ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติภาพและสงครามในการเมืองโลกปัจจุบัน

20
สิงหาคม
2565

 

 

มนุษย์เราส่วนใหญ่ต้องการสันติภาพ แต่ผู้นำส่วนใหญ่มักแต่คิดเรื่องของตนเอง โดยพวกเขาชอบสร้างความฝันที่ส่งผลกระทบให้เกิดสงคราม ตัวอย่างเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน โดยสร้างความขาดแคลนด้านอุปทาน ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

หลังจากนั้นเกิดการเลือกฝ่าย เป็นการเลือกฝ่ายที่คล้ายๆ กับเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว และอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้นที่มุมใดของโลกก็ตาม สงครามย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน

แนวคิดสันติภาพของท่านอาจารย์ปรีดี ท่านมาก่อนกาลจริงๆ คือ เรื่องรัฐสวัสดิการ การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขของคนพลโลกหรือมนุษยชาติ ท่านพูดก่อนที่ฝรั่งจะปฏิบัติในยุโรป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วคนสมัยนั้นไม่เข้าใจ นึกว่าว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ จากข้อเสนอของท่าน

หากจะสร้างสันติภาพ จะต้องรู้ก่อนว่าสงครามนั้นมาได้อย่างไร สงครามเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ ประการแรก การกระจายผลประโยชน์ ความยุติธรรม ถ้าไม่กระจายก็จะเริ่มเกิดการชิงอำนาจกัน ประเทศเยอรมนีบุกประเทศต่างๆ เพราะเขาคิดว่าประเทศยุโรปในแถบตะวันตกเอาเปรียบเขา  ประการที่สอง ทรัพยากรที่ขาดแคลน อย่างไรถึงจะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทุกประเทศได้ เมื่อเกิดความรู้สึกสองเรื่องนี้แล้ว ก็จะมี ประการที่สาม คือความคิดบางอย่างที่สนับสนุนว่าเราจะต้องสร้างสงคราม เช่น ความเชื่อด้านศาสนา ด้านลัทธิ ฯลฯ

 

 

สงครามจะก่อขึ้นได้ 2 เรื่อง คือ เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง เงื่อนไขที่ไม่สามารถเจรจาได้ มาจากคำว่า “อะไร” ตัวอย่างเช่น การขอแบ่งแยกดินแดนเพื่ออิสรภาพ การขอยึดดินแดน ความต้องการด้านทรัพยากร จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่คำว่า “อะไร” แต่อยู่ที่คำว่า “ทำไม” เช่น การแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นก็เพราะอะไร จริงๆ เขาจะต้องการที่จะปกครองตนเอง อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือเขาอยากจะยึดดินแดนคนอื่นเพราะขาดทรัพยากร คุยกันได้ไหม แต่คุณไม่คุยกัน และการแลกเปลี่ยนดินแดน การบอกว่าเราไม่อยากให้ดินแดนใครเลยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว คือสิ่งที่คุยกันได้ ไทยคุยกับมาเลย์ จีนกับพม่า คุยแลกดินแดนกัน ตรงนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราไม่ค่อยคุยกัน เราจะคุยเรื่องนามธรรม 

เวลาที่เขาจะขัดแย้งกัน คือ คนเราจะมีจุดยืนคนละฝ่าย “จุดยืนของผม” กับ “จุดยืนของคุณ” “ผมเป็นรัสเซีย” กับ “คุณเป็นยูเครน”  ซึ่งเป็นอะไรที่เป็นนามธรรม ถ้ายกตัวอย่าง Maslow ก็คือ ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จอะไรบางอย่าง เราคิดว่าเรานั้นเหนือกว่าเขา แต่มาคุยกันจริงๆ คนในประเทศทั้งสองไม่เคยทะเลาะกันเลย คนยูเครนและคนรัสเซียเขาบอกว่าเป็นพี่น้องกันด้วยซ้ำไป  แต่ผู้นำไม่คิดอย่างนั้น ผู้นำคิดว่าอยากจะสร้างความแตกต่าง สิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างนี้ จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง แล้วจะนำไปสู่สงคราม

สงครามแบ่งเป็น 2 ประเภท หนึ่ง สงครามที่เป็นธรรม คือ สงครามมีเงื่อนไขที่คนทั้งโลกรับได้ คนส่วนใหญ่รับได้ ไม่ใช่เป็นสงครามที่อยากจะได้เพราะเก่งกว่า เพราะสงครามดีสำหรับแค่บางคน แต่เป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับทุกคน ดังนั้นสงครามจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น และสอง คือ สงครามที่ไม่เป็นธรรม

แล้วทำไมมนุษย์จะต้องฆ่ากัน มาจากงานวิจัยหลังเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ “5 ขั้นไปสู่การเป็นทรราช (Five Steps to Tyranny)” ขั้นแรก แบ่ง “เขา” แบ่ง “เรา” ก่อน การแบ่งเขาแบ่งเรา จะมีการบอกว่าเขากับเราไม่เท่าเทียมกัน เราไม่ใช่มนุษย์เหมือนกัน คุณเป็นคนอื่น ฉันเป็นฉัน ฉันเหนือกว่า ขั้นที่สอง จะมีอำนาจบางอย่างที่มากำกับให้รู้สึกว่าตนเองมีพลังอำนาจเหนือกว่า จากนั้น ขั้นที่สาม คือ ใช้ความรุนแรงจัดการเขาดีกว่า ขั้นที่สี่ คือ การยืนหยัดต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น และขั้นสุดท้าย คือ การกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้หมดไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทหารรัสเซียถูกล้างสมองอย่างนั้น และคิดอย่างนั้น ไปถึงก็กำจัด

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตัวอย่างคนที่มีการศึกษาดีมาก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้นักศึกษาแสดงบทบาท Roleplay การเป็นผู้คุมนักโทษ และนักโทษ ปรากฏว่าผู้คุมนักโทษทั้งๆ ที่ปกติไม่มีตำแหน่ง แต่ได้ใช้อำนาจในการมีตำแหน่งลงโทษคนอื่นด้วยซ้ำไป อีกอันหนึ่งที่รุนแรงมากคือ อาจารย์ให้นักศึกษานั่งเก้าอี้ไฟฟ้า แล้วนักศึกษาที่ทำผิดมากๆ โดนเก้าอี้ไฟฟ้าถึงตายได้โดยที่ไม่รู้ตัว สิ่งที่เกิดขึ้นในรวันดา กลุ่มทุตซีเป็นแค่แมลงสาบ นอกนั้นเป็นคน

นี่คือสิ่งมนุษย์พยายามแบ่งแยกกันอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องของทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน ความคิด ความฝัน และความเชื่อที่เป็นนามธรรมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

 

สงครามและความขัดแย้งในการเมืองโลกปัจจุบัน

กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียบุกยูเครนเพราะน้ำมันและแก๊ส แล้วก็กำลังจะบุกคาซัคสถานถ้าเป็นไปได้ เพราะว่าคาซัคสถานมีน้ำมันรองเป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซีย  ต่อไปเป็นเรื่องของความคิดนามธรรม เรื่องแรกเป็นหลักฐานของวลาดีมีร์ ปูติน คุยไว้ตั้งแต่เป็นนายกว่าเขาจะกลับไปเป็นสหภาพโซเวียต ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติของรัสเซียที่มีเรื่องของด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่างๆ เรื่องความมั่นคงต้องครอบงำสหภาพโซเวียตเดิมให้ได้

ต่อไปเรื่องของสถานะว่าเขาจะเป็นอะไร เขาจะบอกว่าเขาไม่เป็น Super Power หรือมหาอำนาจในโลกแบบตะวันตก แต่เขาจะเป็นอิสระของเขา คือ ภาพของสหภาพโซเวียต จากนั้นในเรื่องของเศรษฐกิจกับการรวมกลุ่ม เขาจะตัดระบบการเงินและรวมกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจต่างหาก แยกจากระบบโลก นี่คือความคิดของเขาก็เพราะ เขามีความรู้สึกว่าประเทศในโลกตะวันตกเอาเปรียบเขาในด้านทุนนิยม อันนี้ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่เขาคิดได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ในสงคราม คือการมองว่าอีกฝ่ายว่าไม่ใช่มนุษย์ สถานีโทรทัศน์ทางการของรัสเซียบอกว่า อยากจะฆ่าผู้สื่อข่าวของเยอรมันที่รายงานเรื่องปืนใหญ่ไปให้ยูเครน เขาคิดว่านักข่าวคนนี้คือนาซี ต้องฆ่าให้ได้ ซึ่งเป็นข่าวที่ออกที่โปแลนด์ 

กรณีความตึงเครียดในจีน-ไต้หวัน-สหรัฐอเมริกา เรื่องทรัพยากร คือ น้ำมัน ประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่ใช้น้ำมันคือสหรัฐอเมริกา 20% เกือบ 30% รองลงมาคือจีน 13% ดังนั้นสิ่งที่จีนต้องพึ่งพามากคือน้ำมัน ทุกเรื่องของจีนล้วนแล้วเกิดขึ้นจากการสร้างเส้นทางไปสู่การได้น้ำมัน

ความฝันของจีน คือ One Belt One Road หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ นักยุทธศาสตร์มองว่านี่คือถนนโรมัน หรือถนนจิ๋นซี คือเมื่อมีถนนจีนจะสามารถยึดครองได้ทุกประเทศ นี่คือความกลัวของฝั่งตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ประกาศชัดเจนว่าจริงๆ ชายแดนของจีนลงมาถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม โดนหมด นี่คือความคิดถึงประวัติศาสตร์ ก็เหมือนกับที่รัสเซียคิดถึงสตาลิน สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดนามธรรมว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนี้ เกิดจากความคิดผู้นำ หลังจากนั้นจะเกิดการแบ่งข้างก็จะจับขั้วเหมือนรัสเซียเหมือนกัน นี่ก็เป็น Challenge ของจีนเหมือนกัน จีนจะขึ้นมาสู้กับอเมริกา ซึ่งอเมริกาก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายสู้ นั่นแปลว่า ตัวของจีนคิดจะแบ่งขั้วเพื่อที่จะหลบทุนนิยมอเมริกันเหมือนกัน

สงครามเกิดขึ้นมา สิ่งที่ตามมาก็คือในช่วงแรกที่รัสเซียบุกประมาณเดือนหนึ่ง บุกเสร็จแล้วก็แพ้ แพ้เพราะว่าบุก 8 เส้นทาง การส่งบำรุงกำลังกองทัพเสียหมด จึงพ่ายแพ้และถอยกลับไป ต่อมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนถึงปัจจุบันกองทัพของรัสเซียไม่ได้ขยับเลย เพราะว่าเสียไปเยอะ ขยับนิดๆ หน่อยๆ 4 เดือนที่ผ่านมานี้ยึดได้แค่ 2 เมือง นี่ก็คือสิ่งที่รัสเซียทำได้

 

 

ตอนนี้รบที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมือง Bakhmutr เขาพยายามตีเข้ามาทางซ้าย เพื่อจะยึด 3 เมือง คือ Sloviansk และ Kramatorsk และ Bakhmutr สิ่งที่ยูเครนทำหลังจากได้อาวุธมาแล้วก็คือยิงไปที่คลังอาวุธ คลังน้ำมัน และปิดล้อมรัสเซียที่ด้านใต้ คือตัดเส้นทางข้างล่าง รัสเซียข้ามจากไครเมียมา แล้วปิดสะพาน 2-3 แห่ง ตอนนี้รัสเซียถูกปิดอยู่ 25,000 คน

ความสูญเสียนายทหารทั้งหมดประมาณ 1,000 นาย ระดับนายพลไปแล้ว 10 นาย มาถึงปัจจุบันเมื่อ 10 วันที่แล้ว ตอนนี้สูญเสียประมาณ 170,000 นาย หมดไปแล้ว 90.3% ของกำลังบุกครั้งแรก ซึ่งบุกเกือบ 200,000 นาย ทางทหารจะแพ้หรือชนะอยู่ที่ 30% ตอนนี้เกินมาเยอะแล้ว ผมเคยวิเคราะห์ว่าเดือนพฤษภาคม ควรถอยได้แล้วแต่ว่าการเมืองไม่ยอม ก็ส่งทหารเข้ามา ตอนนี้เสียทหารไปทั้ง 90% คือ 3 เท่าจากที่ควรจะเป็น 

ความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐอเมริกา เราจะเห็นการยิงลอดไต้หวันเข้ามาหลังจากคุณแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้เดินทางกลับแล้ว มีอยู่จุดหนึ่งรุกล้ำน่านน้ำของประเทศญี่ปุ่น เส้นทางเดินเรือระหว่างไต้หวันกับจีน แต่ถ้าจีนได้ไต้หวัน แนวเขตแดนจีนจะลึกเข้ามาแล้วจะปิดทางหมดซึ่งตะวันตกไม่มีทางยอม ปัจจุบันนี้ ถ้าจีนอยากจะออกมาจะออกได้ช่องเดียวระหว่างเกาะที่จะเข้าไปที่เซี่ยงไฮ้ จึงเป็นปัญหาเรื่องทรัพยากร การแย่งน้ำมันกัน แล้วถ้าจีนจะบุก ต้องบุกทางเหนือกับทางใต้ที่มี 2 หาดที่จะบุกได้ 

 

สงครามโลกครั้งที่ 3 สมควรจะเกิดขึ้นหรือไม่

ข่าวลือเรื่องการสนับสนุนจากประเทศเกาหลีเหนือที่จะส่งกำลังไปช่วยรัสเซียเพิ่มอีก 100,000 นายนั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อมติสหประชาชาติ ความเคลื่อนไหวของรัสเซียที่จะทำสงครามคาซัคสถานก็เริ่มจะขยับ มีการซ้อมรบ ตุรกีเมื่อเห็นว่ารัสเซียและอเมริกาออกไปแล้วก็จะเข้าไปที่ซีเรีย จีนจะส่งการสนับสนุนให้รัสเซีย และถ้าเกิดเหตุการณ์ไต้หวันจะช่วยไหม อิหร่านส่งโดรนให้รัสเซีย 46 ลำ จีนมีปัญหาฟองสบู่และการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งปกติแล้วถ้าประเทศไหนมีปัญหาภายในมักจะสร้างสงคราม ซึ่งเกิดจากผู้นำล้วนๆ ประชาชนไม่เกี่ยว

เมื่อมาดูความสามารถในการรบ สหรัฐอเมริกามีสามารถในปิดประเทศแล้วรบอย่างเดียวประมาณ 3-5 ปี โดยไม่ต้องพึ่งใครเลย รัสเซียประมาณ 1 ปี และจีนประมาณ 1 เดือน เพราะจีนไม่มีน้ำมัน นี่คือเรื่องใหญ่มาก เหมือนกับตอนที่ญี่ปุ่นบุกเพิร์ล ฮาร์เบอร์แล้วอยากเจรจาภายใน 6 เดือน เพราะทรัพยากรมีอยู่แค่นั้น สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ ตอนนี้รัสเซียแพ้อยู่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นไม่มีใครเชื่อว่ารัสเซียจะชนะ อาวุธต่างๆ หมดไปค่อนแล้ว ฉะนั้นจีนจึงไม่น่าจะบุกต่อ

 

สันติภาพ : ทางออกของปัญหาสงคราม

ถ้าเรารู้แล้วว่า 3 เรื่องที่เกิดขึ้นมา คือ นามธรรม กระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และการแบ่งข้าง เราก็ต้องเอาแนวคิดเช่นนี้มาช่วยในการจะทำให้เปลี่ยน ดูในระดับเล็ก คือ ทำอย่างไรในแต่ละประเทศ จะไม่ให้ผู้นำอยู่นานจนเกินไป เพราะเมื่อผู้นำอยู่นานเกินไป หรือไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนผู้นำได้ง่ายๆ ผู้นำก็จะเริ่มมีความฝันว่าเขาเป็นจักรพรรดิ นี่คือปัญหาที่เราต้องส่งเสริมประชาธิปไตย

 

 

ขณะเดียวกันเรื่องรัฐสวัสดิการ คือ เรื่องสำคัญที่สุดตามที่อาจารย์ปรีดีเคยเสนอไว้ก่อนเวลา เพราะจะทำให้คนเกิดการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ภายในประเทศตนเองก่อน แล้วขยายเรื่องนี้ไปยังต่างประเทศ โดยการคุยว่าจะมีองค์กรใดๆ ในโลกไหม ที่จะเริ่มคิดเรื่องนี้จริงจัง ไม่ใช่ไปพึ่งกับประเทศชนะสงครามอย่างองค์การสหประชาชาติ และผู้ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกติกาทุกอย่าง มาจากประเทศหลักของสมาชิกถาวรของสหประชาชาติ 5 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อังกฤษ ต่างๆ มีโอกาสละเมิด เพราะเขาไม่ต้องกังวลเรื่องมติสหประชาชาติ เพราะ Sanction ได้ ดังนั้นจึงควรมีองค์ระหว่างประเทศไหม หรือว่าคนที่ชุมชนระหว่างประเทศต้องคิดกันใหม่ว่า ต้องปฏิรูปสหประชาชาติเพื่อให้ประเทศเล็ก ประเทศน้อยมีอำนาจใกล้เคียงกับประเทศใหญ่

สุดท้ายท่าทีของไทยจะอยู่ตรงไหนกันดี ประเทศไทยเรายืนในจุดที่เป็นกลางเหมือนสมัยก่อนที่เคร่งครัด แต่จะเคร่งครัดได้ เราจะต้องเลือกว่าเราอยู่กับใคร อย่างจีนเก่งเรื่องค้าขายเราก็อยู่กับเขา อเมริกาเก่งเรื่องความมั่นคงเราก็อยู่กับเขา

ข้อเสนอของผม คือ เราทำให้ตัวเราเป็นเหมือนสวิสเซอร์แลนด์ได้ไหม คือเป็นสถานที่เจรจา อย่างกรณีทะเลจีนใต้ที่เราไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย เราจะเป็นสถานที่เจรจาให้ทุกฝ่ายได้ไหม นี่คือสิ่งผมอยากนำเสนอให้กับทางชุมชนระหว่างประเทศได้มาช่วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางของอาจารย์ปรีดี ท่านก็ใช้องค์กรระหว่างประเทศ เรื่องสันติประชาธรรม เรื่องศาสนา การกระจายรัฐสวัสดิการแต่ว่าเป็นรัฐสวัสดิการของโลก ไม่เฉพาะของรัฐตัวเอง

 

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #17 : 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154

;