ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“วันสันติภาพไทย” ผลงานชิ้นโบแดงของปรีดี พนมยงค์

19
สิงหาคม
2565

 

 

“วันสันติภาพไทย” เป็นวันที่สำคัญที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวันประกาศอิสรภาพ สำคัญไปไม่น้อยไปกว่าวันที่พระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพเมื่อไทยเสียกรุงครั้งแรก เฉกเช่นเดียวกับวันที่ 28 ธันวาคม 2310 ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้ากรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกไปจากประเทศสยาม

วันนี้เป็นวันประกาศเอกราชของชาติไทย แต่ทำไมคนไทยสมัยนี้ไม่เข้าใจ งานที่จัดวันนี้ก็ไม่มีตัวแทนของรัฐบาลมา เป็นรัฐบาลกึ่งดิบกึ่งดี เป็นรัฐบาลที่ไม่เห็นความสำคัญของสันติภาพและเอกราช เพราะเอกราชเป็นหัวใจของประเทศชาติ และเอกราชนั้นนำมาซึ่งสันติภาพเพื่อความผาสุกของราษฎร ฉะนั้นผมจึงอยากให้ทุกท่านตระหนักไว้ว่า วันสันติภาพเป็นวันที่สำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วทำไมเราถึงหลงลืมไป? เฉกเช่นผลงานของพระเจ้าตากสิน ผู้คนส่วนมากก็หลงลืมไป จนเมื่อภายหลัง 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้มาสร้างอนุสาวรีย์ให้พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะเรียนท่านทั้งหลายว่า วันสันติภาพนี้ เป็นโบแดงชิ้นสุดท้ายที่อาจารย์ปรีดีได้ฝากไว้ให้พวกเรา

 

 

โบแดงชิ้นแรกของอาจารย์ปรีดี คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่เปลี่ยนแปลงกษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมายมาสู่กษัตริย์ที่หลุดจากอำนาจ และราษฎรจึงได้เป็นใหญ่อย่างแท้จริง วันที่ 27 มิถุนายน 2475 วันนี้ถือเป็นวันแรกที่รัฐธรรมนูญมาปกครองบ้านเมือง และธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ เป็นธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมี สั้นที่สุด และได้สาระที่สุด เป็นธรรมนูญที่กำหนดชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม” จากเดิมที่อำนาจสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าชีวิต พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย แต่ธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรมีฐานะเท่าเทียมกันในทางกฎหมายทุกประการ

งานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ปรีดี แม้จะไม่สำเร็จ คือ การเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยอาจารย์ปรีดีมองเห็นว่าคนเราเท่าเทียมทางกฎหมายนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย แม้จะไม่เท่าเทียมทั้งหมดแต่จะต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต้องเป็น รัฐสวัสดิการ

เค้าโครงเศรษฐกิจที่ว่านี้  รัฐบาลของประเทศอังกฤษสามารถทำสำเร็จภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ข้อเสนอของอาจารย์ปรีดีที่รุดหน้ามากในสังคมไทยในเวลานั้น อาจารย์ปรีดีจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อาจารย์ปรีดีก็ไม่ได้ท้อถอยหรือท้อแท้

 

 

วันที่ 27 มิถุนายน 2477 อาจารย์ปรีดีก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้คนยากคนจนได้เข้าเรียนได้ ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้ามาเรียนเติบโตไปเป็นขุนนาง เป็นใหญ่เป็นโต แต่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นั้น เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียน เพื่อสำนึกถึงธรรมะ แล้วนำธรรมะมาเป็นศาสตราที่แหลมคมมารับใช้บ้านเมืองและการเมือง

ยกตัวอย่างคุณเตียง ศิริขันธ์ หรือ คุณถวิล อุดล และอีกหลายต่อหลายท่าน ท่านเหล่านี้อาศัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และวิถีทางประชาธิปไตยได้มีโอกาสมารับใช้บ้านเมือง เพราะก่อน 2475 ผู้ที่รับใช้บ้านเมืองได้จะต้องเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นลูกท่านหลานเธอ หรือคนฉลาดจำนวนน้อยที่ทางราชการเลือกให้ไปเรียนเมืองนอกเพื่อให้กลับมารับใช้ราชการ แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นต้วของตัวเอง และให้ใช้การเมืองเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่มั่นคงและแข็งแรง

ผลงานชิ้นโบแดงของอาจารย์ปรีดีอื่นๆ อีก เช่น ด้านนโยบายการต่างประเทศ กล่าวคือ การยุติสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่การเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นเหตุให้ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ส่งผลให้ไทยเสียผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจเหลือไว้แต่เพียงอำนาจทางการเมือง อาจารย์ปรีดีเป็นรุ่นสุดท้ายที่สามารถแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จนประเทศไทยได้เป็นเอกราชที่สมบูรณ์

 

 

ความสำเร็จมิได้เกิดจากอาจารย์ปรีดีเพียงคนเดียว แต่อาจารย์ปรีดีมีเพื่อน มีกัลยาณมิตร มีผู้ร่วมงานจากแวดวงต่างๆ และ “วันสันติภาพไทย” เกิดขึ้นจากขบวนการเสรีไทย ด้วยการริเริ่มของอาจารย์ปรีดี และความร่วมมือของคนทั้งประเทศ ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในขบวนการเสรีไทย แต่คนเหล่านี้ก็ยังต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ และเอาชนะญี่ปุ่นที่กำลังยึดครองประเทศ เป็นความภาคภูมิใจของคนที่มารวมตัวกันทั้งหมด

 

 

เมื่ออาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย อาจารย์ปรีดีมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงต่อประเทศมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรให้รับรู้ถึงการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทย จึงส่งคุณจำกัด พลางกูร ไปยังประเทศจีน ซึ่งไม่ได้เดินทางกันไปง่ายๆ และในคืนวันก่อนที่คุณจำกัดจะออกเดินทาง ได้มาลาอาจารย์ปรีดีที่ทำเนียบท่าช้างซึ่งอยู่ติดกับธรรมศาสตร์

อาจารย์ปรีดีพูดกับคุณจำกัดว่า “คุณจำกัด ถ้าโชคดีอีกสองเดือนคงได้พบกัน ถ้าโชคร้ายคงได้พบกันหลังสงคราม ถ้าร้ายยิ่งกว่านั้นก็อุทิศชีวิต เพื่อชาติ และเพื่อ Humanity” ท่านไม่ได้บอกเพื่อชาติอย่างเดียว เพื่อ Humanity เพื่อชาติเราทั้งหมด และเพื่อมวลมนุษยชาติทั้งหมด นี่คือรัฐบุรุษที่มองเห็นคุณค่าไม่เพียงแค่ประเทศชาติ แต่มองไปถึงเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายทั้งหมด เพราะฉะนั้น อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เราได้มาต่างประเทศ เมื่อเสร็จสงคราม อาจารย์ปรีดียกให้ประเทศอื่นทั้งหมด

อาจารย์ปรีดียังสนับสนุนอินโดนีเซียให้เป็นเอกราชจากดัตช์ สนับสนุนลาวและเวียดนามให้เป็นเอกราชจากฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น มนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยตัวของเราเอง ประเทศชาติก็มิได้อยู่ด้วยตัวของประเทศชาติเอง ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน

ภายหลังเมื่อสงครามสงบลง อาจารย์ปรีดียังได้จัดตั้งสมัชชาเอเชียอาคเนย์ ซึ่งผิดกับอาเซียนที่เป็นทุนนิยม มิได้คิดถึงอิสรภาพ เสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชน แต่สมัชชาเอเชียอาคเนย์รวมตัวกันเพื่อธำรงและรักษาซึ่งประชาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ซึ่งเป็นการรวมตัวที่แตกต่างกับการก่อตั้งประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน เพราะเป็นการรวมตัวเพื่อมุ่งหมายในทางทุนนิยมและบริโภคนิยม โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องอิสรภาพ สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน 

 

 

อีกหนึ่งคุณูปการที่สำคัญ คือ ช่วงที่ไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มก่อตัวในทวีปยุโรป ขณะนั้นอาจารย์ปรีดีดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อาจารย์ปรีดีเล็งเห็นแล้วว่าในไม่ช้าสงครามจะต้องมาถึงประเทศไทย จึงดำเนินการผลิตภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เพื่อเตือนสติต่อเพื่อนมนุษย์ว่า “สันติภาพดีกว่าสงคราม” ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเป็นผลมาจากผู้นำ แต่กลับสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยย่อนั้น เพื่อให้เห็นว่าสันติภาพเกี่ยวโยงเกี่ยวกับทุกสิ่ง เพื่อความเป็นความตาย อิสรภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตย นี่คือความคิดของรัฐบุรุษที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล

ก่อนหน้านั้น ท่านอาจารย์ปรีดียังเห็นว่าสงครามได้เกิดขึ้นทางยุโรป และเราอาจจะติดร่างแหด้วย ท่านจึงมีดำริให้ผลิตภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งในเวลานั้นก่อนการเกิดสงคราม "พระเจ้าช้างเผือก" เป็นภาพยนตร์ที่เตือนสติได้เป็นอย่างดีว่าสันติภาพดีกว่าสงคราม และสงครามที่ทำกันนั้น เกิดขึ้นเพราะผู้ปกครองบ้านเมืองมีความเห็นแก่ตัว สงครามทุกแห่งราษฎรไม่เกี่ยวข้อง แต่ราษฎรต้องเดือดร้อน ถ้าเราได้ชมภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สันติภาพมีความสำคัญมากมายขนาดไหน

ท่านทั้งหลาย ที่ผมกล่าวมาโดยย่อ เพื่อให้เห็นว่า วันสันติภาพนั้น เกี่ยวโยงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความเป็นความตาย เพื่ออิสรภาพ เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีอาจารย์ปรีดี เป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ทั้งหมด แต่แล้วประเทศชาติแห่งนี้ก็ตอบแทนบุญคุณอาจารย์ปรีดี โดยทำให้ท่านต้องไปอยู่ประเทศจีน 21 ปี ย้ายไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสอีก 16 ปี และเสียชีวิตที่ประเทศนั้น

ในวันที่ท่านเสียชีวิต นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นซึ่งต่อมาได้เป็นประธานองคมนตรี และเป็นรัฐบุรุษ พูดเพียงแค่คำเดียว่า “เสียใจ” ในรัฐสภาซึ่งอาจารย์ปรีดีเป็นส่วนสำคัญในการก่อตั้ง มิได้แสดงความไว้อาลัยแม้แต่ 1 นาที นี่แหละครับ ประเทศสยาม ซึ่งกลายเป็น ไทยแลนด์ แม้คำว่า ไทยแลนด์ กำลังเอาเปรียบเพื่อนของเราหลายจังหวัดในภาพใต้ที่ยังไม่เป็นไท ถึงแม้เพลงชาติจะยังคงบอกว่า “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ซึ่งเป็นคำโกหก ซึ่งมันไม่มี และที่ร้ายกว่านั้น เรามีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่าไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน และสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์นี้ควรจะชื่อว่า อนุสาวรีย์ปราชัยสมรภูมิ แต่ชนชั้นปกครองพร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ฝ่ายความเท็จมากกว่าฝ่ายความจริง 

 

 

วันนี้ผมเอาความจริงมาพูดเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รับฟัง ท่านทั้งหลายไม่ต้องเชื่อผม ขอให้ท่านทั้งหลายพินิจ พิจารณาดูว่าการที่เราจะเดินไปข้างหน้า เราต้องรู้จักอดีต และอดีตนั้นต้องเข้าหาความจริง และความจริงนั้นต้องเข้าใจว่า วันสันติภาพนั้นเป็นวันที่สำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์

อาจารย์ปรีดีถือธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเกณฑ์ และธรรมของพระพุทธเจ้านั้นก็ไม่ได้แปลว่าอาจารย์ปรีดีดูถูกศาสนาอื่น อาจารย์ปรีดีมีเพื่อนที่นับถือศาสนาอื่น ทุกศาสนาที่มีธรรมะเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่าอาจารย์ปรีดีนำเอาตำแหน่งจุฬาราชมนตรีกลับมาใช้ ตำแหน่งนี้ตั้งเพื่อผู้นำมุสลิมที่สำคัญ ซึ่งผู้นำมุสลิมคนนี้ได้ร่วมขบวนการเสรีไทยและขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย คือ คุณแช่ม มุสตาฟา เมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม บังคับให้เปลี่ยนนามสกุล มุสตาฟาเป็นชื่อแขก ชื่อฝรั่ง คุณแช่มจึงเปลี่ยนนามสกุลเป็น “พรหมยงค์” ซึ่งใกล้เคียงกับนามสกุล “พนมยงค์” ของอาจารย์ ธรรมะที่อาจารย์ยึดนั้นเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ธรรมะนั้นเป็นธรรมะสากลเพื่อเพื่อนของเราที่เป็นมุสลิม คริสต์ น้อมนำมาจากธรรมะอันเดียวกัน ธรรมนี้เป็นธรรมะเพื่อสันติ และสันติเป็นหัวใจของทุกศาสนา

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154