ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ที่มาของวุฒิสภา : การต่อสู้ระหว่าง ประชาธิปไตย กับ อภิชนาธิปไตย

15
พฤษภาคม
2567

 

ที่มา อำนาจหน้าที่ ของ วุฒิสมาชิก ที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีจุดมุ่งหมายชัดเจนเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ รักษาแนวคิดแบบอภิชนาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปในระบบการเมืองไทย แต่สิ่งที่ได้ก็หาใช่ การปกครองของอภิชนไม่ และ อภิชน เหล่านี้ก็ไม่ได้ดีอย่างที่กล่าวอ้าง หลายท่านทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทุจริตคอร์รัปชัน สนับสนุนเผด็จการทหารพม่า ลอกวิทยานิพนธ์ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อำนาจแทนที่จะเป็น การปกครองโดยคนดีมีความรู้ความสามารถ กลับได้ ได้การปกครองภายใต้ระบอบพวกพ้องบนฐานวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ หรือเป็น “ระบอบคณาธิปไตย”

 

 

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความเชื่อและแนวคิดแบบ “อภิชนาธิปไตย” ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพียงแต่เป็นระบอบการปกครองที่ไม่เชื่อในประชาชน ไม่มั่นใจในคุณภาพของราษฎร ไม่ศรัทธาเชื่อมั่นในวิจารณาญาณของมวลชน อภิชนาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่คิดว่า หรือ เชื่อว่า ฉลาดกว่า ดีกว่า เก่งกว่า ประชาชนสามัญชนส่วนใหญ่ อริสโตเติ้ล เพลโต ใช้เรียกระบบการปกครองที่กลุ่มพลเมืองที่คิดว่าตัวเองมีคุณภาพดีกว่าสามัญชนทั่วไป ผ่านการคัดเลือกอย่างถี่ถ้วน ให้ขึ้นมาปกครองและไม่มีการสืบทอดอำนาจผ่านสายตระกูล ว่า “อภิชนาธิปไตย”

“อภิชนาธิปไตย” ตามความหมายดั้งเดิม จึงเป็นรูปแบบการปกครองในอุดมคติของ การปกครองโดยคนจำนวนน้อยขณะที่ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองในอุดมคติของ การปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยคนส่วนใหญ่ กรณีประเทศไทยดูเหมือน “อภิชนาธิปไตย” มักเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อคณะรัฐประหารหลายคณะ ความจริงที่ซ่อนอยู่หลัง “อภิชนาธิปไตย” คือ ความไม่เชื่อถือต่อเสียงประชาชน ต้องการสืบทอดอำนาจของ “อภิสิทธิ์ชน” หลายกรณีเป็นการวางกับดักเอาไว้ให้กับระบอบประชาธิปไตย ที่เพิ่งถูกฟื้นฟูขึ้นมา ให้ดูอ่อนแอ วุ่นวาย ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานได้ เพื่อสร้างภาพเปรียบเทียบเห็นว่า ประเทศต้องปกครองโดย คนดีย์ (ดี มี “ย” และ “การันต์”) กลุ่มเล็กๆ ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ยังโง่ และถูกซื้อได้ สังคมได้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว ดูได้จากผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา การซื้อเสียง และ เครือข่ายอุปถัมภ์ไม่สามารถชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ การถอนพิษของพวกที่มีความคิดเป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตยต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะตกอยู่ในหลุมพรางที่เขาขุดล่อไว้

 

 

เรื่องของที่มาของวุฒิสภา มีการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดประชาธิปไตย และ แนวคิดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมาตลอดระยะเวลาของพัฒนาการของการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารมักต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการใช้กลไก วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งล้วนเป็นเครือข่ายพรรคพวกญาติมิตรของตัวเอง เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นเสาค้ำประกันอำนาจเผด็จการของตัวเอง ต่อมาเมื่อสังคมเปิดกว้างขึ้น พัฒนาการประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้น กลไกในการแต่งตั้ง สรรหา คัดสรร หรือ เลือกกันเอง ก็ต้องทำให้ดูเหมือนใกล้เคียงการเลือกตั้ง หรือให้ดูว่าเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น

นอกจากนี้คณะกรรมการ กกต. ที่ถูกแต่งตั้งในยุค คสช. ก็ยังออกระเบียบที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เข้มงวดกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร หากทำกันแบบนี้ เราจะมีกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ที่มีคุณภาพได้อย่างไร ความจริงแล้ว บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ว่าจะเป็น ที่มาของวุฒิสมาชิก หรือ อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ล้วนมีการเขียนอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน หลอกล่อให้ ใครหลายคน ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองอันซับซ้อนพิสดารที่สุดในโลกแล้ว อาจต้องทำผิดกฎหมาย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเบื่อหน่ายการเมือง ทำให้กระบวนการทางการเมืองเลือกกันเองของวุฒิสมาชิกดูวุ่นวาย และทำให้ “คณะรัฐประหาร” และ “ผู้ที่มาจากอำนาจแต่งตั้ง” โดยคณะรัฐประหารดูดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ด้วยการเลือกกันเอง เป็นการมุ่งลดทอนหรือบิดเบือนเสียงประชาชน วุฒิสภาเองก็มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีอำนาจเหนือรัฐสภาเหนืออำนาจของประชาชน

 

 

ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาก็ได้ เราสามารถใช้ระบบสภาเดียวที่มาจากการเลือกตั้งได้ ระบบสภาเดียวนี้เคยถูกเสนอโดยขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ก็ได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว หลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็มีการใช้ระบบสภาเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นราชอาณาจักรสวีเดน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่หากจะมีสองสภาก็ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด หากเราเชื่อว่าประชาชนมีสติปัญญามากพอที่จะเลือกสมาชิกรัฐสภาที่มีคุณภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาคอยกลั่นกรองกฎหมาย และทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ

 

 

อย่าง สว. ชุดพิเศษที่มาจากกระบวนการคัดเลือกของ คสช. 100% มีการจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของวุฒิสมาชิก ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว คณะทำงานต่างๆ ไปแล้วมากกว่า 4,000 ล้านบาท หากเรามั่นใจว่า ประชาชน สามารถเลือก ส.ส. ที่มีคุณภาพได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมี สว. แต่อย่างใด สามารถนำเอาเงินไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทนี้ไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้ แต่หากเห็นว่าจำเป็นต้องมี สว. ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนระบบการเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพนั้น จะไม่ได้ผู้แทนที่เหมาะสม ผู้ที่มีโอกาสได้ คือ ผู้ที่มีคะแนนจัดตั้ง และ ใช้วิธีบล็อคโหวต ในเมื่อมีการวางกับดักไว้เช่นนี้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้รักประชาธิปไตย จะต้องช่วยกันไปสมัคร สว. เพื่อไปใช้สิทธิในการเลือกบุคคลที่เหมาะสมไปเป็นวุฒิสมาชิก เราคงจะทำได้เท่านี้ ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้ได้

การผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” พร้อมกับ การล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 อันเป็นผลผลิตของคณะรัฐประหาร เป็น ภารกิจสำคัญของ ขบวนการประชาธิปไตย และ ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ที่ต้องร่วมกันผลักดันต่อไป สว. ที่มาจากระบบการเลือกกันเองที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้จึงมีความสำคัญมาก หากเรามีสมาชิกวุฒิสภาที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตยมากพอ โอกาสที่เราจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ย่อมมีความเป็นไปได้ หยุดความป่าเถื่อนทางกฎหมาย นิติสงคราม ด้วยการผลักดันให้ ผู้ที่มีแนวคิดประชาธิปไตย เข้าไปเป็น สว. ให้มากที่สุด อิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญฉบับอำนาจนิยมจึงถูกหยุดยั้งได้

นั่นคือ อนาคตของประชาธิปไตย อนาคตประเทศ อนาคตของประชาชน

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc

ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 :  PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.