ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ แนวคิดสันติภาพ และสงคราม

21
สิงหาคม
2565

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับสันติภาพและสงคราม มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ซึ่งมีงานวิจัยและงานทางวิชาการที่ยืนยัน เวลาที่จะเกิดสงครามใหญ่มันจะเกิดสภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และสงครามก็นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะเห็นได้ชัดว่าช่วงเวลาไหนที่โลกมีสันติ เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง ผู้คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วงเวลาไหนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มีสงคราม ในที่สุดมันจะเกิดสงครามอีกรอบหนึ่ง และเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในไม่ช้า

ต้องทำความเข้าใจว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์  นายพลฮิเดกิ โตโจ  หรือ เบนิโต มุสโสลินี ไม่ได้เกิดขึ้นบนสุญญากาศ คนที่มีลักษณะแบบนี้แล้วสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ พวกเขามีสภาวะบางอย่าง ซึ่งสภาวะบางอย่างนี้จะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคม และปัญหาทางเศรษฐกิจ เราคงไม่โทษชาวเยอรมนีว่าทำไมเลือกพรรคนาซี เราคงโทษแบบนั้นไม่ได้เสียทีเดียว มันมีสภาวะบางอย่างที่ทำให้คนจำนวนมากขาดซึ่งสติปัญญาและขาดซึ่งความคิดที่ถูกต้อง

“วันสันติภาพไทย” มีความเกี่ยวเนื่องกับ “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งขบวนการเสรีเป็นขบวนที่หลอมรวมคนทุกชนชั้น คือ ตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระนางเจ้ารำไพพรรณี รัชกาลที่ 7 ท่านชิ้น หลายคนเป็นเจ้านาย รวมทั้งสามัญชนอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสามัญชนมากมายที่สละชีวิต สละความสุขสบายส่วนตัว ในการเข้าร่วมขบวนการนี้

เมื่อพิจารณาขบวนการนี้ เรามักพิจารณาว่าเป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราช ต่อสู้เพื่ออธิปไตย ต่อสู้กับความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แล้วไปเข้าร่วมกับฝ่ายที่มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะไปรุกรานประเทศอื่น แบบนี้ไม่ใช่สันติวิธีแบบขบวนการของมหาตมะคานธี เพราะต้องการต่อสู้ แต่ถ้ามองให้ลึก เราจะเห็นว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการเพื่อสันติภาพ 

 

 

ในขณะเดียวกัน เพราะการสร้างสันติภาพมีหลายวิธีการ สิ่งที่อาจารย์ปรีดีทำ คือต้องการให้เกิดสันติภาวะ ไม่เห็นด้วยกับคนที่รุกราน ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ากรณีขบวนอหิงสาของมหาตมะคานธีที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย นั่นคือสันติวิธี หรือขบวนการการต่อสู้ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เพื่อสิทธิของคนผิวสี นั่นก็สันติวิธี

“ขบวนการเสรีไทย” ต้องการให้เกิด “สันติภาวะ” ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างสันติภาพ แล้วการหลอมรวมคนทุกชนชั้น ซึ่งเดิมหลายคนก็มีความขัดแย้งกัน เพราะต้องเข้าใจว่าประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ได้สงบเท่าไหร่ เพราะมี Counter Revolution การอภิวัฒน์โดยคณะราษฎร การอภิวัฒน์โดยขบวนการของประชาชน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นถูกโต้กลับตลอดเวลา เราจะเห็นว่ามีการกบฏและรัฐประหารอยู่

แต่ขบวนการเสรีไทยได้หลอมรวมคนที่มีอุดมการณ์ อย่างน้อยที่สุดคือคนเชื่อมั่นในอธิปไตย เชื่อมั่นในความเท่าเทียม เชื่อมั่นในประชาธิปไตย และเชื่อมั่นใจเรื่องเอกราช อันนี้เป็นจุดสำคัญ

อาจารย์ปรีดีมีแนวคิดและวิสัยทัศน์เรื่องสันติภาพ ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนที่เรามาคุยกันในวันนี้ คือเกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน เกิดระบอบปูติน รัสเซียบุกยูเครน นี่คือความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แล้วเราแสดงเจตนารมณ์ว่าเราไม่เห็นด้วยกับความขัดแย้งที่จะก่อให้เกิดสงคราม 

 

 

จุดยืนของเรา คือ สันติภาพ ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็ทำเช่นนั้น และท่านทำมากกว่าเราเยอะ เพราะท่านอยู่ในตำแหน่งที่จะทำได้ คือ ในฐานะรัฐมนตรีคลังฯ ท่านเห็นแล้วว่าโลกนี้มีปัญหาและจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมีการรุกรานตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรีย ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งต้องการขยายดินแดนและทรัพยากร

เยอรมนีภายใต้ระบอบฮิตเลอร์ บุกโปแลนด์ บุกดินแดนซึ่งมีคนเชื้อสายเยอรมันอยู่เยอะแต่ถูกแบ่งประเทศออกไป นี่คือปฏิกิริยาโต้กลับ เพราะเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงคราม คือคนถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบหนัก เพราะสนธิสัญญาแวร์ซาย จึงเป็นบทเรียนว่าทำไมเราต้องสร้างองค์การสหประชาชาติ ที่เมื่อสิ้นสุดสงครามแล้วไม่เอาเปรียบและกดขี่เขาอีก ผู้แพ้สงครามต้องได้รับการฟื้นฟู 

 

 

อาจารย์ปรีดีจึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เพราะเห็นการขยายตัวของลัทธิเผด็จการทหาร หนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกไม่ได้ฉายแค่เมืองไทย แต่ไปฉายที่ลอนดอนและนิวยอร์ก นี่คือความคิด วิสัยทัศน์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าคนไทยรักสันติภาพ ไทยควรวางตัวเป็นกลาง นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่แค่วางตัวเป็นกลางไม่พอ เพราะเราต้องส่งออกความคิดเรื่องสันติภาพ เราต้องส่งออกความคิดที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

การส่งออกไม่ได้ไปทำอะไรที่เกิดปัญหา แต่เป็นการใช้ข้อมูลข่าวสาร ใช้ความรู้ ว่าสิ่งนี้ต่างหากที่จะทำให้อาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีเสถียรภาพ เราจะยอมปล่อยให้เผด็จการทหารพม่าไล่ยิงผู้คนของเขาหรือ เราต้องบอกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าว่าอย่าทำแบบนี้ เส้นทางที่ถูกต้องคือคุณต้องคืนอำนาจให้ประชาชน จัดการเลือกตั้ง และฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมา นี่คือทางออก หนทางที่จะแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำด้านการเมือง ซึ่งผู้นำการเมืองโดยทั่วไปก็จะมีมิติความเป็นผู้นำทางการเมืองด้านเดียว แต่อาจารย์ปรีดีมีความต่าง เพราะอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนา ปรัชญาของพุทธ “สาราณียธรรม 6” คือหลักธรรมในการสร้างสันติภาพที่ลึกซึ้งที่สุด เพราะว่าไม่ใช่แค่เรื่องการมีเมตตาทางกาย วาจา ใจ เท่านั้น แต่พูดถึง “สาธารณโภคี” คือ รัฐสวัสดิการ มีอะไรจะต้องแบ่งปันคนอื่น มีความเป็นธรรม “สีลสามัญญตา” คือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ศีล ภายใต้กฎระเบียบที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม แล้วถามว่าประเทศไทยนั้นมีกี่มาตรฐาน เป็นเช่นนี้จะสงบไหม คนเห็นต่างจับยัดติดคุก อย่างน้อยคนมีอำนาจจะได้มีสติบ้าง แค่ความเห็นต่างทำไมต้องยัดคดีให้เขา

อาจารย์ปรีดีมีทั้งความเป็นผู้นำทางการเมืองและเข้าใจพุทธปรัชญา เพราะการจะสร้างสันติภาพได้อย่างแท้จริง จะสร้างแค่ภายนอกไม่ได้แต่ต้องสร้างที่ภายใน เพราะสันติภาพที่แท้จริงอยู่ที่ใจของเรา ถ้าใจเรามีสันติ เราจะไม่เบียดเบียน เราจะไม่รุกรานคนอื่น และสิ่งนี้ต้องมีอยู่ในผู้นำทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำถามคือ หากพูดแบบนี้เป็นความคิดเชิงอุดมคติใช่หรือไม่ ผมตอบว่าใช่ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้ทุกคนมีคุณธรรมในจิตใจ โดยเฉพาะผู้นำทางการเมือง ยิ่งเป็นระบอบเผด็จการก็ยิ่งยาก เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น เราสร้างกลไก ใครที่มีอำนาจต่อให้เป็นคนดีอย่างไร ถ้าอยู่ไปนานๆ ก็รากงอกทุกคน เพราะทุกคนมีกิเลส ฉะนั้นต้องมีระบบตรวจสอบ ถึงเวลาคุณต้องไป

 

 

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ โลกเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่หลายครั้ง แต่ครั้งที่ใหญ่ที่สุด คือปี ค.ศ. 1929 หรือ Great Depression อันนี้เป็นความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 บวกกับฟองสบู่แตกในสหรัฐอเมริกา ในประเทศที่สามารถดำรงรักษาระบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งได้นั้นปัญหาจะไม่ลุกลาม แต่ในกรณีของอิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี คนลำบากมากๆ พรรคนาซีที่เสนอแนวคิดแบบสุดโต่ง ขวาจัด จึงชนะการเลือกตั้ง มุสโสลินีอิตาลี ลัทธิฟาสซิสต์ชนะการเลือกตั้ง และญี่ปุ่นเกิดลัทธิทหารนิยม

ถามต่อไปว่าวิกฤตอื่นๆ ถึงขั้นที่ทำให้เกิดสงครามใหญ่หรือไม่ คำตอบคือยังไม่เกิด เพราะโลกได้เรียนรู้บทเรียนจากปี ค.ศ. 1929 แล้วว่าจะจัดการอย่างไร และเรามีองค์การสหประชาชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นหลังโควิด 19 วิกฤตที่เกิดขึ้นจากการบุกยูเครนของรัสเซียที่ทำให้ราคาอาหารและน้ำมันแพงมาก จะไม่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่มีหลักประกันอะไร หากเราไม่นำเสนอแนวทางบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งผมขอเสนอแนวความคิดเรื่องรัฐบาลโลก

หากสำรวจดูจะพบว่า โลกมีสงครามอยู่มากมายทั่วโลก แต่ไม่มีสงครามใหญ่ยกเว้นกรณีรัสเซีย-ยูเครน เพราะนอกนั้นล้วนเป็นสงครามที่กดขี่กันเองภายในประเทศ เป็นสงคราม Civil War ปัญหาในซีเรีย พม่า แอฟริกา เอธิโอเปีย ตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน แต่หลายๆ สงครามมีมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง คือเป็นสงครามตัวแทนด้วยในหลายสงคราม

สงครามที่กระทบกับไทยและเอเชียมากที่สุด คือ ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน  สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน บอกชัดแล้วว่าหากจะรวมไต้หวัน ก็จะรวมด้วยกระบวนการอย่างสันติ ฉะนั้นวิธีการของจีนก็คือการให้เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่แนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไต้หวัน เพราะพรรคก๊กมินตั๋งอยากอยู่รวมกับจีน แต่ว่าต้องการเป็นอิสระ ซึ่งผมไม่เชื่อผู้นำแบบสี จิ้นผิง เพราะว่าเขาไม่เหมือนเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อตอนเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจ เขาบอกว่าจะอยู่ 2 วาระ แล้วส่งต่อให้คนอื่น แต่สี จิ้นผิงแก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองอยู่นาน

ประวัติศาสตร์ของจีนสร้างความคิดหรือธรรมเนียมบางอย่างว่า คนที่จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้ จะต้อง Unified ประเทศได้ ฉะนั้นผมคิดว่า เขาต้องการจะ Unified ไต้หวันให้ได้ หากเขาเลือกผนวกรวมด้วยวิธีการทางการทหาร นี่คือหายนะของจีน สี จิ้นผิง และโลก แต่ถ้าผนวกรวมด้วยวิธีการทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ โดยให้คนไต้หวันตัดสินใจว่าจะอยู่กับจีนหรือไม่ แต่คนไต้หวันจำนวนหนึ่งอาจจะไม่อยากอยู่ด้วย เพราะว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เหมือนในยุคหนึ่งที่คนยุโรปอพยพไปตั้งอาณานิคมในสหรัฐอเมริกา พออยู่ไปร้อยปี วันหนึ่งเขาก็ลุกขึ้นมาประกาศเอกราชจากอังกฤษ แต่จริงๆ หากย้อนกลับไปโดยใช้แนวความคิดที่ถูกต้อง ว่ามนุษย์เป็นพี่น้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนมนุษย์ล้วนเป็น Homosapien แล้วแตกแยกออกไป ใช้เวลาหลายพันปีแยกเป็นชาตินั้นชาตินี้

 

 

แนวคิดของอาจารย์ปรีดีมีความสำคัญและสามารถประยุกต์เพื่อไขปัญหาในปัจจุบันได้ แนวคิดเรื่องมนุษยธรรมและเรื่องพุทธปรัชญาหากอ่านงานเขียนอาจารย์ปรีดีจะปรากฏอยู่โดยทั่วไป แต่อันที่เป็นระบบเศรษฐกิจ เป็นแนวคิดทางสังคมและแนวคิดทางการเมือง คือ “ภราดรภาพนิยม” และต่อมาคือแนวความคิด “สังคมนิยม วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” คนที่เสียผลประโยชน์ก็โจมตีอาจารย์ปรีดีตอนที่ขับเคลื่อนเค้าโครงสมุดปกเหลือง บอกว่าอาจารย์เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ใช่

ความคิดของอาจารย์ปรีดี คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ซึ่งคล้ายๆ กับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในตอนนี้ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อย และเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมืองมากที่สุด

 

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #17 : 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154