ประเทศไทยประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติและได้รับเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก” ในสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 (23 เมษายน เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก World Book and Copyright Day) และปิดโครงการลงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 นอกจากพันธกิจกิจส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องแล้ว กทม. มีพันธสัญญาร่วมกับ UNESCO ที่จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูน และพิพิธภัณฑ์และหอสมุดของเมือง โดยมีการตั้งเป้าไว้ให้คนกรุงเทพฯ อ่านหนังสือเฉลี่ย 15 เล่มต่อปีต่อคน และทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่านอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยมีการใช้จ่ายงบประมาณไปถึง 1,400 ล้านบาท[1]
10 ปีผ่านไป ไทยนำแผนพัฒนาระยะยาวนโยบายรณรงค์การอ่านของเมืองมาทำเรื่องใหม่ หลังจากฟุบไปเพราะ Digital Disruption อันเป็นกระแสหลักของโลก นับเป็นภารกิจเข็นครกขึ้นยอดเขาอีกครั้งของภาครัฐ โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หนอนหนังสือตัวยงในยุทธจักรวิชาการและยุทธวิธี How to be happy (How do we become happier?) นำปรัชญาชีวิต วิธีคิด วิธีทำของท่านถ่ายทอดสู่ประชาชนด้วยธรรมชาติในตัวตน (Natural Person) ของคนเป็นครู “หนังสือ ความรู้ การอ่าน เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความคิดของคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของเมือง”[2] ท่านผู้ว่าฯ กล่าวไว้ก่อนรับตำแหน่ง เมื่อปี 2563 ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีงบประมาณจัดการห้องสมุดทั่ว กทม. 36 แห่งเพียง 0.26% น้อยกว่างบจัดการขยะที่มากถึง 14.81%
“ในอนาคตเราต้องเปลี่ยนห้องสมุดเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่น่าสนใจและทันสมัย มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ (Makerspace), 3D Printer, ห้องตัดต่อ ถ่ายทำ Digital Content หรือหนังสือ Internet ฯลฯ และต้องมีจำนวนกระจายให้มากกว่านี้”
3 ปีผ่านไปนโยบายหลัก 9 ดี คือแนวทางที่ชนะใจประชาชน จนได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่ง ซึ่ง 1 ใน 9 ข้อที่สำคัญต่อการสร้างบ้านแปลงเมืองคือข้อ 4 เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ดี[3] ในหัวข้อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ “พื้นที่สาธารณะ” มีห้องสมุดชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้ โดยปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทันสมัยมีคุณภาพ และจะกระจายไม่กระจุกแค่กลางเมือง เพื่อให้เด็กๆ ประชาชนทั่วไปได้ใช้พื้นที่อย่างทั่วถึง ใกล้บ้าน ต้องมีทุกเขตแขวง สามารถอ่าน - ยืม E-Book ได้จากทุกที่ (E-Library) เสริมปัญญาเชื่อมโยงให้เป็นพื้นที่ของทุกคน (Co-working Space), เน้นจัดการแสดงและกิจกรรม รวมถึงงานศิลปะกลางแจ้งเพื่อให้เกิดสุนทรียภาพแก่กรุงเทพ ฯลฯ
ยุทธวิธีสุนทรียศาสตร์ ถูกนำมาบูรณาการร่วมกับโครงการหนังสือและสื่อความรู้ นำร่องลุยกล้าท้าทายสายฝนด้วย “โครงการหนังสือในสวน” มี กทม. เป็นเจ้าภาพสนับสนุนสถานที่เช่นเคย รูปแบบของงานกลางแจ้งจัดในสวนหายไปจากเทศกาลหนังสือมาตั้งแต่ปี 2551 หลังงาน Indy Book Festival ครั้งที่ 5 ณ สวนสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) มีหงอยเพราะปรอยฝนเดือนเมษายน
ผ่านไปกว่า 10 ปี Museum Siam จัด เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ “LIT Fest” เมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2562 ครั้งที่ 2 ปี 2563 และล่าสุดครั้งที่ 3 เมื่อ 25-27 กุมภาพันธ์ 2565 ทุกครั้งล้วนประสบความสำเร็จล้นหลามเพราะความเป็นเทศกาลที่ถูกออกแบบให้เป็นสวนสนุกกลางแจ้ง ทุกคนสามารถหาความสุขจากหลากสิ่งที่สร้างสรรค์ร่วมกันกับหนังสือ คือที่มาของโมเดลในใจให้ท่านผู้ว่าฯ นำมาพัฒนาต่อยอดเป็น “โครงการหนังสือในสวน” ครั้งแรกนี้ โชคดีที่ฝนไม่ตก แม้จัดเพียงวันเดียวแต่ตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกแบบกิจกรรมนำสมัย นอกจากตอบโจทย์คนรักหนังสือแล้ว ส่วนพิเศษเหนือพานิชย์คือการดูแลปัจเจกจิตใจ และเยียวยาอาการป่วยไข้ของยุคสมัย เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กิจกรรมนำร่องครั้งนี้มีความหมายมากกว่าขายของ
จากประตูหน้าฝั่งสีลมออกจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินตรงเข้ามาภายในบริเวณสวน ไม่ไกลจากสามแยกตาหวาน ด้านขวามีห้องสมุดสาธารณะขนาดกลางกว้างขวางโอ่โถง ภายในมีเครื่องเล่นเด็กเล็กรองรับครอบครัว ด้านหน้าเป็นลานงาน “หนังสือในสวน” จัดด่วนโดย JUST READ กลุ่มนักอ่านตัวเล็กๆ ที่มีความฝันอยากจะเห็นสังคมนักอ่านเติบโตขึ้น ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดครั้งที่ 1 เมื่อ 29 กรกฎาคม 2565 ณ สวนลุมพินี กิจกรรมประกอบด้วย 3 โซน ‘Exhibition’ นิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือ, ‘Mini Talk’ ชวนเสวนากับนักเขียน และ ‘Book Club’ นั่งล้อมวงเปิดใจพูดคุยเรื่องหนังสือ
ภาพรวมของงานขนาดเล็กเป็น Minimalism ที่งามด้วยความหมายของการออกแบบโดยเน้นให้เห็นคุณค่าการแบ่งปัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการให้เพื่อจุดประกายความรักในการอ่านแบบไม่ต้องทุ่มทุน ทั้งการจัดงาน คนอ่านที่รักหนังสือ หรือผู้มาใหม่ก็พร้อมจะเทใจให้หนังสือได้ แค่ด่านแรกที่ก้าวเข้างานก็พบนิทรรศการเสนอไอเดียสร้างสรรค์ถึงกทม. เพื่อเรียกร้องห้องสมุดในฝันให้เขตของตัวเอง เพียงบรรเลงผ่านกระดาษโน้ตแผ่นน้อย แปะห้อยไว้บนบอร์ดที่จัดให้
อีกสองส่วนใกล้กัน เพียงกรอกแบบฟอร์มด้วยคำตอบง่ายๆ เกี่ยวกับการอ่าน ก็สามารถเลือกหนังสือดีได้ฟรีทั้งของผู้ใหญ่ และหนังสือเด็กหลายระดับนับไม่ถ้วน ถัดไปเป็นมุมแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่รู้จะเลือกหรือเริ่มต้นอ่านแนวไหน มีการจัดเซตไว้ให้ข้อมูลทุกหมวดหมู่อยู่บนบอร์ดสแตนดี และที่เป็นลิสต์รายชื่อหนังสือโปรดใส่โน้ตไว้ให้เลือกอ่านบนราว จากผู้มาร่วมงานที่ต้องการแชร์ชวน อีกซุ้มถ้าไม่ซื้อถือว่าพลาด คือซุ้มจากมูลนิธิกระจกเงา ราคาน่ารักเพียงเล่มละ 1 บาท จะโกยกี่เล่มก็ได้ หลากหลายแนวล้วนเป็นหนังสือดีที่น่ากวาดให้ราบทั้งกอง จับต้องได้ถึงคุณค่า รู้สึกเหมือนว่ามากมูลค่ากว่ากองทองหลายเท่า! หนังสือกองเป็นภูเขายุบลงไปในเวลารวดเร็วคือการยืนยัน
ส่วนเสวนาแยกออกไปบนศาลาภิรมย์ภักดีมีทอล์คไม่หนัก ที่ทำให้ตกหลุมรักหนังสือกับโครงการต่างๆ ที่จะผุดตามมาอีกมากมาย ก่อนปิดเวทีมีการแจกหนังสือจากนักเขียนที่มาพบนักอ่าน มีให้เลือกไม่มากแต่ทุกเล่มล้วนสรรค์พิเศษพร้อมลายเซ็นสดๆ และที่วิเศษสุดๆ คือมุมพิเศษเป็นการจัดให้ทั้งพื้นที่และโอกาสโดยปราศจากเงื่อนไขในเชิงพานิชย์ จากแนวคิดสำคัญที่เป็นเหมือนห้องเรียนกลางแจ้งและห้องบำบัดจิตสำหรับคนป่วยใจ ฯลฯ เหมือนเปิดคอร์สสอน - เรียนรู้ หลายศาสตร์หลากศิลป์กลางสวน ต่างคนต่างมาร่วมวงพูดคุยเรื่องที่สนใจเหมือนกัน ล้อมวงคุยกันแชร์ประสบการณ์จากการอ่านการเขียน เรียนมุมมองชีวิตแบบเปิดใจบรรยากาศอบอวลภายในสวนร่มรื่นชวนรื่นรมย์กับทุกเรื่องเล่า ใครเหงาเรามีหนังสือเป็นสื่อมิตรภาพ มีทั้งพระและฆราวาสหลายวัย 6 วง ตั้งแต่ 16.00 น. - 20.00 น.
ทุกคนที่เข้าร่วมวงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน ฝึกให้น้อมใจรับฟังซึ่งกันและกันซึ่งหาไม่ได้จากงานหนังสืออื่นๆ ที่แม้กระทั่งงานใหญ่ระดับชาติทุกตารางเซ็นเป็นไปเพื่อการค้า แม้เป็นเสวนาก็เน้นการขายเป็นหลักร่วม และส่วนมากมักจัดในอาคารเพราะต้องการพื้นที่ทำธุรกิจและทำเวลา
กระแสหลักของโลกอนาคตสรุปล่วงหน้าว่า นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ จะถูกกลืนกลายหายไปพร้อมกับหมดยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือ - Hard copy) แล้วถูกแทนที่ด้วยหนังสือเสียง (Audio book), E-book, Podcast และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หลายแพล็ตฟอร์ม ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทำให้ตลาดหนังสือเปลี่ยนไปจากเดิม (Digital Disruption) เพราะเหมาะกับวิถีชีวิต รสนิยม ฯลฯ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม
ในมุมจิตวิทยาด้านมนุษย์ศาสตร์กลับคาดเห็นเป็นตรงข้ามว่า สำหรับหนังสือแล้วยังอยู่ได้แม้ไม่ขายดีเหมือนเดิม เพราะความหลากหลายของเนื้อหาที่มีรายละเอียดต่างกัน เหมาะกับกลุ่มที่ต้องการความลุ่มลึก เพื่อการค้นคว้าวิชาการอีกระดับ เพราะหนังสือคือเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงคนได้ลึกระดับจิตและวิญญาณ นักอ่านหลายคนแค่ได้ซื้อมากองดองไว้ หรือพกติดตัวไปแม้ยังไม่ได้อ่านก็สราญใจ จึงไม่ใช่เหตุผลเพียงแค่ความรู้สึกที่ผูกพันกับการสัมผัสกระดาษเท่านั้น ที่ทำให้หนังสือยังอยู่ในรากของการเรียนรู้ตามวิถีธรรมชาติของมนุษย์ และหากประชากรโลกยังรักการอ่านก็จะช่วยสมานอาการสาหัสของสื่อสิ่งพิมพ์ให้ยิ้มได้
ผู้คนหลากหลายรับแรงบันดาลใจสามารถพัฒนาอาชีพได้เพราะต้นทุนทางสังคมให้โอกาส ชนชั้นกรรมกรขายแรงงานก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดที่แร้นแค้นของชีวิตจนเป็นนักเขียนอาชีพ หรือมือรางวัล และได้รับเกียรติยศเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะห้องสมุดประชาชน คือ ต้นธารหว่านกล้าต่อเติมภูมิปัญญาให้
ฉะนั้น หน้าที่ของรัฐคือการเสริมส่งองค์ความรู้ ให้โอกาสได้ซึมซับรับเรียนจากสิ่งแวดล้อม ประชาชนจะมีรัฐสวัสดิการสนับสนุนได้ก็ด้วยนโยบายจากรัฐ และขยายปรับปรุงห้องสมุดจากเดิมที่มีอยู่ใน กทม. 34 แห่ง ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแนว Creative Space, บูรณาการบ้านหนังสือชุมชนที่มีอยู่เดิม 117 แห่ง เพิ่มกระจายให้ทั่วถึงครบทั้ง 50 เขต รวมถึงห้องสมุดเชิงรุก (Mobile Unit) ที่จะเคลื่อนไปร่วมกันเปลี่ยนชีวิตเยาวชนและประชาชนให้เป็น Active Citizen ได้ด้วยนิสัยรักการอ่าน เพื่อเมืองหลวงของไทยเป็น “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือ” เมืองต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับมวลชน บนการสืบทอดพันธกิจกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO - World Book Capital) เพราะงานพัฒนาการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโลกแห่งความคิดให้เกิดวิสัยทัศน์ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก,” สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2565, เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2014/05/53289.
[2] ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, “เมื่อวานผมไปร่วมงานหนังสือ LIT FEST,” สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2565, เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/vqBGR.
[3] กองบรรณาธิการ Urban Creature, “กรุงเทพฯ 9 ดี จากชัชชาติ นโยบายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. พัฒนาเมือง 9 มิติ ให้ตอบโจทย์ทุกคน,” สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565, เข้าถึงได้จาก https://urbancreature.co/chadchart-policy-2022/.
- หนังสือ
- หนังสือในสวน
- กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก
- กวินพร เจริญศรี
- สหประชาชาติ
- UNESCO
- สุขุมพันธุ์ บริพัตร
- วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- สวนสันติชัยปราการ
- ป้อมพระสุเมรุ
- Museum Siam
- LIT Fest
- JUST READ
- มูลนิธิกระจกเงา
- ห้องสมุดเชิงรุก
- Active Citizen
- กรุงเทพฯ เมืองหนังสือ
- UNESCO