ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประชาธิปไตยไทยกับการถ่วงดุลอำนาจ

9
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512) หลังจากได้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งแล้ว ก็ได้จัดทำรายงานประเมินผลการเลือกตั้งและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ โดยรวมบทความจากผู้อื่นด้วย รวมทั้งนายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ในชื่อ “การประเมินผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน 10 กุมภาพันธ์ 2512” (ตีพิมพ์ 2512)
  • การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในความเห็นของนายทวี บุณยเกตุ คือ การปกครองที่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และแยกอำนาจการปกครองออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
  • ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ มิได้อยู่ที่การเขียนรัฐธรรมนูญสวยๆ สมาชิกที่ราษฎร (เพียงแค่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปนั่งในรัฐสภา) รัฐบาล และศาล หรือแต่เพียงคำของมันเท่านั้นไม่ แต่อยู่ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกคนที่จะต้องรู้จักสิทธิ์และหน้าที่ของตนที่มีต่อประเทศ รู้จักปกป้องสิทธิ์ และรู้จักหน้าที่ที่จะรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้มีการล่วงละเมิดได้ และสส.มีความเข้มแข็งในการควบคุมรัฐบาลด้วย

 

ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ว่าจะได้จัดพิมพ์หนังสือประเมินผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรีขึ้นโดยจะได้ประมวลเหตุการณ์ทั่วไปในหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ที่นิสิตนักศึกษาประจำอยู่ รวมทั้งผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ นอกจากนี้จะได้รวบรวมบทความและข้อเขียนของบุคคลต่างๆ  เพื่อนำออกเผยแพร่แก่นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จึงใคร่ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนบทความหรือข้อเขียนเรื่องอะไรก็ได้ตามแต่ที่ข้าพเจ้าจะเห็นสมควร เพื่อนำลงพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่จะได้รับคำร้องขอนี้ แม้ว่าข้าพเข้ามิใช่นักเขียน แต่ก็มิอาจจะปฏิเสธความหวังดีของกลุ่มนิสิตและนักศึกษานี้ได้ ปัญหาของข้าพเจ้าก็อยู่ที่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีเพื่อให้เหมาะกับที่จะพิมพ์ลงในหนังสือเล่มนี้ ในที่สุดก็มาพิจารณาเห็นว่า หนังสือที่กลุ่มนิสิตและนักศึกษา จะพิมพ์ขึ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ตามหลักแล้วจะมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประเทศที่มิได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย ส่วนประเทศไทยนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าข้าพเจ้าจะเขียนเรื่อง “ประชาธิปไตย” ก็ดูจะเหมาะสมกับหนังสือที่จะพิมพ์ขึ้นนี้มากกว่าที่จะเขียนเรื่องอื่นจึงได้ตัดสินใจเขียนในหัวข้อเรื่องว่า “ประชาธิปไตย” และเรื่องประชาธิปไตยที่ข้าพเจ้าจะเขียนนี้ขอแยกออกเป็นสองความหมายคือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยความหมายหนึ่ง กับความเป็นประชาธิปไตยอีกความหมายหนึ่ง

สำหรับความหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองซึ่งถือหลักว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนพลเมืองของประเทศ กล่าวคือ ประชาชนพลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ไม่มีบุคคลใด หรือกลุ่มชนใด จะมาผูกขาดเป็นเจ้าของประเทศเสีย แต่เพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว และในระบอบประชาธิปไตยนี้มีหลักการแยกอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ฝ่ายคือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ ฝ่ายหนึ่ง
  2. อำนาจบริหาร ฝ่ายหนึ่ง และ
  3. อำนาจตุลาการ อีกฝ่ายหนึ่ง

สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข เป็นผู้แทนของประชาชนคนไทยทั้งชาติ แต่ทรงใช้พระราชอำนาจการบริหารประเทศทางคณะรัฐมนตรี กล่าวคือรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตราพระราชกำหนด กฎหมายเพื่อบังคับใช้แก่ประชาชนทางรัฐสภา และทรงใช้พระราชอำนาจในการพิพากษาอรรถคดีทางศาลสถิตยุติธรรม

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วแต่ต้นว่า อำนาจสูงสุดที่จะเรียกกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ฉะนั้นคนไทยทุกคนไม่ว่าเหล่ากำเนิดใด และไม่ว่าชั้นวรรณะใดล้วนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันทุกคน แต่การที่จะให้คนไทยทุกคน คือทั้ง 32 ล้านคนมาพร้อมกันใช้สิทธิการเป็นเจ้าของประเทศ ตราพระราชกำหนดกฎหมายและปกครองบ้านเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนของตน เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ขึ้นตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่นทุกๆ จำนวนพลเมือง 150,000 ให้มีผู้แทนได้หนึ่งคน เช่นนี้เป็นต้นดังที่ได้กระทำกันมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511

ภายหลังที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักในการปกครองและบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยมีอย่างไรนั้น ได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดและครบถ้วนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 แล้ว ไม่จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องอธิบายอีก ข้าพเจ้าจะขอพูดแต่เรื่องของประชาธิปไตยในอีกความหมายหนึ่งคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” อันเป็นสาระของเรื่องในบทความที่ข้าพเจ้าจะเขียนนี้

การที่เราได้มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีรัฐสภา มีรัฐบาล และมีศาลสถิตยุติธรรม อย่างครบถ้วนตามระบอบประชาธิปไตยนั้น หาได้หมายถึงความเป็นประชาธิปไตยไม่ ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น หาได้อยู่ที่การเขียนรัฐธรรมนูญสวยๆ  หาได้อยู่ที่เรามีสมาชิกรัฐสภาที่สักแต่ว่าเป็นสมาชิกที่ราษฎรได้เลือกตั้งเข้ามานั่งในรัฐสภา หาได้อยู่ที่รัฐบาล และหาได้อยู่ที่ศาล แต่เพียงคำของมันเท่านั้นไม่ แต่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นอยู่ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกคน คือทุกคนจะต้องรู้จักสิทธิ์และหน้าที่ของตนที่มีต่อประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญจะศักดิ์สิทธิ์ไม่มีผู้ใดล่วงละเมิดก็ต่อเมื่อประชาชนรู้จักใช้สิทธิ์ปกป้อง รู้จักหน้าที่ของตนในอันที่จะรักษารัฐธรรมนูญนั้นไว้อย่าให้มีการล่วงละเมิดได้ ต้องไม่เป็นเครื่องมือของบุคคลใด หรือกลุ่มชนใด หรือพรรคการเมืองใดที่จะมาละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นอันขาด

ฉะนั้นหากข้าพเจ้าจะกล่าวว่าความเป็นประชาธิปไตยของประเทศขึ้นอยู่ที่ประชาชนพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศก็ไม่ผิด เช่นเดียวกับความเป็นสงฆ์และผู้ที่เป็นสงฆ์ โดยครองแต่ผ้าเหลืองหามีความเหมือนกันไม่ ความเป็นสงฆ์นั้นได้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่ทรงศีล ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยพระสงฆ์จะมีความเป็นสงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อมีวินัย ปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แต่ถ้าพระสงฆ์รูปใดทุศีล อาศัยแต่เพียงผ้าเหลืองคือผ้ากาสาวพัสตร์มาปกปิดร่างกาย เป็นเครื่องบังหน้าหากินเพื่อให้พุทธศาสนิกชนหลงเชื่อทำบุญและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แล้ว

หาได้เชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์และมีความเป็นสงฆ์อยู่ในตนไม่ เรื่องความเป็นสงฆ์มีอุปมาฉันใด ความเป็นประชาธิปไตยก็มีอุปมัยฉันนั้น อาภรณ์เครื่องประดับจะมีค่าก็อยู่ที่ผู้รู้จักใช้และตบแต่ง และรู้จักคุณค่าของมัน แต่ถ้าเรายื่นส่งอาภรณ์นั้นๆ ให้แก่วานรแล้วอาภรณ์นั้นๆ ก็หามีคุณค่าสำหรับวานรนั้นไม่ ฉะนั้นคุณค่าของมันจึงอยู่ที่เจ้าของหรือผู้รู้จักใช้และรู้ข้าคุณค่าของมันเท่านั้น

อำนาจทั้ง 3 คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ นั้น แม้จะได้แยกออกจากกันแล้วก็ตาม แต่ละอำนาจมีความสัมพันธ์และต้องเป็นงานที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด ฝ่ายบริหารจะบริหารกิจการบ้านเมืองไม่ได้ หากไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือใช้บังคับและฝ่ายตุลาการคือผู้พิพากษาจะพิจารณาพิพากษาอรรถดีไม่ได้ หากไม่มีกฎหมายเป็นแม่บท และเป็นแนวทางให้พิจารณา ฉะนั้นในความเห็นของข้าพเจ้า

ในอำนาจทั้ง 3 นี้ อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติคือพิจารณาออก พระราชกำหนดกฎหมายแล้ว รัฐสภายังมีหน้าที่ควบคุมรัฐบาลอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งได้มาจากเงินภาษีอากรซึ่งราษฎรเป็นผู้เสีย หากรัฐมนตรีคนใดปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง สมาชิกรัฐสภายังมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถาม หรือตั้งกรรมาธิการขึ้นสอบสวนและมีสิทธิ์ลงมติไม่ไว้วางใจในตัวรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือรัฐมนตรีทั้งคณะก็ได้ ผู้แทนราษฎรที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมานั้นถือว่าเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ หาได้เป็นผู้แทนแต่เฉพาะที่ราษฎรในเขตจังหวัดที่ตนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้นไม่

ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตำแหน่งที่สูงศักดิ์และมีเกียรติยิ่ง และมีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก ถ้าเราเลือกคนดีมาเป็นผู้แทนราษฎร รัฐสภาก็จะมีความเข้มแข็งสามารถควบคุมรัฐบาลได้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้รัฐบาลเกิดความเกรงใจ และให้ความร่วมมือกับรัฐสภาดียิ่งขึ้น  และจะสามารถทำให้รัฐบาลเข้มแข็งและมั่นคงด้วย ตรงกันข้ามถ้าเราได้ผู้แทนราษฎรที่ไม่ดีแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่มีระเบียบก็จะเกิดขึ้นในรัฐสภา  บัานเมืองก็จะขาดเสถียรภาพ เมื่อเกิดความปั่นป่วนอลเวงในรัฐสภามากขึ้นก็จะเป็นเหตุนำมาซึ่งการยุบสภาหรือเหตุร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้ได้ ในที่สุดก็จะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยตัองสะดุดหยุดลงและหมดไป อันจะเป็นทางนำมา ซึ่งระบอบการปกครองอย่างอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างมากกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นบุคคลชั้นปัญญาชนมีการศึกษาดีได้มีผู้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเพียง 30% เศษเท่านั้นเอง ซึ่งนับว่าน้อยมาก ผิดกับประเทศอื่นที่ประชาชนของเขาไปใช้สิทธิ์ออกเสียงถึง 80% เศษ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความเป็นประชาธิปไตยจะมีโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร

โปรดอย่าลืมว่าการเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีความสำคัญมาก หรือจะเรียกว่าสำคัญที่สุดก็ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะผู้แทนราษฎรนี้ จะมาใช้สิทธิ์และเป็นปากเป็นเสียงแทนท่าน

ด้วยเหตุนี้ประชาชนคนไทยจึงไม่ควรนอนหลับทับสิทธิ์ ละเลยต่อหน้าที่ของตน เมื่อถึงกำหนดเวลาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด คนไทยทุกคนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องไปใช้สิทธิ์ของตนที่มีอยู่เลือกคนดีๆ ที่มีความรู้และมีภูมิธรรมสูง ที่ซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยซน์ส่วนตัว เข้าไปเป็นผู้แทนของท่าน

โปรดอย่าเห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ อย่าเห็นแก่ส่วนตัว ผู้รับสมัครเลือกตั้งคนใดจะโฆษณาหาเสียงอย่างไรอย่าได้ถือเป็นอารมณ์ ขอให้ทุกๆ คนเป็นตัวของตัวเอง พยายามเลือกคนที่เราเห็นว่าดีจริงๆ นั่นแหละความเป็นประชาธิปไตยจึงจะมีขึ้นได้ด้วยความยั่งยืนและมั่นคง

 

ที่มา : ทวี บุณยเกตุ. “ประชาธิปไตย” , ใน, คำบรรยายและบทความบางเรื่อง. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา. 2515), น. 53-56.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อเรื่องใหม่ โดย กองบรรณาธิการ