ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

OPEN MIND - OPEN BANGKOK - OPEN DATA วัฒนธรรมใหม่เพื่อประเทศไทยเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

23
มิถุนายน
2565

ปรากฏการณ์ที่บอกความนิยมถึง 1,386,215 เสียง ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 คือ ความเผ็ดร้อนที่ไม่ธรรมดาของสถานการณ์แข่งขันที่เข้มข้น เพราะมวลชนซึ่งตกอยู่ในความมืดมนถึง 8 ปี หลังรัฐประหาร 2557

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ที่มีเป้าหมายชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยยุทธศาสตร์ที่โชว์ศักยภาพ DREAM TEAM อย่างคนยุคใหม่ที่ไม่ใช่เพียงนโยบายการเมืองเรื่องอยู่กิน แต่มีความเป็นศิลปินในตัวตนซึ่งดลให้มวลชนมีความหวังใหม่ในมิติที่ดูแลครอบคลุมทั้งกายใจ (รวมไปถึง PASSION อันเป็นความต้องการภายในเบื้องลึกที่หล่อเลี้ยงชีวิตไม่ให้ขาดชีวา) ด้วยการหายุทธวิธีนำ CREATIVE ECONOMY มาบริหารจัดการ CREATIVE SPACE ภายใต้ขอบเขตวิธีคิดแบบ ZERO BASED BUDGETING โดยไม่ทิ้งทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ซึ่งไม่เคยอยู่ในแผนพัฒนาเมืองของผู้ว่าฯ กทม. มาทุกสมัย

ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้ทันยุค นโยบายเชิงรุกอย่างไรบ้างที่จะสร้างเมืองให้น่าอยู่ได้สำหรับทุกคน คือ พันธกิจของประชาชนทั้งประเทศ ที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่เมืองหลวงอีกต่อไปแล้ว

นโยบายกู้ชาติของชัชชาติ อำนาจที่ต้องได้มาจากความร่วมมือ ปัจจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ นโยบายบริหารจัดการของ Dream Team โดย 18 ผู้เชี่ยวชาญ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กับ 9 ดี ย่อยเป็น 214 Action Plan คือ คำสั่งประชาชน  

  • กลุ่มที่ 1 บริการรวดเร็วทันใจ โปร่งใสในทุกขั้นตอน  
  • กลุ่มที่ 2 คุณภาพชีวิตต้องจริงจัง การเดินทาง ฝุ่น ขยะ น้ำเสีย พื้นที่สีเขียว ฯลฯ 
  • กลุ่มที่ 3 โอกาส สร้างโอกาสให้ผู้คนสามารถสร้างงานใหม่ๆ ได้

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CREATIVE ECONOMY)   นโยบายหลัก 9 ดี ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติปราศรัยชนะใจประชาชน[1]

  1. บริหารจัดการดี ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมความโปร่งใสผ่าน platform ประชาชนร่วมกำหนดงบประมาณ สมานสามัคคีมีพลังในการแสดงความคิดเห็น แจ้งเหตุ ตรวจสอบ และประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ ฯลฯ 
  2. สิ่งแวดล้อมดี สะดวกสบาย ใกล้บ้าน เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน กทม. ร่วมกับกลุ่ม BIG TREE มีฝันไกลปลูกต้นไม้ 1,000,000 ต้น ภายในเวลา 4 ปี ผู้ว่าฯ ปลูกต้นโพธิ์นำร่องในวันเริ่มรับตำแหน่งเมื่อ 1 มิถุนายน 2565 
  3. ดูแลสุขภาพเชิงรุก ต้องพาหมอไปหาประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการบริการของโรงพยาบาล สาธารณสุข ปรับปรุงบริหารจัดการ เพิ่ม Mobile Medical Unit รถบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่เข้าถึงชุมชน เพิ่มศูนย์บริการยกระดับ (เฉพาะกลุ่ม เช่น  LGBTQ, ผู้สูงอายุ, โควิด-19 ฯลฯ แบบรวมศูนย์ Single Command 
  4. เดินทางดี มีขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน ทำ Single Command  กทม. มี 37 หน่วยงาน ต้องติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมการจราจร  BTS ต้องต่ำกว่า 30 บาท (ใน 3 สถานีแรก), รถเมล์, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, เรือ ฯลฯ
  5. ปลอดภัยดี ลดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาชญากรรม บนทางเท้า ทางข้าม ต้องปลอดภัย, ฝึกกู้ภัย, ดูแลคนไร้บ้านและจัดการอาชีพให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น 
  6. โครงสร้างดี (ดูแลจัดการเส้นเลือดฝอยของทุกระบบ) โครงสร้างผังเมือง ที่พักอาศัย การระบายน้ำ มีท่อระบายน้ำ 6,000 กิโลเมตร และต้องลอกอย่างน้อย 3,000 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำไหลทะลุถึงอุโมงค์ระบายน้ำ ไม่ก่อปัญหาน้ำท่วม, ตัดถนนทะลุทะลวงระหว่างซอย, สร้างโครงการบ้านมั่นคง ที่อยู่อาศัยต้องมั่นคง เพราะทุกคนคือทรัพยากรของเมือง
  7. เศรษฐกิจดี คือตัวขับเคลื่อนสำคัญ ใส่ใจทุกระดับ, หาทางออกร่วมกัน จัดการพื้นที่หาบเร่ แผงลอย ไม่ให้เบียดเบียนคนเดินเท้า, 50 ย่านสำคัญดึงอัตลักษณ์ขึ้นมาสร้างเศรษฐกิจเชื่อมโยง, จัด 12 เทศกาลตลอดปีมีทุกเดือน โดยมี กทม. เป็นเจ้าภาพอำนวยความสะดวก
  8. เมืองสร้างสรรค์ คือ หัวใจ โดยมีมิวเซียมสยามเป็นโมเดล กระจายพื้นที่สาธารณะคุณภาพไม่ให้กระจุกแค่กลางเมืองเพื่อให้เด็กๆ และประชาชนทั่วไปได้สัมผัสพื้นที่คุณภาพ ห้องสมุดต้องมีทุกเขต ทุกแขวง เด็กๆ ไม่ต้องไปอยู่ร้านเล่นเกม  เปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เมืองรอบๆ เสาชิงช้าคือสะดือกรุงเทพฯ ลานคนเมืองจัดกิจกรรมเชื่อมโยงให้เป็นพื้นที่ของทุกคน กิจกรรมเสริมปัญญา ศิลปะกลางแจ้ง  ให้เกิดสุนทรียภาพ
  9. เรียนดี (หัวใจของการลงทุนน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก) ยกระดับการดูแลครู-นักเรียน, หลักสูตรพัฒนาโรงเรียน, ศูนย์ฝึกอาชีพ, การพัฒนาเด็กเล็กสำคัญที่สุด กทม. จะดูแลตั้งแต่อนุบาล มีมาตรการคืนครูให้นักเรียน (ปัจจุบันครูให้นักเรียนไม่เต็มร้อยเพราะงานเอกสารและการเลื่อนวิทยฐานะ)  

OPEN MIND - OPEN BANGKOK - OPEN DATA ปฏิรูปวัฒนธรรมใหม่ คือ ความโปร่งใสและประสิทธิภาพ   

การมาของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สร้างความคาดหวัง และก่อเกิดปรากฏการณ์ “วัฒนธรรมใหม่” ที่ไม่ใช่แค่ดนตรีสีสันเท่านั้น แต่มีผลต่อการปฏิรูปวัฒนธรรมทุกมิติให้กับแวดวงราชการไทยไม่น้อย จากเส้นเลือดฝอยสู่เส้นเลือดใหญ่ที่ถูกทำไปพร้อมกัน 

หนึ่งในสารพันปัญหาเหล่านั้น เริ่มจากต้อง OPEN MIND จัดการระเบียบกติกาใหม่ในสำนักงานเทศบาลกรุงเทพฯ เช่น เลิกใช้คำเรียกหัวหน้างานว่า นาย (ที่มีความหมายมาจากรากศัพท์ของคำว่า เจ้าขุนมูลนาย), ต้องมีอารยสถาปัตย์ที่เอื้อต่อคนพิการที่จะมาใช้บริการ, รับพนักงานที่เป็นคนพิการให้มีโอกาสทำงานที่เหมาะสม ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและปลูกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่เป็น “ผู้รับใช้ประชาชน” บนวิถีทางของการทำงานที่สง่างาม 

ตามมาด้วย OPEN BANGKOK โดยการนำ plat form เพื่อการแจ้งเหตุ ร้องทุกข์ “Traffy Fondue” ที่เป็น application ใช้ง่าย มากระจายหนุนอำนาจให้ราษฎรในเขตกรุงเทพฯ วิสัยทัศน์การนำเทคโนโลยีมาเสริมทัพทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตื่นตัวทั่วประเทศ ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นับเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เส้นเลือดใหญ่ทั่วประเทศไทย

และต่อมา คือ OPEN DATA ซึ่งทุกหน่วยงานจะสามารถเพิ่มศักยภาพและป้องปราบการทุจริตที่มีรากลามลึกมาทุกรุ่น แล้วช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นในการทำงานของข้าราชการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย (Platform Revolution) อีกทั้งช่วยเปิดโอกาสให้น้ำใหม่เข้ามาล้างน้ำเก่าที่เน่ามานานออกไป

เบื้องหลังการทำงานของผู้ว่าฯ คนนี้ คือ ทีมงานที่ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่มาเป็นที่ปรึกษา แขนขา มันสมอง และไม่ลืมสนองความต้องการทางใจของประชาชน โดยเฉพาะคนเรียนจบใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยแสวงหา ด้วยเมตตาและหวังดี เพราะทุกคนมีอนาคตของประเทศอยู่ในกำมือ นั่นคือชีวิตที่ควรดีขึ้นในทุกๆ ด้าน และเป็นพันธกิจของงานที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ  

การพัฒนาเมืองในระยะยาวมีโครงการดนตรีในสวนตามนโยบาย “กรุงเทพฯ เมืองแห่งดนตรี และศิลปะการแสดง” (จากข้อ 8 เมืองสร้างสรรค์ ที่เป็นหนึ่งใน 9 ดี นโยบายหลักของกทม. ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 2  (พ.ศ.2561-2565) และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 ด้านที่ 3 มหานครสำหรับทุกคน มิติที่ 3.4 สังคมพหุวัฒนธรรม เป้าประสงค์ที่ 3.4.1 คนกรุงเทพฯ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและปรองดอง

เป้าประสงค์ที่ 3.4.1.3 พัฒนากลไกและเครือข่ายการขับเคลื่อนเรียนรู้พหุวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้มีงบประมาณเหลือไว้ให้บริหารเพียง 79,000 ล้านบาท ชัชชาติก็มั่นใจในทุนตั้งต้น เพราะงานส่วนใหญ่ถูกจัดการให้อยู่ในระบบของงานประจำ และเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประหยัดพลังงานและงบประมาณ แม้โครงการดนตรีฯ จะไม่ได้ช่วยเรื่องเศรษฐกิจในทันที แต่การที่ดูแลจิตใจก็สำคัญไม่ต่างกัน

“ผมว่าดนตรีในสวนชุดนี้เขาเข้าใจคนฟัง วันเปิดงานมีโทรศัพท์เข้ามาขอเข้าร่วมโครงการกันหลายกลุ่มเยอะมาก คนดูก็ตอบรับดีมาก เสาร์-อาทิตย์ได้มีที่ไปไม่ใช่เที่ยวห้างอย่างเดียว ในอนาคตจะเป็นช่องทางที่ศิลปินจะทำเป็นอาชีพได้ อาจมีสปอนเซอร์เข้ามาทำให้มีรายได้ เกิดกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ กทม.ต้องเปลี่ยน mindset อย่าลงทุนเยอะแต่ได้น้อย หลายครั้งที่เคยลงทุนหมื่นแสนล้าน แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไร  ดนตรีในสวนไม่ต้องลงทุนสูง แต่ได้ความสุขความหวังกลับมา เป็นมิติใหม่ที่เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วครับ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สุทธิพันธ์ มั่นใจ

การมาของ “ดนตรีในสวน” ครั้งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือบริหารเมืองเชิงลึก เข้าถึงความรู้สึกความต้องการทางใจที่ไม่ใช่แค่เรื่องทำมาหากิน

“สิ่งที่เราสามารถทำได้ในวันนี้คือ Smart Enough City ส่วน Smart City เป็นเรื่องของอนาคต ยุคนี้งานของคนรุ่นใหม่มีไม่มากพอสำหรับ PASSION ของทุกคน งานอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องอดทน ไม่ชอบก็ทำไปก่อน หนักเอาเบาสู้อย่าดูถูกงาน ในวิกฤตการณ์อย่างนี้ถ้าเงื่อนไขเยอะอาจเปลี่ยนงานยาก หัวใจคือเอาชีวิตรอดก่อน แล้วสะสมความรู้เพิ่มเติมเพื่อรอจังหวะ คุณอาจหา passion จากงานไม่ได้ เพราะงานคือสิ่งที่ชีวิตต้องการจากคุณ แต่ passion คือสิ่งที่คุณต้องการจากชีวิต ไปหาเพิ่มเติมเต็มเอาได้ น้อยคนนักที่จะโชคดีได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ  passion ของผมคือ การทำให้คนอื่นมีชีวิตดีขึ้น มีความสุข แม้อาจเล็กน้อยก็ตาม เพราะผมเป็นผู้ว่าของทุกคนครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าว[2]

นโยบายกรุงเทพฯ เมืองแห่งดนตรี และศิลปะการแสดง

ในเมืองที่มีพหุวัฒนธรรมเป็นสิ่งค้ำจุนสังคมอย่างกรุงเทพฯ หนึ่งในนโยบายสายศิลปวัฒนธรรมที่จัดว่าเยี่ยมยุทธสุดยอดประชานิยม น่าชื่นชมที่ได้รับการฟื้นฟูสนับสนุน คือ การกระจายความสุขด้วยเสียงเพลง จัดบรรเลงในสวน เพราะดนตรีคือสื่อที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ง่ายกว่าการแสดงสายอื่นๆ

แรกเริ่มงานถูกดำริบนพื้นฐานของ Zero Based Budgeting ร่วมกับนักร้อง นักดนตรี และวงดนตรีอาสาคืนสู่เวที ยังไม่ต้องทุ่มงบประมาณ แต่ประสานให้ทุกฝ่ายมารวมตัวร่วมใจกันจัดกิจกรรมสังสรรค์อย่างมีปฏิสัมพันธ์ อันจะนำไปสู่วิธีคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในภาคประชาสังคม บันทึกไว้เป็นหมายเหตุสำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

งานดนตรีในสวนจัดขึ้นครั้งแรกที่สวนลุมพินี ในช่วงปี 2536 ในสมัย “ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” เป็นผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำจนจะขึ้นสู่ปีที่ 30 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีมาตลอด[3]

หลังโควิดปิดประเทศ จำกัดขอบเขตการทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะมานานสามปี  เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย 30 พฤษภาคม 2565 ว่าที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้โอกาสพิเศษดำริเปิด Public Space ทันที ตามนโยบายที่ขายไว้ เพราะความเป็นคนมีดนตรีในหัวใจมานาน ทุกคนรับรู้และสัมผัสได้ แม้ว่าครั้งแรกที่จัดจะยังอยู่ในช่วงเวลาที่รอคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผล ยังไม่ประกาศ แต่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้เร่งเตรียมการไว้ก่อนหน้านั้นแล้วกับ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการไทยซิมโฟนีออเคสตรา และประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งเคยทำโครงการดนตรีในสวนมาเป็นผู้จัด ครั้งนี้ในชื่อโครงการ “ดนตรีในสวน เพื่อความสุขและความหวัง”

งานถูกออกแบบให้อยู่ในบรรยากาศสบายๆ ง่าย งาม ประเด็นสำคัญของการจัดงานจึงไม่ใช่แค่การสานต่อนโยบาย แต่มีความหมายตรงเจตนาจากว่าที่ผู้ว่าฯ ขณะนั้นให้โจทย์ศิลปิน “โปรดเล่นให้สนุกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่” เป็นการส่งกำลังใจบอกทุกคนสู้ไปด้วยกัน

วันแรกเปิดงาน 4 มิถุนายน 2565 ณ ‘สวนวชิรเบญจทัศ’ หรือ ‘สวนรถไฟ’ งานเริ่มตั้งแต่ 16.00 - 18.00 น. เป็นการรวมผู้คนหลากกลุ่มหลายวัยไว้ในจุดเดียว สมกับที่เป็นงานดนตรีเพื่อประชาชน ไม่มีการระบุชนชั้นวรรณะ แม้แต่นักดนตรีก็กลมกลืนไปกับทุกคนที่นั่งบนพื้นหญ้า มีผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้าร่วมวงส่งพลังของความรักผ่านความสนุกสนาน ร่วมเต้นรำกับประชาชนอย่างชื่นมื่นรื่นรมย์ เสียงเพลงและเสียงความสุขของผู้คนกระหึ่มก้อง  ดั่งเสียงร้องร่วมร้องยินดีกับผู้ว่าคนใหม่ขวัญใจประชาชน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มิถุนายน 2565

“คนกรุงจะได้ฟังดนตรีดีๆ  ไม่ต้องใช้งบมากเท่าไหร่เลยก็ร่วมมือร่วมใจกันจัดขึ้นได้ เพราะพวกเรามารวมพลังกัน ต่อไปทุกสัปดาห์จะจัดให้กระจายทั่วกรุงเทพฯ เริ่มที่สวนรถไฟ, สวนหลวง ร.9, สวนเบญจกิติ, ย่านสยามสแควร์ ฯลฯ  ในชุมชนแออัดก็จะจัด ทุกคนย่อมมีสิทธิ คอยติดตามนะครับ”  ชัชชาติให้สัญญากับประชาชน

นอกจากดนตรี ภายในงานยังมีการวาดภาพจากจิตรกรสีน้ำ สุชาติ วงศ์ทอง ตัวแทนเครือข่ายศิลปิน วาดภาพชัชชาติเป่าทรัมเป็ตให้เป็นที่ระลึกในวาระปฐมฤกษ์เบิกสวนอีก และยังช่วยให้มูลนิธิฯ ได้รับบริจาคเป็นกำลังใจไปหนึ่งแสนบาท

1 พฤษภาคม 2565 ไทยประกาศเปิดประเทศ หลังจากที่ผู้คนไม่ได้สัมผัสบรรยากาศสนุกสนานเพราะโควิด 19 มานาน “ดนตรีในสวน” ถูกนำมาเยียวยาประชาชน  นับจากนี้ไปจนตลอดปี เวทีประชาชนของ กทม. จะมีวงดนตรีอาสา นักร้องอาสา เข้ามาร่วมโครงการอีกมากมาย ไร้สังกัด จัดประชันหลายแนวเพลง สำนักงานสังคีต กรมศิลปากร กับวงดุริยางค์สากลเต็มวง และการแสดงนาฏศิลป์วิจิตรตระการตามาร่วมคืนความสุขให้ประชาชน เชิญทุกคนไปรับกำลังใจร่วมกันในวันฝ่าฟันวิกฤต ผลกระทบจากโควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง กทม. พร้อมดูแลใจในแนวคิด “คนคือเมือง เมืองคือตลาดแรงงาน”

เมื่อผู้คนมีปฏิสัมพันธ์เปิดใจต่อกันได้แล้ว การเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ที่จะตามมาจากความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ยากนัก เพราะความรักที่มีต่อกันจะเยียวยาทุกปัญหาให้ดีขึ้นได้ เป็นทั้งจุดขายและจุดแข็งของผู้นำที่กำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับประเทศไทย

 


[1]   ชัชชาติ เปิด 200 นโยบาย ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ https://www.yotube.com/watch?v=Z0wvB7EG8Cg สืบค้นวันที่ 6 มิถุนายน 2565

[2] ชัชชาติ เปิด 200 นโยบาย ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ https://www.youtube.com/watch?v=Z0wvB7EG8Cg สืบค้นวันที่ 6 มิถุนายน 2565

[3] ย้อนรอย “ดนตรีในสวน” กิจกรรมดี ๆ ชมฟรี ที่ครองใจคนกรุงฯ มาเกือบ 30 ปี เผยแพร่: 6 มิ.ย. 2565 โดย: ปิ่น บุตรี https://mgronline.com/travel/detail/9650000053349 สืบค้นเมื่อ 8 มิ.ย 2565