โดยเนื้อแท้แล้วการประกาศวันสันติภาพเมื่อ 77 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องการต่างประเทศ เพราะตอนนั้นประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ทำเมื่อ 77 ปีที่แล้วส่งผลอย่างมาก แม้ว่าจะมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาคอยช่วย แต่สิ่งที่ท่านทำถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้เรารอดพ้นในสภาวะที่ไทยจะกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งจะมีภาระค่าปฏิกรรมสงครามตามมาอีกมากมาย ถือเป็นความสามารถของท่านปรีดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
กล่าวได้ว่านับจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นโยบายการต่างประเทศของไทยได้ถูกวางรากฐานโดยท่านปรีดี ซึ่งเราก็ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ คือ “การวางตัวเป็นกลาง” การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีประชาคมโลก และการพยายามที่สร้างการรวมกลุ่มในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันนี้เราสามารถรวมกลุ่มประเทศเป็นสมาคมอาเซียนได้ แม้ว่าอาเซียนจะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่ถือว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวความคิดของท่านปรีดีที่ส่งมอบ และยังถือว่าเป็น Cornerstone เป็นนโยบายต่างประเทศหลักสำคัญของเราที่ยึดถือมาจนถึงทุกวันนี้
บรรยากาศของการเมืองโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ท่านปรีดีเป็นเสมือนผู้วางรากฐานของนโยบายต่างประเทศของไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ในช่วงนั้นประเทศไทยเพิ่งหลุดพ้นจากลัทธิอาณานิคม ซึ่งลัทธิอาณานิคมมีส่วนที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากการแบ่งทรัพยากร แบ่งอำนาจ แบ่งผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่ลงตัว แต่หลังจากลัทธิอาณานิคมเริ่มหมดไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็ย่างเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า สงครามเย็น
ในยุคสงครามเย็น กล่าวได้ว่าประเทศไทยทิ้งห่างจากหลักการของท่านปรีดีมาก เราไม่ได้วางตัวเป็นกลาง เราไปเข้าข้างสหรัฐอเมริกาเต็มที่ แล้วให้สหรัฐอเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพที่จะเข้าไปรุกรานโจมตี เอาเครื่องบินไปถล่มเพื่อนบ้าน ในแง่หนึ่งหากจะบอกว่าเป็นความจำเป็นหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็อาจจะกล่าวได้ว่ารัฐบาลของไทยในช่วงนั้นที่อนุญาตให้จัดตั้งฐานทัพต่างๆ ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริง คือ ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วอาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย เพราะโดยหลักการ การให้ชาติอื่นมาตั้งฐานทัพในประเทศแล้วให้ฐานทัพไปโจมตีประเทศอื่นได้ ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่มีเอกราชโดยสมบูรณ์ การตั้งฐานทัพนั้นพอได้ แต่การตั้งฐานทัพแล้วเอาไปโจมตีคนอื่นด้วย เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศที่มีเอกราชเขาจะไม่ทำกัน
หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นโดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1991 โลกดูเหมือนจะมีสันติภาพและความหวังขึ้นมา ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็เริ่มมีรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย เริ่มจากรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วก็รัฐบาลชวน หลีกภัย ประเทศไทยมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งก็มาพร้อมกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย
การสิ้นสุดสงครามเย็น ความหวังที่จะเห็นสันติภาพในโลกไม่ได้เป็นอย่างที่คนส่วนใหญ่ในโลกคาดหวัง มีความขัดแย้งต่างๆ เพิ่มขึ้นมา ตอนนี้ดูเหมือนโลกเราจะก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งใหม่ เดิมทีเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ เสรีนิยมประชาธิปไตย VS คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมดไปแล้วในปัจจุบัน ไม่มีการแข่งขันในแง่อุดมการณ์ระหว่างทั้งสองอุดมการณ์
แต่กลายเป็น Democracy VS Autocratic คือเสรีนิยมประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ซึ่งเราดูแนวโน้มของโลกจะเห็นว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่านิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในโลกนั้นถดถอยอย่างมากแทบทุกพื้นที่ แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำประชาธิปไตยเอง ก็ยังถดถอยได้ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ค่านิยมทางด้านประชาธิปไตยหรือว่าสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในอเมริกาก็ถดถอย
อาเซียนเราเองแทบไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้ที่พอเชิดหน้าชูตาได้ก็คืออินโดนีเซีย รองลงมาคือมาเลเซีย สิงคโปร์ก็เป็นอย่างที่เขาเป็น แต่ที่เหลือแทบไม่มีประเทศไหนเลยที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไทยเราเคยเป็นแนวหน้าของสมาคมอาเซียนในเรื่องความก้าวหน้าของประชาธิปไตย เห็นได้เช่นกันว่าประชาธิปไตยของเราก็ถดถอยลงไป โดยมีการทำรัฐประหาร และการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นมีประชาชนคนไทยไม่น้อยที่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ สนับสนุนเผด็จการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความถดถอยค่านิยมประชาธิปไตยในสังคมด้วย
แม้แต่ในอเมริกาใต้ ในบราซิล ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ไม่ได้มีท่าทีเคารพสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งอินเดียซึ่งเป็นต้นตำรับของประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณค่าทางประชาธิปไตยก็ลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม BRICS ซึ่งมี บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ ประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเดิมคิดว่าจะเป็นความหวังของโลกนี้ที่จะเข้ามาแทนกลุ่มอำนาจตะวันตกเดิม ขึ้นมาคานอำนาจ สังเกตได้ว่ากลุ่ม BRICS ให้ความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนน้อยลงมาก
แนวโน้มของการเกิดสงครามที่จะทำลายสันติภาพมีได้เยอะในกรณีที่ประเทศนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชน ยิ่งให้ความสำคัญน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่ผู้นำจะทำสงครามก็ยิ่งมีโอกาสสูงเท่านั้น อย่างรัสเซียและจีนที่พยายามจะสร้างเขตอิทธิพลขึ้นมาใหม่ เพราะเขาต้องการปฏิเสธหลักการ กฎเกณฑ์เดิมที่ตะวันตกวางไว้ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ ทุนนิยม และธนาคาร เพราะว่าปัจจุบันการทำธุรกิจต่างๆ ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ
แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจของโลกถูกผูกโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความเป็นธรรมในค่าแรงต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องตรวจสอบได้ ค่านิยมเหล่านี้ก็โยงไปถึงความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนบ่อนทำลายอำนาจที่ผู้นำประเทศเหล่านี้ที่ยึดถืออำนาจนิยม เพราะฉะนั้นเขาต้องการปฏิเสธหลักเกณฑ์ต่างๆ และสร้างเขตอิทธิพล Sphere of Influence ขึ้นมา โดยคิดว่าถ้ากลุ่มเขาใหญ่พอ เขาก็จะสามารถรวมอยู่และรวมกลุ่มกันตรงนี้ได้ เพื่อคานกับสิ่งที่กลุ่มประชาธิปไตยหรือว่ากลุ่มประเทศตะวันตกพยายามสร้างหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมา ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาถึงประเทศไทย ผมพูดอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยนั้นกินได้ เพราะทุกวันนี้ประชาธิปไตยไปผูกโยงกับการทำธุรกิจและเศรษฐกิจต่างๆ
ประเทศไทย : จุดยืนในสถานการณ์โลก
นโยบายการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ หรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สร้างสรรค์จริงๆ ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองภายในหรือสถานะของประเทศตนเองได้ การต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภายในของตัวเราเอง ถ้าภายในเรานิ่ง ถ้าภายในเรามีความชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้นโยบายต่างประเทศเราดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบัน ประเทศไทยทำหลายอย่างที่ไม่เป็นไปอย่างนโยบายที่ท่านปรีดีเคยวางไว้ซึ่งควรจะเป็นแนวหลักที่ถูกต้อง ไม่ว่าการวางตัวเป็นกลาง หรือการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาที่ผมเห็นว่าน่าหนักใจและค่อนข้างแย่มาก คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศเรื่องพม่า เพราะทุกวันนี้รัฐบาลไทยปัจจุบันซึ่งก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในตัวเอง แต่การที่เราไปผูกยึดโยงหรือคอยแก้ต่างให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตลอดเวลานั้น ทำให้เรายืนอยู่ตรงข้ามกับประชาคมโลก ซึ่งประชาคมโลกมีแต่รังเกียจรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า แต่เรากลับพยายามปกป้องหรือโอบอุ้มตลอดเวลา ตรงนี้ทำให้เราถูกผลักออกไปจากกระแสของสังคมโลกที่ควรจะเป็น
สุดท้าย ถ้าเราอยากเห็นนโยบายการต่างประเทศที่ดีรวมทั้งสันติภาพในโลกนี้ ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูหรือช่วยกันผลักดันให้ความคิดในระบบประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนในสังคมกลับคืนมาและมีความเข้มแข็งทั้งในประเทศของเราและประชาคมโลกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนที่สามารถช่วยให้เกิดสันติภาพในโลกได้อย่างแท้จริง
ที่มา : PRIDI Talks #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154
- PRIDI Talks 17
- PRIDI Talks
- รัศม์ ชาลีจันทร์
- ปรีดี พนมยงค์
- วันสันติภาพ
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ค่าปฏิกรรมสงคราม
- สมาคมอาเซียน
- ลัทธิอาณานิคม
- สงครามเย็น
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- สหรัฐอเมริกา
- สหภาพโซเวียต
- ชาติชาย ชุณหะวัณ
- ชวน หลีกภัย
- เสรีนิยมประชาธิปไตย
- คอมมิวนิสต์
- สังคมนิยม
- อำนาจนิยม
- โดนัลด์ ทรัมป์
- เผด็จการ
- BRICS
- กลุ่มเศรษฐกิจใหม่
- กลุ่มอำนาจตะวันตก
- สิทธิมนุษยชน