ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI Talks #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” : ช่วงตอบคำถาม

22
สิงหาคม
2565

 

 

วันสันติภาพไทยและขบวนการเสรีไทย ถูกรับรู้ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างไร และทำอย่างไรให้ได้รับความสำคัญมากขึ้น?

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : 

ผมคงตอบแทนคนรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะผมเป็นคนรุ่นเก่า แต่เราสามารถสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะในเวลานี้มีสื่อนอกกระแสหลัก สื่อนอกกระแสหลักนั้นสำคัญมาก เพราะระบบการศึกษายังใช้ระบบเดิม สอนให้คนเป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่สอนให้คนสนใจคนเล็กคนน้อย แต่สื่อนอกกระแสหลักน่าสนใจมาก ดังจะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้ไม่เพียงนิสิตนักศึกษา แต่นักเรียนชั้นมัธยมเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว ได้ออกมาท้าทายรัฐบาลเผด็จการ และท้าทายอย่างสันติประชาธรรม ซึ่งน่าเคารพมาก เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างสื่อนอกกระแสหลัก ให้คนรุ่นใหม่ออกมายืนหยัดเห็นว่าสันติภาพสำคัญ และสาระแห่งประชาธิปไตยนั้นสำคัญ 

 

จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียกลับไปสู่รัฐสวัสดิการในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู :

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการต่อสู้ทางความคิดของทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเกิดมาเพื่อเป็นข้อสรุปของทฤษฎีการต่อสู้ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ออกมาเป็นทางกลาง ซึ่งเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่มีความเป็นธรรม เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เพราะเขารู้ว่าการเป็นทุนนิยมเต็มที่ นั้นก่อให้เกิดสงรามโลกทั้ง 2 ครั้ง การที่จะไม่เกิดสงครามโลกได้คือการอยู่ด้วยกันด้วยการเฉลี่ยทรัพยากรแล้วทุกคนจะอยู่ด้วยกันได้ เขาก็สร้างตัวอย่างให้ดู สร้างชุมชนให้ดู เพื่อที่จะขยายไปทั่วโลกได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ :

ทำไมหลายประเทศถึงมีปัญหามาก รวมถึงไทย เพราะชนชั้นสูงและชนชั้นนำกำหนดเกือบทุกอย่าง มีอำนาจทั้งผูกขาดทางการเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งการหล่อหลอมความคิดของคนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ทำให้โครงสร้างมีความเหลื่อมล้ำสูง มีหลายมาตรฐาน ไม่เป็นประชาธิปไตย คนระดับล่างยากจนและด้อยโอกาส แต่ของไทยระดับปัญหาน้อยกว่าหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกา ฉะนั้นในแอฟริกากับละตินอเมริกามีความไม่สงบทางสังคมตลอด (Social Unrest) และมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรง บางประเทศนำไปสู่สงครามกลางเมือง (Civil War) โดยเฉพาะในแอฟริกา

กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียไม่ได้มีปัญหานี้ เพราะเขาสามารถแก้ไขโครงสร้างที่มีปัญหานี้ได้ เพราะมันทำให้ค่อยๆ มีพัฒนาการของระบบการปกครองที่เป็นทุนนิยม แต่เป็นทุนนิยมสวัสดิการ แต่โดยเนื้อแท้นี่คือสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยกรอบความคิดนี้คล้ายๆ กับความสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศจะทำได้ เนื่องจากเหตุปัจจัยแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะสแกนดิเนเวียมีประชากรน้อย พื้นที่มาก ทรัพยากรมากพอสมควร และคนมีการศึกษาสูง ผู้นำทางการเมืองมีชีวิตเช่นคนปกติสามัญชน กษัตริย์ของฟินแลนด์มีชีวิตแบบสามัญชน ไม่มีรูปแบบสังคมที่เป็นแนวดิ่ง แต่เป็นแนวราบ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะเรียนจบอะไร คุณเป็นคนกวาดถนน หรือคุณเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย คือคุณเท่ากันหมด เป็นมนุษย์เหมือนกันหมด คุณจะเป็นกษัตริย์ หรือคุณจะเป็นสามัญชน ก็เป็นมนุษย์ แต่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองและเคารพซึ่งกันและกัน นี่คือรากฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ถ้าเราจะแก้แล้วทำให้เกิดสันติภาพได้จริง ผมขอเสนอเราต้องพัฒนาไปสู่การมีรัฐบาลโลก

 

 

เรารู้อยู่แล้วว่าองค์การสหประชาชาติทำงานสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จุดอ่อนที่สุดขององค์การสหประชาชาติก็คือว่า ไม่ได้มีอำนาจเหมือนรัฐบาลโลก แต่รัฐบาลโลกสร้างไม่ง่ายแน่นอน ค่อนข้างเป็นอุดมคติ แต่ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องไปรื้อรากฐานของสหประชาชาติ เราต้องสร้างบนฐานของสหประชาชาติ เพราะสหประชาชาติมีคณะมนตรีความมั่นคง มีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา แล้วในการพัฒนาแบบยั่งยืนที่สถาบันปรีดีฯ เพิ่งจัดไป วันที่ 11 พฤษภาคม ถึงที่สุดแล้วจะนำไปสู่สันติภาพที่ถาวร ถ้าทำอย่างนั้นได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 16 ข้อ แต่ละข้อจะทำให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงๆ ปัญหาสงครามหรือความขัดแย้งบางอย่างไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม คือส่วนใหญ่แล้วเราไม่รู้สึกว่ามันมีปัญหา อย่างเราอยู่ในระบบทุนนิยมที่ผูกขาดและเอาเปรียบกัน นั่นคือเราอยู่ในโครงสร้างที่ไม่ถูกต้อง เราต้องแก้ที่โครงสร้าง คืออย่างไรคนก็ตีกันในโครงสร้างแบบนี้ต่อให้เขามีจิตใจดีก็ตาม เพราะว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณของการอยู่รอด

 

แนวคิดของรัฐบาลโลกน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดสันติภาพในอาเซียน เป็นไปได้หรือไม่ที่แนวคิดนี้จะถูกกล่าวถึงในการประชุม APEC ที่จะถึงนี้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ :

เรื่องนี้ต้องถูกเสนอโดยผู้นำทางการเมืองในประเทศใหญ่ ถ้าเราดูในโลกของความเป็นจริง ถึงจะเกิด แต่ถ้าเป็นข้อเสนอของนักวิชาการคนหนึ่ง หรืออาจารย์คนหนึ่ง หรือเป็นข้อเสนอโดยหน่วยงานซึ่งไม่ได้มีอำนาจ จะเกิดขึ้นยาก อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ไม่ได้หมายความจะไม่เกิดขึ้น เพราะทุกๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงโลก เริ่มต้นจากจุดแรก คือการเสนอความคิด แล้วจะเกิดการพัฒนา เช่น สันนิบาตชาติที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแนวคิดของวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีแล้วไปลงเลือกตั้ง แล้วเป็นประธานาธิบดีของสหัฐอเมริกา ถึงได้เกิดเป็นหลักการ 14 ข้อในการสร้างสันติภาพ แต่ว่าสันนิบาตชาติไม่สำเร็จ เพราะมีจุดอ่อนบางอย่าง คือไม่สามารถคุมประเทศที่มหาอำนาจได้ แล้วในที่สุดญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี ก็ลาออกจากสันนิบาตชาติจึงนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #17 : 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154