ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การก่อตั้งเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

4
สิงหาคม
2565

4.7

การก่อตั้งเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

4.7.1 จิตสำนึกของคนไทยส่วนมากที่รักชาติซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษ และท่วงท่าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลอังกฤษที่มีต่อการจัดตั้งเสรีไทยใน 2 ประเทศนั้น

นอกจากคนไทยในประเทศไทยที่ได้ประสบพบเห็นการรุกรานของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) จึงเกิดจิตสำนึกรวมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหลายข้อแล้วนั้น

ส่วนคนไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษก็เกิดจิตสำนึกที่จะรวมกันประกอบเป็นองค์การต่อสู้ญี่ปุ่นเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทย แม้ว่าข่าวที่ได้รับจะช้าไปบ้างแต่คนไทยในต่างประเทศดังกล่าวนี้ก็มิได้ทอดทิ้งเวลาไว้เนิ่นนาน คือได้รีบลงมือออกแถลงการณ์คัดค้านญี่ปุ่น และดำริที่จะจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น อาทิ

(1) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) หรือ 3 วันภายหลังญี่ปุ่นรุกรานไทยนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันได้แถลงต่อ น.ส.พ. และส่งโทรเลขไปยังรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ใจความว่า สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตันจะทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่สถานทูตเห็นว่ามิใช่เป็นคำสั่งที่ญี่ปุ่นสั่งให้ทำ

รุ่งขึ้นอีกหนึ่งวันคือวันที่ 12 ธ.ค. นั้น สถานทูตไทยดังกล่าวทราบข่าวว่ารัฐบาลไทยทำข้อตกลงร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น สถานทูตนั้นก็ได้แจ้งต่อรัฐบาลอเมริกันถึงการที่สถานทูตนั้นไม่ยอมรับรู้ข้อตกลงกับรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น และถึงการที่อัครราชทูตและข้าราชการสถานทูตนั้นพร้อมที่จะจัดตั้งองค์การเสรีไทย ซึ่งรัฐบาลอเมริกันได้หารือต่อไปยังรัฐบาลอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษได้ตอบรัฐบาลอเมริกันตามบันทึกสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษลงวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งปรากฏในหนังสือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเล่มที่ข้าพเจ้าได้อ้างไว้ก่อนแล้ว (Foreign Relations of the United States) ค.ศ. 1941 เล่ม 5 หน้า 302 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

 

“711.92/33

The British Embassy to the Department of State

AIDE-MEMOIRE

His Majesty's Government in the United Kingdom welcomes the proposal made in the State Department's memorandum of December 18th to continue to recognise the Thai Minister in Washington as the representatives in the United States of the free people of Thailand. When the question of setting up a Free Thai movement arises, the personalities of possible leaders will naturally require careful consideration, and His Majesty's Government are now going into this question so far as the United Kingdom is concerned. The Thai Minister in London has shown no wish to come out into open opposition to the regime in Bangkok, and His Majesty's Government consider that it will be best to arrange for his departure.”

 

แปลเป็นไทยดังต่อไปนี้

 

“711.92/33

สถานเอกอัครราชทูตบริติชถึงกระทรวงว่าการรัฐ 

(กระทรวงการต่างประเทศส.ร.อ.)

บันทึกช่วยจำ

“รัฐบาลของพระราชาธิบดีในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ยินดีต้อนรับข้อเสนอตามบันทึกของกระทรวงว่าการรัฐ ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม ในการดำเนินต่อไปที่รับรองอัครราชทูตไทยในวอชิงตันเป็นตัวแทนในสหรัฐอเมริกาของประชาชนเสรีแห่งประเทศไทย. เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเรื่องจัดตั้งขบวนการเสรีไทยนั้น บุคคลที่อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นหัวหน้านั้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ, และรัฐบาลของพระราชาธิบดีกำลังดำเนินการเกี่ยวกับปัญหานี้ เท่าที่เกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร. อัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอนมิได้แสดงความปรารถนาอย่างเปิดเผยที่จะคัดค้านระบบปกครองในกรุงเทพฯ และรัฐบาลของพระราชาธิบดีเห็นว่าจะเป็นการดีที่สุดที่จะให้เขาเดินทางออกไป……”

 

เมื่อรัฐบาลอเมริกันได้รับบันทึกสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ก็ได้มีบันทึกตอบไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) มีความตอนหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มที่ข้าพเจ้าอ้างถึงฉบับ ค.ศ. 1942 เล่ม 1 หน้า 913-914 มีความดังต่อไปนี้

 

“With regard to the Thai Minister in Washington, this Government has decided. after careful consideration of all factors involved, not to proceed at present with the proposal to recognize the Minister as” the presentative in the United States of the free people of Thailand'', and intends for the time being to continue to recognize him as “Minister of Thailand”

“With regards to the text of the statement which the British Government proposes to issue in London, this Government considers that it would be preferable to defer the issuance of any statements by the British and the United States Governments until such time as word shall have been received that the British and the American Ministers to Thailand have safely departed from the country. This Government agrees that any statements issued in regard to Thailand by the British Government, the Netherlands Government and the United States Governments should not conflict.

Washington, January 19, 1942”

 

แปลเป็นไทยว่า

 

“...ส่วนที่เกี่ยวกับอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงต้นนั้น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ได้ตัดสินใจภายหลังที่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบทั้งกรณีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงไม่ดำเนินต่อไปในปัจจุบันนี้ เกี่ยวกับข้อเสนอที่จะรับรองอัครราชทูตไทยว่า “เป็นตัวแทนในสหรัฐอเมริกาของประชาชนเสรีไทยในประเทศไทย” และตั้งใจในสถานการณ์ปัจจุบันที่จะดำเนินรับรองเขาต่อไปในฐานะ “อัครราชทูตของประเทศไทย”

“เกี่ยวกับข้อแถลง ซึ่งรัฐบาลบริติชเสนอที่จะประกาศในกรุงลอนดอนนั้นรัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) เห็นว่า น่าจะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะเลื่อนเวลาต่อข้อแถลงใดๆ โดยรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไว้ก่อน จนกว่าถึงเวลาที่ได้รับแจ้งว่าอัครราชทูตอังกฤษและอเมริกันประจำประเทศไทยได้ออกเดินทางจากประเทศไทยนั้น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) เห็นด้วยว่าคำแถลงใดๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งจะประกาศโดยรัฐบาลบริติช, รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นจะต้องไม่ขัดกัน

วอชิงตัน, วันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1942”

 

แม้รัฐบาลอังกฤษจะสงวนท่าทีในการรับรองอัครราชทูตไทยในวอชิงตันเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยก็ตาม แต่อัครราชทูตและข้าราชการสถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้จัดตั้งกองกำลังเสรีไทย ประกอบด้วยคนไทยผู้รักชาติ และอาสาสมัครเพื่อเดินทางมาต่อสู้ญี่ปุ่นในประเทศไทย

องค์การเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาเรียกชื่อองค์การเป็นภาษาอังกฤษว่า “Free Thai Movement”

(2) ส่วนคนไทยในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) นั้นก็ได้รวบรวมส่วนมากที่สุดเป็นคณะเสรีไทยในอังกฤษ ผู้ที่เป็นชายก็ได้รับฝึกฝนเป็นทหารอังกฤษเพื่อเดินทางไปต่อสู้ญี่ปุ่นในประเทศไทย ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้สนใจรายละเอียดโปรดอ่านบทความของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “ทหารชั่วคราว” ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือของ นายดิเรก ชัยนาม เรื่อง “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2”

โดยที่รัฐบาลอังกฤษยังคงเรียกประเทศไทยว่า “Siam” และเรียกคนไทยว่า “Siamese” ดังนั้นเสรีไทยในอังกฤษจึงเรียกขบวนการเสรีไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า “Free Siamese Movement”

(3) ต่อมาเมื่อขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย ได้รวมเป็นขบวนการเดียวกันกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษแล้ว เราก็ใช้ชื่อขบวนการของเรานั้นว่า “ขบวนการเสรีไทย”

แต่เอกสารทางราชการอังกฤษยังคงเรียกขบวนการของเราว่า “Resistance Movement” ฉะนั้นในการเสนอเรื่องและทำความตกลงเป็นทางการกับรัฐบาลอังกฤษ เราจึงเรียกขบวนการของเราเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thai Resistance Movement”

 

4.7.2 ความแตกต่างบางประการระหว่างขบวนการเสรีไทยกับ ข้ออ้างของ พ.ค.ท. ในการต่อสู้ญี่ปุ่น

(1) ตามสารานุกรมประจำปีของจีนชื่อ “ซี่ร๎อเจี่ยจือร๎อซือเตียน” แปลเป็นไทยว่า “สารานุกรมความรู้แห่งโลก” ฉบับที่พิมพ์ติดต่อกันหลายปีภายหลัง ค.ศ. 1958 นั้นอ้างว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไทยตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) จึงแสดงว่า พ.ค.ท. ตั้งขึ้นภายหลังที่ญี่ปุ่นยกกำลังทัพรุกรานประเทศไทยแล้ว 11 เดือน 23 วัน เอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยภายหลัง พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ก็ถือตามคำอ้างของสารานุกรมจีนนั้น และได้จัดให้มีการฉลองวันก่อตั้งพรรคนั้นเป็นประจำจึงแสดงว่าพรรคนั้นก่อตั้งขึ้นช้ากว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษมาก

(2) ในนิตยสารของจีนหลายเล่ม และเอกสารกับคำโฆษณาของ พ.ค.ท. อ้างว่าเมื่อพรรคนั้นตั้งขึ้นแล้วก็ได้นำมวลชนชาวไทยต่อสู้ญี่ปุ่นแถลงใหม่ถือเอาวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) เป็นวันที่เรียกตามภาษาอีสานว่า “วันเสียงปืนแตก” หมายถึงว่า เป็นวันซึ่ง พ.ค.ท. ใช้อาวุธปืนยิงข้าศึก จึงนับเป็นเวลาภายหลัง 28 ปี ที่สารานุกรมจีนและ พ.ค.ท. อ้างว่าพรรคนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 และเป็นเวลา 20 ปีภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว

(3) ไม่ปรากฏว่า พ.ค.ท. ได้มีการติดต่อกับสัมพันธมิตรประเทศใด ที่จะร่วมกับเขาในการต่อสู้ญี่ปุ่นทางอาวุธ ฉะนั้นจึงเป็นที่น่าวิตกว่าการทำสงครามต่อสู้ศัตรูร่วมกันนั้น ถ้าต่างฝ่ายต่างทำการต่อสู้โดยไม่มีแผนทางทหารเดียวกันแล้วก็เสียเปรียบญี่ปุ่นได้ เพราะต่างฝ่ายต่างทำการต่อสู้ไปก่อนโดยยังไม่ถึงเวลา ก็จะทำให้ญี่ปุ่นทำลายบ้านเมืองไทยได้ โดยสัมพันธมิตรเข้ามาช่วยไม่ทัน เช่น กรณีที่คอมมิวนิสต์โปแลนด์ได้ด่วนลงมือต่อสู้เยอรมัน ก่อนที่สัมพันธมิตรจะยกกองทัพไปช่วยได้หรือสัมพันธมิตรเห็นควรระดมกำลังโจมตีญี่ปุ่นแต่ พ.ค.ท. ยังไม่พร้อมถือว่าช้าไป ก็ทำให้สัมพันธมิตรและกองกำลังของราษฎรที่ พ.ค.ท. จัดตั้งไว้นั้นเสียหาย

(4) ไม่ปรากฏจากสารานุกรมของจีนที่อ้างถึงหรือเอกสารของ พ.ค.ท. ว่าได้ทำความเข้าใจกับสัมพันธมิตรชาติใด และคอมมิวนิสต์ชาตินั้นๆ ก็มิได้กล่าวถึงเลยว่า พ.ค.ท. ได้ทำความตกลงว่า ถ้า พ.ค.ท. นำกำลังต่อสู้ญี่ปุ่นแล้วสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้ว พ.ค.ท. จะทำอย่างไรที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามและก่อสถานะสงครามกับเขาไว้นั้น คือ บริเตนใหญ่, สหรัฐอเมริกา, จีน, ยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม? หรือ พ.ค.ท. จะนำราษฎรไทยต่อสู้บริเตนใหญ่, สหรัฐอเมริกา, จีน, ไปโดยลำพังเป็นเวลานานอีกเท่าใดจนกว่าประเทศดังกล่าวนั้นจะยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม?

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 4 การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย.” ใน “อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก”. (กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช.2525). หน้า 62-67.