ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

‘ปลดแอกชาติด้วยเศรษฐกิจการคลัง’ ปรีดี พนมยงค์ในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

11
มิถุนายน
2567

การก่อตั้งธนาคารชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันเป็นผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในทศวรรษ 2480 (กลาง)ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 และ(ด้านซ้ายของภาพ) พระยาทรงสุรรัชฎ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารชาติไทย
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 


สำนักงานธนาคารชาติไทย อยู่ที่กรมบัญชีกลาง (ตึกซ้ายมือประตูวิเศษชัยศรี)
ในพระบรมมหาราชวัง มีพนักงานเริ่มแรกทั้งหมด 18 คน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ภายหลังที่ตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลง โดยรัฐบาลอันมีพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ตั้งใจที่จะไม่รับตำแหน่งราชการบริหารใดๆ อีก ประสงค์ที่จะออกไปพักผ่อนในต่างประเทศและสังเกตสถานการณ์ทั่วไปๆ การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็ดี รัฐมนตรีมหาดไทยก็ดี ได้ผจญกับอุปสรรคภายในนานาประการเหลือที่จะทน อุดมคติของการปฏิวัติแม้จะไม่สำเร็จตามเจตนาเดิมแต่งานที่ได้ทำไว้ใน 2 กระทรวงนั้นก็นับว่าเป็นทางนำไปสู่ผลสำเร็จตามอุดมคติอยู่ไม่น้อย อุดมคติของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยจางลง ไม่เคยท้อถอยที่จะต่อสู้ แต่พฤติการณ์ที่เป็นมาตลอดเวลาทำให้ต้องตัดสินใจ เช่นที่กล่าวแล้ว

เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ พระยาพหลฯ ไม่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านบอกว่ารู้สึกเหนื่อยมาก อาจเป็นจริงเพราะท่านมีอายุมากและตรากตรำทำงานมามาก แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านเบื่อและเหนื่อยก็คือการแข่งแย่งดีกันในคณะ จนบางครั้งเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง ท่านเคยยกมือทั้งสองทุบอกมาแล้ว ท่านเคนพูดว่า ท่านเคยทนไม่ได้จนต้องหนีไปแล้ว บัดนี้ท่านตัดสินใจที่จะให้ตำแหน่งนายกแก่ผู้อื่น ผู้ซึ่งพอใจจะรับ และอยากได้ ส่วน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็คงยืนยันความรู้สึกของตน ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้แก่ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยมาก่อน และได้ประสบกับความยุ่งยากจนคับใจทนไม่ไหวลาป่วยหลายครั้งหลายหนนั้น

เมื่อได้รับทาบทามขอร้องให้เป็นรัฐมนตรี ก็แสดงความรู้สึกออกมาว่า ถ้าไม่มีใครก็ขอรับเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยเท่านั้น นอกจากรัฐมนตรีอื่นๆ แล้วได้มีการทาบทามและตกลงว่า พระยาชัยยศสมบัติจะว่ากระทรวงการคลังต่อไป เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ว่ากระทรวงยุติธรรม และสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์นั้น หลวงพิบูลสงครามขอร้องให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศต่อไปอีกสักครั้ง พระยาพหลฯ ผู้ซึ่งเห็นชัดว่าถ้าไม่สนับสนุนคำขอของหลวงพิบูลฯ แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์คงไม่รับแน่

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่พระยาพหลฯ ตระหนักอยู่ก็คือ งานของชาติในระบอบประชาธิปไตยนี้ ต้องดำเนินไปด้วยดีและต้องก้าวหน้า ฉะนั้นรัฐมนตรีที่ประกอบเป็นรัฐบาลต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถเข้มแข็ง งานของชาติจึงจะดำเนินไปด้วยดีดั่งที่มีอุดมคติกันมา คำสนับสนุนของพระยาพหลฯ ทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้

ครั้นถึงเวลาประชุมผู้ที่รับเป็นรัฐมนตรีประกอบเป็นรัฐบาล พระยาชัยยศสมบัติไม่ยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง จึงได้มีการแก้ไขบัญชีรายชื่อรัฐมนตรีเสียใหม่ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์พลาดจากตำแหน่งรัฐมนตรีลอยไปเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ส่วนดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีคลังสำหรับหลวงพิบูลสงครามนั้น นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย ไม่มากนัก

ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481 โดยที่ไม่นึกไม่หวังมาก่อนเลย ว่าจะได้มีโอกาสทำงานให้แก่ชาติบ้านเมืองตามอุดมคติของตนในระยะนี้ต่อไปอีก กระทรวงการคลังเป็นกระทรวงใหญ่และสำคัญมาก เพราะเป็นกระทรวงถุงเงิน มีหน้าที่หาเงิน เก็บภาษีอากรจากราษฎร เป็นกระทรวงเจ้าความคิดที่จะนำชาติและราษฎรไปสู่ความมั่งคั่งสมบูรณ์หรือหายนะ เพราะปรากฏมาแล้วว่า ในนานาประเทศนั้นรัฐบุรุษผู้บริหาร ได้ใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือดำเนินการไปบรรลุอุดมคติทางการเมืองของตน

และสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มั่นใจและแน่ใจว่าต้องใช้ภาษีอากรนี้แหละ นอกจากเพื่อสร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์ให้แก่ชาติแล้ว ยังจะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ราษฎร สร้างความเสมอภาคให้แก่ราษฎร และทำให้คำประชาธิปไตยมีความหมายที่เป็นจริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่ถ้อยคำ หรือแต่เปลือกนอก โดยที่ความอยุติธรรมยังมีอยู่ระหว่างชั้นของบุคคลในชาติ

ยังไม่ทันได้เริ่มงานในหน้าที่ของตนจริงจัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็ได้รับหน้าที่ให้กล่าวปราศรัยแก่ราษฎรทางวิทยุกระจายเสียงถึงนโยบายทั่วๆ ไปของรัฐบาลใหม่ จากคำปราศรัยนี้ เราจะได้พบความรู้สึกและความเข้าใจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่บริหารเพื่อประชาราษฎรในระบอบประชาธิปไตย ทั้งได้ชี้ให้ราษฎรเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลกับการกระทำของราษฎรมีผลต่อกันและกันอย่างไร และจะทำอย่างไรชาติไทยจึงจะเจริญก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย

ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า

“เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีที่จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงแล้ว จึงเป็นอันว่านโยบายของรัฐบาลได้แปรสภาพเป็นนโยบายของชาติ ซึ่งย่อมมีความผูกพันไม่เฉพาะแต่คณะรัฐบาลเท่านั้น แต่ย่อมผูกพันราษฎรทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของประเทศสยามและมีส่วนได้ส่วนเสียในโชคชะตาของชาติ ทั้งในส่วนแต่ละคนและในส่วนรวม

โดยเหตุที่นโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายของชาติดังกล่าวแล้ว และโดยเหตุที่นโยบายของรัฐบาลบัจจุบันนี้โดยเฉพาะตั้งเข็มไปในทางที่จะให้เกิดผลดีถึงราษฎรโดยเร็ว ความผูกพันทั้งรัฐบาลและทั้งราษฎรจึงย่อมแน่นกระชับขึ้น ผลปฏิบัติของรัฐบาลในทุกรัฐบาลในทุกๆ ทางย่อมจักกระเทือนถึงราษฎร และในทำนองเดียวกันความทุกข์สุขของราษฎรก็จักกระเทือนถึงรัฐบาลด้วย รัฐบาลกับราษฏรไม่ใช่คู่อริหรือคู่แข่งขัน แต่เป็นคู่ร่วมคิดร่วมมือกันปฏิบัติงานของชาติ ทั้งสองฝ่ายจักต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันขาด รัฐนาวาของเราจะแล่นไปโดยผาสุกสวัสดีได้ก็โดยที่ทุกๆ หน่วยของเรือปฏิบัติการด้วยความร่วมมือและประสานงานกัน”

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวย้ำข้อความนี้ในที่สุดว่า

“ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ไว้กับท่านทั้งหลายด้วย”

แล้วได้กล่าวถึงนโยบายบางข้อที่สำคัญๆ ก็คือว่า

“รัฐบาลจะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเวลาเดียวกัน ราษฎรก็จะต้องเคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญด้วย อีกข้อหนึ่งใคร่แสดงความปรารถนาของรัฐบาลในอันที่จะดำเนินการให้เกิดภราดรภาพระหว่างข้าราชการกับราษฎร โดยที่ให้ข้าราชการสำนึกและปฏิบัติหน้าที่ของตนเสมือนหนึ่งผู้รับใช้ของราษฎร ไม่ใช่นายของราษฎร”

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ย้อนกล่าวถึงผลสำเร็จของงานโดยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า

“รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้น จนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอำนาจศาล และการภาษีอากร โดยอาศัยไมตรีจิตต์ ความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบาย และสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีคุณค่าสำคัญยิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติผลอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในทันตาเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ กระทรวงการคลังได้สั่งให้เปิดด่านศุลกากรบางแห่งตามชายแดนแม่น้ำแม่โขงแล้ว”

ในด้านนโยบายต่างประเทศ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า

“การได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตยและสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉะบับใหม่นี้ รัฐบาลปัจจุบันจะสงวนและธำรงรักษาไว้อย่างแข่งขันและจนสุดความสามารถ ภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติในหลักแห่งการถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกัน โดยแบบเดียวและสม่ำเสมอกันต่อทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใดๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมฤดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง…

เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธ์ไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาค ด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมาซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น เป็นอันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะพากพูมใจในเกียรติที่ได้รับนี้ และในเวลาเดียวกันควรจะระลึกว่า เราได้มาซึ่งสนธิสัญญาใหม่นี้ ก็โดยความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาชาติ ในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ สมรรถภาพเช่นว่านี้ เราจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีผลจริงจังโดยรวดเร็ว”

นี่เป็นคำขอร้องและคำเตือนของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต่อราษฎร

ต่อจากนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้แจงนโยบายทั่วๆ ไปของรัฐบาล โดยไม่ลืมที่จะเน้นว่านอกจากจะดำเนินตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นรากฐานแห่งระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสมรรถภาพในด้านต่างๆ เช่น สมรรถภาพของราษฎรในการครองชีพทางเกษตร เหมืองแร่ พาณิชยการและอุตสาหกรรม ขยายการชลประทาน บำรุงและเพาะพันธุ์ปลา ส่งเสริมการประมงบำรุงและรักษาป่าไม้ ขยายการสหกรณ์ ส่งเสริมอาชีวศึกษา การคมนาคม บำรุงการอาชีพโดยหาตลาดทั้งในและนอกประเทศ เปิดท่าเรือ ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อความปลอดภัย และในที่สุดจะปลูกฝังนิสัยออมทรัพย์แก่ประชาชนโดยส่งเสริมการคลังออมสินและอื่นๆ นี่เป็นแต่เพียงสังเขปเท่านั้น

และที่สุด ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ย้ำว่า

“สยามจะเป็นประเทศที่สมบูรณ์ด้วยความเอกราชได้ก็โดยที่ราษฎรและรัฐบาลเป็นคู่ร่วมมือกันดำเนินกิจการก้าวหน้าของชาติให้ลุล่วงไปด้วยดี ขอให้ท่านระลึกอยู่เสมอว่า แม้ชีวิตของคนเรามีความตายเป็นเบื้องหน้าก็จริงแต่ชีวิตของผู้สืบสกุลของเราและชีวิตของประเทศชาติย่อมยั่งยืนอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นกิจการอันใดที่เราได้ปฏิบัติไปเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ถึงแม้ผลดีจะยังอยู่ห่างไกล และเราเองจะไม่ทันมีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นผลดีนั้นๆ ก็ตาม แต่ผลดีนั้นย่อมจะสนองแก่ผู้สืบสกุลของไทยและสนองแก่ชาติไทยเป็นส่วนรวมในอนาคต”

ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มใช้ผลที่ได้จากการปลดแอกชาติไทยพ้นจากการผูกพันตามสนธิสัญญาปรับปรุงพิกัดอัตราศุลกากร ให้เป็นผลดีแก่การเศรษฐกิจของชาติโดยการขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรจากสินค้าขาเข้าบางประเภท ลดหรือเลิกเก็บบางประเภทเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการนำสินค้าเหล่านั้นเข้ามามาก เช่น สินค้าที่เป็นการอุดหนุนการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ และการอนามัย การวิทยาศาสตร์ และการศึกษา คือเก็บภาษีแต่น้อยหรือบางประเภทไม่เก็บเลยเพื่อให้มีราคาถูก ส่วนอากรขาออกซึ่งเก็บจากสินค้าบางประเภทซึ่งเคยเก็บตามสภาพ (ad conditionem) นั้น ได้ปรากฏชัดว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าและเป็นผลเสียต่อประเทศชาติ เช่นสินค้าสำคัญที่สุดของไทย

คือข้าวเมื่อเก็บตามสภาพ ไม่ว่าตลาดข้าวของโลกจะมีราคาสูงหรือต่ำอย่างไร พ่อค้าคงเสียอากรตายตัว และเมื่อข้าวราคาตก พ่อค้าก็ยังคงเสียอากรเท่าเดิม เลยไม่ซื้อข้าวส่งออกไปจำหน่าย ชาวนาก็ขายข้าวไม่ได้ ความเสียหายเมื่อข้าวราคาสูง พ่อค้าซื้อข้าว และได้กำไรมาก แต่รัฐบาลได้อากรขาออกน้อย ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงให้เปลี่ยนเก็บตามราคา (ad valorem) ซึ่งจะได้หลีกเลี่ยงผลเสียหายต่างๆ เสียทั้งจะเป็นการสนับสนุนให้มีการส่งข้าวออกไปจำหน่ายมาก เป็นผลดีแก่ชาวนา อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่ในลักษณะที่ต้องเสี่ยงแต่ไม่ใช่ตามบุญตามกรรม เป็นแต่ต้องเลือกเอาว่า จะใช้ภาษีให้อากรเป็นคุณแก่ประเทศชาติและราษฎรอย่างไร โดยตรงหรือโดยอ้อม ดร.ปรีดี พนมยงค์กล่าวว่า

“รายได้ประเภทนี้ (คือ อากรขาออกเก็บจากข้าว) จะขาดไปปีหนึ่งประมาณ 400,000 บาท แต่ก็พร้อมที่จะทำเพื่อประโยชน์แก่สินค้าข้าวของเรา”

แน่นอนว่าเพื่อประโยชน์ของราษฎร ชาวนา ซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 99 ของพลเมืองทั้งหมด

 

 

หมายเหตุ :

  • อักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

บทความในหนังสือ :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, “ตอนที่ 4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 479-487.