ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภิวัฒน์สยาม 2475 ข้อเท็จจริงที่หลายคนควรต้องรู้ (ตอนที่ 2)

31
มีนาคม
2567

Focus

  • แอนิเมชันเรื่อง “2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” เป็นการนำเสนอให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ถูกตีความอย่างบิดเบือน และก่อนหน้านั้น การต่อสู้เรียกร้องของเยาวชนเมื่อปี 2563 (ภายใต้ชื่อคณะราษฎร 2563)  สะท้อนถึงการปฏิเสธการครอบงำของอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่ปฏิเสธคุณค่าของคณะราษฎร 2475
  • สังคมไทยได้เรียนรู้ความคิดประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการตีพิมพ์รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทย โดยหมอบลัดเลย์ ประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่พระยาศรีวิศาลวาจา กับนาย ฟรานซีส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre หรือ พระยากัลยาณไมตรี) นำเสนอรัชกาลที่ 7 แม้จะจำกัดอำนาจกษัตริย์ แต่ก็ยังมิใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฎรจึงไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม และด้วยการเป็นนักสันติวิธีของรัชกาลที่ 7 การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง
  • การนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 24 มิถุนายน 2475 และการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 สะท้อนถึงการประนีประนอมกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ การศึกษาประวัติศาสตร์โดยการทำความเข้าใจถึงจุดอ่อนและจุดแข็ง หรือความสำเร็จและความล้มเหลว จะเป็นการเข้าใจและให้เกียรติกับทุกคนที่เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์
  • อาจารย์ปรีดีใช้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย และภราดรภาพนิยม อันวางอยู่บนความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นแนวคิดที่ประนีประนอม ไม่ใช่แนวคิดที่แตกหักเหมือนแนวคิดของสตาลิน หรือแกนนำพรรคบอลเชวิค (Bolshevik) ทั้งรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และอาจารย์ปรีดี ก็มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน แม้ว่ารัชกาลที่ 7 และอาจารย์ปรีดีจะมีความคิดต่างกันในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจมาก่อนก็ตาม

 

จากความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากมีการเผยแพร่แอนิเมชันเรื่อง “2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” โดยที่ภายในเรื่องดังกล่าวได้มีการหยิบยกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร มาทำการนำเสนอในเชิงบิดเบือนไปในทางที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้รับชมบนจุดประสงค์ที่สำคัญได้แก่ ความพยายามด้อยค่าคณะราษฎรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จะชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 เป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่าม รวมถึง

การกล่าวหาว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจากการกระทำในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกตีความบิดเบือน เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนถึงสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคต

การที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามด้อยค่าหรือทำให้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้เสียหาย เป็นผลมาจากการต่อสู้เรียกร้องของเยาวชนเมื่อปี พ.ศ. 2563 พวกเขาได้ชูเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามพ.ศ. 2475 เนื่องจากการศึกษาประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในทางการศึกษาเชิงวิชาการช่วงพ.ศ. 2520-2530 คงถูกครอบงำด้วยงานวิชาการของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดที่ชี้ว่าเป็นการกระทำที่ชิงสุกก่อนห่าม และสุดท้ายกลุ่มคณะราษฎรกลับแย่งชิงอำนาจกันเสียเอง แต่ว่าภายหลังต่อมาในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยได้มีการยกระดับการตีความของประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2475 ไปมาก รวมถึงผลงานและบทบาทของอาจารย์ปรีดีได้ถูกนำมาทำการศึกษา แล้วถูกพูดถึงในสังคมได้มากยิ่งขึ้นกว่าในยุคที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารที่ไม่สามารถพูดถึงประเด็นดังกล่าวในข้างต้นได้

เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีบทบาทของคณะราษฎร, 4 ทหารเสือประชาธิปไตย และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ การเปลี่ยนแปลงอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งหากไม่มีบทบาทของรัชกาลที่ 7 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่พระองค์ทรงเห็นถึงความสำคัญของการใช้สันติวิธี มีความต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการเห็นความก้าวหน้าของบ้านเมือง เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศอื่นๆ พบว่าในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยค่อนข้างเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและลดการสูญเสียได้มากกว่าประเทศอื่นๆ

เมื่อมองถึงสาเหตุว่าเหตุใดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม จึงเป็นไปอย่างเรียบร้อย จะพบว่าเมล็ดพันธุ์ของความคิดการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยไม่ได้เริ่มที่สมัยรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือสมัยรัชกาลที่ 7 เพียงเท่านั้น จำเป็นต้องสืบค้นย้อนกลับไปไกลกว่ายุคสมัยที่รัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก่อนที่พระองค์ทรงต้องการจะปฏิรูปประเทศ ณ สังคมขณะนั้นความคิดสมัยใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตย, รัฐสภา และการเลือกตั้งได้ปรากฏตัวขึ้นในสังคมสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เพราะการเข้ามาของหมอบรัดดเลย์ (แดเนียล บีช แบรดลีย์ หรือ Daniel Beach Bradley) ที่เป็นทั้งนายแพทย์, มิชชันนารีสอนศาสนา รวมถึงเป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้ตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ประชาชนที่รู้หนังสือในยุคนั้นหรือชนชั้นปกครองได้อ่าน ฉะนั้นการกล่าวอ้างว่าสังคมไทยยังไม่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนับได้ว่าเป็นการประเมินสภาพสังคมแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่ถูกต้องนัก หากคณะราษฎรไม่ได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไรก็ตามย่อมมีกลุ่มคนกลุ่มอื่นเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงแทนคณะราษฎรเท่านั้น

สำหรับในข้างต้นนี้เป็นประเด็นที่ได้เกริ่นนำไว้เพื่อพูดคุยต่อจากตอนที่แล้ว นั่นคือ ขณะที่รัชกาลที่ 7 ได้ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงพยายามปฏิรูปการปกครองลง โดยที่ลดอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นระบบการปกครองที่ไม่เหมาะสมกับโลกยุคสมัยใหม่ที่มีบริบทต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากอำนาจการปกครองได้รวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์

ในเรื่องของรัฐธรรมนูญได้มีคำกล่าวอ้างว่าแท้จริงแล้วได้ถูกสร้างขึ้นก่อนที่จะเกิดการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร แต่เมื่อมองให้ดีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถูกนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่บนฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยจริงๆ แต่เป็นเพียงแค่การปฏิรูปการปกครองให้เกิดการคลายตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียงเท่านั้น โดยมีการก่อตั้งอภิรัฐมนตรีสภา และสภากรรมการองคมนตรี ซึ่งเป็นกลไกเหนี่ยวรั้งพระราชอำนาจให้ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ หากสำหรับการสร้างประชาธิปไตยจากบริบทสถานการณ์ขณะนั้นสภาพสังคมไปไกลมากกว่านั้น จนทำให้เต้าโครงร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิศาลวาจา กับนาย ฟรานซีส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre หรือ พระยากัลยาณไมตรี) ที่เป็น 2 ข้าราชการระดับสูงในขณะนั้นร่างขึ้นมา อาจเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบราชาธิปไตยที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ที่มีอำนาจของรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง” แต่ยังอาจไม่เพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” ตามหลักการประชาธิปไตยที่กล่าวว่า “อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน” เพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ที่อยู่ในขั้นตอนของการยกร่าง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้จากการเกิดเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ก่อน โดยพระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนหัวหน้ารัฐบาล, เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สามารถทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในด้านบัญญัติกฎหมาย ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยคือ รัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับชั่วคราว 24 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ที่มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และมีการปรึกษาหารือกัน นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เวลาศึกษาประวัติศาสตร์เราควรศึกษาผ่านการทำความเข้าใจเพราะว่าไม่ว่าใครก็ตามย่อมมีจุดอ่อนและจุดแข็ง หรือความสำเร็จและความล้มเหลว เราต้องมองอย่างเข้าใจและให้เกียรติกับทุกคนที่เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ นับว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ พูดคุย และถกเถียงที่ดี แม้ว่าจะมีความเห็นต่างจากผู้อื่นก็ตามเราควรจะนำเสนอความเห็นทางประวัติศาสตร์ในมุมมองของเราด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ดีกว่า การพยายามนำเสนออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ด้วยวิธีการสร้างภาพให้เป็นปลาหมึกยักษ์สีแดง แล้วกล่าวหาว่าอาจารย์ปรีดี เป็นตัวแทนของสตาลิน (โจเซฟ สตาลิน) หรือความคิดแบบคอมมิวนิสต์ สิ่งนี้เป็นการบิดเบือนความจริง เพราะไม่ว่าใครต่างทราบกันดีว่าอาจารย์ปรีดี มีความคิดเลื่อมใสในแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งแนวความคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ แล้ววิธีการเสนอความคิดเห็น ในการจัดการเศรษฐกิจของสมุดปกเหลืองนับว่าเป็นแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่แนวคิดของสตาลินแน่นอน

หากจะต้องการนิยามอาจารย์ปรีดี ว่ามีแนวคิดแบบใด เรามองว่าอาจารย์ปรีดีเป็นนักภราดรภาพ เนื่องจากภราดรภาพเป็นสิ่งที่วางอยู่บนความเป็นพี่เป็นน้องนับว่าเป็นแนวคิดที่ประนีประนอม ไม่ใช่แนวคิดที่แตกหักเหมือนแนวคิดของสตาลิน หรือแกนนำพรรคบอลเชวิค (Bolshevik) นั่นคือกลุ่มคนเหล่านี้ใช้การเปลี่ยนแปลงแบบแตกหักด้วยวิธีการจับชนชั้นนำไปขึ้นศาลประชาชนแล้วยิงเป้า ส่วนของสยาม (ประเทศไทยในขณะนั้น) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยรูปแบบนั้น แต่ยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่โต้กลับการอภิวัฒน์ 2475 แล้วใช้กำลังความขัดแย้งในการต่อสู้กัน ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี นับว่าเป็นความขัดแย้งทางฝั่งทหาร เช่น หลังการอภิวัฒน์ 2475 ได้เกิดกบฏขึ้นหลายครั้ง ไปจนถึงยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีผู้ที่พยายามลอบสังหารท่าน ทำให้จอมพล ป. ใช้วิธีการตอบโต้กลับด้วยวิธีการตาต่อตาฟันต่อฟัน

วิธีการดังกล่าวที่จอมพล ป. เลือกใช้ไม่ใช่แนวทางสำหรับอาจารย์ปรีดีแน่นอน เมื่อมองถึงวิธีการที่อาจารย์ปรีดีในเวลาต่อมาได้เลือกใช้วิธีการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรม เหล่าบรรดาผู้คนที่ได้ไปติดคุกที่เกาะตะรุเตา ทางอาจารย์ปรีดีได้ทำการนิรโทษกรรมให้หมด ส่วนที่ถูกนำเสนออยู่เสมอว่ารัชกาลที่ 7 และอาจารย์ปรีดี มีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันจากการนำเสนอเค้าโครงสมุดปกเหลือง แต่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ของอาจารย์ปรีดีกับรัชกาลที่ 7 และพระนางเจ้ารำไพพรรณี (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี) มีความสัมพันธ์ที่ดี แม้ในช่วงแรกอาจมีแนวความคิดที่เห็นต่างกันในเรื่องของความเห็นที่ต่างกันเรื่องเค้าโครงสมุดปกเหลือง เนื่องจากฝ่ายหนึ่งมีแนวความคิดไปในทางเสรีนิยมนิดหน่อย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีแนวความคิดแบบสังคมนิยมแบบอ่อนๆ แต่เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเค้าโครงสมุดปกเหลืองเป็นสิ่งที่มีเจตนาที่ดีในการทำเพื่อประชาชนส่วนของประเทศที่ไม่มีที่ดินและทรัพย์สินมากมายให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุข

หากมองให้ดีหลักการในเค้าโครงเศรษฐกิจเป็นหลักการที่มีความคล้ายคลึงกับหลักการของประกันสังคมในปัจจุบันที่ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยที่ไม่ได้ก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ แม้กระทั่งหลักการระบบประกันให้มีงานทำ เมื่อมองให้ดีมีความคล้ายคลึงกับหลักการ UBI (Universal Basic Income) ที่ประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปเหนือได้นำมาใช้ หรือทดลองใช้อยู่ เนื่องจากป้องกันผลกระทบจากการพัฒนาของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) โดยจำเป็นต้องให้ผู้คนมีรายได้ในการดำรงชีพ จึงก่อเกิดแนวคิด “UBI” ขึ้น ส่วนการที่รัชกาลที่ 7 ได้ทำการตอบโต้กลับนั้น พระองค์ได้กระทำไปเพื่อผลประโยชน์แก่ส่วนรวมของประเทศ

ในภายหลังอาจารย์ปรีดี ได้พยายามดำเนินการคืนพระราชทรัพย์ให้กับรัชกาลที่ 7 หลังจากที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ทำการยึดทรัพย์สินเหล่านี้มา อีกทั้งพระนางเจ้ารำไพพรรณีเอง พระองค์ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ได้ทำงานร่วมกับผู้สำเร็จราชการคือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย รวมถึงในส่วนของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับพระนางเจ้ารำไพพรรณี

อีกประเด็นหนึ่งคือ “แถลงการณ์ของคณะราษฎร” คือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารใจความภายในแถลงการณ์มีความรุนแรง สำหรับปัญหาในส่วนนี้ทางคณะผู้ก่อการได้ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว

ประการที่สองเมื่อมองตามสภาพความเป็นจริงในมุมของคณะก่อการที่มีจุดประสงค์หลักคือ ความต้องการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นความจำเป็นของบริบทประเทศ ณ ขณะนั้นที่เกิดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำของสยามและนานาประเทศได้ประสบพบเจอร่วมกัน โดยที่สถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่พ.ศ. 2472 ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปมีสภาพชีวิตที่ลำบากยากจน เมื่อมองไปที่กลุ่มชนชั้นเจ้านายและขุนนาง พบว่า มีเจ้านายและขุนนางจำนวนหนึ่งไม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวมากเทียบเท่ารัชกาลที่ 7 ที่พระองค์ได้รับรู้ถึงปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน

อีกทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องการรับราชการทหารในกองทัพที่ลูกหลานของสามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้มีโอกาสในการเติบโตในเส้นทางนี้มากนัก เทียบเท่าลูกหลานของบรรดาเจ้านายและขุนนางต่างๆ รวมถึงรัฐบาล ณ ขณะนั้นได้ทำการเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มเติม ในสถานการณ์ที่ประชาชนประพบเจอกับความลำบากทางเศรษฐกิจ นำมาสู่คำว่า “ทำนาบนหลังคน” เป็นภาษาที่ต้องการปลุกให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อดูตามความเป็นจริงบนท่าทีของประชาชนส่วนใหญ่ที่สะท้อนออกมาบนบทวิพากษ์วิจารณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ

ส่วนชนชั้นกลางในขณะนั้นเริ่มมีความเข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองและโลกได้ดี เนื่องจากการได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถานการณ์โลกขณะนั้นมีการล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆ มากมาย ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจของช่วงเวลานั้น ได้พยายามเข้ามาแทรกแซงอำนาจในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับคนหนุ่มเหล่านักเรียนต่างประเทศได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ พวกเขาต่างเกิดความหวังดีต่อบ้านเมืองที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตน ยังหมายรวมไปถึงชนชั้นปกครองบางส่วนที่มีแนวคิดก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้จึงก่อเกิดความสอดคล้องกัน แต่ว่าผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีแนวคิดว่าการเคลื่อนไหวแบบมวลชนขนาดใหญ่จะส่งผลให้เกิดช่องว่างที่สามารถทำให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในประเทศได้ จึงทำให้เหล่าคณะก่อการเลือกที่จะยึดอำนาจโดยละม่อม แม้ในความจริงจะมีการจับเจ้านายบางท่านเป็นตัวประกันก็ตาม แต่การดำเนินการต่างๆ ได้กระทำด้วยความเคารพนบนอบ เมื่อมองถึงการกระทำเหล่านี้นับได้ว่าเป็นการกระทำที่อยู่บนความเสี่ยงและใช้ความเสียสละอย่างมากในการก่อการ เนื่องจากหากเกิดความผิดพลาดในการกระทำเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาจะถูกประหารชีวิตได้

ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามไม่ใช่สิ่งที่ง่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แต่สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับว่าเป็นกระทำอย่างยิ่งใหญ่แล้วนั้น กลับสามารถก่อการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างสันติได้จากปัจจัยสำคัญสองอย่างได้แก่ ฝ่ายแกนนำของคณะราษฎรที่หลีกเลี่ยงสถานการณ์การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด กับฝ่ายพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระองค์ทรงพยายามประคับประคองให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบอบใหม่ดำเนินต่อไปได้ ส่วนความขัดแย้งในภายหลังบางเรื่อง โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่มันจะไม่มีทางราบรื่นไปได้ทั้งหมด อีกทั้งคิดว่าทุกฝ่ายต่างพยายามทำให้สถานการณ์ดีที่สุด แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการทั้งสถานการณ์ภายนอกและเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไป

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้เกิดปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและปัญหาทางการคลัง เพราะในขณะนั้นรัฐบาลอาจมีการใช้จ่ายมากเกินไป แล้วต่อมาเมื่อมีการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 7 ปัญหาของประเทศที่ถูกสะสมไว้จากรัฐบาลก่อนหน้าได้ถูกส่งต่อมายังรัฐบาลถัดมาด้วย พร้อมทั้งการเกิด “Great depression” (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) ในระบบเศรษฐกิจระดับโลก ส่งผลให้สยามไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ สำหรับสินค้าส่งออกหลักของสยาม นั่นคือ ไม้สักและข้าว เมื่อสินค้าดังกล่าวไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถเก็บภาษีได้ เมื่อรัฐบาลหันมาเก็บภาษีจากประชาชนในประเทศเพิ่ม แต่ประชาชนในประเทศโดยเฉพาะชาวนามีฐานะยากจนอยู่แล้ว จากปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง เมื่อสภาพเศรษฐกิจในยุครัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีสภาพฝืดเคือง จึงใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการรัดเข็มขัด ที่นับได้ว่าเป็นวิธีคิดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนที่จะเกิดลัทธิเคนส์ (Keynesian Economics) ส่งผลให้ภาครัฐเลือกตัดสินใจที่จะเก็บภาษีเพิ่มจากเดิม ทว่าการเลือกที่จะเก็บภาษีเพิ่มเพื่อเป็นการรัดเข็มขัดมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจหดตัวลงไป ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปลดข้าราชการบางส่วนออก และบรรดาเหล่าขุนนางที่ได้ถูกตัดค่าตอบแทนหรือเบี้ยหวัดต่างๆ ออก ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ก่อเกิดเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ขึ้น

ทั้งนี้ระบบการเงินของสยามมีปัญหาเช่นกัน จากการนำค่าเงินบาทไปผูกกับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง เนื่องจากสหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) ในขณะนั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งประเทศมหาอำนาจของโลก แล้ว ณ ขณะนั้นระบบทองคำได้ล่มสลายลง จากการที่ประเทศอังกฤษละทิ้งระบบมาตรฐานทองคำส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง แต่กลับไม่ได้ทำให้มีการส่งออกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลับทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมเข้ามา เมื่ออ่านรายงานการประชุมอภิรัฐมนตรีสภา จะพบว่ารัชกาลที่ 7 ทรงมีความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างมาก แต่ตัวพระองค์เองไม่สามารถควบคุมเสนาบดีบางคนได้ เพราะพวกเขามีอำนาจในการเมืองการปกครองมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต่างยึดถือในแนวคิดอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการการปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศมาก พวกเขาเหล่านี้มองว่าไม่ควรลดเงินเดือนข้าราชการและยังขอเพิ่มเงินเดือนให้กับเหล่าทหาร จึงเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

จากเหตุการณ์ในข้างต้นนี้ ส่งผลให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ 2475 แล้ว ยังคงมีเจ้านายบางส่วนได้เกิดความหวาดระแวงต่อพระองค์เจ้าบวรเดช (พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช) ว่าท่านนั้นอยู่เบื้องหลังการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น ไม่ใช่อย่างที่ได้คาดการณ์กันเอาไว้ เพราะเหล่าแกนนำของคณะราษฎรต่างไม่มีความมั่นใจในตัวของพระองค์เจ้าบวรเดชว่าท่านจะทำให้การวางแผนถูกเปิดโปงจนแผนการไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับขบวนการร.ศ. 130 ที่ผ่านมา จึงทำให้ไม่มีมติในที่ประชุมว่าจะเชิญท่านให้มาร่วมขบวนการด้วย แต่ว่าชื่อของพระองค์เจ้าบวรเดชได้ถูกเสนอขึ้นในที่ประชุมอีกครั้ง ในขณะการประชุมเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก (ณ ขณะนั้นเรียกตำแหน่งดังกล่าวว่า ประธานคณะกรรมการคณะราษฎร) โดยที่ผู้เสนอชื่อของท่านเป็นพระยาพหลฯ (พระพหลพลยุหเสนา หรือพจน์ พหลโยธิน)

สำหรับเรื่องของชื่อตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการคณะราษฎร” ได้มีบางคนได้กล่าวตีความ แล้วแย้งว่าการเรียกชื่อตำแหน่งนายกคนแรกดังกล่าวนั้น ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในความเป็นจริงของในเวลานั้น ตำแหน่งข้างต้นนี้ พวกเขาต่างไม่รู้ว่าจะเรียกด้วยชื่ออะไร ช่วงเวลานั้นบางอย่างถูกเรียกด้วยคำทับศัพท์ เนื่องจากยังไม่มีคำศัพท์ภาษาไทยที่นิยามความหมายของคำเรียกดังกล่าวไว้ และมีแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยสูงมาก นั่นคือ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการคณะราษฎร จึงเป็นตำแหน่งที่ทำงานเป็นตัวแทนของราษฎร ไม่ต้องมียศถาบรรดาศักดิ์อะไรเหนือราษฎร แต่ต้องสมมติตำแหน่งขึ้นมาเพื่อต้องทำงานให้แก่ส่วนรวม ต่อมาในภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นชื่อตำแหน่งว่า “นายกรัฐมนตรี” หรือ “รัฐมนตรี” แม้กระทั่งตอนที่หมอบรัดเลย์ได้แปลรัฐธรรมนูญฉบับของสหรัฐอเมริกา ท่านได้ใช้คำทับศัพท์ในการแปลด้วย เช่น ปาลิเมนต์ ใช้เรียกแทนคำว่า รัฐสภา ดังนั้นนี่เป็นระบบการเสนอชื่อกัน จะพบว่าร่องรอยของการประนีประนอมและความขัดแย้งที่ได้เกิดขึ้น จำเป็นต้องศึกษาด้วยการเอาตนเองออกมาจากเหตุการณ์ แล้วมองกลับเข้าไปในนั้นเพื่อรับรู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น อีกทั้งเราจะนำเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวมาปรับปรุงบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์, ความก้าวหน้า, สันติธรรม และความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในอนาคต สุดท้าย ณ ที่ประชุมของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองหลังจากได้เสนอพระองค์เจ้าบวรเดชแล้ว ได้ถูกปัดตกไปจากที่ประชุม ต่อมาอาจารย์ปรีดี พนมยงค์จึงได้เสนอชื่อ “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ขึ้นมา เนื่องจากท่านเป็นนักกฎหมายอยู่ในหน่วยงานเดียวกับอาจารย์ปรีดี รวมถึงภรรยาของพระยามโนฯ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบประชาธิปไตยเป็นการประนีประนอมอย่างหนึ่ง โดยที่ไม่ได้นำบุคคลในคณะราษฎรเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวในทันที

 

ที่มา : รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์รายการย้อนอดีตสู่อนาคต FM 96.5 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567.

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/Thinkingradio/videos/1067803104302674

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : อภิวัฒน์สยาม 2475 ข้อเท็จจริงที่หลายคนควรต้องรู้