ่ายทอดให้ อีกประการหนึ่งก็มีหลายเรื่องซึ่งจะเป็นคุณความดีของลูกเองเพราะถ้าเรื่องที่ลูกควรรู้จากพ่อแต่ลูกไม่รู้ก็จะทําให้ญาติมิตร เห็นว่าเสียแรงเป็นลูกพ่อ ซึ่งมีคนนับถือเป็นอาจารย์แต่เหตุใดลูกจึงไม่รู้ ในส่วนเกี่ยวกับตัวพ่อนั้นก็ได้พยายามทําหน้าที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เท่าที่จะเป็นไปได้แต่ลูกคนใดจะรับได้เพียงใดหรือไม่พ่อก็ไม่บังคับ อย่างไรก็ตามพ่อหวังว่าถ้าได้จัดพิมพ์ความรู้ทั่วไปดังที่กล่าวมาแล้วญาติมิตร และผู้สนใจก็อาจจะเห็นเป็นประโยชน์แก่เขาบ้างไม่มากก็น้อย

ความรู้ทั่วไปดังกล่าวข้างบนนั้นมีหลายเรื่องและหลายส่วนซึ่งมีผู้รู้กันอยู่แต่พ่อเห็นพ้องกับ ร.ม.ต.ยุติธรรมผู้หนึ่งซึ่งได้ฟื้นนิตยสาร “ข่าวศาล” ขึ้นเมื่อภายหลังเปลี่ยนการปกครอง 2475 ท่านผู้นั้นได้นำข้อคิดเกี่ยวกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเขียนไว้ย่อ ๆ และท่านได้กล่าวว่าเรื่องนั้น ๆ บางคนอาจว่าเรื่องนั้น ๆ บางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ท่านให้ข้อสังเกตว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่รู้ พ่อก็ถือคติเช่นว่านี้

เมื่อกล่าวถึงเรื่องการรู้และไม่รู้สิ่งที่เป็นสามัญสํานึกแล้วก็มีคติของศาสตราจารย์ผู้หนึ่งที่ กล่าวไว้ว่าการไม่รู้อาจเป็นโดยเพราะไม่โดยไม่ตั้งใจ ในกรณีเช่นนั้นเมื่อได้ศึกษาใช้ปัญญาและสติพร้อมทั้งมีความเฉลียว มีความสังเกตุก็อาจรู้ได้ แต่ที่ร้ายที่สุดคือไม่รู้โดยตั้งใจที่จะไม่รู้ซึ่งเป็นการแก้ไขยากเพราะเนื่องจากมีอุปาทานหรือมีกิเลสที่หนาแน่นยังอย่างถอนไม่ขึ้นแล้วจึงทําให้ไม่สามารถที่จะเข้าสู่สัจจะได้แม้จะเป็นรูปธรรมที่ประจักษ์ก็ไม่อาจที่จะเห็นรูปธรรมนั้นได้คือเกิดความลางเลือน ฉะนั้น ในการที่ลูกจะศึกษาความรู้ทั่วไปที่พ่อถ่ายทอดให้ลูกก็ต้องทำตามโดยชําระสมองให้ปราศจากอุปาทานและกิเลสจึงจะรับเอาสิ่งที่เป็นสัจจะตามภววิสัยและตามรูปธรรมที่ประจักษ์ได้ อนึ่ง พ่อขอให้ระลึกถึงคติโบราณของไทยว่าคนที่จะฉลาดนั้นจะต้องมีความเฉลียว จะต้องมีความสังเกตุเพราะความสังเกตุนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาและสติปรัชญาเมธีตั้งแต่สมัยกรีกที่ค้นคว้าหาสมุดฐานของโลกนั้นก็เริ่มมาจากความสังเกตุก่อนเช่นสังเกตุน้ำกลายเป็นน้ำแข็งแล้วน้ำแข็งกลายเป็นน้ําและสังเกตเรื่องดิน ไฟ ลม ฯลฯ และจากความสังเกตุของปรัชญาเมธีหลายชั่วก็ได้พัฒนาความรู้อันเป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าปราศจากความสังเกตุแล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลใดจะอ้างว่ามีปัญญาหรือมีความฉลาดเพราะว่าที่แท้ก็จะเป็นการถือตามคําบอกเล่าที่ห่างจากสัจจะ อนึ่ง การสังเกตุนั้นปฐมเมธีและคติพจน์ของท่านผู้รอบรู้ก็สอนให้สังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาก่อนอย่างเป็นระบบและละเอียดถี่ถ้วนเรื่องนี้จะได้กล่าวเมื่อถึงโอกาสเหมาะสมในฉบับต่อ ๆ ไป

ในฉบับนี้จะได้เริ่มเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาปัจจุบันซึ่งเป็นข่าวอยู่ในเมืองไทยคือ ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประชากรในชนบทกับในเมืองเพราะถ้าสังเกตุเพียงแต่ฟังวิทยุหรืออ่านข่าว น.ส.พ.ก็น่าสนใจว่าพลเมืองในกรุงเทพฯ มีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเมื่อคืนนี้พ่อได้ฟังวิทยุโตเกียวภาคภาษาไทยซึ่งนักประชากรศาสตร์ได้วิจารณ์ว่าอีก 20 ปีประชากรที่เป็นชาวนาญี่ปุ่นจะมีเพียงร้อยละ 5 ของพลเมืองทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ก็เป็นทางโน้มของพลเมืองชนบทที่เข้าไปอยู่ในเมืองอันเป็นปรากฏการณ์ที่ประจักษ์อยู่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งวิชาประชากรศาสตร์ (Demography) อันเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ได้ให้กฎไว้ ผู้ใดรู้ว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานของการเมืองก็ต้องสนใจทางโน้มของประชากรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและสังคม มิฉะนั้น การเมืองของผู้นั้นก็เลื่อนลอยอยู่ในอากาศมิได้มีพื้นฐานบนเศรษฐกิจเลยทางโน้มประชากรดังกล่าวแล้วจะเป้นไปในเมืองไทยอย่างไรและเนื่องจากเหตุใดนั้นจะได้กล่าวต่อไป

1. อัตราพลเมืองในพระนครเป็นร้อยละของพลเมืองทั่วประเทศไทยเทียบได้ ดังต่อไปนี้

ก. พ.ศ. 2480 พลเมืองทั่วประเทศ 14,464,105 คน พลเมือง ในพระนคร 684,994 คน เท่ากับร้อยละ 4.74

ข. พ.ศ. 2503 พลเมืองทั่วประเทศ 26,257,916 คน พลเมือง ในพระนคร 1,577,003 คน เท่ากับร้อยละ 6.01

ค. พ.ศ. 2510 พลเมืองทั่วประเทศ ประมาณ 32 ล้านพลเมือง ในพระนคร 2,257,684 คน เท่ากับร้อยละ 7.06

ถ้าสมมติว่าจะมีใครเถียงอย่างไร้เดียงสาว่าพลเมืองก็ต้องเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีก็ขอให้ตอบว่าเราได้คิดตามอัตราร้อยละ คือพลเมืองทั้งในชนบทและในพระนครได้คิดตามอัตราร้อยละ คือพลเมืองทั้งในชนบทและในพระนคร ส่วนที่เกิดมากกว่าตายเมื่อรวมทั่วทั้งประเทศแล้ว ก็อัตราเดียวกันแต่ที่พลเมืองในพระนครมีเพิ่มสูงกว่าเป็นลําดับมานั้นก็แสดงว่าเป็นคนจากชนบทเข้ามาในพระนคร และจะเถียงว่ามีคนต่างด้าวเพิ่มเข้ามานั้น บัดนี้ กฎหมายคนเข้าเมืองก็จํากัดคนเข้ามาจากต่างประเทศจึงขอให้เตือนเขาอย่าดื้อรั้นเถียงตัวเลขทางโน้มที่เป็นจริง และแม้จะไม่ได้ตัวเลขก็ย่อมสดับรับฟังจากวิทยุและเอกสารอื่น ๆ บอกชัดอยู่แล้วว่าคนชนบทเข้ามาอยู่ในพระนครมาก

2. ทางโน้มของคนชนบทเข้ามาอยู่ในนครปรากฏทั้งในยุโรปอเมริกาอาเซียที่ยังไม่ปลดแอกจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

ก. ฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1954 มีชาวนาและชาวประมง 5,194,919 คน ใน ค.ศ.1962 ลดลงเหลือ 3,827,960 คน ให้พึงสังเกตุว่าเนื้อที่นาของฝรั่งเศสมิได้ลดลงไปกว่าเดิมและผลิตผลเกษตรที่ทําได้ก็ยังมีเหลือที่รู้อยู่แล้วว่าเมื่อไม่นานมานี้ฝรั่งเศสได้ทําสัญญาขายข้าวสาลีให้ประเทศหนึ่งในอาเซีย 5 แสนตัน

ข. สรอ.ปรากฏว่าคนอยู่ที่นาได้ลดน้อยลงตามลําดับใน ค.ศ.1962 เหลือเพียง 7.7 เปอร์เซนต์ แต่เนื้อที่นาก็มิได้ลดลงไปผลิตผลก็ยังมีเหลือขายในตลาดโลก ผู้ที่สนใจเอาใจช่วยชาวนิโกรนั้นถ้าเอาใจใส่จริง ๆ ศึกษาสภาพที่ชาวมีใครต้องจากชนบทเข้ามาสู่ในเมืองก็จะรู้เหตุผลว่ามีอะไรบ้าง เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเครื่องจักรกลในการทํานาได้พัฒนามากขึ้นเจ้าของนาก็ใช้แรงงานลูกจ้างน้อยลงชาวนิโกร และชาวผิวขาวที่เคยเป็นลูกจ้างทํานาก็ต้องอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองทั้ง ๆ ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทําไม่ได้ต้องตกเป็นคนยากจนอยู่ในเมืองก็สมัครใจอยู่ในเมือง

บางคนเดาสวดว่าชาวนานิโกรโง่เพราะก่อนเข้ามาในเมืองนั้นพวกคนก็ประกอบเป็นคนยากจนในชนบทส่วนมากดูช่างไม่มีปัญญาเสียเลยที่จะคิดล้อมเมือง แต่เราเห็นว่าอดีตยาวนานิโกรไม่โง่และเห็นว่า การที่เขาเข้ามาอยู่ในเมืองนั้นคือเป็นการรุกเข้ามาในเมืองได้แล้วหากแต่พวกเขากําลังแสวงหาอาวุธอยู่ ฝ่ายเจ้าสมบัติอเมริกันก็รู้เค้าจึงพยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนซึ่งแม้ว่ากฎหมายนั้นจะออกให้แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นการยากเพราะอาวุธปืนใน สรอ. มีกระจัดกระจายทั่วไปและชาวนิโกรก็มีปัญญาในทางเทคนิคเพียงพอที่จะทําอาวุธได้ ความวิตกของเจ้าสมบัติที่มีอยู่มากต้องคอยระวังว่าชาวนิโกรที่รุกเข้ามาในเมืองได้แล้วนั้นจะทําอะไรขึ้น

ค. ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเมื่อ ค.ศ. 1960 มีที่เพาะปลูกประมาณ 35 ล้านไร่มีแทรกเตอร์ 520,000 คัน นี่ก็เห็นแล้วว่าแทรกเตอร์จะต้องมาแทนแรงงานของชาวนา ฉะนั้นทางโน้มที่ว่าอีกประมาณ 20 ปี ชาวนาญี่ปุ่นจะเหลือเพียงร้อยละ 5 ของพลเมืองทั้งหมดนั้น จึงเป็นความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์สังคม

ง. เกาหลีเหนือนั้นเมื่อ ค.ศ. 1963 ก็ได้ใช้แทรกเตอร์ไถนาร้อยละ 95 ของเนื้อที่นาทั้งหมด เมืองสําคัญของเกาหลีเหนือที่มีพลเมืองจากชนบทมาเพิ่มขึ้น ส่วนเกาหลีใต้นั้นแทรกเตอร์ก็ได้ทุนแรงงานชาวนาทําให้โฉมหน้าชนบทเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปโดยพลเมืองในเมืองได้เพิ่มขึ้น

จ. ส่วนเวียดนามนั้น ภายหลังที่ส่วนเหลือได้รับการปลดปล่อยเป็นเอกราชแล้วแต่ก็กําลังเพิ่งก่อร่างสร้างตัวแทรกเตอร์มีอยู่บ้างแต่ยังไม่มากมายและยิ่งในทุกวันนี้กําลังต่อต้านอเมริกันอยู่ มิใช่ยามปกติ ถ้าจะถอยหลังขึ้นไปก่อนปลดแอกจากฝรั่งเศสก็จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นแทรกเตอร์ที่จะปรับปรุงสําหรับไถนาข้าวยังไม่มี

ส่วนในเวียดนามใต้ซึ่งกําลังต่อสู้กันอยู่ในเวลานี้ก็ปรากฏว่ายังมิได้ใช้แทรกเตอร์แพร่หลาย แต่การที่พลเมืองในไซ่ง่อนได้เพิ่มขึ้นมากก็เนื่องจากเหตุอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการสงคราม ซึ่งต่างกับประเทศที่เวลานี้มิได้อยู่ในสภาพสงครามคนชนบทเข้ามาในเมืองเนื่องจากเครื่องมือการผลิตในชนบทซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยใหม่ได้ทุ่นแรงชาวชนบทและชาวชนบทเข้ามาในเมือง เพื่อประกอบการอุตสาหกรรมหรือมีอาชีพอย่างอื่นในเมือง

3. เหตุแห่งการที่อัตราของคนในเมืองเป็นส่วนร้อยต่อพลเมืองทั่วประเทศมีมากขึ้นนั้นก็มีเหตุหลายอย่างซึ่งวิชาประชากรศาสตร์ได้กล่าวไว้ แต่มีเหตุสําคัญอันหนึ่งก็คือเนื่องจากเครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ซึ่งเป็นเครื่องมือทุ่นแรง เมื่อมีมากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่าใดการใช้แรงคนก็ยอมต้องลดน้อยลงไปเป็นธรรมดา

การที่จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นการยากสําหรับผู้ที่ใช้ความผิดอันสืบเนื่องจากระบบศักดินาเพราะระบบศักดินานั้น มีรากฐานหยั่งลงไปถึงเครื่องมือการผลิตของระบบศักดินาคือการใช้ไถไม้และสัตว์ภาหนะ ผู้ใดมีความคิดศักดินาชนิดนี้อยู่ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าเครื่องจักรกลสมัยใหม่จะมีบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับเปลี่ยนโฉมหน้าของชนบท และคงตั้งทัศนะถือเอาชนบทของประเทศไทยเป็นสิ่งที่คงอยู่กับที่ตามคติความคิดศักดินาซึ่งเป็นความคิดอติโลกาจารย์ (ซึ่งบางคนใช้ศัพท์ผิด ๆ ว่าอภิปรัชญา)

สําหรับนักวิทยาศาสตร์ซึ่งแม้จะเป็นความคิดเจ้าสมบัติหรือบุคคลสามัญที่แม้จะไม่ก้าวหน้าเป็นสังคมนิยมก็ยังก้าวหน้ากว่าความคิดศักดินาคือ พวกเหล่านี้ก็ย่อมใช้ความคิดสามัญว่าเครื่องจักรกลเป็นเครื่องทุ่นแรงทําให้ลดแรงงานของมนุษย์และสัตว์ได้เพียงใด

ส่วนพวกที่ก้าวหน้าอย่างแท้จริงคือทราบซึมในคําสอนของปฐมเมธีอย่างแท้จริงและทราบซึมในคติพจน์ของปรมาจารย์อย่างแท้จริงก็ยิ่งจะเข้าใจได้ดีกว่านักวิทยาศาสตร์นายทุนเพราะปฐมเมธีและปรมาจารย์ก็ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งถึงการที่ระบบทุนได้พัฒนาเครื่องมือการผลิตศักดินาแต่เขาได้พัฒนาเพื่อใช้สําหรับระบบทุน แต่ฝ่ายสังคมก็นํามาใช้เพื่อสถาปนาระบบสังคมนิยม แต่ปัญหาของประเทศที่ยังไม่ได้ปลดแอกซึ่งเครื่องมือจักรกลสมัยใหม่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าชนบทดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นความจริงที่ประจักษ์เป็นรูปธรรม และเรื่องนี้ปฐมเมธีก็ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าถึงการคลี่คลายที่จะทําให้เมืองได้ใหญ่ขึ้นโดยเครื่องมือสมัยใหม่และคนงานก็ย่อมมาจากชนบทนั่นเองและเมื่อมีงานไม่พอคนว่างงานก็มาก ฉะนั้น ปฐมเมธีจึงได้กล่าวไว้ถึงคนว่างงานประกอบเป็นกองทัพผู้ว่างงานในเมือง

ดั่งนั้น การศึกษาคําสอนของปฐมเมธีให้เข้าใจนั้นผู้ศึกษาจะต้องล้างความคิดศักดินาอันเป็นความคิดที่ล้าหลังมากให้หมดไปเสียก่อนแล้วก็ล้างความคิดนายทุนให้หมดไป มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะตัวก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจทางโน้มระหว่างชนบทกับในเมือง

4. สําหรับประเทศไทยนั้นได้ประมาณตัวเลขอย่างคร่าว ๆ จากสถิติเท่าที่รวบรวมได้แนบมาด้วยเพื่อขอให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามเป็นการแสดงว่าจนถึงปี 2506 นั้น แทรกเตอร์มีอยู่ในประเทศไทยเป็นจํานวนไม่น้อยคือคิดเป็นราคาเกือบ 500 ล้านบาท และต่อจากปี 2506 มาจนถึงเวลานี้จะมีเพิ่มขึ้นอีกสักเท่าใด

ปัญหาสําคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือถ้าเครื่องทุนแรงมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกทั้งกระแสไฟฟ้าที่ฟังวิทยุว่าได้ขยายมากนั้นจะเป็นเหตุให้ชนบทได้เปลี่ยนโฉมหน้าเพียงใดและเร็วเพียงใด และเรายังจะควรใช้ความคิดศักดินาเป็นบรรทัดมาวัดสภาพชนบทของไทยได้เพียงไร

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร และวิธีการสะกดตามต้นฉบับ 
  • เอกสารส่วนบุคคลประเภทจดหมายนายปรีดี พนมยงค์ถึงบุคคลต่าง ๆ